The words you are searching are inside this book. To get more targeted content, please make full-text search by clicking here.

การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

Discover the best professional documents and content resources in AnyFlip Document Base.
Search
Published by snf, 2023-08-09 09:44:25

การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

Keywords: กวางผา

การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ A Study on Home Range and Habitat Use of Burmese Goral at Chiang Dao Wildlife Sanctuary, Chiang Mai Province มงคล สาฟูวงศ์ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


ที่ปรึกษา 1. นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า 2. นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ 3. นายกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 16 เชียงใหม่ 4. นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 5. ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ อดีตหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า 6. นายสิทธิชัย นุชัยเหล็ก หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า 7. มล. ปริญญากร วรวรรณ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 8. นางสาววรลักษณ์ โกษากุล กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 9. นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทีมผู้วิจัยในโครงการ 1. นายมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว 2. นายอดิสรณ์ กองเพิ่มพูล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย 3. นายบุญยัง ศรีจันทร์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 4. นางสาวปวีณา ใฝ่ฝัน พนักงานราชการ ตำแหน่ง นักวิชาการสัตวบาล 5. นางสาวสมิตานัน ลาขุมเหล็ก พนักงานราชการ ตำแหน่ง นักวิชาการป่าไม้ 6. นางสาวณัฐธิดา วงศ์ตั้ง พนักงานราชการ ตำแหน่ง บันทึกข้อมูล 7 นางสาวศศิธร ศิริพิน พนักงานจ้างเหมา ตำแหน่ง ผู้ช่วยนักวิจัย 8 นางสาวณัฐมล ยศยิ่งยงค์ พนักงานจ้างเหมา ตำแหน่ง ผู้ช่วยนักวิจัย 9. นายวีระชาติ ศรีวิเศษ พนักงานจ้างเหมา ตำแหน่ง ผู้ช่วยนักวิจัย 10. นางสาวเมธินี น้อยวรรณะ พนักงานจ้างเหมา ตำแหน่ง ผู้ช่วยนักวิจัย 11. นางสาวมันทนา ชาติชนา พนักงานจ้างเหมา ตำแหน่ง ผู้ช่วยนักวิจัย 12. นางสาวเกศรินทร์ เจริญรักษ์ หัวหน้าฝ่ายงานผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 13. เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ. เชียงใหม่ 14. เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ. เชียงใหม่


บทคัดย่อ การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและถิ่นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากิน ลักษณะพื้นที่อาศัยและโครงสร้าง สังคมพืช และปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่พบในธรรมชาติ บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว วิธีการ ดำเนินการวิจัยเริ่มจากการดักจับกวางผาเพื่อติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียมก่อนปล่อย กำหนดให้ปลอกคอ สัญญาณดาวเทียมที่ระบุพิกัดทุกชั่วโมงชุดข้อมูลดังกล่าวนี้จะนำไปใช้ในวิเคราะห์ขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากิน ถิ่นที่อาศัยของ สังคมพืชและปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่พบในธรรมชาติ ดำเนินการศึกษาวิจัยเริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2564 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ผลจากการศึกษาพบว่า ขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากิน ของกวางผาในธรรมชาติเพศเมียตัวเต็มวัย จำนวน 3 ตัว อาณาเขตพื้นที่อาศัยกระจายในพื้นที่ดอยหลวงน้อย ดอยกิ่วลมและดอยสามพี่น้อง บริเวณที่มี ความสูงระหว่าง 1,000 -1,900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ความลาดชันระหว่าง 50 - 80 องศา สภาพพื้นที่เป็น หน้าผาหินปูนสูงชันสลับกับทุ่งหญ้าระหว่างหน้าผา มีขนาดอาณาเขตพื้นที่หากิน เท่ากับ 0.072 - 0.360 ตาราง กิโลเมตร (FK ที่ 95%) และขนาดพื้นที่ 0.077 - 0.404 ตารางกิโลเมตร (MCP ที่ 95%) ส่วนพื้นที่อาณาเขต ครอบครองที่ใช้ประจำ (Territory) เท่ากับ 0.014 - 0.081 ตารางกิโลเมตร (FK ที่ 50%) และขนาด0.015 - 0.069 ตารางกิโลเมตร (MCP ที่ 50%) ขนาดพื้นที่อาศัยของกวางผาตามฤดูกาล พบว่ากวางผาใช้พื้นที่อาศัย กว้างมากที่สุดในฤดูหนาว รองมาคือช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูร้อนกวางผามีขนาดพื้นที่น้อยที่สุด การเคลื่อนที่ของ กวางผาในรอบวันกวางผาสามารถเคลื่อนที่ได้เฉลี่ย 0.79 - 1.36กิโลเมตรต่อวัน และการเคลื่อนที่ของกวางผาใน รอบชั่วโมงกวางผาสามารถเคลื่อนที่ได้เฉลี่ย 0.03 - 0.06 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีการเคลื่อนที่ของกวางผาใน รอบวันในฤดูร้อนมีระยะทางการเคลื่อนที่มากที่สุด และฤดูฝน ฤดูหนาวตามลำดับ สำหรับพื้นที่ที่กวางผาใช้ ประโยชน์และอาศัยเป็นสังคมพืชป่าดิบเขาที่มีทุ่งหญ้าสลับเป็นหย่อมโดยมีไม้ในวงศ์ก่อ เป็นไม้เด่น ส่วนปัจจัย คุกคามที่เป็นสัตว์ผู้ล่าตามธรรมชาติที่พบได้แก่ เสือดาว เสือไฟ และหมาใน องค์ความรู้จากการศึกษานี้ทำให้ทราบถึงข้อมูลอาณาเขตหากินของกวางผาแต่ละตัวใช้ในการดำรงชีวิต และประเมินศักยภาพของพื้นที่อาศัยในด้านของสังคมพืชที่เป็นแหล่งหาอาหารและหลบภัยของกวางผา รวมถึงภัย คุกคามต่างๆ ที่มีแนวโน้มส่งผลต่อการลดจำนวนลงของกวางผา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้มีความสำคัญ ในการบริหาร จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวประสบความสำเร็จ ความต่อเนื่องและ ยั่งยืน คำสำคัญ : กวางผาพม่า, ขนาดอาณาเขตพื้นที่หากิน, ระยะทางการเคลื่อนที่, ปัจจัยคุกคาม, ลักษณะสังคมพืช


Abstract A study on home range and habitat use of Burmese goral at Chiang Dao Wildlife Sanctuary (CDWS), Chiang Mai province. The study aims to study home range, habitat use, plant community, and treat factors affecting Burmese goral in natural habitats at the CDWS. A total of 3 adult females of Burmese goral were trapped by trapping cages, and each individual was fitted with GPS collars before releasing it back into their natural habitat. GPS collars were set up to locate a satellite signal hourly. All data sets from GPS collars were used to analyses the home range, and locate a study area for study on habitat use and plant community, and treat factors affecting Burmese goral in natural habitats. The study was conducted from January 2021 to September 2022. The results of the study found that the home range of 3 adult female Burmese gorals. It is a living area spread out in the Doi Luang Noi area. Doi Kiew Lom and Doi Sam Phi Nong, with an altitude between 1,000 -1,900 meters above sea level, the slope between 50 - 80 degrees. The condition of the area is steep limestone cliffs interspersed with meadows between the cliffs. Homme range of Burmese gorals was 0.072 km2 - 0.360 km2 (FK at 95%) and 0.077 km2 - 0.404 km2 (MCP at 95%). Territories of Burmese gorals was 0.014 km2 - 0.081 km2 (FK at 50%) and 0.015 km2 - 0.069 km2 (MCP at 50%). Home rage according to seasons: the Burmese goral is the largest in winter, followed by the rainy season and summer, respectively. The movement of the Burmese goral during the day was 0.79 km - 1.36 km per day, and the movement of the Burmese goral in the hour was 0.03 km - 0.06 km per h. The movement of Burmese goral during the day is the largest in summer, followed by the rainy season and winter, respectively. Evergreen forests mainly covered habitat used by Burmese goral with patchy grasslands with Family Fagaceae are dominant tree species. Threats to natural predators of Burmese goral include leopards, fire tigers and jackals. The knowledge of this study revealed the home range of each Burmese goral, the potential of habitat uses and plant community that provide foraging and shelter of Burmese goral, and various threats that tend to affect the decreasing number of Burmese gorals in natural habitat. This information is important for managing the Goral's population recovery project in Chiang Dao Wildlife Sanctuary for success, continuity and sustainability. Keywords: Burmese goral, home rage, Movement distance, threat factor, plant community


กิตติกรรมประกาศ การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและถิ่นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการวิจัยโครงการการฟื้นฟูประชากรกวางผา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เชียงดาว ซึ่งงานวิจัยสำเร็จลุล่วงได้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ประกอบด้วยสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว รวมถึงเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชทุกท่านที่ ร่วมในโครงการนี้ ในการดำเนินการวิจัยนี้ต้องขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง สำหรับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ร่วมสนับสนุน โครงการฟื้นฟูประชากรกวางผา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดยสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ ทำกรงปรับสภาพ งบประมาณในการเก็บข้อมูล และปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (Satellite GPS Collars) พร้อมค่าใช้จ่ายในการรับข้อมูลจากดาวเทียม รวมถึงคุณวรลักษณ์ โกษากุล กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ ช่วยประสานงานกับบริษัท VECTRONIC Aerospace ในการติดต่อและประสานการใช้ข้อมูลจากปลอกคอ สัญญาณดาวเทียม ขอขอบคุณ อาจารย์ ดร. ศศิธร หาสิน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระ บรมราชูปถัมภ์คุณอัมพรพิมล ประยูร และว่าที่ร้อยตรี ณัฐวุฒิ วรรณา ผู้ให้คำปรึกษา คำแนะนำ ช่วยใน วิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนพิจารณาแก้ไขเล่มโครงการ และ สพญ.รัตนา สาริวงศ์จันทร์นายสัตวแพทย์ชำนาญการ พิเศษ ที่มาช่วยตรวจสุขภาพกวางผาในการดำเนินการศึกษาวิจัย


ก สารบัญ เรื่อง หน้า สารบัญ ก สารบัญตาราง ข สารบัญภาพ ค คำนำ 1 วัตถุประสงค์ 3 ขอบเขตการศึกษา 3 แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 5 ตรวจเอกสาร 1 8 ระยะเวลาที่ทำการศึกษา 2 0 อุปกรณ์และวิธีการดำเนินการวิจัย 2 1 อุปกรณ์ วิธีการดำเนินการวิจัย 2 1 2 2 - พื้นที่ทำการศึกษา 22 - วิธีการศึกษา 23 ผลการศึกษา 2 6 วิจารณ์ผลการศึกษา 5 3 สรุปผลการศึกษา 58 เอกสารอ้างอิง 6 4


ข สารบัญตาราง ตารางที่ หน้าที่ 1 แสดงขนาดพื้นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติบนดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 27 2 ระยะทางการเคลื่อนที่ (Movement) ของกวางผาในธรรมชาติบนดอยเชียงดาว เขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 35 3 ความสูงของตำแหน่งที่กวางผาในธรรมชาติปรากฏจากข้อมูลจากปลอกคอสัญญาณ ดาวเทียมบนดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 38 4 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้พื้นที่เหมาะสมสำหรับการเลือกอาศัยของกวางผา ค่า สัดส่วนความสัมพันธ์และความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง 51


ค สารบัญภาพ ภาพที่ หน้าที่ 1 แสดงลักษณะของปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (Satellite GPS Collars) 15 2 แสดงลักษณะรูปแบบของสัญญาณวิทยุที่ส่งจากปลอกคอ สัตว์มีชีวิต (default mode (mode 0)) สัตว์ตาย (mortality mode) และสัญญาณฉุกเฉิน (emergency mode) 16 3 แสดงเครื่องมือที่ใช้ติดตามจากการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม 17 4 แสดงลักษณะของดอยเชียงดาว 22 5 แสดงข้อมูลตำแหน่งการปรากฏของกวางผาในธรรมชาติจากติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม 26 6 แสดงขนาดของพื้นที่อาศัยของกวางผาบนดอยเชียงดาวจากการวิเคราะห์ แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) 28 7 แสดงขนาดของพื้นที่อาศัยของกวางผาบนดอยเชียงดาวจากการวิเคราะห์ แบบ Fixed Kernel Estimators (FK) 29 8 แสดงขนาดพื้นที่หากิน (Home Range) - ของกวางผาเพศเมีย รหัส 43037 30 9 แสดงขนาดพื้นที่หากิน (Home Range) - ของกวางผาเพศเมีย รหัส 43038 31 10 แสดงขนาดพื้นที่หากิน (Home Range) - ของกวางผาเพศเมีย รหัส 43040 32 11 แสดงขนาดของพื้นที่อาศัยของกวางผาบนดอยเชียงดาวตามฤดูกาล 33 12 แสดงลักษณะพื้นที่ที่กวางผาเพศเมีย รหัส 43037 (ผักกาด) มีการเข้าไปอาศัยและหากิน 40 13 แสดงโครงสร้างทางด้านตั้งและการปกคลุมเรือนยอด (Profile diagram) บริเวณแปลง ศึกษาของกวางผาเพศเมีย รหัส 43037 (ผักกาด) 41 14 แสดงลักษณะพื้นที่ทุ่งหญ้าที่กวางผา รหัส 43037 ใช้ประโยชน์ 42 15 แสดงลักษณะพื้นที่ที่กวางผาเพศเมีย รหัส 43038 (บุญรอด) มีการเข้าไปอาศัยและหากิน 43 16 แสดงโครงสร้างทางด้านตั้งและการปกคลุมเรือนยอด (Profile diagram) ของกวางผาเพศ เมีย รหัส 43038 (บุญรอด) 44 17 แสดงลักษณะพื้นที่ทุ่งหญ้าที่กวางผา รหัส 43038 ใช้ประโยชน์ 45 18 แสดงลักษณะพื้นที่ที่กวางผากวางผาเพศผู้ รหัส 43040 (ชมพู) มีการเข้าไปอาศัยและหากิน 46 19 แสดงโครงสร้างทางด้านตั้งและการปกคลุมเรือนยอด (Profile diagram) ของกวางผาเพศ เมีย รหัส 43040 (ชมพู) 47 20 แสดงลักษณะพื้นที่ทุ่งหญ้าที่กวางผา รหัส 43040 ใช้ประโยชน์ 48 21 ภาพของเสือดาว (Panthera pardus (Linnaeus, 1758)) ที่พบบนดอยเชียงดาว 49 22 ภาพของเสือไฟ (Pardofelis temminckii (Vigors & Horsfield, 1827)) พบบนดอยเชียงดาว 50 23 ภาพของหมาใน (Cuon alpinus (Pallas, 1811)) ที่พบบนดอยเชียงดาว 50 24 พื้นที่อาศัยที่เหมาะสมของกวางผา(Habitat suitability) ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 52


1 การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ คำนำ กวางผาในธรรมชาติอาศัยในเทือกเขาในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก ในพื้นที่ที่เป็น ภูเขาสูงทั้งที่เป็นภูเขาหินปูนและภูเขาที่เป็นหน้าผาสูงชันปกคลุมโดยป่าดิบเขา จากการสำรวจของสถานีวิจัย สัตว์ป่าดอยเชียงดาวร่วมกับเจ้าหน้าที่ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 11 แห่ง (กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, 2562) พบกวางผา ทั้งหมด 292 ตัว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่พบกวางผามากที่สุด จำนวน 100 ตัว อาศัยหากินในพื้นที่ของดอยเชียงดาวที่เป็นเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 9.2 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของกวางผาในประเทศไทยที่มีมากที่สุด โครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประชากร ของกวางผาในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติให้มากขึ้น และเพื่อปรับปรุงพันธุ์ของกวางผาในธรรมชาติ โดย แก้ปัญหาเลือดชิดและเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมมากขึ้นโดย มีโครงการนำกวางผาจากกรงเลี้ยงใน สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีสุขภาพสมบูรณ์จำนวน 6 ตัว และได้เตรียมความพร้อม ปรับสภาพให้กับกวางผาในกรงปรับสภาพ เพื่อให้กวางผาคุ้นเคยกับพื้นที่ป่าธรรมชาติแล้วค่อยๆขยายพื้นที่จน มั่นใจว่ากวางผาสามารถหาอาหารและดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ พร้อมทั้งยังเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจโรค การติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียมที่ติดกับกวางผาจำนวน 3 ตัว พร้อมทั้งการใช้กล้องดักถ่ายภาพ (Camera Trap) ติดตามกวางผาเพื่อศึกษาการรอดตาย ติดตามตัว และการปรับตัวเลือกใช้พื้นที่อาศัยภายหลัง การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ผลจากการดำเนินการ พบว่า กวางผามีการปรับตัวเลือกใช้พื้นที่ภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่ง ข้อมูลดังกล่าวจะนำมาใช้ในการเลือกพื้นที่และวิธีการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจากการติดตามกวางผาที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นกวางผาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงทำให้ข้อมูลที่ ได้เป็นลักษณะข้อมูลจากการปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งชุดข้อมูลนี้ยังไม่เพียงพอที่จะ นำมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์กวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติดังนั้นจึงควรมีการศึกษา เพิ่มเติมในด้านถิ่นอาศัยและการแพร่กระจายของกวางผาธรรมชาติ ที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เพื่อให้ทราบ ข้อมูลทุกมิติในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมและทำให้โครงการฟื้นฟูประชากรกวางผา ประสบความสำเร็จ การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เชียงดาว ทำให้ทราบถึงข้อมูลอาณาเขตหากินของกวางผาแต่ละตัวใช้ในการดำรงชีวิต อีกทั้งทำให้ทราบถึง ศักยภาพของพื้นที่อาศัยว่าเพียงพอต่อกวางผาจำนวนเท่าใด ควรมีการปรับปรุงถิ่นที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม


2 อย่างไร และแต่ละพื้นที่มีศักยภาพในการรองรับกวางผาได้จำนวนมากน้อยเพียงใด โดยองค์ความรู้ดังกล่าวนี้มี ความสำคัญ ในการบริหารจัดการโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวประสบ ความสำเร็จความต่อเนื่องและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้วิจัย ได้ดำเนินการ โครงการการศึกษาขนาดอาณา เขตหากินและถิ่นที่อาศัยของกวางผาธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับการ อนุมัติในหลักการจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามหนังสือของกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่ ทส 0909.701 /3275 ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เรื่อง ขออนุมัติโครงการฟื้นฟู ประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในกิจกรรมที่ 2 การศึกษานิเวศวิทยาและ พฤติกรรมกวางผาในธรรมชาติซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผา ในเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมุ่งหวังให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวนี้ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากร และเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของกวางผาทางธรรมชาติ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่ม ประชากรกวางผาในพื้นที่อื่นของประเทศไทยต่อไป


3 วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากิน (Home range) ของกวางผาในธรรมชาติบนดอยเชียงดาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 2. เพื่อศึกษาพื้นที่การใช้ประโยชน์ของกวางผาในธรรมชาติ ตลอดจนสังคมพืชที่กวางผาอาศัยหากินในเขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 3. เพื่อศึกษาปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขอบเขตการศึกษา การศึกษาขนาดอาณาเขตพื้นที่หากิน ถิ่นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติ สังคมพืชที่กวางผาอาศัยหากิน ปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติดำเนินการในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัด เชียงใหม่ โดยกวางผาธรรมชาติที่ใช้สำหรับศึกษาในครั้งนี้ได้จากการดักจับและติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม การติดตามปลอกคอสัญญาณดาวเทียมที่ระบุพิกัดทุกชั่วโมงจนหมดพลังงานและปลดจากคออัตโนมัติการเก็บ ข้อมูลจะทำการดาวน์โหลดข้อมูลจากโปรแกรม GPS Plus ซึ่งในข้อมูลจะแสดงเวลา ตำแหน่ง ความสูง ของ กวางผาเป็นตามเวลาที่กำหนดให้ส่งข้อมูล โดยโปรแกรมที่ใช้จะมาพร้อมตัวปลอกคอสัญญาณดาวเทียม ชุด ข้อมูลดังกล่าวนี้จะนำไปใช้ในการศึกษาขนาดอาณาเขตพื้นที่หากิน และกำหนดพื้นที่เพื่อศึกษาถิ่นที่อาศัยของ กวางผาในธรรมชาติ สังคมพืชที่กวางผาใช้ประโยชน์ และปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ดังนี้ 1. วิเคราะห์การใช้พื้นที่อาณาเขตหากิน (Home Range) ในรอบวัน รอบเดือน และรอบปีของกวางผา ธรรมชาติของกวางผาแต่ละตัว ในการศึกษาครั้งนี้ (1) ขนาดอาณาเขตพื้นที่หากิน (Home range) ของกวางผา ธรรมชาติ วิเคราะห์ข้อมูล โดย วิธีการประเมินขนาดพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า (Home Range Extension (HRE)) แบบ Fixed Kernel Density Estimation และ Minimum Convex Polygons Density Estimation (MCPs) รวมถึงการหาการเคลื่อนที่ของกวางผาในรอบวัน (Goral Movement) และ (2) วิเคราะห์ระยะการ เคลื่อนที่ของกวางผาต่อวัน (Daily movement) และฤดูกาล 2. ศึกษาการใช้พื้นที่อาศัยของ (habitat use) ของกวางผาในธรรมชาติ ตลอดจนสังคมพืชที่กวางผา อาศัยหากินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ การศึกษาพื้นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติ จะดำเนินการในพื้นที่ที่มีความถี่ของการปรากฏของกวางผาจากสัญญาณที่ส่งจากปลอกคอ เลือกพื้นที่วาง แปลงศึกษาสังคมพืชขนาด 20 X 50 เมตรสำหรับศึกษาความหลากชนิดและลักษณะโครงสร้างของต้นไม้ใน พื้นที่ตัวแทน และวางแปลงขนาด 1 X 1 เมตร เพื่อศึกษาความหลากชนิดของหญ้าและไม้พื้นล่างในพื้นที่ทุ่งหญ้า


4 3. ศึกษาปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จะดำเนินการโดยการสำรวจและประเมินปัจจัยคุกคามโดยทางตรงด้วยการเดินเท้าสำรวจใน บริเวณพื้นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติที่ติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม และการประเมินภัยคุกคาม ทางอ้อมโดย การใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อตรวจสอบและติดตามสัตว์ผู้ล่าที่เข้ามาใกล้หรือพบในพื้นที่ อาศัยของกวางผา ร่วมกับชุดข้อมูลภัยคุกคามต่อกวางผา จากสัตว์ผู้ล่า การล่าของมนุษย์ และภัยธรรมชาติ จากการปฏิบัติงานโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการลาดตระเวน ในพื้นที่อนุรักษ์สำรวจสัตว์ป่า (SMART Patrol) วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อพื้นที่การใช้ประโยชน์กวางผาร่วมกับสัตว์ผู้ล่า ด้วยโปรแกรม สำเร็จรูป MaxEnt software version 3.1.0


5 แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 1. ความสำคัญและข้อมูลทั่วไปของกวางผา กวางผาพม่า (Burmese goral)ชื่อวิทยาศาสตร์ Nemorhaedus evansi (Lydekker, 1905)กวางผาพม่า เดิมเป็นชนิดเดียวกับ กวางผาจีน (Naemorhedus griseus Milne-Edwards, 1871) แต่ด้วยลักษณะ ภายนอกที่แตกต่างและ DNA ที่มีงานวิจัยแยกเป็นชนิดใหม่ตาม Petr Hrabina, (2015) ซึ่งกวางผามีการ กระจายค่อนข้างกว้างกว่า 1.1 ลักษณะทั่วไป กวางผาพม่ามีลักษณะเป็นสัตว์ในกลุ่มแพะ แต่ไม่มีเครา กวางผามีเขาแบบไม่ผลัด (Horn) มีเขา ทั้งสองเพศแต่มีลักษณะของเขาแตกต่างกันระหว่างเพศ โดยเขาของเพศผู้จะยาวกว่าเพศเมีย โดยเขาของเพศผู้ จะมีลักษณะฐานจะกว้างแล้วค่อยสอบแหลมไปทางปลายมีลักษณะเป็นรูปกรวย ส่วนเพศเมียจะเรียวยาวโค้ง ลง กวางผาพม่าจะหางสั้นสีขนหางจะออกสีน้ำตาลเทาส่วนสีขนด้านล่างของหางจะสีอ่อนกว่า ลักษณะของสีขน โดยทั่วไปสีขนของกวางผาพม่าจะมีสีเทาดำ บนสันคอถึงกลางหลังจะมีสีเข้ม ออกดำ แต่ในแต่ฤดูกาลสีของกวางผาพม่ามีความแตกต่างระหว่างฤดู โดยในช่วงฤดูร้อนสีขนจะออกสีเทาอ่อน มีขนสันหลังสีน้ำตาลเข้มออกดำ ส่วนบริเวณแก้มและส่วนกลางท้องจะสีเทาอ่อนจนเกือบขาวกว่าขนด้านข้าง และด้านบนของลำตัว ตรงบริเวณในคอจะมีสีขาวเป็นแถบกว้างประมาณ 3 ใน 4 ของความยาวของคอลักษณะ ของสีขนจะเรียบเสมอกัน ส่วนบริเวณปลายริมฝีปากจะมีสีน้ำตาลอ่อนออกครีมแต่ริมผีปากที่เป็นส่วนเนื้อจะมี สีดำ ส่วนสันหน้าผากที่ต่อจากปากถึงเขาทั้งสองข้างจะมีสีดำ โดยส่วนใหญ่บริเวณหน้าผากจะมีแถบสีน้ำตาล ออกแดงเป็นแถบจากริมฝีปากผ่านกระหม่อม แต่สีจะตัดกับสีของแก้มทั้งสองข้างที่ออกจางกว่าชัดเจน ขนส่วน ลำตัวด้านข้างจะมีสีน้ำตาลจนถึงบริเวณข้อเข่า แต่จากข้อเข่าลงไปจะมีสีน้ำตาลอ่อนออกครีมจนมองเห็นเป็น ลักษณะคล้ายถุงเท้าชัดเจนทั้งสี่ขา ส่วนในฤดูหนาวสีขนของกวางผาพม่าจะเข้มขึ้นออกเป็นสีเทาออกดำ สันหน้าผากจะออกเทาปนดำ แก้มและคอสีเทา สำหรับสีสันของกวางผาตัวไม่เต็มวัยจะมีสีเทาอ่อน เขาจะยาว ออกมาเป็นตุ่มเขาสีดำ สีขนด้านท้องจะสีอ่อนกว่า สีขนบริเวณขาสีเทา และบริเวณสีใต้หัวเข่าลงไปถึงเท้าจะมี สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีครีม กวางผาพม่าเป็นสัตว์กีบที่มีรูปร่างค่อนข้างสันทัดร่างกายดูสมส่วนอีกทั้งสรีระออกแบบให้เหมาะ กับการกระโดดและปีนป่ายได้ดีส่วนของขาดูแข็งแรง โดยกวางผาจะมีเขาทั้ง 2 เพศ ตัวโตเต็มวัยเขาจะยื่นยาว ออกมาทางด้านหลังอย่างชัดเจน โดยเขาของกวางผาจะมีลักษณะเป็นรูปกรวยยาวแหลมตรงกลางกลวงแต่จะ ไม่มีผลัดเขาทิ้ง จากลักษณะรูปร่างของส่วนเขานี้ในช่วงที่กวางผาโตเต็มวัยสามารถพอที่จะบ่งบอกเพศกวางผา ได้โดยเพศผู้จะมีความยาวของเขายาวกว่าเพศเมีย เขาของเพศผู้บริเวณส่วนฐานจะมีรอยย่นซ้อนกันแต่ไม่ สมมาตรอย่างเห็นได้ชัดเจนส่วนเขาจะยาวโค้งไปทางด้านหลังแล้วส่วนปลายของเขาจะลู่ออกจากกันอย่างเห็น ได้ชัดส่วนของเพศเมียนั้นส่วนเขาจะยาวไปด้านหลังเหมือนกันแต่เขาจะโค้งไปตรงขนานกันทั้งสองข้างไม่เอน หรือลู่ออกจากกันเหมือนกับตัวผู้


6 ส่วนลักษณะของกะโหลกของกวางผาเมื่อเทียบกับเลียงผาพบว่ากะโหลกของกวางผานั้นจะมี ลักษณะสั้นป้อม และกะโหลกดูสูงกว่าส่วนของเลียงผาจะมีลักษณะยาวแคบ และเตี้ยไปตามรูปร่างกะโหลก กวางผาจะมีปลายจมูกแหลม และตรงกลางป่องออกเนื่องจากเบ้าตาจะอยู่สูง และนูนยื่นออกมาจนดูไม่เห็น กระดูกส่วนแก้มส่วนสูตรฟันนั้นกวางผามีสูตรฟันคล้ายกับของเลียงผาคือ 0/3,0/1,3/3,3/3 ×2 =32 ซี่แต่เป็น จุด premolar สองซี่แรกของกวางผาจะเรียบมากกว่าของเลียงผา (รัตนวัฒน์ , 2540) 1.2 การกระจายของกวางผาพม่า กวางผาพม่ากระจายบริเวณตั้งแต่ตะวันออกของอินเดีย ได้แก่ รัฐมณีปุระ รัฐอรุณาประเทศ อินเดีย กระจายมาทางทิศตะวันออกของพม่า จนถึงทางด้านภาคเหนือฝั่งตะวันตกของไทยในจังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และจังหวัดตาก (Chaiyarat et al.1999) ส่วนการกระจายทางตอนเหนือกวางผาพม่า กระจายทางตอนใต้ของประเทศจีนในมณฑลยูนาน 2. ระบบนิเวศป่าไม้ (Forest Ecosystem) ระบบนิเวศ (Ecosystem) โดยทั่วไปหมายถึง ประชาคมสิ่งมีชีวิต (พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก) ที่ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสภาวะแวดล้อม โดยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิตด้วยกันและสิ่งแวดล้อมดังนั้น ความหมายของระบบนิเวศป่าไม้ (Forest ecosystem) จึงหมายถึงแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ป่า ที่มาอาศัยอยู่ร่วมกันและก่อให้เกิดความสัมพันธ์ต่อสิ่งมีชีวิตด้วยกันเองในหลายรูปแบบ มีการส่งผ่านพลังงาน ระหว่างระบบหรือภายในระบบ กล่าวได้ว่า พื้นที่คุ้มครอง (protected areas) นั้นจัดเป็นระบบนิเวศป่าไม้ ระบบหนึ่ง การศึกษาระบบนิเวศป่าไม้จะพิจารณาถึงระบบนิเวศป่าบก (terrestrial ecosystem) ซึ่งในระบบ นิเวศป่าไม้ประกอบด้วยระบบนิเวศย่อยที่สำคัญ คือ ระบบนิเวศย่อยป่าผลัดใบ ( deciduous forest ecosystem) และระบบนิเวศย่อยป่าไม่ผลัดใบ(evergreen forest ecosystem) โดยที่ระบบนิเวศย่อย ป่าผลัดใบ ประกอบด้วยชนิดป่าที่สำคัญ 4 ชนิด คือ ป่าผสมผลัดใบ (mixed deciduous forest) ป่าเต็งรัง (deciduous dipterocarp forest) ป่าทุ่ง (savannah forest) และทุ่งหญ้า (grassland) ส่วนระบบนิเวศย่อย ป่าไม่ผลัดใบ ประกอบด้วยป่าบกที่สำคัญ 5 ชนิด คือ ป่าดิบชื้น (moist evergreen forest) ป่าดิบแล้ง (dry evergreen forest) ป่าดิบเขา (montane evergreen forest) ป่าสนเขา (pine forest) และป่าชายหาด (beach forest) (ดอกรัก และอุทิศ, 2552) ซึ่งลักษณะทางนิเวศของแต่ละชนิดป่าในแต่ละระบบนิเวศย่อย จะมีลักษณะที่กำหนดโดยปัจจัยที่เกี่ยวกับปัจจัยทางกายภาพ เช่น อากาศ ปริมาณน้ำฝน ดิน ความสูงจาก ระดับน้ำทะเล และปัจจัยด้านชีวภาพที่สำคัญ คือ โครงสร้างและองค์ประกอบพรรณพืช (forest structure and species composition) ระบบนิเวศป่าไม้เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดในโลก และเป็นปัจจัยหลักที่ เกื้อกูลการดำรงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่า ทั้งยังช่วยควบคุมสภาพอากาศให้เหมาะสม เนื่องจากเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอน การที่มนุษย์ตัดไม้ ทำลายป่า ทำการแบ่งป่าเป็นผืนเล็กผืนน้อย และทำให้ป่าเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความ


7 หลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สูงสุด 3. ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า (Wildlife Habitat) สัตว์ป่ากับถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากขาดถิ่นที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าก็มี ชีวิตอยู่ไม่ได้ การจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้สัตว์ป่าได้อาศัยอยู่อย่าง ปลอดภัยและมีปัจจัยสี่ สำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ปัจจัยการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าประกอบด้วย อาหาร (Food) ที่หลบภัย (Cover) น้ำ (Water) และ พื้นที่เพื่อกิจกรรม (Living Space) โดย ทวี หนูทอง, (2525) ได้บรรยายรายละเอียดดังนี้ 3.1 อาหาร (Food) อาหารเป็นปัจจัยแรกที่สัตว์ป่าต้องการ ถ้าหากสัตว์ป่าได้รับอาหารที่สมบูรณ์สัตว์ป่าก็จะแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อัตราการขยายพันธุ์ก็จะเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราต้องพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาหารมีดังนี้ 1. แร่ธาตุ สัตว์ป่าทุกชนิดต้องการอาหารที่มีแร่ธาตุเพื่อนำไปสร้างความแข็งแรงของร่างกาย โดย ทั่ว ๆ ไปสัตว์ป่าต้องการสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย อันประกอบด้วยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตจะเปลี่ยนไป เป็นน้ำตาลจากน้ำตาลก็จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนมีการศึกษาพบว่ากวางป่า ต้องการใช้พลังงาน ความร้อน 6,000-10,000 แคลอรี่ต่อวัน ความต้องการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของสัตว์ป่า นั้น สัตว์ป่าที่กินเนื้อเป็นอาหาร มักจะได้รับอาหารที่มีแร่ธาตุจากสัตว์อื่น ๆ ที่กินพืชเป็นอาหารแทน พวกสัตว์กินเนื้อไม่สามารถล่าสัตว์กินพืชได้ สัตว์จะหาพวกพืชที่มีอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตสะสมอยู่มากิน เป็นอาหารแทน สัตว์กินพืชเป็นอาหารคือพวกที่กินเมล็ดผลนั้นจะได้อาหารที่พืชสะสมไว้ในเมล็ดเพื่อการ ขยายพันธุ์ของพืช ซึ่งประกอบด้วยอาหารที่มีคุณค่ามาก ซึ่งมีการกล่าวกันว่าสัตว์ป่าที่กินเมล็ดพืชเป็นอาหารมี การทำลายที่อยู่อาศัยน้อยกว่าพวกที่กินใบ กิ่ง ก้านของพืช เป็นอาหาร ทั้งนี้เพราะพันธุ์ไม้ส่วนมากจะมีการ ออกดอกออกผลซึ่งใช้เมล็ดพืชในการขยายพันธุ์ สัตว์ป่าที่กินเมล็ดพืชก็จะกินเพียงส่วนหนึ่ง ที่เหลือจะตกลงสู่ พื้นดินและงอกเพื่อการขยายพันธุ์ต่อไป สัตว์ป่าที่กินพวกหญ้าหรือใบไม้เป็นสัตว์ที่มีมากกว่าพวกอื่น ซึ่งมีความ ต้องการกินหญ้าหรือใบไม้เป็นอาหารถ้าหากว่าอาหารของมันมีไม่เพียงพอ สัตว์ก็จะขาดอาหารสัตว์ได้รับความ อดอยากบางครั้งก็ได้รับอาหารที่มีคุณภาพไม่ดีนัก สัตว์ป่าที่กินยอดอ่อนใบไม้ของพันธุ์ไม้สามารถที่จะได้รับ โปรตีนและแร่ธาตุอาหารมากพอสมควรซึ่งพืชย่อมจะสะสมอาหารไว้ในส่วนอ่อนของพืชเพื่อการเจริญเติบโต 2. การเปลี่ยนแปลงอาหารตามฤดูกาล แร่ธาตุที่มีอยู่ในพืชมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในฤดูฝนเป็นฤดูของการเจริญเติบโตของพืชจะมีอาหารพวกแร่ธาตุสูง หลังจากที่พืชออกดอกออกผลแล้ว อาหารแร่ธาตุที่สะสมในใบและกิ่งจะลดลง ซึ่งส่วนมากจะเก็บไว้ในเมล็ดที่ผลิตได้ 3. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในท้องที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร ในท้องที่นั้นจะมีดินที่ดีทำให้พืชพรรณมีการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้เร็ว ความอุดมสมบูรณ์ของดินส่งผล ต่อคุณภาพของอาหารและในปริมาณที่เพียงพอต่อสัตว์ป่า ตลอดจนความแข็งแรงของสัตว์ป่ามีความสัมพันธ์


8 กันอย่างใกล้ชิดในท้องที่ป่าใดที่มีความอุดมสมบูรณ์มีอาหารแร่ธาตุของพืชมากย่อมมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก ทั้งนี้ พืชจะได้แร่ธาตุอาหารในดินเพื่อการเจริญเติบโต 4. การทำลายพืชและอาหารของสัตว์ป่า ไฟป่า การแผ้วถางป่า และการทำลายป่าไม้ จะมี ผลกระทบต่อการเพิ่มผลผลิตของพืชอาหารสัตว์ป่า สัตว์ป่าแต่ละชนิดมีความต้องการที่อยู่อาศัยในแต่ละชนิด ของป่าที่ไม่เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราทำลายชนิดป่านั้นให้หมดไปสัตว์ป่าที่เคยอาศัยอยู่ในสภาพป่านั้นก็จะอด อาหารไม่มีที่อาศัยจำนวนของสัตว์ป่าก็จะลดน้อยลงหรือตายไปในที่สุด การทำลายป่านั้นอาหารแร่ธาตุ ต้นไม้ หญ้าหรืออาหารสัตว์ป่าก็จะหมดไปเพราะแร่ธาตุในดินไม่มีการหมุนเวียน ในฤดูฝนฝนจะตกชะล้างผิวหน้าดิน ให้ไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าในฤดูแล้งดินไม่สามารถจะเก็บความชื้นไว้ได้ พืชก็จะไม่เจริญเติบโต ซึ่งอาจจะเหี่ยวแห้งตาย ไปในที่สุด 5. การปรับปรุงแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ในการจัดการสัตว์ป่าพยายามที่ จะเพิ่มขึ้นหรือคงไว้ซึ่ง จำนวนสัตว์ป่าแต่ละชนิดให้มีความสมดุลกับแหล่งน้ำแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยในการปรับปรุงแหล่งอาหาร สัตว์ป่านั้นสามารถที่จะกระทำได้คือ การรักษาสภาพป่าให้คงเดิมมิให้ถูกทำลายไป และการปลูกต้นไม้อาหาร สัตว์ป่าเพิ่มเติมซึ่งวิธีการทั้งสองวิธีมีความจำเป็นต่องานอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นอย่างมาก 3.2 ที่หลบภัย (Cover) ที่หลบภัย หมายถึง พื้นที่ที่สัตว์ป่าใช้อาศัยและหลบภัย เช่น อาศัยเพื่อวางไข่ ออกลูกเลี้ยงลูก หรือหลบภัยจากศัตรูทั้งหลาย โดยปกติธรรมชาติของสัตว์ป่าที่อาศัยหากินและที่หลบภัยประกอบด้วยสภาพป่า หลายชนิดหรือมีพันธุ์ไม้หลายชนิดเช่น กวางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็จะอาศัยกินอยู่ในทุ่งหญ้าและ จะไปอาศัยหลบภัยอยู่ในบริเวณที่เป็นป่า ซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างทุ่งหญ้ากับป่าไม้นี้เรียกว่า Ecotone หรือ Edge effect จำนวนอาหารของสัตว์ป่าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่หลบภัยของสัตว์ป่าทุกฤดูกาล ในบางฤดูกาลที่ หลบภัยก็จะอำนวยผลประโยชน์ให้แก่สัตว์ป่าทางอาหารเช่น ดอกไม้ ผลไม้ ซึ่งสัตว์ป่าก็ใช้อาหารเหล่านี้ได้โดย ไม่ต้องออกไปหากินไกล ๆ ความเปลี่ยนแปลงของที่หลบภัยขึ้นอยู่กับลักษณะของดินฟ้าอากาศเช่นกัน เช่น บริเวณที่เคยอยู่เกิดสภาวะแห้งแล้งต้นไม้ผลัดใบหมดสัตว์ก็จะอยู่ไม่ได้ ไม่เป็นการปลอดภัยจากศัตรูซึ่ง สามารถที่จะมองเห็นได้ สัตว์ป่าก็จะหนีไปอยู่ในท้องที่อื่น ในการปรับปรุงที่หลบภัยของสัตว์ป่า ในบางครั้งก็จะดำเนินการก่อสร้างขึ้นเช่น การจัดทำซุ้ม ทำ รัง ทำโพรง เป็นต้น แต่วิธีการเหล่านี้จะสามารถดำเนินการได้เพียงใดขึ้นอยู่กับธรรมชาติว่าจะต้องพิจารณา ช่วยเหลืออย่างไร นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงเวลา งบประมาณและอัตรากำลัง ตลอดจนผลประโยชน์ที่ได้รับ 3.3 น้ำ (Water) สัตว์ทุกชนิดมีความต้องการน้ำเพื่อการหล่อเลี้ยงร่างกาย ในบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามักจะมี แหล่งน้ำที่ถาวรมีน้ำตลอดปี สัตว์ป่าบางชนิดพอถึงฤดูแล้งก็อพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำพื้นที่นั้นจะมีสัตว์เป็น จำนวนมากและเป็นการแก่งแย่งพื้นที่อยู่อาศัย ในการปรับปรุงแหล่งน้ำมีความจำเป็นต้องจัดแหล่งน้ำให้ เพียงพอกับจำนวนสัตว์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ของท้องที่ ทั้งนี้เพื่อให้สัตว์ป่ามีจำนวนกระจัดกระจายเท่า ๆ กัน ไม่มีจำนวนของสัตว์ที่หนาแน่นเพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง


9 3.4 พื้นที่เพื่อกิจกรรม (Living Space) จำนวนของพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีความเกี่ยวพันกับจำนวน ประชากรของสัตว์ป่า สภาพของท้องที่ใดมีป่าหลายชนิดรวมอยู่ด้วย มักจะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากกว่าท้องที่ป่าที่มีป่าเพียงชนิดเดียว ในท้องที่ป่าที่มีป่าหลายชนิดเป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากกว่าบริเวณส่วนอื่นเพราะสัตว์ป่าได้อาศัยหากิน ในบริเวณพื้นที่ทั้งสองชนิดของป่า ในการที่มีป่าแต่ละชนิดขึ้นอยู่กระจัดกระจายขึ้นอยู่กับปัจจัยการควบคุม คือ ดิน ภูมิอากาศ ระดับความสูง แสงแดด เป็นต้น จำนวนประชากรของสัตว์ป่าขึ้นอยู่กับสภาพป่าไม้ที่มีอยู่มี แหล่งน้ำแหล่งอาหารมากพอในการอนุรักษ์นั้น พยายามคุ้มครองสภาพป่าไม้ให้คงไว้ตามธรรมชาติไม่เข้าไป รบกวนโดยการแผ้วถางป่า เผาป่า ไม่ทำลายพืชธรรมชาติ ป้องกันไฟป่า และการล่าสัตว์ป่า นอกจากนั้น พยายามที่จะปลูกพืชอาหารสัตว์ป่าเพิ่มเติมคือ ทำดินโป่ง จัดแหล่งน้ำให้มีพอสมควร เช่นนี้ย่อมรักษาจำนวน ประชากรของสัตว์ป่าให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย สัตว์ป่าได้มีอาหารกิน ที่หลบภัย สามารถที่จะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ไปได้เรื่อย ๆ 4. ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 4.1 ความสำคัญของถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า สัตว์ป่าแต่ละชนิดไม่ได้ดำรงชีพอยู่โดยลำพัง แต่สัตว์ทุกชนิดต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ จาก ถิ่นที่อาศัยในการดำรงชีพ ความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยจะเป็นประโยชน์ต่อ การศึกษาติดตามและสามารถประเมินประชากรได้ถูกต้องตามความหนาแน่นทางนิเวศ (Ecological density) ตามสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยที่สัตว์ป่าใช้ประโยชน์จริง การสำรวจถิ่นที่อาศัยสัตว์ป่า เพื่อทราบและเข้าใจลักษณะปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำรง ชีพที่อาศัย แหล่งน้ำ อาหาร ดินโป่ง โดยเฉพาะปริมาณน้ำ และอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพิจารณา ความสามารถของพื้นที่ในการรองรับประชากร (Carrying capacity) การศึกษานิเวศวิทยาเฉพาะตัว (Ecological of individual) เพื่อทราบรายละเอียดการใช้พื้นที่ อาศัยลักษณะพื้นที่ ขนาด และปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดสามารถดำเนินการโดยจำแนกและสังเกต สัตว์ป่าตัวนั้น ๆ โดยตรง หรือดักจับและใช้การติดวิทยุหรืออุปกรณ์ GPS (Radio or GPS transmitter) ที่ตัว สัตว์ป่า เพื่อรับข้อมูลตำแหน่งและการเคลื่อนที่ ปัจจัยที่คาดว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะจากกิจกรรม ของมนุษย์ และโครงการพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปขนาดเท่าใด ระบบนิเวศดั้งเดิมสูญหายหรือ เปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น การทำลายป่าเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร การล่าสัตว์ป่า การเปลี่ยนแปลงทางน้ำ การสร้าง ฝายเขื่อน ถนน แนวสายไฟฟ้าแรงสูง และอื่น ๆ นับเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการจัดการถิ่นที่อาศัย ของสัตว์ป่าขนาดประชากร และกิจกรรมของมนุษย์ทั้งในพื้นที่และรอบพื้นที่ จำเป็นต้องทราบข้อมูลพื้นฐานใน ส่วนนี้ประกอบการพิจารณา (นริศ, 2543)


10 พื้นที่อาศัย (Home Range) คือ อาณาเขตพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าเพื่อใช้ในการดำรงชีพ หากิน และดำเนินกิจกรรมต่างๆในสภาพตามความต้องการพื้นฐานของสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่ เป็นมาแต่กำเนิด (นริศ,2543) อาณาเขตป้องกัน (Territory) คือ พื้นที่หากินมีการป้องกันมิให้สัตว์อื่นเข้ามาใช้ประโยชน์ อาณาเขต ป้องกันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่อาศัย (Home Range) ของสัตว์ป่าชนิดนั้นๆ (นริศ,2543) 4.2 การจัดการถิ่นที่อยู่อาศัย 4.2.1 การปรับปรุงถิ่นที่อาศัย Shaw (1985) กล่าวว่างานด้านการจัดการสัตว์ป่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการ จัดการถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่าการปรับปรุงถิ่นที่อาศัยและสิ่งแวดล้อมให้ความเหมาะสมต่อการดำรงชีพ (Basic need) ของสัตว์ป่าแต่ละชนิดด้วยการพิจารณาเพิ่มปัจจัยดังกล่าวนับว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่ให้มีขีด ความสามารถรองรับประชากรสัตว์ดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับความรู้เรื่อง Carrying capacity การ เข้าใจถึงความต้องการทางนิเวศในสัตว์ป่าแต่ละชนิดเพื่อการจัดการถิ่นที่อาศัยง่ายกว่าการเข้าจัดการประชากร สัตว์ป่าชนิดนั้นโดยตรง แต่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรในทิศทางที่เพิ่มขึ้นหากดำเนินการเพิ่ม ปัจจัยแวดล้อมที่สอดคล้องต่อการดำรงชีพของสัตว์ป่าเป้าหมาย และในทำนองเดียวกันหากลดปัจจัยพื้นฐานที่ จำเป็นต่อการดำรงชีพของสัตว์บางชนิดลง ลดแหล่งอาหาร ที่หลบภัยและอื่นๆ เพื่อตัดความสมบูรณ์ในการ ดำรงชีพและขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นพาหะของโรค สัตว์ป่าที่ทำลายพืชผลทางเกษตร และปศุสัตว์ ที่ก่อ ผลกระทบเชิงลบต่อมนุษย์ เป็นแนวทางในการควบคุมการเพิ่มประชากรสัตว์ป่าบางชนิดที่เราไม่ต้องการให้ เพิ่มจำนวนขึ้น 4.2.2 การพัฒนาถิ่นที่อาศัย และการทดแทนทางนิเวศ สัตว์ป่ามีความต้องการใช้พื้นที่อาศัยในสภาพที่แตกต่างกัน Dasmann (1964) และชุมพล (2534) แบ่งประเภทของสัตว์ป่าตามสภาพถิ่นที่อาศัยธรรมชาติ และสภาพการทดแทน ออกเป็น 3 ประเภทใน กรณีนี้ได้ยกตัวอย่างสัตว์ป่าที่พบในประเทศไทยเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ ได้แก่ (1) สัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตามสภาพธรรมชาติดั้งเดิม (Climax or Wildernese species) เช่น แรด กระซู่ สมเสร็จ เสือโคร่ง ชะนี ค่าง นกเงือก ไก่ฟ้าชนิดต่างๆ การเปลี่ยนแปลงหรือการสูญหายไปของ สภาพถิ่นอาศัยตามธรรมชาติดั้งเดิมมีผลต่อการสูญหายไปของชนิดสัตว์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยใช้พื้นที่ถิ่นอาศัย ดังกล่าว (2) สัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในขั้นตอนการทดแทนเพียงส่วนน้อย (Midsuccession species) เช่น กวางป่า กระทิง วัวแดง หมูป่า และสัตว์จำพวกชะมดอีเห็นบางชนิด การเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อาศัยเพียง เล็กน้อยก่อให้เกิดผลดีในแง่ของการเพิ่มแหล่งอาหารธรรมชาติ แต่ถ้าอยู่ในระดับที่มากขึ้นเกินไปจะส่งผล กระทบด้านลบ (3) สัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในขั้นตอนการทดแทนค่อนข้างมาก (Low succession species) ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่มีการปรับตัวดี อาศัยในพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับมนุษย์ มีความทนทานต่อการล่า (hunting


