The words you are searching are inside this book. To get more targeted content, please make full-text search by clicking here.
Discover the best professional documents and content resources in AnyFlip Document Base.
Search
Published by evacm.zone1, 2023-03-15 04:46:00

แนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน จังหวัดลำพูน ที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ห่วงโซ่คุณค่า

Keywords: ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ห่วงโซ่คุณค่า

ส ำนักงำนเศรษฐกิจกำรเกษตรที่ 1 ส ำนักงำนเศรษฐกิจกำรเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอกสำรวิจัยเศรษฐกิจกำรเกษตรเลขที่ 111 กันยำยน 2563 REGIONAL OFFICE OF AGRICULTURAL ECONOMICS 1 OFFICE OF AGRICULTURAL ECONOMICS MINISTRY OF AGRICULTURE AND COOPERATIVES AGRICULTURAL ECONOMICS RESEARCH NO 111 SEPTEMBER 2020 แนวทำงกำรพัฒนำล ำไยอบแห้งเนื้อสีทองล ำพูน จังหวัดล ำพูน ที่ได้รับกำรรับรองสิ่งบ่งชี้ทำงภูมิศำสตร์


โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน จังหวัดลำพูน ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์


(ข) บทคัดย่อ การศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าลำไยอบแห้ง เนื้อสีทองลำพูน ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาห่วงโซ่คุณค่าและแนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographic Indications : GI) โดยรวบรวมข้อมูลจากการ สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทาน ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกลำไย วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ นำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าและแนวทางการพัฒนา สินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน โดยใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ Value Chain การวิเคราะห์ SWOT และ TOWS Matrix ผลการศึกษาพบว่า ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำพูน เริ่มจากเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต จัดหาปัจจัยการผลิตมาผลิตลำไย โดยมี กระบวนการผลิตที่ผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) เกษตรกรเก็บ ผลผลิตคัดเกรดขนาดผลใหญ่ (AA) ขาย โดยมีการตกลงรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด โซ่คุณค่าของผู้แปร รูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน เมื่อรับซื้อผลผลิตลำไยจากเกษตรกรแล้วจะนำมาผ่านกระบวนการนำผลสดมา แกะเปลือกและคว้านเมล็ดออก นำมาผ่านกรรมวิธีลดความชื้นด้วยเครื่องอบที่ใช้อุณหภูมิที่เหมาะสมกลายเป็น ลำไยอบแห้งที่มีเนื้อสีเหลืองทอง โดยมีตลาดที่สำคัญ ได้แก่ Modern Trade ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายหลัก รองลงมาผ่านการขายออนไลน์ และการขายผ่านหน้าร้าน ด้านต้นทุนการผลิตเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลำไย ที่ผ่านการรับรอง GAP เฉลี่ย 12,674.82 บาทต่อไร่ สูงกว่าต้นทุนลำไยทั่วไปร้อยละ 1.87 และมีผลตอบแทนสุทธิ ลำไยที่ผ่านการรับรอง GAP เท่ากับ 7,933.24 บาทต่อไร่ สูงกว่าผลตอบแทนสุทธิลำไยทั่วไปร้อยละ 176.93 ด้านต้นทุนการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนมีต้นทุนเท่ากับ 505.69 บาทต่อกิโลกรัมสูงกว่าต้นทุนลำไย อบแห้งเนื้อสีทองทั่วไปร้อยละ 47.25 และผลตอบแทนสุทธิ 674.19 บาทต่อกิโลกรัมสูงกว่าผลตอบแทนสุทธิ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองทั่วไปร้อยละ 98.46 โดยราคาที่ได้รับในแต่ละระดับพบว่า เกษตรกรจำหน่ายลำไยเพื่อ ใช้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 1 กิโลกรัมได้ราคากิโลกรัมละ 340 บาท เมื่อวิสาหกิจชุมชนนำไปผลิตลำไย อบแห้งเนื้อสีทองลำพูนจะขายได้ราคากิโลกรัมละ 1,204 บาท และจัดจำหน่ายส่งให้ผู้บริโภครวมค่าขนส่งเฉลี่ย ราคากิโลกรัมละ 1,274 บาท โดยมีปริมาณจำหน่าย 10,820 กิโลกรัม ส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มรวมเท่ากับ 13,784,680 บาท ด้านแนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทาง ภูมิศาสตร์แบ่งเป็น 4 แนวทาง ดังนี้ 1) การยกระดับผลิตภัณฑ์โดยหน่วยงานภาครัฐควรให้ความรู้แก่เกษตรกร ในการผลิตลำไย GAP ให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลำพูน และส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร / วิสาหกิจชุมชน ที่ผลิต ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองในพื้นที่ตระหนักและรับรู้คุณค่าของสินค้าที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 2) การ ยกระดับกระบวนการผลิตโดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต รวมถึงจัดทำกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับให้ครอบคลุมถึงแปลงสวนลำไยเพื่อสร้างความมั่นใจ ให้แก่ผู้บริโภค 3) การยกระดับในสถานะโซ่คุณค่าโดย จัดทำฐานข้อมูล Big Data ตลอดโซ่อุปทาน สร้าง / พัฒนาช่องทางการเชื่อมโยงการรับรู้ข่าวสารความต้องการของตลาดระหว่างผู้ขายและผู้บริโภค 4) การขยาย ธุรกิจโซ่คุณค่าโดยพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลากหลายเพื่อต่อยอดธุรกิจส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ อย่างต่อเนื่อง แสวงหากลุ่มลูกค้า / ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง และการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการตลาด เป็นต้น


(ค) ข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ควรบูรณาการแผนงาน / โครงการ และงบประมาณ ร่วมกัน โดยจัดทำแผนการดำเนินงานเป็นระยะต่อเนื่องครอบคลุมตลอดโซ่อุปทาน ควรเน้นการเพิ่มช่องทาง การตลาดและเพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพสินค้าที่อัตลักษณ์โดดเด่น ควรมี การติดตามประเมินผลวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการของตราสัญลักษณ์สินค้า GI รวมทั้งจัดท ำแผนกำรส่งเสริม สนับสนุนต่อเนื่องเป็นระยะเพื่อให้เกิดควำมเข้มแข็งอย่ำงยั่งยืน และขยำยผลไปสู่กลุ่มวิสำหกิจชุมชน / ผู้ประกอบกำรรำยอื่นที่มีศักยภำพ คำสำคัญ : ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ห่วงโซ่คุณค่า


(ง) Abstract The objectives of this research were to study the value chain and development approaches of Lamphun Golden Dried Longan with a Geographical Indication (GI). This study collected data from interviews longan farmers, community enterprises, and stakeholders throughout the supply chain, in Lamphun. The obtained data were used to analyze the value chain and agricultural development approaches of Lamphun Golden Dried Longan for the Geographic Indicator symbol. Value chain analysis by using theSWOT analysis and TOWS Matrix were employed to analyze the data. The study revealed that the value chain of Lamphun Golden Dried Longan had started with farmers/farmer groups. There were the produce and procurement of inputs for longan production with a process that meets the Good Agricultural Practices (GAP) standards. Farmers collected the longan with large-sized (AA graded produce). The selling price agreement between the farmers and entrepreneurs was to buy that higher than the market price. The longan will be peeled and scooped out. After that, the dehumidification process with a dryer at the appropriate temperature started until it was became dried longan with golden yellow flesh. The major market was the modern trade and followed by online sales and selling through their store. In terms of GAP Longan production cost, the average cost was 12,674.82 baht per rai., and 1.87% higher than the general longan cost and the net return was 7,933.24 baht per rai, accounted for 176.93% higher than the net return of general longan. The net return of Lamphun Golden Dried Longan was 674.19 baht per kilogram, accounted for 98.46% higher than the net return of the general golden dried longan. The price which was obtained at each level found that farmers sold longan for production of 1 kilogram of Lamphun Golden Dried Longan with the price was 340 baht per kilogram when community enterprises used to produce Lamphun Golden Dried Longan, it would be sold for 1,204 baht per kilogram and distributed to consumers at total average freight price was 1,274 baht per kilogram, with a volume for sell of 10,820 kilograms, resulting in a total value added of 13,784,680 baht. The strategy to develop a value chain to enhance the productivity of the Lamphun Golden Dried Longan. The guidelines were as follows: 1) Product enhancement, the government should encourage farmers to produce GAP longan, give knowledge, and promote community enterprises for GI symbol product. 2) Improving the manufacturing process by innovative technology to reducing production costs, increase production and processing efficiency, and develop traceability to cover longan plots. 3) Elevating the value chain status, support the integration of groups to strengthen both knowledge and budget. 4) Expansion of the value chain business, the government should continually promote public relations to consumers


(จ) about the product's value. Additionally, the government should seek new customers/markets with high potential, provide knowledge on marketing. The recommendations from this study suggested that all relevant departments in the area should work together to integrate projects and budgets. The preparation of operational plans should be continuous and cover the entire supply chain. The departments should focus on increasing marketing channels and information for creating awareness of consumers to be confident in the quality and identity of the product. Moreover, there should continuously evaluate the community enterprises that operate the GI brand. Additionally, there should continually formulate a promoting plan for sustainability and expand to other community enterprises or potential entrepreneurs. Keywords: Lamphun Golden Dried Longan, geographic product, GI, value chain


(ฉ) คำนำ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนเป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลำไยที่มีแหล่งผลิตในจังหวัดลำพูนและใช้วัตถุดิบผลผลิต ลำไยสดในจังหวัดลำพูนเป็นหลัก ที่การผลิตต้องผ่านมาตรฐาน GAP และกระบวนการแปรรูปโดยกรรมวิธี ลดความชื้นด้วยเครื่องอบที่ใช้อุณหภูมิที่เหมาะสมจนกลายเป็นลำไยอบแห้งที่มีเนื้อสีเหลืองทองที่ได้การรับรอง สินค้า GI ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ อย่างไรก็ตามสินค้า GI ยังประสบปัญหาทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทาง การพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน จังหวัดลำพูน ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารายงานงานวิจัยฉบับนี้จะให้ข้อมูลที่เป็น ประโยชน์เพื่อใช้เป็นแนวทางการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าและการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้รับการรับรอง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตลอดจนเป็นข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจศึกษา รายงานฉบับนี้สำเร็จได้จากการอนุเคราะห์ข้อมูล ของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย วิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างดียิ่ง จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กันยายน 2563


(ช) สารบัญ หน้า บทคัดย่อ (ข) คำนำ (ฉ) สารบัญตาราง (ฌ) สารบัญตารางผนวก (ญ) สารบัญภาพ (ฎ) บทที่ 1 บทนำ 1 1.1 ความสำคัญของการวิจัย 1 1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย 2 1.3 ขอบเขตการวิจัย 2 1.4 นิยามศัพท์เฉพาะ 2 1.5 วิธีการวิจัย 3 1.6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 5 บทที่ 2 การตรวจเอกสาร แนวคิดและทฤษฎี 6 2.1 การตรวจเอกสาร 6 2.2 แนวคิดและทฤษฎี 10 บทที่ 3 ข้อมูลทั่วไป 18 3.1 ข้อมูลการผลิตและการแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองในจังหวัดลำพูน ปี 2562 18 3.2 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย 20 3.3 ข้อมูลทั่วไปของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 25 บทที่ 4 ผลการวิจัย 31 4.1 โซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำใยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 31 4.2 แนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 53 บทที่ 5 สรุปและข้อเสนอแนะ 67 5.1 สรุป 67 5.2 ข้อเสนอแนะ 71 บรรณานุกรม 72


(ซ) สารบัญ (ต่อ) ภาคผนวก 74 ภาคผนวกที่ 1 การคิดคะแนนปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก 75 ภาคผนวกที่ 2 ประกาศการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ลำไยอบแห้ง เนื้อสีทองลำพูน 78 ภาคผนวกที่ 3 แบบสอบถามเกษตรกร 85 แบบสอบถามต้นทุนการผลิตลำไย แบบสอบถามวิสาหกิจชุมชน


(ฌ) สารบัญตาราง ตารางที่ หน้า 1.1 จำนวนสมาชิกทั้งหมดและจำนวนสมาชิกที่ดำเนินการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 4 2.1 การวิเคราะห์ TOWS Matrix 17 3.1 เนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลผลิตลำไย จังหวัดลำพูน ปี 2562 18 3.2 ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ของลำไย จังหวัดลำพูน ปี 2562 19 3.3 จำนวนโรงอบ เตาอบลำไยอบแห้งและกำลังการผลิตต่อวันของลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง จังหวัดลำพูน 20 3.4 ลักษณะส่วนบุคคลของเกษตรกร 21 3.5 ข้อมูลเกี่ยวกับการได้มาของปัจจัยการผลิต 23 3.6 ลักษณะการใช้แรงงาน และเครื่องจักรในการปลูกลำไย 24 3.7 ข้อมูลทั่วไปของวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 26 3.8 ลักษณะส่วนบุคคลของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 27 3.9 การผลิตลำไยของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 29 3.10 ประสบการณ์ในการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน 30 4.1 เมทริกซ์การเชื่อมโยงจุดแข็งและข้อจำกัดการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 45 4.2 การเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนลำไยปี 2562 50 4.3 การเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ปี 2562 51 4.4 แสดงส่วนต่างของราคาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนในแต่ละระดับ 52 4.5 การวิเคราะห์ปัจจัยภายในลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 55 4.6 การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 57 4.7 สรุปปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในโดยการเรียงตามลำดับความสำคัญ 58 4.8 สรุปปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกโดยการเรียงตามลำดับความสำคัญ 60 4.9 การกำหนดกลยุทธ์โดยใช้ TOWS Matrix ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 63


(ญ) สารบัญตารางผนวก ตารางผนวกที่ หน้า 1 การคิดคะแนนปัจจัยภายใน 76 2 การคิดคะแนนปัจจัยภายนอก 77


(ฎ) สารบัญภาพ ภาพที่ หน้า 2.1 โครงสร้างโซ่อุปทานสินค้าเกษตร 11 2.2 Value Chain 13 4.1 แผนภาพโซ่อุปทานลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 32 4.2 ห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำไยของเกษตรกร 35 4.3 ผลผลิตลำไยขนาด AA และสัญลักษณ์สินค้า GAP 37 4.4 ทำความสะอาดและจัดเรียงผลลำไยบนตะแกรงสแตนเลสในลักษณะคว่ำ 38 4.5 เตาอบลำไย และเครื่องโดมพลังงานแสงอาทิตย์ 38 4.6 การบริหารคลังสินค้า 39 4.7 ขั้นตอนการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 40 4.8 แบรนด์สินค้า 41 4.9 ห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนของวิสาหกิจชุมชน 44 4.10 ห่วงโซ่คุณค่าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 48


