เรียงความเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสเฉลิมฉลองที่องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ทรงเป็นแบบอย่างของบุคคลที่ทรงคุณค่าในปี พ.ศ. 2564 และเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีวันประสูติ พ.ศ. ๒466-2566 Composition écrite en hommage à Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana, à l’occasion de la double célébration de sa reconnaissance par l’UNESCO comme personnalité éminente en 2021 et du centenaire de sa naissance, 1923-2023
เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิ วัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องพระเกียรติคุณในฐานะบุคคลสำคัญทาง ประวัติศาสตร์ของโลก ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและคณิตศาสตร์ และด้าน วัฒนธรรม ประจำปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖ สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และมูลนิธิ ส่งเสริมภาษาฝรั่งเศสและฝรั่งเศสศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิ วัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม ได้จัดการประกวดเรียงความเฉลิมพระเกียรติคุณ (ภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส) เพื่อเป็น โอกาสให้มีการค้นคว้าถึงพระกรณียกิจและพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรในการเสริมสร้าง ความกินดีอยู่ดีผ่านทางความเสมอภาคทางการศึกษา เมื่อสิ้นสุดโครงการ ฯ มีผู้สนใจเรียบเรียงเป็น ผลงานส่งเข้าประกวด จำนวน ๖๔ สำนวน คณะผู้จัดโครงการ ฯ ขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่สนับสนุนโครงการนี้จนสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี (รองศาสตราจารย์ คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์) อุปนายกสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ฯ ประธานมูลนิธิส่งเสริมภาษาฝรั่งเศสและฝรั่งเศสศึกษา ในพระอุปถัมภ์ ฯ
เรียงความภาษาไทย “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการสร้างโอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”
๑ งามพระกิจสืบสานการศึกษา งามบุญญาบารมีศรีสมัย งามยิ่งพระจริยาปรากฏไกล งามพระทัยใสสะอาดหยดหยาดริน ณ “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม”ล้ำสุกใส ดำรงไทยดำรงธรรมดำรงถิ่น ขัตติยนารีรัตน์ฉัตรแผ่นดิน น้อมชีวินจิตจงรักจักรีวงศ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงอุทิศพระ วรกายทรงงานหนักตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในอันที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร ทั้งใน ด้านการสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา พระกรุณาธิคุณของ พระองค์เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่เราชาวไทยและในระดับสากล การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างคนสร้างชาติ คือกุญแจทองดอกสำคัญที่พึงปรารถนา เพื่อไขประตูสู่อนาคตตามที่แต่ละคนมุ่งหวัง หากแต่ชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้ฉันใด โอกาสทางการศึกษา ของทุกคนก็ไม่เท่ากันฉันนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ทรงเปรียบประดุจผู้จุดประทีปทางการศึกษาแก่ประชาชนทุกกลุ่มของสังคม ทั้งกลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ทำงานในวิชาชีพต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ให้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียม ตามศักยภาพและบริบทของตน พระองค์มุ่งเน้นช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ที่มีทั้งเด็กที่เป็นชน กลุ่มน้อย เด็กยากจน เด็กสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ หรือเด็กกำพร้าเนื่องจากบิดามารดาเสียชีวิต หรือพิการจากการเสียสละปกป้องประเทศชาติ ทั้งพระราชทานทุนการศึกษาและสนับสนุนการ ดำเนินงานของโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ด้วยการพระราชทานเงินส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนและ อาคารเรียน ทำให้เกิดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่มั่นคงถาวร บริการด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ เด็กยากไร้ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย และจากการที่พระองค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรม
๒ ราชชนนีไปเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทห่างไกลพร้อมกับหน่วยแพทย์อาสา ยิ่งทำให้พระองค์เห็นความ เหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น ดังที่ทรงปรารภไว้ว่า “เด็กต่างจังหวัดนี่พอเข้าเรียนก็เรียน ป.๑ เลย เขาไม่ได้เรียนอนุบาล เมื่อเข้า ป.๑ ต้องเสียเวลาหัดอ่านหนังสืออีกนานเป็นสิ่งที่ยาก ไม่เหมือนโรงเรียน ในกรุงเทพฯ ซึ่งพอขึ้น ป.๑ จากอนุบาลก็อ่านหนังสืออกแล้ว ป.๑ เหมือนกันแต่ไม่เท่ากันเลย...” ด้วย น้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา จึงจัดหาสื่อการสอนที่เหมาะสมไปสาธิตและทดลองใช้ โดยทรงให้ คำแนะนำ ปรับแก้ไขในการจัดทำ รวมทั้งจัดทำสื่อการสอนด้วยพระองค์เองพระราชทานแก่โรงเรียน ต่าง ๆ นำไปสอนเสริมเพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้และพัฒนาความคิดของเด็กด้อยโอกาส ทรงส่งเสริมและ สนับสนุนการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน โดยทรงจัดตั้งชุมชนแห่งการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” ซึ่ง นอกจากเป็นการสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส แล้วยังเป็นการสร้างผู้นำชุมชนให้สามารถนำความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่ได้ ศึกษาเล่าเรียนไปขยายผล พัฒนาท้องถิ่นของตนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ในทะเลทรายที่แห้งแล้งกันดาร ยังมีพลังงานน้ำมันซุกซ่อนอยู่ ท่ามกลางโคลนตมยังเป็นที่ กำเนิดของดอกบัวงาม ในความไม่สมบูรณ์บางประการของเด็กออทิสติกยังมีพรสวรรค์พิเศษซุกซ่อนอยู่ หากได้รับการส่งเสริมที่ถูกวิธี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อเด็กออทิสติก ทั้งด้านการแพทย์และการศึกษา โดยทรงอุปถัมภ์ โรงพยาบาลและมูลนิธิที่ดูแลรักษาเด็กออทิสติก รวมทั้งสนับสุนนโครงการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนร่วมของ เด็กออทิสติก ทรงติดตามผลการดำเนินงานและพระราชทานคำแนะนำที่มีประโยชน์ ส่งผลให้เด็กออทิ สติกมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนร่วมกับคนปกติ ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของสังคม อัญมณีงามหากไม่ได้รับการเจียระไนก็ไม่ต่างกับกรวดหินก้อนหนึ่ง ไม่สามารถเป็นหัวแหวนที่ งดงามได้ เฉกเช่นเดียวกับเด็กที่มีสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดสูง ที่หากไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนก็ ไม่สามารถนำความสามารถที่มีอยู่มาใช้ได้เต็มตามศักยภาพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิ วัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงส่งเสริมให้เด็กอัจฉริยะที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีโอกาส พัฒนาความสามารถที่มีอยู่ สร้างชื่อเสียงและทำประโยชน์ให้กับทั้งตนเองและประเทศชาติ โดยทรง สนับสนุนให้เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการแข่งขันความสามารถทางปัญญา เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนมัธยมปลายจากนานาประเทศ พระองค์ พระราชทานเงินช่วยเหลือสนับสนุนโครงการและจัดตั้งมูลนิธิที่ดำเนินการเกี่ยวกับส่งเด็กอัจฉริยะสู่เวที การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ และทรงติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพระราชทาน ทุนการศึกษาให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยทรงเน้นย้ำให้เด็กอัจฉริยะเป็นทั้งคนเก่งและคนดี คำนึงถึง การทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติเป็นสำคัญ เราจึงพบว่าผู้ได้รับทุนพระราชทาน เมื่อสำเร็จการศึกษา
๓ แล้ว ได้กลับมาสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติในหลากหลายวงการ รวมทั้งช่วยเหลือ แนะนำรุ่น น้อง ช่วยสร้างคนเก่งคนดีให้เพิ่มขึ้น เพื่อร่วมกันทำประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป เป็นการสนองพระ ปณิธานและสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงมีคุณูปการ อย่างยิ่งในการสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย ทรงก่อตั้งสมาคมครูภาษา ฝรั่งเศสขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสและการวิจัย รวมทั้งความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนทรงก่อตั้งกองทุนเพื่อนำดอกผลเป็นทุนการศึกษา พระราชทานแก่ทั้งนักศึกษาและครูอาจารย์สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส โดยไม่มีข้อผูกมัดใด เพียงมุ่งหวังให้ นำความรู้มาทำประโยชน์ให้สังคม เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์ได้นำพระอัจฉริยภาพด้านภาษาฝรั่งเศสบูรณา การกับพระอัจฉริยภาพด้านอื่น ๆ ที่ลุ่มลึก จัดการเรียนการสอนที่ล้ำสมัยให้กับนักศึกษาใน ระดับอุดมศึกษา ทรงปฏิบัติหน้าที่พระอาจารย์ของลูกศิษย์ ด้วยจิตวิญาณของความเป็นครูแม้ลูกศิษย์ ของพระองค์จบการศึกษาเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนมัธยมศึกษาแล้ว พระองค์ก็ยังทรงพระ เมตตาช่วยเหลือ แนะนำ ในการจัดการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสตามโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ ทรงเป็น พระอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่ประเสริฐสมดังพระสมัญญา “พระกัลยาณมิตราจารย์” พระกรุณาธิคุณ ของพระองค์ ทำให้การเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสแพร่หลายและเจริญก้าวหน้า นักเรียนมีโอกาส เรียนภาษาฝรั่งเศสตามความสนใจ ได้อย่างทั่วถึงไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใด นอกจากทรงสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มต่าง ๆ แล้ว สมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงสนับสนุนให้บุคลากรแต่ละสาขา อาชีพของหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้วยการศึกษาต่อ อบรม ดูงานทั้ง ในและต่างประเทศ ศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนากิจการที่ตนสังกัด อันจะเกิดประโยชน์ต่อ ส่วนรวม โดยพระราชทานเงินสนับสนุน หรือทุนการศึกษาผ่านสมาคมหรือมูลนิธิที่พระองค์รับไว้ในพระ อุปถัมภ์ทั้งด้านการศึกษา และการสาธารณสุข เช่น มูลนิธิส่งเสริมภาษาฝรั่งเศสและฝรั่งเศสศึกษา มูลนิธิ โรคไต มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิขาเทียม เป็นต้น หากชีวิตคนเราเปรียบเหมือนต้นไม้ เมื่อวันเวลาผ่านไป จากต้นอ่อนเป็นไม้ใหญ่ที่เคยผลิดอก ออกผล หรือมีกิ่งก้านที่สวยงามชูเด่น ก็ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป หากแต่ไม่ได้หมายความว่า ต้นไม้ใหญ่นั้น เป็นสิ่งไร้ค่า เพราะสามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับหมู่นกกา และยังให้ร่มเงาบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ใต้ต้นรอ เวลาที่จะเจริญเติบโตต่อไป ผู้สูงวัยก็เช่นเดียวกัน ท่านทำประโยชน์ให้กับสังคมมากมาย ในบั้นปลายของ ชีวิตควรจะได้มีชีวิตที่สุขสงบตามอัตภาพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ ทรงช่วยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพพลานามัยให้แข็งแรงทั้งกาย
๔ และใจ เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยรับมูลนิธิชีวิตพัฒนาไว้ในพระอุปถัมภ์ ซึ่งมูลนิธิมีโครงการอบรมความรู้ ที่มีประประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย เช่นโครงการธรรมานามัย โดยใช้หลักธรรมะและการออกกำลังกาย ผสมผสานกัน เมื่อผู้สูงอายุได้เข้าฝึกอบรมแล้ว สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจ ของตนเองได้ นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่มีต่อการจัดการศึกษาให้กับผู้สูงวัย และสายพระเนตรที่ยาวไกล ก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสร้าง โอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทยครอบคลุมทุกกลุ่มของสังคม ทั่วถึงทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะลำบากยากเข็ญ หรืออยู่ในมุมที่มืดอับเพียงใดของสังคม ก็ไม่พ้นสายพระเนตรพระกรรณ ที่จะ พระราชทานความช่วยเหลือไปให้ ทรงสร้างโอกาสให้ทุกคนได้ย่างเท้าสู่โลกแห่งวิชาการ อุทยานแห่ง คุณธรรม พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติด้านการศึกษา นอกจากเกิดประโยชน์ต่อเราชาวไทยและ ประเทศชาติแล้วยังส่งผลต่อโลกใบนี้ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จึง ถวายพระเกียรติประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก พระกรุณาธิคุณและน้ำพระทัยของ พระองค์จะจารึกอยู่ในใจเราชาวไทยตลอดไป พระเกียรติกรุ่นพระคุณไกลพระทัยเกื้อ อีสานเหนือกลางใต้ไทยสูงค่า อาศิรวาทบำบวงบาทราษฎร์บูชา กรมนราธิวาสราชนครินทร์
๕ กระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่อันเชี่ยวกรากได้ส่งผลให้ปัญหาเหลื่อมล้ำใน สังคมไทยทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว ผันผวน และไม่อาจคาดการณ์ได้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน ดัง จะพบว่าสังคมไทยยังมีผู้ยากไร้และอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นจำนวนมากเข้าไม่ถึงโอกาสทาง การศึกษา แต่ด้วยกระแสธารแห่งน้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรม หลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ ผู้ ทอดพระเนตรเห็นสถานการณ์เหล่านั้น พระองค์ทรงใช้เวลาตลอดพระชนม์ชีพในการศึกษา “ความเป็นมา” ของปัญหาการศึกษาไทยอย่างลึกซึ้งทั้งการศึกษาในและนอกระบบ ทรงพิจารณา “ความเป็นอยู่” ของปวงชนทุกพื้นที่ ทุกเพศวัย และแสวงหา “ความเป็นไปได้” ในการพัฒนาระบบ การศึกษาไทยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น โดยทรงงานหนักอย่างยาวนานเพื่อสร้างโอกาส ทางการศึกษาให้ประชาชนชาวไทยอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยทรงตระหนักว่า การศึกษา คือ การเตรียมคน ในฐานะ “ทุนมนุษย์” ให้มีความรู้ ความสามารถผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจใน “ความเป็นมนุษย์” ส่งเสริม “มนุษยธรรม” สร้างสรรค์ความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม อันเป็น รากฐานของชีวิต ถือเป็นฐานหลักของการพัฒนาประเทศและเป็นหลักแก่นในการสร้างความมั่นคงของ ชาติด้านอื่น ๆ ต่อไป “ทรงเป็นครูผู้ปูทางการศึกษาไทยให้มั่นคง” ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้ เกิดมีขึ้นได้ จำเป็นต้องมี “ต้นแบบที่ดี” เพราะหากชาติไทยมีครูผู้เป็นบุคคลต้นแบบแล้ว ครูจะเป็น ปัจจัยผลักดันให้ผู้เรียนที่ไม่ว่าจะมาจากชนชั้น เผ่าพันธุ์ ลัทธิ หรือสถานะทางเศรษฐกิจใดได้รับ การศึกษาและการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นาง เธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเคยรับสั่งเมื่อทอดพระเนตรเห็นความ เป็นอยู่ของครูอาสาสมัครส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ว่า “ครูต้อง เป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชน แล้วชุมชนจะพัฒนาไปได้” เนื่องจากครูจะเป็นผู้ขยายผลจากการจัดการ เรียนการสอนไปสู่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พระองค์ทรงดำรงตนเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ และการเป็นครูมืออาชีพเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา กล่าวคือ ทรงใช้ความรู้ ความสามารถ และ