11 resistance) เช่น พังพอน หนูนา กระรอกบางชนิด กระแต นกเขาใหญ่ นกเอี้ยงดำ นกอี้ยงสาลิกา เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติและสภาพการทดแทนไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เช่น คงสภาพเดิม การทดแทนไปข้างหน้า และการทดแทนแบบย้อนกลับย่อมมีผลต่อการคงอยู่ การหายไป และ การเพิ่มเข้ามาของชนิดสัตว์ป่าที่สัมพันธ์กับสภาพความเหมาะสมของสังคมพืชคลุมดินในพื้นที่อาศัยและ การ ทดแทนนิเวศวิทยาในเวลานั้นๆ แนวทางการจัดการพื้นที่ให้มีขั้นตอนของการทดแทนของสังคมพืชระยะต่างๆ เป็น ประโยชน์ในการเพิ่มความหลากหลายของถิ่นที่อาศัยเฉพาะ (Specific habitat or niches diversity) มากกว่าการมีถิ่นอาศัยลักษณะเดียวกัน หรือเนื้อเดียวกันเป็นผืนใหญ่ (large homogeneous habitat) และ ดีกว่าการปล่อยให้พื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมโทรมลงอันเนื่องจาก การทำลายป่าหรือ เปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไปเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินรูปแบบอื่นๆ แนวทางที่สำคัญมีทั้ง การควบคุมและจัดการให้ ถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่ารวม 3 แนวทาง ได้แก่ (1) การทดแทนของสังคมแบบไปข้างหน้า (Advancing succession) โดยการปลูกพืชเสริม ในบริเวณที่โล่ง ใช้วิธีป้องกันการใช้ประโยชน์ของสัตว์เลี้ยง และใช้วิธีการป้องกันไฟป่า เพื่อให้สังคมพืชพัฒนา ไปข้างหน้าเพิ่มความรกทึบ เช่น กรณีต้องการฟื้นถิ่นอาศัยบริเวณทุ่งหญ้าที่มีมากเกินความจำเป็นให้กลับเป็น ดงไม้พุ่ม และเป็นป่าในที่สุด เช่น บริเวณทุ่งหญ้าหลายแห่งในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งไม่ได้มีการจัดการ ด้วยการเผาแบบควบคุม จึงเปิดโอกาสให้ไม้ใบกว้างแผ่กระจายรุกเข้าสู่ทุ่งหญ้าสาบเสือได้เข้าครอบครองใน พื้นที่ทุ่งหญ้าคา และติดตามด้วยขบวนการทดแทนที่ตามมาอีกขั้นเมื่อพื้นที่มีความชื้น และพื้นดินมีการพัฒนา กล่าวคือ โชนผี เอ็นอ้า ติ้ว และพุ่มหนามต่างๆ กระจายเข้ามาขึ้นปกคลุมในพื้นที่ ส่วนในบริเวณที่เปิดโล่งซึ่งมี ความชื้นสูง กระทุ่ม และลำพูป่าขึ้นปกคลุม สุระ (2530) ศึกษาลักษณะดินและการทดแทนในบริเวณทุ่งหญ้า ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และจากข้อมูลของสาระ (2536) พบว่าพื้นที่ทุ่งหญ้าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หายไปประมาณ 106 ไร่ต่อปี หรือกลายสภาพกลับเป็นป่ารุ่นสอง (Secondary forest) การปลูกพืชเสริมในพื้นที่ การป้องกันไฟป่าในบริเวณทุ่งหญ้า และสังคมในชั้นการทดแทน (Seral stages of succession) ช่วยเสริมให้สังคมพืชพัฒนาไปข้างหน้า สังคมป่าดิบเขา (Lower mountain forest Hill evergreen forest) ซึ่งเป็นสังคมพืชคลุมดินที่พบในระดับสูงประมาณ 1,000 เมตรจาก ระดับน้ำทะเล นับว่าค่อนข้างง่ายต่อการถูกทำลายจากไฟป่าที่ไหม้ในสังคมป่าผลัดใบและรุกรานมาสู่ป่าดิบเขา การป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ลามสู่สังคมพืชประเภทนี้ด้วยการสร้างแนวกันไฟ และชิงเผาขจัดปริมาณเชื้อเพลิงบน พื้นป่าประเภทอื่น ๆ ข้างเคียงให้ลดลง เป็นแนวทางหนึ่งที่จะรักษาสังคมป่าดิบเขาไว้ได้ (2) การทดแทนของสังคมแบบย้อนกลับ (Setting back succession) ในธรรมชาติมีกลไก ที่ช่วยให้เกิดการทดแทนแบบย้อนกลับเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น การเกิดวาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหลเลื่อน การโค่นล้มของไม้ขนาดใหญ่ในป่าก่อให้เกิดที่โล่ง (Gap) ขนาดต่าง ๆ ในป่า นอกจากนั้นจำนวนสัตว์ป่า รวมทั้ง ระยะเวลา และความยาวนานในการใช้ประโยชน์พื้นที่ธรรมชาติของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น การใช้พื้นที่ป่า สาวันน่า (Savana) ของช้างแอฟริกา กรณีที่ความหนาแน่นของช้างต่อหน่วยพื้นที่สูงเกินไป ในช่วงฤดูแล้งพืช


12 พรรณถูกฉีกเปลือกใช้เป็นอาหาร และการเหยียบย่ำที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การตายของไม้ในสกุล Acacia และอื่นๆ สังคมพัฒนาย้อนกลับกลายสภาพเป็นทุ่งโล่งมีหญ้าขึ้นปกคลุมในช่วงฤดูฝน การจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยสามารถดำเนินการโดยการตัดฟัน การถางเปิดพื้นที่ และการใช้ไฟ เผาในรูปแบบที่มีการควบคุม ไฟช่วยรักษาสภาพทุ่งหญ้า และป่าผลัดใบ ให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนไปเป็นป่าดงดิบทั้งที่ ขึ้นอยู่กับรูปแบบความต้องการพื้นฐานในสัตว์ป่าชนิดที่เราต้องการจัดการ ไฟเป็นปัจจัยทางนิเวศที่เป็นทั้ง ประโยชน์และโทษหากเข้าใจคุณค่าและบทบาทของไฟต่อระบบนิเวศ จากนิยามของไฟป่า เป็นไฟที่เกิดขึ้นและ ลุกลามไปในธรรมชาติจนยากแก่การควบคุม นักวิชาการบางท่านมองว่าไฟป่า (Wild fire) ไม่ได้เป็นปัจจัย ธรรมชาติแต่เกิดจากมนุษย์เป็นต้นเหตุ ลักษณะของสังคมพืชที่ปกคลุมพื้นผิวโลกจากป่าสนจนถึงป่าเขตร้อน ล้วนเกี่ยวข้องกับไฟป่าทั้งสิ้น ไฟป่าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากมนุษย์ ฟ้าผ่า สะเก็ดไฟจากภูเขาไฟระเบิด และการไหลเลื่อนของหินขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดสะเก็ดไฟ ระบบนิเวศของสังคมพืชประเภทที่ต้องพึ่งพาไฟ (Fire prone ecosystem) คงสภาพอยู่ได้ จำเป็นต้องมีไฟเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าทุ่ง ป่าพุ่มแคระแกน และป่าชาร์พาราล (Charparral) หรือสังคมพืชสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน กรณีที่ขาดไฟสังคมจะพัฒนาต่อไปข้างหน้าเป็น สังคมรูปแบบอื่น พืชพรรณในสังคมดังกล่าวมีสภาพที่พัฒนาตัวเองทนทานความแห้งแล้งและไฟได้เป็นอย่างดี เช่น การผลัดทิ้งใบในช่วงฤดูแล้ง มีการพัฒนาเปลือกหนาทนไฟ มีตาอยู่ใต้ดิน (Lignotuber) ลำต้นและเหง้า อยู่ใต้ดิน เมล็ดมีเปลือกแข็งแรงหนาหุ้ม เปลือกเมล็ดแตกเพราะความร้อน การใช้ไฟแบบควบคุม (Controlled fire) ในพื้นที่ทุ่งหญ้าเป็นเครื่องมือที่สะดวกและประหยัดในทางเศรษฐกิจ ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นอกจาก การใช้เผา ทุ่งหญ้าโดยกำหนดพื้นที่แบบควบคุมในช่วงเวลาก่อนฤดูไฟป่าแล้ว ปัจจุบันยังใช้เครื่องตัดหญ้าช่วย ในการรักษาแหล่งทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์ป่า (3) การทดแทนของสังคมแบบแทนที่เป็นวงรอบ (Cyclic replacement succession) สังคมพืชริมน้ำบนลานทราย พื้นที่ชานห้วย ที่ราบริมอ่างเก็บน้ำ หรือสังคมพืชบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากการ เปลี่ยนแปลงของระดับน้ำขึ้นลง (Drawdown area) เช่น การเพิ่มของน้ำในลำห้วย อ่างเก็บน้ำ เป็นสังคมพืช ในชั้นการทดแทนขนาดเล็กที่ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ถูกทำลายด้วยกระแสน้ำหลากท่วม และก่อตัวขึ้นอีกเป็นแบบ กลับไปกลับมาอยู่ตลอดเวลา ในบริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานีและตาก จากสถิติข้อมูล ภูมิอากาศประมาณทุกรอบๆ 10 ปี (ปี 2529 และปี 2539) การมีฝนตกมากในปริมาณกว่า 200 มม. ภายใน ช่วงเวลาสั้นๆ 2-3 วัน ติดต่อกัน การไหลบ่าท่วมใหญ่ของกระแสน้ำในลำห้วยได้เปิดพื้นที่สองด้านของลำห้วย ให้เป็นที่โล่งกว้าง การตกตะกอนทับถมของดิน ก้อนหิน ทราย การทดแทนของสังคมพืชริมน้ำ เช่น ไคร้น้ำ เลากุ่มน้ำ มะเดื่อ ที่เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ลำห้วยมีสภาพที่ค่อยๆ แคบและตื้นจนถึงรอบที่จะต้องถูกทำลายซ้ำ เปิดโล่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกลับไปกลับมาอยู่ตลอดรอบเวลา การพัฒนาของสังคมพืชริมน้ำในการ ทดแทนขั้นตอนต่างๆ ทั้งในลำห้วยและริมชานห้วยก่อให้เกิดพื้นที่ซึ่งเหมาะสมต่อการหากินของกระทิงในช่วง ฤดูแล้ง (Bhumpakphan, 1997) นอกจากนั้นยังพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมต่อการอาศัยและหากินของสัตว์ป่า


13 ต่างๆหลายชนิด เช่น ควายป่า วัวแดง ช้าง กวางป่า และยังเป็นพื้นที่ซึ่งใช้แสดงการเกี้ยวพาราสีและผสมพันธุ์ ของนกยูงไทย 5. การวิเคราะห์หาขนาดพื้นที่อาศัย (Home Range Estimates) การวิเคราะห์หาขนาดของพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่ามีความสำคัญมาก ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ของชนิดพันธุ์ และพฤติกรรมทางนิเวศวิทยาของสัตว์ (Powell, 2000) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการด้าน การอนุรักษ์และแผนในการบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม (Clemmons and Buchholz, 1997; Caro, 1998) เหตุผลของการประเมินพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบการผสม พันธุ์และการสืบพันธุ์ การจัดระเบียบทางสังคมและปฏิสัมพันธ์ การหาอาหาร การเลือกอาหาร การจำกัด ทรัพยากร องค์ประกอบที่สำคัญของที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ การประเมินพื้นที่อาศัยกำหนดขอบเขตที่สัตว์ สามารถคาดเดาได้ในระดับหนึ่ง และควรหาปริมาณของสัตว์ที่มีความน่าจะเป็นที่จะอยู่คนละสถานที่ หรือสัตว์ ที่มีความสำคัญต่างกันระหว่างสถานที่ (Powell, 2000) ในการวิเคราะห์พื้นที่อาศัยมีหลากหลายวิธีการ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม และขนาดของตัวอย่างที่ จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ แต่ที่นิยมนำมาใช้ได้แก่ 5.1 วิธีการวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) เป็นการวิเคราะห์ที่ง่ายที่สุดโดยการวาดรูปหลายเหลี่ยมที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่ง ครอบคลุมจุดที่ทราบว่าสัตว์อาศัยอยู่ หรือประเมินสถานที่การทั้งหมดที่พบสัตว์ (Hayne 1949). การประเมิน วิธีการนี้งานในการสร้างพื้นที่อาศัยของสัตว์แต่ไม่ถูกจำกัดด้วยสมมุติที่ว่าการสัตว์มีการเคลื่อนย้าย และต้อง เหมาะสมกับพื้นฐานบางอย่างของการกระจายทางสถิติ แต่วิธีการวิเคราะห์เป็นการวาดรูปหลายเหลี่ยมรอบ นอกพื้นที่ที่สัตว์อาศัยขนาดน้อยสุด และมีความอ่อนไหวสูงในข้อมูลที่มีจุดที่พบมากที่สุด โดยอาจมีพื้นที่ที่ ครอบคลุมจุดที่ไม่พบสัตว์เคยใช้เลยหากมีจุดขอบนอกอยู่ห่างกัน ข้อมูลจะเข้าใกล้ค่าเชิงสัญลักษณ์ของพื้นที่ อาศัยและมีขนาดใหญ่ (มีข้อมูลมากกว่า 100 จุดขึ้นไปในการวิเคราะห์ (Bekoff and Mech 1984; Powell 1987; White and Garrott 1990) วิธีการวิเคราะห์แบบ MCP เหมาะกับข้อมูลที่มีการกระจายของตำแหน่งสัตว์มีความสม่ำเสมอ ความเข้มข้นของการกระจายเท่ากัน โดยไม่สนใจความหนาแน่นของจุดพิกัดที่พบสัตว์ภายในของพื้นที่อาศัย แต่สิ่งนี้ไม่ได้หลีกเลี่ยงข้อบกพร่องที่มีอยู่ในวิธีการอื่นนอกเหนือจากปัญหาที่จุดข้อมูลที่มีความถี่ที่แตกต่างกัน มาก โดยสนใจเฉพาะขอบเขตของพื้นที่อาศัยรอบนอกเท่านั้น (Powell, 2000) 5.2 วิธีการวิเคราะห์แบบ Kernel Estimators Kernel Estimators เป็นการวิเคราะห์พื้นที่อาศัยที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากที่สุด การ วิเคราะห์เป็นการใช้การกระจายและความหนาแน่นของของสัตว์เป็นตัวกำหนดแนวขอบของพื้นที่อาศัยสัตว์ การวิเคราะห์แบบแกนกลาง (Kernel) เป็นการสร้างขอบเขตพื้นที่อาศัยในรูปแบบการกระจายของการใช้ ประโยชน์ในพื้นที่ในลักษณะสามารถมองเห็นได้ ดังนี้ ขอบเขตพื้นที่บนระนาบ x–y แทนพื้นที่ศึกษาโดย


14 ครอบคลุมแต่ละส่วนตำแหน่งโดยประมาณในลักษณะรูปภูเขาสามมิติ โดยมีแกนกลางในปริมาตร 1 หน่วย รวมถึงรูปแบบและความกว้างของแถบ (ความกว้างของช่องหรือค่า h) ขึ้นอยู่กับผู้วิจัยเป็นผู้กำหนด และรูปร่าง ของแกนกลางอาจถูกเลือกโดยสมมุติฐานโดยใช้ข้อผิดพลาดของตำแหน่ง ตลอดจนข้อมูลการรับรู้ของสัตว์และ ข้อมูลอื่นๆของสัตว์ เป็นตัวกำหนดรูปแบบแกนกลาง การกระจายของการใช้ประโยชน์เป็นพื้นฐานที่เกิดจาก ค่าเฉลี่ยในแต่ละจุดของค่าที่จุดนั้นสำหรับแกนกลางทั้งหมด ในทางปฏิบัติกริดจะถูกวางทับบนข้อมูลและความ หนาแน่นประมาณที่จุดตัดแต่ละตารางเป็นค่าเฉลี่ย ณ จุดนั้นของแกนกลางทั้งหมด ฟังก์ชันความหนาแน่นของ ความน่าจะเป็นคำนวณโดยการคูณค่าแกนกลางเฉลี่ยสำหรับแต่ละเซลล์ตามพื้นที่ของแต่ละเซลล์ (Powell, 2000) การเลือกความกว้างของแถบเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ยากที่สุดแง่มุมของการพัฒนาตัวประมาณ ค่าแกนกลางสำหรับพื้นที่อาศัยของสัตว์ (Silverman, 1986) Powell, 2000 ได้กล่าวว่า ค่าที่วิเคราะห์ด้วยวิธี Fixed Kernel จะได้รูปร่างของการแจกแจง การใช้ประโยชน์ที่ดีที่สุด และให้ค่าประมาณของพื้นที่อาศัยที่แม่นยำที่สุด และมีขนาดพื้นที่เล็กที่สุด โดยความ แปรปรวน ค่าประมาณของวิธี Fixed Kernel จะเล็กกว่าพื้นที่จริงของค่าเฉลี่ยประมาณ 0.7% แบบจำลองของ พื้นที่อาศัยในขณะที่วิธี Adaptive kernel ได้ประมาณการเฉลี่ยใหญ่กว่าจริงประมาณ 25 % แบบจำลองของ พื้นที่อาศัย และค่าเฉลี่ยฮาร์โมนิค (Harmonic mean) ที่ประเมินสูงเกินไปของพื้นที่อาศัยจริงประมาณ 20 % แบบจำลองของพื้นที่อาศัย วิธีการวิเคราะห์ด้วยวิธีประเมินพื้นที่อาศัยโดยใช้แกนกลาง (Kernel Estimators) มีข้อบกพร่อง 3 ประการ (Powell, 2000) ได้แก่ 1. วิธีการวิเคราะห์แบบ Kernel Estimators ไม่สนใจลำดับเวลาของข้อมูลที่มีให้มากที่สุดข้อมูล เกี่ยวกับที่ตั้งของสัตว์ (White and Garrott, 1990) ผู้วิเคราะห์ค่าถือว่าว่าจุดข้อมูลตำแหน่งทั้งหมดเป็นอิสระ ต่อกัน และข้อมูลลำดับเวลาของข้อมูลนั้นนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน 2. วิธีการวิเคราะห์แบบ Kernel Estimators จะประมาณความน่าจะเป็นว่าสัตว์จะอยู่ในส่วนใด ส่วนหนึ่งของพื้นที่อาศัย ดังนั้นบางครั้งการสร้างเส้นขอบพื้นที่อาศัยของสัตว์ 95 เปอร์เซ็นต์ จะมีรูปร่างที่ ซับซ้อนหรือแยกออกจากกันเป็นลักษณะเกาะตามที่ข้อมูลปรากฏ 3. วิธีการวิเคราะห์แบบ Kernel Estimators ไม่สามารถบอกถึงความสำคัญของพื้นที่อาศัยแต่ ละจุดได้ เนื่องจากผลการวิเคราะห์จะบอกผลความน่าจะเป็นที่สัตว์ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อาศัยเท่านั้น 6. การเคลื่อนที่ของสัตว์ (Animal Movements) Cagnacci et al. (2010) การเคลื่อนที่ของสัตว์ (Animal movements) เป็นการทำความเข้าใจ ทางกลไกในระบบนิเวศวิทยาของสัตว์ รวมถึงเรื่องวิธีการและเหตุผลของสัตว์ที่เลือกใช้ทรัพยากรที่ เฉพาะเจาะจง ว่าทำไมสัตว์ถึงมีปฏิสัมพันธ์และมีเหตุผลที่เฉพาะเจาะจงในการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น จนสามารถนำไปสู่การที่สัตว์มีการแข่งขันกันขึ้น และทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ได้อย่างไร จากเหตุนี้การเคลื่อนที่ และการอพยพของสัตว์สามารถเชื่อมโยงกับพื้นฐานของชีววิทยาของสัตว์ทั้งเรื่อง การหาอาหาร การได้รับ พลังงาน การหลีกหนี การลักขโมย การเพิ่มการอยู่รอด การสืบพันธุ์ เป็นต้น และ Nathan et al. (2008)


