มหาเวสสันดรชาดก
กัณฑ์มัทรี
จัดทำโดย
นางสาวณฐวร อุทัยเลิศ ม.๕/๖ เลขที่ ๒๐
เสนอ
อาจารย์อัจฉรา แดงอินทวัฒน์
หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาภาษาไทย
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕
คำนำ
หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวิชาภาษาไทย
รหัสวิชา ท๓๒๑๐๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
การศึกษาหาความรู้ในเรื่องพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี
โดยหนังสือเล่มเล็กเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของพระนางมัทรี
ที่มีต่อลูก และข้อคิดต่างๆในเรื่องที่ได้จากเรื่องที่สามารถนำไปปรับใช้
ในชีวิตประจำวันได้
หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความกรุณาจาก
อาจารย์อัจฉรา แดงอินทวัฒน์ ที่ได้ให้คำปรึกษาในการทำงานครั้งนี้
ข้าพเจ้าหวังว่าหนังสือเล่มเล็กเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษาใน
เรื่องพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี
นางสาวณฐวร อุทัยเลิศ
ผู้จัดทำ
สารบัญ ๑
๓
๑.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง ๓
-ประวัติผู้แต่ง ๔
-ที่มาของเรื่อง ๕
-จุดประสงค์ในการแต่ง ๗
-ลักษณะคำประพันธ์
๘
๒.ตัวละคร ๑๐
๓.เรื่องย่อ ๑๓
๔.คุณค่าของเรื่อง ๑๔
๑๕
-ด้านเนื้อหา ๑๖
-ด้านวรรณศิลป์
-ด้านสังคม
๕.การนำข้อคิดจากเรื่องไปใช้
๖.แต่งคำประพันธ์ประเภทร่ายยาว
๗.แหล่งที่มา
ประวัติผู้แต่ง
เจ้าพระยาพระคลัง(หน)
เกิด : ไม่ปรากฏ
เสียชีวิต : พ.ศ. ๒๓๔๘
เจ้าพระยาพระคลัง นามเดิม หน เป็นบุตรของเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฦๅชัยกับ
ท่านผู้หญิงเจริญ เป็นชาวกรุงเก่าที่เจริญเติบโตรับราชการในสมัยธนบุรี มีบรรดาศักดิ์
เป็นหลวงสรวิชิต ตำแหน่งนายด่านเมืองอุทัยธานีในสมัยปลายธนบุรี ได้เกิดการจลาจล
วุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชซึ่ง
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ยกทัพไปตีเขมร เมื่อได้ข่าว
ความวุ่นวายในพระนคร ก็รีบยกทัพกลับมาขจัดความเดือดร้อนในแผ่นดิน หลวงสรวิชิต
มีส่วนสำคัญในการช่วยราชการครั้งนั้นให้สำเร็จลุล่วง ดังนั้นหลังจากที่ทรงปราบดาภิเษก
ขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นพระยาพระคลัง
เจ้าพระยาพระคลังเป็นกวีเอกที่ได้รับการยกย่องในด้านกวีโวหารทั้งร้อยแก้วและ
ร้อยกรอง มีผลงานกวีนิพนธ์มาตั้งแต่สมัยธนบุรี แต่เรื่องที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายนั้น
แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่น สามก๊ก* กากีคำกลอน* ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก*
กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี ฯลฯ กล่าวกันว่าท่านเป็นกวีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราชไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง
ผลงาน/งานประพันธ์