๖ ประสบการณ์ บูรณาการกับศาสตร์หลายแขนงเพื่อการสอน ผสานการต่อยอดทางวิชาชีพ และส่งต่อ มรดกทางวัฒนธรรม ทรงเลือกใช้ภาษาเป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้ทั้งภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน ละติน การอ่านหนังสือ และการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ จนทำให้ทรงเป็นปราชญ์ที่รอบรู้ศาสตร์ศิลป์ เมื่อ ทรงศึกษาเรื่องใดจนแตกฉานแล้ว จะทรงถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้เรียนผ่านการสอนและหนังสือพระนิพนธ์ เมื่อทรงทราบว่าที่ใดต้องการความช่วยเหลือด้านการสอน พระองค์จะพระราชทานความช่วยเหลืออย่าง เต็มที่ ยกตัวอย่างเมื่อคณะครูของโรงเรียนสุราษฎร์วิทยาประสบปัญหาในการจัดการเรียนการสอนและ การทำแบบทดสอบทรงตรวจแบบทดสอบที่คณะครูจัดทำขึ้นอย่างละเอียด จิตวิญญาณแห่งความเป็นครู ที่ทรงมีอย่างเปี่ยมล้นทำให้ทรงเป็น “แม่พิมพ์” ที่ควรค่าแก่การยึดถือเป็นแบบอย่าง การทรงอุทิศ พระองค์ด้านการศึกษาในฐานะครูจึงบ่งบอกจุดเริ่มต้นของการพัฒนาด้านการศึกษาที่ยั่งยืน สร้างความ เปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในทุกระดับชั้น ทุกรูปแบบ ทุกพื้นที่ และทุกคน “ทรงบ่มเพาะเด็กและเยาวชน เพื่อเพาะปลูกรากแก้วของแผ่นดินไทย” สมเด็จพระเจ้าพี่ นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงพระดำริว่า “การศึกษาระดับต้นมี ความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรของประเทศ” พระองค์ทรงมุ่งพัฒนาคนไทยตั้งแต่ระดับต้น ดังเมื่อครั้งมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยจัดตั้งโครงการสอนการอ่านแก่เด็กเล็กในชั้นเตรียม ความพร้อม พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์และทรงรับเป็นผู้ดำเนินการทดลองอุปกรณ์การเรียนที่มูลนิธิได้ คิดทำขึ้น พระองค์ทรงให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ๓ กลุ่มสำคัญ ได้แก่ เด็กด้อยโอกาส เด็กออทิ สติก และเด็กอัจฉริยะ สำหรับเด็กด้อยโอกาส ทรงเน้นการดูแลช่วยเหลือเด็กยากจน เด็กกำพร้า เด็กที่ อาศัยในท้องถิ่นทุรกันดาร ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยบนภูเขาและบริเวณชายแดน พระองค์ทรงต่อสู้กับ “ความไม่รู้หนังสือ” เพื่อนำไปสู่ “การเปิดประตูแห่งปัญญา”ของเด็กและเยาวชนไทย จึงพระราชทาน เงินส่วนพระองค์ในการก่อสร้างอาคารเรียนถาวรในโรงเรียนของหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนเป็น จำนวนมาก อาทิ โรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๑ และโรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๒ พระองค์ทรงให้ความสำคัญ กับกลุ่มเยาวชนในชุมชนที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะหากเยาวชนได้รับการพัฒนาด้วย กระบวนการเรียนรู้ที่สร้างเสริมความรักความผูกพันในชุมชนบ้านเกิดจะทำให้พวกเขากลายเป็นพลัง ขับเคลื่อนชุมชนที่สำคัญ พระกรณียกิจในการสนับสนุนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” เพื่อ ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาจึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมุ่งสืบสานงานในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราช ชนนี เช่น การให้ความช่วยเหลือผ่านศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ของสำนักงานส่งเสริม การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ใน พ.ศ.๒๕๓๙ ชื่อว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาว ไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงอุปถัมภ์ กิจการต่าง ๆ และใช้ชื่อว่า “โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า” ต่อมาได้จัดตั้ง “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อมอบให้แก่ครูดีเด่นที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนของกลุ่มชาวไทยภูเขาอย่าง เสียสละ เป็นการเน้นย้ำบทบาทของครูที่จะต้องขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ประชาชนทั้งการจัดเนื้อหา
๗ การสอนและวิธีการที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน อย่างไรก็ดี การกระจายโอกาสทางการศึกษาจะเกิดขึ้น อย่างสมบูรณ์มิได้ หากปราศจากทุนทรัพย์ พระองค์ได้พระราชทานเงินอุดหนุนในโครงการสงเคราะห์ เด็กที่ชื่อ “มูลนิธิโรงเรียนนันทบุรีวิทยา” เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบกับ ยังได้พระราชทานเงินเป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชนสตรีที่ยากจนในภาคเหนือในชื่อ “มูลนิธิพัฒนา เยาวชนสตรีภาคเหนือ” เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ทรงเล็งเห็นว่าควรพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ในรูปแบบของเกมให้นักเรียนที่ขาดโอกาส ดังตัวอย่างสื่อการสอนเสริมทักษะภาษาไทย เช่น ชุดเกมบัตร อักษรสามหมู่และชุดเกมบัตรต่อภาพ ซึ่งพัฒนาผู้เรียนให้เข้าใจภาษาไทยและเข้าถึงทรัพยากรทางการ ศึกษาอย่างเท่าเทียม สำหรับเด็กออทิสติก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ทรงต้องการให้เด็กเหล่านั้นก้าวข้ามข้อบกพร่องทางร่างกาย เห็นได้จากการทรง รับอุปถัมภ์โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์และมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลฯ โดยทรงสนับสนุนโครงการ ให้เด็กออทิสติกได้เข้าสู่ระบบการศึกษาแบบเรียนรวมด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กออทิสติกมีความสามารถ เหมือนเด็กปกติมากกว่าแตกต่าง พระองค์ทรงสนับสนุนโครงการวิจัยของโรงเรียนสาธิตแห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการรับเด็กออทิสติกที่ได้รับการบำบัดจากแพทย์ของโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ โดยมีนักเรียนที่สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโดยวิธีพิเศษจน สำเร็จการศึกษา ส่วนการต่อยอดศักยภาพของเด็กอัจฉริยะ อันหมายถึงเด็กที่มีสติปัญญาสูง และมี สมรรถนะทางการคิดนั้น พระองค์ทรงผลักดันเด็กอัจฉริยะทั่วประเทศไทยให้ไปทำชื่อเสียงไกลถึงระดับ โลก คือ การพระราชทานเงินช่วยเหลือโครงการส่งเด็กอัจฉริยะในเวทีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ระหว่างประเทศ ทรงให้ครูและนักเรียนเข้าเฝ้าที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนาก่อนการเดินทางเพื่อสร้าง กำลังใจ พร้อมกันนี้ ยังทรงให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) เพื่อให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจให้มากที่สุด ทรงแสวงหา วิธีการขจัดจุดอ่อนและเพิ่มจุดแข็งให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศไทยมีมาตรฐาน เทียบเท่าระดับสากล อีกทั้งยังทรงริเริ่มให้มีทุนการศึกษามูลนิธิ สอวน. เพื่อพัฒนาเด็กเรียนดีให้ได้ศึกษา ต่อในระดับที่สูงขึ้น ที่สำคัญ ทรงปรารถนาให้เด็กโอลิมปิกวิชาการเป็นเด็ก “ดี”และ “เก่ง”ที่หมายมุ่ง รับใช้ประเทศชาติ ดังพระโอวาทเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ความว่า “นักเรียนต้องคิดว่าจะตอบแทนอะไรให้กับประเทศชาติบ้าง...ให้สมกับที่เป็นผู้แทนเยาวชนไทย ที่มุ่งทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต” พระโอวาทนี้ชี้ชัดว่าการสร้างโอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเยาวชนไทย นอกจากเป็นการพัฒนาสติปัญญาของเยาวชน ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนกลับมาพัฒนาประเทศในระยะ ยาว เป็นการ“สร้างโอกาสคน” เพื่อให้คนเหล่านั้น“สร้างโอกาสให้คนอื่น” ในการทำประโยชน์เพื่อ ประเทศชาติต่อไป
๘ “ทรงส่งเสริมการศึกษาขั้นสูงสุด สร้างมนุษย์อุดมปัญญา” เป็นที่ประจักษ์ว่าสมเด็จพระเจ้าพี่ นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเป็นผู้นำและวางรากฐานสำคัญในการ จัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส พระองค์ทรงงานใน ฐานะอาจารย์ที่ทรงนำความรู้และวิทยาการสมัยใหม่มาปรับใช้อยู่เสมอ ทรงส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ที่ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (child-centered) โดยใช้การสอนเชิงรุกให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิด ถาม พูด อภิปราย และแสดงออก พระองค์ทรงสร้างโอกาสให้แก่ผู้เรียนด้วยความเสมอภาคอย่างชัดเจน เห็นได้ จากการพระราชทานเงินสมนาคุณที่ทรงรับเป็นรายเดือนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แก่นักศึกษาคณะ ศิลปศาสตร์ โดยไม่เลือกสาขาวิชา และยังได้พระราชทานทุนให้แก่อาจารย์ผู้สอนภาษาฝรั่งเศสเพื่อศึกษา ต่อปริญญาเอกในต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ทรงตระหนักว่า ตำราคือแหล่งเรียนรู้สำคัญที่จะทำ ให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างเสมอภาค จึงพระราชทานทุนให้สถาบันการศึกษาจัดซื้อตำราอย่าง เพียงพอ ดังการพระราชทานทุนให้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดซื้อสื่อโสตทัศนูปกรณ์ ในการเรียนการสอน และยังได้พระราชทานทุนซื้อหนังสือให้นักศึกษาโดยตรง “ความเป็นครู” ผู้ทุ่มเท โดยไม่เลือกปฏิบัติของพระองค์ได้ส่งเสริมจิตวิญญาณของ“ความเป็นคน” ในการเรียนระดับ “อุดมศึกษา” อันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่“อุดมปัญญา”ให้บริบูรณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม “ทรงพัฒนาการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ สร้างประเทศไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ยังทรงส่งเสริมการ เรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะ “ไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง” โดยทรงขยายฐานความรู้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานใน สาขาวิชาชีพต่าง ๆ และกลุ่มผู้สูงวัย ดังจะเห็นได้จากพระองค์ทรงอุปถัมภ์สมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ ทั้ง ด้านการศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข เช่น มูลนิธิส่งเสริมภาษาฝรั่งเศสและฝรั่งเศสศึกษา มูลนิธิโรค ไต และมูลนิธิขาเทียม เป็นต้น โดยให้มูลนิธิจัดสรรเงินที่ได้รับพระราชทานเป็นทุนการศึกษาการอบรม การดูงานทั้งในและต่างประเทศ และทุนวิจัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้บุคลากรในสายงานต่าง ๆ ดังตัวอย่างการจัดสรรให้กุมารแพทย์ศึกษาอบรมสาขาเฉพาะโรคหัวใจในทารก และเด็ก ในขณะเดียวกัน พระองค์ทรงให้การศึกษาแก่ผู้สูงวัย โดยมีมูลนิธิชีวิตพัฒนาในพระอุปถัมภ์เป็นหน่วยงานที่ช่วยผู้สูงวัยให้ มีโอกาสเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพพลานามัยให้แข็งแรงทั้งทางกายและจิตใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับผู้ ที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การดำเนินงานในลักษณะโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการธรรมานามัยได้ ฝึกอบรมโดยใช้หลักธรรมะและการออกกำลังกายมาผสานกัน มูลนิธิดังกล่าวนับเป็นต้นแบบในการ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และมีเครือข่ายไปยังจังหวัดต่าง ๆ อีกด้วย “ทรงเป็นแก้วกัลยาแห่งการเรียนรู้ ผู้สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง” พระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในการ สร้างโอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งการเข้ารับบริการ การศึกษาตลอดชีวิต การกระจาย โอกาสให้แก่บุคคลทุกเพศ ทุกวัย การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการจัดสรรทรัพยากรการศึกษา
๙ ล้วนเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลกว่า พระองค์ทรงงานอย่างบูรณาการ ทรงส่งเสริมทุกศิลป์และศาสตร์ เพื่อให้พสกนิกรได้พลิกฟื้นคืนชีวิตใหม่ผ่านการเรียนรู้ และต่อยอดองค์ความรู้สู่ความสำเร็จด้วยทรงยึด มั่นในคุณค่าของมนุษย์และศักยภาพในการพัฒนา พระอัจฉริยภาพอันเลิศและพระปรีชาญาณด้านการศึกษาที่ทรง รู้รอบ รู้ลึก และรู้จริง ทำให้เห็นว่าการศึกษาเป็นบันไดทางสังคมที่ทุกคนควรได้สิทธิเข้าถึงอย่างเสมอภาค เป็นวิธีการลดความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี พระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อ ปวงชนทุกชนชั้นโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ จึงยังคงอยู่ในหัวใจของคนไทยจวบจนถึงปัจจุบัน เนื่องในวาระ ครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติกาล และฉลองพระเกียรติยศในวโรกาสที่พระองค์ได้รับรางวัลบุคคลสำคัญ ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) คนไทยทุกหมู่เหล่าจะได้พร้อมร่วมใจกันแสดงความสำนึกในพระ กรุณาธิคุณและความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ผู้เป็นดั่ง “แก้วกัลยาแห่งการเรียนรู้” ที่สาดส่องแสงงามของ สายรุ้ง ทอประกายความหวังของประชาชน โดยขอยึดมั่นว่าจะมุ่งมั่นสืบสานพระปณิธานด้านการศึกษาบนหลัก มนุษยธรรม เพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวม อันจะช่วยสร้างสรรค์ชาติไทยให้ก้าวไกลไปสู่สังคมฐานความรู้ที่ มีความเสมอภาคอย่างยั่งยืน