15 ได้ให้สาเหตุอื่นๆเพิ่มเติม เช่น สภาพอากาศ ความเสี่ยงในการขโมยอาหาร การแข่งขันหรือความพร้อมของ อาหารที่อาจบังคับให้สัตว์ย้ายถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายพื้นฐานทางชีววิทยา Jachowski and Singh (2015) กล่าวว่าท้ายที่สุดการเคลื่อนที่ของสัตว์(Animal Movements) นั้นเป็นลักษณะทางสรีรวิทยาภายในของสัตว์ที่ผลักดันให้สัตว์เคลื่อนที่และอพยพเพื่อหาแหล่งอาหารที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังแสดงในงานของ Singh et al. (2012) ที่ทำการศึกษาเรื่องรูปแบบและขนาดของการเคลื่อนที่ ของกวางมูส (การอพยพ การเร่ร่อน การกระจาย การอยู่ประจำถิ่น) ผลจากการศึกษาคือ กวางมูสได้รับ ผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพอากาศ และการปรากฏตัวของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ชัดว่าการ เคลื่อนที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศของสัตว์ 7. ปลอกคอสัญญาณดาวเทียมแบบ GPS Plus Collar การติดตามข้อมูลกวางผาโดยการรับข้อมูลจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียม ซึ่งใช้ของบริษัท VECTRONIC Aerospace เป็นปลอกคอแบบ VERTEX Lite Iridium ที่สามารถส่งข้อมูลตำแหน่งของกวางผา ได้ตามแผนการที่กำหนดในโปรแกรม GPS X Plus และสามารถส่งคลื่นวิทยุแบบ VHF เพื่อติดตามสัญญาณ โดยการใช้ เครื่องรับ (Receiver) และเสาอากาศ (Antenna) รับสัญญาณวิทยุเพื่อหาตำแหน่งของกวางผา ภาพที่ 1 แสดงลักษณะของปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (Satellite GPS Collars)


16 ปลอกคอส่งสัญญาณสามารถบันทึกข้อมูลตำแหน่งที่สัตว์อยู่ ความสูงของพื้นที่ที่พบตำแหน่งสัตว์ อุณหภูมิรอบตัวปลอกคอ และบันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมของกวางผาได้ (การเคลื่อนที่ และการ นอนของกวางผา) โดยจะส่งข้อมูลที่บันทึกไว้ในปลอกคอไปยังดาวเทียมทุกๆ 3 ชั่วโมง และปลอกคอจะมีส่วน ส่งสัญญาณวิทยุ (Beacon) จะส่งสัญญาณวิทยุเป็นคลื่นแบบ VHF โดยสัญญาณจะส่งออกมาตลอดเวลา และจะมีส่งสัญญาณเป็นจังหวะ โดยสามารถบอกถึงสถานภาพของสัตว์ได้ คือหากสัตว์ยังมีชีวิตสวมปลอกคอ (default mode (mode 0)) จะส่งสัญญาณเป็นจังหวะห่างกันประมาณ 1.5 วินาที หากสัตว์ที่สวมปลอกคอ ตาย (mortality mode) จะส่งสัญญาณเป็นจังหวะถี่ ห่างกันประมาณ 0.75 วินาที และการส่งสัญญาณแบบ ฉุกเฉิน (emergency mode) จะส่งสัญญาณเป็นจังหวะถี่ 2 ครั้งติดต่อกัน แล้วเว้นช่วงอีก 1.5 วินาทีจะส่งอีก สองครั้งต่อเนื่องไป (VECTRONIC Aerospace , 2015) ภาพที่ 2 แสดงลักษณะรูปแบบของสัญญาณวิทยุที่ส่งจากปลอกคอ สัตว์มีชีวิต (default mode (mode 0)) สัตว์ตาย (mortality mode) และสัญญาณฉุกเฉิน (emergency mode)


17 นอกจากตัวส่งสัญญาณแล้วปลอกคอนี้จะมีระบบปลดล็อกตัวปลอกคออัตโนมัติ (Drop – off) เมื่อ ครบกำหนดที่ตั้งไว้ ซึ่งจากโครงการติดตามนี้ตั้งเวลาปลดปลอกคอระยะ 1 ปี เพื่อให้กวางผาสามารถใช้ชีวิต ปกติโดยไม่มีปลอกคอ ซึ่งจะไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตของกวางผาและเป็นอุปสรรคต่อการหากิน การเอาตัวรอด ของกวางผา ภาพที่ 3 แสดงเครื่องมือที่ใช้ติดตามจากการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม การเก็บข้อมูลจะทำการดาวน์โหลดข้อมูลจากโปรแกรม GPS Plus ซึ่งในข้อมูลจะแสดงเวลา ตำแหน่ง ความสูง ของกวางผาเป็นตามเวลาที่กำหนดให้ส่งข้อมูล โดยโปรแกรมที่ใช้จะมาพร้อมตัวปลอกคอ สัญญาณดาวเทียม เมื่อทำการติดตั้งแล้วจะสามารถดาวน์โหลดข้อมูลพิกัดกวางผาได้ ซึ่งในโครงการศึกษาการ ติดตามกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว กำหนดให้ตัวปลอกคอส่งข้อมูลพิกัดตำแหน่งทุกๆ 3 ชั่วโมง คือ ในรอบวันจะส่งข้อมูลจำนวน 8 ตำแหน่ง แบ่งเป็นกลางวัน 4 ตำแหน่ง กลางคืน 4 ตำแหน่ง ทำการรับ ข้อมูลจากปลอกคอมาวิเคราะห์หาพื้นที่หากินของกวางผาแต่ละตัว (Home Range) และพื้นที่อาณาเขต ครอบครอง (Territory) โดยใช้ Arc GIS 10.5 Software ใช้เครื่องมือวิเคราะห์หาพื้นที่หากินของกวางผา แบบ Fix Kernel estimate (FK) และ Minimum Convex Polygon (MCP) รวมถึงการหาการเคลื่อนที่ของ กวางผาในรอบวัน (Goral Movement) 1. เสารับสัญญาณวิทยุ (Antena) 2. เครื่องรับสัญญาณ (Reciever) 3. ปลอกคอ หรือเครื่องส่งสัญญาณ (Transmitters) 1 2 3


18 ตรวจเอกสาร การศึกษาเกี่ยวกับอาณาเขตการหากินของกวางผาดำเนินการในหลายประเทศ แต่ไม่ใช่กวางผาพม่า (Burmese goral) ชื่อวิทยาศาสตร์ Nemorhaedus evansi (Lydekker, 1905) ซึ่งได้ทำการแยกจากกวางผา จีน (Chinese goral) ชื่อวิทยาศาสตร์ Naemorhedus griseus Milne-Edwards, 1871 แต่ด้วยลักษณะ ภายนอกที่แตกต่างและ DNA ที่มีงานวิจัยแยกเป็นชนิดใหม่ตาม Petr Hrabina , 2015 ที่กวางผาพม่ากระจาย บริเวณตั้งแต่ตะวันออกของอินเดีย ได้แก่ รัฐมณีปุระ รัฐอรุณาประเทศอินเดีย กระจายมาทางทิศตะวันออก ของพม่า จนถึงทางด้านภาคเหนือฝั่งตะวันตกของไทยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และจังหวัดตาก (Chaiyarat et al.1999) กวางผาพม่าในปัจจุบันคุกคามจากการล่าและการสูญเสียพื้นที่อาศัยอย่างรุนแรงในประเทศอินเดีย ในเมืองมิโซรัม ของอินเดียพบกวางผาพม่ามีจำนวนประชากรประมาณ 100 ตัว (Mishra et al. 1988, Lailung 2014 pers.comm) ซึ่งเป็นการศึกษาเช่นเดียวกับในอินเดียและพม่าที่กำลังประสบปัญหาการล่าและ สูญเสียพื้นที่อาศัย ซึ่งทำการพบเห็นกวางผาในปัจจุบันหายาก นอกจากนี้สามารถใช้วิธีการสำรวจทางอ้อมได้ คือการสำรวจการซื้อขายเนื้อกวางผาในตลาด เช่นในเมือง Tuensang, Nagaland (Bhupathy et al.2013) ในประเทศไทย มีการศึกษากวางผาหลายครั้ง (Chaiyarat et al.1999, Pintana and Lakamavichian. 2013) เนื่องจากพื้นที่อาศัยของกวางผามักเข้าถึงได้ยาก เป็นหน้าผาสูงชันและมักปกคลุมด้วยป่าที่ยากจะ เข้าถึง จึงเป็นการประเมินประชากรได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาของ Chaiyarat et al.1999 ได้ประเมิน ประชากรกวางผาพม่ามีจำนวนไม่เกิน 100 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ 9 แห่ง (Pintana and Lakamavichian. 2013) แต่ในปีพ.ศ. 2561 ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ของพื้นที่อนุรักษ์ที่มีรายงานการกระจายของกวางผาอาศัยอยู่ทำการสำรวจนับประชากรกวางผา โดยตรง ได้ทั้งหมด 292 ตัว จากพื้นที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตกของไทย พบใน 13 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยกระจายใน กลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย - สาระวิน กลุ่มป่าแม่ปิง - อมก๋อย และกลุ่มป่าศรีลานนาเท่านั้น (กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า. 2561) สำหรับการศึกษากวางผาในต่างประเทศ เช่น ในปี 2014 Cho et al. ศึกษาพื้นที่อาศัยและพฤติกรรม ของกวางผาหางยาว (Long-tailed goral; Naemorhedus caudatus) โดยใช้ปลอกคอสัญญาณดาวเทียม ในอุทยานแห่งชาติ Soeraksan ประเทศเกาหลี โดยใส่ปลอกคอดาวเทียมให้กับกวางผาจำนวน 3 ตัว ทำการ รวบรวมข้อมูลที่ได้จากปลอกคอตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2010 ถึงเดือนกันยายน 2011 พบว่า ขนาด home range ที่ใช้เป็นประจำของกวางผาทั้ง 3 ตัว คือ 0.88 ตารางกิโลเมตร โดยใช้ 95% MCP 0.27 ตารางกิโลเมตร ใช้ 50% MCP 0.43 ตารางกิโลเมตร ใช้ 95% FK และ 0.09 ตารางกิโลเมตร โดยใช้ 50% FK สำหรับ home range ตามฤดูกาล โดยใช้95% MCP พบว่าในฤดูใบไม้ร่วงมีขนาดใหญ่ที่สุด เท่ากับ 0.63 ตารางกิโลเมตร ฤดู ใบไม้ผลิมีขนาดเท่ากับ 0.47 ตารางกิโลเมตร ฤดูร้อนมีขนาดเท่ากับ 0.45 ตารางกิโลเมตร และฤดูหนาวมี ขนาดเท่ากับ 0.50 ตารางกิโลเมตร และใช้ 95% FK พบว่าในฤดูใบไม้ร่วงมีขนาดใหญ่ที่สุด เท่ากับ 0.33 ตารางกิโลเมตร ฤดูใบไม้ผลิมีขนาดเท่ากับ 0.23 ตารางกิโลเมตร ฤดูร้อนมีขนาดเท่ากับ 0.19 ตารางกิโลเมตร


19 และฤดูหนาวมีขนาดเท่ากับ 0.22 ตารางกิโลเมตร ในส่วนของขนาด home range ที่ใช้เป็นประจำของกวางผา เพศผู้มีขนาดเท่ากับ 0.58 ตารางกิโลเมตร และเพศเมียมีขนาดเท่ากับ 1.03 ตารางกิโลเมตร และระดับความ สูงรายเดือนที่กวางผาใช้ประโยชน์ พบว่า เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่มีการใช้พื้นที่ ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลสูงที่สุด เดือนธันวาคม เดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเดือนที่ กวางผาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่มีความสูงระดับน้ำทะเลต่ำที่สุด ในปีถัดมา Cho et al., 2015 ได้ทำการศึกษา ขนาดพื้นที่อาศัยของกวางผาชนิดเดิม ในทางตอนเหนือของจังหวัด Gyeongbuk ประเทศเกาหลี การศึกษา ดังกล่าวได้ใช้ปลอกคอสัญญาณดาวเทียมในการติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยติด ให้กับกวางผา 2 ตัว จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กวางผามีขนาด home range เท่ากับ 1.38 + 0.24 ตาราง กิโลเมตร โดยใช้ 95% MCP 0.81 + 0.09 ตารางกิโลเมตร โดยใช้ 95% FK และ 0.15 + 0.16 ตารางกิโลเมตร โดยใช้ 50% FK (t=8.118, p>0.05) สำหรับขนาด home range ตามฤดูกาล โดยใช้ 95% MCP พบว่า ในช่วงฤดูหนาวจะมีขนาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูร้อนมีขนาดเล็กที่สุด ตามลำดับ โดยมีค่าเท่ากับ 0.74 + 0.31 ตารางกิโลเมตร, 0.71 + 0.27 ตารางกิโลเมตร, 0.61 + 0.06 ตาราง กิโลเมตร และ 0.27 + 0.04 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ (F=2.135 p>0.05) ในเพศผู้พบว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ มีความสูงมากที่สุดคือช่วงฤดูร้อน มีความสูงเฉลี่ย 440.18 + 71.32 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และความสูง เฉลี่ยต่ำที่สุด เท่ากับ 372.72 + 70.79 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และเพศเมียอาศัยอยู่ในพื้นที่มีความสูงมาก ที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ มีค่าความสูงเฉลี่ย 727.25 + 99.98 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และความสูงเฉลี่ยต่ำ ที่สุด เท่ากับ 664.60 + 139.71 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จากข้อมูลสามารถระบุได้ว่า ลักษณะพฤติกรรมที่ แสดงออกมาเป็นประจำและที่แสดงออกมาตามฤดูกาลของกวางผาทั้งสองเพศมีความแตกต่างกันตามระดับ ความสูง นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน Ashraf et al. (2015) ได้ทำการศึกษาประชากรของกวางผาเทา (Grey goral; N. goral goral) ในอุทยานแห่งชาติ Machiara ประเทศปากีสถาน จากข้อมูลประชากรกวางผาที่ได้ ทั้งจากข้อมูลโดยตรงที่ได้จากการสำรวจพบเห็นตัวและจากข้อมูลทางอ้อม เช่น ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ กองมูล เจ้าของปศุสัตว์ เป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าในพื้นที่อุทยานมีความหนาแน่นของกวางผาประมาณ 2.66 ตัว/ ตารางกิโลเมตร พบเห็นอยู่เป็นฝูงจำนวน 30 ฝูง จำนวนสมาชิกที่พบน้อยที่สุดต่อฝูง คือ 2 ตัว และมากที่สุด คือ 6 ตัว ฝูงที่มีจำนวนสมาชิกหลายตัวมักพบในพื้นที่ที่มีการรบกวนต่ำ ในขณะที่พื้นที่ที่มีการรบกวนสูง (ปศุสัตว์ กิจกรรมของมนุษย์) จะพบฝูงกวางผาที่มีจำนวนสมาชิกน้อย จำนวนลูกกวางผาต่อเพศเมีย จะพบมากในช่วง เดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน และจากรายงานการตั้งท้องของกวางผาพบว่ามีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 6 เดือน จึงอาจจะระบุได้ว่าช่วงการผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ปัจจัยคุกคามหลัก ของกวางผาเทาในอุทยานคือการลดลงของพื้นที่อาศัยและการแก่งแย่งแหล่งอาหารจากปศุสัตว์ สำหรับการศึกษากวางผาในประเทศไทย มีการศึกษาพื้นที่อาณาเขตหากินและพื้นที่หากินที่ใช้ประจำ ได้แก่ ในระหว่างปี 2562 - 2564 มงคล สาฟูวงศ์ (มงคล, 2564) ได้ทำการศึกษาขนาดพื้นที่อาศัยของกวางผา พม่าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงแล้วนำมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แล้วติดตามโดยการใช้ปลอกคอสัญญาณดาวเทียม พบว่าการศึกษาหลังการปล่อยกวางผา จำนวน 3 ตัว เพศผู้ 2 ตัว และเพศเมีย 1 ตัว สู่พื้นที่ป่าธรรมชาติพบว่ากวางผาเพศผู้ มีอาณาเขตพื้นที่หากิน