๑.ลิลิตเพชรมงกุฎ ๙.ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี
๒.อิเหนาคำฉันท์ ๑๐.สมบัติอมรินทร์คำกลอน
๓.ราชาธิราช ๑๑.กากีคำกลอน
๔.กลอนและร่ายจารึกเรื่องสร้างภูเขาที่ ๑๒.เพลงยาวเล่นว่าความ
วัดราชคฤห์ ๑๓.เพลงยาวปรารภ หรือเพลงยาวปรารภถึง
๕.โคลงพยุหยาตราเพ็ชรพวง* เรื่องวัฏฏสงสาร
๖.สามก๊ก ๑๔.เพลงยาวตำรามโหรี
๗.ลิลิตศรีวิชัยชาดก ๑๕.เพลงยาวไหว้ครูมโหรี
๘.ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ๑๖.โคลงภาพฤาษีดัดตน
ตัวอย่างงานประพันธ์
ที่มาของเรื่อง
มาจากร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาดกเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยกล่าวถึง
เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร เดิมแต่งเป็นภาษาบาลี
ต่อมามีการแปลเป็นภาษาไทยในสมัยกรุงสุโขทัย ต่อมาในสมัย
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้าฯให้ปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวง
ซึ่งเป็นมหาชาติสำนวนแรก โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้สวด ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม
โปรดเกล้าฯให้แต่งกาพย์มหาชาติเพื่อใช้สำหรับเทศน์ แต่เนื้อความใน
กาพย์มหาชาติค่อนข้างยาว ไม่สามารถเทศน์ให้จบภายใน ๑ วัน จึงเกิดมหาชาติขึ้น
ใหม่อีกหลายสำนวน เพื่อให้เทศน์จบภายใน ๑ วัน มหาชาติสำนวนใหม่นี้เรียกว่า
มหาชาติกลอนเทศน์ หรือ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้มีการชำระและ
รวบรวมมหาชาติกลอนเทศสำนวนต่าง ๆ แล้วคัดเลือกสำนวนที่ดีที่สุดของ
แต่ละกัณฑ์ นำมาจัดพิมพ์เป็นฉบับของหลวง ๒ ฉบับ คือ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
และ ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ
จุดประสงค์ในการแต่ง
เพื่อใช้เทศน์ให้ประชาชนฟัง มหาเวสสันดรชาดก แต่งขึ้นเพื่อใช้
เทศน์มหาชาติ เนื่องจากร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเป็นชาดกเรื่องใหญ่ที่สุด
เป็นชาติที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายก่อน
จะประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วเสด็จออกผนวชกระทั่งได้ตรัสรู้เป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องราวในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรได้
ทรงบำเพ็ญทศบารมี ครบทั้ง ๑๐ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทานบารมี
ซึ่งทรงบริจาคบุตรทารทาน คือ บริจาคพระชาลี พระกัณหา และพระนางมัทรี
จึงเป็นชาติที่สำคัญและยิ่งใหญ่ เรียกว่า “มหาชาติ” หรือ “มหาเวสสันดรชาดก”
ลักษณะคำประพันธ์
แต่งเป็นร่ายยาว มีพระคาถาภาษาบาลีนำ และพรรณนาเนื้อความโดย
มีพระคาถาสลับเป็นตอน ๆ ไปจนจบกัณฑ์ คำประพันธ์ประเภทร่ายยาว
หนึ่งบทจะมีกี่วรรคก็ได้ แต่ส่วนมากมี ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งๆมีตั้งแต่
๖ คำขึ้นไป ถึง ๑๐ คำหรือมากกว่า มีบังคับเฉพาะระหว่างวรรค คือ