๑๐ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน วิกฤติการณ์ทางการศึกษายังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย แม้ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแหล่งจะชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษชาวสยามเป็นผู้ที่ตระหนักถึง ความสำคัญของการศึกษามาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการแต่งตำราจินดามณีของพระโหราธิบดีใน สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกของสยามประเทศที่มีอายุยาวนาน กว่า ๓๕๐ ปี หรือแม้แต่การจัดตั้งโรงเรียนหลายแห่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งไม่ได้มีเพียงโรงเรียนสำหรับ บุรุษเท่านั้นแต่ยังมีโรงเรียนสำหรับสตรีอีกด้วย กระนั้นก็ดี สังคมไทยจัดเป็นสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคน หลายเชื้อชาติและหลากชนชั้น ความหลากหลายนี้เองที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นบ่อเกิด สำคัญของวิกฤติการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย ผลกระทบของวิกฤตการณ์นี้ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่ม นักเรียนนักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไป ท่ามกลางปัญหาสำคัญนี้ ยังมีแสงรุ้งแห่งความหวัง ปรากฏขึ้นในสังคมไทย แสงหนึ่งนั้นคือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงทุ่มเทอุทิศกำลังพระวรกายในการสร้างโอกาสเพื่อความเสมอภาคทาง การศึกษาให้แก่พสกนิกรชาวไทยอย่างไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทั้งในด้านการให้การศึกษาแก่ผู้ที่ ขาดโอกาส การส่งเสริมการศึกษาแก่ผู้ที่มีความสามารถพิเศษ การสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของครู อาจารย์ และการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตของประชาชน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงตระหนัก ถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ขาดโอกาสในสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ บุคคลเหล่านั้น พระโอวาทของพระองค์บทหนึ่งได้แสดงให้เห็นพระปณิธานที่จะส่งเสริมโอกาสทางการ ศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ความว่า “(...) สิ่งจำเป็นในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น คือ อะไรบ้าง สิ่งจำเป็นขั้นแรก คือ ปัจจัย ๔ (…) ข้าพเจ้าอยากเติมอีก ๒ สิ่ง คือการศึกษาและการพักผ่อน หย่อนใจ ซึ่งในความคิดของข้าพเจ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับที่จะให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” เหตุนี้ สมเด็จพระ เจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึงทรงประกอบพระกรณียกิจใน ด้านการพัฒนาสังคมควบคู่กับการพัฒนาการศึกษาโดยมุ่งเน้นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคมทั้งที่อาศัย
๑๑ อยู่ในเมืองหลวงและในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ผ่านโครงการอุปถัมภ์สลัมในกรุงเทพมหาคร และ โครงการพัฒนาท้องถิ่นชนบทและการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นทุรกันดารทางภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งโรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๑ ณ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ที่แต่เดิม เป็นเพียงโรงเรียนเล็กๆ ซึ่งมีนักเรียนจำนวน ๓๖ คน แต่หลังจากที่โรงเรียนเปิดทำการสอนได้เพียง ๒๘ วัน ทรงได้ประทานเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียน และในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ทรงได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียนเพื่อบรรเทาทุกข์บำรุงสุขด้วยพระองค์เอง พระกรุณาธิคุณ นี้ทำให้ปัจจุบันโรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๑ สามารถเปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๑ จนถึงมัธยมศึกษา ปีที่ ๓ และกลายเป็นแหล่งพัฒนาและสร้างพื้นฐานให้กับเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสในการเข้าสู่ ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพได้ นอกจากกลุ่มคนผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล็งเห็นถึงความขาดแคลนทุนทรัพย์และการสนับสนุนกลุ่มคนที่มี ความสามารถทางวิชาการสูงแต่ขาดโอกาสในการแสดงออกถึงศักยภาพ เหตุนี้ จึงทรงมีพระดำริให้ก่อตั้ง หน่วยงานและมูลนิธิส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการดนตรี และทรงรับองค์กรเหล่านี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ด้วย เช่น มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ (สอวน.) ทั้งนี้ ปัจจุบัน สอวน. ได้จัดตั้งศูนย์โอลิมปิกวิชาการแล้วกว่า ๒๐ ศูนย์ทั่วประเทศไทย และมีส่วนสำคัญในการ ผลักดันให้เด็กและเยาวชนไทยที่มีความสามารถสูงทางวิชาการได้ฝึกฝนพัฒนาและแสดงศักยภาพของ ตนในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สาขาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีจนได้รับรางวัล ชนะเลิศในเวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรม หลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยเช่นกัน โครงการทุนหมอเจ้าฟ้า ๒ ในพระอุปถัมภ์ฯ ถือเป็นโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากร ทางการแพทย์ของประเทศโดยการส่งเสริมโอกาสให้แก่ผู้ที่มีความถนัดและความสามารถพิเศษได้เข้า ศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์ในทุกๆ สาขา ณ คณะแพทยศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกลับไปทำงาน รับใช้ประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ เมื่อสำเร็จการศึกษา สมดังพระปณิธานในพระบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิ เบศวร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงได้รับสมัญญานามจากพสกนิกรถิ่นเหนือว่า “หมอเจ้า ฟ้า” เพราะทรงมีพระเมตตากรุณาต่อผู้ป่วยทุกชั้นวรรณะ นอกจากวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ยังทรงตระหนักถึงการ ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางศิลปะและวัฒนธรรมด้วย เพราะทรงเล็งเห็นว่าสาขาวิชาแขนงนี้เป็น
๑๒ สิ่งจรรโลงใจคนและเป็นประตูไปสู่ศิลปวิทยากรของโลก จึงทรงประทานทุนทรัพย์เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อ ส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชนขึ้น ในพุทธศักราช ๒๕๔๓ อีกทั้งยังทรงสนับสนุนให้มีการก่อตั้ง สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐ เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะเยาวชนผู้มีความสามารถ โดดเด่นในทางดนตรีคลาสสิคให้กลายเป็นบุคลากรทางดนตรีที่มีความเป็นเลิศในการบูรณาการองค์ ความรู้ทางดนตรีกับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม พระกรณียกิจที่ทรงอุทิศให้กับการ ส่งเสริมการศึกษาแก่บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษในด้านต่าง ๆ นี้สะท้อนให้เห็นถึงพระ กรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แก่บุคคลทุกชนชั้น อีกทั้งยังเป็นการสอนประชาชนในอีกทางหนึ่งเพื่อให้ตระหนัก ว่าแม้แต่คนที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษก็ยังต้องขวนขวายพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
๑๓ แดนใดไหนเล่าจะสวยงามเท่าด้าวแดนไทยที่เพียบพร้อมด้วยศิลปวัฒนธรรม โชคใดไหนเล่าจะ เท่าโชคดีที่ได้เกิดเป็นคนไทย ชื่นเย็นดวงใจที่มีธงไตรรงค์โบกสะบัดไตรรัตน์จรัสจรูญ สุขใดไหนเล่าจะ เท่าสุขของคนไทยที่อยู่เย็นเป็นสุข ในใต้ร่มพระบารมีแห่งราชวงศ์จักรี บุญใดไหนเล่าจะเลิศล้ำเท่าบุญ ของทวยราษฎร์ไทยที่ได้ชื่นฉ่ำด้วยน้ำพระทัยของ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ที่ได้ทรงอุปถัมภ์ส่งเสริมการศึกษาให้แก่พสกนิกรชาวไทยและทรง ถ่ายทอดพระราชปณิธานของพระบิดาที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศดังกระแสรับสั่ง ตอนหนึ่งเล่าว่า “ตั้งแต่เล็ก ๆ มาแล้ว ทุกอย่างบอกต้องทำอะไรให้เมืองไทย ต้องทำงานให้เมืองไทย อันนี้เป็นของที่ฝัง อยู่ตลอดเลย” นี่คือสิ่งที่คนไทยต่างประจักษ์แจ้งแก่ใจ รัก ศรัทธา น้อมรำลึกในพระเมตตาและพระ เกียรติคุณของพระองค์ปวงชนชาวไทยต่างซาบซึ้ง แสงหนึ่งคือรุ้งงาม คือแสงดาวอันเจิดจรัสจากพระ ญาณทัศน์อันกว้างไกลที่ใส่พระทัยในการศึกษา ชนชาวไทยจึงซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณที่ทรงต้องการให้ คนไทยใฝ่เรียนใฝ่รู้ การศึกษาคือสะพานทองทอดสู่ความรู้ ความรู้คือสะพานรุ้งทอดสู่วิทยาการอัน ทันสมัย วิทยาการอันทันสมัยทอดสู่ความรุ่งเรืองของประเทศชาติบ้านเมือง ทวยราษฎร์ต่างตระหนักใน พระปรีชาญาณอันสุขุมลุ่มลึกด้วยการศึกษา พระองค์ทรงมอบทุนการศึกษาสงเคราะห์ให้แก่เด็กผู้เรียนดี แต่อัตคัดขัดสน ทำให้คนไทยตระหนักได้ว่า จินตนาการของเด็กคือดาวดวงเดียวที่ไม่เคยเลือนหายไป จากปลายโค้งฟ้ากว้าง ความฝันของเด็กคือบุปผาชนิดเดียวในโลกที่แย้มบานได้แม้ในฤดูกาลอันแห้งแล้ง อุดมคติของคนหนุ่มสาวคือรุกขชาติชนิดเดียวในโลกที่เจริญงอกงามได้แม้ในท้องถิ่นทุรกันดาร พระองค์ ทรงส่งเสริมการศึกษาให้แก่ยุวชนชายขอบให้ได้รับความรู้ทั้งด้านวิชาการ ด้านวิชาชีพ และวิชาชีวิต ทรง รับเป็นพระธุระที่จะสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงในทุกเรื่องมาโดยตลอด เอาพระทัยใส่สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและ ครู กศน.ที่ปฏิบัติหน้าที่บนพื้นที่สูง มีพระดำริในการดำเนินงานทุกครั้งเมื่อเสด็จทรงเยี่ยมราษฎรใน ท้องถิ่นทุรกันดาร พระราชกรณียกิจของพระองค์ทรงเป็นแบบอย่าง ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้รู้รอบ รู้ลึก และรู้จริง สำหรับกลุ่มเด็กพิเศษ พระองค์ทรงพระกรุณาต้องการฝึกฝนสร้างพัฒนาการให้เด็กกลุ่มนี้มี ความสามารถ พึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ ไม่เป็นปัญหาของสังคม ด้วยการฝึกฝนพัฒนาใน ด้านศิลปหัตถกรรมเพื่อสมอง ทั้งสองซีกได้จดจำทฤษฎีและจินตนาการรวมไปถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับการ ดำรงชีวิต พระองค์ทรงเป็นดวงตาสวรรค์ ที่มองเห็นคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในคนไทยทุกคน
๑๔ โดยไม่จำกัดเพศ วัย และศักยภาพทางภูมิปัญญา เพราะทุกคน ควรได้รับการศึกษาโดยทั่วหน้ากัน พระองค์ทรงก่อตั้งมูลนิธิโอลิมปิกทางวิชาการส่งเสริมเด็กไทยให้ก้าวทันโลก หากเรามองด้วยความเป็น จริงแล้ว เราก็จะรู้หลักปรัชญาชีวิตที่ว่า การที่เราล้มเหลวไม่ใช่เพราะอุปสรรคนั้นมากมาย แต่เป็นเพราะ เราขาดความรู้ ขาดทักษะ จึงควรเพิ่มพูนความรู้และทักษะของตนเองให้มากขึ้น เพื่อจะได้ก้าวสู่ ความสำเร็จในครั้งต่อไป จึงทำให้คิดได้ว่าประเทศอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เขาก้าวหน้ากว่าเรา ไม่ใช่เป็นเพราะเขาก้าวไวกว่าเราหนึ่งก้าว แต่เป็นเพราะเราก้าวช้ากว่าเขาหนึ่งก้าวต่างหาก สิ่งหนึ่งที่จะ ทำให้ประเทศชาติเราก้าวหน้าตามทันประเทศอภิมหาอำนาจได้ นั่นก็คือการศึกษา ความล้ำลึกยิ่งนักที่พระองค์ทรงส่งเสริมทางด้านโอลิมปิกวิชาการเพราะยุวชนเหล่านี้ก็คือหยก งามที่ยังไม่ได้ถูกขุดขึ้นมาเจียระไน หากเราไม่ส่งเสริมยุวชนที่มีพรสวรรค์เหล่านี้ หยกงามเลอค่านี้ก็ดู ด้อยค่ากว่าอิฐและปูนที่ใช้ก่อสร้างตึกอาคาร สงครามเปิดโอกาสให้วีรชนได้แสดงความหาญกล้า การศึกษาเปิดโอกาสให้ยุวชนผู้มีมันสมองอันอัจฉริยะปราดเปรื่องได้แสดงศักยภาพ พระองค์จึงทรงมอบ ทุนให้แก่ยุวชนที่เข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ พร้อมจัดสรรวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ เคมีชีววิทยาเพื่อให้เด็กไทยได้บูรณาการเชื่อมโยงความรู้เหล่านี้ให้มีความ หลากหลาย ทั้งด้านวิชาการและทฤษฎีการปฏิบัติทางสรรพวิชาการที่ทรงไว้ซึ่งเอกภาพ พระองค์ทรงเป็นประธานของมูลนิธิต่าง ๆ อาทิมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบ รมราชชนนี(พอ.สว.) หรือ หมอกระเป๋าเขียว มูลนิธิโรคไต และประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุม พล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับ การให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท นักศึกษา พยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และทุนการศึกษา ผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล พระองค์ทรงเป็นห่วงสุขภาพของคนไทย ดังคำว่า สุขภาพจิตที่ดีต้องอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง จึงทรง ส่งเสริมด้านสาธารณสุข พร้อมทั้งบริจาคเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนอันทันสมัยให้แก่สถานศึกษาที่ เปิดการเรียนการสอนทางด้านสาธารณสุข มีคำกล่าวว่า ธรรมชาติได้ประทานสมบัติชิ้นสำคัญชิ้นแรก และชิ้นสุดท้ายนั่นก็คือ ลมหายใจ นับได้ว่าพระองค์ทรงดูแลทุกลมหายใจของคนไทยด้วยน้ำพระทัยที่ ทรงโอบเอื้ออาทร ดังพระมารดาปฏิบัติต่อบุตรอันเป็นที่รักนั่นก็คือคนไทยทั้งประเทศ ทุกวันนี้โลกหมุน ไวแข่งกับเข็มนาฬิกาหมุน นวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่นวัตกรรมเก่าชนิดวันต่อวัน ทฤษฎีใหม่เกิด ขึ้นมาหักล้างทฤษฎีเก่าชนิดชั่วโมงต่อชั่วโมง สถานการณ์ใหม่รุกไล่สถานการณ์เก่าชนิดนาทีต่อนาที พระองค์ทรงมองการณ์ไกลว่าในภายภาคหน้าประเทศชาติของเราจะต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงทางด้าน สิ่งประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาการของเชื้อโรค อันเป็นอาวุธชนิดใหม่ที่จะทำลาย มวลมนุษยชาติจึงมี โครงการในพระดำริเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านการแพทย์ทรงมอบทุนเพื่อการวิจัยแก่อาจารย์แพทย์ รวมไปถึงการอบรมประชุมสัมมนาเรียนรู้เชื้อโรคอุบัติใหม่เพื่อจะได้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของ ไวรัสอุบัติใหม่ได้ทันท่วงที