1 บทที่ 1 บทนำ 1.1 ความสำคัญของการวิจัย เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในประเทศไทยมีการพัฒนาโดยนำลักษณะเฉพาะในแหล่งภูมิศาสตร์ผสาน กับภูมิปัญญาพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้า สร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าและรายได้แก่ชุมชนด้วย สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication : GI) ในปี 2546 ประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติ คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า จึงจัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีการคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิ์เฉพาะของชุมชน ปัจจุบันมีการ ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 130 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากภาคการเกษตร กระจายทั่วทุกภูมิภาคสร้าง มูลค่าทางการตลาดสูงกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งในพื้นที่จังหวัดลำพูนมีการขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 4 รายการ ได้แก่ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน ผ้าไหมยกดอกลำพูน และข้าวก่ำล้านนา โดยสินค้า ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากที่สุด (สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน, 2563) ด้านเนื้อที่ ปลูกลำไยปี 2562 พบว่า จังหวัดลำพูนมีเนื้อที่ลำไยยืนต้นจำนวน 270,189 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.33 ของ เนื้อที่ยืนต้นทั้งประเทศ (1,209,955 ไร่) มีปริมาณลำไยจำนวน 231,026 ตัน คิดเป็นร้อยละ 22.84 ของ ปริมาณลำไยทั้งประเทศ (1,011,276 ตัน) (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2563) โดยผลผลิตร้อยละ 77.04 นำไปแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก และลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง (สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน, 2563) ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองถือเป็นสินค้าเด่นและสินค้า OTOP ลำดับแรกของจังหวัดลำพูน โดยจังหวัด ลำพูนมีผู้แปรรูปที่มีโรงอบลำไยอบแห้งเนื้อสีทองจำนวน 40 กลุ่ม / ราย เตาอบลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง 217 เตา โดยมีปริมาณผลผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองประมาณปีละ 800 ตัน มีมูลค่ารวมกว่า 48 ล้านบาท โดยในส่วนนี้มี ผู้ขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนจำนวน 2 กลุ่มได้สร้างอัตลักษณ์ พื้นถิ่นที่แตกต่างโดยเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปที่มีคุณภาพตั้งแต่การผลิตลำไยจะต้องเป็น พันธุ์ดอ ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดลำพูนเท่านั้น ผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) มีขนาดผลใหญ่เกรด AA และขั้นตอนการแปรรูปพิถีพิถันต้องผ่านการควบคุมตามหลัก สุขาภิบาล ส่งผลให้ลำไยอบแห้งมีคุณภาพดีสีเหลืองทอง เนื้อหนา รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะ จึงสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าจากขายราคา 550 - 600 บาท / กก. เป็นราคา 800 – 1,000 บาท / กก. และมีการพัฒนาสู่ระดับสากลโดยขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม จึงถือเป็น ตัวอย่างการพัฒนาสินค้า GI ที่ประสบความสำเร็จ สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาของประเทศภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) และแผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วย ความมั่นคงแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ในยุทธศาสตร์ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า ผลผลิต บนพื้นฐานการต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต ซึ่งกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสินค้า GI จึงมีการเปิดรับรองระบบงานขอบข่ายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์


2 ดำเนินการหนุนสินค้า GI ให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายโอกาสตลาดส่งออกให้ สูงขึ้น ซึ่งการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก ช่วยสร้างความ เข้มแข็งให้กับชุมชน เกิดความมั่นคงด้านอาชีพ ตลอดจนลดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมือง จึงเป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามแม้ว่าสินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนที่ขึ้นทะเบียน GI จะสร้างมูลค่าเพิ่มสูง แต่ยัง ประสบปัญหาทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน ปัญหาภายในชุมชนได้แก่ มีผู้แปรรูปขอขึ้นทะเบียน GI น้อย แหล่งผลิตชุมชนเจ้าของสินค้า GI ขาดการรับรู้คุณค่าของอัตลักษณ์และคุณสมบัติพิเศษเฉพาะพื้นที่เพื่อนำมาใช้ ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์การขาดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไย และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปัญหาภายนอกชุมชน ได้แก่ ผู้บริโภครู้จักมาตรฐาน GI น้อย ข้อมูลความต้องการตลาดสินค้า ประเภทนี้มีน้อย สินค้าสามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูล Big Data ระดับจังหวัด / ภูมิภาค / ประเทศ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการทั้งระบบมีน้อย และการรับรู้ท่าทีการเจรจาการค้าสินค้า GI ในระดับสากลมีน้อย เป็นต้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงสนใจศึกษาแนวทางการพัฒนา ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในระดับประเทศ / ระดับสากล เพื่อเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และผู้สนใจศึกษาสินค้าสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ด้านการเกษตร รวมถึงการขยายผลไปสู่สินค้าเกษตรที่มีโอกาสและศักยภาพต่อไป 1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1.2.1 เพื่อศึกษาห่วงโซ่คุณค่าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 1.2.2 เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ 1.3 ขอบเขตของการวิจัย 1.3.1 พื้นที่ที่ศึกษา จังหวัดลำพูน 1.3.2 ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ เกษตรกร / วิสาหกิจชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าลำไยอบแห้ง เนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 1.3.3 ระยะเวลาของข้อมูล ข้อมูลต้นทุนการผลิต การแปรรูป และการตลาดลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำพูน ปี 2562 1.4 นิยามศัพท์ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication) หมายถึง เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้า ที่มาจากแหล่งผลิตเฉพาะเจาะจง โดยคุณภาพหรือเอกลักษณ์ของสินค้านั้น เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ ดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ถือเป็นทรัพย์สิน


3 ทางปัญญาประเภทหนึ่งเกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ ชุมชนอาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะ ในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้า ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ คุณลักษณะ พิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ สิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical Indication) เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ โดยตรง และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical Indication) เป็นสัญลักษณ์หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ ใช้เพื่อบ่งบอกแหล่ง ภูมิศาสตร์อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตของสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีความแตกต่างจากทรัพย์สิน ทางปัญญาประเภทอื่น คือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือ ผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ ผู้ผลิตที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อ แหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน (GI Lamphun Golden Dried Longan) หมายถึง ผลิตภัณฑ์แปรรูป จากลำไยที่มีแหล่งผลิตในจังหวัดลำพูน และใช้วัตถุดิบผลผลิตลำไยสดในจังหวัดลำพูนโดยต้องเป็นพันธุ์ดอ ได้รับมาตรฐาน GAP ผ่านกระบวนการนำผลสดมาแกะเปลือกและคว้านเมล็ดออก จากนั้นนำมาผ่านกรรมวิธี ลดความชื้นด้วยเครื่องอบที่ใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม จนกลายเป็นลำไยอบแห้งที่มีลักษณะเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อ หนา รสหวาน มีกลิ่นหอม เนื้อแห้งไม่ติดกันมีรสชาติหวาน และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถเก็บ ไว้ได้นานโดยที่กลิ่นและรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง มีขนาดผลสม่ำเสมอ ไม่มีผลฉีกขาด และไม่มีสิ่งแปลกปลอม เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หมายถึง สินค้าเกษตรที่มีการนำเอาทรัพยากรที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่น และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยมาสร้างให้เกิดเป็นผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงสินค้าเกษตรที่ได้รับ การรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) 1.5 วิธีการวิจัย 1.5.1 การเก็บรวบรวมข้อมูล ในการศึกษาครั้งนี้มีการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ(Primary Data) และข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) เพื่อใช้ศึกษาห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และแนวทางการพัฒนาสินค้าลำไยอบแห้งเนื้อ สีทองลำพูน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1) ข้อมูลปฐมภูมิ 1.1) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสำรวจ 1.1.1) เก็บรวมรวมวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนโดยการสัมภาษณ์ แบบเชิงลึก ด้วยวิธีการสัมมะโน (Census) ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการยื่นขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทาง ภูมิศาสตร์ไทย (GI) จำนวน 2 วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองบ้านสันป่าเหียง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง มีสมาชิกทั้งหมด 36 ราย ในส่วนนี้มีสมาชิกดำเนินกิจกรรม


4 ที่ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนทั้งหมดจำนวน 29 ราย จึงใช้ขนาดตัวอย่างศึกษาทั้งหมด 29 ราย รายละเอียดตามตารางที่ 1.1 ตารางที่ 1.1 จำนวนสมาชิกทั้งหมด และจำนวนสมาชิกที่ดำเนินการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน วิสาหกิจชุมชน จำนวนสมาชิกทั้งหมด (ราย) จำนวนสมาชิก ที่ดำเนินการ ฯ (ราย) 1. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปลำไยอบแห้ง เนื้อสีทองบ้านสันป่าเหียง 23 22 2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง 13 7 รวม 36 29 ที่มา: สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน (2563) 1.1.2) เก็บรวมรวมผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนโดยการ สัมภาษณ์แบบเชิงลึก ด้วยวิธีสุ่มเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากเกษตรกรผู้ผลิตลำไย ที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP และได้ขายผลผลิตเพื่อนำมาผลิตเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนจำนวน 8 ราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหน่วยงานละ 1 ราย จำนวน 3 ราย ได้แก่ เจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัดลำพูน เกษตร จังหวัดลำพูน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน รวม 11 ราย 1.2) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการจัดประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) จัดประชุมสนทนากลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมหาแนวทางการพัฒนา ศักยภาพสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน จำนวน 1 ครั้ง ประกอบด้วย สมาชิกวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และผู้ที่เกี่ยวข้องในโซ่คุณค่า รวม 30 ราย 2) ข้อมูลทุติยภูมิ เก็บรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ ตลอดจนค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือวารสาร สิ่งพิมพ์ เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และค้นคว้าข้อมูลจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Website) 1.5.2 การวิเคราะห์ข้อมูล 1) การวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ใช้ค่าสถิติอย่างง่าย และร้อยละในการนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออธิบายข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่ดำเนินการ ข้อมูลจากการประชุมสนทนากลุ่ม Focus Group และข้อมูลต้นทุนการผลิต 2) การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ โดยวิเคราะห์โซ่คุณค่า วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก ด้วยการวิเคราะห์ SWOT และการจัดทำแนวทางการพัฒนาด้วย TOW Matrix


5 1.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 1.6.1 ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อกำหนดแนวทางในการ พัฒนาและส่งเสริมลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 1.6.2 เกษตรกรมีข้อมูลในการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และนำมาขยายผลในการใช้ประโยชน์ เชิงพาณิชย์เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น


บทที่ 2 การตรวจเอกสาร แนวคิดและทฤษฎี 2.1 การตรวจเอกสาร จากการตรวจเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ด้าน คือ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ คุณค่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และการวิคราะห์สภาพแวดล้อมและการกำหนดแนวทางการพัฒนา ผลการตรวจ เอกสารที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ 2.1.1 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่า การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกิจกรรมตั้งแต่กิจกรรมการจัดหาแหล่ง วัตถุดิบ การแปรรูป กิจกรรมการส่งมอบสินค้า การบริการให้กับลูกค้า โดยมุ่งสร้างความสามารถการแข่งขัน ทางธุรกิจและองค์กร ด้วยการวิเคราะห์คุณค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุน ดังนี้ ห่วงโซ่คุณค่าลำไยมีการประเมินการดำเนินงานในห่วงโซ่เริ่มจากการศึกษาภาพรวมของ โซ่อุปทาน และจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบโซ่อุปทาน ตั้งแต่เกษตรกร จนถึงผู้ส่งออก และทำการประเมิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของโซ่อุปทาน ได้แก่ เกษตรกร พ่อค้าคนกลาง โรงงานแปรรูปอบแห้ง บริษัทขนส่ง บริษัทนำเข้าส่งออก ด้วยวิธีการวิเคราะห์โซ่แห่งคุณค่า ซึ่งแบ่งออกเป็นกิจกรรมหลักและกิจกรรม เสริม โดยทำการประเมินใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ โลจิสติกส์ขาเข้า การปฏิบัติการ โลจิสติกส์ขาออก และกิจกรรม สนับสนุนกับผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบโซ่อุปทานทั้งสิ้นจำนวน 73 ราย ใน จ.เชียงใหม่ ลำพูน และกรุงเทพมหานคร ผลการประเมินพบว่า องค์กรส่วนใหญ่มีการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ขาออกดีที่สุด คือ กิจกรรมการส่งมอบ สินค้าไปยังคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ค้าส่ง (Wholesalers) หรือล้ง และมีการดำเนินการ ด้านปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การบริการลูกค้าต่ำที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร และ ปัญหาหลักคือ ลำไยขาดคุณภาพ ปริมาณผลผลิตไม่แน่นอน การส่งเสริม / ดำเนินการของรัฐไม่ต่อเนื่อง ผลผลิตลำไยไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน จึงได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น จากการวิเคราะห์ ข้อมูลของหน่วยงานที่มีการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานลำไยให้มีประสิทธิภาพ ให้ดีขึ้น (อภิชาต โสภาแดง, 2552) นอกจากนี้มีการศึกษาขั้นตอนกระบวนการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ในพื้นที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นกิจกรรมการปฏิบัติการในห่วงโซ่คุณค่า พบว่า มีขั้นตอนดังนี้ 1) นำลำไยร่วงมาคัดเกรด 2) คัดผล นำผลเน่าและผลที่มีรอยแมลงเจาะทิ้งออกไป 3) ล้างด้วย น้ำสะอาด 1ครั้ง 4) แกะเปลือกและคว้านเมล็ดออกโดยไม่ให้ติดขั้ว 5) ชั่งน้ำหนักเนื้อลำไย 6) ล้างด้วยน้ำประปา หรือน้ำบาดาลที่เติมคลอรีน 1 –2 ppm อีก 2ครั้ง 7) แช่ในสารละลายโพแทสเซียมเมตตาไบซันไฟท์5 นาทีที่ความ เข้มข้น 20 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ต่อเนื้อลำไย 10 กิโลกรัม 8) นำขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ 9) เรียงผลลำไยคว่ำลง บนกระด้งบนตาข่ายด้านในหรือตะแกรงสแตนเลสที่สะอาดโดยไม่เรียงซ้อนกัน 10) นำลำไยเข้าอบในตู้อบ