คำสุดท้ายของวรรคจะส่งสัมผัสไปที่คำที่ ๑ ถึง ๕ ของวรรคต่อไป เมื่อจบ
ตอนมักมีคำสร้อย เช่น “นั้นแล” “นี้แล” ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
เป็นร่ายยาวสำหรับเทศน์ จะมีคำศัพท์บาลีขึ้นก่อน แล้วแปลเป็น
ภาษาไทย แล้วจึงมีร่ายตาม ในระหว่างการดำเนินเรื่องจะมีคำบาลีคั่น
เป็นระยะ ๆ คำบาลีนั้นมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับข้อความที่ตามมา
แผนผังร่ายยาว
ร่ายยาว คือ ร่ายที่ไม่กำหนดจำนวนคำในวรรคหนึ่ง ๆ แต่ละวรรคจึงอาจมี
คำน้อยมากแตกต่างกันไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับ
คำหนึ่งคำใดในวรรคถัดไป จะแต่งสั้นยาวเท่าไรเมื่อจบนิยมลงท้ายด้วยคำว่า
แล้วแล นั้นแล นี้เถิด โน้นเถิด ฉะนี้ ฉะนั้น ฯลฯ เป็นต้น
ตัวละคร
๑.พระเวสสันดร
พระเวสสันดรเป็นพระโอรสของพระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดีแห่งเมืองสีพีมีอุปนิสัย
และพฤติกรรมที่สำคัญคือ การบริจาคทานพระราชกุมารเวสสันดรทรงบริจาคทานตั้งแต่เกิด
ครั้นพระชนมายุ ได้ ๔-๕ ชันษาทรงปลดปิ่นทองคำและเครื่องประดับเงินทองแก้วเพชรให้แก่
นางสนมกำนัลทั่วทุกคนถึง ๙ ครั้งเพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณในภายภาคหน้า ครั้นเจริญชันษา
ได้ ๘ ปีก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะบริจาคเลือดเนื้อและดวงหทัยเพื่อมุ่งพระโพธิญาณใน
กาลข้างหน้าอย่างแน่วแน่ เมื่อมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษาก็แตกฉานในศิลปวิทยา ๑๘ แขนงได้
เสวยราชสมบัติและอภิเษกกับพระมัทรีตระกูลมาตุลราชวงศ์มีพระราชโอรสและพระราชธิดา
คือพระชาลีกุมารและพระกัณหากุมารีพระองค์ยินดีในการให้ทาน ได้ตั้งโรงทานถึง ๖ แห่งใน
พระนครและเสด็จออกทอดพระเนตรการให้ทานอยู่เป็นเนืองนิจ ครั้งหนึ่งทูตของกลิงคราษฎร์
มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ช้างเผือกคู่บารมี ซึ่งเป็นช้างมงคลถ้าไปอยู่ที่ใด ที่นั่นฝนจะตก
ต้องตามฤดูกาล พระองค์ก็ทรงบริจาคให้ ชาวเมืองสีพีพากันโกรธเคืองต่างมาชุมนุมกันที่
หน้าพระลานร้องทุกข์ต่อพระเจ้ากรุงสญชัยว่า พระเวสสันดรยกพระยาคชสารคู่บ้านคู่เมือง
ให้คนอื่นผิดราชประเพณี เกรงว่าต่อไปภายหน้าอาจยกเมืองให้คนอื่นก็ได้ขอให้เนรเทศ
พระเวสสันดรออกไปเสียจากเมือง พระเจ้ากรุงสญชัยมิรู้จะทำประการใดจึงต้องยอมทำตาม
คำเรียกร้องของประชาชน ก่อนที่พระเวสสันดรพระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหาจะ
เดินทาง ก็ได้บริจาคสัตตสดกมหาทาน คือการให้ทานช้าง ม้า โคนม รถม้า นารี ทาส ทาสี
รวม ๗ สิ่ง สิ่งละ ๗๐๐ แล้วทรงรถเทียมม้าเสด็จออกนอกเมือง ระหว่างทางมีพราหมณ์มา
ดักรอขอราชรถ พระเวสสันดรก็บริจาคให้แล้วทุกพระองค์ก็เสด็จโดยพระบาทเดินทางมุ่งเข้า
ป่าจนกระทั่งถึงสระบัวใหญ่เชิงเขาวงกตซึ่งเทวดาเนรมิตไว้แล้วผนวชเป็นฤาษีบำเพ็ญภาวนา
อยู่ที่นั่น เมื่อพระเวสสันดรบำเพ็ญพรตอยู่ที่เขาวงกตชูชกได้เดินทางไปขอสองกุมารไปเป็น