20 (0.369 ตารางกิโลเมตร) และ พื้นที่อาณาเขตใช้ประจำ (0.074 ตารางกิโลเมตร) กว้างมากกว่าพื้นที่หากิน (0.099 ตารางกิโลเมตร)และ พื้นที่อาณาเขตใช้ประจำของเพศเมีย (0.02 ตารางกิโลเมตร) โดยมีจุดกึ่งกลาง พื้นที่อาศัยใหม่ของเพศผู้จะอยู่ห่างจากกรงปรับสภาพประมาณ 327- 550 เมตร และ เพศเมียจะมีพื้นที่อาศัย ใหม่อยู่ห่างจากกรงปรับสภาพประมาณ 456.07 เมตร และการศึกษาของนายนิธิดล บูรณพิมพ์ (Buranapim, 2013) ที่ ดำเนินการศึกษานิเวศวิทยาของกวางผาพม่าในกระบวนการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ในระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2553 ถึง เดือนเมษายน 2556 โดย การจัดกวางผาออกเป็น 3 สถานะในแต่ละครอบครัวประกอบด้วย ตัวเต็มวัยเพศผู้ ตัวเต็มวัยเพศเมีย และ ลูก กวางผา พบว่าการใช้พื้นที่ใช้สอยของกวางผาใช้พื้นที่ใช้สอยเฉลี่ยเท่ากับ 50.79 ไร่ หรือมีอาณาเขตพื้นที่หากิน เท่ากับ 0.12 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังสามารถพบกวางผาได้สูงสุดในบริเวณป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสนตามลำดับ ระยะเวลาที่ทำการศึกษา ดำเนินการศึกษาวิจัยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 รวม ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นเป็นเวลา 18 เดือน


21 อุปกรณ์และวิธีการดำเนินการวิจัย อุปกรณ์ 1. การจับกวางผาในธรรมชาติเพื่อติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม 1. เสาเหล็กเคลือบกาวาไนท์ ขนาดช่อง 4x4 นิ้ว สูง 3 เมตร สำหรับสร้างกรงดักจับ 2. ลวดตาข่าย แรงดึงสูง เหล็กกาวาไนท์ ขนาดช่อง 4x6 นิ้ว สูง 3 เมตรสำหรับสร้างกรงดักจับ 3. กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera trap) 4. ก้อนเกลือแร่สำหรับโคกระบือ สำหรับทำโป่งล่อกวางผาเข้ามาในกรงดัก 2. การศึกษาลักษณะของพื้นที่ที่กวางผาในธรรมชาติใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัยและหากิน 1. เทปวัดระยะขนาด 50 เมตร และเทปวัดความโต (Diameter Tape) 2. เครื่องมือวัดความสูงของต้นไม้ (Haga Altimeter) 3. อุปกรณ์สำหรับวางแปลงสังคมพืช ได้แก่ เชือกและ หมุดสำหรับปักหมายแนวแปลง 4. เครื่องมือหาพิกัดภูมิศาสตร์ (Global Position System; GPS) และเข็มทิศ 5. กล้องถ่ายรูป 6. แบบบันทึกข้อมูล 7. คู่มือจำแนกพรรณไม้ 3. การติดตามกวางผาโดยวิธีการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมของกวางผา 1. ปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (Satellite GPS Collar) แบบ VERTEX Lite Iridium พร้อม อุปกรณ์สำหรับติดตั้ง 2. อุปกรณ์สำหรับวัดขนาดตัวกวางผา ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนัก สายเทปวัดขนาดตัว 3. แบบบันทึกข้อมูล 4. ยา (Ivermec - f และวิตามินบำรุง (Biocatalin) สำหรับกวางผา น้ำเกลือบำรุง พร้อมอุปกรณ์ ปฐมพยาบาลสัตว์ 5. อุปกรณ์ติดตามวิทยุแบบ UHF ประกอบด้วย เครื่องรับสัญญาณวิทยุ (Reciever) แบบ TR 4 พร้อมเสารับสัญญาณวิทยุ (Antena) 6. เครื่องมือหาพิกัดภูมิศาสตร์ (Global Position System; GPS) และ เข็มทิศ 7. แผนที่ทางภูมิศาสตร์ 8. โปรแกรม ArcGIS Version 10.8 และ โปรแกรม GPS Plus X


22 วิธีการดำเนินการวิจัย 1. พื้นที่ศึกษา ดำเนินการในพื้นที่ดอยเชียงดาว ดอยเชียงดาว เป็นเทือกเขาส่วนหนึ่งของเทือกเขาหินปูนทั้งเทือก อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา ถนนธงชัยตะวันออกที่ทอดตัวในแนวเหนือ – ใต้ ดอยเชียงดาวมีความสูงเฉลี่ย ตั้งแต่ 900 – 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดอยเชียงดาวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแอ่งที่ราบเชียงดาวบนที่ ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน ที่ละติจูด 19 องศา 21 ลิปดา ถึง 19 องศา 27 ลิปดา เหนือ และละติจูด 98 องศา 50 ลิปดา ถึง 98 องศา 58 ลิปดา ตะวันออก ความลาดชันสูงตั้งแต่ 40 – 70% การระบายน้ำแบบระบายน้ำ ภายใน ถือเป็นระบบเฉพาะของดอยเชียงดาว ที่เกิดน้ำสะสมบนยอดดอยจะไหลรวมมากัดเซาะหินปูนจนเป็น โพรง ทำให้เกิดเป็นถ้ำและบางส่วนไหลซึมออกมารวมกันเป็นลำห้วยต่างๆ เช่น ลำห้วยแม่ก๊ะ ลำห้วยนาเลา ลำห้วย แม่นะ เป็นต้น (สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางสิริกิติ์, 2541) ดอยเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนที่มีลักษณะเป็นรูปเกือกม้าวางตัวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ลักษณะ ด้านข้างเป็นหน้าผาสูงชันสลับกับที่ราบระหว่างหน้าผาเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ตีนภูเขาจนถึงยอด โดยทั่วไปปกคลุม ด้วยชั้นดินตื้น ทำให้สังคมพืชที่ปกคลุมบนภูเขาส่วนใหญ่เป็นพืชในวงศ์หญ้า (FamilyGramineae) แต่ก็มีบาง พื้นที่ที่มีการสะสมชั้นดินที่ลึกทำให้มีต้นไม้ในวงศ์ก่อ (Family Fagaceae) ปกคลุมพื้นที่ โดยก่อที่พบบนดอย เชียงดาวได้แก่ ก่อแดง (Quercus kingiana Craib) และก่อแอบ (Quercus vestita Griff) เป็นต้น ภาพที่ 4 แสดงลักษณะของดอยเชียงดาว


23 2. วิธีการศึกษา 1. การดักจับกวางผาในธรรมชาติ การดำเนินการดักจับกวางผาเพื่อติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียม (GPS Satellite Collar) จะดำเนินการจับกวางผาทั้งหมด 3 ตัวมีขั้นตอนดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่มีกวางผาธรรมชาติใช้เป็นพื้นที่หากิน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว กำหนดตำแหน่งเส้นทางที่กวางผาใช้ในการหากิน 2. ดำเนินการวางกับดักแบบกรงกับดักเปิดขนาดใหญ่ โดยมีพื้นที่ในกรงขนาดไม่น้อยกว่า 2 X 4 เมตร โดยกรงเป็นตาข่ายเหล็กสูงไม่น้อยกว่า 2.5 เมตรเพื่อป้องกันกวางผากระโดดออกจากกรงดัก และสร้าง ทางออกขนาด 1 เมตรเพื่อบังคับให้กวางผาเข้าตาข่ายสำหรับจับตัวกวางผา โดยเลือกวางกรงดักกวางผาใน พื้นที่ข้างเส้นทางเดินของกวางผาที่ใช้เป็นประจำ และวางโป่งเกลือแร่เป็นสิ่งดึงดูดกวางผามาในกรง 3. ทำการตรวจเช็คกรงดักจับแบบกรงกับดักกวางผาในเวลาประมาณ 07.00 น.ของทุกวัน เมื่อกับดัก ทำงานจะไล่บังคับกวางผาเข้าตาข่ายเพื่อจับตัว และนำกวางผาเข้ากล่องสำหรับเคลื่อนย้ายกวางผา มาทำงาน ในพื้นที่ที่เหมาะสม 4. ขั้นตอนการทำงานจะย้ายกวางผามาในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก 5. นำกวางผาในกล่องขนย้ายมาชั่งน้ำหนักตัว ทำการบังคับกวางผาเข้าซองตาข่ายอีกครั้ง เพื่อดำเนินการจับวัดขนาดตัว ฉีดยาลดความเครียดชื่อยาไซลาซีน ขนาด 1 ซีซี/30 กก. ให้กวางผาเพื่อกวางผา สงบพร้อมทั้งนำผ้ามาปิดบริเวณตาของกวางผาเพื่อไม่ให้กวางผาเห็นคนที่ทำงาน ดำเนินการวัดขนาดกวางผา พร้อมทั้งตรวจสุขภาพเบื้องต้นกวางผา ทำการเจาะเลือดกวางผาเพื่อนำไปตรวจพันธุกรรมกวางผาธรรมชาติ โดยเจาะเลือดจำนวน 3 มิลลิลิตรต่อตัว และเส้นขนที่มีโคนขนติดอยู่ จำนวน 10 เส้นเพื่อใช้ในการสกัด พันธุกรรมของกวางผาแต่ละตัว 6. ดำเนินการติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียม (GPS Satellite Collar) กับกวางผาโดยให้ตำแหน่ง ปลอกคอที่เหมาะสมไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต และทำการตรวจสอบสัญญาณให้พร้อมทำงาน และให้ยา ในกลุ่มวิตามินบำรุงร่างกายและมีการตรวจความร้อนในร่างกายกวางผาเป็นระยะๆ หากพบว่ากวางผาที่จับมี ความร้อนในร่างกายสูงต้องทำให้ร่างกายกวางผาเย็นลงโดยวิธีการเอาผ้าชุบน้ำเช็ดเพื่อลดอุณหภูมิ เมื่อจบขบวนการทำงานเสร็จสิ้นจึงจับตัวกวางผามาพักในกล่องเคลื่อนย้ายอีกครั้ง พักให้กวางผาพร้อม และให้ กวางผาลุกเดินเอง 2. ศึกษาขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากินและเคลื่อนที่ของกวางผาต่อวันของกวางผาธรรมชาติ การศึกษาขนาดอาณาเขตพื้นที่หากิน พื้นที่การใช้ประโยชน์ของกวางผาในธรรมชาติ สังคมพืชที่กวางผา อาศัยหากิน ปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติดำเนินการในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยกวางผาธรรมชาติที่ใช้สำหรับศึกษาในครั้งนี้ได้จากการดักจับ จับกวางผาในธรรมชาติได้ จำนวน 3 ตัว ทำการ ติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม โดยให้รหัสของกวางผาดังนี้ 1. กวางผาเพศเมียตัวเต็มวัย รหัส 43037 (ผักกาด)


24 2. กวางผาเพศเมียตัวเต็มวัย รหัส 43038 (บุญรอด) 3. กวางผาเพศเมียตัวเต็มวัย รหัส 43040 (ชมพู) การติดตามปลอกคอสัญญาณดาวเทียมที่ระบุพิกัดการเคลื่อนที่ของกวางผาทั้ง 3 ตัว ทุกชั่วโมง ปลอกคอ สัญญาณดาวเทียมจะทำงานจนกว่าหมดพลังงานและปลอกคอจะปลดจากคอโดยอัตโนมัติการเก็บข้อมูลจะทำ การดาวน์โหลดข้อมูลจากโปรแกรม GPS Plus ซึ่งในข้อมูลจะแสดงเวลา ตำแหน่ง ความสูง ของกวางผาเป็น ตามเวลาที่กำหนดให้ส่งข้อมูล โดยโปรแกรมที่ใช้จะมาพร้อมตัวปลอกคอสัญญาณดาวเทียม ชุดข้อมูลดังกล่าว นี้จะนำไปใช้ในวิเคราะห์การใช้พื้นที่อาณาเขตหากิน (Home Range) และ การเคลื่อนที่ของกวางผาในรอบวัน รอบเดือน และรอบปีของกวางผาธรรมชาติของกวางผาแต่ละตัว 3. ศึกษาการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติ และโครงสร้างทางสังคมพืชที่กวางผาอาศัยหากิน ศึกษาการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติ ตลอดจนสังคมพืชที่กวางผาอาศัยหากินในเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดยใช้ชุดข้อมูลของพื้นที่อาณาเขตหากินและ การเคลื่อนที่ของกวางผาทั้ง 3 ตัว เพื่อ กำหนดขอบเขตพื้นที่สำรวจและศึกษาพื้นที่การใช้ประโยชน์ของกวางผาในธรรมชาติ และวิเคราะห์โครงสร้าง ทางสังคมพืช กำหนดจุดสำรวจสังคมพืช ในบรเวณที่พบความถี่การและ การเคลื่อนที่ของกวางผาในรอบวัน รอบ เดือน และรอบปีโดย วางแปลงศึกษาขนาด 20 X 50 เมตร สำหรับศึกษาความหลากชนิดและลักษณะ โครงสร้างทางสังคมพืช และวางแปลงขนาด 1 X 1 เมตร เพื่อศึกษาความหลากชนิดของหญ้าและไม้พื้นล่างใน พื้นที่ทุ่งหญ้า ทำการบันทึกรายละเอียดสภาพภูมิประเทศ พิกัด และความสูง เพื่อนำไปวิเคราะห์ภาพรวมของ ลักษณะการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติและโครงสร้างทางสังคมพืชที่กวางผาเลือกอาศัยในเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 4. ศึกษาปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ดำเนินการโดยการสำรวจและประเมินปัจจัยคุกคามโดยทางตรงด้วยการเดินเท้าสำรวจในบริเวณพื้นที่ อาศัยของกวางผาในธรรมชาติที่ติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม และการประเมินภัยคุกคามทางอ้อมโดย การ ใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อตรวจสอบและติดตามสัตว์ผู้ล่าที่เข้ามาใกล้หรือพบในพื้นที่อาศัยของกวางผา ร่วมกับชุดข้อมูลภัยคุกคามต่อกวางผา จากสัตว์ผู้ล่า การล่าของมนุษย์และภัยธรรมชาติ จากการปฏิบัติงาน โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการลาดตระเวน ในพื้นที่อนุรักษ์สำรวจสัตว์ป่า (SMART Patrol) ซึ่งการเลือก ตำแหน่งที่ตั้งกล้องดักถ่ายภาพในพื้นที่ที่ดักจับกวางผาแบบระบบกริด และจะพิจารณาจากความเหมาะสมใน แต่ละสภาพพื้น มีระยะห่างระหว่างกล้องประมาณไม่น้อยกว่า 300 เมตร 5. การวิเคราะห์ข้อมูล 5.1 วิเคราะห์การใช้พื้นที่อาณาเขตหากิน (Home Range) ในรอบวัน รอบเดือน และรอบปีของกวางผา ธรรมชาติของกวางผาแต่ละตัว และการใช้พื้นที่อาณาเขตหากิน (Home Range) โดยเฉลี่ยของแต่ละเพศของ กวางผาในธรรมชาติการวิเคราะห์ขนาดพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า (Home Range Extension (HRE)) จะใช้วิธี วิเคราะห์ขนาดพื้นที่แบบ Fixed Kernel Density Estimation และ Minimum Convex Polygons Density


25 Estimation (MCPs) โดยใช้ตำแหน่งของกวางผาจากสัญญาณดาวเทียมจากปลอกคอ ในโปรแกรม ArcGIS 10.5 ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ Home Range คือ HRT 2.0 (Cite as: Rodgers, A.R., J.G. Kie, D. Wright, H.L. Beyer, and A.P. Carr. 2015) ซึ่งขนาดพื้นที่อาศัยของกวางผาที่เป็นพื้นที่อาณาเขตหากิน (Home Range) จะใช้ขนาดพื้นที่ (Polygon) โดยใช้แผนที่เส้นค่าเท่า (Isopleth map) ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ของจุดปรากฏของ กวางผา และพื้นที่อาณาเขตครอบครอง (Territory) จะใช้ขนาดพื้นที่ (Polygon) โดยใช้แผนที่เส้นค่าเท่า (Isopleth map) ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของจุดปรากฏของกวางผา 5.2 วิเคราะห์ระยะการเคลื่อนที่ของกวางผาต่อวัน (Daily movement) วิเคราะห์ข้อมูลจากพิกัด ตำแหน่งการเคลื่อนที่กระทิงจากวิทยุติดตามตัวสัตว์จากสูตร Haversine formula ตาม http:// www.movable-type.co.uk/scripts/latlong.html ได้สูตรระยะทางดังนี้ ระยะทางกิโลเมตร = ACOS(COS(RADIANS(90-Lat1)) x COS(RADIANS(90-Lat2)) + SIN(RADIANS(90 -Lat1)) x SIN(RADIANS(90 - Lat2)) x COS(RADIANS(Long1 - Long2))) x 6371 โดย lat1, lon1 = latitude และ longitude ของจุดแรก lat2, lon2 =latitude และ longitude ของจุดที่สอง การวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของกวางผาจะนำมาวิเคราะห์เพื่อหาระยะทางที่กวางผาเคลื่อนที่ต่อวัน ระยะทางที่กวางผาเคลื่อนที่ต่อเดือน และระยะทางที่กวางผาเคลื่อนที่ต่อฤดูกาล อีกทั้งมาจัดทำแผนภูมิการ เคลื่อนที่เฉลี่ยรายชั่วโมงในรอบวัน 5.3 การวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อพื้นที่การใช้ประโยชน์กวางผา (Habitat suitability) ในพื้นที่ศึกษาด้วยโปรแกรม MAXENT (Maximum entropy species distribution modeling) (Phillips and Dudik, 2008; Elith et al., 2011) โดยการนำตำแหน่งการปรากฏ ของกวางผามาวิเคราะห์หาพื้นที่ อาศัยที่เหมาะสมร่วมกับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลการปรากฏของสัตว์ผู้ล่า ที่คาดว่ามีอิทธิพลต่อการ ปรากฏของกวางผาในพื้นที่ศึกษา (Jenks et al., 2012; Trisurat et al., 2012) ซึ่งปัจจัยแวดล้อมที่นำมา วิเคราะห์พื้นที่อาศัยที่เหมาะสมของกวางผาได้พิจารณานาตัวแปรอิสระที่คาดว่ามีอิทธิพลต่อการปรากฏของ กวางผา 8 ปัจจัย ได้แก่ แหล่งน้ำ (stream) การล่าโดยมนุษย์(hunting) การล่าโดยเสือดาว (leopard) ความ สูงของพื้นที่(dem) ชนิดป่า (forest type) ความลาดชัน (slope) ความลาดเอียง (aspect) และขนาดพื้นที่ป่า (forest area)