7 11) นำลำไยมาผึ่งเย็นโดยวางบนโต๊ะสะอาดทิ้งไว้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และ 12) บรรจุลงในถุงพลาสติกที่สะอาด และมัดปากถุงให้สนิทเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องเย็นอุณหภูมิ 4 - 10 องศาเซลเซียส เพื่อรอจำหน่ายต่อไป โดยมี ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,000 – 15,000 บาท / ครั้ง / เตา (สำนักงานเทศบาลตำบลอุโมงค์, 2562) นอกจากนี้ การศึกษาการวิเคราะห์โซ่คุณค่าของลำไยส่งออก จังหวัดจันทบุรีไปประเทศจีน พบว่า มีผู้เกี่ยวข้อง 4 ราย คือ เกษตรกร ผู้รับซื้อหรือล้ง ผู้ประกอบการส่งออก และผู้บริโภค โดยผู้รับซื้อหรือล้ง มีอำนาจในโซ่คุณค่ามากที่สุด ด้านผู้ประกอบการส่งออกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากประเทศจีน กระบวนการทำงานมีความแตกต่างกัน หากเป็นผู้ประกอบการไทยจะไม่ได้เป็นผู้ส่งออกเองโดยตรง หากเป็น ผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นคนจีนจะส่งออกเองโดยตรงจนถึงตลาดปลายทาง โดยมีหน้าที่หลักคือ รับซื้อ เก็บ รวบรวม อบกำมะถัน และขาย ในส่วนของการวิเคราะห์ต้นทุนพบว่า ต้นทุนหลักของโซ่คุณค่า คือ ค่าเช่าสวน เป็นต้นทุนที่เกิดกับเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ในการปลูกต้นลำไย รองลงมาคือ ต้นทุนภาษีการขายที่ประเทศจีนโดย ต้นทุนนี้มีการผันแปรตามเมืองที่นำลำไยไปขาย โดยมีสัดส่วนกำไร 55.40 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนด้านเกษตรกร จะมีสัดส่วนผลกำไร 23.68 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้นลำไยมีอายุเฉลี่ย9 -15 ปีการวิเคราะห์การเสียโอกาสทางด้าน ราคา เปรียบเทียบการขายของเกษตรกรและขายที่ประเทศจีน โดยเกษตรกรจะมีกำไร 23.68 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากเกษตรกรส่งออกเองจะมีกำไร 53.45 บาทต่อกิโลกรัม การเสียโอกาสทางด้านการตลาด จากการไม่มี ความรู้ความเข้าใจเรื่องการส่งออกทำให้เสียโอกาสด้านช่องทางในการจำหน่าย การเสียโอกาสด้านการลงทุน การรับซื้อลำไยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นการรับซื้อล่วงหน้าทำให้ต้องใช้เงินทุนสูง ด้านการผลิตพบว่าปัญหา ของเกษตรกร คือ ราคาไม่มีมาตรฐานหรือเกณฑ์กำหนดที่เหมาะสม ปัญหาการเก็บเกี่ยวซึ่งบางล้งจะเก็บ เฉพาะลูกใหญ่ไม่เก็บลูกเล็ก ปัญหาด้านการสื่อสารกับผู้รับซื้อที่เป็นผู้ประกอบการคนจีน ปัญหาแรงงานส่วน ใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวขาดทักษะอาจเกิดความผิดพลาดในการเก็บผลผลิตได้ ปัญหาสภาพอากาศ เปลี่ยนแปลงและฝนตกมากเกินไป และปัญหาเรื่องระบบน้ำ ส่วนปัญหาผู้รับซื้อ / ล้ง สินค้าไม่ได้คุณภาพมี ขนาดลูกเล็กไม่สามารถขึ้นเบอร์ได้หรือผลผลิตเป็นโรคต้องคัดทิ้ง ปัญหาผู้ส่งออก เช่น ราคาขายในประเทศจีน เป็นราคาวันต่อวันส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์ราคารับซื้อต้นทางที่ชัดเจนได้อาจเกิดความเสี่ยงในการดำเนิน ธุรกิจได้ และปัญหาการขาดความรู้การเข้าถึงตลาดต่างประเทศของผู้ส่งออกไทย ข้อเสนอแนะหน่วยงาน ภาครัฐควรร่วมมือพัฒนาระบบตลาดลำไย เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้เช่น การหา ตลาดใหม่หรือพื้นที่จำหน่ายในต่างประเทศ เป็นต้น (ยุวันดา ไกรรอด, 2556) 2.1.2 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และส่วนประสมทางการตลาด ที่มีความสัมพันธ์กับการรับรู้คุณค่าตรา สินค้าชามไก่ลำปาง ผลการศึกษาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์พบว่า การจดจำได้และการตระหนักถึงด้านชื่อเสียงและ ด้านคุณสมบัติลักษณะเฉพาะของสินค้าโดยรวมอยู่ในระดับมาก ส่วนการจดจำได้ด้านคุณภาพอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่การตระหนักถึงคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับมาก ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่าการจดจำได้ มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับการตระหนักถึงในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านราคาในประเด็นส่วนลดเงินสด เมื่อชำระค่าสินค้าทันที ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายในประเด็นแหล่งที่จำหน่าย มีสถานที่จอดรถให้กับลูกค้า


8 ด้านการส่งเสริมการตลาดในประเด็นการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ของธุรกิจ การมอบส่วนลดพิเศษในช่วงเทศกาล และการให้ข่าวประชาสัมพันธ์ขององค์กรภาครัฐ ด้านคุณสมบัติลักษณะเฉพาะของสินค้าในประเด็นมีลวดลายไก่ ดอกโบตั๋นหรือดอกเบญจมาศ ต้นกล้วยและใบไผ่เป็นเอกลักษณ์ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 (ฐารดีวงศ์ษา, 2557) และการศึกษาเรื่องข้าวเฉี้ยงปากรอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อสิทธิชุมชนภายใต้ชุดโครงการการพัฒนา เครือข่ายพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อชุมชนเข้มแข็ง ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มเกษตรกร มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มากขึ้นรวมถึงการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการที่ จะขึ้นทะเบียนสินค้าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อย่างไรก็ดีแม้กฎหมายจะให้สิทธิประชาชนในการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วยตนเองได้ก็ตาม แต่การรวบรวมข้อมูลต่างๆ รวมถึงการควบคุมคุณภาพการผลิตนั้น ผู้ที่ดำเนินการขอขึ้นทะเบียน ไม่สามารถทำเองได้หากขาดความช่วยเหลือจากองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากทางหน่วยงานราชการ ประกอบกับปัญหาโดยสภาพของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นสิทธิชุมชนหรือสิทธิที่มี ความเป็นเจ้าของร่วม ก่อให้เกิดอุปสรรคในการบังคับใช้สิทธิบางประการอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมาตรการ บังคับสิทธิก็ไม่มากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความตระหนักรู้และสร้างคุณค่าแก่สินค้าภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้น ทะเบียน (ณิชนันท์ คุปตานนท์ และคณะ, 2561) และการศึกษาเรื่องการวิเคราะห์รูปแบบและกระบวนการ จัดการยื่นขอขึ้นทะเบียน GI ของพริกไทยกาปอต ในประเทศกัมพูชา ผลการวิจัยพบว่า ในกระบวนการจัดการ การยื่นขอขึ้นทะเบียนนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องการยื่นจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศ กัมพูชาคือจะต้องมีการเตรียมการก่อนดำเนินการยื่นเอกสารไปที่กระทรวงพาณิชย์คือผู้ยื่นหรือผู้มีส่วน เกี่ยวข้องต้องมีงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินงาน และต้องมีการคัดเลือกสินค้าที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง ต้อง ดำเนินการจดทะเบียนสมาคมวิชาชีพ (Inter-Professional Association) เป็นนิติบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนใน การยื่นขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จัดทำหนังสือข้อปฏิบัติ (The Code of Practice) กำหนด ขอบเขต พื้นที่สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์การเชื่อมโยงสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์และขั้นตอนอีกอย่างคือต้องมีระบบ การควบคุมกระบวนการผลิต และ Ministry of Commerce and Ministry of Agriculture (2010) ที่ได้ บรรยายไว้ว่า ในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต้องมี5 ปัจจัยหลัก สำคัญคือ 1) ต้องจัดทำหนังสือ ข้อปฏิบัติ 2) ต้องมีการก่อตั้งสมาคมวิชาชีพ โดยมีเกษตรกรและผู้ประกอบเป็นสมาชิก 3) กำหนดขอบเขตพื้นที่ใน สินค้า โดยมีแค่เกษตรกรกับผู้ประกอบการในพื้นที่นั้นจึงจะสามารถใช้ชื่อสิ่งบ่งชี้ทาง ภูมิศาสตร์กับสินค้าได้ 4) ค้นหาหลักฐานที่เชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ลักษณะพิเศษที่อาศัยปัจจัยของ ธรรมชาติ ประวัติและมนุษย์ และ 5) จัดทำระบบการควบคุมและหาพยานหลักฐานเพื่อรับประกันว่าสินค้าที่ขาย เป็นสินค้า ที่อยู่ในแหล่งนั้นและสอดคล้องกับหนังสือข้อปฏิบัติและสอดคล้องกับพ.ร.บ. คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 2546ของประเทศไทยที่ได้กำหนดไว้ว่า การเตรียมตัวเพื่อจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต้องมีการเตรียม 2 อย่างคือ การพิจารณาความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของแต่ละสินค้า เช่น ประวัติความเป็นมา และ ความมีชื่อเสียงของสินค้า ความเชื่อมโยงของสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ลักษณะเฉพาะ / เอกลักษณะของสินค้า ชื่อที่จะขึ้นทะเบียน ขอบเขตพื้นที่ และการเตรียมการจัดทำร่างคำขอขึ้นทะเบียน แต่มีความแตกต่างกัน บางส่วน ของกระบวนการได้มาซึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป (สุชีลา เตชะวงค์เสถียร, 2558)


9 2.1.3 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและการกำหนดแนวทางการพัฒนา การศึกษาศักยภาพผลไม้ไทยเปรียบเทียบกับเวียดนาม (กรณีศึกษา ทุเรียน และลำไย) เพื่อ ประกอบการจัดเตรียมยุทธศาสตร์ผลไม้ไทยในระยะ 5 ปี ข้างหน้า ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) จัดทำกลยุทธ์โดยใช้รูปแบบการวิเคราะห์ TOWS Matrix พบว่า ทุเรียนและลำไยของไทยมีจุดแข็ง (Strengths) คือ มีสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยแก่การเพาะปลูกได้ในหลาย พื้นที่ของประเทศ มีการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนอกฤดูทำให้ สามารถบริโภคได้ตลอดทั้งปี มีภูมิประเทศตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ สามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ และมีการส่งเสริมและพัฒนาผลไม้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด จุดอ่อน (Weaknesses) คือ ผลผลิตเน่าเสียง่ายไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน มีระยะเวลาการวางจำหน่ายสั้น ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน โอกาส (Opportunities) คือ ตลาดประเทศจีน ยังมีความต้องการสูง มีการลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) มีล้งจีนเข้ามารับซื้อใน ประเทศไทย มีการสร้างด่านนำเข้าผลไม้ในมณฑลกวางสีเพิ่มเติมทำให้ผลไม้จากไทยเข้าสู่จีนได้มากขึ้น อุปสรรค (Treats) คือ การส่งออกจากไทยไปจีน ไทยยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 13 ผู้ส่งออกทุเรียนและ ลำไยจากไทยมีอำนาจในการเจรจาต่อรองซื้อขายน้อย การส่งออกยังต้องพึ่งพาตลาดส่งออกจีนเป็นหลัก จากนั้นนำมาวิเคราะห์จัดทำกลยุทธ์ของทุเรียนและลำไยไทย โดยใช้รูปแบบการวิเคราะห์ TOWS Matrix ซึ่งกำหนด เป็นกลยุทธ์ได้ดังนี้ กลยุทธ์เชิงรุก (SO Strategy) ได้แก่ การพัฒนาผลผลิตทุเรียนและลำไย ให้มีคุณภาพตรงกับ ความต้องการของตลาดต่างประเทศ การเพิ่มการผลิตทุเรียนและลำไยนอกฤดูกาล เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน ในช่วงเทศกาลที่สำคัญ เช่น ตรุษจีน และปีใหม่ เป็นต้น และการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการส่งออก เส้นทางบกและเส้นทางขนส่งทางเรือ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้ประเทศต่าง ๆ รู้จักมากขึ้น กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO Strategy) ได้แก่ การจัดการสวนลำไยเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงกับ ความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ และการสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่ ผลผลิตออกมากไปยังประเทศจีน เพื่อเป็นช่องทางการกระจายผลผลิตให้ออกสู่ตลาดได้มากขึ้นและเป็นการ แก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ กลยุทธ์เชิงรับ (ST Strategy) ได้แก่ การเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า ต่าง ๆ และการสร้างช่องทางจำหน่ายภายในประเทศ รวมทั้งภาครัฐ ควรมีกฎหมายที่เข็มงวดในการควบคุมดูแล การเข้ามาประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย กลยุทธ์เชิงป้องกัน (WT Strategy) ได้แก่ การศึกษาวิจัยตลาด และช่องทางในการขยายโอกาสในการส่งออกรวมทั้งผลิตภัณฑ์ และ ศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากล้งจีนที่เข้ามารับซื้อทุเรียนและลำไยในประเทศไทยในระยะยาว รวมทั้งขยาย ตลาดประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ (ณภัทร อรุณรัตน์, 2560) นอกจากนี้ยังมี การศึกษากลยุทธ์การตลาดสำหรับวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยใช้ แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองใน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จำนวน 49 ราย วิเคราะห์ความแตกต่างของวิสาหกิจชุมชนด้วย One-wayANOVA ผลการศึกษา พบว่า กลยุทธ์ทางการตลาดที่วิสาหกิจให้ความสำคัญ ประกอบด้วยด้านผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ลำไยสามารถเก็บรักษาได้นานไม่เสียหาย การทดสอบคุณภาพของเนื้อลำไยทุกรอบในการอบ และการควบคุม


10 ความชื้นและอุณหภูมิลำไยระหว่างการเก็บรักษาในระดับมากที่สุด รองลงมาด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ได้แก่ การขายส่งปริมาณมากๆ และการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางในระดับมากที่สุด ด้านราคา ได้แก่ ราคาเหมาะสม กับคุณภาพ ราคาเหมาะสมกับปริมาณ และราคาสินค้ามีความแน่นอนในระดับมาก ทั้งนี้ขนาดของวิสาหกิจ ชุมชนมีระดับความสำคัญต่อการเลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (ธีรพงษ์ ยืนยงค์, 2559) สรุปการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง แบ่งกิจกรรมห่วงโซ่คุณค่าแบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุน ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ถึงการพัฒนาที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดมูลค่าและ คุณค่าเพิ่มในแต่ละห่วงโซ่ที่สำคัญ จะทำให้สามารถทราบถึงลักษณะการผลิต การเพิ่มคุณค่าสินค้า มูลค่าเพิ่ม ที่ชัดเจน ในส่วนของการวิเคราะห์ SWOT แล้วนำมาจัดทำ TOWS Matrix จะสามารถหาแนวทางในการ พัฒนาซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะต่อไปได้ 2.2 แนวคิดและทฤษฎี 2.2.1 แนวคิดโซ่อุปทานสินค้าเกษตร ยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร ปี 2556-2559 กระทรวงเกษตร และสหกรณ์คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรให้แนวคิดระบบโซ่อุปทานสินค้าเกษตร ประกอบด้วยหน่วยต่าง ๆ ดังนี้(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2558) ระดับต้นน้ำ ประกอบด้วย เกษตรกรทำหน้าที่ในการผลิตและเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตรโดย กิจกรรมโลจิสติกส์เริ่มตั้งแต่การจัดหาและใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การจัดการคุณภาพผลผลิตในฟาร์ม ตลอดจนได้ผลผลิตที่พร้อมส่งไปขายในระดับต่อไป ระดับกลางน้ำ ประกอบด้วย ผู้รวบรวม ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก และโรงงานแปรรูป ซึ่งผู้รวบรวม ผลผลิตนับว่ามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนย้ายผลผลิตจากเกษตรกรสู่ตลาด โดยกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ การจัดการโครงสร้างพื้นฐานในการรวบรวมเก็บเกี่ยว การคัดแยก การตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงการใช้ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การเก็บรักษา เป็นต้น เพื่อลดหรือป้องกันความ เสียหายของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ผลผลิตการเกษตรที่รวบรวมได้ถูก เคลื่อนย้ายไปดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ทางคือ 1) รวบรวมเพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในรูปของผลสด 2) เพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ โดยมีกิจกรรมโลจิสติกส์ที่สำคัญคือ การจัดการพัฒนานวัตกรรม การแปรรูปผลผลิตผลิตภัณฑ์และนำผลิตภัณฑ์นั้นไปขายต่อไป ระดับปลายน้ำ เป็นกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าทั้งที่อยู่ในรูปของผลสดและสินค้าเกษตร แปรรูปออกสู่ตลาด โดยสินค้า /ผลผลิตนั้นจะถูกจำหน่ายให้กับพ่อค้าขายส่ง พ่อค้าขายปลีก ตัวแทนผู้ส่งออกที่ทำ หน้าที่ขายหรือกระจายสินค้าไปสู่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคต่อไป โดยกิจกรรมโลจิสติกส์ประกอบด้วย การจัดการ ธุรกิจ เช่น การหาลูกค้า การตัดสินเกี่ยวกับผลผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่จำเป็นในการสร้างและสนับสนุน ฐานของลูกค้าควบคู่กับการจัดการคุณภาพมาตรฐานสินค้า เพื่อสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจ ให้กับลูกค้า