ทาสี พระเวสสันดรก็ทรงบริจาคให้ พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์ไปทูลขอพระมัทรีก็
ทรงบริจาคให้ซึ่งนอกจากจะทรงบริจาคทานที่แสดงถึงการเสียสละอันเป็นพฤติกรรมสำคัญใน
เรื่องแล้ว พระองค์ยังมีความเมตตา มีความมานะอดทนต่อความยากลำบากต่างๆในที่สุด
พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดีพระชาลีและพระกัณหาก็เสด็จยกกองทัพมารับพระเวสสันดร
และพระมัทรีกลับไปครอบครองบ้านเมืองดังเดิม
๒.พระนางมัทรี
พระนางมัทรี เป็นพระราชธิดาแห่งกษัตริย์มัทราช อภิเษกสมรสกับ
พระเวสสันดร มีพระโอรสชื่อพระชาลีและมีพระธิดาชื่อพระกัณหาพระนางตามเสด็จ
พระเวสสันดรไปยังเขาวงกต แม้จะถูกพระเจ้ากรุงสญชัยทัดทาน แต่ด้วย
ความจงรักภักดีต่อพระสวามีพระนางก็ไม่ทรงยินยอม เมื่อพระนางมัทรีตามเสด็จไป
เขาวงกต พระนางได้ปฏิบัติต่อพระสวามีและสองกุมาร คือลุกขึ้นแต่เช้า กวาดพื้น
บริเวณอาศรม ตั้งน้ำดื่ม จัดน้ำสรงพระพักตร์จัดสถานที่ให้เป็นระเบียบและเข้าป่าหา
ผลไม้ทุกวัน พระนางได้ปรนนิบัติรับใช้และทำตามหน้าที่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
พระนางมัทรีเป็นแบบฉบับของนางในวรรณคดีที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติต่างๆ
ทั้งการเป็นแม่ที่ประเสริฐของลูก และการเป็นภรรยาที่ดีของสามี คือ
มีความอ่อนน้อม นอบน้อม และอดทนเป็นภรรยาแม่แบบผู้มีลักษณะเป็น
กัลยาณมิตรของสามีสนับสนุนเป้าหมายชีวิตอันประเสริฐที่พระสวามีได้ตั้งไว้
เป็นแบบอย่างของภรรยาตามทัศนะของคนตะวันออก เช่น ปฏิบัติดูแลเรื่อง
ข้าวปลาอาหาร และมีคุณธรรมสำคัญคือ ซื่อตรง จงรัก และหนักแน่นต่อสามี
เรื่องย่อ
พระนางมัทรีได้ออกจากอาศรมไปป่าเก็บอาหารและผลไม้
เพื่อเป็นอาหารให้พระเวสสันดร และ กัณหากับชาลี แต่ก็ใจไม่ค่อยดีเท่าไหร่
เพราะระหว่างเดินทางได้เกิดเหตุแปลกๆที่ไม่เคยเกิดขึ้น ได้เกิดขึ้นมา จึงจะ
รีบเก็บอาหารและผลไม้แล้วรีบกลับอาศรม แต่พระเวสสันดรก็ได้ประทาน
กัณหาและชาลีให้แก่ชูชกไปแล้ว พระอินทร์เกร็งว่าถ้าพระนางมัทรีรีบกลับมา
จะทำให้พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมีไม่สำเร็จ พระอินทร์จึงสั่งให้
เทพบริวาร ๓ องค์ ให้แปลงกายเป็นพญาไกรสรราชสีห์ พญาเสือโคร่ง และ
พญาเสือเหลืองไปขวางทางไว้ไม่ให้พระนางมัทรีกลับอาศรมได้ พระนางมัทรี
จึงอ้อนวอนขอทางสัตว์ป่าเป็นเวลานาน เมื่อพระจันทร์ขึ้นแล้ว สัตว์ทั้งสามจึง
เปิดทางให้ตามคำขอ พระนางมัทรีจึงรีบกลับอาศรม แต่ก็ไม่พบกัณหา
และชาลีออกมาต้อนรับเหมือนอย่างปกติ เมื่อทูลถามพระเวสสันดรก็
ไม่ทรงตรัสด้วย และ ยังต่อว่าพระนางมัทรีอย่างรุนแรงอีกด้วยว่ากลับ
อาศรมช้า หาลูกไม่เจอแล้วยังมาโวยวาย ถ้าเป็นห่วงลูกจริงไม่กลับมาช้า
แบบนี้หรอก ทำให้พระนางมัทรีกลัดกลุ้มพระทัย และ โศกเศร้ามากจน
สิ้นสติไป เมื่อพระนางมัทรีฟื้นขึ้นมา พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้
ประทานกัณหาและชาลีแก่ชูชกไปแล้ว พระนางมัทรีจึงหายโศกเศร้า และ
อนุโมทนาในการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรด้วย
คุณค่าของเรื่อง
•คุณค่าด้านเนื้อหา
๑. รูปแบบ
มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรีแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทร่ายยาว
นำด้วยคำภาษาบาลีท่อนหนึ่ง แล้วแต่งด้วยร่ายยาวมีคำบาลีแทรก
เป็นการใช้รูปแบบคำประพันธ์ได้เหมาะสมกับสาระสำคัญ ซึ่งจะทำให้
ผู้อ่านมีความซาบซึ้งในความรักของผู้เป็นแม่ได้อย่างดียิ่ง
๒. องค์ประกอบของเรื่อง
๒.๑ สาระสำคัญ เป็นการแสดงความรักของแม่ที่มีต่อลูกว่าเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่
การพลัดพรากจากลูกย่อมนำความทุกข์โศกมาสู่แม่อย่างยากที่จะหาสิ่งใดเปรียบ
๒.๒ โครงเรื่อง มีการวางโครงเรื่องได้ดีโดยผูกเรื่องให้เทพบุตร ๓ องค์นิรมิต
กายเป็นสัตว์ร้ายมาขวางนางมัทรีไว้ จนกลับอาศรมได้ทันเวลาที่พระเวสสันดรจะให้ทาน
สองกุมารให้กับพราหมณ์ชูชก เมื่อนางกลับมาแล้วไม่พบสองกุมารก็โศกเศร้าเสียพระทัย
จนสลบไป ต่อมาภายหลังได้ทรงทราบว่าพระเวสสันดรทรงให้ทานสองกุมารให้แก่
พราหมณ์ชูชก นางมัทรีก็คลายความเศร้าโศกพระทัย และเต็มพระทัยอนุโมทนาในบุตร
ทานของพระเวสสันดร
๒.๓.ฉากและบรรยากาศ
ฉากเป็นป่าบริเวณอาศรมของพระเวสสันดร ผู้แต่งบรรยายบรรยากาศ
ได้สมจริง และเหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ดังปรากฏบทอาขยาน
ที่นักเรียนท่องจำ
คุณค่าของเรื่อง
•คุณค่าด้านเนื้อหา
๒.๔.ตัวละคร มีลักษณะตัวละครสำคัญดังนี้
พระเวสสันดร มีลักษณะสำคัญดังนี้
๑) มีคุณธรรมสูงเหนือมนุษย์ ยากที่มนุษย์ทั่วไปจะทำได้ ได้แก่ การบริจาค
บุตรทาน คือพระชาลีและพระกัณหา ซึ่งเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ให้เป็น
ทานแก่ชูชก นับเป็นการบำเพ็ญทานอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง
๒) มีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ทำการให้นางมัทรีต้อง
เจ็บพระทัย เพื่อจะได้คลายความเศร้าโศกที่พระกุมารทั้งสองหายไป เป็นการใช้
จิตวิทยาเพื่อให้นางมัทรีคลายความเศร้าโศก มิเช่นนั้นนางอาจจะเศร้าโศกจน
เกิดอันตรายได้
นางมัทรี มีลักษณะสำคัญดังนี้
๑) มีความจงรักภักดีต่อพระสวามี
๒) เป็นยอดกุลสตรี ปฏิบัติหน้าที่ภรรยาและมารดาได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน
๓) มีความอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
๔) มีจิตอันเป็นกุศล จึงอนุโมบุตรทานของพระเวสสันดร
๒.๕ กลวิธีในการแต่ง
แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทร่ายยาวที่มีคาถาบาลีนำ เป็นตอนที่ว่าด้วยนางมัทรีเข้าป่า
ไปหาผลไม้ กลับมาไม่พบพระกุมารผู้เป็นลูกจึงออกตามหา
ผู้แต่งเน้นให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งในการพรรณนาความรักของแม่ที่มีต่อลูก
รสวรรณคดีที่เด่นชัดที่สุด คือ สัลลาปังคพิสัย รองลงมา คือ พิโรธวาทัง ซึ่งปรากฏ
ในตอนที่พระเวสสันดรทรงเห็นนางมัทรีเศร้าโศก จึงคิดหาวิธีตัดความเศร้าโศกนั้นด้วย
