The words you are searching are inside this book. To get more targeted content, please make full-text search by clicking here.

เทคนิคการพายเรือยาว ลงเวปสำนัก

Discover the best professional documents and content resources in AnyFlip Document Base.
Search
Published by กอเอ๋ย กอไก่, 2024-02-19 01:40:00

เทคนิคการพายเรือยาว ลงเวปสำนัก

เทคนิคการพายเรือยาว ลงเวปสำนัก

1 สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เทคนิคการพายเรือยาว


2 คำนำ การดำเนินงานจัดทำข้อมูล เทคนิคการพายเรือยาว เป็นส่วนหนึ่งตามแผนการ ดำเนินงานเพื่อการจัดทำฐานข้อมูล องค์ความรู้ ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาคตะวันออก ของสำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดยได้ดำเนินการลงพื้นที่ จัดกระบวนการเก็บข้อมูล ถอดบทเรียน สัมภาษณ์ และจัดเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนทำให้ทราบถึงข้อมูลความเป็นมา และเทคนิคการพายเรือยาวเบื้องตัน การสืบสานภูมิปัญญา ประเพณีการแข่งเรือยาว ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ทางวัฒนธรรม สังคมที่ทันสมัย รวดเร็ว และมีความหลากหลาย ผู้คนมีทางเลือกในการศึกษา หาความรู้ที่ไม่จำกัด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่วัฒนธรรม ภูมิปัญญาแบบดั่งเดิม ต้องมีการ เปลี่ยนแปลงวิธีการให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน การแข่งขันเรือยาวประเพณี เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีทั้งความสนุกสนาน และเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันในระดับสากล การสืบทอดองค์ความรู้การพายเรือยาว ยังคงเป็นเพียงกลุ่มเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องเท่านั้น การเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการ จะช่วยให้เกิดเป็นกระแสความต้องการที่ จะได้มีส่วนร่วมในการสืบสานประเพณีพายเรือยาวให้มากยิ่งขึ้น ผู้จัดทำข้อมูลฉบับนี้ หวังเป็น อย่างยิ่งว่า ผลจากการศึกษา รวมรวม เก็บข้อมูล เทคนิคการพายเรือยาวฉบับนี้ จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ได้ช่วยรักษาภูมิปัญญา ได้ถ่ายทอดเรื่องราว เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำองค์ความรู้ฉบับนี้ไปใช้ ประโยชน์ต่อไป - คณะผู้จัดทำ -


3 สารบัญ หน้า เรือยาวและการแข่งขัน 5 ประวัติการแข่งขันเรือยาวประเพณี 7 กระบวนการขุด ความเชื่อ และองค์ประกอบเรือยาวไทย 10 1. การเสาะหาไม้ในการขุดเรือ 11 2. พิธีการตัดโค่นต้นไม้เพื่อใช้ในการขุดเรือ 14 3. การทำพิธีโค่นเพื่อนำมาทำเรือขุด 15 4. การชักลากไม้ออกจากป่า 16 5. การขุดเรือ 16 6. การเบิกเรือ 18 7. กระดูกงูเรือ 19 8. การวางกงเรือ 19 9. การวางกระทง 20 10. การติดไม้แอน 20 11. การติดกาบเรือ 20 12. การวัดความหนาบางของเรือ 20 13. การติดโขนหัวและโขนท้าย 21 14. การตอกตอม่อ 21 15. การทำพาย 21 16. การตั้งชื่อเรือ 21 17. การเบิกเนตรเรือ 22 18. พิธีเห่กล่อมแม่ย่านางประจำเรือ 22 19. พิธีการเอาเรือลงน้ำ 23 20. การเก็บเรือ 23 21. การซ่อมแซมเรือ 23 คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรือ 24


4 สารบัญ หน้า วิวัฒนาการเรือยาวไทย 25 ประเภทของเรือยาว 27 การบริหารจัดการทีมเรือ 28 กติกาการแข่งขันเรือยาว 29 เทคนิคการฝึกหัดพายเรือยาวสำหรับมือใหม่ 32 ความถนัดของฝีพาย (นักกีฬาพายเรือยาว) 32 การจับด้ามพาย (ใบพาย) 33 การนั่งและตำแหน่งบนเรือยาว 34 ทักษะการพายเรือยาว 37 การนับใบ 40


5 เรือยาวและการแข่งขัน 1การตั้งถิ่นฐานของคนไทยในอดีตส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณที่เป็นแหล่งน้ำต่างๆ อาทิเช่น แม่น้ำ ลำคลองและห้วยหนองคลองบึง ทั้งนี้ก็เพราะว่าน้ำ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการ ดำรงชีวิตของคน เริ่มตั้งแต่การใช้น้ำในการบริโภค อุปโภค การทำเกษตรกรรม และการใช้ เป็นเส้นทางสัญจรไปมาค้าขายติดต่อระหว่างชุมชนต่างๆ วิถีชีวิต ของคนไทยจึงผูกพันกับน้ำ อย่างแน่นแฟ้น น้ำเป็นบ่อเกิดแห่งกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของคน อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการทำมาหากิน ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ กีฬา และการละเล่น ต่างๆ เป็นต้น การแข่งขันเรือเป็นกิจกรรมที่เป็นทั้งกีฬาและประเพณี สืบต่อกันมาเป็นเวลาช้า นาน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยใกล้แหล่งน้ำทั้งหลาย จะมีการแข่งขันเรือกันแทบทั้งสิ้น มูลเหตุที่มี การ แข่งเรือก็เนื่องมาจากการใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เรือ เป็นพาหนะ เมื่อมีการใช้เรือจึงมีการขุดเรือและเกิดช่างเรือขุดขึ้น ในระยะแรกเรือใช้เพื่อการคมนาคมติดต่อกันไปมาโดยเฉพาะ ต่อมาจึงเกิดการ แข่งขันกัน เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง โดยมีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อถึงฤดูน้ำหลากราวเดือนธันวาคม โดยเฉพาะช่วงเทศกาลทอดกฐินของทุกปี คนหนุ่มสาวคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านซึ่งตั้งถิ่นฐาน บริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ก็จะร่วมแรงร่วมใจกันจัดแต่งเรือตั้งองค์กฐิน เพื่อไปทอดตามวัดวาอาราม ซึ่งตั้งอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองและอยู่ใกล้หมู่บ้าน กระบวนการเรือทอดกฐินหรือเรียกอีกอย่าง หนึ่งว่า เรือทรง ซึ่งเป็นเรือพายน้ำ ส่วนเรือพายติดตาม ได้แก่ เรือมาด เรือชะล่า เรือยาว เรือ สำปันนี และเรืออีโปง ล้วนใช้ในการแห่แหนองค์กฐิน นอกจากนี้ยังมีปี่พาทย์ราดตะโพนประโคม กันอย่างสนุกสนานดังสนั่นไปทั่วคุ้งน้ำ เมื่อทอดกฐินทอดผ้าป่าเสร็จสิ้นตามประเพณีแล้ว ในระหว่างที่ฝีพายพายเรือ กลับบ้านก็มีการแข่งขันเรือยาวเพื่อความสนุกสนาน และเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี ในหมู่คณะ การแข่งขันเรือยาวในระยะแรกจึงเป็นการแข่งขันเพื่อความบันเทิงและเป็นการ แข่งขัน 1 เรืองรัตน์ ฤทธิ์วิรุฬห์ (2540). การแข่งขันเรือยาวประเพณี : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวพิษณุโลก.


6 แบบไม่เป็นทางการ ผู้ชนะจึงได้แต่เพียงความภาคภูมิใจเท่านั้น ต่อมาการแข่งขันเรือยาวได้รับ การพัฒนาการแข่งขันจากอย่างไม่เป็นพิธีการกลายเป็นแข่งขันระหว่างชุมชนกับชุมชน ซึ่งการแข่งขันเริ่มมีระเบียบแบบแผนและมีกฎกติกามากขึ้น เพราะการแข่งขันได้เปลี่ยน จุดมุ่งหมายจากการแข่งขันเพื่อความสนุกสนานกลายเป็นเพื่อชัยชนะ และศักดิ์ศรีของชุมชน เรือที่ใช้แข่งก็มีการกำหนดขนาดของเรือ เช่น เรือจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดความ ได้เปรียบเสียเปรียบกัน จึงมีการขุดเรือประเภทต่างๆขึ้นมาใช้ในการแข่งขัน การขุดเรือและการ แข่งเรือได้ทำให้เกิดประเพณีพิธีกรรมและความเชื่อต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และภูมิปัญญาของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง กับกระบวนการแข่งขันเรือเป็นอย่างดี ภาพถ่ายแห่งความทรงจำของคนบ้านท่าวัด “เรือนางคำไหล” ชนะที่ ๑ ในงานออกพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๒ หนองหาร สกลนคร คณะท่าวัด ที่มา : https://lek-prapai.org/home/view.php?id=868 มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์


7 ประวัติการแข่งขันเรือยาวประเพณี 2ประเพณีการแข่งขันเรือซึ่งนับเป็นกีฬาโบราณของไทยอย่างหนึ่ง แต่จะเริ่มนาน เท่าใดแล้วยังค้นไม่ได้ แต่มีเรื่องเล่าว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น เคยทรงโปรดให้มีการ แข่งเรือของบรรดาทหารขึ้นครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ก็คงจะเป็นทำนองซ้อมฝีพายไว้นั่นเอง ทั้งนี้ทรงได้แจก รางวัลให้แก่ผู้ชนะด้วย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นสมัยที่ กองทัพเรือเข้มแข็งที่สุด เรือยาวที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้นในสมัยโบราณคือเป็นเรือเร็วทีเดียว หนังสือจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวงเดอชัวลีผู้ช่วยราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ 14ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2228 ในแผ่นดินสมเด็จพระ นารายณ์มหาราช แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร ได้กล่าวถึงการแข่งเรือหลวงไว้ตอนหนึ่งว่า “เรือพระที่นั่งนั้นวิจิตรรจนาสง่างามยิ่งนัก สุดที่จะพรรณาให้ท่านฟัง ใครดีล้วนได้มีฝีพายประจำ เรือประมาณ 150 คือ ปิดทองทุกคน พระเจ้ากรุงสยามทรงเครื่องฉลองพระองค์ล้วนแล้วไปด้วย เพชรพลอย ฝีพายเรือใส่เสื้อและสวมหมวกสีทอง เครื่องประดับก็ปิดทองด้วยเหมือนกัน ยามเมื่อ สมเด็จพระมหากษัตริย์สยามเสด็จประทับอยู่ในพระนครนั้น ตามโบราณราชประเพณี ต้องเสด็จ ออกสำแดงพระองค์ให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์เฝ้าถวายบังคม พระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จออกโดย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคคราใดแล้ว เป็นต้องเสด็จพระราชดำเนินต่อเมื่อมีงานมหาพิธี เกี่ยวแก่การพระศาสนาทั้งนั้น ถ้าเป็นเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคการจัดตั้งริ้วขบวน น่าดูกว่าทางบก และไม่สามารถจะพรรณาได้ถูกถ้วนว่ามีความมโหฬารสักเพียงไหน นอกจาก จะนำไปเปรียบเทียบกับงาน แห่งเจ้าเมืองเวนิสในพิธีอภิเษกกับแม่สมุทรเท่านั้น มีเรือตั้งกว่า สองร้อยห้าสิบลำจอดเรียงรายอยู่ เป็นระยะสองฟากฝั่งแม่น้ำเรือพระที่นั่ง เป็นคู่ๆไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้นใช้ฝีพายพวกแขนแดงซึ่งมีความชำนาญมาก และได้รับการเลือกเฟ้นมาเป็นพิเศษ ทุกคนสวมหมวก เสื้อเกราะปลอกเขาและแขนปลอกทำด้วยทองทั้งสิ้น น่าดูแท้ ๆ เวลาเขาพาย พร้อม ๆ กันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นทาทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบกันเบา ๆ ประสานกับ ทำนองเพลงที่เขาเห่ยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน เป็นคล้ายเสียงดนตรีที่เสนาะโสตของพวก ชาวบ้านชาวเมืองเป็นอันมาก” 2 ยุทธพงษ์ เมษพันธุ์(2552): ปัจจัยที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการเทศกาลและงานประเพณีท้องถิ่น ให้ยั่งยืน