๑๕ พระองค์ยังคงสืบสานพระกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยการบริจาคขาเทียม ให้แก่ผู้พิการ จากชีวิตที่สิ้นหวังสู่ชีวิตที่ก้าวเดินหน้า จากคืนวันที่เคยทุกข์ท้อ สู่คืนวันที่มีความฝันเต็มปรี่ ความสุขเต็มเปี่ยม ทุกคนยืนหยัดได้ด้วยขาเทียมจากน้ำพระทัย นี่ไม่ใช่ความมหัศจรรย์ของขาเทียม แต่นี่ คือปาฏิหาริย์แห่งรักในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระองค์ทรงสานงานต่อ ก่องานใหม่ ด้วยการส่งเสริมการศึกษาในด้านวิชาความรู้และด้านวิชาอาชีพ ให้แก่ผู้พิการที่ได้รับมอบขาเทียม ทำให้ผู้พิการเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยพระองค์ทรงตระหนัก ว่า อาชีพของคนพิการไม่ใช่จำกัดเพียงอยู่ที่การขายสลากลอตเตอรี่ การร้องเล่นดนตรีเปิดหมวกเพียง เท่านั้น จึงได้ทรงส่งเสริมวิชาความรู้ด้านช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ฯลฯ นับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ที่สัมผัสได้ในโลกแห่งความเป็นจริง พระองค์มีพระปณิธานที่จะส่งเสริมเยาวชนไทยให้ได้ศึกษาภาษาต่างประเทศทรงเป็น นักวิชาการที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ โดยเน้นภาษาต่างประเทศ และ ด้านวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงบุกเบิกการสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยให้สัมฤทธิ์ผลอย่างจริงจัง ด้วยการเป็นครูสอนด้วยพระองค์เอง พระองค์โปรดด้านการเป็น “ครู” ดังข้อความตอนหนึ่งความว่า “จะให้ฉันอธิบายสักสิบครั้งก็ได้ขอให้นักศึกษาเข้าใจก็แล้วกัน” พระองค์ทรงใช้หลักการในการเป็นครูที่ดี ต้องการให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลถูกต้อง มิทรงเหน็ดเหนื่อย กลับทรงเต็มพระทัยที่จะสอนจนกว่าจะเข้าใจ โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส เพราะประเทศฝรั่งเศสคืออภิมหาอำนาจทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้าน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และด้านอารยธรรมที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรายังคงเจริญสัมพันธไมตรีการค้าการขายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิถี วัฒนธรรม จึงสมควรอย่างยิ่งที่เยาวชนไทยจะได้เรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส อันจะนำมาซึ่งการพึ่งพาอาศัยกัน ของคนทั้งสองประเทศ หลายอย่างที่เราจะต้องเรียนรู้จากฝรั่งเศส หลายสิ่งที่ฝรั่งเศสควรจะได้เรียนรู้วิถี ชีวิตของคนไทย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรง เป็นพระผู้ส่งเสริมการศึกษาให้แก่ปวงชนในชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทรงเป็น “เจ้าฟ้า นักวิชาการ” คนไทยจึงประจักษ์แจ้งแก่ใจว่า มนุษย์เราไม่สามารถรวยเท่าเทียมกันได้ แต่เราสามารถมี ความสุขเท่าเทียมกันได้ มีการศึกษาที่เท่าเทียมกันได้มีความเสมอภาคทางการศึกษาโดยไม่ถูกจำกัดด้วย เพศ ฐานะหรือวัย จะเป็นคนเมืองหลวงหรือชนบท อยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่หรือกระท่อมหลังน้อย ใส่ เสื้อผ้าหรูหราหรือเสื้อผ้าพื้นบ้าน แต่เราทุกคนมีความเสมอภาคทางการศึกษาเท่าเทียมกัน มหาสมุทร แห่งความรู้นั้นไร้ฝั่ง ไม่มีใครแก่ชราเกินเรียน ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ตราบนั้นต้องได้เล่าเรียน พระองค์จึงส่งเสริมการศึกษาให้มีความรู้ ความคิด กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะคิดอะไรใหม่ ๆ นับว่า ทรงมีพระปรีชาญาณมองการณ์ไกล ทำให้องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านการศึกษา
๑๖ ในวาระครบ ๑๐๐ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๕ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ผ่านมา ทุกวันนี้ประเทศที่เจริญแล้วได้ผลิตหุ่นยนต์ให้ทำงานแบบมนุษย์ แต่ประเทศที่ล้าหลังกำลัง ผลิตมนุษย์ให้ทำงานแบบหุ่นยนต์คุ้นชินต่อการรับคำสั่ง ยึดติดในทฤษฎีเดิม ๆ ยึดถือความสำเร็จแบบ เก่า ๆ พระองค์มีพระประสงค์ให้เด็กไทยมีความรู้คู่ความดี มีจินตนาการ มีจิตวิญญาณแห่งความเป็น มนุษย์จึงได้ส่งเสริมการศึกษาผลิตคนให้มีคุณภาพคู่คุณธรรม แต่เมื่อใดถ้าเราละเลยในพระดำริของ พระองค์ ผลผลิตของการศึกษาชาติที่ได้มาก็คือหุ่นยนต์ที่มีลมหายใจ เดินเพ่นพ่านในตลาดแรงงานอย่าง นับไม่ถ้วน นับว่าเป็นบุญของโลกโชคของคนไทยยิ่งนัก ที่สองตานี้ได้ทัศนาพระราชจริยวัตรของพระองค์ ในจอโทรทัศน์ เป็นสองบุญหูที่ได้สดับพระกระแสรับสั่งที่ได้เผยแพร่ในสื่อสารมวลชน เป็นสองบุญมือที่ ได้ถวายบังคมต่อพระฉายาลักษณ์ที่ประดิษฐาน ณ แท่นพิธี เป็นบุญใจยิ่งนักที่ได้น้อมรำลึกสักการะพระ เกียรติคุณอันแสนงามของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย เหล่าปวงข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมดวงใจ ถวายความจงรักภักดีแด่“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ตราบนิรันดร์เทอญ สดุดีอาศิรวาทราษฎร์ซาบซึ้ง กราบแสงหนึ่งคือรุ้งงามล้ำเลอค่า บุญชีวันขวัญชีวีเย็นชีวา ปวงประชาเทิดภักดีจักรีวงศ์
๑๗ งามพระเกียรติเกริกหล้า ขจรไกล งามยิ่งน้ำหฤทัย เพริศแพร้ว งามล้ำเลิศกระบวนใน- วิชาชีพ ครูเอย งามพระยศยิ่งแล้ว เปรียบแก้วกัลยา พระปรีชากอปรเกื้อ การุณย์ พสกไทยได้พึ่งบุญ ทั่วหล้า มหากรุณาธิคุณ คุ้มเกศ ชนเอย ราษฎร์รัฐทุกเหล่าข้าฯ จิตน้อมภักดีถวาย๚๛ หากจะกล่าวถึง “ขัตติยนารีแห่งราชวงศ์จักรี” พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาชาญ และทรงอุทิศพระวรกายเพื่อกอปรพระกรณียกิจนานัปการยังผลให้เกิดคุณประโยชน์กับสังคมและ ประเทศชาติ พระองค์นั้นก็คือ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์” สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระองค์เป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงสนพระทหัย ในการศึกษา รวมถึงทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา ดังพระโอวาทของพระองค์ตอนหนึ่งความว่า “...การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ เพราะการที่ทุกคนจะเติบโตเป็นบุคคลที่มีความ สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจได้ ย่อมต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งในภาวะการณ์ ปัจจุบันวิธีการศึกษาของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยน วัฒนธรรมข้อมูลข่าวสารที่ต้องเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหน้าที่ครูที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การ ค้นคว้าหาวิธีการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่เสมอ เพื่อให้ลูก ศิษย์เข้าถึงคุณสมบัติประเสริฐ ๓ ประการ คือ เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ และดำรงตนอยู่ได้อย่าง มีความสุข อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเกื้อกูลให้เกิดความมั่นคงไพบูลย์แก่ชาติบ้านเมือง...”
๑๘ พระโอวาทดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาที่เป็นรากฐานที่สำคัญของ ชีวิต การศึกษาให้ความรู้และประสบการณ์ ทั้งยังช่วยให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ ในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้พระกรณียกิจด้านการศึกษาของพระองค์ ยังผลให้ประชาชนชาวไทยได้รับโอกาส ทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระองค์ ทรงพระกรุณาห่วงใยเด็กและเยาวชนของชาติ อาทิ เด็กยากไร้ เด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์พระองค์ทรงเป็น “พระผู้ให้” โดยแท้ พระกรณียกิจที่สำคัญในการ พัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนของชาติ มีรายละเอียดดังนี้ ๑. การให้ความเสมอภาคทางการศึกษาสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมาย คำว่า “เสมอภาค” หมายถึง มีส่วนเท่ากัน, เท่าเทียมกัน และคำว่า “ศึกษา” หมายถึง การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม ดังนั้น คำว่า “ความเสมอภาคทางการศึกษา” หมายถึง ความเท่าเทียมกันในการเล่าเรียน ฝึกฝนและพัฒนาตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้ความหมาย คำว่า “ความเสมอภาคทางการศึกษา” หมายถึง การที่ประชาชนจะได้รับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่าง เสมอภาคและทั่วถึง โดยให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา รวมทั้ง เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู จึงกล่าวได้ว่าประชาชนไทยทุกคนต้องเข้าถึงระบบ การศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาคกัน นอกจากนี้ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จทรงเยี่ยมประชาชน ในถิ่นฐานทุรกันดารต่าง ๆ พระองค์ได้พระราชทานอุปกรณ์ทางการศึกษา และทรงพระกรุณารับเด็ก อ่อนด้อยโอกาสไว้ในพระอุปถัมภ์ ตลอดจนพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อส่งเสริมกิจการต่าง ๆ ทางการศึกษา เพราะพระองค์ต้องการให้เด็กและเยาวชนไทยได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง อนึ่ง พระราชทรัพย์ที่พระองค์พระราชทานช่วยให้เกิดอาคารเรียนชั่วคราวของหน่วย ตำรวจตระเวนชายแดน อาทิ โรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๑, โรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๒, โรงเรียนวราวัฒนา, โรงเรียนเฉลิมราษฎร์บำรุง เป็นต้น ด้วยพระเมตตาและน้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อเด็กและเยาวชน ยังผลให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ความเสมอภาคทางการศึกษาดังกล่าวเป็น ดั่งแสงอาทิตย์ที่สาดแสงแต่งแต้มสังคมไทยในทุกพื้นที่ สร้างความสุขและความงดงามในชีวิตให้กับ ประชาชนทุกระดับ ทั้งยังช่วยให้มองเห็นโอกาสทางการเรียนรู้อีกด้วย ๒. การให้โอกาสทางการเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ให้ความเสมอภาคทางการศึกษาสู่การ พัฒนาแก่เด็กและเยาวชนของชาติ ทำให้เยาวชนเหล่านั้นได้รับโอกาสในการเรียนรู้ และนำความรู้ที่ ได้รับไปพัฒนาศักยภาพของตนเองและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๙ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายของคำว่า “โอกาส” หมายความว่า เวลาที่เหมาะสม และคำว่า “เรียนรู้” หมายถึง ความเข้าใจความหมายของของสิ่งใดสิ่ง หนึ่งโดยประสบการณ์ ดังนั้น โอกาสทางการเรียนรู้ หมายถึง ความเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเวลาที่เหมาะสม โดยประสบการณ์ ทั้งนี้ การให้โอกาสทางการเรียนรู้ทั้งการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุน เด็กและ เยาวชนทุกกลุ่มให้ได้รับ การศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงนั้นเป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดความยั่งยืนใน ชีวิตอย่างแท้จริง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงให้โอกาสทางการเรียนรู้สู่การพัฒนา ที่ ยั่งยืนกับประชาชนชาวไทย โดยทรงสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนเพื่อสอนเสริมความรู้ให้กับเด็ก ด้อยโอกาส ในหลายพื้นที่ พระองค์ทรงคิดชุดสื่อการสอนและให้มูลนิธิ ส.ส.อ.ท. จัดทำเพื่อพระราชทาน ไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ อาทิเกมต่อบัตร อักษร-ภาพ ประถมศึกษาปีที่ ๑ เกมต่อบัตรภาพ-คำ ประถมศึกษาปีที่ ๑ และเกมต่อบัตรภาพ-คำ ระดับอนุบาล นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนในศูนย์ การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “สมเด็จย่า” เพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเด็กที่อาศัยอยู่บนดอย โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต โดยการใช้ทุ่งนาหรือไร่เกษตรกรรม เป็นห้องเรียน พระเมตตาของพระองค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กที่อาศัยอยู่บน ดอยนี้เปรียบเสมือนดวงประทีปแห่งการศึกษาที่ส่องแสงสว่างนำทางให้เกิดสติปัญญา และมองเห็น โอกาส ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อความเสมอภาคในการเรียนรู้อย่างทั่วถึง ๓. การให้การศึกษาด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู การสร้างโอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณแห่งความ เป็นครูของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์พระองค์ เป็นต้นแบบที่ดีของการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาชาญ ทรงเริ่มเป็น ครูและทรงรับภาระการสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนี้ การให้การศึกษาดังกล่าวในฐานะพระอาจารย์ พระองค์ทรงเมตตาต่อลูกศิษย์อย่าง เสมอกันทุกคน ทรงดูแลและห่วงใยลูกศิษย์ และทรงอุทิศพระวรกายเพื่อมอบความรู้ให้กับลูกศิษย์อย่าง สม่ำเสมอ ดังพระดำรัสตอนหนึ่งความว่า “เพราะเวลาสอนนี่ต้องเตรียมมาก อ่านมากและเตรียม อุปกรณ์ด้วย เดี๋ยวนี้หันมาเขียนหนังสือได้สิบกว่าปีแล้ว ต้องใช้เวลามาก ทำให้สนใจทั่วไปอีกไม่ได้ หนังสือที่ฉันเขียนต้องค้นคว้าเอกสารมาก บางครั้งบางเรื่องต้องไปเข้าหอจดหมายเหตุเป็นวัน ๆ เป็น ชั่วโมง ๆ แล้วถ้าจะไปสัมมนาเรื่องอะไร ก็ต้องอ่านเรื่องนั้นให้พอรู้บ้าง...” พระดำรัสดังกล่าวสะท้อนให้ เห็นอย่างแจ่มชัดว่าพระองค์ทรงพระวิริยะอุตสาหะให้กับการสอน จึงสมดังคำกล่าวที่ว่าพระองค์ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักวิชาการ” โดยแท้
๒๐ อนึ่ง พระภาระการสอนในมหาวิทยาลัยที่พระองค์ทรงรับในฐานะพระอาจารย์นั้น พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่การสอนภาษาฝรั่งเศส ยังผลให้เกิดความก้าวหน้าในวงวิชาการภาษาตะวันตก พระองค์ทรงพัฒนา และปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย และมีพระ ดำริให้จัดตั้งสมาคมครูภาษา ฝรั่งเศสเพื่อส่งเสริมการสอนภาษาฝรั่งเศสและวัฒนธรรมของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมฝรั่งเศส ตลอดจนส่งเสริม แลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิทยาการในการ สอนภาษาฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้ คำประกาศสดุดีพระเกียรติคุณความเป็นครูของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เนื่องในวันครู วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑ ณ หอประชุม คุรุสภา กรุงเทพมหานคร ตอนหนึ่งความว่า “...สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการด้วยพระเมตตา ปรารถนาที่จะให้ ประชาราษฎร์ทุกชนชั้นมีความรู้ มีความเป็นอยู่และมีสุขภาพอนามัยดีถ้วนหน้า กล่าวโดยเฉพาะด้าน การศึกษา ทรงเป็นแบบอย่างของครูที่ดี ทรงใฝ่พระทัยในการเพิ่มพูนความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทรงอุทิศ พระองค์ถ่ายทอดวิชาการโดยเต็มกำลังพระปัญญา...” คำประกาศสดุดีพระเกียรติคุณความเป็นครูดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณแห่งความ เป็นครูของพระองค์ ทรงแสดงให้ประชาชนชาวไทยเห็นถึงพระปัญญาและน้ำพระทัยที่ใสสะอาดดั่งน้ำ ทิพยมนต์อันชโลมใจเหล่าอาณาประชาราษฎร์ด้วยพระเมตตา พระองค์ทรงเป็นประกายแก้วแห่ง การศึกษาอันทรงคุณค่า ส่องแสงประกายฉายชัดให้ประชาชนในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความ ยั่งยืนในชีวิตและมีความมั่นคง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข ด้วยเหตุนี้ พระจริยวัตรในการประกอบพระกรณียกิจอันแสนงดงามของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระผู้ให้ทั้ง ๓ ประการดังกล่าว คือ การให้ ความเสมอภาคทางการศึกษาสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชน การให้โอกาสทางการเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ ยั่งยืน และการให้การศึกษาด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูนั้น ทำให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า เทิดทูนพระเกียรติคุณของพระองค์ให้เป็น “คุรุปูชนียาจารย์ของวงการศึกษาไทย” ปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ เนื่องในวาระครบ ๑๐๐ ปีวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และในโอกาสที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) มีมติ รับรองการร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณของพระองค์ จากพระกรณียกิจนานัปการ โดยเฉพาะด้าน การศึกษาที่ประจักษ์ดั่งที่พระองค์ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และเหรียญสดุดีพระ เกียรติคุณจากองค์การระหว่างประเทศ คุณูปการทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชน และสังคมไทย มีความมั่นคงไพบูลย์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอ ภาคกัน พระองค์ทรงเป็นแก้วกัลยาแห่งการเรียนรู้และเป็น “ครู” ผู้ให้สรรพวิทยาอันประเสริฐแก่ปวงชน ชาวไทยให้เป็นคนดี มีความรู้ และมีความสุขสืบต่อไป