การกล่าวบริภาษนางมัทรีว่า คิดนอกใจไปคบกับชายอื่น
นางมัทรีทรงเจ็บพระทัยเลยตัดพ้อพระเวสสันดรก่อนจะออกตามหาพระโอรสพระธิดา
ด้วยพระวรกายที่อิดโรยจนสลบไป ตอนนี้เป็นช่วงที่สะเทือนอารมณ์และบีบคั้นหัวใจมาก
ส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสงสารและเห็นใจนางมัทรีที่ต้องสูญเสีย แต่เมื่อทราบความจริง
นางก็เข้าใจคลายความเศร้าโศกและอนุโมทนาทานบารมีกับพระเวสสันดร ผู้อ่านก็เกิด
ความปีติใจ นับว่าผู้แต่งได้ใช้กลวิธีในการนำเสนอได้อย่างสะเทือนอารมณ์ และน่าสนใจ
คุณค่าของเรื่อง
•คุณค่าด้านวรรณศิลป์
ลีลาการประพันธ์
เสาวรจนี
เช่น ดั่งบุคคลเอาแก้วมาระแนงแกล้งมาโปรยโรยรอบปริมณฑลก็เหมือนกัน งามดั่งปาริชาต
ในสวรรค์มาปลูกไว้
สัลลาปังคพิสัย
เช่น อนึ่งพระศรีก็ย่ำสนทยาสายัณห์แล้ว เป็นเวลาพระลูกแก้วจะอยากนมกำหนดเสวย
พระเจ้าพี่ของน้องเอ๋ยพระสามรา ขอเชิญกลับไปยังรัตนคูหาห้องแก้ว แล้วจะได้เชยชมซึ่งลูกรัก
และเมียขวัญ อนึ่งน้องนี้จะแบ่งปันผลไม้ให้สักกึ่ง ครึ่งหนึ่งน้องจะขอไปฝากพระหลานน้อย ๆ
ทั้งสองรา ( มคฺคํ เม เทถ ยาจิตา ) พระเจ้าพี่ทั้งสามของน้องเอ่ย จงมีจิตคิดกรุณาสังเวชบ้าง
ขอเชิญล่วงครรไลให้หนทางพนาวันอันสัญจร แก่น้องที่วิงวอนอยู่นี้เถิด
รสวรรณคดี
รุทธรส
เช่น ปานประหนึ่งว่าจะหลงลืมลูกสละผัวต่อมืดมัวจึ่งกลับมา ทำเป็นบีบน้ำตาตีอกว่าลูกหาย
ใครจะไม่รู้แยบคายความคิดหญิง ถ้าแม้นเจ้าอาลัยอยู่ด้วยลูกจริงๆเหมือนวาจา ก็จะรีบกลับ
เข้ามาแต่วี่วันไม่ทันรอน
ศานติรส
เช่น พระพุทธเจ้าข้าอันสองกุมารนี้ เกล้ากระหม่อมฉานได้อุตสาหะถนอม ย่อมพยาบาล
บำรุงมา ขออนุโมทนาด้วยปิยบุตรทานบารมี ขอให้น้ำพระหฤทัยพระองค์จงผ่องแผ้ว
อย่ามีมัจฉริยธรรมอกุศล อย่ามาปะปนในน้ำพระทัยของพระองค์เลย
อัพภูตรส
พลางพิศดูผลาผลในกลางไพรที่นางเคยได้อาศัยทรงสอยอยู่เป็นนิตย์ผิดสังเกต เหตุไฉนไม้ที่ผลเป็น
พุ่มพวง ก็กลายกลับเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร แถวโน้นก็แก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง
ถัดนั่นก็สายหยุดประยงค์และยมโดย พระพายพัดก็ร่วงโรยรายดอกลงมูนมอง แม่ยังได้เก็บดอกมา
ร้อยกรองไปฝากลูก เมื่อวันวานก็เพี้ยนผิดพิสดารเป็นพวงผล ผิดวิกลแต่ก่อนมา
( สพฺพา มุยฺหนฺ เม ทิสา ) ทั้งแปดทิศก็มืดมิดมัวมนทุกแห่งหนทั้งขอบฟ้าก็ดาษแดงเป็นสายเลือด
ไม่เว้นวายหายเหือดเป็นลางร้ายไปรอบข้าง
คุณค่าของเรื่อง
•คุณค่าด้านวรรณศิลป์
โวหารภาพพจน์
ปฏิปุจฉา
เช่น เหตุไฉนไม้ที่ผลเป็นพุ่มพวง ก็กลายกลับเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร
อุปลักษณ์
เช่น ทั้งขอบฟ้าก็ดาษแดงเป็นสายเลือด ไม่เว้นวายหายเหือดเป็นลางร้ายไปรอบข้าง
อัพภาส
เช่น เจ้าเคยวิ่งระรี่เรียงเคียงแข่งกันมาคอยรับพระมารดา ทรงพระสรวลสำรวลร่าระรื่นเริง
รีบเอาขอคาน
อุปมา
เช่น เสมือนหนึ่งลูกหงส์เหมราชปักษิน ปราศจากมุจลินท์ไปตกคลุกในโคลนหนองสิ้นสีทอง
อันผ่องแผ้ว
อติพจน์
เช่น โลหิตไหลย้อยทุกหย่อมหนามอารามจะใคร่
คุณค่าของเรื่อง