8 พระเจ้ากรุงสยามเสด็จประทับทรงสำราญพระอิริยาบท ณ ตำหนักที่พักแห่งหนึ่ง บางนางอินหรือที่เรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า “บางปะอิน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ลีก (และเสวยพระกระยาหารที่พระตำหนักนั้น พอเสวยแล้วก็โปรดฯให้เรือขุนนางที่ยศเสมอกันเข้า เทียบกันเป็นคู่ ๆ พายแข่งกันกลับไปยังกรุง ถ้าเรือลำใดถึงพระตำหนักที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยา ก่อน ก็ได้รับพระราชทานรางวัลอย่างงาม การแข่งขันเรือนี้เป็นสิ่งที่น่าดูมาก ฝีพายทุกคนมีความ ชำนิชำนาญพายเรือคล่องแคล่วว่องไวยิ่งนัก) บรรดาราชการทั้งหลายที่ตามเสด็จคงทราบกันแล้ว ว่า พระเจ้ากรุงสยามเสด็จประพาสบางนางอินครั้งนี้จะต้องมีการแข่งเรือด้วย ฉะนั้น จึงเลือกหา ฝีพายที่มีความชำนิชำนาญทั้งสิ้น (และการแข่งเรือน ฝีพายต้องพายเรือทวนน้ำขึ้นไปตาม ลำแม่น้ำใหญ่ เรือพระที่นั่งทรงของพระเจ้ากรุงสยามถึงก่อน ฝีพายจึงได้รับพระราชทานรางวัล คนละ 1 ชั่ง การแข่งขันเรือครั้งนี้มีระยะทาง 2 ลีก ข้อความที่ยกมาข้างต้นนั้น บาทหลวงเดอชัวลีได้เขียนในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำ จึงเป็นสนับสนุนได้ว่า กษัตริย์ในสมัยโบราณทรงนิยมในเรื่องเรือแข่งมาก นอกจากนั้นในหนังสือจดหมายเหตุ การเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาซาร์ดได้เล่า เรื่องขบวนเรือของไทยเอาไว้ว่า “เรือบัลลังค์หลวงสิบหกลำ เรือกองทหารรักษาพระองค์หกลำเพื่อร่วมติดตาม เริ่มตั้งขบวนเรือกันในลำแม่น้ำราวตอนแปดโมงเช้า เรือขุนนางชั้นผู้น้อยนำขบวนไป ข้างหน้าเป็นคู่ ๆ ทิ้งระยะห่างกันพองามรวมสี่สิบลำ แออัดยัดเยียดกันอยู่ในแม่น้ำซึ่งเป็น ชื่อแม่น้ำอันมีความหมายในภาษาสยามว่า “คงคา "ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยมีจำนวนถึงร้อยห้าสิบลำ ผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำแลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามหนักหนา เสียงเห่แสดง ความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยามอันคล้านจะรุกไล่เข้าปะทะกับข้าศึกนั้นก้อง ไปทั้งสองฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชนพลเมืองล้นหล้าฟ้ามืดมาคอยชมขบวนยาตรา อันมโหฬารนี้อยู่วันที่ 28 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ เราได้ทราบมาว่า พระเจ้าแผ่นดิน จะต้องเสด็จออกนอกพระบรมมหาราชวังตามประเพณีนิยม เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไป บำเพ็ญ พระราชกุศล ยังพระอารามแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ เพื่อแสดงความผูกพัน ของพระองค์ที่ทรงมีอยู่ต่อพระศาสนา” การแข่งเรือตามประเพณีหลวงแบบโบราณที่ได้เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรี อยุธยา จะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำและข้าวมีผลไปถึงประชาชนด้วย ครั้นมาถึงสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ประเพณีดังกล่าวก็เลิกไป แต่ไม่ถึงกับว่าไม่มีการแข่งเรือกันเลย การแข่งเรือ ยังคงมีอยู่แต่ว่าไม่ได้ถือเป็นการแข่งแบบเสี่ยงทายอย่างครั้งกรุงเก่า


9 ส่วนการแข่งเรือเดือนสิบเอ็ดไม่ได้แข่งกันเพื่อความสนุกสนาน ทั้งไม่ได้แข่งกันเพื่อ เอาชนะเดิมพันเอาทรัพย์สินเงินทองแต่แข่งกันอย่างเป็นแบบแผนพิธีกรรมของบ้านเมืองและ แว่นแคว้น ในสมัยนั้นด้วยประสบการณ์จากธรรมชาติ มนุษย์ย่อมรู้ดีว่า เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง ต่อจากนั้น ปัญหาน้ำท่วมย่อมตามมา มนุษย์จึงจำเป็นต้องทำพิธีกรรมอ้อนวอนต่ออำนาจที่เหนือ ธรรมชาติ จึงร่วมกันแข่งเรือเพื่อเสี่ยงทายซึ่งเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงและ มั่นใจขึ้น การแข่งเรือด้วยสำนึกพื้นฐานของราษฎรตามชุมชน คุ้งน้ำยังคงเป็นไปตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อประเพณีพิธีกรรม ในระดับหมู่บ้านและเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงในเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับ ระบบความเชื่อทางศาสนาของมนุษย์นั้นๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการแข่งเรือในชีวิตของชาวบ้านก็จะ ค่อยๆพัฒนาไปเป็น เรื่องของการเล่นที่จะเป็นการแสดงและการกีฬา จากข้อความที่กล่าวแล้ว จึงอาจสรุปได้ว่าการแข่งเรือมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย ความเครียดจากการพายเรือเป็นระยะเวลานานและบางครั้งเพื่อเป็นการเสี่ยงทายของ พระมหากษัตริย์ เป็นประเพณีที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยควบคู่มากับสายน้ำและศาสนา ประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน ที่มา : https://kanjana602.blogspot.com/2011/09/physical-fitness-muscular-strength.html


10 กระบวนการขุด ความเชื่อ และองค์ประกอบเรือยาวไทย ลุงเทียบ สงละออ ช่างขุดเรือแห่งลุ่มน้ำหลังสวน ที่มา : https://www.facebook.com/Eshanthailongboat/posts/ facebook : บ้านนี้มีปลาน้ำโขง 3 เรือเป็นพาหนะสำคัญที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน การที่คนไทย จำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะและใช้ในการแข่งขันดังกล่าว ทำให้มีความจำเป็น ที่จะต้องขุดเรือ การขุดเรือจะเริ่มจากการกะขนาดความยาวของเรือแล้วเว้นหัวท้ายข้างละ 2 ศอก ใช้ขวานหงอนแซะขุดไม้ที่ได้เอาเปลือกออกดีแล้วตั้งแต่หัวไปกลางและตั้งแต่ท้ายไปกลาง ให้ลึกเป็นลำดับลงมา ใช้ขวานหงอนถอดด้ามออกเปลี่ยนด้ามใช้ต่างสิ่วใหญ่เซาะเอาเนื้อไม้ ตรงกลางออกให้กว้างตามต้องการแล้วตะแคงข้างลงใช้ขวานเกลาไม้ภายนอกให้เป็นรูปเรือโกลน ใช้ก่อไฟในที่เซาะ 3ยุทธพงษ์เมษพันธุ์(2552): ปัจจัยที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการเทศกาลและงานประเพณีท้องถิ่น ให้ยั่งยืน


11 เอาเนื้อไม้ออกตลอดหัวท้ายพอร้อนจัดแล้วก็ดับไฟ ใช้ไม้ค้ำเปิดทางหัวท้ายทิ้งไว้ให้อยู่ตัวแล้วจึง ตกแต่งให้ได้รูปได้สัดส่วนตามต้องการ หลังจากขุดเรือเรียบร้อยแล้วบางครั้งจะมีการตกแต่งเรือ โดยการประกอบทวนหัวเจ้าของเรือจะเจาะรูที่ทวนหัวเรือเพื่อบรรจุทองคำหนักประมาณ 2-1 กรัม บางลำก็เจาะถึงสามรู ทั้ง ทอง นาก เงิน เสร็จแล้วก็มีการสวดมนต์เลี้ยงพระ มีเครื่องเซ่นไหว้แม่ย่านาง ซึ่งตามปกติก็มี หัวหมูต้ม กล้วย ข้าว เหล้าโรง ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เมื่อต่อเรือเสร็จแล้วก็ยังต้องทำพิธีเพิ่มประน้ำพระพุทธมนต์อีก เหตุนี้ชาวเรือมีความ มั่นใจว่านางไม้ตามมาอยู่ที่เรือเพื่อคุ้มครองตน ส่วนลักษณะพิเศษของตัวเรือ จะมีลักษณะเด่น เฉพาะในแต่ละภาคดังนี้ ภาคเหนือ เรือที่ใช้จะเป็นพวกเรือขุดเสียส่วนใหญ่ เนื่องจากมีแม่น้ำที่เต็มไปด้วย แก่งหินมากมาย ลักษณะจึงเป็นแบบลูกทุ่ง ภาคอีสาน มีใช้งานเรือต่อและเรือขุด หากเป็นเรือต่อ ไม้กระดานที่ใช้งานมักจะ หนาเป็น 3 เท่าของเรือภาคกลาง ไม้กระดานลำเรือจะหนาประมาณ 1.5 เนื่องจากแม่น้ำทาง ภาคอีสานกระแสน้ำไหลเชี่ยวรุนแรงมาก เวลาพายจึงต้องระวังเรือจะพลาดไปชนเอาพวกแก่งหิน เข้า ซึ่งจะทำให้เรือแตกได้ง่าย จึงมีความจำเป็นต้องใช้ไม้ที่มีความหนามาก ภาคกลาง นิยมใช้เรือต่อมากกว่าเรือขุด เนื่องจากไม้หาขนาดใหญ่ๆ ไม่ค่อยได้ อีกทั้งกระแสน้ำไหลเชี่ยวไม่มาก เช่น กระแสน้ำในแม่น้ำลำคลองชายทุ่งจึงไม่จำเป็นต้องใช้ ที่แข็งแรงและหนัก เรือต่อจึงเบาพายได้เร็วกว่าเรือขุด เรือที่จัดเป็นเรือขุนนางมีความสวยงาม ชดช้อย ภาคใต้ เรือเดินทะเล เรือตามชายฝั่ง ลักษณะเรือที่ต่อต้องมีความแข็งแรงทนทาน ต่อคลื่นทะเลได้ มักจะเขียนลวดลายสีสันฉูดฉาดสวยงามเป็นส่วนใหญ่ เช่น วาดตาที่หัวเรือตาม แนวความเชื่อของท้องถิ่นแต่โบราณสืบมา กระบวนการขุดเรือยาว เป็นไปตามลำดับ ดังนี้ 1. การเสาะหาไม้ในการขุดเรือ ไม้ที่นิยมนำมาใช้ในการขุดเรือเป็นไม้ที่มีลักษณะทั่วไป คือ เป็นไม้ยืนต้นขนาด กลางถึงขนาดใหญ่สูงประมาณ 15 – 40 เมตร มีลักษณะคุณสมบัติเฉพาะ คือ ลำต้นตรง สูงชะลูด ไม่มีกิ่งก้านที่ลำต้น มีความแข็งแรง เหนียว ไม่ผุง่าย เด้งตัวได้มาก และทนทาน ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวของไม้ที่เป็นไปตามหลักวิชาการ ได้แก่ ไม้ตระกูลตะเคียน เช่น ตะเคียนทอง ตะเคียนขน ตะเคียนทราย ตะเคียนซันตาแมว ตะเคียนหิน เป็นต้น ไม้ที่นิยมมากที่สุด คือ ไม้ตะเคียนทองมีชื่อ วิทยาศาสตร์ว่า Hoptea Oderata Roxb. อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae


12 เป็นไม้ที่มีความถ่วงจำเพาะ 0.637 โดยประมาณ ฉะนั้นจึงเบา ลอยน้ำได้ดี ท่อน้ำ ท่ออาหาร เรียงเป็นแถวเดียวกันทำให้ไม่เหนียววงปีไม่ชัดเจนแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ของพื้นที่และสภาพของป่าที่ชุ่มชื้นตลอดปี ไม่มีเสี้ยน ไม่แตกง่าย ไปตามกระแสน้ำได้ดี ชอบขึ้นอยู่ตามริมห้วยที่มีความชุ่มชื้นตามป่าดิบชื้น เป็นไม้ไม่ผลัดใบเรือนยอด มียาง ยางไม้มีสี เหลือง กลิ่นเล็กน้อย เนื้อไม้มีสีหม่นหรือสีน้ำตาลอมเหลือง เมื่อยางถูกอากาศจะจับตัวเป็นก้อน แข็ง ๆ กลม ๆ มักมีเส้นขาวหรือเทาผ่านเสมอซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยาง ทำให้เกิดความเชื่อ มีนางไม้หรือแม่ย่านางสถิตอยู่ เหตุเกิดจากเมื่อไม่ได้รับความร้อน ความชื้น จะระเหยไม้จะหดตัว ยางไม้จะไหลตามรอยแตกปลวกได้ดี เนื้อละเอียดปานกลาง 625 กก. ความแข็งแรงประมาณ 1,172 กก./ตร.ซม. ความเหนียวของไม้ 4.70 กก./ม. มีความทนทานตามธรรมชาติเฉลี่ย 77 ปี ถ้านำมาทำเป็นเรือจะใช้ได้นานประมาณ 60 ปี ข้อสังเกตุว่า ไม้มีความสมบูรณ์หรือไม่ดูจากใบที่ มีความเขียวสด มียอดอ่อนแตกอยู่เสมอ เปลือกไม้ร่อน หากไม้ตายจะมีปลวกขึ้น ใบเหลือง เปลือกแตก กิ่งอาจหักหรือตาย ไส้อาจจะเน่า กลวง ช่างจะไม่เลือกมาใช้งาน อายุของไม้ที่พอ จะตัดมาทำเรือได้ประมาณ 200 ปี วัดโคนต้นโดยรอบ 3,50 – 4.0 เมตร ซึ่งจะได้ความสูงของไม้ พอจะทำเรือยาวได้ คือ เรือยาวใหญ่ใช้ไม้ยาว 14 วา 2 ศอก (27 เมตร) เรือยาวกลางใช้ไม้ยาว 12 วา (24 เมตร) เรือยาวเล็กใช้ไม้ยาว 9 วา (18 เมตร) กรณีที่ไม้เสาะหามาได้บิดเบี้ยว ช่างจะ ไม่นิยมมาทำเรือยาว เพราะเป็นไม้ที่ขาดความสมบูรณ์ ไม่เหนียว แต่ถ้าหากจะต้องใช้ช่าง มีวิธีแก้ไขโดยการทำให้ไม้อ่อนตัวด้วยการให้ความร้อนแล้วจึงตัดเนื้อไม้ให้ตรงซึ่งต้องใช้เวลา และแรงงาน แต่ช่างไม่นิยม ปัจจุบันไม้ตระกูลตะเคียนหายากเพราะต้นตะเคียนเป็นไม้เด่นที่มี ลำต้นสูง จึงถูกลมพัดพาไปได้ไกลๆ ประกอบกับเมล็ดมีการเสื่อมความงอกไว้เมื่อตกอยู่ใน สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเมล็ดจะไม่งอกแล้วตายในที่สุด นับวันปริมาณจะลดลงเรื่อย 1.1 วิธีวัดความสูงของไม้ เมื่อพบไม้ที่มีคุณสมบัติมาขุดเป็นเรือได้ ในการวัดความสูงของไม้ ชาวบ้าน ที่มีประสบการณ์และความรอบรู้ จะทำดังนี้ 1.1.1 ใช้ลูกโป่งที่อัดลมให้ลอยขึ้นไปถึงยอดที่ต้องการจะวัด จากนั้นจึง ลูกโป่งลงมาแล้ววัดความยาวเชือก 1.1.2 ลูกศรหน้าไม้ผูกด้าย แล้วใช้หน้าไม้ยิงไปบริเวณยอดไม้ที่ต้องการตัด จากนั้นจึงเอาด้ายที่ติดหางลูกศรมาวัดความยาว