26 ผลการศึกษา จากการดำเนินการศึกษาการใช้พื้นที่ของกวางผาในธรรมชาติในระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยเริ่มดักจับกวางผาและติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ดักจับกวางผาได้จำนวน 3 ตัว โดยทั้งสามตัวเป็นกวางผาเพศเมีย ทั้งหมด และเริ่มรับข้อมูลตำแหน่งจากสัญญาณดาวเทียมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ซึ่งการรับข้อมูล ตำแหน่งทุก 1 ชั่วโมง โดยได้ข้อมูลตำแหน่ง ดังนี้ 1. กวางผาเพศเมีย ตัวเต็มวัย รหัส 43037 ดักจับและติดปลอกคอบริเวณตีนดอยหลวงน้อย สามารถรับสัญญาณดาวเทียมส่งตำแหน่งได้ทั้งหมด จำนวน 4,898 ตำแหน่ง จากการรับสัญญาณทั้งสิ้น 240 วัน 2. กวางผาเพศเมีย ตัวเต็มวัย รหัส 43038 ดักจับและติดปลอกคอบริเวณโป่งน้ำร้อน หลังสถานีวิจัย สัตว์ป่าดอยเชียงดาว สามารถรับสัญญาณดาวเทียมส่งตำแหน่งได้ทั้งหมด จำนวน 12,384 ตำแหน่ง จากการ รับสัญญาณทั้งสิ้น 604 วัน 3. กวางผาเพศเมีย ตัวเต็มวัย รหัส 43040 ดักจับและติดปลอกคอบริเวณตีนดอยหลวงน้อย สามารถรับสัญญาณดาวเทียมส่งตำแหน่งได้ทั้งหมด จำนวน 3,678 ตำแหน่ง จากการรับสัญญาณทั้งสิ้น 150 วัน ภาพที่ 5 แสดงข้อมูลตำแหน่งการปรากฏของกวางผาในธรรมชาติจากการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม


27 ข้อมูลตำแหน่งการปรากฏของกวางผาในธรรมชาติจากการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมดังกล่าวนี้ ใช้ สำหรับกำหนดการศึกษา ขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากินของกวางผาธรรมชาติศึกษาถิ่นที่อาศัยและสังคมพืชที่พบ ของกวางผาในธรรมชาติและปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติโดยรายละเอียดของผล การศึกษามีดังนี้ 1. ถิ่นที่อาศัยของกวางผาธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 1.1 อาณาเขตพื้นที่หากิน (Home range) ของกวางผาในธรรมชาติ จากข้อมูลตำแหน่งจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียมของกวางผาทั้งสามตัว พบว่าตำแหน่งของกวางผาจะ กระจายเป็นกลุ่มที่มีขอบเขตการหากินของกวางผาในแต่ละตัวโดยขนาดของพื้นที่หากินจะขึ้นอยู่กับลักษณะ ของพื้นที่ ปริมาณพืชอาหาร ความลาดชันของพื้นที่ และชนิดของสังคมพืชที่กวางผาใช้ประโยชน์ทั้งที่เป็น แหล่งอาหารและแหล่งหลบพักผ่อน นอนหลับในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดดจัด การวิเคราะห์ขนาดพื้นที่อาศัยใช้วิธีวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) และวิธี Kernel Estimators ซึ่งค่าที่ได้จากการวิเคราะห์จะมีความแตกต่างกัน เพื่อให้เห็นขนาดจากจุดพิกัดจะ นำเสนอข้อมูลจากทางสองวิธีวิเคราะห์ ตามตารางที่ 1 และภาพที่ 6 กับภาพที่ 7 โดยรายละเอียดของกวางผา แต่ละตัวดังนี้ ตารางที่ 1 แสดงขนาดพื้นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติบนดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขนาดพื้นที่อาศัย ขนาดของอาณาเขต พื้นที่หากิน (Home range) พื้นที่อาณาเขตครอบครองที่ ใช้ประจำ (Territory) ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) กวางผา รหัส 43037 0.149 0.039 กวางผา รหัส 43038 0.404 0.081 กวางผา รหัส 43040 0.077 0.013 ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Fixed Kernel Estimators (FK) กวางผา รหัส 43037 0.158 0.040 กวางผา รหัส 43038 0.360 0.069 กวางผา รหัส 43040 0.071 0.015


28 ภาพที่ 6 แสดงขนาดของพื้นที่อาศัยของกวางผาบนดอยเชียงดาวจากการวิเคราะห์ แบบ Minimum Convex Polygon (MCP)


29 ภาพที่ 7 แสดงขนาดของพื้นที่อาศัยของกวางผาบนดอยเชียงดาวจากการวิเคราะห์ แบบ Fixed Kernel Estimators (FK)


30 1.1.1 กวางผาเพศเมีย รหัส 43037 ดำเนินการดักจับและติดปลอกคอเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564 สามารถรับข้อมูล ตำแหน่งได้จำนวน 4,898 ตำแหน่ง จากการรับสัญญาณทั้งสิ้น 240 วัน หากินครอบคลุมพื้นที่ด้านทิศตะวันตก ของดอยหลวงน้อยที่มีสภาพเป็นหน้าผาหินปูนสูงชันสลับกับทุ่งหญ้าระหว่างหน้าผา และมีป่าที่มีต้นไม้ขนาด ใหญ่ขึ้นเป็นหย่อมๆ บริเวณที่เป็นร่องเขาที่มีชั้นดินลึก และตามหน้าผามีถ้ำตื้นๆกระจายอยู่เหมาะสำหรับเป็นที่ พักนอนในเวลากลางวัน จากข้อมูลตำแหน่งนำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม Arc GIS 10.5 .ใน ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ Home Range ข้อมูลแบบ HRT 2.0 สามารถคำนวณพื้นที่ตามภาพที่8 และสามารถแบ่งออกตามการใช้วิธี วิเคราะห์ดังนี้ ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) คือ ขนาดของ อาณาเขตพื้นที่หากิน (Home range คิดที่ 95 % ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผา) มีขนาดพื้นที่ 0.149 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่อาณาเขตครอบครองที่ใช้ประจำ (Territory คิดที่ 50 % ของตำแหน่งที่ปรากฏของ กวางผา) มีขนาดพื้นที่ 0.039 ตารางกิโลเมตร ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Fixed Kernel Estimators (FK) คือ ขนาดของ อาณาเขตพื้นที่หากิน (Home range คิดที่ 95 % ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผา) มีขนาดพื้นที่ 0.158 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่อาณาเขตครอบครองที่ใช้ประจำ (Territory คิดที่ 50 % ของตำแหน่งที่ปรากฏของ กวางผา) มีขนาดพื้นที่ 0.040 ตารางกิโลเมตร ภาพที่ 8 แสดงขนาดพื้นที่หากิน (Home Range) -ของกวางผาเพศเมีย รหัส 43037 ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Fixed Kernel Estimators


31 1.1.2 กวางผาเพศเมีย รหัส 43038 ดำเนินการดักจับและติดปลอกคอเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 สามารถรับข้อมูลตำแหน่ง ได้จำนวน 12,384 ตำแหน่ง จากการรับสัญญาณทั้งสิ้น 604 วัน หากินครอบคลุมพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของ ดอยกิ่วลมขวาที่มีสภาพเป็นหน้าผาหินปูนสูงชันสลับกับป่าดิบเขาที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น จะมีทุ่งหญ้าระหว่าง หน้าผา กระจายเป็นหย่อมๆ จากข้อมูลตำแหน่งนำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม Arc GIS 10.5 .ใน ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ Home Range ข้อมูลแบบ HRT 2.0 สามารถคำนวณพื้นที่ตามภาพที่ 9 และสามารถแบ่งออกตามการใช้วิธี วิเคราะห์ดังนี้ ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) คือ ขนาดของอาณา เขตพื้นที่หากิน (Home range คิดที่ 95 % ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผา)มีขนาดพื้นที่ 0.404 ตาราง กิโลเมตรและพื้นที่อาณาเขตครอบครองที่ใช้ประจำ (Territory คิดที่ 50 % ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผา) มีขนาดพื้นที่ 0.081 ตารางกิโลเมตร ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Fixed Kernel Estimators (FK)คือ ขนาดของอาณาเขตพื้นที่ หากิน (Home range คิดที่ 95 % ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผา)มีขนาดพื้นที่ 0.360 ตารางกิโลเมตรและ พื้นที่อาณาเขตครอบครองที่ใช้ประจำ (Territory คิดที่ 50 % ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผา) มีขนาดพื้นที่ 0.069 ตารางกิโลเมตร ภาพที่ 9 แสดงขนาดพื้นที่หากิน (Home Range) - ของกวางผาเพศเมีย รหัส 43038 ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Fixed Kernel Estimators


32 1.1.3 กวางผาเพศเมีย รหัส 43040 ดำเนินการดักจับและติดปลอกคอเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2564 สามารถรับข้อมูลตำแหน่ง ได้จำนวน 3,678 ตำแหน่ง จากการรับสัญญาณทั้งสิ้น 150 วัน หากินครอบคลุมพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของ ดอยกิ่วลมขวาที่มีสภาพเป็นหน้าผาหินปูนสูงชันสลับกับป่าดิบเขาที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น จะมีทุ่งหญ้าระหว่าง หน้าผา กระจายเป็นหย่อมๆ จากข้อมูลตำแหน่งนำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม Arc GIS 10.5 .ใน ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ Home Range ข้อมูลแบบ HRT 2.0 สามารถคำนวณพื้นที่ตามภาพที่ 10. และสามารถแบ่งออกตามการใช้วิธี วิเคราะห์ดังนี้ ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) คือ ขนาดของ อาณาเขตพื้นที่หากิน (Home range) คิดที่ 95 %-ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผามีขนาดพื้นที่ 0.077 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่อาณาเขตครอบครองที่ใช้ประจำ (Territory) คิดที่ 50 %-ของตำแหน่งที่ปรากฏของ กวางผามีขนาดพื้นที่ 0.014 ตารางกิโลเมตร ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Fixed Kernel Estimators (FK) คือ ขนาดของอาณาเขต พื้นที่หากิน (Home range) คิดที่ 95 %-ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผามีขนาดพื้นที่ 0.072 ตาราง กิโลเมตรและพื้นที่อาณาเขตครอบครองที่ใช้ประจำ (Territory) คิดที่ 50 %-ของตำแหน่งที่ปรากฏของกวางผา มีขนาดพื้นที่ 0.015 ตารางกิโลเมตร ภาพที่ 10 แสดงขนาดพื้นที่หากิน (Home Range) - ของกวางผาเพศเมีย รหัส 43040 ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Minimum Convex Polygon (MCP) ขนาดพื้นที่อาศัยจากการวิเคราะห์แบบ Fixed Kernel Estimators


33 1.2 ขนาดพื้นที่อาศัย (Home Range) ของกวางผาตามฤดูกาล จากการนำข้อมูลขนาดพื้นที่อาศัยมาแยกตามฤดูกาลจากจำนวน 2 ตัว ได้แก่ กวางผา รหัส 43037 และ 43038 ซึ่งเป็นกวางผาที่สามารถเก็บข้อมูลตำแหน่งได้ครบทั้งสามฤดูคือ ฤดูหนาว (เดือนตุลาคมถึงเดือน กุมภาพันธ์) ฤดูร้อน (เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม) และฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน) ตามภาพที่ 11 พบว่ากวางผาทั้งสองตัวใช้พื้นที่อาศัยกว้างมากที่สุดในฤดูหนาว เนื่องด้วยปัจจัยด้านอาหารที่พืช อาหารโดยเฉพาะกลุ่มหญ้าที่เริ่มแห้งไม่เหมาะต่อการกินจำเป็นให้กวางผาต้องออกเดินหากินในบริเวณต่าง ๆ ที่พืชยังคงความสดเหมาะกับกวางผา และพฤติกรรมส่วนตัวได้แก่การออกมาผิงแดดซึ่งกวางผาต้องไปใช้พื้นที่ที่ แสงอาทิตย์ส่องโดนตัวเพื่อเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายให้อุ่นขึ้นหลังจากร่างกายกวางผามีอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำ จากความหนาวเย็นในเวลากลางคืน อีกทั้งในฤดูหนาวเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ของกวางผาทำให้เกิดการเดินไปหา กวางผาตัวอื่นเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้กวางผามีขนาดพื้นที่อาศัยกว้างมากที่สุด ฤดูร้อนทั้งสองตัว ใช้พื้นที่อาศัยใกล้เคียงกันซึ่งมีขนาดลดลงจากขนาดพื้นที่ในฤดูหนาวเนื่องจากในฤดูร้อนพืชอาหารที่เหมาะสม และยังมีความสดเหมาะสมสำหรับกวางผามีการกระจายในพื้นที่ที่ยังคงมีความชื้นสะสมอยู่และอากาศร้อนจึง ไม่ได้เป็นปัจจัยให้กวางผาต้องออกไปหาจุดที่มีพื้นที่เหมาะสมสำหรับผิงแดดเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นแต่จะใช้พื้นที่ เฉพาะบริเวณที่เป็นแหล่งพืชอาหารและแหล่งพักผ่อนเท่านั้น สำหรับในช่วงฤดูฝนกวางผาทั้งสองตัวมีขนาด พื้นที่อาศัยแตกต่างกันชัดเจน เนื่องจากพื้นที่อาศัยของกวางผาทั้งสองมีลักษณะพื้นที่แตกต่างกัน มีพื้นที่ทุ่งหญ้า หรือหน้าผาที่แตกต่างกันเป็นผลให้ขนาดพื้นที่ที่กวางผาใช้จึงแตกต่างกันเนื่องจากในฤดูฝนแหล่งน้ำและแหล่ง อาหารค่อนข้างสมบูรณ์ทำให้กวางผาไม่จำเป็นต้องหากินเป็นพื้นที่กว้างและไม่มีปัจจัยเรื่องอุณหภูมิที่มีผลต่อ ร่างกาย ภาพที่ 11 แสดงขนาดของพื้นที่อาศัยของกวางผาบนดอยเชียงดาวตามฤดูกาล 0.238 0.200 0.190 0.338 0.198 0.253 ขนาดของพื้นที่อาศัย (ตร.กม.) ฤดูกาล ขนาด พื้นที่อาศัย(HOME RANGE) ต ามฤดูกาลของกวางผาบนดอยเชียงดาว Home Range แบบ FK ของ 43037 Home Range แบบ FK ของ 43038