๒๑ เหนือกลางออกตกใต้ แดนใด แม้อยู่ยังพงไพร สุดฟ้า พระโปรดเยี่ยมชนไทย ทุกถิ่น นี้เอย พระเกียรติงามเกริกหล้า กู่ก้องสรรเสริญ จำเริญจำรัสแล้ว แก้วกัลยา ดั่งปราชญ์การศึกษา แน่แท้ ก่อกอปรช่วยพัฒนา เพียรเพื่อ พสกแฮ บุญเหล่านิกรแล้ เลิศล้ำนิรันดร๚๛
๒๒ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ได้กำหนดหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ “การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้” โดยมุ่งให้ประเทศสมาชิก สหประชาชาติที่ร่วมลงนามในปฏิญญาฯ จัดการศึกษาให้เป็นไปด้วยความเสมอภาค มุ่งสู่การพัฒนา มนุษย์ ส่งเสริมความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและความเข้าใจอันดีระหว่างกัน นำไปสู่การธำรงไว้ซึ่ง สันติภาพในโลก หลักการดังกล่าวยังได้รับการเน้นย้ำด้วย “ปฏิญญาจอมเทียนว่าด้วยการศึกษาเพื่อ ปวงชน” ซึ่งสมาชิกองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO เห็น พ้องให้ร่วมกันขจัดความไม่รู้หนังสือ และเร่งรัดให้ประชาชนในประเทศสมาชิกเข้าถึงการศึกษ าขั้น พื้นฐานให้สำเร็จโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ในปัจจุบัน สหประชาชาติได้กำหนดให้ประเด็นด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นหนึ่งใน “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติค.ศ. ๒๐๓๐” เพื่อสร้างหลักประกันว่า ทุกคนจะ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มี ต่อประชาคมโลกในด้านการสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยระดมทรัพยากรบุคคล ทุนทรัพย์ และ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในทุกภูมิภาคอย่างเสมอภาคและทั่วถึง ตลอดจนพัฒนา คุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้น การสร้างโอกาสเพื่อทางการศึกษาในประเทศไทยให้ครอบคลุมและเสมอภาค ก็มิใช่ ภารกิจที่สามารถทำได้โดยง่ายในเวลาอันรวดเร็วนัก เนื่องจากประเทศไทยมิใช่ประเทศที่มีฐานะทาง การเงินร่ำรวย ทั้งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง มีลักษณะภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนยากแก่การ เข้าถึง และมีประชาชนอาศัยในท้องถิ่นทุรกันดารจำนวนมาก ทั้งนี้ แม้ว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะเป็นเรื่องที่ยากเย็นสักเพียงใดก็ตาม แต่ยังมีบุคคล หนึ่ง ซึ่งเป็น “ราชนารี” แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ประชาชนชาวไทยด้วยน้ำพระทัยมุ่งมั่น และพระปรีชาญาณที่ก้าวหน้าล้ำสมัย มา เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ
๒๓ “ราชนารี” พระองค์นั้น คือ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์” พระโสทรเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยถึงสองพระองค์ ภายหลังจากที่“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาเคมี กอปรกับทรงศึกษาวิชาสังคมศาสตร์และครุศาสตร์ เพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ สมาพันธรัฐสวิส และเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ทรงเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาอย่างเป็นทางการ โดยระยะแรกทรงรับหน้าที่ อาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษา และอารยธรรมฝรั่งเศส แก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงรับหน้าที่อาจารย์ประจำ และหัวหน้าภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังทรงรับเป็นผู้บรรยายวิชาภาษาฝรั่งเศสแก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ใน ประเทศไทยด้วย ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ทรงรับหน้าที่อาจารย์ภาษาฝรั่งเศส ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความ รักในอาชีพครูอย่างยิ่ง ทรงอุตสาหะตระเตรียมการสอนทุกครั้ง ทรงตอบข้อซักถามของนิสิตนักศึกษาใน ชั้นเรียนด้วยพระเมตตา ทรงตรวจการบ้านของนิสิตนักศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ และ พระราชทานกำลังใจในการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังทรง ‘ปฏิรูป’ แนวทางการเรียนการสอน ภาษาฝรั่งเศสในระดับอุดมศึกษา โดยใช้แนวทางการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทรงพัฒนาหลักสูตรการ เรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสให้มีความทันสมัยด้วยการบูรณาการทักษะและองค์ความรู้ต่างๆ เข้า ด้วยกัน จนกระทั่งเป็นต้นแบบของหลักสูตรการศึกษาภาษาฝรั่งเศสสมัยใหม่ในประเทศไทยจนถึง ปัจจุบัน จากพระกรณียกิจในฐานะ ‘สมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์’ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “สมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ทรงมีจิตวิญญาณความเป็นครู และทรงเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษาในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาคน นำไปสู่การพัฒนาสังคมและ ประเทศชาติต่อไป สมดังพระโอวาทในพิธีเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕ ความตอนหนึ่งว่า “ผู้ใหญ่ทุกฝ่ายทุกคน มีหน้าที่ผูกพันที่จะต้องดูแลให้ การศึกษาอบรมเยาวชนอย่างถูกต้องเหมาะสม” พระโอวาทข้างต้นจึงเปรียบเสมือน ‘พระปณิธาน’ ที่ทรงยึดถือเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และ สร้างโอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ประชาชนชาวไทยทั้งปวง อันเป็นหนึ่งในพระกรณียกิจ สำคัญที่ได้ทรงบำเพ็ญอย่างเนืองนิตย์ตลอดพระชนม์ชีพ
๒๔ จากการที่ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์” โดยเสด็จพระราชดำเนิน “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ไปทรงเยี่ยมประชาชน และทรงนำหน่วยแพทย์อาสาไปให้การรักษาพยาบาลประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ทั้งยัง พระราชทานทุนทรัพย์สนับสนุนค่าก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และพระราชทานทุนการศึกษาแก่เยาวชนในถิ่นทุรกันดารโดยตลอดนั้น ทรงพบว่า เด็กในพื้นที่ทุรกันดารส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้หากอ่านหนังสืออก ก็จะสามารถ อ่านได้ตามที่จดจำมา แต่ไม่มีทักษะคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นปัญหาเมื่อเข้าโรงเรียนในอนาคต ดังนั้น จึงมี พระดำริคิดค้นเกมเสริมการเรียนรู้อาทิ เกมต่อบัตรอักษร-ภาพ-คำ และเกมต่อบัตรคณิตศาสตร์ที่ เหมาะสมแก่เด็กในแต่ละช่วงวัย ทั้งยังโปรดให้นำเกมบัตรอักษรของมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่ง ประเทศไทย รวมถึงสื่อการสอนเสริมวิชาภาษาไทย ชุด “ไปโรงเรียน” ซึ่งมีผู้จัดทำต้นแบบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายมาปรับปรุงให้เหมาะสม และนำสื่อการสอนเสริมเหล่านี้ไปสาธิตทดลองใช้ในโรงเรียนตำรวจ ตระเวนชายแดน และโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้และพัฒนากระบวนการ คิดของเด็กในพื้นที่ทุรกันดาร โดยพระราชทานคำแนะนำให้ครูในท้องถิ่นนำสื่อการสอนเสริมเหล่านี้ไป ประยุกต์สารัตถะให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน และดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมแก่ งบประมาณ นอกจากนี้ ยังทรงริเริ่ม “โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า”สำหรับดูแลศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของชาวไทยภูเขาในเขตจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งส่วนมากขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โดยจัดหลักสูตรการศึกษาแนว ใหม่ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชุมชนพื้นเมืองในแต่ละท้องถิ่น และนำความรู้ที่ได้รับกลับไปพัฒนาชุมชน ของตนเอง ซึ่งเป็นไปตามพระดำรัสในพิธีเปิดชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” อำเภอแม่แจ่ม จังหวัด เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ความตอนหนึ่งว่า “...ขอให้คณะกรรมการอำนวยการจัดการศึกษานอก โรงเรียนบนพื้นที่สูง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ตระหนักถึง การพัฒนาการศึกษา ที่มิได้มุ่งหวังแต่เพียงปริมาณเท่านั้น หาก ให้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ ชุมชนในท้องถิ่น สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน ของตนเองเป็นสำคัญ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ต่อเนื่องและ ยั่งยืน...”
๒๕ นอกจากเด็กในพื้นที่ทุรกันดารแล้ว “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรม หลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ยังทรงเล็งเห็นว่า ‘เด็กออทิสติก’ ซึ่งเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทาง ร่างกายและสติปัญญา หากได้รับการศึกษาเป็นการเฉพาะที่ถูกต้องเหมาะควร จะเป็นการพัฒนา ศักยภาพของเด็กเหล่านี้ให้มีความพิเศษ และเป็นบุคคลคุณภาพของสังคมได้ในอนาคต ด้วยเหตุนี้ จึงทรงสนพระทัยและทรงศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่เด็กออทิ สติก และพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ “โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์” ซึ่งเป็นโรงพยาบาล เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็ก โดยทรงติดตามดูแลการทำงานของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และ พระราชทานคำแนะนำให้นำเด็กออทิสติกที่ได้รับการบำบัดรักษาจากโรงพยาบาลฯ เข้าเรียนในโรงเรียน ภาคปกติร่วมกับเด็กทั่วไปตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เด็กอีกประเภทหนึ่ง ที่ทรงให้ความสำคัญแก่การพัฒนาศักยภาพ คือ ‘เด็กอัจฉริยะ’ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทรงเห็นว่าเด็กเหล่านี้มีสมรรถภาพทางการศึกษาที่เป็นเลิศ จำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและต่อยอดความรู้ในระดับสูง ดังนั้น จึงทรงจัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริม โอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา” เพื่อส่งเสริมนักเรียนที่มีความอัจฉริยะ เหล่านี้ให้มีความรู้ความสามารถสำหรับการแข่งขันทางวิชาการในระดับระหว่างประเทศ และนำความรู้ที่ ตนได้รับในระดับสูงมาพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในประเทศ ไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ ในการนี้ ทรงรับหน้าที่ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ด้วยพระปณิธานแน่วแน่ ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนพระราชทานคำแนะนำและกำลังใจแก่ นักเรียนที่เป็นผู้แทนประเทศไทยในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ จนกระทั่งได้รับเหรียญ รางวัลในทุกระดับ นำชื่อเสียงและเกียรติภูมิมาสู่ตนเองและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องตราบเท่าทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม พระกรณียกิจของ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์” ด้านการสร้างโอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษานั้น มิได้จำกัดเฉพาะใน กลุ่มเด็กเท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึง ‘กลุ่มผู้ใหญ่’ ในหลากหลายสาขาอาชีพเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ทรง ริเริ่มก่อตั้ง “สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย” และ “มูลนิธิส่งเสริมภาษาฝรั่งเศสและ ฝรั่งเศสศึกษา”เพื่อเป็นองค์กรหลักเพื่อพัฒนาคุณภาพครูสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย ทรงริเริ่ม ก่อตั้ง “มูลนิธิโรคไต” และ “มูลนิธิขาเทียม” ซึ่งมีบทบาทรวบรวมองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรทาง การแพทย์ในสาขานั้นๆ อนึ่ง ‘กลุ่มผู้สูงวัย’ก็มิได้ทรงละเลยทอดทิ้ง โดยทรงรับ “มูลนิธิชีวิตพัฒนา” ซึ่งก่อตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไว้ในพระอุปถัมภ์เช่นกัน
๒๖ จากพระกรณียกิจด้านการศึกษาที่ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรม หลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ทรงบำเพ็ญมาตลอดพระชนม์ชีพด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยไม่ทรง เลือกปฏิบัติ9นเป็นการที่ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อมนุษยธรรม ทรงสร้าง โอกาสให้ชาวไทยทั้งปวงได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ‘เท่าทันโลก’ อย่าง ‘เท่า เทียมกัน’ จึงอาจกล่าวได้ว่า ทรง ‘สร้างคน’ ให้เป็น ‘คนเท่ากัน’ เพื่อสังคมที่มีคุณภาพและ ประเทศชาติที่เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในโอกาสที่องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่อง “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีวันประสูติ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ จึงเป็นการสมควรยิ่งที่ประชาชนชาวไทยทุกคนจะร่วมเฉลิมฉลองวาระพิเศษ นี้โดยตั้งความปรารถนาที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อตนเองด้วยความพากเพียร และเพื่อผู้อื่นด้วย ความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน อันเป็นการ ‘สืบสาน’ ‘รักษา’ และ ‘ต่อยอด’ พระปณิธาน เพื่อสนองพระ กรุณาธิคุณแห่งราชนารีผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์นั้นให้ดำรงอยู่ตราบนิรันดร์ “แสงหนึ่งนั้นหรือคือรุ้งงาม เป็นพลังนำความสุขเกษม แสงงามส่องสิ่งดีให้ปรีดิ์เปรม แสงสะท้อนสิ่งรี้เร้นในใจเรา สิ่งงดงามมีมาถึงร้อยปี แสงมีสีไม่มีที่เทียมเท่า แสงสว่างแห่งความดีแต่ก่อนเก่า ยังอยู่เนาใจรำลึกนึกพระคุณ” (ความตอนหนึ่งจากบทพระราชนิพนธ์ “สมเด็จกรมหลวงนราธิวาส” ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี)