13 1.1.3 เดินจากโคนต้นไม้ออกไปตามแนวระนาบแล้วไปยืนโก้งโค้งมองลอด หว่างขาไปยังยอดที่เราต้องการตัด หากยังไม่ได้ความสูงที่ต้องการจะตัดก็จะเดินจากโคนจนได้ ระยะทางเท่ากับความสูงของต้นไม้ที่ต้องการ แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะเมื่อไปยืน โก้งโค้งจากโคนไม้จนได้ระยะเท่ากับความสูงของต้นไม้ที่ต้องการจะตัด เกิดเป็นสามเหลี่ยมมุม ฉากที่มี ด้านประกอบมุมฉากยาวเท่ากันตามหลักวิชาตรีโกณมิติ เมื่อได้ไม้ตามคุณสมบัติดังกล่าวแล้วมิได้โค่นทันทีแต่ใช้วิธีกานต้นไม้ คือ การตัดท่อน้ำรอบๆโคนต้นเพื่อให้ไม้ยืนต้นตายเอง ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 2 ปี จะได้ไม้ที่เหนียว แข็งแรงทนทาน ไม่ผุ เพราะการผุของไม้เกิดขึ้นเนื่องจากความชื้นในเนื้อไม้รวมตัวกับออกซิเจน ในอากาศแต่การทำเช่นนี้ผิดกฎหมายบ้านเมือง เนื่องจากตะเคียนเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยาวนาน จึงเชื่อกันว่าจะมีเทวดาอารักษ์ นางไม้สิงสถิตอยู่ทุกต้น ในป่าแต่ละป่าจะมีเทพารักษ์แต่ละองค์ ดูแลอยู่ ไม้ที่นิยมมาทำเรือจะต้องเป็นไม้จากป่าเดียวกันจะไม่นิยมไม้ต่างป่า เพราะเชื่อว่าจะเกิด การทะเลาะวิวาทไม่สามัคคีของเทวดา การตัดไม้ต่างป่าทำให้เสียเวลา ขนลำบาก ลักษณะ คุณภาพไม้ที่ได้แตกต่างกัน ไม้ตะเคียนที่ใช้ในการขุดเรือ แบบโบราณ บ้านสวนหอม อ.เมือง จ.น่าน ที่มา : facebook เสน่ห์น่านวันนี้


14 2. พิธีการตัดโค่นต้นไม้เพื่อใช้ในการขุดเรือ ตามความเชื่อของชาวบ้านเชื่อว่า ต้นไม้ใหญ่จะมีเทพารักษ์รักษาคุ้มครอง และเป็นที่อยู่รุกขเทวดาสร้างวิมานซึ่งตาเรามองไม่เห็น ฉะนั้น ก่อนจะตัดไม้ พรานหรือผู้ทำพิธี หรือพราหมณ์จะทำการสังเวยเจ้าป่าเจ้าเขา รุกขเทวดา และนางไม้เสียก่อน มิฉะนั้น ท่านจะ เคืองหาว่าไม่เคารพท่าน อาจประสบความเดือดร้อน มีอันเป็นไปต่างๆ ฉะนั้น พราหมณ์หรือผู้ทำ พิธีจะบอกกล่าวด้วยเครื่องเซ่นสังเวยโดยการตั้งศาลเพียงตาทำด้วยไม้ที่หาได้ง่ายบริเวณใกล้เคียง สูงเสียงตาของเจ้าเมือง เครื่องเช่นจะมีการถามผู้รู้ พราน พราหมณ์ หรือร่างทรงในท้องที่นั้นว่า ท่านต้องการเครื่องเซ่นประเภทใด โดยทั่วไปมักจะได้แก่ บายศรี 1 คู่ ข้าวปากหม้อ ไข่ต้ม หัวหมู ไก่ต้ม กล้วย อ้อย มะพร้าว ผลไม้ที่มีปลูกตามบ้านและหาได้ง่าย ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ข้าวเหนียวหัวหงอก อาจจะมีเหล้า บุหรี่ ผ้าแพรหลากสี เครื่องแต่งตัว แป้ง หวี เสื้อ ผ้าถุง ดอกไม้ตามที่หาได้ในป่าซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ และตามความชอบของเทพแต่ละองค์ ที่บอกผ่านร่างทรง การบวงสรวง ผู้ทำพิธีจุดธูป 16 ดอก เทียน 1 คู่ นมัสการพระรัตนตรัย คาถาชุมนุมเทวดา และบอกกล่าวด้วยวาจาขอตัดต้นไม้เพื่อนำไปเป็นเรือ เพื่อเป็นเกียรติยศ แห่งท้องถิ่น เมื่อธูปหมดก็ลาด้วยผ้าแพรหลากสีนำมาผูกโคนต้นไม้ที่จะตัดและโดยมากต้องมีการ บวงสรวงเพื่อความมั่นใจ การกระทำเช่นนี้เพื่อให้เกิดความสบายใจสะท้อนถึงความศัทธา แนบแน่นในพิธีกรรมซึ่งกระทำกันมาตั้งแต่ในอดีตจนกลายเป็นการปฏิบัติที่สืบทอดกันมา และยังคงมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อโชคลางและนับถือผีสางเทวดานั้นเป็นการกระทำ เพื่อหาที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เพื่อให้เกิดความสบายใจ หากได้กระทำตามพิธีกรรมและเป็นที่ ถูกใจแก่บรรดาของปวงเทพแล้ว ท่านก็จะบันดาลผลสัมฤทธิ์ให้แก่ผู้ทำการบูชา การทำพิธี บวงสรวงบอกกล่าวรุกขเทวดา นางไม้จะกระทำในตอนเช้าเป็นการทำไปตามความเชื่อที่มีมา แต่เดิมว่า ตามป่าเขาลำเนาไพร มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า ผี สถิตอยู่ดูแลคอยพิทักษ์รักษาหลายองค์ เหตุที่เชื่อเช่นนี้ก็เป็นเพราะต้นไม้เป็นพืชมีวงจรชีวิตคล้ายๆกับคนเกิด เจริญเติบโต ต้องการ อาหาร แพร่ขยายพันธุ์ ตายเป็นปุ๋ยเน่าเปื่อย ย่อมเชื่อเจ้าถือผีว่าสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ เมื่อจะทำ พิธีที่เกี่ยวข้องกับท่านจึงต้องอุบายป้องกันเหตุร้ายอันจะมีมาด้วยความกลัวว่า ผีสางเทวดาจะให้ โทษรุนแรงหรือมาขัดขวางทำให้เสียการ ต้องทำการบูชาบอกกล่าวขออนุญาตเสียก่อน เพื่อว่า เทวดารู้ตัวจะได้ย้ายที่อยู่ไป แม้ในทุกวันนี้ ความเชื่อดังกล่าวยังคงมีอิทธิพลแอบแฝงในประเพณี สืบมาเป็นการกระทำที่ตอบสนองความมั่นใจให้เกิดพลังการสร้างสรรค์อันเป็นพื้นฐานเกิดฤทธิ์ ทางจิตใจผูกพันเคารพคุณงามความดี


15 ส่วนทางรูปธรรม ทำให้ผู้เกี่ยวข้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกันเกิดเป็นพลังความสามัคคี และการถือว่าต้นไม้ใหญ่มีรุกขเทวดาหรือนางไม้สิงสถิตอยู่ มีคุณแก่ส่วนรวม คนไม่กล้าหักโค่น เพราะมิฉะนั้นไม้ขนาดใหญ่ในป่าก็คงจะถูกตัดโค่นไปหมดแล้ว ไม่มีโอกาสเป็นมรดกเหลือมาถึง คนรุ่นหลังและอาจทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เครื่องเซ่น พิธีบวงสรวงต้นสักทองจากจังหวัดแพร่ ที่มา : https://pantip.com/topic/36228153 ที่มา : https://paaktai.com/news/detail/270 3. การทำพิธีโค่นเพื่อนำมาทำเรือขุด หลังจากผ่านพิธีกรรมแล้ว คณะช่างจะดูทิศทางที่จะให้ไม้ล้มได้โดยง่ายและไม่ให้ เสียหายต่อลำต้น โดยสังเกตุจากน้ำหนักของกิ่งก้านที่แผ่ไปทิศทางใด เตรียมแผ้วถางทางหญ้า ให้โล่งเตียนเพื่อให้ไม้ล้มโดยปราศจากการกระทบกระแทกเสียหายต่อไม้ คือ ไส้กลางอาจจะช้ำ ลำต้นหัก ฉีก การเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการตัดไม้ สมัยก่อนใช้เลื่อยยมบาล ปัจจุบัน หันมาใช้เลื่อยไฟฟ้า รอก สลิง เชือก ช่างจะใช้เลื่อย เลื่อยด้านที่ต้องการโค่นเข้าไปประมาณ ครึ่งต้นไม้จากนั้นก็ถอนเลื่อยแล้วเลื่อยด้านตรงข้าม โดยให้สูงกว่าด้านแรกคืบเศษ เมื่อรอยเลื่อย จรดกัน 2 ด้าน ช่างจะตอกทอยเพื่อบังคับไม้ให้ล้มไปตามทิศทางที่ต้องการและกันไม้ถอนยวง ด้วย การยึดด้วยสลิง จะช่วยให้ไม้ค่อยๆล้มลงเพื่อไส้กลางไม้จะไม่แตก วัดความยาวตามความ ต้องการเพื่อเหลือไว้เล็กน้อยแล้วตัดปลาย การตัดไม้ต้องตัดไว้สำหรับทำส่วนประกอบอื่นๆของ เรือด้วย เช่น โขน กง กระทงนั่ง ใบพาย จากนั้นช่างจะทำการถากเปลือกด้วยขวานจนหมดกะพี้


16 กะพี้เป็นส่วนไม้ที่อ่อนเปลือกของต้นไม้เป็นเซลลูโลส ไม้ที่มีอายุมากเฉาะเข้าไปลึกเพียง 2 นิ้ว ก็ถึงแก่นแล้ว เตรียมขนออกจากป่าต้องมีการบอกกล่าว การชักลากไม้ขณะสดอยู่ ไม้จะมีน้ำหนัก มากรถที่ลากจะรองรับน้ำหนักทั้งต้นหรือชักลากมาทางน้ำก็ผูกแพลูกบวบล่องน้ำมา ปัจจุบันการ ตัดไม้ถูกห้าม อัตราค่าจ้างโค่นเมตรละ 1,000 บาท เวลาโค่นต้นไม้จะเป็นช่วงว่างหลังจากการ เก็บเกี่ยวและพ้นจากฤดูหนาวตั้งแต่เดือน 1 ถึง เดือน 4 เพราะระหว่างนี้ไม่มีฝน พื้นที่ดินในป่า แห้ง สะดวกแก่การเข้าป่าหาไม้ความเจ็บไข้มีน้อย การทำไร่ทำนาเบาบางลง มีเวลาว่าง สามารถ เกณฑ์ผู้คนเข้าช่วยเหลืออาศัยแรงงานได้มาก 4. การชักลากไม้ออกจากป่า วิธีการชักลากในสมัยก่อน ใช้ช้าง 9 เชือกชักลากซุงออกมาจากป่า ระหว่างทางมี การแผ้วถางทาง บอกล่าวนางไม้เป็นระยะๆ ชักลากไม้ออกจากป่าขึ้นอยู่กับความลึกของป่าที่พบ ต้นไม้อาจเป็นสัปดาห์หรือนานเป็นเดือน ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็จะใช้รถลาก ส่วนด้านพิธีกรรมยังคงปฏิบัติเหมือนเดิม มีการบอกกล่าวนางไม้ เจ้าป่าเจ้าเขา แผ้วถางทางแล้ว จึงลากไม้ออกจากป่า สิ่งนึงที่มักประสบกับคณะทำงาน คือ นางไม้หรือเทวดามักจะมาเข้าฝัน หรือให้ประสบเหตุการณ์แปลกๆ เช่น บาดเจ็บ หากทำไม่ถูกต้องตามพิธี จนไม้มาถึงสถานที่ที่จะ ทำการขุดเรือ การบอกกล่าวอันเชิญแม่ย่านางจะทำทั้งก่อนขึ้นรถและลงจากรถ ไม้ที่ได้ เนื้อละเอียด เรียบสวยนางไม้ที่เข้าฝันจะมีผิวพรรณละเอียดเนียน เมื่อขุดเป็นเรือแล้ว เรือจะวิ่ง นิ่ม มีกลังพุ่ง หรือไม้ที่ได้เนื้อค่อนข้างหยาบ นางไม้ที่เข้าฝันจะมีลักษณะโลดโผนแก่นเปรียว เมื่อขุดเป็นเรือแล้ว เรือจะพุ่งทะยานแบบคึกคะนอง 5. การขุดเรือ เมื่อชักลากไม้มาถึงหน้าวัดหรือสถานที่ขุดเรือ ก่อนลงมือขุดต้องตั้งศาลเพียงตา อัญเชิญนางไม้ แม่ย่านางขึ้นบนศาล ช่างจะตั้งศาลเพียงตาแล้วบอกกล่าวด้วย หัวหมู ไก่ต้ม ไข่ ต้มข้าวปากหม้อ บายศรีปากชาม ธูปเทียน ดอกไม้ ผลไม้ เช่น กล้วย มะพร้าว และครูช่าง ให้ดำเนินการขุดง่ายเป็นไปตามสูตรทุกประการ ในเรื่องของการขุดเรือจะนำบายศรีวางบนปลายไม้และโคนไม้อย่างละที่ ดูลักษณะไม้ว่าจะใช้ส่วนไหนเป็นท้องเรือ โดยสังเกตุจากเนื้อไม้และการเหยียดของไม้ ลักษณะ การงอ หรือจะนำไม้ไปลอยน้ำดูว่าไม้จะพลิกด้านใดขึ้นบน ด้านล่างก็จะเป็นท้องเรือ ช่างจะใช้ เลื่อยไฟฟ้าเปิดปีกไม้ด้านบน ด้านล่าง หากไม้ใหญ่พอที่จะขุดเป็นสองลำ ช่างจะแบ่งไม้เป็น สองส่วน สำหรับขุดเรือ 2 ลำแล้วเปิดปีกไม้ด้านข้าง เมื่อเปิดปีกไม้แล้วช่างจะตีเส้นศูนย์เพื่อแบ่ง ไม้ออกเป็น 2 ซีกเท่า ๆ กัน ตีกรอบด้านข้างอีกข้างละเส้นตามแนวความยาว เพื่อเป็นเส้นมาด ตลอดหัวถึงท้ายเรือ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการเซาะเอาเนื้อที่ไม่ต้องการออก


