ระเบียบเทศบาลตำ บลลานสัก ว่าด้วยการจัดตั้งและการดำ เนินงาน ของชมรมผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๖๖
1 ระเบียบเทศบาลตำบลลานสัก ว่าด้วยการจัดตั้งและการดำเนินงาน ของชมรมผู้สูงอายุพ.ศ. 2566 โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้สอดคล้องกับภาวการณ์ในปัจจุบัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 48 เตรส (4) และมาตรา 50 (7) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และแก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 นายกเทศมนตรีตำบลลานสัก จึงออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้ หมวดที่ 1 ชื่อคำนิยามเครื่องหมายที่ทำการ ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบเทศบาลตำบลลานสัก ว่าด้วยการจัดตั้งและการดำเนินงานของ ชมรมผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบเทศบาลตำบลลานสัก ว่าด้วยการจัดตั้งและการดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุ พ.ศ. 2558 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใด ที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้ง กับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน ข้อ 4 ในระเบียบนี้ (1) “ชมรม” หมายความว่า ชมรมผู้สูงอายุที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบนี้ (2) “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ (3) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการชมรมที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก หรือได้รับการคัดเลือกจากประธานชมรมผู้สูงอายุและหรือได้รับการแต่งตั้งจากนายกเทศมนตรีให้ทำหน้าที่ บริหารชมรมผู้สูงอายุ (4) “นายทะเบียน” หมายความว่า งานพัฒนาชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ของเทศบาลที่ได้รับการ แต่งตั้งจากนายกเทศมนตรี ให้ทำหน้าที่นายทะเบียน (5) “นายกเทศมนตรี” หมายความว่า นายกเทศมนตรีตำบลลานสัก (6) “เทศบาล” หมายความว่า เทศบาลตำบลลานสัก (7) “ระเบียบชมรม” หมายความว่า ระเบียบเทศบาลตำบลลานสัก ว่าด้วยการจัดตั้งและ การดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 ข้อ 5 เครื่องหมายของชมรมผู้สูงอายุ ต้องมีตราของเทศบาลตำบลลานสักและชื่อของชมรมผู้สูงอายุ ข้อ 6 ชื่อของชมรมให้ใช้ชื่อว่า “ชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลลานสัก”
2 ข้อ 7 ให้มีที่ทำการชมรมผู้สูงอายุเป็นหลักแหล่ง และให้แจ้งต่อนายทะเบียน เพื่อจัดทำทะเบียน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำการชมรม ให้ประธานชมรมแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 7 วัน นับแต่มีการ เปลี่ยนแปลงที่ทำการ หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์ของชมรม ข้อ 8 วัตถุประสงค์ของชมรมที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบนี้ 8.1 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม 8.2 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน 8.3 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในหมู่สมาชิก 8.4 เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองครอบครัวและสังคม 8.5 เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนสมาชิกให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ 8.6 เพื่อส่งเสริมการออมเงิน หมวดที่ 3 การจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ข้อ 9 การขอจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุจะต้องประกอบด้วย 9.1 สมาชิกผู้ก่อการตามข้อ 11.1 และ 11.2 รวมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป 9.2 มีชื่อชมรมและที่ทำการชมรมที่สามารถติดต่อได้ 9.3 ต้องกรอกใบสมัครตามแบบที่เทศบาลกำหนด พร้อมด้วยรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน แล้วรวบรวมเอกสารยื่นต่อนายกเทศมนตรี หรือผู้ที่ได้รับ มอบหมาย เพื่อตรวจสอบและอนุมัติให้จัดตั้งชมรม หมวดที่ 4 สมาชิกภาพ สิทธิ หน้าที่ของสมาชิก ข้อ 10 การเข้าเป็นสมาชิก ผู้สมัครเป็นสมาชิกหรือได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิก ต้องยื่นใบสมัคร ตามแบบฟอร์มของชมรมพร้อมชำระเงินค่าธรรมเนียม ตามข้อ 10.1 –10.2 สมาชิกภาพจะมีผลสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ผู้สมัครที่ได้รับอนุมัติ ให้เป็นสมาชิกแล้ว จะเรียกคืนเงินตามข้อ 10.1 – 10.2 ที่ได้จ่ายไว้แล้วไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น 10.1 อัตราค่าสมาชิกแรกเข้า 50 บาท 10.2 ค่าชำระเป็นทุนสำรองจ่าย 100 บาท ข้อ 11 สมาชิกมี 3 ประเภท 11.