11 ทั้งนี้ในกระบวนการไหลของผลผลิตจะเริ่มจากเกษตรกรเป็นผู้ผลิตผลผลิตการเกษตรและ เคลื่อนย้ายไปสู่ผู้รวบรวมในรูปผลสดหรือเปลี่ยนสภาพไปเรื่อย ๆ จนเป็นสินค้าสำเร็จรูป และส่งไปยังลูกค้า ในขณะที่เงินหรือผลตอบแทนจากการขายจะเคลื่อนที่จากผู้ซื้อขั้นสุดท้ายจนถึงเกษตรกร ซึ่งระหว่างนั้น จะมีการไหลของข้อมูลทั้งไปและกลับ เช่น ข้อมูลของสินค้า ข้อมูลความต้องการผู้บริโภคตลอดโซ่อุปทาน ดังแสดงตามภาพที่ 2.1 ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2556) 2.2.2 แนวคิดห่วงโซ่คุณค่า ห่วงโซ่คุณค่า หมายถึง กิจกรรมที่มีความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปัจจัย การผลิต โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการนำวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต กระบวนการจัดจำหน่าย กระบวนการ จัดส่งสินค้าสู่ผู้บริโภค และกระบวนการบริการหลังการขาย การสร้างคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการนั้น อาจจะ เป็นการกระทำโดยบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท ด้วยการแบ่งขอบเขตของกิจกรรม แล้วส่งต่อคุณค่า ในแต่ละช่วงต่อเนื่องกันไป หรือห่วงโซ่คุณค่า หมายถึง การสร้างคุณค่าหรือประโยชน์อื่น ๆ มาประกอบกันให้เป็น ประโยชน์สุดท้ายที่ลูกค้าต้องการโดยมีขั้นตอนของกระบวนการสร้างคุณค่าที่ต่อเนื่องกันเหมือนห่วงโซ่ของกิจกรรมที่มี ความเกี่ยวพันกันเพื่อสร้างประโยชน์สุดท้ายในผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อส่งต่อไปให้ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า เป็นการวิเคราะห์เพื่อพิจารณาถึงความสามารถของกิจการในการแข่งขัน โดยการศึกษาถึงกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุนว่า สามารถช่วยให้ได้เปรียบด้านต้นทุน หรือความสามารถในการสร้างความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการ กำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนของกิจกรรมได้เป็นอย่างดี ภาพที่ 2.1 โครงสร้างโซ่อุปทานสินค้าเกษตร


12 Michael E. Porter (1985) ได้ให้แนวความคิดของห่วงโซ่คุณค่าว่าเป็นคุณค่าหรือราคาสินค้าที่ ลูกค้าหรือผู้ซื้อยอมจ่ายให้กับสินค้า ซึ่งคุณค่าของสินค้าเหล่านี้เป็นผลจากการโยงใยคุณค่าต่าง ๆ ในกระบวนการ ผลิต หรือดำเนินงานของบริษัทเจ้าของสินค้า ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายระหว่างการดำเนินงาน โดยมี ความสัมพันธ์กันคล้ายลูกโซ่แบบต่อเนื่อง การที่จะตรวจสอบว่า สินค้าและบริการมีคุณค่ามาก(จุดแข็ง) จาก กิจกรรมใด และมีคุณค่าน้อย (จุดอ่อน) จากกิจกรรมใด Michael E. Porter ได้เสนอแบบจำลองห่วงโซ่คุณค่าโดย มุ่งให้ความสำคัญกับกิจกรรมในโซ่คุณค่าของแต่ละหน่วยธุรกิจ ตั้งแต่การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ การแปรรูป ตลอด จนถึงกระบวนการส่งมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้า โดยมุ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ด้วย การวิเคราะห์มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนหรือกิจกรรม แบ่งกิจกรรมภายในองค์กร เป็น 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมหลัก (Primary Activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) โดยกิจกรรมทุกประเภทมี ส่วนในการช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า กิจกรรมหลัก เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการการตลาด และ การขนส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 5 กิจกรรม ดังนี้ 1) โลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound Logistics) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง การ จัดเก็บ การแจกจ่ายวัตถุดิบ การควบคุมระดับของวัตถุดิบ 2) การปฏิบัติการการผลิต (Operations) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนหรือแปรรูปวัตถุดิบให้ ออกมาเป็นสินค้าหรือบริการ จะประกอบไปด้วย กระบวนการผลิต การบำรุงรักษา เครื่องจักรและอุปกรณ์ การ บรรจุภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพ 3) โลจิสติกส์ขาออก (Outbound Logistics) การกระจายสินค้ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ รวบรวม จัดจำหน่ายสินค้าให้พร้อมที่จะกระจายไปยังลูกค้า ดำเนินการตามใบสั่งซื้อ และดำเนินการส่งมอบ 4) การตลาดและการขาย (Marketing and Sales) กิจกรรมที่เกี่ยวกับการชักจูงให้ลูกค้าซื้อสินค้า และบริการ การโฆษณา ช่องทางการจัดจำหน่าย ประชาสัมพันธ์ 5) การบริการ (Services) กิจกรรมที่ครอบคลุมถึงการให้บริการเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า รวมถึง การบริการหลังการขาย การแนะนำการใช้ กิจกรรมสนับสนุน เป็นกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมหลักสามารถดำเนินไปได้ด้วยความ เรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 4 กิจกรรม ดังนี้ 1) การจัดหา/จัดซื้อ (Procurement) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดหาปัจจัยการผลิต เพื่อมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ 2) การพัฒนาเทคโนโลยี(Technology Development) เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนา เทคโนโลยีที่ช่วยในการเพิ่มคุณค่าให้สินค้าและบริการหรือกระบวนการผลิต 3) การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การบริหารทรัพยากรบุคคล ได้แก่ การสรรหาและคัดเลือก พัฒนา ฝึกอบรม การยกระดับความรู้และทักษะ และ การกำหนดระบบการให้รางวัลที่เหมาะสมเพื่อจูงใจในการทำงาน


13 4) โครงสร้างพื้นฐานขององค์กร (Company Infrastructure) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการ บริหารงานทั่วไปขององค์กร เช่น ระบบบัญชี ระบบการเงิน การควบคุมคุณภาพ เป็นต้น กิจกรรมหลักทั้ง 5 กิจกรรม จะทำงานประสานกันได้ดี จนก่อให้เกิดคุณค่าได้นั้นจะต้องอาศัย กิจกรรมสนับสนุนทั้ง 4 กิจกรรม นอกจากกิจกรรมสนับสนุนจะทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมหลักแล้ว กิจกรรม สนับสนุนยังจะต้องทำหน้าที่สนับสนุนซึ่งกันและกันอีกด้วย ที่มา : Michael Porter (1985) ภาพที่ 2.2 Value Chain 2.2.3 แนวคิดต้นทุนการผลิต 1) ต้นทุนการผลิตลำไย ต้นทุนการผลิต หมายถึง ค่าใช้จ่ายหรือมูลค่าการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งประเภทปัจจัยผันแปร และปัจจัยคงที่ ที่นำมาใช้ในการประกอบการผลิต เพื่อให้การผลิตดำเนินการไปจนสิ้นสุดกระบวนการผลิตใน ช่วงเวลา หรือรุ่นการผลิตหนึ่ง ๆ ที่กำหนด (ศิริวัฒน์ ทรงธนศักดิ์, 2562) 1.1) ต้นทุนทั้งหมด หมายถึง ผลรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ ทั้งที่ เป็นเงินสด และไม่เป็นเงินสด 1.2) ต้นทุนผันแปร หมายถึง ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สามารถเปลี่ยนขนาดการใช้เพื่อ เปลี่ยนแปลงขนาดของผลผลิตในขนาดการผลิตหนึ่ง ๆ กล่าวคือ ในขนาดการผลิตหนึ่ง ๆ ที่คงที่ ผลผลิตจะได้มาก


14 หรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดการใช้ปัจจัย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้ปัจจัยก็จะส่งผลให้ขนาดของผลผลิตที่ได้ เปลี่ยนแปลงไปด้วย 1.3) ต้นทุนคงที่ หมายถึง ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตแต่ละช่วงหรือรุ่นการผลิตหนึ่ง ๆ เป็น การผลิตระยะสั้น ปัจจัยที่ใช้ประกอบการผลิตบางส่วนจึงมีสภาพคงที่ ปัจจัยเหล่านี้จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ขนาดการผลิตได้ ไม่ว่าจะมีการผลิตมากหรือผลิตน้อย หรือไม่มีการผลิตเลยก็ตาม ปัจจัยการผลิตชนิดนี้จะ ยังคงมีอยู่ เช่น ค่าใช้ที่ดิน ค่าเสื่อมเครื่องจักร และค่าเสื่อมโรงเรือน เป็นต้น 1.4) ต้นทุนที่เป็นเงินสด หมายถึง ต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นเงินสดในการนำ ปัจจัยมาประกอบการผลิตในช่วงหรือรุ่นการผลิตนั้น ๆ ทั้งที่เป็นต้นทุนผันแปร เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาสารเคมี ค่าจ้างแรงงาน ค่าพันธุ์ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ค่าซ่อมแซมเครื่องอุปกรณ์ และค่าเช่าที่ดิน เป็นต้น 1.5) ต้นทุนที่ไม่เป็นเงินสด หมายถึง ต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน แต่ต้อง ประเมินให้เป็นตัวเงินในช่วงหรือรุ่นการผลิตนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ประเมินจากการใช้ปัจจัย เช่น แรงงานในครัวเรือน ปุ๋ยคอกในฟาร์ม ค่าพันธุ์ที่เก็บไว้เอง ค่าใช้ที่ดินของตนเอง ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเสื่อม และค่าเสียโอกาสในการลงทุน เป็นต้น 1.6) ต้นทุนรวมต่อไร่หรือต้นทุนต่อพื้นที่ (บาทต่อไร่) คำนวณได้จากการรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่ใช้ไปในการลงทุนการผลิตพืชนั้น ทั้งต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ 1.7) ต้นทุนต่อกิโลกรัมหรือต้นทุนต่อหน่วย (บาทต่อกิโลกรัม) คำนวณได้จากต้นทุนรวมต่อไร่ หารด้วย ผลผลิตต่อไร่ 2) ต้นทุนการผลิตสินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ต้นทุนการผลิตสินค้า (Cost) หมายถึง มูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียไปเพื่อให้ได้สินค้าหรือ บริการ โดยมูลค่านั้นจะต้องสามารถวัดได้เป็นหน่วยเงินตรา ซึ่งเป็นลักษณะของการลดลงในสินทรัพย์หรือ เพิ่มขึ้นในหนี้สิน ต้นทุนที่เกิดขึ้นอาจจะให้ประโยชน์ในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ได้ เมื่อต้นทุนใดที่เกิดขึ้นแล้ว และกิจการได้ใช้ประโยชน์ไปทั้งสิ้นแล้ว ต้นทุนนั้นก็จะถือเป็น “ค่าใช้จ่าย” (Expenses) ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจึง หมายถึงต้นทุนที่ได้ให้ประโยชน์และกิจการได้ใช้ประโยชน์ทั้งหมดไปแล้ว การคิดต้นทุนสามารถคิดได้หลายวิธี ในการศึกษาครั้งนี้จะคิดต้นทุนโดยจำแนกตามลักษณะส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยวัตถุดิบ ค่าแรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิต 2.1) วัตถุดิบ (Materials) วัตถุดิบนับว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตสินค้าหรือ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปโดยทั่วไป ซึ่งต้นทุนที่เกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาจจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือวัตถุดิบทางตรง (Direct Materials) หมายถึง วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตสินค้าชนิดนั้น ๆ วัตถุดิบทางอ้อม (Indirect Materials) หมายถึง วัตถุดิบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยทางอ้อมกับการผลิตสินค้า 2.2) ค่าแรงงาน (Labor) ค่าแรงงาน หมายถึง ค่าจ้างหรือผลตอบแทนที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง หรือคนงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิต


15 2.3) ค่าใช้จ่ายการผลิต (Manufacturing Overhead) ค่าใช้จ่ายการผลิต หมายถึง แหล่ง รวบรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าซึ่งนอกเหนือจากวัตถุดิบและค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินการผลิตในโรงงานเท่านั้น ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตสินค้ายังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องในการผลิต สินค้า ได้แก่ เงินเดือนในการบริหาร ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ค่าเครื่องเขียน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเสื่อม ราคา-ทรัพย์สิน ดอกเบี้ยจ่าย ค่าภาษี เป็นต้น (อนุรักษ์ ทองสุโขวงศ์, 2563) 2.2.4 แนวคิดการวิเคราะห์ SWOT เป็นวิธีการหรือเครื่องมือสำหรับการวางแผนกลยุทธ์ที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายในกิจการ ต่าง ๆ กระบวนการวิเคราะห์ SWOT จะทำให้ทราบสถานภาพปัจจุบันขององค์กรว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อหา กลยุทธ์ที่เหมาะสมให้แก่องค์กรนั้น ๆ (เอกชัย อภิศักดิ์กุล และทรรศนะ บุญขวัญ, 2553) 1) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน หมายถึง การตรวจสอบความสามารถและความพร้อมที่ ทำให้ทราบถึงจุดแข็ง (Strengths) และจุดอ่อนขององค์กร (Weakness) ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จาก โอกาส (Opportunities) และหลบหลีกจากอุปสรรค (Threats) ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอกได้ การวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนยังช่วยระบุถึงจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ และจุดอ่อนที่ถูกละเลย องค์กรจะต้องสามารถ ระบุปัจจัยภายในขององค์กรที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนได้ เนื่องจากจุดแข็งนำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขัน เป็นสิ่งซึ่งองค์กรมีอยู่ทำหรือสามารถทำได้ดีกว่าคู่แข่งขัน จุดอ่อน คือ สิ่งที่มีหรือทำหรือไม่มีเลย ซึ่งในขณะที่ คู่แข่งขันสามารถทำได้ดีกว่า การพิจารณาจุดอ่อนและจุดแข็งสามารถเปรียบเทียบได้กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในอดีตขององค์กร (Past Performance) คู่แข่งขันที่สำคัญขององค์กร (Key Competition) และอุตสาหกรรมทั้งหมด เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์สภาวะแวดล้อมภายใน ได้แก่ ห่วงโซ่ คุณค่า (Value Chain Analysis) 2) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก หมายถึง การประเมินสภาพแวดล้อมในการดำเนิน ธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ดังนั้นจึงต้องศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของสภาพแวดล้อมดังกล่าวว่าเป็นไปในลักษณะที่เป็นโอกาสหรือ อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภายนอกส่งผลต่อองค์กรธุรกิจแต่ละแห่ง ในลักษณะที่แตกต่างกันการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดโอกาสสำหรับองค์กรบางแหล่งอาจจะกลายเป็นข้อกำหนด ขององค์กรอื่นหรือถึงแม้องค์กรธุรกิจหลายแห่งอาจจะได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กัน แต่บางแห่ง ก็อาจจะได้รับประโยชน์มากกว่าแห่งอื่น เนื่องจากลักษณะที่แตกต่างกันขององค์กรธุรกิจและความสามารถของ ผู้บริหารในการที่จะกำหนดกลยุทธ์ให้ได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์สภาวะ แวดล้อมภายนอก ได้แก่ Diamond Model Diamond Model คือแนวคิดกรอบแนวคิดหรือตัวแบบสำหรับการวิเคราะห์ความสามารถใน การแข่งขัน ของเครือข่ายวิสาหกิจในระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน หรือลักษณะของการรวมตัวกันใน รูปแบบคลัสเตอร์ โดย Michael E. Porter ได้พัฒนาขึ้นเมื่อปี 1990 เพื่อเครื่องมือและกระบวนการสำคัญที่จะ