17 การวางโครงสร้างอย่างคร่าวๆ จะทำตามทักษะของช่างแต่ละตระกูลที่ได้รับความรู้ถ่ายทอด กันมา ในทางปฏิบัติ ไม้ที่ขุดบางครั้งอาจมีตำหนิช่างจะต้องเสี่ยง เพราะตำหนิของไม้ จะทำให้ ถากลำบาก ไม้ไม่เรียบเสมอกันหรือเป็นจุดที่จะทำให้เรือผุได้ง่าย ช่างจะใช้เลื่อยเซาะตามแนวเส้นที่ตีไว้ แล้วงัดเอาเนื้อไม้ออกตลอดลำลักษณะ คล้ายรางหมูยาวๆ หากใช้เลื่อยไฟฟ้าเซาะเศษไม้อาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่ถ้าเป็นเครื่องมือประเภท เลื่อยก้ามปู ขวานมาก ไม้ที่เซาะออกมาจะเป็นเศษไม้และขี้เลื่อย สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสุมแล้วย่างเรือในขั้นตอนต่อไป อุปกรณ์ที่ทำให้เรือได้ศูนย์สมดุลคือ เส้นดิ่ง เส้นประทัดสำหรับหาจุดศูนย์ถ่วง การถากเรือยาวที่ยาว 10 วาเศษ เช่นนี้ ความฉลาด ในเชิงศิลป์ใช้อุปกรณ์พื้นบ้านถากด้วยมือ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือขนาดน้ำหนักพอดี เหมาะมือ สามารถใช้ทดแทนหน้าที่กันได้ เป็นการวัดฝีมือที่มีค่าสูงกว่าใช้เครื่องจักร เมื่อได้เอาไม้ ออกตลอดกลางลำเรือแล้ว ช่างจะปลอกเปลือกไม้ด้านนอกตลอดลำ การเหลาเรือด้านนอกด้วย เครื่องมือช่าง ได้แก่ ขวานลาง กบไฟฟ้า ระแมะ ถากตามรอยให้เป็นรูปร่างโครงร่างเรืออย่างคร่าวๆ ที่เด็กกันว่า “โกลนเรือ” สลับกับการสางด้านใน ถากเนื้อไม้ออกตลอดลำเรือให้มีความหนาเท่าๆกันประมาณ 3 นิ้ว การใช้มีดขวานจากเรือถือกันว่าเป็นการไว้ฝีมือที่ได้หน้าได้ตาของลูกผู้ชาย บอกอุปนิสัย การทำงานได้มาก การขุดเรือจะต้องใจเย็นใช้สมาธิมาก การถากเรือทั้งด้านนอกและด้านใน จะต้องค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ ช่างชุดเรือจะมีสูตรและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับสภาพของท้องถิ่น จุดประสงค์การใช้งานลักษณะไม้ที่ได้ การประยุกต์ให้เป็นไปตามความนิยมของผู้จ้าง เช่น เมื่อ ช่างพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม้ที่ได้มา โคนต้นเหมาะที่จะทำหัวเรือ ปลายไม้เป็นท้ายเรือ เมื่อขุดเรือ ลักษณะนี้จะได้รูปเรือที่มีลักษณะหัวกว้างท้ายเรียวเป็นรูปปลาช่อน เมื่อใช้ในการแข่งขันการวาง กำลังเรือที่มีรูปลักษณะคล้ายปลาช่อนต้องวางฝีพายกำลังกล้าแข็งอยู่กะทงต้น 3-4 กะทง ฝีพาย ออกแรงเบิกน้ำมากกว่าเรือที่มีรูปลักษณะงูไซ การขุดเรือรูปไข เหมาะกับการแข่งขันในแม่น้ำ น่าน เพราะตามโครงสร้างและลักษณะการไหลของน้ำน่านบริเวณสนามแข่งขัน ช่วงลำน้ำ มีลักษณะตรงความเร็วของกระแสน้ำทั้งสองฝั่งใกล้เคียงกัน ท้องน้ำเกิดจากการทับถมของโคลน ร่องน้ำ มีความลึก ความลาดชันน้อย รูปเรือที่หัวเรียวท้ายเรียวจะเพรียวกะทัดรัด ไปตามกระแสน้ำได้ดี


18 ในสมัยก่อนค่าจ้างขุดเรือจะว่ากันด้วย หมู ไก่เป็นตัว ๆ ที่มีชีวิตอยู่สามารถ นำไปเลี้ยงไว้ ส่วนแม่บ้าน เด็กสาวๆจะช่วยกันหุงหาอาหารกับข้าวมาเลี้ยงคณะขุดเรือ เด็กหนุ่ม ก็มาเป็นลูกมือช่วยยก ช่วยแบกหาม หรือถามสับ เป็นการเรียนรู้เทคนิควิชาการขุดเรือ ส่วนเคล็ดวิชาสำคัญของเรือตกอยู่แก่นายช่างใหญ่จะบงการหรือเห็นหน่วยก้านลูกมือดีก็ทำให้ดู แต่การสอนแบบถ่ายทอดจนหมดไส้หมดพุงไม่ปรากฏ จึงทำให้ศิลปวิชาขุดเรือจางหายไป ช่างฝีมือใหม่ที่มีไหวพริบช่างสังเกตรู้จักและรักในงานจริง ๆ จึงสามารถสืบทอดวิชาการต่อไปได้ และโดยส่วนใหญ่แล้วจะถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานที่เป็นวงศ์วานว่านเครือที่เอาถ่านรักดี จึงทำให้ ในปัจจุบันนี้จะหาช่างขุดเรือยาวที่ทำเป็นอาชีพได้น้อยมาก การอบตัวเรือด้วยไฟ ที่มา : facebook เสน่ห์น่านวันนี้ 6. การเบิกเรือ การเบิกเรือเป็นการถ่างเรือที่ทำเป็นรูปร่างคร่าว ๆ (โกลน) แล้วให้ผายออกโดยวิธี สุมไฟให้ร้อน เมื่อได้โกลนเรือแล้ว คณะช่างจะดำเนินการเบิกเรือโดยการสุ่มฟื้น ขี้เลื่อย เศษไม้ จากการเซาะเนื้อเรือให้เป็นแนวยาวแล้วคว่ำเรือ ย่างเรือ ในครั้งแรกจะย่างเรืออย่างต่ำใช้เวลา 16 ชั่วโมง เพื่อเป็นการอบไล่ความชื้น ทำให้เนื้อไม้แห้งและให้เนื้อไม้อ่อนตัวสุกเนื้อจะแน่นเหนียวสีจะออก เป็นสีเหลือง โดยเฉพาะตะเคียนทองสีเหลืองสุกสวยงามช่วยให้สะดวกในการแบะถ่างไม้ได้ โดยไม่ฉีกขยายได้ง่ายขึ้น พอประมาณว่าเนื้อเรือถูกไฟเหลืองทั่วตลอดลำ ไม้พอร้อนก็พลิกเรือ


19 ช่างจะใช้มือสัมผัส ไม่มีการวัดอุณหภูมิด้วยเครื่องมือแต่อย่างใด จากนั้นจะใช้ห่วงสอดด้วย ปากการั้งเรือทั้ง 2 ข้าง จำนวนห่วงจะมีตลอดลำเรือแล้วใช้ความสามัคคีช่วยกันแบะเรือออก ซึ่งต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก การแบะเรือต้องพร้อมใจกันแบะทั้งด้านซ้ายและด้านขวาตลอด ลำเรือ พอไม้ขยายตัวนำไม้ไผ่มากลางลำเรือกันการคลายตัว ออกแรงเบิกเรือต่อไป พอไม้ขยาย ก็เปลี่ยนขนาดไม้ไผ่ที่กลางลำเรือให้กว้างขึ้น ซึ่งอยู่อย่างนั้นประมาณ 2-3 วัน ให้อยู่ตัวจึงเอาไม้ ค้ำยันออก ถากเนื้อไม้ด้านในและแต่งด้านนอกจนเข้าที่ทำการสนไฟอีกเป็นครั้งที่สอง อย่างต่ำ ต้องใช้เวลานาน 12 ชั่วโมง แล้วทำการเบิกเรืออย่างครั้งแรกทำซ้ำๆเช่นนี้ 3-4 ครั้ง จนได้ความ กว้างตามสูตรของเรือ คือ กลางลำเรือกว้าง 44 นิ้ว รอบเรือกว้าง 60 นิ้ว ในอดีตศิลปะ ทางช่างฝีมือขุดเรือ มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว บรรดาศิลปวิชาช่างได้มาจากปากที่เล่ากัน มาจากการสังเกตุผลที่เกิดขึ้น เมื่อใช้งานแล้วก็นำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม จึงมีความ แตกต่างกันไปบ้าง แหล่งที่ได้วิชาความรู้มาจากสถานที่ชุมชนของคนหมู่มาก เช่น วัด เป็นสถานที่ที่สังคมสร้างขึ้นไว้เป็นแหล่งถ่ายทอดมรดกทางสังคม ผู้รับวิชาความรู้ทำหน้าที่ สืบสานต่อเพราะต้องใช้วิชาในการยังชีพ ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมจนได้มาตรฐาน 7. กระดูกงูเรือ กระดูกงู คือ ส่วนที่อยู่ล่างสุดท้องเรือ เรือพื้นบ้านแต่เดิมไม่มีกระดูกงูช่างจะแต่ง ท้องเรือให้หนาเป็นไม้เนื้อเดียวกับตัวเรือแล้วขัดเกลาให้กลมมนพอดี เพื่อไว้สำหรับเป็นจุดรับ น้ำหนักของเรือยาวตลอด ให้อยู่ในสภาพสมดุล ไม่โคลงเคลงและเป็นจุดต้องเชื่อมโยงกับกงเรือ ต่อมาจึงได้พัฒนาโดยการเอาไม้มาเสริมเป็นกระดูกงู กระดูกงูมีขนาด 2 – 2.5 นิ้ว ยาวตลอด กลางท้องลำเรือ 8. การวางกงเรือ กงเรือ เป็นส่วนที่ติดต่อเชื่อมโยงกับกระดูกงู เป็นโครงสร้างของเรือที่รับน้ำหนัก อยู่กระจายโค้งตามรูปเรือด้านในตลอดทั้งลำเรือตั้งแต่หัวจรดท้าย ในการวางกงช่างจะวัด ความยาวของเรือเพื่อคำนวณหาความถี่ห่างของกงเรือ แล้วแบ่งจุดกึ่งกลางของเรือเพื่อวางกง ตัวแรก (กงเอก) ไม้ที่นิยมมาทำกงเรือเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนแดด ทนน้ำ ได้แก่ สัก ตะเคียน ประดู่ ขนาดไม้หนา 2 – 2.5 นิ้ว กว้างประมาณ 20 นิ้ว ยาวตามลักษณะโค้งของเรือไม่ต่ำกว่า 40 นิ้ว ความห่างของกงแต่ละตัว 70 เซนติเมตร ถึง 80 เซนติเมตร กงเอกจะติดกลางลำเรือเป็นจุดที่ วางแล้วทำให้เรือสมดุลย์ การติดกงเรือช่างจะใช้สว่านเจาะกงเรือไปทะลุตัวเรือด้านข้างแล้วตอก ด้วยลูกประสักสลับซ้าย-ขวา การใช้ลูกประสักซึ่งทำจากไม้ลักษณะเป็นลิ่มตอกอัดเข้าไปให้แน่น ส่วนที่ยื่นเหลือก็ตัดทิ้งแต่งให้เรียบเสมอกับผิวเรือ เมื่อเรือลงน้ำได้ความชื้นจุดนี้ทำให้แน่น เป็นเนื้อเดียวกับเรือ การวางกงตัวที่ 2,3, จะวางสลับไปทางท้ายเรือและหัวเรือตลอดลำเรือ