34 1.3 การเคลื่อนที่ของกวางผา (Goral Movement) ผลการติดตามกวางผาเพศเมียด้วยปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (GPS collar) จำนวน 3 ตัว ในพื้นที่ ดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้แก่ กวางผารหัส 43037 ,กวางผารหัส 43038 และกวางผารหัส 43040 ซึ่งสา มารถติดตามข้อมูลได้ ระยะเวลา 11 เดือน 15 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ ผลการศึกษาระยะทางการเคลื่อนที่ต่อวันของกวางผา ตามตารางที่ 3 พบว่ากวางผามีระยะทางการเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อวันรอบปีเท่ากับ 0.87-1.27 กิโลเมตร/วัน โดยมี ระยะทางการเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อวันรอบปีมากที่สุดเท่ากับ 1.94 - 3.55 กิโลเมตร/วัน และมีระยะทางการ เคลื่อนที่เฉลี่ยต่อชั่วโมงในรอบปีเท่ากับ 0.36-0.52 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบเป็นฤดูกาลจะพบว่ามีระยะทางการเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อวันในฤดูร้อนเท่ากับ 1.12 - 1.36 กิโลเมตร/วัน ระยะทางการเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อวันในฤดูฝนเท่ากับ 0.90-1.22 กิโลเมตร/วัน และระยะทางการ เคลื่อนที่เฉลี่ยต่อวันในฤดูหนาวเท่ากับ 0.78-1.27 กิโลเมตร/วัน โดยมีฤดูร้อนเป็นช่วงที่กวางผามีระยะทาง เคลื่อนที่เฉลี่ยต่อวันมากที่สุดเท่ากับ 3.55 กิโลเมตร/วัน และฤดูหนาวเป็นช่วงที่กวางผามีระยะทางการ เคลื่อนที่เฉลี่ยต่อวันน้อยสุดเท่ากับ 0.38 กิโลเมตร/วัน ส่วนระยะทางการเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อชั่วโมงในฤดูร้อน เท่ากับ 0.47-0.57 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางการเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อชั่วโมงในฤดูฝนเท่ากับ 0.38-0.51 กิโลเมตร/ชั่วโมง และระยะทางการเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อชั่วโมงในฤดูหนาวเท่ากับ 0.32-0.52 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยมีฤดูร้อนเป็นช่วงที่กวางผามีระยะทางเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อชั่วโมงมากที่สุดเท่ากับ 0.57 กิโลเมตร/ชั่วโมง กวางผาจะมีระยะทางเคลื่อนที่มากที่สุดในรอบปีเท่ากับ 0.86 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนในฤดูร้อนกวางผา มีระยะทางเคลื่อนที่มากที่สุดเท่ากับ 0.86 กิโลเมตร/ชั่วโมง ฤดูฝนกวางผามีระยะทางเคลื่อนที่มากที่สุดเท่ากับ 0.67 กิโลเมตร/ชั่วโมง และฤดูหนาวกวางผามีระยะทางเคลื่อนที่มากที่สุดเท่ากับ 0.51 กิโลเมตร/ชั่วโมง กวางผามีระยะการเคลื่อนที่ที่มีความพิเศษ ในกรณีที่กวางผาต้องการเดินทางไปหาปัจจัยเฉพาะได้แก่ การเดินลงไปกินโป่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เกิดเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ ซึ่งกรณีที่ เกิดกับกวางผารหัส 43038 ที่เดินทางไปกินโป่งธรรมชาติที่อยู่ห่างจากพื้นที่ที่กวางผายึดครองอาณาเขตหากิน ปกติไปยังจุดที่เป็นโป่งธรรมชาติ(โป่งน้ำ) ที่มีระยะห่างประมาณ 2.1 กิโลเมตร ในช่วงวันที่ 9 – 10 ธันวาคม พ.ศ.2564 โดยมีระยะการเคลื่อนที่ของกวางผาเท่ากับ 3.51 - 3.62 กิโลเมตร/วัน และ 0.146 - 0.151 กิโลเมตร/ชั่วโม


ตารางที่ 2. ระยะทางการเคลื่อนที่ (Movement) ของกวางผาในธรรมชาติบนดอยเชี รหัส กวางผา จำนวน จุด ระยะการเคลื่อนที่ต่อชั่วโมง มากที่สุด (กิโลเมตร) ระยะการเคลื่อนที่เฉลี่ย ต่อชั่วโมง (กิโลเมตร) ระยะก รอบปี ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว รอบปี ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว รอบปี ฤ 43037 3408 0.55 0.39 0.55 0.50 0.05 0.06 0.05 0.05 1.27 43038 9312 0.86 0.86 0.67 0.51 0.05 0.05 0.05 0.05 1.20 43040 2976 0.26 0.26 0.24 0.04 0.04 0.03 0.87


1 35 ชยงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ การเคลื่อนที่เฉลี่ยต่อวัน (กิโลเมตร) ระยะการเคลื่อนที่ต่อวัน (กิโลเมตร) ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว รอบปี ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว มากสุด น้อยสุด มากสุด น้อยสุด มากสุด น้อยสุด มากสุด น้อยสุด 1.36 1.23 1.13 2.60 0.54 2.12 0.68 2.60 0.69 2.33 0.54 1.12 1.23 1.28 3.55 0.45 3.55 0.55 2.30 0.45 2.53 0.59 0.91 0.79 1.94 0.38 1.94 0.46 1.28 0.38


36 2. การใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาและโครงสร้างทางสังคมพืชที่กวางผาอาศัยหากินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เชียงดาว 2.1 ลักษณะทั่วไปของพื้นที่อาศัยของกวางผาในธรรมชาติจำนวน 3 ตัว จากข้อมูลตำแหน่งที่ได้จากข้อมูลจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียมที่ส่งจากกวางผาที่หากิน ตามธรรมชาติพบว่า การเคลื่อนที่หากินของกวางผาจะมีลักษณะที่มีอาณาเขตหากินของแต่ละตัวที่ครอบคลุม พื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้าและป่าที่มีต้นไม้ปกคลุม ข้อมูลจากปลอกคอแต่ละตัวแตกต่างกันเนื่องมาจากพลังงานจาก แบตเตอรี่จากปลอกคอแต่ละตัวใช้พลังงานไม่เท่ากันทำให้กวางผาจำนวน 2 ตัว คือ กวางผารหัส 43037 และ 43040 ได้ข้อมูลเพียง 240 วัน และ 150 วัน ตามลำดับ จากข้อมูลพบกวางผาทั้งสามตัวที่จับได้มีการกระจาย หากินในพื้นที่ดอยเชียงดาว (ภาพที่ 5) ดังนี้2.1.1 กวางผารหัส 43037 พื้นที่อาศัยของกวางผาเป็นบริเวณพื้นที่ของดอยหลวงน้อยทางด้านทิศตะวันตกที่มีสภาพเป็น ทุ่งหญ้าบนหน้าผาหินปูน พื้นที่อาศัยที่กวางผาใช้เป็นพื้นที่ที่กวางผาใช้ประจำตั้งแต่ความสูง 1,247 - 2,050 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่กวางผาจะใช้พื้นที่เป็นประจำที่ความสูง 1,700 -1,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งมีความลาดชันประมาณ 50 - 60 องศา เป็นทุ่งหญ้าระหว่างหน้าผา และบริเวณใกล้เคียงมีถ้ำเล็กๆ ตีนหน้า ผาหินที่มีไม้ก่อแดง (Quercus kingiana Craib) ขึ้นปกคลุมเหมาะแก่การใช้พักผ่อน และนอนในเวลากลางวัน 2.1.2 กวางผารหัส 43038 พื้นที่อาศัยของกวางผาเป็นพื้นที่ค่อนข้างกว้างและมีความหลากหลายของสภาพสังคมป่าตั้งแต่ พื้นที่ที่เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา และทุ่งหญ้าระหว่างหน้าผา ส่วนสภาพลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่ราบหน้าผา หินปูนที่สูงขัน และพื้นที่ราบเอียงระหว่างภูเขา กวางผาใช้พื้นที่ตั้งแต่ความสูง 1,000 -1,700 เมตรเหนือ ระดับน้ำทะเล แต่กวางผาใช้พื้นที่อาศัยประจำที่จะมีความสูงระหว่าง 1,300 -1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันและมีทุ่งหญ้าบนสันเขาที่เป็นที่ราบเล็กๆเป็นแหล่งหากินที่เหมาะ สำหรับกวางผา 2.1.3 กวางผารหัส 43040 พื้นที่อาศัยของกวางผาเป็นพื้นที่ที่อยู่บนหน้าผาสูงชันและพื้นที่เป็นที่ราบขอบหน้าผาพื้นที่ส่วน ใหญ่มีปกคลุมด้วยต้นไม้และหินโผล่ที่ปกคลุมด้วยพวกหญ้าหนาแน่น กวางผาใช้พื้นที่ตั้งแต่ความสูง 1,700 - 1,900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่กวางผาใช้พื้นที่อาศัยประจำที่จะมีความสูงระหว่าง 1,800 -1,900 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบข้างขอบหน้าผาเป็นพื้นที่เป็นสังคมป่าก่อแดง (Quercus kingiana Craib) สลับทุ่งหญ้าที่เป็นพื้นที่โล่งมีหญ้าปกคลุมโดยเฉพาะหญ้ายุงดอย (Capillipedium parviflorum (R.Br.) Stapf) และหญ้าคมบาง (Carex baccans Nees) ขึ้นหนาแน่น ซึ่งหญ้าทั้งสองชนิดนี้ เป็นพืชอาหารหลักของกวางผา


37 2.2 ความสูงของพื้นที่อาศัยที่กวางผาเลือกใช้ประโยชน์ 2.2.1 การเลือกใช้ประโยชน์ตามลักษณะของภูมิประเทศในรอบวัน กวางผาธรรมชาติในการศึกษาครั้งนี้ เลือกใช้พื้นที่อาศัยตามลักษณะของภูมิประเทศที่ เหมาะสมสำหรับกิจกรรมในรอบวัน ได้แก่ ทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งพืชอาหารหลัก พื้นที่ป่าดิบเขาระหว่างหน้าผา เป็นแหล่งหลบภัยและพักผ่อนในเวลากลางวัน ชะง่อนผาหรือโพรงถ้ำสำหรับเป็นที่หลบภัยและพักผ่อน แล้ว ระดับความสูงของพื้นที่ก็มีผลต่อการคัดเลือกพื้นที่อาศัยของกวางผา จากข้อมูลจากปลอกคอสัญญาณ ดาวเทียมของกวางผาทั้งสามตัวที่มีพิกัดตำแหน่งทั้งสิ้น 20,415 ตำแหน่ง ตามตารางที่ 2 พบว่ากวางผามีการ ใช้พื้นที่อาณาเขตหากินที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลระหว่าง 1,001 - 2,000 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความ สูงของพื้นที่ที่กวางผาใช้ประโยชน์เท่ากับ 1,387 – 1,865 เมตร ซึ่งแต่ละตัวจะใช้ความสูงแตกต่างกันแล้วแต่ ลักษณะพื้นที่และลักษณะพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ โดยมีความสูงที่กวางผาใช้แต่ละตัว ได้แก่ กวางผารหัส 43037 ใช้ พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,408 – 2,000 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความสูงของพื้นที่ 1,782 + 89 เมตร (n=4,797) กวางผารหัส 43038 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,001 – 1,700 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความสูง ของพื้นที่ 1,387 + 136 เมตร (n=12,176) และ กวางผารหัส 43040 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,502 – 2,000 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความสูงของพื้นที่ 1,865 + 62 เมตร (n=3,442) 2.2.2 การเลือกใช้ประโยชน์ตามลักษณะของภูมิประเทศในรอบวัน จากการศึกษาพบว่า ที่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของกวางผาในแต่ละฤดูกาล พบว่ากวางผามี ความแตกต่างกันตามลักษณะของพืชพรรณ สภาพภูมิอากาศ และระดับความสูง ดังนี้ (1) ฤดูหนาว กวางผารหัส 43037 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,408 – 1,998 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ย ของความสูงของพื้นที่ 1,780 + 94 เมตร กวางผารหัส 43038 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,001 – 1,700 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความสูงของพื้นที่ 1,413 + 142 เมตร และ กวางผารหัส 43040 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,579 – 1,997 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความสูงของพื้นที่ 1,875 + 49 เมตร (2) ฤดูร้อน กวางผารหัส 43037 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,482 – 1,999 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ย ของความสูงของพื้นที่ 1,781+ 86 เมตร และกวางผารหัส 43038 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,013 –1,696 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความสูงของพื้นที่ 1,399 + 118 เมตร (3) ฤดูฝน กวางผารหัส 43037 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,419 – 2,000 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของ ความสูงของพื้นที่ 1,784 + 89 เมตร กวางผารหัส 43038 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,008 – 1,700 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความสูงของพื้นที่ 1,355 + 140 เมตร และกวางผารหัส 43040 ใช้พื้นที่มีความสูงระหว่าง 1,502 – 2,000 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยของความสูงของพื้นที่ 1,861 + 66 เมตร


39 ตารางที่ 3 ความสูงของตำแหน่งที่กวางผาในธรรมชาติปรากฏจากข้อมูลจากปลอกคอ กวางผารหัส ความสูงที่ตำแหน่งกวางผาปรากฏ (เมตรเหนือระดับน้ำทะเล) น้อยสุด มากสุด เฉลี่ย ฤดูร้อน น้อยสุด มากสุด เ 43037 1,408 2,000 1,782 + 89 1,482 1,999 1 43038 1,001 1,700 1,387 + 136 1,013 1,696 1 43040 1,502 2,000 1,865 + 62 - -


38 อสัญญาณดาวเทียมบนดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงแต่ละฤดูกาล (เมตรเหนือระดับน้ำทะเล) ฤดูฝน ฤดูหนาว เฉลี่ย น้อยสุด มากสุด เฉลี่ย น้อยสุด มากสุด เฉลี่ย 1,781 1,419 2,000 1,784 1,408 1,998 1,780 1,399 1,008 1,700 1,355 1,001 1,700 1,413 - 1,502 2,000 1,861 1,579 1,997 1,875


39 2.3. โครงสร้างทางสังคมพืชบริเวณพื้นที่อาศัยของกวางผาธรรมชาติ จากการศึกษาโครงสร้างของสังคมพืชบริเวณตำแหน่งของกวางผาที่ได้ทำการใส่ปลอกคอส่งสัญญาณ ดาวเทียม (GPS Satellite Collars) ภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่บริเวณดอยหลวง โดยการวางแปลงศึกษาขนาดแปลง 20 × 50 เมตร บริเวณจุด กึ่งกลางพื้นที่หากินของกวางผาแต่ละตัว เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ที่กวางผามีการเข้าใช้ประโยชน์ทั้งสามตัว โดย โครงสร้างทางสังคมพืชบริเวณพื้นที่อาศัยของกวางผาธรรมชาติทั้ง 3 ตัว มีรายละเอียดดังนี้ 2.3.1 กวางผาเพศเมีย รหัส 43037 (ผักกาด) ลักษณะภูมิประเทศ ของพื้นที่อาศัยของกวางผา รหัส 43037 เป็นลักษณะพื้นที่ลาดเอียง มีความ สูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,400 – 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมีทิศทางลาดเอียงจากทิศตะวันออก ลงไปทางทิศตะวันตก มีความลาดชันประมาณ 45 องศา โดยมีชั้นดินปกคลุมพื้นที่ ซึ่งจะมีพืชในกลุ่มหญ้า (วงศ์Gramineae) ปกคลุมทั่วพื้นที่ แต่มีบางส่วนที่เป็นภูเขาหินปูนล้วนสลับกับบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้า บางจุด ภูเขาหินปูนมีความลาดชันประมาณ 90 องศา สำหรับชั้นดินบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้าจะมีความลึกของชั้นดิน ประมาณ 5 – 100 เซนติเมตร แต่ก็มีบางพื้นที่ที่เป็นร่องระหว่างหน้าผา จะมีชั้นดินลึกถึง 200 เซนติเมตร ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่สามารถเจริญเติบโตได้ตามภาพที่ 12 สังคมพืชในบริเวณของกวางผาเพศเมียมีการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมไปอาศัยหากิน รหัส 43037 (ผักกาด) มีลักษณะเป็นป่าดิบเขาระดับสูง (Upper montane forest) โดยในแปลงตัวอย่างอยู่ที่ ระดับความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นบริเวณยอดเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีมีเรือน ยอดปกคลุมพื้นที่ 26.4 % ตามภาพที่ 12 และภาพที่ 13 องค์ประกอบของชนิดพรรณไม้ จากการวางแปลงศึกษาพบชนิดไม้พบชนิดไม้ทั้งหมด 2 ชนิด 1 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากชนิด Shannon-Wiener Index (H') เท่ากับ 0.41 ไม้ที่มีดัชนีความสำคัญ Importance Value Index (IVI) สูงสุด 2 ชนิดแรก ได้แก่ ก่อแดง (Quercus kingiana Craib) และก่อแอบ ( Quercus lamellose Sm.) มีค่าดัชนีความสำคัญเท่ากับ 265.65 และ 5.76% ตามลำดับ พื้นที่บริเวณของ กวางผาเพศเมียรหัส 43037 (ผักกาด) ที่อาศัยหากินในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงมาก สังคมพืชป่าดิบเขา ระดับสูงจะพบไม้ในวงศ์ก่อ (Fagaceae) เป็นจำนวนมาก ไม้ในวงศ์ก่อสกุล Quercus มักพบขึ้นที่ระดับความ สูงตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไป และในพื้นล่างของพื้นที่บริเวณรอบๆป่าพบพวกพืชล้มลุก ไม้พุ่มต่างๆ และไม้ยืน ต้นขนาดกลาง เช่น ชมพูพาน (Wightia speciosissima(D.Don) Merr.) ซึ่งจัดอยู่ในสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ที่พบ ได้ที่ดอยหลวงเชียงดาวเพียงแห่งเดียวขึ้นกระจายอยู่ และประกอบกับหินก้อนแหลมคมบนภูเขาหินปูนใน ระดับสูง ซึ่งบริเวณใกล้เคียงเป็นชะง่อนหินสูงขึ้นไปด้านทิศเหนือ บริเวณทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารของกวางผาจะเป็นทุ่งโล่ง มีพืชในกลุ่มหญ้า - กก (วงศ์Gramineae)ขึ้นหนาแน่นหญ้าที่พบได้แก่ หญ้ายุงดอย(Capillipedium parviflorum (R.Br.) Stapf) หญ้าคมบาง (Carex baccans Nees) ปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ และมีพืชล้มลุกขึ้นปะปนได้แก่ เหยื่อจง (Impatiens kerriae Craib) ขาวปั้น (Scabiosa siamensis Craib) ฟ้าคราม (Ceratostigma stapfianum Hoss.) ผักอีเปา (Peucedanum siamicum Craib.)และชมพูเชียงดาว (Pedicularis siamensis Tsoong)


Click to View FlipBook Version