16 นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ รูปแบบ Diamond Model เป็นการพิจารณาและประเมินสภาวการณ์ปัจจุบันของปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่สำคัญ 6 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านปัจจัยการผลิต (Input Factor Conditions) ได้แก่ ปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน ฯลฯ ที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท 2) ด้านอุปสงค์ (Demand Conditions) ได้แก่ ทัศนคติและรสนิยมของผู้บริโภค ระดับความ พิถีพิถันและความเรียกร้องต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการของบริษัท ลักษณะและโครงสร้าง การแบ่งส่วนการตลาดสำหรับสินค้าและบริการของบริษัท ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละส่วนการตลาด เป็นที่คาดเดาได้ในระดับใด ฯลฯ 3) ด้านการแข่งขันและกลยุทธ์ของธุรกิจ (Strategy and Rivalry Context) ได้แก่ ลักษณะ และบรรยากาศของการแข่งขันทางธุรกิจ กลไกการตลาด ฯลฯ ที่จะมีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ 4) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนกัน (Related and Supporting Industries) ได้แก่ กิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันในสายของซัพพลายเชนมีความครบถ้วนมากน้อยเพียงใด และมีระดับความสัมพันธ์ของความร่วมมือระหว่างกันเพียงใด เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความรู้ ระหว่างกัน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์/ ตลาดร่วมกัน รวมถึงเกิดข้อจำกัดอย่างไร ฯลฯ 5) โอกาสทางธุรกิจ (Chance) เป็นปัจจัยที่องค์กรธุรกิจหรือภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้ โดย การอุบัติขึ้นของเหตุการณ์บางอย่างอาจมีผลในทางบวกหรือลบกับความสามารถในการแข่งขันของ อุตสาหกรรม 6) บทบาทของภาครัฐ (Government) โดยนโยบายของภาครัฐจะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะมีส่วน ในการผลักดันให้อุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์ทางธุรกิจหนึ่ง ๆ มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยอาจเป็นในรูปการณ์ออกกฎหมาย การให้ความสนับสนุนแหล่งเงินกู้ยืมในอัตราต่ำ การกำหนดนโยบายภาษีที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรม 2.2.5 แนวคิดการวิเคราะห์ TOWS Matrix แนวคิดการวิเคราะห์TOWS Matrix เป็นแมทริกซ์ที่แสดงถึงโอกาสและอุปสรรคจากภายนอก องค์กรที่สัมพันธ์กับจุดแข็งและจุดอ่อนภายในองค์กรโดยมีทางเลือกของกลยุทธ์ 4 ทางเลือก ซึ่งเกิดจากการ จับคู่ระหว่างปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ดังนี้


17 ตารางที่ 2.1 การวิเคราะห์ TOWS Matrix S W O S – O Strategies ใช้จุดแข็งเพื่อสร้าง ข้อได้เปรียบจากโอกาส W – O Strategies แก้ไขจุดอ่อน เพื่อสร้าง ข้อได้เปรียบจากโอกาส T S – T Strategies ใช้จุดแข็ง หลีกเลี่ยงลดอุปสรรค W – T Strategies ลดความอ่อนแอ หลีกเลี่ยงอุปสรรคอาจเลิกกิจการ ที่มา : อ้างอิงจากเอกชัย อภิศักดิ์กุล และทรรศนะ บุญขวัญ (2553)การจัดการกลยุทธ์ (Strategic Management) ของ Michael A.Hitt, R.Duane Ireland and Robert E.Hoskisson 1) กลยุทธ์ SO หรือเรียกว่า กลยุทธ์จุดแข็งกับโอกาส ได้แก่ กลยุทธ์ที่องค์กรจะใช้จุดแข็งภายใน องค์กรและแสวงหาประโยชน์จากโอกาส ณ ภายนอกที่เปิดโอกาสให้ ซึ่งทุกองค์กรต่างมีความต้องการจะสร้าง ความเข้มแข็งภายในเพื่อสามารถอาศัยประโยชน์จากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ณ ภายนอก ซึ่งมีหลาย องค์กรใช้กลยุทธ์ WO ST SO เพื่อจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ที่สามารถใช้กลยุทธ์ SO ได้อีกหมายความว่า เมื่อองค์กรมีความอ่อนแอภายในก็จะพยายามปรับปรุงให้องค์กรภายในเข้มแข็งขึ้น และเมื่อองค์กรประสบกับ อุปสรรค ณ ภายนอกก็จะพยายามหลีกเลี่ยงและมุ่งเข้าหาโอกาสต่อองค์กรให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 2) กลยุทธ์ ST หรือเรียกว่า กลยุทธ์จุดแข็งกับอุปสรรค ได้แก่ กลยุทธ์ที่จะใช้ความเข้มแข็งภายใน องค์กรหลีกเลี่ยงหรือลดอุปสรรค ณ ภายนอกทั้งจากคู่แข่งขันหรือปัจจัยอื่น ๆ 3) กลยุทธ์ WO หรือเรียกว่า กลยุทธ์จุดอ่อนกับโอกาส ได้แก่ กลยุทธ์ที่องค์กรจะปรับปรุงแก้ไข ความอ่อนแอภายในองค์กรโดยอาศัยประโยชน์จากโอกาสภายนอกที่เปิดโอกาสให้ถึงแม้ว่าสิ่งแวดล้อม ภายนอกดีมาก แต่หากองค์กรมีปัญหาภายในเองก็อาจทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากโอกาสภายนอกที่มีอยู่ เพราะจุดอ่อนอาจทำให้องค์กรไม่สามารถอยู่ได้ จึงควรหาวิธีในการเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง เพราะยังมี โอกาสหรือช่องทางในการดำเนินงานในองค์กรต่อไปได้ 4) กลยุทธ์ WT หรือเรียกว่า กลยุทธ์จุดอ่อนกับอุปสรรค ได้แก่ กลยุทธ์ที่ปกป้ององค์กรอย่างที่สุด คือ พยายามลดความอ่อนแอภายใน และหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เป็นอุปสรรคให้ได้มากที่สุด หากองค์กรเผชิญกับอุปสรรคภายนอกและภายในก็ยังอ่อนแอ องค์กรก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีอาจต้อง เลิกกิจการ


บทที่3 ข้อมูลทั่วไป การศึกษาแนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์วิเคราะห์ ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ทำให้ทราบถึงข้อมูลการผลิตและการแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองในจังหวัดลำพูน ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร และข้อมูลทั่วไปของผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน มีรายละเอียดได้ดังนี้ 3.1 ข้อมูลการผลิตและการแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองในจังหวัดลำพูน ปี 2562 3.1.1 การผลิตลำไยจังหวัดลำพูน ปี 2562 จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ใน ปี 2562 จังหวัดลำพูนมีเนื้อที่ลำไยยืนต้น 270,189 ไร่ โดยอำเภอที่มีเนื้อที่ยืนต้นมากที่สุดคือ อำเภอลี้จำนวน 78,140 ไร่ รองลงมา อำเภอป่าซาง เมือง ลำพูน บ้านโฮ่ง แม่ทา เวียงหนองล่อง บ้านธิ และทุ่งหัวช้าง จำนวน 46,994 41,659 37,601 26,446 17,866 11,328 และ 10,155 ไร่ ตามลำดับ และเนื้อที่ให้ผล 269,924 ไร่ โดยอำเภอที่มีเนื้อที่ให้ผลมากที่สุดคืออำเภอลี้ จำนวน 77,995 ไร่ รองลงมา อำเภอป่าซาง เมืองลำพูน บ้านโฮ่ง แม่ทา เวียงหนองล่อง บ้านธิ และทุ่งหัวช้าง จำนวน 46,994 41,659 37,601 26,326 17,866 11,328 และ 10,155 ไร่ ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลกรม วิชาการเกษตรพบว่า หน่วยงานระดับพื้นที่มีการให้บริการตรวจแปลงลำไยตามมาตรฐาน GAP โดยแปลงลำไย พันธุ์ดอในจังหวัดลำพูนที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP แล้ว มีจำนวน 16,562 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.18 ของเนื้อที่ยืนต้น ลำไยจังหวัดลำพูน (กรมวิชาการเกษตร, 2563) รายละเอียดดังตารางที่ 3.1 ตารางที่3.1 เนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลผลิตลำไย จังหวัดลำพูน ปี 2562 อำเภอ เนื้อที่ยืนต้น (ไร่) เนื้อที่ให้ผล (ไร่) 1. เมืองลำพูน 41,659 41,659 2. บ้านโฮ่ง 37,601 37,601 3. ป่าซาง 46,994 46,994 4. แม่ทา 26,446 26,326 5. ลี้ 78,140 77,995 6. ทุ่งหัวช้าง 10,155 10,155 7. บ้านธิ 11,328 11,328 8. เวียงหนองล่อง 17,866 17,866 รวม 270,189 269,924 ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2563)


19 ผลผลิตลำไยจังหวัดลำพูน ปี 2562 พบว่า มีปริมาณผลผลิตทั้งหมด 231,026 ตัน โดยอำเภอที่มี ผลผลิตมากที่สุดคืออำเภอลี้จำนวน 62,942 ตัน รองลงมา อำเภอป่าซาง เมืองลำพูน บ้านโฮ่ง แม่ทา เวียง หนองล่อง บ้านธิ และทุ่งหัวช้าง จำนวน 43,798 37,785 29,479 24,667 13,489 10,864 และ 8,002 ตัน ตามลำดับ มีผลผลิตต่อไร่ 856 กิโลกรัม โดยผลผลิตต่อไร่ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 8.15 เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง (ผลผลิตต่อไร่ปี 2561 เท่ากับ 932 กิโลกรัมต่อไร่) รายละเอียดดังตารางที่ 3.2 ตารางที่3.2 ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ของลำไย จังหวัดลำพูน ปี 2562 อำเภอ ผลผลิต (ตัน) ผลผลิตต่อไร่ (กก.) 1. เมืองลำพูน 37,785 907 2. บ้านโฮ่ง 29,479 784 3. ป่าซาง 43,798 932 4. แม่ทา 24,667 937 5. ลี้ 62,942 807 6. ทุ่งหัวช้าง 8,002 788 7. บ้านธิ 10,864 959 8. เวียงหนองล่อง 13,489 755 รวม 231,026 856 ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2563) 3.1.2 การแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ผลผลิตลำไยของจังหวัดลำพูนส่วนใหญ่ร้อยละ 77.04 จะใช้เพื่อการแเปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง ทั้งเปลือกและลำไยอบแห้งเนื้อสีทองพบว่า ในปี 2562 มีการนำผลผลิตลำไยไปใช้เพื่อแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ปีละ 8,000 ตัน / ปี คิดเป็นผลผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองจำนวน 800 ตัน / ปี (ผลผลิตลำไย 10 กิโลกรัม แปรรูป เป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทองได้ 1 กิโลกรัม) ซึ่งจังหวัดลำพูนมีผู้ประกอบการแปรรูปที่มีโรงอบแห้งลำไยเนื้อสีทอง ทั้งหมด 40 กลุ่ม / ราย จำนวนเตาอบ 217 เตา โดยอำเภอที่มีผู้แปรรูปและมีเตามากที่สุด คืออำเภอเมืองลำพูน จำนวน 26 กลุ่ม / ราย มี194 เตา รองลงมาอำเภอบ้านโฮ่ง บ้านธิ แม่ทา และเวียงหนองล่องจำนวน 7 กลุ่ม / ราย มี11 เตา 4 กลุ่ม / ราย มี9 เตา 2 กลุ่ม / ราย มี2 เตา และ 1 กลุ่ม / ราย มี1 เตา ตามลำดับ (สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน, 2563) ด้านกำลังการผลิตเพื่อผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองเฉลี่ย 37.75 ตัน / วัน โดยอำเภอที่มีกำลังการผลิต ต่อวันมากที่สุดคือ อำเภอเมืองลำพูนจำนวน 32.05 ตัน / วัน รองลงมาอำเภอบ้านโฮ่ง เวียงหนองล่อง บ้านธิ และแม่ทา จำนวน 2.10 2.00 1.00 และ 0.60 ตัน / วัน ตามลำดับ โดยมีระยะเวลาในการแปรรูปลำไยอบแห้ง เนื้อสีทอง ส่วนใหญ่จะแปรรูปเฉพาะผลผลิตลำไยในฤดูระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม เนื่องจากผลผลิตลำไย


20 จะมีคุณภาพดีกว่าการใช้ลำไยนอกฤดู ในส่วนช่วงเดือนอื่น ๆ ผู้แปรรูปจะใช้เตาอบผลไม้อื่น ๆ ตามฤดูกาลแทน เช่น มะม่วง และแก้วมังกร เป็นต้น รายละเอียดดังตารางที่ 3.3 ตารางที่3.3จำนวนโรงอบ เตาอบลำไยอบแห้งและกำลังการผลิตต่อวันของลำไยอบแห้งเนื้อสีทองจังหวัดลำพูน อำเภอ จำนวนผู้ประกอบการ โรงอบลำไย(กลุ่ม / ราย) จำนวนเตาอบ เนื้อสีทอง (เตา) กำลังการอบน้ำหนักแห้ง (ตัน / วัน) 1. เมืองลำพูน 26 194 32.05 2. แม่ทา 2 2 0.60 3. บ้านโฮ่ง 7 11 2.10 4. บ้านธิ 4 9 1.00 5. เวียงหนองล่อง 1 1 2.00 รวม 40 217 37.75 ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน (2563) 3.2 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย 3.2.1 ลักษณะส่วนบุคคล ในการศึกษาครั้งนี้ สอบถามเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่เคยนำผลผลิตไปจำหน่ายแก่วิสาหกิจ ชุมชนเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ที่ได้รับรองตราสินค้า GI จำนวน 8 ราย สามารถอธิบายลักษณะส่วนบุคคล ได้ดังนี้ 1) เพศ เกษตรกรเป็นเพศชายร้อยละ 75.00 เพศหญิงร้อยละ 25.00 2) การรวมกลุ่มเกษตรกร เกษตรกรมีการรวมกลุ่มร่วมกันร้อยละ 87.50 ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้การลดต้นทุนการเพิ่ม ผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต และเกษตรกรร้อยละ 12.50 ไม่ได้รวมกลุ่ม 3) ลักษณะเนื้อที่ปลูกลำไย มีลักษณะเนื้อที่ปลูกแบบไร่ไม่ยกร่อง คิดเป็นร้อยละ 100.00 4) แหล่งน้ำที่ใช้ในการปลูกลำไย ใช้แหล่งน้ำในเขตชลประทานและใช้น้ำนอกเขตชลประทาน ร้อยละ 50.00 เท่ากัน 5) อายุต้นลำไย มีอายุเฉลี่ย 17.63 ปี โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 75.00 มีอายุต้นลำไย 10 – 20 ปี รองลงมาคือ อายุน้อยกว่า 10 ปี และอายุ 21 – 30 ปี คิดเป็นร้อยละ 12.50 เท่ากัน 6) เนื้อที่ยืนต้น มีเนื้อที่ยืนต้นลำไยเฉลี่ย 7.41 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 50.00 มีเนื้อที่ยืน ต้น 5 – 10 ไร่ รองลงมาคือ มีเนื้อที่ยืนต้นน้อยกว่า 5 ไร่ และมีเนื้อที่ยืนต้นมากกว่า 10 ไร่ขึ้นไปร้อยละ 25.00 เท่ากัน 7) ลักษณะการถือครองที่ดิน ส่วนใหญ่ร้อยละ 92.89 มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเอง ที่เหลือ ร้อยละ 7.11 เป็นพื้นที่เช่า 8) ผลผลผลิตต่อไร่ลำไยปี 2562 เกษตรกรมีผลผลิต 982.74 กิโลกรัมต่อไร่