20 ถ้าเป็นเรือยาวใหญ่จะติดลงประมาณ 31 ตัว กงเอกกว้างประมาณ 39 นิ้ว เรือยาวเล็กจะติดลง ประมาณ 23 ตัว กงตัวกลางยาวประมาณ 35 นิ้ว กงเป็นตัวที่รับน้ำหนักของกระทงนั่งพายของ ฝีพาย ฉะนั้น จำนวนกงเรือจะมีเท่ากับจำนวนกระทงเรือและที่สำคัญเป็นจุดที่ฝีพายใช้เท้ายัน เวลาออกแรงพายเรือเป็นจุดรับน้ำหนักรับแรงกระทำขณะเรือแล่นด้วย 9. การวางกระทง กระทงเป็นไม้รูปสี่เหลี่ยมสำหรับฝีพายนั่งพายบนเรือ ไม้ที่จะนำมาใช้เป็นกระทง จะใช้ไม้สักเพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนทาน กว้าง 6 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ความยาวเท่ากับความกว้างของ เรือที่กระทงกลางลำเรือจะมีความยาวมากกว่ากระทงหัวเรือและท้ายเรือ การติดกระทง ช่างจะใช้กระทงวางเทินบนกงทั้ง 2 หัว แล้วเจาะกระทงทะลุตัวเรือ อัดลูกประสักข้างละ 2 ลูก ตอกให้แน่น ฉะนั้น กระทั่งมีจำนวนเท่ากับกงเรือเป็นการรับน้ำหนักคนนั่งพายแต่ละจุดแนบวาง ตำแหน่งกระทงไปกับตัวเรือตลอดทั้งลำเชื่อมโยงกับกระดูกงูทำให้เรือลอยตัวอยู่ได้อย่างสมดุล 10. การติดไม้แอน ไม้แอน เป็นไม้ยาวท่อนเดียวหรือไม้ไผ่ผูกติดตลอดกลางลำเรือใต้กระทงนั่งตลอด ลำใช้ไม้กว้าง 2 นิ้ว หนา 3 นิ้ว อัดติดกับกระทง เพื่อประโยชน์ทำให้เรือแข็งแรงขึ้นและในการ ตอกตอม่อ จากนั้นก็คว่ำเรือ ตกแต่งด้านนอกให้ผิวเรียบได้ที่ ขัดด้วยกระดาษทรายหยาบ กระดาษทรายละเอียด 11. การติดกาบเรือ กาบเรือ เป็นส่วนที่อยู่ข้างเรือเป็นไม้ยาวติดตลอดลำไว้สำหรับเสริมความแข็งแรง และกันน้ำเข้าด้านข้าง จะใช้ไม้เนื้อแข็ง ตะเคียน กว้าง 6 นิ้ว หนา 1.5 นิ้ว จำนวน 2 กาบ กาบทั้งซ้ายและขวาตอกติดกับกระทงและมาดเรือ 12. การวัดความหนาบางของเรือ การขุดเรือยาว ช่างมีสูตรความหนาของตัวเรือแตกต่างกัน การวัดความหนาบาง เทคนิคโดยช่างจะใช้สว่านเจาะเรือให้ทะลุเป็นแนวตามขวางแล้วใช้ลูกประสักวัดความหนา การเจาะเรือจะเจาะหลายตำแหน่งเป็นแนวตลอดในจุดที่ต้องการจะวัด แต่ละแนวห่างกัน ประมาณ 1 เมตร ลูกประสักที่ใช้วัดความหนาบางของเรือเป็นไม้สักหรือไม้ที่หาได้เหลาให้เป็น แท่งรูปทรงกรวยยาวตามสูตรของช่าง ความหนาบางของเรือจะแตกต่างกันถ้าเป็นฝีมือการขุด ของช่างเลิศ โพนามาศ ตัวเรือจะหนา 2 นิ้ว เพื่อหากในกาลต่อไปจะมีการแต่งแก้ไขได้ ส่วนเรือที่ ขุดโดยช่างสุวรรณ ฤทธิ์โสม ตัวเรือจะหนา 6 กระเบียด (1.5 นิ้ว) เรือเบาเพรียววิ่งได้ดี ความหนาบางและน้ำหนักของเรือมีผลต่อการแข่งขันเช่นเดียวกับแรงเสียดทาน แรงพยุง แรงฝีพายออกกำลังจ้วง การไหลของน้ำ และเทคนิควิธีการพายเรือ การปิดช่องที่เจาะเพื่อวัด


21 ความหนาบางของเรือเมื่อได้สูตรตามที่ต้องการแล้วช่างจะนำลูกประสักดอกอัดน้ำมันยางปิดช่อง ทั้งด้านในและด้านนอกให้แน่นตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก แล้วแต่งให้เรียบ 13. การติดโขนหัวและโขนท้าย โขน เป็นส่วนที่อยู่หัวและท้ายเรือที่ไม่ต้องจมอยู่กับน้ำตลอดเวลา ไม้ที่นิยมมาทำ โขนเรือเป็นไม้สัก ไม้เนื้อแข็ง ทนทาน หรือเป็นไม้ขนุน ตะเคียน พยอม เพราะน้ำหนักเบา ขนาดของไม้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 นิ้ว ช่างที่ทำต้องมีฝีมือเพราะการเข้าไม้ยากมาก ต้องเข้า ให้สนิทและสามารถถอดออกได้เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายเรือ โดยใช้น็อตตรึงติดเรือแล้วติด สายเหล็ก ตั้งแต่หูกระต่ายหัวเรือจรดหูกระต่ายท้ายเรือเพื่อประโยชน์ในการขับเรือ เมื่อเสร็จ เรียบร้อยแล้ว ขัดลงน้ำมันให้สวยงาม โขนหัวท้ายสมัยก่อนนิยมหัวเชิดงอนสูง ปัจจุบันโขนเรือ จะยกสูงพอที่เรือจะพุ่งแหวกทะยานไปในอากาศและน้ำได้ดี ไม่เกิดแรงกระทำที่ต้านอากาศ และแรงเสียดทานของน้ำมาก 14. การตอกตอม่อ ตอม่อ ทำมาจากไม้เนื้อแข็งเพื่อความทนทานสำหรับรับน้ำหนัก ประเภทตะเคียน เป็นไม้ขนาด 3 นิ้ว หนา 1.5 นิ้ว ความสูงเท่ากับระยะห่างระหว่างกระดูกงูกับไม้แอน เทคนิค ประสบการณ์ของช่างที่ต้องการให้เรืออ่อนหรือแข็ง เรือแข็ง ตอม่อต้องยาวพอสมควรและตอก ให้ประมาณลำละ 5 ตัว โดยวางตำแหน่งที่กลางเรือ 1 ไปทางโขนหัว 2 โซนท้าย 2 การตอก ตอม่อณจุดใด ช่างจะสังเกตลักษณะการวิ่งของเรือ หากเรือวิ่งดีสภาพสมบูรณ์ใช้ตอม่อเป็นตัว ช่วยรองรับน้ำหนักบางจุด หากสภาพเรือไม่สมดุล เวลาแล่นเรือขยับพะเยิบพะยาบจนถึงกับ ค่อย ๆ จนได้เรียกว่า “เรืออ่อน" ต้องเสริมด้วยการใส่ตอม่อในจุดที่เห็นว่าบกพร่องเพื่อมีส่วนช่วย ปรับและกระจายการรับน้ำหนักของฝีพาย 15. การทำพาย พาย สำหรับพายเรือเป็นเครื่องมือที่โบกพัดน้ำ ผลักดันให้เรือแล่นไปข้างหน้าหรือ ตามทิศทางที่ต้องการ ไม้ที่ทำพาย เป็นไม้สักที่ดีที่สุด โมกมัน ตะแบก หรืออื่น ๆ พายยาว 1.70 เมตร กว้าง 6 นิ้ว หนา 1.5 นิ้ว พายท้ายยาว 1.90 เมตร กว้าง 7 นิ้ว หนา 1.5 นิ้ว สำหรับ คัดท้ายเรือบังคับทิศทาง พายสำเร็จรูปมีขนาดความกว้างปลายใบ 6 นิ้ว ความยาวของใบพาย 50 เซนติเมตร ด้ามที่ถือพายยาว 1 เมตร พายท้ายยาว 1.25 เมตร พื้นที่ของใบพาย ทั้ง 120 ตารางนิ้ว จะออกแรงกระทำกับน้ำ จุดที่ฝีพายจับเป็นจุดบังคับทิศทาง 16. การตั้งชื่อเรือ การตั้งชื่อเรือเหมือนกับการตั้งชื่อเด็กที่เกิดใหม่ ชาวบ้านถือว่าเรือมีชีวิต เมื่อขุด แต่งเสร็จ เรือจะมีตัวตน จะตั้งชื่อที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเรือ เช่น สถานที่เรือหมู่บ้าน


22 ได้ไม้มาจากที่ใด หรือชื่อที่เป็นมงคลนำชัยมาสู่การแข่งขัน มีคำว่า “เจ้าแม่” “เทพ” นำหน้า เพราะเรือมีแม่ย่านาง เป็นหญิงมาประจำเรือ รุกขเทวดาประจำต้นไม้ที่ขุดเรือซึ่งเป็นชาย ชื่อหมู่บ้านตามสถานที่เกิดของเรือลำนั้น ชื่อแม่น้ำ หน่วยงาน หมู่บ้าน ร้านค้า เพื่อเป็นมงคลนาม และเป็นจุดรวมน้ำใจ ของชาวบ้านและเทือกเรือ ช่างจะแกะตัวอักษรที่เป็นชื่อติดหัวเรือด้านข้าง 2 ด้าน หรือตั้งบนโขน หัวเรือ โขนท้ายก็เขียนชื่อวัด สถานที่เรือลำนั้นมาจากที่ใด แสดงให้เห็น ถึงความสำคัญของเรือ ที่ขุดเสร็จเปลี่ยนสภาพใหม่ รับขวัญเรือใหม่ด้วยความยินดี ตั้งชื่อให้เป็น สิริมงคลแก่เรือแฝงด้วยความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมน้ำใจ ความศรัทธามุ่งมั่น ของเทือกเรือ ในการแข่งขันย่อมต้องมีเรือเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก การตั้งชื่อโดยใช้ชื่อที่มีที่มา จากสถานที่เกิดของเรือ หน่วยงานที่จัดส่งเข้าแข่งขันจะเป็นเอกลักษณ์ที่มาของเรือทำให้ติดปาก ติดตาผู้เข้าชมการแข่งขัน เรือยาว 17. การเบิกเนตรเรือ ชาวเรือถือว่าขณะนี้เรือเป็นสิ่งมีชีวิตเกิดใหม่มีชื่อเรียกเป็นมงคลนาม ก่อนทำการ ใด ๆ จึงต้องเบิกเนตรเรือก่อน เนตรเรือจะวาดเป็นสัญลักษณ์อยู่ส่วนบนของโขนหัวเรือทั้ง 2 ด้าน ไว้สำหรับดูทิศทาง ดูลม เป็นจุดที่แม่ย่านางอยู่ ผู้ทำพิธีได้แก่ พระ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และพระ เป็นผู้รู้พิธีกรรม ผ่านการบวชเรียน เป็นผู้ทรงศีล มีวิชาเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน เจ้าของเรือ นิมนต์พระมาทำพิธีเบิกเนตรเรือเป็นการฉลองเรือใหม่ อุปกรณ์ในการเบิกเนตรเรือ ได้แก่ น้ำมันจันทร์เครื่องหอม แป้งเจิม การเพิ่มเป็นพิธีแบบโบราณ และมีการประพรมน้ำมนต์ มีความ เชื่อว่าเมื่อเรือผ่านพิธีกรรมทางสงฆ์ มีความสะอาดบริสุทธิ์เหมาะที่จะเป็นที่อยู่ของแม่ย่านาง 18. พิธีเห่กล่อมแม่ย่านางประจำเรือ พิธีเห่กล่อมแม่ย่านางก็เพื่อให้เป็นที่พอใจจะได้มาสิงสถิตประจำอยู่ที่เรือตลอดไป สังเกตุได้ที่แผ่นทองเหลืองหุ้มที่หัวเรือแม่ย่านางถือเป็นศาลพระภูมิของเรือซึ่งจะคอยปกป้องมิให้ เกิดอันตรายและถือว่าแม่ย่านางอยู่ที่หัวเรือ ฉะนั้น จะมียอมให้ใครเหยียบหัวเรือหรือจะข้ามไป ไม่ได้ ตลอดจนเจ้าของเรือจะเคร่งครัดและจัดพิธีบูชาเห่กล่อมแม่ย่านาง การเห่กล่อมแม่ย่านาง จะไม่มีการถ่ายทอดให้คนนอก จะบอกเฉพาะคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิด ฉะนั้น ความรู้ ภูมิปัญญาไทยบางด้านจึงหายไปกับคนโบราณ ไม่มีการสืบทอดเพราะความหวงแหนเป็นเคล็ด วิชาเป็นของดีและไม่วางใจในพฤติกรรมลูกหลานว่าจะสืบทอดสิ่งดีต่อไปได้ นอกเสียจากคน ที่สนใจเป็นพิเศษอาจจจะได้วิชาเพราะครูพักลักจำ หลังจากนั้นเจ้าของเรือบางลำจะฉลองเรือ ด้วยการนำ เรือทวนหัว หรือเบิกวารีก่อนนำเรือลงแข่งขัน ต่อมาการเบิกวารีได้เลิกราหายไป เพราะไม่ช่วยให้เรือประสบชัยชนะในการแข่งขัน ชาวเรือใช้ชีวิตผูกพันกับสายน้ำ ฉะนั้น อันตราย ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ง่าย จึงต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจึงได้อ้อนวอนบนบาน