•คุณค่าด้านวรรณศิลป์
การเล่นคำ
การเล่นคำซ้ำ
สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟัง
สำเนียง สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื่องย่อง
ยกย่างลงเหยียบดิน ก็สุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด
การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะ
สะดุ้งพระทัยไหวหวาดวะหวีดวิ่งวนแวะเข้าข้างทาง พระทรวงนางสั่นระรัวริก
เต้นดั่งตีปลา
การเล่นเสียงสัมผัสสระ
นางถึงวิสัญญีสลบลงตรงหน้าฉาน ปานประหนึ่งว่าพุ่มฉัตรทองอันต้อง
สายอัสนีฟาดขาดระเนนเอนแล้วก็ล้มลงตรงหน้าพระที่นั่งเจ้านั้นแล
การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะและสระ
แม่ยังกลับหลังมาโลมลูบจูบกระหม่อมจอมเกล้าทั้งสองเรา
คุณค่าของเรื่อง
•คุณค่าด้านสังคม
๑.สะท้อนค่านิยมเกี่ยวกับสังคมในอดีต
-ในโบราณถือว่าภรรยาเป็นสมบัติของสามี สามีมีสิทธิ์เหนือภรรยา
-ภรรยาจะต้องปรนนิบัติสามี ซื่อสัตย์ต่อสามี
-ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ ต้องเชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่
๒.สะท้อนให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์
-ความรักนำมาซึ่งความทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจ เช่น เมื่อลูกพลัดพราก
จากไปพ่อแม่ย่อมมีความทุกข์เพราความรัก ความเป็นห่วง กังวล โศกเศร้า
เมื่อคิดว่าลูกของตนล้มหายตายจากไป แต่ความโศกเศร้าเสียใจจะบรรเทาลงได้
เมื่อมีความโกรธ เจ็บใจ หรือเมื่อเกิดความเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นทำ
๓.สะท้อนความเชื่อของสังคมในอดีต
-จากข้อความตอนที่พระนางมัทรีออกสู่ป่าเพื่อหาเก็บผลไม้ ผลไม้ก็เพี้ยนผิดปกติ
ซึ่งถือว่าเป็นลางร้าย
๔. สะท้อนเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี
-อันเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา โดยเรื่องมหาเวสสันดรชาดก
เป็นชาดกที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาเล่าขานจัดเป็นงานเทศน์มหาชาติกันทุกปีมา
ตั้งแต่ครั้งอดีต โดยจัดสถานที่ให้สอดคล้องกับเรื่องราวให้เป็นป่าที่อุดมไปด้วย
ไม้ผล บางแห่งก็จัดตกแต่งภาชนะใส่เครื่องกัณฑ์เทศน์เป็นรูปต่างๆ ที่สอดคล้อง
กับเนื้อเรื่องกัณฑ์นั้นๆ เช่นทำรูปเรือสำเภาบูชากัณฑ์กุมาร จัดเป็นรูปกระจาดใหญ่
ใส่เสบียงอาหารและผลไม้ต่างๆ บูชากัณฑ์มหาราช บางแห่งก็จัดกัณฑ์เทศน์กัน
อย่างใหญ่โตในเชิงประกวดประชันกัน มีการบรรเลงดนตรีไทยประกอบเพื่อช่วย
สร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ฟังเทศน์
การนำข้อคิดที่ได้จากเรื่องไปใช้
ข้อคิดจากเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี ก็คือ พ่อแม่นั้น
เป็นคนที่รักเราและเป็นห่วงเรามากที่สุด และต้องการให้เราได้ดี ไม่ว่า
เราต้องการอะไรพ่อแม่ก็จะหามาให้โดยไม่นึกถึงความยากลำบาก
เหมือนกับการหาเงินมาเพื่อส่งเสียให้เราได้เรียนในโรงเรียน และ