21 9) ช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตลำไย เกษตรกรจำหน่ายที่สวนลำไย และจำหน่ายที่แหล่งรับ ซื้อร้อยละ 50.00 เท่ากัน โดยเกษตรกรมีการแบ่งผลผลิตเพื่อคัดผลผลิตลำไยขนาดใหญ่เกรด AA ไปขายให้กับ กลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อนำไปขายให้วิสาหกิจชุมชนเป็นวัตถุดิบผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 10) มาตรฐาน GAP เกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้รับการรับรองคุณภาพการผลิตมาตรฐาน GAP ร้อย ละ 100.00 รายละเอียดดังตารางที่ 3.4 ตารางที่ 3.4 ลักษณะส่วนบุคคลของเกษตรกร ลักษณะส่วนบุคคล จำนวน (ราย) ร้อยละ 1. เพศ เพศชาย 6 75.00 เพศหญิง 2 25.00 2. การรวมกลุ่มทางการเกษตร รวมกลุ่ม 7 87.50 ไม่รวมกลุ่ม 1 12.50 3. ลักษณะพื้นที่ปลูกลำไย แบบไร่ไม่ยกร่อง 8 100.00 4. แหล่งน้ำที่ใช้ในการปลูกลำไย ในเขตชลประทาน 4 50.00 นอกเขตชลประทาน 4 50.00 5. อายุต้นลำไย น้อยกว่า 10 ปี 1 12.50 10 – 20 ปี 6 75.00 21 – 30 ปี 1 12.50 เฉลี่ย 17.63 ปี 6. เนื้อที่ยืนต้น น้อยกว่า 5 ไร่ 2 25.00 5 – 10 ไร่ 4 50.00 มากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป 2 25.00 เฉลี่ย 7.41 ไร่ 7. ลักษณะการถือครองที่ดิน 1 ของตนเองที่ดิน 8 92.89 เช่า 1 7.11 8. ผลผลิตต่อไร่ลำไยปี 2562 982.74 กก. / ไร่


22 ตารางที่ 3.4 ลักษณะส่วนบุคคลของเกษตรกร (ต่อ) ลักษณะส่วนบุคคล จำนวน (ราย) ร้อยละ 9. ช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิตลำไย สวนลำไย 4 50.00 แหล่งรับซื้อลำไย 4 50.00 10. การได้รับมาตรฐาน GAP ได้รับ ไม่ได้รับ 8 - 100.00 0.00 หมายเหตุ : 1 ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ที่มา : คำนวณจากการสำรวจ 3.2.2 ข้อมูลเกี่ยวกับการได้มาของปัจจัยการผลิตของเกษตรกร 1) ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยร้อยละ 100.00 ซื้อจากแหล่งจำหน่ายใน พื้นที่ที่เชื่อถือได้ 2) ปุ๋ยเคมีเกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่ร้อยละ87.50ซื้อจากแหล่งจำหน่ายในพื้นที่ที่เชื่อถือได้ ที่เหลือร้อยละ 12.50 ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี 3) สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช เกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่ร้อยละ 87.50 ซื้อจากแหล่ง จำหน่ายในพื้นที่ที่เชื่อถือได้ที่เหลือร้อยละ 12.50 ไม่ได้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช 4) สารเคมีอื่น ๆ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่ร้อยละ 50.00 ซื้อจากแหล่งจำหน่ายในพื้นที่ที่ เชื่อถือได้ รองลงมาร้อยละ 37.50 ไม่ได้ใช้สารเคมีอื่น ๆ ที่เหลือร้อยละ 12.50 ทำใช้เองหรือได้มาฟรี 5) วัสดุปรับปรุงดิน เกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่ร้อยละ 62.50 ทำใช้เองหรือได้มาฟรีที่เหลือร้อย ละ 37.50 ไม่ได้ใช้วัสดุปรับปรุงดิน 6) น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า เกษตรกรผู้ปลูกลำไยร้อยละ 100.00 ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อ ลื่น ใช้กับเครื่องสูบน้ำ เครื่องพ่นยา เครื่องตัดหญ้า และจ่ายค่าไฟฟ้า ใช้กับเครื่องปั๊มน้ำรดน้ำต้นลำไย 7) วัสดุสิ้นเปลือง เกษตรกรผู้ปลูกลำไยร้อยละ 12.50 ซื้อไม้หลักยึดต้นลำไย ส่วนที่เหลือร้อยละ 87.50 ไม่ได้ใช้รายละเอียดดังตารางที่ 3.5


23 ตารางที่ 3.5 ข้อมูลเกี่ยวกับการได้มาของปัจจัยการผลิต รายการ จำนวน (ราย) ร้อยละ 1. ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพ ซื้อจากแหล่งจำหน่าย 8 100.00 2. ปุ๋ยเคมี ซื้อจากแหล่งจำหน่าย 7 87.50 ไม่ได้ใช้ 1 12.50 3. สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ซื้อจากแหล่งจำหน่าย 7 87.50 ไม่ได้ใช้ 1 12.50 4. สารเคมีอื่น ๆ 1 ซื้อจากแหล่งจำหน่าย 5 50.00 ทำใช้เอง 1 12.50 ไม่ได้ใช้ 3 37.50 5. วัสดุปรับปรุงดิน ทำใช้เอง 5 62.50 ไม่ได้ใช้ 3 37.50 6. น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ซื้อจากแหล่งจำหน่าย 8 100.00 7. วัสดุสิ้นเปลือง ซื้อจากแหล่งจำหน่าย 1 12.50 ไม่ได้ใช้ 7 87.50 หมายเหตุ : 1 สารเคมีอื่น ๆ ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ที่มา : คำนวณจากการสำรวจ 3.2.3 ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แรงงานและเครื่องจักรในการปลูกลำไย 1) การใส่ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยส่วนใหญ่ร้อยละ 75.00 ใส่ปุ๋ยเองโดย ใช้แรงงานคน รองลงมาใส่ปุ๋ยเองโดยใช้เครื่องจักร จ้างใส่ปุ๋ยโดยใช้แรงงานคน และใช้เครื่องจักร ร้อยละ 12.50 เท่ากัน 2) การใส่ปุ๋ยเคมี ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.00 ใส่ปุ๋ยเองโดยใช้แรงงานคน รองลงมาจ้างใส่ปุ๋ยโดยใช้ แรงงานคน และเครื่องจักร ร้อยละ 12.50 เท่ากัน 3) การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ส่วนใหญ่ฉีดพ่นเองโดยใช้เครื่องฉีดพ่นแบบ สะพายหลัง และใช้เครื่องจักร ได้แก่ เครื่องพ่นยาแบบปั๊ม ร้อยละ 37.50 เท่ากัน รองลงมาจ้างฉีดพ่นโดยใช้ เครื่องฉีดพ่นแบบสะพายหลังร้อยละ 25.00


24 4) การฉีดพ่นสารเคมีอื่น ๆ และใส่สารปรับปรุงดิน ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.00 ฉีดพ่นเองโดยใช้ เครื่องพ่นแบบสะพายหลัง รองลงมาฉีดพ่นโดยเครื่องพ่นยาแบบปั๊ม จ้างฉีดพ่นโดยแรงงานคน และใช้ เครื่องจักร ได้แก่ เครื่องพ่นยาแบบปั๊ม ร้อยละ 25.00 เท่ากัน 5) การดายหญ้า / ถอนหญ้า ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.00 ดายหญ้า / ถอนหญ้าเองโดยใช้ เครื่องจักร ได้แก่ เครื่องตัดหญ้า และรถตัดหญ้า รองลงมาร้อยละ 50.00 จ้างดายหญ้า / ถอนหญ้า โดยใช้ เครื่องจักร ได้แก่ เครื่องตัดหญ้า และรถตัดหญ้า 6) การตัดแต่งกิ่ง / ค้ำกิ่งโต ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.50 ตัดแต่งกิ่ง / ค้ำกิ่งโตเองโดยใช้แรงงานคน รองลงมาจ้างตัดแต่งกิ่ง / ค้ำกิ่งโตโดยใช้แรงงานคนร้อยละ 62.50 7) การให้น้ำ ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.00 ให้น้ำเองโดยใช้เครื่องจักร ได้แก่ เครื่องสูบน้ำและเครื่อง ปั๊มน้ำ รองลงมาให้น้ำเองโดยใช้แรงงานคนเปิด-ปิดน้ำร้อยละ 37.50 8) การเก็บผลผลิต ร้อยละ 87.50 จ้างเก็บลำไย โดยเป็นแรงงานคนในการเก็บลำไยแบบเหมา รวมคัดเกรด ส่วนร้อยละ 25.00 เก็บผลผลิตเอง รายละเอียดดังตารางที่ 3.6 ตารางที่ 3.6 ลักษณะการใช้แรงงาน และเครื่องจักรในการปลูกลำไย รายการ1 จำนวน (ราย) ร้อยละ 1. การใส่ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพ ด้วยตนเอง แรงงานคน 6 75.00 ด้วยตนเอง เครื่องจักร 1 12.50 จ้าง แรงงานคน 1 12.50 จ้าง เครื่องจักร 1 12.50 2. การใส่ปุ๋ยเคมี ด้วยตนเอง แรงงานคน 6 75.00 ด้วยตนเอง เครื่องจักร - 0.00 จ้าง แรงงานคน 1 12.50 จ้าง เครื่องจักร 1 12.50 3. การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ด้วยตนเอง แรงงานคน 3 37.50 ด้วยตนเอง เครื่องจักร 3 37.50 จ้าง แรงงานคน 2 25.00 จ้าง เครื่องจักร - 0.00


25 ตารางที่ 3.6 ลักษณะการใช้แรงงาน และเครื่องจักรในการปลูกลำไย (ต่อ) รายการ1 จำนวน (ราย) ร้อยละ 4. การฉีด พ่น ราดสารเคมีอื่น ๆ ด้วยตนเอง แรงงานคน 4 50.00 ด้วยตนเอง เครื่องจักร 2 25.00 จ้าง แรงงานคน 2 25.00 จ้าง เครื่องจักร 2 25.00 5. การดายหญ้า / ถอนหญ้า ด้วยตนเอง แรงงานคน - 0.00 ด้วยตนเอง เครื่องจักร 6 75.00 จ้าง แรงงานคน - 0.00 จ้าง เครื่องจักร 4 50.00 6. การตัดแต่งกิ่ง / ค้ำกิ่งโต ด้วยตนเอง แรงงานคน 7 87.50 จ้าง แรงงานคน 5 62.50 7. การให้น้ำ ด้วยตนเอง แรงงานคน 3 37.50 ด้วยตนเอง เครื่องจักร 6 75.00 จ้าง แรงงานคน - 0.00 จ้าง เครื่องจักร - 0.00 8. การเก็บผลผลิต ด้วยตนเอง แรงงานคน 2 25.00 จ้าง แรงงานคน 7 87.50 หมายเหตุ : 1 ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ที่มา : คำนวณจากการสำรวจ 3.3 ข้อมูลทั่วไปของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 3.3.1 ข้อมูลทั่วไปของวิสาหกิจชุมชน ในปี 2558 องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ได้ขอขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ที่เป็นการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลำไย ที่มีแหล่งปลูกใน จังหวัดลำพูน โดยพื้นที่มีลักษณะเด่นทางภูมิศาสตร์คือ เป็นพื้นที่ที่ราบหุบเขาจึงทำให้อากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี ประกอบกับปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีสภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินตะกอนเนื่องจากอยู่ในลุ่มน้ำ แม่น้ำสายใหญ่ เรียกว่า ดินน้ำไหลทรายมูลทำให้ต้นลำไยเจริญเติบโตได้ดีเหมาะสมสำหรับการปลูกลำไยพันธุ์ดอ


26 ที่มีคุณภาพมากกว่าพื้นที่อื่น โดยลำไยจะมีเปลือกบาง เนื้อหนา สีขาวใส เมล็ดเล็ก มีรสหวาน และมีการพัฒนา คุณภาพการผลิตให้ได้รับมาตรฐาน GAPและ / หรือมาตรฐาน Q จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการผลิตเพื่อแปรรูป ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนตามภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยนำผลสดมาแกะเปลือกและคว้านเมล็ดออก อบผ่าน กรรมวิธีลดความชื้นด้วยเครื่องอบที่ใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม จนกลายเป็นลำไยอบแห้งที่มีเนื้อสีเหลืองทอง จากการขึ้นทะเบียนดังกล่าว มีผู้สนใจขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบงชี้ทางภูมิศาสตร์จำนวน 2 วิสาหกิจชุมชน โดยยื่นหนังสือขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบงชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยปี 2561 ได้แก่ 1) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองบ้านสันป่าเหียง จัดตั้งปี 2548 มีสมาชิก จำนวน 23 ราย สมาชิกที่ดำเนินการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนจำนวน 22 ราย ที่ตั้งหมู่ 7 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีขนาดพื้นที่โรงงาน 0.25 ไร่ จำนวนเตาอบลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง 7 เตา ปริมาณการผลิต 1.05 ตันแห้ง / วัน โดยมีเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจเพื่อรับซื้อลำไยมาแปรรูปประมาณ 1,000,000 บาท / ต่อปี 2) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง จัดตั้งปี 2548 มีสมาชิกจำนวน 13 ราย สมาชิกที่ ดำเนินการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนจำนวน 7 ราย ที่ตั้งหมู่ 7 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีขนาดพื้นที่โรงงาน 1.5 ไร่ จำนวนเตาอบลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง 5 เตา ปริมาณการผลิต 1.35 ตันแห้ง / วัน โดยมีเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจเพื่อรับซื้อลำไยมาแปรรูปประมาณ 800,000 บาท / ต่อปี รายละเอียดดังตารางที่ 3.7 ตารางที่ 3.7 ข้อมูลทั่วไปของวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน รายการ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูป ลำไยอบแห้ง เนื้อสีทองบ้านสันป่าเหียง วิสาหกิจชุมชนกลุ่ม แม่บ้านริมร่อง 1. ปีที่จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน 2548 2548 2. ปีที่ขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบงชี้ทางภูมิศาสตร์ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 2561 2561 3. จำนวนสมาชิก - จำนวนทั้งหมด (ราย) - จำนวนที่ดำเนินการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อ สีทองลำพูน (ราย) 23 22 13 7 4. พื้นที่โรงงาน (ไร่) 0.25 1. 5 5. จำนวนเตาอบลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง (เตา) 7 5 6. ปริมาณการผลิต (ตัน / วัน) 1.05 1.35 7. เงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ (บาท / ต่อปี) 1,000,000 800,000 ที่มา : จากการสำรวจ