23 ให้ช่วยเหลือสืบเนื่องมาจากการเชื่อในสิ่งที่ตามองไม่เห็น ตั้งแต่เทพที่สิงสถิตอยู่กับต้นไม้ก่อนโค่น ตอนขุดเรือเพราะความรู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดแนวคิดที่เป็นมิติทางนามธรรมขึ้น อะไรที่มีคุณค่าสูงจะใช้คำว่า แม่ เพราะคำว่าแม่แทนมิติทางจิตวิญญาณ ในต้นไม้มีรุกขเทวดา ในเรือมีแม่ย่านาง เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ใช้สื่อความสัมพันธ์ในเชิงเคารพ ฉะนั้น มิติทางจิตวิญญาณ จึงถูกสร้างไว้เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคุณค่าอันสูงส่ง 19. พิธีการเอาเรือลงน้ำ การนำเรือลงน้ำต้องดูฤกษ์ดี เช่น ลงเวลาเพชรฤกษ์ ทำให้เรือกล้าแข็ง ลงเวลา ราชาฤกษ์ ทำให้เรือยิ่งใหญ่ โด่งดัง วันดี คือ วันที่เหมาะเป็นมงคล ทิศดี คือบ่ายหน้า 2-3 ก้าว แรกไปสู่ทิศเทวดาหรือทิศที่ถูกโฉลกเป็นมงคลกับเรือเพื่อเสริมความมั่นคง การนำเรือลงน้ำทำพิธี ใหญ่ฉลองให้กับเรือและเชื่อว่ามีส่วนทำให้เรือของตนชนะในการแข่งขัน บางแห่งจะจุดประทัด จุดธูปเทียน ขัดน้ำมัน ลงเทียนประดับประดาผูกผ้าแพรสีที่หัวเรือ มีหัวหมู บายศรี อันเชิญแม่ ย่านางลงเรือ การเอาเรือลงน้ำให้เอาหัวเรือแตะน้ำก่อนส่วนอื่นๆ ลูกเทือกก่อนขึ้นเรือจะต้องทำ ความเคารพแม่ย่านางก่อนหนึ่งครั้ง การบวงสรวงตั้งศาลพร้อมเครื่องเซ่นไหว้ เมื่อได้ฤกษ์ ก็ยกเรือลงน้ำร้องไชโยจุดประทัดยิงปืน 20. การเก็บเรือ เรือเป็นสิ่งของชิ้นใหญ่ ใช้เนื้อที่มากจึงจำเป็นต้องหาที่เก็บ โรงเก็บเรือที่ดีจะช่วย ยึดอายุของเรือดูแลรักษาเรือให้คงสภาพอยู่ได้นาน ไม้ไม่อ่อนตัว ไม่โค้งงอ บิด ชำรุด ผุกร่อน ถึงก่อนเวลา โรงเก็บเรือที่พบเห็นทั่วไป ได้แก่ ใต้ศาลาวัด การสร้างเพิ่งขึ้น โดยเฉพาะวางบน ขอนไม้ทำฐานเป็นขา ใช้เชือกรัดขึ้นโครงวางให้เข้าล็อคตามท้องเรือ ก่อนเก็บนั้นหากผู้ดูแล ทำความสะอาดเอาชันตะเคียนผสมน้ำมันทาไม้ยาแนวเรือและทาน้ำมันชักเงา น้ำมันยางให้ชุ่ม ป้องกันเพรียงกินเนื้อไม้จะรักษาสภาพเรือได้ดีที่สุด เพราะสาเหตุที่เรือนั้นเกิดจากน้ำ หรือความชื้นทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนในอากาศ 21. การซ่อมแซมเรือ ในการขุดเรือปัจจุบันหาไม้ทำการขุดได้ยาก เพราะจากสภาพธรรมชาติ ของต้นตะเคียนเป็นไม้ใหญ่โตช้า และควบคุมโดยกฎหมายห้ามตัดไม้ทำลายป่า ปิดป่า ดังนั้น การทำการซ่อมแซมปรับปรุงเรือเก่าเพื่อนำมาแข่งขันจะถูกกว่าการขุดหลายเท่าและหาไม้นำมา ซ่อมแซมได้ง่าย จะซ่อมปรับปรุงเป็นทรงอะไรก็ได้ ปรับปรุงเทคนิคให้แตกต่างจากเดิมก็ได้ เช่น เป็นรูปแอ่งกะทะท้องแบนหลังขาดเส้น หลักการแก้ไข มีดังต่อไปนี้ 1. แก้ไขให้เรือเพรียวโดยความหนาบางของเรือ เป็นได้ในกรณีที่เรือมีความหนา พอที่ให้เนื้อเรือบางลงโดยการถาก ขัดใหม่ ทำให้ส่วนที่เสื่อม ชำรุด รอยแตกแยกมีสภาพดีดังเดิม


24 2. แก้ไขจุดรับน้ำหนักเรือ การวางกงเรือใหม่ทำให้เรือแข็งแรงขึ้น กง เป็นส่วน ที่ถูก ใช้งานหนักย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา เปลี่ยนไม้กงใหม่ ปรับความถี่ห่างของกงเพื่อความ เหมาะสมการติดกระทงนั่งใหม่ เปลี่ยนขนาดของกระทง ให้มีความหนาแน่นแข็งแรง การปรับเปลี่ยนไม้แอนกลางลำเรือซึ่งเป็นตัวช่วยเชื่อมต่อรองรับน้ำหนักเรือ ฝีพายเรือกับตอม่อ 3. แก้ไขสภาพเรืออ่อน เรือแข็ง โดยการปรับตอม่อ การเปลี่ยนตำแหน่งตอม่อ ความสูง ความถี่ห่าง เป็นจุดที่ช่างใช้แต่งแก้เรือที่เป็นหัวใจสำคัญ การใช้หวายขัน หวายที่ผ่าน การนวดแล้วหลายๆหน จะมีความเหนียวยืดหยุ่นโดยธรรมชาติ เมื่อนำมาขันชะเนาะยึดในแนว ติดกับกระทงนั่งเป็นช่วงๆ สามารถแก้ความแข็ง อ่อนตัวหรือการเด้งของเรือได้ ปัจจุบันบางลำ ใช้ลวดสลิงยึดแทน คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรือ กระดูกงู คือ โครงหลักที่วางตลอดหัวถึงท้ายเรือ เป็นแกรของเรือ เมื่อวางกระดูกงูแล้วต้อง ตั้ง “กง” บนกระดูกงู กงเรือ คือ ไม้รูปโค้งใช้เป็นโครงเรือ หรือไม้ท่อนหน้าทำเป็นรูปโค้ง ติดตามขวางตลอดลำ เรือ ส่วนล่างของกงตรงกลางส่วนโค้ง ยึดติดกับกระดูกงู โขนเรือ คือ ไม้สลักรูปลอยตัวติดอยู่ที่หัวเรือ เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อ ความงามทางศิลปะ และแสดงยศศักดิ์ของผู้ที่เป็นเจ้าของ เบิกเรือ คือ ถ่างเรือที่ทำเป็นรูปแล้วให้ผายออก มี 3 วิธีด้วยกัน คือ เบิกไฟ เบิกน้ำ และ เบิกปากขวาน แม่ย่านาง คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาเรือ โดยปกติเชื่อว่าหัวเรือเป็นที่สถิตของแม่ย่านาง ชาวเรือจึงห้ามเหยียบหัวเรือ กราบ คือ ไม้เสริมแคมเรือให้สูงขึ้น หรือส่วนของเรือตอนที่มีไม้เสริม หรือไม้กระดานที่ ติดตรงแคมเรือไปตามแนวนอนสำหรับเดิน4 4 การต่อเรือยาวและพิธีกรรม https://www.happinessbangsaotong.com/index.php/long-boat/


25 วิวัฒนาการเรือยาวไทย 5 เรือยาวมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำเป็นกีฬาชาวบ้านอันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต อันดีงาม ความผูกพันระหว่างสายน้ำกับชีวิต เรือกับวิถีชีวิตบนพื้นฐานของความศรัทธาเสื่อมใส ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันนำมาซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของบวร ซึ่งแปลว่า ประเสริฐ อันได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นองค์กรพื้นฐานของชุมชนชนบทไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ ชาติ เรือยาวประเพณีไทยได้มีวิวัฒนาการจากวิถีชีวิตมาสู่ประเพณี และวิวัฒนาการไปสู่ระบบ การแข่งขันนานาชาติในปี พ.ศ.2531 อันเป็นทรัพยากรด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญจน เป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่ว กระทั่งพัฒนาไปสู่การกีฬาในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และ ระดับประเทศสามารถจำแนกวิวัฒนาการได้เป็น 1.ยุคอดีต แต่ละคุ้มบ้าน คุ้มวัด ในทุกลุ่มน้ำสยามประเทศนิยมหาไม้ตะเคียน นำมาขุดเป็นเรือยาวร่วมการแข่งขันอันแสดงออกถึงความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ เพื่อสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่คุ้มบ้าน คุ้มวัดของตนเอง ช่างขุดเรือที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ที่ควรจารึกไว้ในความทรงจำตลอดไปว่าเป็นบรมครูแห่งภูมิปัญญาช่างไทยในการขุดเรือยาว อาทิตย์ 1.ช่างเสริม เชตวัน บ้านเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์ 2.ช่างมา นคร บ้านเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์ 3.ช่างเลิศ โพธิ์นามาศ บ้านหัวดง จ.พิจิตร 4.ช่างวัน มีทิม บ้านแหลมทราย อ.หลังสวน จ.ชุมพร 2.ยุคทำสาว เป็นคำฮิตในยุทธจักรเรือยาวทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐมีนโยบาย ปิดป่าเพื่อคืนความสมดุลย์สู่ธรรมชาติ จึงเริ่มนำเรือเก่าเรือแก่มาซ่อมแซมปรับปรุง ตกแต่ง แก้ไข กันใหม่ เรียกว่าทำสาวใหม่ให้มีรูปร่างที่ทันสมัยขึ้น และประสบชัยชนะจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ซึ่งช่างทำสาวเรืออันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ได้แก่ พระอธิการสมศักดิ์ สุวณโณ วัดสุวรรณราชหงส์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง, ช่างสงวน สูญนภา บ้านเฉลิมอาสน์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หรือช่างเกียรติศักดิ์ อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นต้น ในด้านทีมเรือก็มีมิติใหม่ เกิดขึ้น คือ หน่วยราชการที่มีกำลังพลที่ 4 เหล่าทัพส่งกำลังพลมาเล่นเรือเพื่อร่วมรักษาประเพณี ชาวบ้าน รวมทั้งเป็นการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของหน่วยงาน 5 ประวัติเรือยาวประเพณี เรือยาวมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ https://myweb.cmu.ac.th/550210150


26 3.ยุคเรือลาว นำมาทำสาวไทยภายหลังการแข่งขันเรือยาวเป็นที่นิยมแพร่หลาย มากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลแห่งโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเห็นความสำคัญ ของกีฬาชาวบ้าน มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำสยามประเทศ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดสดในสนาม ต่าง ๆ จึงมีภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐตระหนักถึงความสำคัญส่งทีมเรือเข้าร่วมการชิงชัย และธำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำนี้ไว้ จึงมีการแสวงหาเรือโบราณ จากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) เข้ามาทำการตกแต่งแก้ไขทำสาวใหม่ด้วยฝีมือของชาวไทยเพราะ ราคาถูกกว่าเรือไทยเป็นยิ่งนัก 4.ก้าวสู่นานาชาติ และกีฬาแห่งชาติ ปัจจุบันเรือยาวประเพณีเป็นกีฬาทางน้ำบน พื้นฐานของวัฒนธรรมประเพณีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายจนก้าวสู่การแข่งขันเรือนานาชาติเพื่อ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และฝีพายแห่งสยามประเทศก็ประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงให้แก่ ประเทศไทยในการแข่งขันในน่านน้ำสากลทั่วโลก ประการสำคัญวงการเรือยาวประเพณีได้รับ การยอมรับจากวงการกีฬาระดับชาติบรรจุเข้าชิงชัยเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติโดย การพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปให้ได้มาตรฐานกีฬาสากลทั่วไป 5.ยุคฝีพายมืออาชีพ พาณิชย์แทรกแซง สังคมไทยยุคปัจจุบันเงิน หรือวัตถุดิบ เจริญรุดหน้ากว่าจิตใจตลอดจนภาระกิจในการยังชีพในเศรษฐกิจยุคปัจจุบันส่งผลกระทบ ก่อให้เกิดความสับสนต่อวิถีชีวิตอันดีงามเป็นยิ่งนัก แต่เดิมการแข่งขันเรือยาวประเพณีจากวิถี ชีวิตอันดีงาม เพื่อความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดจนเพื่อนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศ แห่งคุ้มบ้านคุ้มวัดก่อให้เกิด ฝีพายมืออาชีพรับจ้างพายเรือด้วยค่าตัวที่สูงส่ง และด้วยอำนาจของ เงินตรา บางครั้งทำให้หลงลืมคำว่าประเพณี และวิถีชีวิตอันดีงามของบรรพชนไปอย่างน่า เสียดาย หรือเกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่ผิดจากการจัดการแข่งขันเป็นสิ่งที่พึงสังวร ระวังเป็นยิ่งนัก หรือเกิดการเบี่ยงเบนจากคุณงามความดีอันเป็นภูมิรู้ภูมิธรรมของบรรพชนอย่าง แท้จริง นำเสนอโดย…“(ขุนโจ้) พิษณุโลก” อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ เลขานุการชมรมเรือยาว จังหวัดพิษณุโลก กรรมการบริหารสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก


27 ประเภทของเรือยาว สามารถจำแนกโดยอาศัยจำนวนฝีพาย เป็นตัวกำหนดขนาดในการแบ่งประเภท ของการแข่งขันได้เป็น 4 ประเภท คือ 1. เรือยาวใหญ่ ใช้ฝีพาย ตั้งแต่ 41-55 คน 2. เรือยาวกลาง ใช้ฝีพาย ตั้งแต่ 31-40 คน 3. เรือยาวเล็ก ใช้ฝีพายไม่เกิน 30 คน 4. เรือยาวจิ๋ว ใช้ฝีพายไม่เกิน 12 คน เรือยาวจิ๋วยังจำแนกได้อีกเป็น 3 ประเภทคือ - เรือจิ๋วใหญ่ ฝีพาย 12 คน - เรือจิ๋วกลาง ฝีพาย 10 คน - เรือจิ๋วเล็ก ฝีพาย 7-8 คน จำแนกด้วยความเร็ว จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท ก เรือยาวที่ทำการแข็งขันแล้ววิ่งจัด ประเภท ข เรือยาวที่ทำการแข็งขันแล้ววิ่งปานกลาง การแข่งขันเรือยาว 55 ฝีพาย ที่มา : ประเพณีการแข่งขันเรือยาวในจังหวัดพิจิตร


28 การบริหารจัดการทีมเรือ ในยุคสมัยการแข่งเรือที่เปลี่ยนไป จากเดิมใช้แข่งขันเพื่อความสนุกสนาน พัฒนาจนมาเป็นกีฬาเพื่อชิงชัยกันในระดับสากล ความคาดหวังต่อผลลัพท์เมื่อลงแข่งขันเกิดเป็น แรงกดดันมากยิ่งขึ้น ทีมเรือต่อ 1 ทีม มีสมาชิก 30 ถึง 50 คน และอาจมากกว่านั้น ภายใตระบบ เศรษฐกิจที่ค่าเงินสูง การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนกับการเตรียมทีมที่สูงตามไปด้วย ดังนั้นการบริหารจัดการทีมเรือจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากมองให้เห็นถึงความคุ้มค่าทางการเงินอาจ คงมองไม่เห็นทางออกที่คุ้มค่าพอ แต่หางมองให้เห็นถึงความรักความผูกพัน และความต้องการ สืบสานประเพณีของตนที่เคยมีมาช้านาน ก็เพียงพอต่อความคุ้มค่าเพื่อการรักษาให้คงอยู่ต่อไป ดังนั้นผู้ที่จะร่วมเป็นฝีพายส่วนใหญ่แล้วต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า การเป็นฝีพายอาจไม่ได้รับ การตอบแทนด้วยเงินเสมอไป แต่เป็นความภาคภูมิใจ และมิตรภาพที่มีต่อกันในวงการ พายเรือยาว การจัดการทีมเรือในปัจจุบันสิ่งสำคัญ ที่เห็นได้ชัดอันดับแรก คือการมีใจรักและ จิตอาสา โดยมีข้อตกลงแนวทางข้อกำหนดการบริหารทีมร่วมกัน การจัดการทีมอาจมีการ กำหนดให้มีตำแหน่งการบริหารจัดการทีมที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปอาจมีตำแหน่ง เช่น ผู้จัดการทีม หัวหน้าทีม ผู้ฝึกสอน ฝีพาย เป็นต้น นอกเหนือจากนี้บางทีมอาจมีหน่วยงาน องค์กร หรือผู้สนับสนับสนุน คอยให้ความช่วยเหลือในการบริหารทีม ทีมเรือยาว “จันทราทิพย์”จันทบุรี ที่มา : Facebook : ทีมเรือยาว"จันทราทิพย์"จันทบุรี


29 กติกาการแข่งขันเรือยาว 6การแข่งขันเรือที่เป็นทางการ จะมีการกำหนดจำนวนฝีพายให้เท่ากันเพื่อความ ยุติธรรม เรือแต่ละลำมีฝีพายได้ตั้งแต่ 2-3 คน 5 คน 10 คน ไปจนถึง 30 คน แต่ไม่เกิน 50 คน ก่อนทำการแข่งขันจะต้องมีการจับฉลากเลือกว่าเรือจะอยู่ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งตะวันตก ส่วนสำคัญต่อการแข่งขันอีกอย่างคือ กระแสน้ำ ถ้าน้ำแรง เรือจะวิ่งได้เร็ว เรือแต่ละลำจะต้องวิ่งในกระแสน้ำของตน ถ้าวิ่งผิดจะถูกปรับแพ้ทันที สมัยโบราณมักแข่งขันใน ระยะประมาณ 500 เมตร แต่ปัจจุบันขึ้นอยู่กับสนามแข่งรวมทั้งกติกาและข้อตกลงต่างๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น การแข่งเรือยาวจังหวัดพิจิตร เป็นงาน แข่งเรือยาวที่โด่งดังไปทั่วประเทศ มักจัดในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน ของทุกปี โดยจัดที่บริเวณลำน้ำน่าน หน้าวัดท่าหลวง อำเภอเมือง ใช้ระยะทางในการแข่งขัน 650 เมตร แบ่งออกเป็น 2 ลู่ โดยการวางทุ่นใช้เชือกขึงข้ามแม่น้ำ ลู่ตะวันออกจะแขวนธงแดง ลู่ตะวันตกแขวนธงน้ำเงิน เส้นชัยจะปักเสาสีแดงไว้ที่ริมฝั่งตรงข้ามกับกรรมการปล่อยเรือ และมี เรือกรรมการใช้สำหรับควบคุมให้เรือแต่ละลำอยู่ในลู่ที่กำหนด และให้สัญญาณปล่อยเรือโดยการ ยิงปืน ตัวอย่าง กติกาการแข่งเรือยาว จังหวัดกาฬสินธุ์ รอบแรก กรรมการรับสมัครเรือจำนวน 16 ลำ จับสลากแบ่งสายออกเป็น 4 สาย แข่งขันแบบ พบกันหมดในสาย เปลี่ยนลู่น้ำ นำเรือที่ได้คะแนนที่ 1-2 ของแต่ละสายไปจับสลากแบ่งออกเป็น 2 สาย (สาย ก – ข) เพื่อแข่งขันในรอบที่ 2 รอบที่สอง ดำเนินการแข่งขันเหมือนรอบแรก เรือที่มีคะแนนที่ 1 – 2 มีสิทธิ์เข้าแข่งขันในรอบ รองชนะเลิศ รอบรองชนะเลิศ จัดแข่งขันดังนี้ คู่ที่ 1 เรือชนะที่ 1 สาย ก. พบกับเรือที่ 2 สาย ข. คู่ที่ 2 เรือชนะที่ 1 สาย ข. พบกับเรือที่ 2 สาย ก. การแข่งขันในแต่ละคู่เปลี่ยนทางน้ำมีผลแพ้ – ชนะ 2 ใน 3 เที่ยว เพื่อหาเรือไปแข่งขันในรอบ ชิงชนะเลิศ 6 https://nanboatracing.wordpress.com/กติกาการแข่งขันเรือยาว/ประเภทของเรือยาว/


30 รอบชิงชนะเลิศ จัดแข่งขันดังนี้ – นำเรือที่ชนะของแต่ละคู่ของรอบรองชนะเลิศมาแข่งขันชิงที่ 1 และ 2 – นำเรือที่แพ้ของแต่ละคู่ของรอบรองชนะเลิศมาแข่งขันชิงที่ 3 และ 4 – แพ้-ชนะ 2 ใน 3 เที่ยว ข้อกำหนดอื่นๆ 1. เรือทุกลำที่เข้าทำการแข่งขันต้องมาให้ถึงสนามแข่งขันก่อนเวลา 08.00 น. ของวันที่ทำการ แข่งขัน พร้อมให้ตัวแทน หรือหัวหน้าเรือ ไปรายงานตัวต่อคณะกรรมการที่กองอำนวยการ ถ้าเรือใดมาช้ากว่ากำหนด กรรมการจะพิจารณาเป็นรายๆไป และเรือลำใดที่ไม่ลงเทียบท่า ในเวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นพิธีเปิดคณะกรรมการจะพิจารณาตัดเงินค่าเทียบท่าลำละ 300 บาท 2. เรือทุกลำที่ทำการแข่งขันต้องวิ่งในลู่ที่กำหนด ถ้ามีการตัดลู่น้ำจะโดยเจตนา หรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการจะปรับแพ้ในเที่ยวนั้น 3. เรือทุกลำต้องพร้อมที่จะเข้าทำการแข่งขันได้ทันทีเมื่อถึงเวลากำหนดในสูจิบัตร และเมื่อ กรรมการจุดปล่อยเรือเรียกเข้าประจำที่ ถ้าเข้าประจำที่ช้าเกินกว่า 5 นาที หลังจาก คณะกรรมการเรียกแล้ว จะถูกปรับแพ้ในเที่ยวนั้น และให้คณะกรรมการปล่อยเรือคู่แข่งพาย ตามลู่น้ำของตนลงมาถึงเส้นชัยจึงจะถือว่าเป็นฝ่ายชนะ หากเรือลำใดไม้คาดแตกหรือหัก กรรมการจะอนุญาตให้เปลี่ยนไม้คาดใหม่ ภายในเวลาไม่เกิน 20 นาที ถ้าเกินจะปรับเป็นแพ้ โดยให้ไปรายงานกับกรรมการจุดปล่อยเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และจับเวลา 4. เรือทุกลำห้ามถอดหัวเรือในขณะทำการแข่งขัน 5. เมื่อเรือแต่ละลำทำการแข่งขันของแต่ละเที่ยวผ่านไปแล้ว ให้รีบกลับไปลอยลำ รอการแข่งขัน ในเที่ยวต่อไป ณ จุดปล่อยเรือ โดยล่องเรือเลียบฝั่งทิศเหนือ 6. ในขณะทำการแข่งขันหากฝีพายของเรือลำใดตกลงจากเรือจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการจะปรับให้แพ้ในเที่ยวนั้น แต่ถ้าฝีพายตกด้วยกันทั้งสองลำ กรรมการจะตัดสินให้ เรือที่ถึงเส้นชัยก่อนเป็นลำชนะ 7. ห้ามเรือทุกลำทำการฝึกซ้อมในสนามแข่งขันหลังจากพิธีเปิดทำการแข่งขันของแต่ละวัน 8. คะแนนในการแข่งขันรอบที่ 1 และรอบที่ 2 เรือชนะได้ 3 คะแนน เรือเสมอกันให้ลำละ 1 คะแนน และเรือแพ้ได้ 0 คะแนน 9. หากเรือลำใดมีคะแนนเท่ากันในรอบคัดเลือก (รอบที่ 1 หรือรอบที่ 2) ให้จับสลากลู่น้ำแข่งขัน กันใหม่ เพื่อหาลำชนะเข้ารอบต่อไป โดยแข่งเที่ยวเดียว 11. การปล่อยเรือในส่วนถาวรของเรือเสมอกัน และการตัดสิน แพ้- ชนะ ของคณะกรรมการ จะตัดสินส่วนถาวรของเรือถึงเส้นชัยเป็นเกณฑ์


31 12. ให้เรือทุกลำที่ทำการแข่งขันของแต่ละวัน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำกองอำนวยการไว้ลำละ 1 คน เพื่อติดต่อประสานงานตลอดจนร่วมแก้ปัญหาอันอาจมีขึ้นกับฝ่ายจัดการแข่งขัน 13. ถ้าฝีพายหรือตัวแทนเรือลำใดมีกริยา วาจาไม่สุภาพเรียบร้อยต่อคณะกรรมการดำเนินการทำ ให้เป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียง คณะกรรมการอาจพิจารณาปรับให้เรือลำนั้นแพ้ฟาล์ว และปรับไม่ให้ เข้าร่วมแข่งขันในสนามนี้อีก เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี 14. การตัดสินของคณะกรรมการถือว่าเด็ดขาด หากเรือลำใดจะประท้วงให้ยื่นคำร้องขอประท้วง เป็นลายลักษณ์อักษร ต่อคณะกรรมการรับการประท้วง พร้อมทั้งหลักฐาน และเงินค่าประกัน ครั้งละ 100 บาท และจะคืนเงินค่าประกัน ถ้าการประท้วงเป็นผล และให้ยื่นประท้วงภายใน เวลา 20 นาที หลังจากการแข่งขันเรือในเที่ยวนั้นๆ7 7 ประเพณีแข่งเรือยาว การละเล่นพื้นบ้านแข่งเรือ จังหวัดกาฬสินธุ์https://siripanooploy.wordpress.com/


32 เทคนิคการฝึกหัดพายเรือยาวสำหรับมือใหม่ สำหรับฝีพายมือใหม่ หากมีความชอบ และต้องการจะเป็นนักกีฬาพายเรือยาว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ร่างกาย ทักษะ จิตใจ และการให้ความสำคัญกับการสืบสาน ขนบธรรมเนียมประเพณีเพราะการพายเรือยาว เป็นทั้งการละเล่นพื้นบ้าน และกีฬา มีความเชื่อ และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่สืบทอดมาช้านาน เป็นทั้งองค์ความรู้จากภูมิปัญญา ที่ควรค่ากับการศึกษาเรียนรู้ และเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันถึงในระดับชิงแชมป์โลก ผู้ที่เป็นฝีพาย จึงควรมีความเข้าใจ ศึกษาเรียนรู้พัฒนาตนเองให้มีความเชี่ยวชาญ ความถนัดของฝีพาย (นักกีฬาพายเรือยาว) ก่อนเริ่มฝึกพายเรือ นักกีฬามือใหม่ต้องทราบว่าตนเองมีความถนัดด้านซ้าย หรือด้านขวา เพราะการวางตำแหน่งฝีพายบนเรือยาว จะกำหนดให้มีการนั่งสลับกราบซ้ายและ กราบขวา การพายให้ได้กำลังที่ดี คือการพายด้านที่ตนเองถนัด ในลักษณะการพายเรือ คือ แขน ที่ถนัดควรอยู่ด้านล่าง มีหน้าที่ดึง แขนที่ไม่ถนัดควรอยู่ด้านบน มีหน้าที่ดัน ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/1375825/