๒๗ บ่ายวันหนึ่งเมื่อ ๔๓ ปีที่แล้ว ข้าพเจ้าต้องปั่นจักรยานเพื่อหาดอกกล้วยไม้และใบไม้ที่สวยที่สุด ในละแวกใกล้บริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แล้วนำกลับมาประดิษฐ์ช่อดอกไม้ ช่อยาวแบบฝรั่ง คือ เมื่อถือแล้วจะห้อยลงมาเกือบถึงพื้น จากคำปรารภของท่านอาจารย์ ดร. อุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์ ว่า “สมเด็จพระพี่นาง จะเสด็จทรงเปิดนิทรรศการภาษาฝรั่งเศสปีที่ ๒” ณ เวลานั้น คณาจารย์รุ่นพี่และรุ่นน้องจะได้เข้าเฝ้า ข้าพเจ้าตั้งใจประดิษฐ์งานชิ้นนี้อย่างสุดชีวิต แล้วมันก็สำเร็จลง พร้อมกับมีกระดาษแก้วบางใสผูกด้วยริบบิ้นสีขาวในเวลาเกือบเที่ยงคืน วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าต้องตื่นเช้าตรู่ เพื่อการเดินทาง เมื่อถึงสถานที่รับเสด็จ ท่านอาจารย์ก็นำพานทองมาใส่ช่อดอกไม้นั้น พร้อมทั้งมีซอง จดหมายสีขาวยาวจ่าหน้าซองเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า“Au secours ! Au secours !”ซึ่งแปลว่า ช่วยด้วย ช่วยด้วย นายตำรวจอารักขากลุ่มหนึ่งเข้ามาตรวจและซักถามว่าซองอะไร ท่านอาจารย์ตอบว่า “จดหมายขอความช่วยเหลือจากพระองค์ท่านค่ะ” ขณะนั้นข้าพเจ้าตื่นเต้นเพราะกำลังถวายฎีกา แต่ก็ ยังสงสัยว่าคือเรื่องอะไร และแล้วก็ถึงเวลาที่พระองค์ท่านเสด็จผ่านมาทางพวกเรา ข้าพเจ้าคุกเข่าและยก ช่อดอกไม้ขึ้นถวาย พระองค์ท่านทอดพระเนตรแล้วตรัสถามด้วยพระสุรเสียงที่อ่อนหวานว่า “มีอะไรให้ ช่วยรึ” ท่านอาจารย์อุบลวรรณตอบว่า “มอ.ปัตตานีขาดอาจารย์ภาษาฝรั่งเศสเพคะ” พระองค์ท่านทรง แย้มพระสรวลรับช่อดอกไม้และจดหมายแล้วเสด็จผ่านไป ข้าพเจ้าได้ก้มลงกราบแทบพระบาท เกิด ความปีติจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดและยังได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา ดุจดังคำประพันธ์ของสุนทรภู่ที่ว่า “เคยหมอบกราบได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา” สำหรับเรือนรับรองหลังไม่ใหญ่นักได้รับการซ่อมแซม ถนนทุกสายดูสะอาดตา ทุกอย่างเรียบง่ายตามวิถี ของพวกเราชาวรูสมิแลมีบางภาควิชามีการจัดเตรียมนิทรรศการเพื่อให้พระองค์ท่านมาเยี่ยมชมและ ทอดพระเนตร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขณะนั้นทรง ดำรงตำแหน่งองค์ประธานสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย อีกทั้งทรงเป็นอาจารย์พิเศษของ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พระองค์ท่านทรงมีคุณูปการด้านการศึกษาเป็น อันมาก ทรงดูแลตั้งแต่นิสิต นักศึกษา จนถึงครูผู้สอนภาษาฝรั่งเศสทั่วประเทศไทย เมื่อพระองค์ท่านทรง
๒๘ ได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือจากพวกเราไป พระองค์ท่านได้ตอบกลับว่า“ จะเสด็จมาสอนด้วย พระองค์เอง” ทุกคนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่างตื่นเต้นและปีติยินดีราวกับผู้ ยากไร้ขาดแคลนซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากมหาเศรษฐีผู้ใจบุญดุจดั่งแสงจันทราที่สาดส่องไม่เลือกแม้ว่า จะเป็นคฤหาสน์ของเศรษฐีหรือกระท่อมน้อยของยาจก ป ร ะ ส บ ก า ร ณ ์ ต ร ง จ า ก ก า ร ไ ด ้ เ ป ็ น ล ู ก ศ ิษ ย ์ ขอ ง ท ู ล ก ระ ห ม ่ อ ม อ า จ า รย ์ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ซึ่งการสร้างโอกาสเพื่อความเสมอ ภาคทางการศึกษา หมายกำหนดการเสด็จทรงเป็นอาจารย์พิเศษ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยา เขตปัตตานี คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ทุกคนตื่นเต้นและเฝ้ารอพระองค์ท่านในฐานะ ทูลกระหม่อมอาจารย์ พวกเราไม่อยากเชื่อว่านักศึกษาภูธรปลายด้ามขวานจะได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่ถึง ขนาดนี้ บรรยากาศสดใสของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ชายทะเลซึ่งมีนามสงขลานครินทร์ พระราชบิดาของ พระองค์ท่านยิ่งดูสดใส สดชื่น เมื่อใกล้เวลาเสด็จมาพำนัก ข้าพเจ้าสัมผัสถึงความอบอุ่นจากพระ กรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นยากจะหาคำบรรยายได้ เมื่อโอกาสอันยิ่งใหญ่มาถึง ด้วยน้ำตาคลอเบ้า เนื้อเต้น และขนลุก โดยเฉพาะคณาจารย์แล้วสุดจะกลั้นความปีติไว้ได้ พระองค์เข้าสอนในทุกชั้นปี นักศึกษา ตั้งแต่ชั้นปีที่ ๒ ถึง ๔ มีนักศึกษาชั้นปีละ ๒๔ คน ทรงสอนอย่างใกล้ชิด ก่อนเรียนจะมีการทำความ เคารพและถวายช่อดอกไม้ เมื่อเป็นเช่นนี้หลาย ๆ ครั้ง ทรงตรัสว่า “ถวายดอกไม้จนไม่เป็นดอกไม้ เสียแล้ว” ทรงเล็งเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองและไม่เป็นกันเอง ข้าพเจ้าอยู่ชั้นปีที่ ๓ ได้มีโอกาสเรียนวิชา โคลงกลอนภาษาฝรั่งเศส เมื่อพระองค์ท่านทรงอ่านคำประพันธ์ด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะและชัดเจนทำ ให้ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ว่า ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ไพเราะที่สุดในโลกอย่างแท้จริง พวกเรามีอาการเกร็ง ในครั้งแรกของชั้นเรียน เมื่อเวลาผ่านไปก็ผ่อนคลาย มีเสียงหัวเราะและยิ้มกันเมื่อพระองค์ท่านตรัสมุก ตลก โดยทั่วไปพระองค์ท่านจะมีพระพักตร์เรียบเฉย แย้มพระสรวลเป็นบางครั้ง นั่นคือ การที่ข้าพเจ้าได้ เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดในชั้นเรียน วันเวลาแห่งความอบอุ่น ณ หมู่บ้านสนเก้าต้น ตำบลรูสมิแล ใกล้จะหมดลง พวกเราได้รับ ทราบว่าจะทรงฉายพระรูปกับนักศึกษาทุกชั้นปี ทุกอย่างที่เกิดขึ้น คือ พลังและกำลังใจในความเท่าเทียม แด่ลูกศิษย์ของทูลกระหม่อมอาจารย์ เมื่อถึงวันนั้น ข้าพเจ้าคลานเข้าไป พระองค์ท่านทรงแย้มพระ สรวล ข้าพเจ้าได้อยู่ใกล้สุดในท่าคุกเข่าอยู่ทางเบื้องขวา นิสิตชั้นปีที่ ๓ ทั้ง ๒๔ คน ยิ้มด้วยความปีติยินดี เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่งดงามในดวงใจของพวกเราทุกคน เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และ จากพระปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาที่ว่า “ ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ ๒ ประโยชน์ของเพื่อน มนุษย์เป็นกิจที่ ๑ ” ข้าพเจ้าในฐานะลูกพระราชบิดาคนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากพระปณิธานดังกล่าว ข้าพเจ้าต้องเป็นครูฝรั่งเศสที่ดี เห็นแก่ประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ เมื่อข้าพเจ้าจบการศึกษาระดับ ปริญญาตรีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีแล้ว ข้าพเจ้าได้ทำการสอบเป็นครูอัตราจ้างใน โรงเรียนพุนพินพิทยาคม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ และสอบบรรจุเป็น
๒๙ ข้าราชการครู ณ โรงเรียนเดิมในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งเป็นปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ถือเป็น มงคลฤกษ์ โรงเรียนพุนพินพิทยาคมในขณะนั้นถือว่าเป็นโรงเรียนไกลปืนเที่ยง นักเรียนล้วนเป็นเด็ก ชนบท การคมนาคมยังยากลำบาก สำหรับข้าพเจ้าต้องเดินทางไปกลับด้วยรถบัสประจำทางวันละ ๒๔ กิโลเมตร เพราะข้าพเจ้าพักอยู่ในอำเภอเมืองซึ่งเป็นบ้านเกิดของข้าพเจ้า แต่ด้วยความหวังในการสร้าง โอกาสเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นการตามรอยพระบาทของทูลกระหม่อมอาจารย์ นักเรียน บ้านนอกต้องได้เรียนภาษาฝรั่งเศส ต้องได้รับความเจริญและทันสมัยด้วยกิจกรรม แม้กลับถึงบ้านพวก เขาเหล่านั้นต้องช่วยผู้ปกครองกรีดยาง ทำสวนและทำนา ไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะทางภาษาเลย ภาระ งานของข้าพเจ้าหนักมาก ปลายทางคือโรงเรียนพุนพินพิทยาคม ต้องมีชื่อเสียงโด่งดังทัดเทียมโรงเรียน ใหญ่ๆในเมือง กิจกรรมสอนภาษาต้องน่าสนใจและสนุกสนานตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้นักเรียน เห็นคุณค่าของภาษาฝรั่งเศสและร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนที่รักของพวกเรา เกือบ ๑๐ ปี โรงเรียนพุนพินพิทยาคม ก็เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียง ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา ๓๑ ปี ข้าพเจ้า ลาออกก่อนเกษียณอายุ แต่ก็ยังมีการรองรับนักเรียนและบุคลากรทุกเพศทุกวัยที่สนใจภาษาฝรั่งเศสใน รูปแบบของ “บ้านครูตุ่ย” สอนในราคาถูก สอนจำนวนน้อย แต่ให้ได้ผลมาก ซึ่งผลงานก็เป็นที่ ประทับใจ ลูกศิษย์สามารถเข้าเรียนต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ความภาคภูมิใจยังหล่อ เลี้ยงชีวิตความเป็นครูของข้าพเจ้าตลอดไป ครูสอนภาษาฝรั่งเศสอยู่ในพระเนตรพระกรรณของพระองค์ท่านเสมอ สมาคมครูภาษา ฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย หรือ สคฝท. ให้ความช่วยเหลือพวกเราทุกหัวระแหงในด้านเอกสาร อุปกรณ์ การสอน ข่าวสารต่าง ๆ และทุนศึกษาดูงาน ภาษาฝรั่งเศสจึงเป็นที่นิยมให้เป็นภาษาที่ ๓ ในโรงเรียน มัธยมศึกษาทุกแห่ง พวกเราได้ก้าวไปด้วยกันอย่างเท่าเทียม อีกประการหนึ่งที่ประทับใจข้าพเจ้าอีกครั้ง คือ ทูลกระหม่อมอาจารย์ได้เสด็จมาเยี่ยมพวกเรา โดยคำทูลเชิญของท่านอาจารย์พิชิต บังคมคุณ หัวหน้าหมวดภาษาต่างประเทศ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา เป็นการส่วนพระองค์ ทรงเน้นย้ำว่าเพื่อความเรียบง่าย แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้อำนวยการ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ดำริว่าต้องรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ การเสด็จครั้งนี้ทรงเสด็จโดยเรือรบ หลวงเพื่อทรงงานเยี่ยมหน่วยแพทย์ พอสว. แต่พระองค์ท่านทรงปลีกเวลา โดยให้เรือรบหลวงจอดที่ ปากอ่าวบ้านดอนแล้วเสด็จสู่โรงเรียนสุราษฎร์พิทยาโดยรถยนต์พระที่นั่ง การรับเสด็จเป็นไปอย่าง ราบรื่น ครูสอนภาษาฝรั่งเศสในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เข้าเฝ้า ณ ห้องรับรอง หัวใจของข้าพเจ้าพองโต รับรู้ได้ว่าพระองค์ทรงเป็นห่วงพวกเรามาก พระองค์ท่านทรงแย้มพระสรวลอย่างเปี่ยมล้นด้วยพระ เมตตา เมื่อทอดพระเนตรเห็นพวกเรา ท่านอาจารย์พิชิต บังคมคุณเป็นผู้เบิกตัวคณะครูสอนภาษา ฝรั่งเศสให้เข้าเฝ้า เมื่อถึงรายชื่อของข้าพเจ้า พระองค์ท่านทรงตรัสว่า “ฉันจำได้” ข้าพเจ้ารู้สึกตัวชา และขนลุกไปทั้งตัว พระองค์ท่านทรงสอดส่องด้วยพระเมตตาแด่เม็ดธุลีดินเช่นพวกเราด้วยพระมหา กรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ทรงปฏิสันถารกับพวกเราอยู่นาน ทรงซักถามถึงปัญหาการเรียนการสอน
๓๐ ทรงให้กำลังใจพวกเราให้มานะบากบั่นในการสร้างเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพ แล้วพระองค์ก็เสด็จ กลับโดยรถยนต์พระที่นั่ง พวกเราต่างหมอบกราบบนฟุตพาทบริเวณนั้นด้วยดวงใจแห่งความจงรักภักดี และจะยึดมั่นในพระปณิธานอันยิ่งใหญ่ตลอดไป ทูลกระหม่อมอาจารย์ยังมีคุณูปการด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เช่น สถาบันดนตรีกัลยาณิ- วัฒนาและนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก อีกทั้งยังเป็นองค์ประธานมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ทรงสืบสาน งานมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทั้งนี้เพื่อความเท่าเทียมของพสกนิกรไทย และจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อมหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในครั้งนั้นได้มีการ ก่อตั้ง สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ตามคำขวัญดังนี้ “ ประโยชน์ของเพื่อนเป็นกิจที่ ๑ สถาบันที่เป็นเลิศด้านวัฒนธรรมเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์” เป็นการสืบสานและต่อยอดพระ ปณิธานของพระองค์ท่านในการสร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษาให้คงอยู่ตลอดไป แม้ว่า ทูลกระหม่อมอาจารย์ได้เสด็จสู่สรวงสวรรค์ไปแล้ว ข้าพเจ้าขอกราบพระบาทด้วยสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
๓๑ “แม้แต่การเขียนเรียงความ หากไม่มีความรู้ เราคงไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ความรู้นั้น ย่อมเกิดจากการศึกษา และการศึกษาเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม ” สมเด็จพระเจ้าพี่ นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลตัวอย่างในด้าน การเรียนรู้ ทรงมีพระอัจฉริยภาพแห่งความเป็นผู้เรียนและผู้สอนที่ดี และยังทรงนำความรู้ ความสามารถ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่มหาชนชาวไทยทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า ข้าพเจ้าในฐานะ ชาวต่างชาติที่ได้รับการศึกษาในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี จึงควรสำนึกในพระคุณของพระองค์และ สืบทอดไปยังรุ่นต่อ ๆ ไป ความรู้อาจเปรียบเสมือนกับแสงสว่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มนุษย์ใช้ในการดำเนินชีวิต ในแต่ละวัน เพราะเราได้รับแสงสว่าง เราจึงสามารถมองเห็นข้างหน้าได้ มองเห็นทางเลือกได้ และ สามารถก้าวเท้าไปสู่อนาคตได้ แต่รู้หรือไม่ว่าแห่งใดมีแสงสว่าง แห่งนั้นย่อมมีเงาอันมืดมนอนธการปก คลุมอยู่ด้วยในขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ใต้เงาจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งใด ๆ ได้อย่างชัดเจน จึงมีโอกาสสูงที่ จะถูกพลัดพรากจากความสุขที่ควรได้รับในอนาคต สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรม หลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการติดตั้ง “หลอดไฟ” ในพื้นที่เช่นนี้ เพื่อลด ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และเพิ่มความมั่นคงของความเสมอภาคด้านโอกาส ซึ่งจะนำไปสู่ความ เจริญก้าวหน้าของประทศชาติ เมื่อข้าพเจ้าเห็นโครงการประกวดเรียงความครั้งนี้ และได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพระ ประวัติและพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องที่ไม่คาดคิดระหว่างข้าพเจ้ากับ พระองค์ เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นชาวญี่ปุ่นที่ย้ายถิ่นมาอาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ข้าพเจ้ายังอายุ 8 ขวบ และได้รับการศึกษาที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน มีความรู้สึกมาโดยตลอดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้น เป็นสิ่งไกลตัวจากข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อข้าพเจ้าได้ ทราบถึงพระกรณียกิจของพระองค์ที่มีอยู่อย่างล้นหลาม ข้าพเจ้าจึงได้สำนึกว่าพระองค์ทรงมีความ เกี่ยวข้องกับการศึกษาในประเทศไทย รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกที่