27 3.3.2 ข้อมูลทั่วไปของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน จากการสัมภาษณ์สมาชิกที่มีการดำเนินกิจกรรมร่วมกับกลุ่ม จำนวน 29 ราย สามารถอธิบาย ลักษณะส่วนบุคคลของสมาชิก ดังนี้ 1) เพศ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน เป็นเพศชายร้อยละ 20.69 เพศหญิงร้อยละ 79.31 2) อายุสมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน มีอายุเฉลี่ย 51.83 ปี สมาชิกส่วนใหญ่ร้อยละ 37.93 มีอายุ 31 - 40 ปี รองลงมาคือ อายุ 21 - 30 ปี อายุ 41 - 50 ปี อายุ 51 – 60 ปี และอายุ 61 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 24.14 17.24 13.79 และ 6.90 ตามลำดับ 3) ระดับการศึกษา ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.62 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา รองลงมาคือ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มัธยมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น และปวส. / อนุปริญญา และสูงกว่า ระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 13.79 10.34 6.90 6.90 และ 3.44 ตามลำดับ 4) ประสบการณ์ในการปลูกลำไย สมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำพูน ไม่เคยปลูกลำไยร้อยละ 41.38 และเคยปลูกลำไยร้อยละ 58.62 โดยผู้ที่ปลูกลำไยมีประสบการณ์ในการ ปลูกลำไยเฉลี่ย 17.71 ปี แยกตามช่วงระยะเวลาส่วนใหญ่ร้อยละ 37.93 มีประสบการณ์ในการปลูกลำไย 10 - 20 ปี รองลงมาคือ มีประสบการณ์ในการปลูกลำไย 21 – 30 ปี มีประสบการณ์ปลูกลำไยน้อยกว่า 10 ปี และมี ประสบการณ์ในการปลูกลำไยมากกว่า 31 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 10.34 6.90 และ 3.45ตามลำดับ รายละเอียด ดังตารางที่ 3.8 ตารางที่ 3.8 ลักษณะส่วนบุคคลของสมาชิกวิสาหกิจชุมชมผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ลักษณะส่วนบุคคล จำนวน (ราย) ร้อยละ 1. เพศ เพศชาย 6 20.69 เพศหญิง 23 79.31 2. อายุ 21 – 30 ปี 7 24.14 31 – 40 ปี 11 37.93 41 – 50 ปี 5 17.24 51 – 60 ปี 4 13.79 61 ปีขึ้นไป 2 6.90 เฉลี่ย 51.83 ปี


28 ตารางที่ 3.8 ลักษณะส่วนบุคคลของสมาชิกวิสาหกิจชุมชมผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน (ต่อ) ลักษณะส่วนบุคคล จำนวน (ราย) ร้อยละ 3. ระดับการศึกษา ประถมศึกษา 17 58.62 มัธยมศึกษาตอนต้น 2 6.90 มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 10.34 ปวส./อนุปริญญา 2 6.90 ปริญญาตรี 4 13.79 สูงกว่าปริญญาตรี 1 3.45 4. ประสบการณ์ในการปลูกลำไย ไม่ปลูกลำไย 12 41.38 ปลูกลำไย 17 58.62 น้อยกว่า 10 ปี 2 6.90 10 – 20 ปี 11 37.93 21 – 30 ปี 3 10.34 31 ปีขึ้นไป 1 3.45 เฉลี่ย 17.71 ปี ที่มา : คำนวณจากการสำรวจ 3.3.3 ข้อมูลการปลูกลำไยของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน 1) เนื้อที่ยืนต้น สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนมีเนื้อที่ยืนต้นลำไย เฉลี่ย 7.96 ไร่ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 47.06 มีเนื้อที่ปลูกลำไย 5 - 10 ไร่ รองลงมาน้อยกว่า 5 ไร่ และ 10 ไร่ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 35.29 และร้อยละ 17.65 ตามลำดับ 2) ลักษณะการถือครอง ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.32 มีเนื้อที่ปลูกลำไยเป็นของตนเอง รองลงมา เช่า และทำฟรี คิดเป็นร้อยละ 17.38 และ 13.30 ตามลำดับ 3) อายุต้นลำไย สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน มีต้นลำไยอายุเฉลี่ย 18.94 ปี โดยร้อยละ 41.18 มีอายุ 10 – 20 ปี รองลงมาคือ อายุ 21 – 30 ปี อายุน้อยกว่า 10 ปี และ อายุ มากกว่า 31 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 35.29 17.65 และ 5.88 ตามลำดับ 4) แหล่งน้ำที่ใช้ในการปลูกลำไย ส่วนใหญ่ร้อยละ 32.14 ใช้แหล่งน้ำชลประทาน รองลงมา ใช้ น้ำฝน อื่น ๆ (เช่น บ่อบาดาล) แหล่งน้ำตามธรรมชาติ และบ่อน้ำในไร่นา คิดเป็นร้อยละ 21.43 17.85 14.29 และ 14.29 ตามลำดับ


29 5) แหล่งจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่ขายผลผลิตลำไยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนร้อยละ 70.59 และ นำไปจำหน่ายแหล่งอื่น ๆ ทั่วไปร้อยละ 52.94 ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกไม่ได้ผลิตลำไยมาตรฐาน GAP ทำให้ผลผลิต ที่ขายให้วิสาหกิจชุมชนไม่ได้นำมาใช้แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน GI รายละเอียดดังตารางที่ 3.9 ตารางที่ 3.9 การผลิตลำไยของสมาชิกวิสาหกิจชุมชมผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ลักษณะส่วนบุคคล จำนวน (ราย) ร้อยละ 1. เนื้อที่ยืนต้น น้อยกว่า 5 ไร่ 6 35.29 5 – 10 ไร่ 8 47.06 มากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป 3 17.65 เฉลี่ย 7.96 ไร่ 2. ลักษณะการถือครอง1 ของตนเอง 14 69.32 เช่า 2 17.38 ทำฟรี 3 13.30 3. อายุต้นลำไย น้อยกว่า 10 ปี 3 17.65 10 – 20 ปี 7 41.18 21 – 30 ปี 6 35.29 31 ปีขึ้นไป 1 5.88 เฉลี่ย 18.94 ปี 4. แหล่งน้ำที่ใช้ในการปลูกลำไย1 น้ำฝน 6 21.43 ธรรมชาติ 4 14.29 บ่อน้ำในไร่นา 4 14.29 ชลประทาน 9 32.14 อื่นๆ (บ่อบาดาล) 5 17.85 5. แหล่งจำหน่ายผลผลิตลำไย1 ขายให้วิสาหกิจชุมชน 12 70.59 ขายให้แหล่งรับซื้อทั่วไป 9 52.94 หมายเหตุ : 1 ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ที่มา : คำนวณจากการสำรวจ


30 ประสบการณ์ในการแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง สมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำพูน มีประสบการณ์ในการแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองเฉลี่ย 12.76 ปี สมาชิกวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ร้อย ละ 68.96 มีประสบการณ์ในการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง 10 - 20 ปี รองลงมาคือมีประสบการณ์ในการผลิต ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองน้อยกว่า 10 ปี และมีประสบการณ์ในการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง 21-30 ปีคิดเป็น ร้อยละ 24.14 และ 6.90 ตามลำดับ รายละเอียดดังตารางที่ 3.10 ตารางที่ 3.10 ประสบการณ์ในการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน รายการ จำนวน (ราย) ร้อยละ น้อยกว่า 10 ปี 7 24.14 10 – 20 ปี 20 68.96 21 – 30 ปี 2 6.90 เฉลี่ย 12.76 ปี ที่มา : คำนวณจากการสำรวจ


31 บทที่4 ผลการวิจัย การศึกษาแนวทางการพัฒนาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องนำมาวิเคราะห์อธิบายถึงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และแนวทางการพัฒนาสินค้าลำไยอบแห้ง เนื้อสีทองลำพูนที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สรุปได้ดังนี้ 4.1 โซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 4.1.1 โซ่อุปทานในการประกอบธุรกิจลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน โซ่อุปทานในการประกอบธุรกิจลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนเริ่มจากเกษตรกรทำหน้าที่เป็น ผู้ผลิตและผู้ขายปัจจัยการผลิต ผ่านผู้รวบรวม และวิสาหกิจชุมชนทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำพูน และจำหน่ายตามช่องทางต่าง ๆ สู่ผู้บริโภค มีรายละเอียดดังนี้ 1) เกษตรกร เป็นผู้เกี่ยวข้องในส่วนต้นน้ำ ทำหน้าที่ผลิตและขายลำไยที่ได้รับมาตรฐาน GAP โดยจะคัดผลผลิตขนาดผลใหญ่เกรด AA ส่งให้ผู้รวบรวมร้อยละ 86.00 และจำหน่ายโดยตรงให้วิสาหกิจชุมชน ร้อยละ 14.00 เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ทั้งนี้ในส่วนผลผลิตเกรดอื่น ๆ (A B และ C) จะนำไปขายให้แหล่งรับซื้อให้ผู้รวบรวมอื่นทั่วไป 2) ผู้รวบรวม เป็นผู้เกี่ยวข้องในส่วนต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่รวบรวมผลผลิตของ ตนเองและสมาชิกส่งวิสาหกิจชุมชนตามปริมาณที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งกลุ่มจะต้องแจ้งความต้องการส่งผลผลิตให้ วิสาหกิจชุมชนแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเพื่อให้มีฐานข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของ ปัจจัย 3) วิสาหกิจชุมชน เป็นผู้เกี่ยวข้องในส่วนกลางน้ำ ทำหน้าที่แปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน โดยดำเนินการผลิต เก็บรักษา จัดทำบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย โดยใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย แสดงบนบรรจุภัณฑ์ 4) ผู้จำหน่าย เป็นผู้เกี่ยวข้องในส่วนปลายน้ำ เป็นวิสาหกิจชุมชนจำหน่ายด้วยตนเองให้ ผู้จำหน่าย Modern Trade ร้อยละ 92.42 รองลงมาส่งผ่านช่องทางออนไลน์และจำหน่ายผ่านหน้าร้าน / การออกบูธ คิดเป็นร้อยละ 4.80 และ 2.78 ตามลำดับ รายละเอียดตามภาพที่ 4.1


32 ที่มา : จากการสำรวจ ภาพที่ 4.1 แผนภาพโซ่อุปทานลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน 4.1.2 ห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำไยของเกษตรกร กิจกรรมหลัก 5 กิจกรรมประกอบด้วย 1) โลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound Logistics) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ ได้แก่ แหล่งที่มาของปัจจัยการผลิต และการขนส่งของเกษตรกร - แหล่งที่มาของปัจจัยการผลิต เกษตรกรซื้อปัจจัยการผลิตจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือใน พื้นที่เป็นหลักโดยพันธุ์ลำไยต้องเป็นพันธุ์ดอซึ่งเป็นพันธุ์เบาออกดอกและเก็บผลผลิตเร็วเท่านั้น กล้าพันธุ์ส่วนใหญ่ เกษตรกรจะซื้อเดือนพฤษภาคม –กันยายน เนื่องจากต้องการปลูกในฤดูฝน ด้านปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และมูลสัตว์ ส่วนใหญ่จะซื้อมาแล้วใช้ทันทีเนื่องจากไม่มีที่จัดเก็บ สูตรที่นิยมใช้ คือ ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ปุ๋ยสูตร 15-15-15 สูตร 8-24-24 และสูตร 25-7-7 การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และมูลสัตว์ ได้แก่ มูลโค มูลไก่ และมูลสุกร การใช้สารชีวภาพเพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน และการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและโรคพืชเน้นใช้เพื่อป้องกัน และใช้เมื่อเกิดอาการ ในส่วนของสารเร่งและสารพ่นลำไย เกษตรกรจะรวมกลุ่มซื้อทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ใช้เพื่อบังคับให้ผลผลิตออกตามฤดูกาล นิยมใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตสำหรับการบังคับการออกดอก โดยราดรอบต้นลำไยและพ่นทางใบ ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ เพื่อให้ผลผลิตออกในเดือนสิงหาคม – ตุลาคม - การขนส่ง โดยเกษตรกรรับภาระค่าขนส่งเองใช้รถกระบะ 4 ล้อ ซึ่งเป็นยานพาหนะส่วนตัว ขนย้ายซื้อปัจจัยการผลิตจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือในพื้นที่


33 2) การปฏิบัติการ (Operations) เป็นขั้นตอนการผลิตลำไย ได้รับการรับรองการปฏิบัติทาง การเกษตรที่ดีสำหรับลำไย (GAP) ครอบคลุมการปฏิบัติในทุกขั้นตอนการผลิตที่ดำเนินการในระดับสวนเพื่อให้ ได้ลำไยที่ปลอดจากศัตรูพืช ปลอดภัย และเหมาะสมต่อการบริโภค ได้แก่ -แหล่งน้ำ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาจากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิด การปนเปื้อน - พื้นที่ปลูก ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุอัตรายที่เกิดการตกค้างในระดับที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค -การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรต้องใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หรือตามฉลาก ให้ถูกต้อง -การจัดการเพื่อปลอดจากศัตรูพืช เกษตรกรมีการสำรวจการเข้าทำลายของศัตรูลำไย ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้วหากพบศัตรูพืชติดปนมาต้องคัดแยกออก -การเก็บเกี่ยว เกษตรกรมีการใช้ภาชนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อคุณภาพผลลำไย มีการคัดขนาด และตัดแต่งช่อผล และก้านช่อผล -การบันทึกข้อมูล เกษตรกรมีการบันทึกข้อมูลการสำรวจศัตรูพืช และการใช้วัตถุอันตราย ทางการเกษตร 3) โลจิสติกส์ขาออก (Outbound Logistics) เป็นกิจกรรมการกำหนดผลผลิต และการขนส่ง ผลผลิต ดังนี้ - เกษตรกรคัดผลผลิตลำไยตามขนาดผลโดยใช้เครื่องร่อนคัดเกรด ซึ่งจะคัดผลผลิตขนาดผล AA เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นวัตถุดิบการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ส่วนผลผลิตเกรดอื่น ๆ ได้แก่ เกรด A B และ C จะขายให้จุดรับซื้อผู้รวบรวมในพื้นที่ที่เป็นจุดร่อนทั่วไป -การขนส่ง มีการขนย้ายผลผลิตลำไยโดยอุปกรณ์ และบริเวณที่พักผลผลิตสะอาด การขน ย้ายถูกสุขลักษณะและไม่ทำให้เกิดผลเสียหายการขนส่งผลผลิตผู้รวบรวมที่เป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ / เกษตรกรรับภาระค่าขนส่งเอง จะนำไปจำหน่ายทันทีโดยรถกระบะ 4 ล้อ ขนาดบรรทุกต่อครั้งตามปริมาณ ความต้องการของวิสาหกิจชุมชน 4) การตลาดและการขาย (Marketing and Sales) - ช่องทางการจำหน่ายลำไย มีการขายโดยตรง และการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองผ่านหน่วยงานในระดับพื้นที่ โดยมีการตกลงรับซื้อผลผลิต ขนาด AA ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป 10 บาท / กิโลกรัม - การรับประกันคุณภาพ เกษตรกรมีสวนลำไยผ่าน GAP มีการคัดเกรดลำไยคัดแยกตาม ขนาดผลผลิตโดยใช้เครื่องคัดเกรดลำไย