เรียนพิเศษ เพราะต้องการให้ลูกมีความรู้ติดตัวไปประกอบอาชีพ
ในอนาคต เพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเราตลอดชีวิต พ่อแม่จึงอยากให้ลูก
มีการศึกษาที่ดี เราจึงควรรับผิดชอบงานที่ครูมอบหมายสั่งให้ทำส่งและ
ตั้งใจเรียนให้พ่อแม่ดีใจ ไม่เกเร หรือเรื่องที่ผิดให้พ่อแม่เสียใจ หรือ
ทุกข์ใจ เราจึงควรที่จะตอบแทนพ่อแม่ กตัญญูต่อพวกท่านและดูแลท่าน
ยามที่ท่านแก่เฒ่า และควรกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ด้วย เพราะเป็นผู้ให้
ความรู้กับเรา และหวังดีต่อเราเหมือนพ่อแม่ ข้อคิดอีกเรื่องจากเรื่องนี้ก็
คือการให้ เพราะการให้คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเรามี เราควรแบ่งปันสิ่งต่างๆ
ให้ผู้ที่ขาดแคลนกว่าเรา เช่น บริจาคสิ่งของช่วยผู้ประสบภัย บริจาค
กล่องนมเพื่อนำไปสร้างหลับคาบ้าน บริจาคผมเพื่อนำไปสร้างวิกผมช่วย
ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
การแต่งคำประพันธ์ประเภทร่ายยาว
ความรักที่พ่อแม่และลูกมีให้กัน
พ่อแม่คอยหวงแหนดูแลเรา คอยตามเฝ้าดูแลไป
ทุกวันทั้งเช้าเย็น ช่วยผลักดันเคี่ยวเข็ญให้เรานั้นได้ดี
เพื่อจะมีอนาคตไม่ลำบากและมีการศึกษาแสนดีเลิศ
มีชีวิตอย่างเจิดจรัสสดใสดังไฟฉายที่ส่องแสงคอยนำทาง
ช่วยอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจในยามท้อแท้เศร้าโศกเสียใจ
ความรักของพ่อแม่ช่างยิ่งใหญ่กว่าพสุธา เมื่อท่านตำหนิ
ต่อว่าควรรับฟัง ไม่โกรธหรือเกลียดชังพวกท่านเพราะ
คำเตือนที่เป็นห่วง หนึ่งในช่วงชีวิตที่มีท่านทั้งสองควรจะไม่
ทำให้พวกท่านต้องเป็นทุกข์ใจ เมื่อท่านเรียกใช้ทำอะไร
ควรรับทำอย่างเต็มใจช่วย ยามที่ท่านเหนื่อยล้าจงกอด
พวกท่านด้วยความรักที่เรามีหมดหัวใจทั้งนี้แล
แหล่งที่มา
ยุพร แสงทักษิณ. (๒๕๕๘). เจ้าพระยาพระคลังหน. สืบค้นเมื่อ
๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔, จาก https://www.sac.or.th/
databases/thailitdirlcre_det.php?cr_id=91
อ.บุญกว้าง ศรีสุทโธ. (๒๕๕๕). คุณค่าด้านเนื้อหา. สืบค้นเมื่อ
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔, จาก https://sites.google.com/a/
htp.ac.th/mha-wessandr-chadk-Kanth-math-ril8
-1-khun-kha-dan-neu-ha
อ.บุญกว้าง ศรีสุทโธ. (๒๕๕๕). คุณค่าด้านวรรณศิลป์. สืบค้นเมื่อ
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔, จาก https://sites.google.com/a/
htp.ac.th/mha-wessandr-chadk-Kanth-math-ri/8
-2-khunkha-day-wrrn-silp
อ.บุญกว้าง ศรีสุทโธ. (๒๕๕๕). คุณค่าด้านสังคม. สืบค้นเมื่อ
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔, จาก https://sites.google.com/a/
htp.ac.th/mha-wessandr-chadk-Kanth-math-ri/8
-3-khunkha-dan-sangkhm
TruePlookpanya. (๒๕๕๓). ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
ตอนกัณฑมัทรี. สืบค้นเมื่อ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๔, จาก
https://www.trueplookpanya.com/blogdiary/1574