๓๒ ข้าพเจ้าพึ่งพามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งล้วนมีผลมาจากการพัฒนาทางด้านการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ของ พระองค์ นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังเห็นว่าการประกวดเรียงความครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติของพระองค์คือ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันเกิดของแม่ ข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความสัมพันธ์เสมือนพรหมลิขิตที่จะต้องเรียนรู้และสร้างสรรค์เรียงความ ครั้งนี้ออกมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์ในการพัฒนาการศึกษาไว้อย่างมากมาย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญ พระกรณียกิจมากมายให้แก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระกรณียกิจที่สำคัญได้แก่ โครงการแพทย์ พอ.สว. ที่เข้า ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารให้ได้รับการรักษาที่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้นพระองค์ท่านยังได้เข้า เยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กประถมวัย โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร เพื่อพระราช ทาน คำแนะนำและกำลังใจแก่ครู เนื่องด้วยทรงเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และมีพระดำริว่า ถ้า การศึกษาดีก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นตามไปด้วย พระดำริในด้านการพัฒนาการศึกษานั้น พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาที่เข้าถึง ประชาชนซึ่งด้อยโอกาสทางการศึกษาในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ โดยทรงได้สนับสนุนการจัดตั้ง ชุมชนการเรียนรู้ “สมเด็จย่า” ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาเดียวกัน ชุมชนดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการศึกษาที่ เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน ให้สามารถนำความรู้ ความสามารถ ทักษะและ ประสบการณ์ไปใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างเหมาะสม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็น นักวิชาการที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพ อีกทั้งพระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถในการเป็นครูที่ดี โดยพระองค์ทรงรับเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ทรงรับเป็นอาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศ รวมทั้งทรงดูแล และจัดทำหลักสูตรการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อจัดให้การศึกษานั้นเข้าถึง ประชาชนมากที่สุด แม้นจะพบอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พระองค์ทรงไม่เคยคิดย่อท้อ พระองค์ จึงได้ทรงจัดตั้ง “สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย “ ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาและแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ เพื่อจัดให้แพทย์ได้รับการศึกษา อบรม และพัฒนาด้านการแพทย์ที่ต่างประเทศ แล้วนำความรู้กลับมาเพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ใน
๓๓ ประเทศ ทั้งนี้พระองค์ยังได้พระราชทานทุนอุดหนุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาแพทย์และพยาบาลที่เรียน ดีแต่ขัดสน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน “จะให้ฉันอธิบายสักสิบครั้งก็ได้ ขอให้นักศึกษาเข้าใจก็แล้วกัน” เป็นพระดำรัสของสมเด็จพระ เจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่แสดงให้เห็นถึงการเข้าใจและ ยอมรับในความแตกต่างทางความสามารถในการเรียนรู้ระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ครู ควรนำมาเป็นแบบอย่าง โดยข้าพเจ้าคิดว่า การที่จะเป็น “ครู” นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะครูเป็นผู้ให้ ครูจึงต้องมีความพร้อมในด้านความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ เป็นสื่อในการให้ความรู้แก่ผู้เรียนทุกคนเข้าใจและได้รับความรู้อย่างเท่าเทียมกัน ดังที่พระองค์ทรง ปฏิบัติมาโดยตลอด เช่น เมื่อครั้งพระองค์ทรงเยี่ยมโรงเรียนประถมศึกษาในเขตทุรกันดารทำให้ทรง ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคด้านต่าง ๆ ของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดแคลนบุคลากรและ สื่อการเรียนการสอนที่ดีและทั่วถึง พระองค์จึงทรงวิเคราะห์และสร้างสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ ของเกม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ และง่ายต่อการเข้าใจ ส่งผลให้เกิดการ พัฒนาด้านการเรียนของนักเรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นไปตามพระดำริของพระองค์ที่ว่า “การคึกษา ระดับต้นมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรของประเทศ” “ขอให้ไปแข่งขันให้ดีที่สุด คิดว่าจะต้องได้เหรียญทองกลับมา ถึงแม้จะได้เหรียญทองมา เก่ง แค่ไหนก็ไม่ให้หยุดแค่นั้น เรามีหน้าที่คือ ทำชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ใช่เก่งเฉย ๆ ต้องใช้ความเก่งของตนทำ ประโยชน์ให้แก่สังคม เพื่อช่วยคนที่เก่งน้อยกว่า...” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรม หลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเน้นและเล็งเห็นความสำคัญของวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็น อย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าวิชาเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีใน ประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ด้วยเหตุผล เหล่านี้ พระองค์ทรงส่งเสริมการสอนและการสร้างสื่อเสริมทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หลังจากนั้น พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินกองทุนสมเด็จย่า รวมถึงพระราชทาน คำแนะนำแก่โครงการโอลิมปิกวิชาการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรม พระองค์จึงทรงจัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่ นางเธอ ฯ (สอวน)” ขึ้น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและคัดเลือกนักเรียนไทยเพื่อเพิ่มโอกาสในการ แสดงความรู้ความสามารถในระดับสากลมากขึ้น ส่งผลให้นักเรียนไทยจำนวนมากได้รับรางวัลจากการ แข่งขันโอลิมปิกวิชาการ และเกิดนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์มากขึ้นในระยะต่อมา
๓๔ นอกจากทรงเป็นผู้ให้แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นผู้รับที่ควรได้รับการยกย่องและนำไปเป็น แบบอย่างเช่นเดียวกัน ซึ่งการที่จะเป็นผู้รับ หรือในที่นี้หมายถึง “ผู้เรียนรู้” นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ ความพยายามสูง เนื่องจากการเรียนรู้เชิงวิชาการนั้น เปรียบเสมือนการต่อสู้กับอุปสรรคที่มีอยู่อย่างไม่ จำกัด โดยพระองค์ทรงมีวิธีการและแนวทางการเรียนรู้ที่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถ นำไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น ทรงอ่านหนังสือจำนวนมากและไม่จำกัดสาขา อย่างละเอียดและหลายครั้ง แล้ว จึงทรงบันทึกย่อไว้แต่ละบท เพื่อสามารถจดจำและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง ตามพระดำรัสของ พระองค์ที่ว่า “...รู้แล้วต้องเอาไปใช้จริง ๆ ไม่ใช่เรียนแล้วก็ทิ้งสูญเปล่าไป โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์...” ความรู้อาจเปรียบเสมือนแสงสว่าง แต่ในบางครั้ง ความสว่างนั้นมิได้เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ แม้ว่าในปัจจุบันสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่มูลนิธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านการแพทย์ ด้านการศึกษายังคงอยู่ และยังได้รับการ พัฒนา ดูแลให้ความสำคัญเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ดั่งหลอดไฟที่ถูกติดตั้งไว้ใน ทุกแห่งหน จนถึงเวลาที่พระอาทิตย์ส่องสว่างจากความมืด
๓๕
๓๖ เรียงความภาษาฝรั่งเศส « SAR la Princesse Galyani Vadhana : sa contribution à la promotion de l’égalité des chances dans l’éducation »
๓๗ Auparavant, en Thaïlande, il y avait l'inégalité de l’accès à l’éducation parce que certains élèves thaïlandais n’avaient pas d’argent et d’autres habitaient dans les régions rurales et ils ne pouvaient pas accéder aux études. Le manque d'éducation a des conséquences négatives sur la qualité de la vie et l’avenir des enfants thaïlandais. L’éducation est aussi un puissant mouvement pour développer le pays. Heureusement, SAR la Princesse Galyani Vadhana comprenait ce problème et elle a donc soutenu en faveur de l’éducation à tous les élèves. Grâce à son esprit de sacrifice, SAR la Princesse Galyani Vadhana se dédiait à développer l’éducation pour le pays et elle offrait à tous les enfants et adolescents une meilleure vie scolaire qu’avant. En promouvant la chance dans l’éducation, SAR la Princesse Galyani Vadhana travaillait sur un grand nombre de projets. Elle a contribué au développement de l’enseignement, à l’aide des enfants pauvres dans régions isolées et au soutien la formation pour les personnes confrontées aux troubles mentaux en Thaïlande. SAR la Princesse Galyani Vadhana avait l’intention de développer la qualité de l’éducation pour tous les élèves. Elle assistait à améliorer la méthode de l’enseignement et les outils pédagogiques. Comme elle comprenait profondément l’importance de l’éducation, elle a travaillé sur nombreux projets bénévoles promouvant l'éducation en Thaïlande. Par exemple, SAR la Princesse Galyani Vadhana s’est occupée de « l’Association Thaïlande des femmes diplômées des universités » qui a inventé des jeux et des outils pédagogiques pour améliorer l'apprentissage et la connaissance des élèves. Également, cette association aidait des enfants à avoir l’opportunité de savoir lire et écrire qui est la base de l'apprentissage. Accompagnée par la Princesse Mère, SAR la Princesse Galyani Vadhana a offert ces jeux aux écoliers dans des régions sous-développées. Non seulement elle testé des outils inventés par l’association mais elle les a aussi évalués pour améliorer leur efficacité de méthode pédagogique. Au cours des années, SAR la Princesse Galyani Vadhana se consacrait à développer l'enseignement du professeur et la qualité de l’étude pour tous les enfants thaïlandais avec bonne volonté. Elle avait véritablement une grande passion pour le rôle de professeur et continuait sans cesse à donner un meilleur niveau de la qualité d’éducation pour les citoyennes surtout ceux qui manquaient de chance. Par ailleurs, dans des régions lointaines, il y avait beaucoup d'enfants qui n’avaient jamais étudié dans l’école. SAR la Princesse Galyani Vadhana s'inquiétait de cette crise et elle désirait que tous les élèves en Thaïlande aient le droit d'accéder à l'éducation surtout les habitant aux provinces lointaines. En conséquence, elle fondait le centre d’apprentissage « Somdej Ya » situé à Chiang Mai qui avait pour objectif d'aider des enfants du tribus de montagnes et ceux qui manquaient financièrement pour l’étude. Ce projet permettait
๓๘ d'égaler l’opportunité de l’éducation et d'améliorer la bonne qualité de la vie. Ces enfants aussi recevaient l’éducation pratique et nécessaire. En plus, SAR la Princesse Galyani Vadhana se déplaçait dans plusieurs endroits ruraux dans le nord-est. Elle était volontaire pour aller n’importe où elle pouvait promouvoir l’éducation aux habitants ruraux. Parfois, c’était elle qui donnait le cours aux élèves dans la campagne. D’ailleurs, SAR la Princesse Galyani Vadhana donnait toujours des bourses aux étudiants pauvres qui voulaient étudier à l'université. Ces bourses ont permis aux étudiants d'avoir meilleure chance de l’éducation et de la profession après leurs études. Avec sa gentillesse et compassion, SAR la Princesse Galyani Vadhana était une grande héroïne qui consacrait son temps et sa vie privée pour donner des meilleures vies aux autres en Thaïlande. En plus de la promotion de l’éducation formelle, SAR la Princesse Galyani Vadhana aidait l’éducation pour les personnes présentant des troubles mentaux et les personnes avec un retard intellectuel en Thaïlande. SAR la Princesse Galyani Vadhana présidait « la fondation Raja Nukul » pour soutenir les troubles mentaux qui ne pouvaient pas étudier dans l’école dans le système éducatif. Elle créait la coopération entre le gouvernement et le secteur privé sur ce projet qui donnait le soutien financier aux patients. Quant à la formation, elle se faisait construire un bâtiment scolaire nommé l’école Raja Nukul. Cette école donnait l'apprentissage nécessaire aux troubles mentaux. C’est-à-dire, c’était le premier de l’école pour des troubles mentaux en Thaïlande. Cette école a fourni la formation pour développer les compétences des patients dans tous les aspects pour se préparer à la profession. En outre, il y avait l’emploi à essai pour des personnes avec un retard intellectuel. Ce projet permettait aux personnes avec un retard intellectuel de comprendre le monde du travail et de pouvoir travailler avec d’autres plus facilement. Pour conclure, SAR la Princesse Galyani Vadhana accorderait l’importance à l’égalité de l’éducation. Elle ne négligeait jamais le droit à l’éducation que tous les citoyens le méritaient. Apparemment, tous les projets que SAR la Princesse Galyani Vadhana a tout fait mettaient des valeurs aux autres. Elle a aidé à développer le niveau de la qualité du système scolaire. Elle a donné la chance de l’éducation non seulement aux habitants lointains mais aussi aux personnes souffrantes mentales et psychologiques en Thaïlande. Plus important encore, elle leur a offert des vies nouvelles et des meilleures qualités de vie en leur donnant la chance de l’éducation. Elle a aussi offert l’opportunité éducative pour les citoyens qui ne pouvaient jamais les recevoir. En plus des fondations sous le patronage royal de SAR la Princesse Galyani Vadhana mentionnées ci-dessus, elle travaillait sur d'autres projets précieux donnant la chance à l'éducation auquel tout le monde a également droit d’apprendre et elle pouvait réaliser ses projets. Finalement, ce que SAR la Princesse Galyani Vadhana a toujours concerné, c’était l’accès de l’éducation de Thaïlande parce que l’éducation est quelque chose d'important pour les citoyens et le pays. Sans éducation, les enfants n’avaient pas de bienêtre dans leur vie. Sans éducation, le pays ne parvient pas à avancer parce qu’on manque de personnels compétents et savants. Sans SAR la Princesse Galyani Vadhana, la Thaïlande n'a peut-être pas l'éducation auquel tout le monde peut accéder comme aujourd'hui. SAR la Princesse Galyani Vadhana était une véritable supportrice à l'égalité des chances dans l’éducation.