34 5) การบริการ (Services) - เกษตรกร / กลุ่มเกษตรกรมีบริการขนส่งผลผลิตลำไยไปยังโรงงานวิสาหกิจชุมชน โดย รถยนต์กระบะ 4 ล้อ กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้รับภาระค่าขนส่ง หากผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน เกรดที่ตกลงซื้อขาย เกษตรกรยินดีขายในราคาที่ลดลง กิจกรรมสนับสนุน เป็นกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1) การจัดหาจัดซื้อ (Procurement) - เกษตรกรจัดหาปัจจัยเอง ได้แก่ กล้าพันธุ์ ปุ๋ยเคมี มูลสัตว์ สารเร่งลำไย สารชีวภาพ และ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและโรคพืช จากแหล่งที่เชื่อถือได้ในท้องถิ่น - เกษตรกรรวมกลุ่มซื้อปัจจัยการผลิต โดยเป็นสมาชิกโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบ แปลงใหญ่มีการซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกัน ได้แก่ สารเร่งดอกลำไยโพแทสเซียมคลอเรต สารเคมีสำหรับฉีดพ่น เปิดตาดอก จะได้ราคาลดลงจากเดิมเฉลี่ยร้อยละ 15 – 20 - เครื่องจักรกลการเกษตร เกษตรกรใช้เครื่องจักรขนาดเล็กของตนเอง ในการดูแลรักษาสวน ลำไย ได้แก่ เครื่องพ่นยา และเครื่องตัดหญ้า 2) การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Development) เกษตรกรได้รับการอบรมการพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น เทคโนโลยีตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มโปร่งเพื่อให้ลำไยเจริญเติบโตได้ดี การทำลำไยคุณภาพโดยการแต่งช่อให้เหลือผลลำไยจำนวน 40 - 60 ผล / ช่อ ช่วยทำให้ได้ผลผลิตลำไยเกรด ขนาดผลใหญ่ขึ้น (เกรด AA เพิ่มสูงขึ้น) เทคนิคการควบคุมทรงพุ่มไม่ให้สูงเกิน 4 เมตร ทำให้การพ่นปุ๋ยทางใบ และการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ผลดีมีประสิทธิภาพและง่ายต่อการเก็บผลผลิต 3) การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management) แรงงานที่ใช้ในการผลิต ลำไยมีทั้งแรงงานในครัวเรือน และแรงงานจ้างในพื้นที่ตามกิจกรรม ด้านการอบรมพัฒนาความรู้ของเกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่จึงได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการ ลดต้นทุน การเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ และการเพิ่มคุณภาพผลผลิต นอกจากนี้เกษตรกรมีการแลกเปลี่ยน ความรู้ร่วมกันภายในกลุ่ม และมีการติดต่อสื่อสารกันผ่านทางไลน์กลุ่ม 4) โครงสร้างพื้นฐานขององค์กร (Company Infrastructure) เงินทุนที่ใช้ในการผลิตเกษตรกร ใช้เงินของตนเองในการผลิตลำไย ส่วนที่มีการกู้รายปีเมื่อจำหน่ายผลผลิตแล้วนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ด้านการ บริหารจัดการกลุ่ม กลุ่มเกษตรกร มีคณะกรรมการบริหารกลุ่มแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบตามตำแหน่งหน้าที่ของ แต่ละคนแต่ละด้าน มีการจัดทำเอกสาร รายชื่อสมาชิก และประชุมกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการพัฒนากลุ่ม และ สร้างเครือข่ายผู้ผลิตลำไยเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร สรุปกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุน ของห่วงโซ่คุณค่าลำไยของเกษตรกร รายละเอียดตาม ภาพที่ 4.2


35 Firm Infrastructure : เกษตรกรส่วนใหญ่รวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนความรู้ และปัจจัยการผลิต มีคณะกรรมการ บริหารกลุ่ม และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ Human Resource Management : แรงงานที่ใช้ในการผลิตมีทั้งแรงงานใน และแรงงานจ้าง ซึ่งจ้างตาม กิจกรรม Technology Development : มีการนำเครื่องจักรมาช่วยในกระบวนการผลิตบางขั้นตอน และมีการใช้ เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตลำไยคุณภาพ ได้แก่ การตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มโปร่งเพื่อให้ลำไยเจริญเติบโตได้ดี การทำลำไยคุณภาพโดยการแต่งช่อและการควบคุมทรงพุ่ม Procurement : เกษตรกรเลือกซื้อปัจจัยการผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และมีรวมกลุ่มซื้อปัจจัยการผลิต บางส่วนทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ภาพที่ 4.12 ห่วงโซ่คุณค่าข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของเกษตรกรตามเกรด ที่มา : จากการสำรวจ ที่มา : จากการสำรวจ ภาพที่ 4.2 ห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำไยของเกษตรกร 4.1.3 ห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบธุรกิจลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนของวิสาหกิจชุมชน ห่วงโซ่คุณค่าเป็นกิจกรรมในการจัดการลำไยให้มีคุณภาพและสร้างมูลค่าของผลผลิตให้มี ราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตและการจำหน่าย ซึ่งการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าแบ่งเป็นกิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม ประกอบด้วยโลจิสติกส์ขาเข้า การปฏิบัติการ โลจิสติกส์ขาออก การตลาดและการขาย และการบริการ กิจกรรมสนับสนุน 4 กิจกรรม ประกอบด้วย การจัดหา / จัดซื้อ การวิจัยและพัฒนา การบริหารทรัพยากร บุคคล และโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีผู้ผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนประกอบด้วย 2 วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปลำไยเนื้อสีทองบ้านสันป่าเหียง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ Inbound Logistics: เก ษ ต ร ก รเลื อ ก ปัจจัยการผลิตจาก แหล่งที่เชื่อถือได้ Operations: เก ษ ต รก รผ ลิ ต ต า ม ห ลั ก ก า ร ป ฏิ บั ติทางการ เกษตรที่ดี(Good Agricultural Practices: GAP) Outbound Logistics: ลำไยคัดเกรดขนาด AA Marketing and Sales: เกษตรกร / กลุ่มเกษตรกร จำหน่ายลำไยให้แก่ วิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไป ผลิตเป็นลำไยอบแห้งเนื้อ สีทองลำพูน โดยตกลงซื้อ ขายร่วมกันในราคาสูงกว่า ตลาด 10 บาท / กก. Services : มีการรับประกัน คุณภาพลำไย หากคุณภาพ ไม่เป็นไปที่กำหนด เกษตรกรจะขายใน ราคาลดลง ล ำไย GAP


36 กิจกรรมหลัก (Primary Activities) 1) โลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound Logistic) แบ่งเป็น แหล่งที่มาของวัตถุดิบ การขนส่งวัตถุดิบ การตรวจสอบคุณภาพลำไยสดก่อนแปรรูป และขั้นตอนกระบวนการรับลำไยสด มีรายละเอียดดังนี้ 1.1) แหล่งที่มาของวัตถุดิบ วัตถุดิบที่นำมาผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนมาจาก ลำไยทั้งหมดเพียงอย่างเดียว โดยต้องเป็นลำไยที่มีแหล่งผลิตในพื้นที่จังหวัดลำพูน ได้รับมาตรฐาน GAP มี ขนาดผลใหญ่เกรด AA เท่านั้น การรับซื้อที่ผ่านมามีการรับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรโครงการระบบส่งเสริม การเกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไย ซึ่งได้รับการประสานเชื่อมโยงตลาดผ่านหน่วยงานในระดับจังหวัด และรับซื้อ จากเกษตรกรทั่วไปซึ่งขายผลผลิตให้วิสาหกิจชุมชนอยู่แล้ว โดยมีการใช้วัตถุดิบลำไยเฉลี่ยครั้งละ 300 กิโลกรัม ลดลงจาก ปี2561 ที่ต้องการใช้ครั้งละ 3,000 กิโลกรัม สาเหตุที่มีการรับซื้อน้อยลง เนื่องจากการขาย ผลผลิตปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่ผลิตปลายปี 2561 แล้วแช่ห้องเย็นเพื่อรอขายในช่วงปลายปี 2561 – เดือนมิถุนายน 2562 ก่อนผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด โดยตั้งราคาที่รับซื้อจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 34 บาท สูงกว่าราคาในตลาดเฉลี่ย 10 บาท 1.2) การขนส่งวัตถุดิบ เกษตรกร / กลุ่มเกษตรกร เป็นผู้รวบรวมผลผลิตจัดส่งให้ วิสาหกิจชุมชน โดยจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้รถบรรทุก 4 ล้อ ในการขนส่ง ในช่วงเช้าเพื่อให้วิสาหกิจสามารถนำผลผลิตเข้าเตาอบให้ทันภายใน 1 วัน อย่างไรก็ตามในปี 2562 มีเกษตรกร ขายผลผลิตให้วิสาหกิจชุมชนน้อยลงเนื่องจาก มีสต๊อกผลผลิตคงเหลือ ความต้องการใช้ต่อวันจึงน้อย และ เกษตรกรที่เข้าร่วมส่วนใหญ่มีพื้นที่แปลงไกลโรงงานส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตสูง 1.3) การตรวจสอบคุณภาพลำไย เกษตรกรที่ต้องการขายผลผลิตลำไยเพื่อนำไป อบแห้งเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ต้องผ่านมาตรฐาน GAP รวมทั้งขึ้นทะเบียนแจ้งความประสงค์ที่จะขาย ผลผลิตเพื่อนำมาอบแห้งลำไยเนื้อสีทองลำพูนที่ได้ GI กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ (องค์การบริหารส่วนจังหวัด ลำพูน) และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการตรวจมาตรฐานการผลิตจากแปลงที่ปลูกลำไย หลังจากนั้นจึง สามารถขายผลผลิตให้วิสาหกิจชุมชนได้ 1.4) ขั้นตอนและกระบวนการรับลำไยสด เมื่อมาถึงโรงงานวิสาหกิจชุมชนจะประเมิน ด้วยสายตาจากผลผลิตที่เกษตรกรได้คัดเกรดลำไยโดยใช้เครื่องร่อนคัดเกรดลำไยร่อนผลผลิตแล้วนำผลผลิตมา ขายเฉพาะเกรด AA เท่านั้น (ในส่วนของผลผลิตเกรดอื่น ๆ จะขายให้จุดรับซื้ออื่นในพื้นที่) โดยผลลำไยสด ต้องสุกเต็มที่ เนื้อหนา และรสชาติหวาน ตามคุณภาพตามคู่มือการปฏิบัติงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ลำไย อบแห้งเนื้อสีทองลำพูนหากเห็นว่าผลผลิตขนาดต่ำกว่ามาตรฐาน (ต่ำกว่าเกรด AA) จะสุ่มคัดเกรดอีกครั้ง โดยใช้เครื่องร่อนคัดเกรด หากผลผลิตไม่ตรงตามที่ระบุจะมีการแจ้งให้เกษตรกรปรับปรุงในการส่งครั้งต่อไป ทั้งนี้การซื้อขายจะมีการบันทึกการซื้อขายวัตถุดิบการได้มาและใช้ไปของลำไยสดเพื่อแปรรูปทุกครั้ง รายละเอียดตามภาพที่ 4.3


37 ที่มา : จากการสำรวจ ภาพที่ 4.3 ผลผลิตลำไยขนาด AA และสัญลักษณ์สินค้า GAP 2) การปฏิบัติการ (Operation) เป็นขั้นตอนหรือกระบวนการในการผลิตลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ลำพูน ได้แก่ วิธีการและขั้นตอนการผลิตลำไยเนื้อสีทอง เครื่องจักรและเครื่องมือ กระบวนการและวิธีการ การควบคุมคุณภาพระหว่างผลิต และมาตรฐานในการทดสอบคุณภาพ ประเภทสินค้าที่ผลิต สถานที่จัดเก็บ ผลผลิต จำนวนระยะเวลาในการเก็บต่อครั้ง และการบริหารคลังสินค้า แบ่งเป็นประเด็น ดังนี้ 2.1) กระบวนการและวิธีการอบลำไย วิสาหกิจชุมชนจะดำเนินการอบลำไยในฤดูเท่านั้น เฉพาะ ช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม ของทุกปีเนื่องจากเป็นลำไยที่มีคุณภาพสูงกว่าลำไยนอกฤดู มีขั้นตอนการผลิต ตามภูมิปัญญาของชุมชนที่สืบทอดมา ดังนี้ - ล้างน้ำและคัดผลที่เน่าเสียทิ้ง โดยหลังจากได้วัตถุดิบ (ลำไยสด) จากเกษตรกร จะนำไป ล้างน้ำคัดผลเน่าเสียทิ้ง นำไปแกะเมล็ดโดยใช้อุปกรณ์คว้านเมล็ดลำไยซึ่งแรงงานที่ใช้ต้องมีทักษะในการทำเพื่อ ไม่ให้เปลือกเมล็ดติดเนื้อลำไยและไม่ให้เนื้อลำไยฉีกขาด - ทำความสะอาดผลลำไยด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 3 - 4 ครั้ง - จัดเรียงผลลำไยบนตะแกรงสแตนเลสในลักษณะคว่ำ โดยวางเป็นชั้นเดียวไม่ซ้อนกัน และรีบนำเข้าเตาอบทันที เพราะหากน้ำหวานไหลเกาะจะทำให้สีผิวลำไยไม่สวย - เรียงลำไยเข้าเครื่องอบเป็นชั้น ๆ เต็มตู้อบโดย 1 ตู้จะสามารถอบลำไยได้จำนวน 2,700 กิโลกรัม สามารถอบพร้อมกับลำไยทั่วไปได้แต่ต้องแยกชั้นอบลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนออกจากลำไย อบแห้งเนื้อสีทองทั่วไป - ทำการอบโดยใช้อุณหภูมิระหว่าง 60 - 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 8 - 12 ชั่วโมง โดยต้องมีแรงงานตรวจดูเตาเพื่อให้ลำไยอบสม่ำเสมอ โดยทำการย้ายสลับถาดกลับชั้นล่างบนเพื่อไม่ให้ลำไย อบแห้งไหม้ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิยังช่วยให้เนื้อลำไยมีกลิ่นหอม เมื่ออบเสร็จจะได้ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองน้ำหนัก 270 กิโลกรัมต่อ 1 เตา (น้ำหนักลดลงจากลำไยสด 10กิโลกรัมจะได้ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง 1กิโลกรัม)


38 - เมื่อนำผลผลิตออกจากเตาอบ จะตรวจสอบความแห้ง เนื้อต้องไม่เหนียวติดมือและ ภายในเนื้อลำไยแห้งสนิทดีความชื้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12 และไม่เกินร้อยละ 18 เมื่ออบแห้งได้ที่แล้วควรเป่า ลมเย็นให้เนื้อลำไยเย็นตัวลงหรือทิ้งไว้ให้เย็นแต่จะไม่เกิน 1 ชั่วโมง - ทำการคัดเกรดผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานออกไป เช่น เนื้อฉีกหรือเนื้อสีแดง เป็นต้น รายละเอียดตามภาพที่ 4.4 ที่มา : จากการสำรวจ ภาพที่ 4.4 ทำความสะอาด และจัดเรียงผลลำไยบนตะแกรงสแตนเลสในลักษณะคว่ำ 2.2) เครื่องจักรและเครื่องมือ ผู้ผลิตเก็บเครื่องมือไว้ในโรงเรือนที่มีหลังคาปิดมิดชิด และมี มาตรฐาน โดยจัดเก็บเครื่องจักรและเครื่องมือเป็นหมวดหมู่ เครื่องจักรในการผลิตที่สำคัญคือเตาอบระบบแก๊สและ ไฟฟ้า วิสาหกิจมีรวมทั้งหมด 12 เตา และมีการใช้เครื่องโดมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่ออบให้ผลผลิตลำไยสีสวย สม่ำเสมอกัน รายละเอียดตาม ภาพที่ 4.5 ที่มา : จากการสำรวจ ภาพที่ 4.5 เตาอบลำไย และเครื่องโดมพลังงานแสงอาทิตย์


Click to View FlipBook Version