33 การจับด้ามพาย (ใบพาย) โดยปกติไม้พายเรือยาว จะทำจากไม้เนื้อแข็ง มีความยาวแตกต่างกัน โดยประมาณ 125 - 170 ซม. ขึ้นอยู่กับความถนัดของฝีพาย การจับไม้พายที่ถูกต้องสามารถช่วย ให้เรือมีความเร็วขึ้นได้ โดยฝีพายต้องใช้ทั้งการสังเกตและการฝึกฝน ตามแต่เทคนิคที่ได้เรียนรู้ โดยปกติแล้วการจับด้ามพายที่ดี มีเทคนิค คือใช้มือถนัดอยู่ด้านล่าง และมือไม่ถนัดอยู่มือบน อาจมีการสลับกันได้ในกรณีจำเป็น โดยที่มือล่างมีหน้าที่ดึง ให้จับด้ามพาย 1 กำมือชิดกับใบพาย แล้ววัดขึ้นไปอีก 1 กำมือ เป็นกำมือที่ 2 จุดจับที่เหมาะสมคือกำมือที่ 2 ซึ่งห่างจากใบพาย 1 กำมือ เนื่องจากในขณะที่นำใบพายลงน้ำจะทำให้ได้น้ำลึก โดยสังเกตให้นิ้วก้อยกำมือที่จับด้าม พายด้านล่างให้สัมพัศกับผิวน้ำ ในขณะที่ลากไม้พาย หากจับใบพายต่ำไปหรือชิดใบพาย ในบางจังหวะหากเกิดการเหนื่อยล้า ความสามารถที่ใบพายจะกินน้ำก็จะมีประสิทธิภาพน้อยลง ส่วนมือบนลักษณะการจับขึ้นอยู่กับความถนัด หรือตามลักษณะรูปแบบไม้พาย มีหน้าที่ดันไป ด้านหน้า พร้อมกับดึงตัวขึ้น ตำแหน่งการจับด้ามพาย ที่มา : VDO เทคนิคการพายเรือยาว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน


34 การนั่งและตำแหน่งบนเรือยาว การนั่งบนเรือยาวสิ่งที่รองนั่งมีชื่อเรียกว่า กระทงเรือ การนั่งที่เหมาะสมคือการ นั่งเพียงครึ่งของกระทงเพื่อกันการหงายหลัง ยืดขาไปด้านหน้าใช้เท้าดันกับกระทงเรือ ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/43788 ตำแหน่งการนั่งบนเรือยาว มีความสำคัญและมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละ ตำแหน่งฝีพายต้องเรียนรู้และเข้าใจในหน้าที่ของแต่ละตำแหน่ง โดยมีการแบ่งตำแหน่ง คือ นายหัว ฝีพาย และนายท้าย มีหน้าที่ ดังนี้ - นายหัว ตำแหน่งที่นั่งคือหัวเรือสุด มีหน้าที่ นำจังหวะและตัดสินใจในจังหวะ ต่างๆ เช่นการออกตัว เดินกลาง เดินปลาย หรือการกำหนดให้เรือเดินช้า เดินเร็ว ด้วยการใช้ สัญลักษณ์ เสียง หรือการเคาะเรือ ขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละทีม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการ เป็นนายหัว คือ การยอมรับและความไว้ใจ จากสมาชิกเรือทุกคน นายหัวมิได้มีเพียงหน้าที่พาย หรือให้จังหวะ แต่ยังต้องเป็นผู้ที่คอยสร้างขวัญกำลังใจ ปลุกระดมให้เกิดความฮึกโหม และต้องมี เทคนิคชั้นเชิงในการสร้างความได้เปรียบเมื่อต้องแข่งขัน


35 นายหัว ที่มา : https://www.thaipbs.or.th/program/LongBoat/episodes/39739 - ฝีพาย ตำแหน่งที่นั่ง คือ กลางลำเรือตั้งแต่ถัดจากนายหัวไปจนถึงก่อนนายท้าย อาจมีการนั่งแบบแถวตอนแถวเดียว หรือสลับกราบซ้ายกราบขวา มีหน้าที่ออกแรงพาย ให้พร้อมเพียง ต้องจดจำจังหวะ มีความเข้าใจในเทคนิค และแผนการพายของทีม ฝีพาย ที่มา : https://www.thaipbs.or.th/program/LongBoat/episodes/39739


36 - นายท้าย ตำแหน่งที่นั่ง คือ ท้ายสุดของลำเรือ มีหน้าที่หลักคือ บังคับเรือให้ตรง และคอยบอกให้สัญญาณต่างๆ คล้ายกับนายหัว เนื่องจากนายท้ายคือผู้ที่สามารถมอง สถานการณ์ภาพรวมได้ทั้งหมด นายท้ายต้องสามารถยืนทรงตัวบนเรือได้ในบางจังหวะการคัด เรือให้ตรง หรือการส่งเรือให้พุ่งอาจทำในท่ายืนในขณะที่เรือกำลังแล่น และมีการเหวี่ยง ตลอดเวลาจึงต้องมีความสามารถในการทรงตัวที่ดีเพื่อสร้างความได้เปรียบ แรงส่งเรือจาก นายท้ายสามารถสร้างแรงพุ่งเสริมความเร็วให้กับฝีพายได้โดยต้องอาศัยประสบการณ์การ ตัดสินใจ ว่าเมื่อไหร่จะคัดหรือเมื่อไหร่จะจ้วง จะต้องสามารถดูหรืออ่านล่องน้ำได้ว่าล่องไหน มีความเหมาะสม กล่าวคือต้องเข้าล่องน้ำให้เป็น เนื่องจากแต่ละล่องน้ำมีกระแสการไหลของน้ำ ไม่เท่ากัน นายท้าย ที่มา : Facebook เรารักเรือยาว We Love Longboat


37 ทักษะการพายเรือยาว การแข่งขันเรือยาว เป็นการแข่งขันที่ต้องอาศัยเทคนิค และความพร้อมเพียง ของฝีพายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันในประเภทที่มีฝีพายจำนวนมาก ใน 1 ลำเรือ อาจมีฝีพายถึง 55 คน ดังนั้นการฝึกซ้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ฝีพายเกิดความพร้อมเพียง และเข้าใจระบบเทคนิคต่างๆที่ผู้ฝึกสอนแต่ละทีมได้ฝึกสอนให้ การเตรียมความพร้อมเบื้องต้นที่ดี ที่สุด คือการเตรียมความพร้อมตนเองทั้งร่างกายและทักษะการพายเรือ โดยทักษะการพายเรือ เบื้องต้นสามารถฝึกได้ด้วยตนเอง มี 4 ขั้นตอน ให้ฝึกทีละ 1 ขั้นตอน โดย 1 ขั้นตอน ให้เรียกว่า 1 จังหวะคือ 1. พุ่งด้านหน้า เหยียดแขนแบบซูเปอร์แมน ให้ผู้ฝึกจับไม้พาย โดยให้มือข้างถนัดจับด้านล่าง กำด้ามพายให้เต็มมือ จุดที่กำห่างจากใบพาย 1 กำมือ มือที่ไม่ถนัดให้จับปลายพายบริเวณที่ออกแบบสำหรับให้จับ หรืออาจสลับด้านเมื่อจำเป็น จับซูเปอร์แมนโดยการก้มตัวไปด้านหน้า ให้หลังตรง สายตามองไป ด้านหน้า เหยียดมือบนไปด้านหน้าให้แขนตึง สูงระดับไหล่ของเพื่อที่อยู่ด้านหน้า แขนด้านล่างให้ กางซอกออกเล็กน้อย เพื่อความพร้อมในขั้นตอนต่อไป เหยียดแขนแบบซูเปอร์แมน ที่มา : VDO เทคนิคการพายเรือยาว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน


38 2. ยกมือบน มือล่าง ทรงตัว A ให้ผู้ฝึกจับไม้พาย เหยียดแขนด้านล่างพุ่งไปด้านหน้า ให้แขนตึง มือบน และลำตัวให้อยู่ในลักษณะเดิมในท่าเหยียดแขนซูเปอร์แมน ท่าจะคล้ายกับตัว A แนวนอน ยกมือบน มือล่าง ทรงตัว A ที่มา : VDO เทคนิคการพายเรือยาว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน 3. เอาใบลงน้ำ ให้ผู้ฝึกจับไม้พาย จับในลักษณะเดิมในท่าทรงตัว A แล้วกดไม้พาย ให้ลงพื้นในกรณีฝึกบนบก หากฝึกในน้ำให้จุ่มใบพายลงน้ำ ให้ลึกจนผิวน้ำสัมพัสนิ้วก้อนมือล่าง ใบลงน้ำ ที่มา : VDO เทคนิคการพายเรือยาว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน


39 4. ดึง - ดัน – ดึง หลักจากนำใบพายลงน้ำ ในจังหวะดึง ดัน ดึง หมายถึง ให้ผู้ฝึกดึงมือล่าง ในลักษณะโกยน้ำให้ไปด้านหลัง ดันมือบนไปด้านหน้าเพื่อช่วยออกแรงให้กับมือล่าง ยกตัวขึ้น ให้กลับมานั่งในท่าหลังตรงตั้งฉากกลับพื้น โดยทำ ดึง ดัน ดึง พร้อมกัน เป็น 1 จังหวะ \ ดึง-ดัน-ดึง ที่มา : VDO เทคนิคการพายเรือยาว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน หลังจากฝึกครบ 4 ขั้นตอน ให้ยุบรวม 2 ขั้นตอน เป็น 1 จังหวะ จาก 4 ขั้นตอน เป็น 2 จังหวะ โดยการรวมขั้นตอนดังนี้ จังหวะที่ 1 คือ พุ่งด้านหน้า เหยียดแขนแบบซูเปอร์แมน + ยกมือบน มือล่าง ทรงตัว A จังหวะที่ 2 คือ เอาใบลงน้ำ + ดึง - ดัน – ดึง หลังจากยุบ 4 ขั้นตอน เหลือ 2 จังหวะ ขั้นสุดท้าย ให้ ยุบ 4 ขั้นตอน เป็นจังหวะ เดียว โดยให้ทำพร้อมกัน ทั้ง 4 ขั้นตอน


40 การนับใบ เมื่อมีความเข้าใจในขั้นตอน จังหวะต่างๆแล้ว การฝึกซ้อมด้วยตนเอง ให้ฝึกทำ เป็นจังหวะตามรูปแบบการนับที่ฝีพายนิยมใช้กัน คือ - การนับเป็นใบ : การนับเป็นใบจะใช้สำหรับการออกตัว (ทักษะ 4 ขั้นตอน จำนวน 1 รอบ = 1 ใบ) - การนับเป็นคู่ : การนับเป็นคู่จะใช้สำหรับการเดินทาง ลูกต่อเนื่อง ใช้สำหรับยืด สร้างระบบบการหายใจ เพื่อ ยืดให้ไกล ให้ยาว (ทักษะ 4 ขั้นตอน จำนวน 2 รอบ = 1 คู่) การฝึกซ้อม คือ การเตรียมความที่ดีที่ของการเป็นนักกีฬา ดังนั้นหากมีความ ต้องการที่จะเป็นฝีพายที่ดี ก็จะต้องหมั่นฝึกซ้อมให้เกิดความชำนาญ โดยเฉพาะฝีพายมือใหม่ การมีทักษะที่ดีแล้วก็จะสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดความเชี่ยวชาญได้นอกเหนือจากการฝึก ทักษะแล้วนั้น การหาความรู้ เรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆ และการมีระเบียบวินัยในตนเอง จะช่วย ให้ประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น


41 บรรณานุกรม เรืองรัตน์ ฤทธิ์วิรุฬห์ (2540). การแข่งขันเรือยาวประเพณี : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวพิษณุโลก. ยุทธพงษ์ เมษพันธุ์ (2552): ปัจจัยที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการ เทศกาลและงานประเพณีท้องถิ่นให้ยั่งยืน การต่อเรือยาวและพิธีกรรม https://www.happinessbangsaotong.com/index.php/long-boat/ ประวัติเรือยาวประเพณี เรือยาวมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ https://myweb.cmu.ac.th/550210150 https://nanboatracing.wordpress.com/กติกาการแข่งขันเรือยาว/ประเภทของเรือยาว/ ประเพณีแข่งเรือยาว การละเล่นพื้นบ้านแข่งเรือ จังหวัดกาฬสินธุ์ https://siripanooploy.wordpress.com/ บทสัมภาษณ์ นายนิปกรณ์ เพชรฉลอง อดีตนักกีฬาเรือยาวมังกร ทีมชาตืไทย : 19 มกราคม 2567 สำนักศิลปวัฒฯธรรมและพัฒนาชุมชน. บทสัมภาษณ์ นายสมเกียรติ เกษราธิคุณ ผู้จัดการทีมเรือพรหลวงพ่อใหญ่ : 19 มกราคม 2567 สำนักศิลปวัฒฯธรรมและพัฒนาชุมชน.


Click to View FlipBook Version