๓๙ « L'inégalité » est un problème important de la société thaïlandaise. Il est profondément enraciné dans le passé depuis longtemps. Il provient du système de classes sociales qui existent depuis la période d'Ayutthaya et a continué jusqu'à maintenant. Cependant, plus le monde est ouvert, plus la question est claire. Les disparités dans les revenus, les droits, les moyens de subsistance et, le plus important, « l'inégalité scolaire » qui crée l'inégalité entre les gens, sont les principales causes de nombreux problèmes dans la société thaïlandaise. Parce que sans connaissance, les gens ne voient pas le chemin qui devrait être parcouru dans la vie. La connaissance est comme une lumière qui nous guide dans la bonne direction. Mais il y a des millions de Thaïlandais qui n'ont pas la possibilité d'accéder à la lumière qu'ils méritent et, par conséquent, ne voient pas ce qui est bien et ne vont pas dans le bon sens. Donc, quelqu'un a dû leur tendre la main et les aider, et c'était Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra. Auparavant, en 1871 en Thaïlande, ou Siam à cette époque, il y a eu un changement majeur qui était la réforme de l'éducation de Sa Majesté le Roi Chulalongkorn. Sa Majesté a créé les premières écoles, « Mahadlek Military Academy » et « Wat Mahanparam School ». Il prévoyait déjà l'importance de l'éducation et du développement du personnel humain. Il voulait que les Thaïlandais possèdent des connaissances et des compétences à égalité avec les nations occidentales. À cette époque, ces nations installaient des colonies tout autour de Royaume du Siam. La détermination de la Famille Royale à éduquer le peuple n'a pas faibli. Elle a continué de poursuivre la réalisation des aspirations royales pour le développement de l'éducation. Elle a été une force importante pour aider à conduire et à créer en permanence des opportunités éducatives pour les gens. Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra a eu de nombreuses activités éducatives comme professeur de français dans des universités telles que l'Université de Chulalongkorn, l'Université de Chiang Maï et l'Université Thammasat où elle était à la tête du Département des langues étrangères. L'Association Thaïlandaise des Professeurs de Français a été créée par Son Altesse Royale en 1977 pour soutenir et promouvoir l'enseignement de la langue française et la recherche dans
๔๐ le domaine des études françaises. Car le français faisait partie des langues utilisées depuis longtemps dans la société thaïlandaise, depuis l'arrivée des Français à l'époque d'Ayutthaya. Initialement, le français était utilisé dans les missions, le commerce et la diplomatie, jusqu'à ce que les réformes éducatives sous le règne du roi Rama V commencent à dispenser un enseignement en français dans les écoles secondaires et les universités. Sa Majesté voyait très bien l'importance de l'éducation. Pour que l'éducation soit bonne, le plus important est d'avoir de bons professeurs. C'est pourquoi la création de L'Association Thaïlandaise des Professeurs de Français a été une étape importante dans le développement de l'apprentissage du français en Thaïlande. Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra entendait améliorer la connaissance de la langue et de la culture françaises pour les professeurs de français en Thaïlande en offrant des bourses pour se former en France. Elle a également organisé des séminaires sur les compétences pédagogiques pour les enseignants du pays. L'association est devenue un espace d'échange de connaissances, de techniques et d'expériences entre les enseignants des écoles et des universités, dans le but que, par la suite, les enseignants qui y auraient participé puisse en faire bon usage. Une formation complémentaire à la maîtrise de la langue française a également été encouragée à l'Institut de langues CIEL à Brest, en France. Tout cela a été organisé par Son Altesse dans l'espoir que tous les enseignants aient les mêmes connaissances afin de transmettre ces connaissances à tous les élèves de la même manière. Elle a également offert aux étudiants du secondaire et de l'université la possibilité de démontrer leur maîtrise du français à travers divers concours. En outre, Son Altesse a constamment soutenu, depuis sa création, l'envoi de jeunes Thaïlandais pour participer aux Jeux olympiques académiques. Elle a, entre autres, utilisé sa fortune personnelle pour, à chaque fois, aider, suivre, encourager et féliciter la jeunesse thaïlandaise. Elle a dirigé la « Fondation pour la promotion des Olympiades académiques et le développement des normes d'enseignement des sciences ». Son Altesse Royale est allée spécialement donner des conférences afin de lever des fonds. Cette fondation a été établie avec succès en 1985 et a eu la grâce de recevoir ces fonds sous son patronage en 1986. Son Altesse a donné des bourses pour contribuer au fonds chaque année. Une partie de ce fonds est utilisée pour que les professeurs de médecine étudient à l'étranger, et l'autre partie est destinée aux bourses d'études pour les étudiants qui étudient bien mais qui ont des problèmes financiers. Tout cela crée véritablement des opportunités éducatives pour les étudiants. Les étudiants ont plus d'opportunités et de droits d'accès à l'éducation. En raison du patronage de Son Altesse, les inégalités dans l'éducation ne bloquent plus les opportunités des jeunes. Tout cela lui a valu d'être déclarée comme personne importante dans le domaine de l'éducation par l'organisme d'enseignement des Nations Unies, l'Organisation des Nations unies pour l'éducation, la science et la culture ou UNESCO, à sa 41e Assemblée générale à Paris, en France, le 15 novembre 2021. Du passé au présent et du présent au futur, l'éducation est toujours importante, mais une autre chose est tout aussi importante, c'est la possibilité pour quelqu'un de s'instruire et de créer. Pour cela, l'égalité dans l'éducation est nécessaire. Tout comme une voiture ne peut
๔๑ pas rouler sans l'une de ses roues, l'avancée du pays ne peut se faire si une seule personne manque. Si nous choisissions toujours de laisser quelqu'un derrière et de ne pas lui donner la possibilité de recevoir le droit d'étudier, le pays ne pourrait pas continuer à se développer. Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra a posé les fondations pour offrir à tous les jeunes un accès égal à l'éducation et a ouvert la porte des opportunités plus largement que jamais pour que la Thaïlande devienne une société où tout le monde est éduqué de la même manière. Alors pourquoi les gens qui ont une chance comme nous ne continueraient-ils pas dans cette voie, selon les vœux de Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra ?
๔๒ L'éducation fait partie de toute vie humaine et tous les êtres humains ont besoin d'être éduqués. Mais nous ne pouvons pas nier qu'il existe encore aujourd'hui de nombreuses disparités dans l'éducation. Bien que le problème soit évident, les solutions pour résoudre les disparités dans l'éducation ne sont pas facile à mettre en œuvre. Il faut s'appuyer sur la conduite de politiques fondées sur la connaissance des problèmes et cela nécessite à la fois des ressources, de la volonté politique et des connaissances de pointe. Ce sont là des carburants essentiels. Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra n'est pas restée silencieuse sur cette question. Son Altesse a rempli de nombreuses fonctions royales pour offrir aux Thaïlandais de nombreuses opportunités éducatives égalitaires. Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra a accompli de nombreuses tâches pour la nation afin d'alléger les fardeaux de son père et de sa mère. Il y a des centaines de projets sous son patronage, à la fois dans l'éducation et le travail social, la médecine et la santé publique, les affaires étrangères et la religion, ainsi que d'autres domaines. Elle a également montré du talent dans l'écriture, le sport et la photographie. Bien sûr, déjà à cette époque, tout le monde voulait avoir sa chance, mais il y avait en réalité très peu de personnes qui avaient cette opportunité. Il y a toujours des inégalités sociales qui se produisent, peu importe où vous vivez ou dans quelle société. Il est très difficile d'offrir des chances égales à tous, même des chances en matière d'éducation. C'est pourquoi Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra a exercé de nombreuses fonctions royales, espérant que le peuple en bénéficierait réellement et entièrement. L'éducation pour tous est importante parce que l'éducation mène à la connaissance et que la connaissance peut être utilisée pour que les gens s'améliorent et progressent afin qu'ils aient la capacité de pratiquer une profession et de construire une bonne vie. Ainsi, on peut aider les gens à s'affiner pour qu'ils aient conscience et vertu, et qu'ils soient intellectuellement et mentalement prospères. Par l'éducation, ces personnes, en plus de pouvoir se développer, ont aussi une influence bénéfique sur la société et la nation. Elles peuvent en effet contribuer à l'effort de tous pour que notre pays soit prospère et progresse à la hauteur des capacités de notre civilisation.
๔๓ Les devoirs royaux de Son Altesse pour promouvoir l'éducation ont été nombreux, comme la création de l'Association Thaïlandaise des Professeurs de Français en 1977. L'Association Thaïlandaise des Professeurs de Français n'est pas seulement un centre pour les professeurs de français en Thaïlande mais aussi un centre d'apprentissage et de rencontre pour les enseignants des écoles et les enseignants des collèges. Cette association a pour objectif de développer l'éducation thaïlandaise dans une direction plus égalitaire en ce qui concerne l'apprentissage de la langue française. Tous les membres du personnel sont prêts à appliquer les connaissances acquises et à les partager avec les étudiants. La culture française des enseignants du secondaire et de l'université s'est améliorée grâce à l'offre de bourses pour se former en France. Une formation aux compétences pédagogiques a été organisée pour les éducateurs thaïlandais afin qu'ils échangent des techniques, des connaissances, des résultats de recherche en classe et des expériences personnelles. L'Association a été en plus chargée d'envoyer en continu des enseignants se former en France. Elle envoie également des professeurs approfondir leurs connaissances en France afin de rapporter les compétences, acquises en étudiant en France, pour enseigner le français de façon plus efficace aux élèves et étudiants thaïlandais. On peut considérer que la création de cette association est un devoir royal important dans la création d'opportunités pour l'égalité dans l'éducation. Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra a également promu le Concours de compétences en français de l'Association Thaïlandaise des Professeurs de Français depuis 1978, offrant aux étudiants du secondaire et de l'université la possibilité de démontrer leur maîtrise du français lors de divers concours permettant à chacun de s'initier à la culture et à la langue française, à la fois pour ceux qui ont déjà étudié le français et pour ceux qui ne l'ont jamais étudié. Son Altesse voulait créer une plus grande présence du français dans le pays et un amour pour la langue française. Elle était également intéressée par le projet d'envoyer des jeunes thaïlandais participer aux Jeux olympiques académiques. Elle était la marraine de "La Fondation pour la promotion des Olympiades académiques et le développement des normes d'enseignement des sciences". Il s'agissait de créer des opportunités pour les jeunes thaïlandais de se retrouver et de bâtir une réputation pour la Thaïlande. Pendant de nombreuses années consécutives à la première année, les jeunes ont également été envoyés en compétition. De plus, pendant son séjour en Suisse, Son Altesse a observé la pratique des jeux de cartes des Suisses et des Thaïlandais qui étaient là dans un café. Cette collection de détails l'a amenée à l'idée que les choses qui pouvaient être observées dans la vie quotidienne devraient être enseignées en même temps que l'enseignement des manuels. Au point que ce sujet a été débattu dans un séminaire. Cela montre que Son Altesse accordait une égale importance à l'apprentissage en dehors de la salle de classe qu'à celui donné par les manuels. La connaissance n'est pas seulement dans les livres d'école mais aussi dans notre quotidien. Et les expériences que nous vivons nous font grandir chaque jour. Tout ce que Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra a donné à la Thaïlande sont des avantages pour tous les Thaïlandais. Lorsque les enfants ont des possibilités d'éducation, ils peuvent contribuer au développement de la
๔๔ nation. L'éducation crée les gens et les gens construisent une nation. Pourtant, ce n'est pas seulement le développement de la nation. Obtenir une éducation, c'est aussi s'améliorer. Peu importe combien de temps s'est écoulé, l'éducation fera toujours partie de la vie humaine et continuera à développer et à affiner les êtres humains pour qu'ils soient des êtres humains de qualité.
๔๕ Il est indéniable que chaque être humain, quel que soit son âge, n'est jamais trop vieux pour apprendre.Nous avons tous la capacité de nous éduquer encore et encore, et de progresser à chaque étape de notre vie. Mais il faut que la personne ait la possibilité d'étudier. Parce que les gens naissent avec un niveau de vie inégal, le principal problème de l'inégalité dans l'éducation est la « pauvreté ». L'éducation est quelque chose que tout le monde mérite mais tout le monde n'en a pas l'opportunité. En effet, on ne peut pas affirmer qu'obtenir une bonne éducation ne s'accompagne pas nécessairement d'un facteur de préparation, tant sur le plan intellectuel qu'émotionnel, et encore plus sur le plan économique. En conséquence, de nombreux enfants thaïlandais n'ont toujours pas accès à l'éducation. Peu importe à quel point les causes sont évidentes, résoudre ce problème de l'inégalité dans l'éducation n'est pas du tout facile. En plus de donner les bases de l'apprentissage et de l'éducation, il y a toujours le besoin de ressources matérielles pour soutenir ce processus dans le long terme. Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra a étudié pour pouvoir aider à trouver des solutions à ce problème afin que chacun ait les mêmes chances en matière d'éducation en Thaïlande. Son Altesse Royale la Princesse Galyani Vadhana Krom Luang Naradhiwas Rajanagarindra a rempli de nombreuses fonctions pour la nation afin d'alléger le fardeau de Sa Majesté le Roi Bhumibol Adulyadej. Son Altesse avait des projets liés à l'éducation, et des programmes concernant le travail social et médical ont également été mis en œuvre. Quand les résultats de son travail dans le domaine de l'éducation sont devenus évidents, les universités et les organisations internationales lui ont octroyé un doctorat honorifique et une médaille d'honneur. Elle a été honorée par de nombreux gouvernements et organisations étrangers dont le gouvernement français. Avec sa capacité d'observation et de travail écrasante, pendant qu'elle était en Suisse, Son Altesse a également étudié et recueilli des détails sur la tradition des cartes à jouer que des hommes et des femmes, suisses et thaïlandais, suivaient dans les cafés où elle passait. Sa Majesté a cherché à développer ce point auprès des enseignants en Thaïlande en posant une question de portée considérable : Que dois-je enseigner de la civilisation par rapport à la Thaïlande ? Ou devrais-je enseigner uniquement ce que j'ai appris dans les livres que j'ai étudiés en classe ?