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 11.2 สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 55 ปี โดยมีจำนวนไม่เกิน ร้อยละ 40 ของจำนวนสมาชิกในแต่ละชมรม 11.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่คณะกรรมการ หรือนายกเทศมนตรีเห็นว่าเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิและเชิญเข้ามาเป็นสมาชิก ทั้งนี้สมาชิกต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในตำบลลานสักและต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง
3 ข้อ 12 สมาชิกตามข้อ 11.1 และ 11.2 มีสิทธิดังต่อไปนี้ (1) ได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารชมรม เมื่อเป็นสมาชิกชมรมไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับถึงวันเลือกตั้งกรรมการชมรมหรือวันที่ได้รับการแต่งตั้ง (2) เสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยต้องมี สมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า สองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มติที่ให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งต้อง ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกในที่ประชุม (3) สมาชิกตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป สามารถเข้าชื่อยื่นคำขอต่อนายกเทศมนตรีเพื่อขอตรวจสอบ เอกสารใด ๆ ที่อยู่ในความครอบครองของกรรมการคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะ เมื่อมีเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ อันควรสงสัยว่ากรรมการคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะ มีการดำเนินการอันไม่สุจริต ที่อาจสร้างความเสียหายต่อชมรม (4) ประดับเครื่องหมายของชมรม (5) ได้รับสงเคราะห์หรือช่วยเหลือในสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของชมรมฯ เช่น กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าจัดการศพจากสมาชิก คนละ 50 บาท (แต่ต้องเป็นสมาชิก และได้รับการอนุมัติ จากกรรมการและเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 90 วัน จึงมีสิทธิรับเงินฌาปนกิจศพ) (6) เสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการหรือที่ประชุม และมีสิทธิออกเสียงได้ คนละ 1 เสียง (7) มีสิทธิร่วมเดินทางไปอบรมและศึกษาดูงานต่างจังหวัดกับชมรม เมื่อเป็นสมาชิกชมรมไม่ น้อยกว่า 6 เดือน นับถึงวันแรกของการเดินทางตามโครงการ (8) มีสิทธิเลือกกรรมการบริหารชมรม เมื่อเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 3 เดือน นับถึงวันเลือกตั้ง คณะกรรมการ ข้อ 13 สมาชิก มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของชมรม (2) เข้าร่วมกิจกรรมตามที่ชมรมหรือเทศบาลจัดขึ้น (3) ช่วยจัดหาทุน วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของชมรม (4) ปฏิบัติตามระเบียบชมรม ข้อ 14 สมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิ์ตามข้อ 12 (4) (6) หมวดที่ 5 การพ้นจากสมาชิกภาพ ข้อ 15 สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพ เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานชมรม (3) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 11 วรรค 2 (4) ที่ประชุมมีมติเห็นควรให้ออก เนื่องจากฝ่าฝืนระเบียบชมรม ประพฤติตนหรือกระทำการ ใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชมรม หรือเทศบาล มติให้สมาชิกพ้นจากการเป็นสมาชิกชมรม ให้นำ ความในข้อ 12 (2) มาบังคับ โดยอนุโลม (5) ขาดส่งค่าสมาชิก(กรณีสมาชิกเสียชีวิต) 3 ครั้งขึ้นไป ข้อ 16 เมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลงให้ฝ่ายทะเบียนชมรม คัดชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก แล้วแจ้งที่ ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมสมาชิกทราบในคราวต่อไป
4 หมวดที่ 6 คณะกรรมการ ข้อ 17 ให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรีปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล หัวหน้าสำนัก ปลัดเทศบาล นักพัฒนาชุมชน ผู้ช่วยนักประชาสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ปรึกษาชมรม โดยตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการหรือนายกเทศมนตรีอาจเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นที่ปรึกษาได้ตามที่ เห็นสมควร และอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของคณะกรรมการชุดนั้น ข้อ 18 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (1) ดำเนินกิจการทั้งปวงของชมรมฯ ให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง (2) จัดทำแผนงาน โครงการ เพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ (3) ดำเนินกิจการอื่นใด เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ของชมรม ข้อ 19 ให้เทศบาล จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ จัดตั้งชมรม หรือครบวาระการดำรงตำแหน่ง กรณีมีเหตุจำเป็นนายกเทศมนตรีอาจขยายเวลาการเลือกตั้ง การคัดเลือกหรือการแต่งตั้ง คณะกรรมการได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีกรรมการครบวาระและยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ ให้กรรมการ ชุดเดิมที่ครบวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ข้อ 20 วิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการ มี 2 วิธี (1) ให้สมาชิกในที่ประชุมใหญ่ เลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานชมรม และให้ประธานชมรม คัดเลือกกรรมการอื่น ๆ จนครบ เพื่อเสนอนายกเทศมนตรีแต่งตั้ง (2) ให้สมาชิกสมัครเป็นกรรมการ และให้สมาชิกในที่ประชุมลงคะแนนเสียงเลือกจนครบ จำนวนตามข้อ 21 การเลือกกรรมการตาม (1) หรือ (2) ให้เป็นไปตามมติที่ประชุมสมาชิก หรือตามที่นายกเทศมนตรี เห็นสมควร ข้อ 21 คณะกรรมการ ประกอบด้วย (1) ประธานชมรม จำนวน 1 คน และรองประธานชมรม จำนวน 2 คน (2) เลขานุการชมรม จำนวน 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 1 คน (3) เหรัญญิก จำนวน 1 คน (4) กรรมการฝ่ายต่าง ๆ จำนวน 6 ฝ่าย ดังนี้ - ฝ่ายทะเบียน จำนวน 1 คน - ฝ่ายปฏิคม จำนวน 1 คน - ฝ่ายกีฬาและบันเทิง จำนวน 1 คน - ฝ่ายประชาสัมพันธ์ จำนวน 1 คน - ฝ่ายสวัสดิการ จำนวน 1 คน - ฝ่ายจัดหารายได้ จำนวน 1 คน ข้อ 22 ประธานชมรม นอกจากอำนาจหน้าที่ตามข้อ 18 แล้วยังมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) เป็นประธานในการประชุมของชมรม (2) เป็นตัวแทนของชมรม ตามมติที่คณะกรรมการมอบหมาย ในการลงนามดำเนินกิจกรรม ข้อสัญญาต่าง ๆ ที่ไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของชมรม (3) คัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง เพื่อเสนอนายกเทศมนตรีแต่งตั้ง (4) ประสานงานในกิจการของชมรม ให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ของชมรม
5 (5) ควบคุมการดำเนินงานของคณะกรรมการ (6) ดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ หรือที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก ข้อ 23 รองประธานชมรม มีหน้าที่ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของประธานชมรมตามที่ประธานชมรม มอบหมายหรือปฏิบัติหน้าที่แทนประธานชมรมในกรณีประธานชมรมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้โดยให้ ปฏิบัติหน้าที่เรียงลำดับตามที่นายกเทศมนตรีแต่งตั้ง ข้อ 24 เลขานุการชมรม มีหน้าที่ (1) จัดทำเอกสารแผนงาน โครงการในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (2) ดูแลรักษาเอกสารของชมรม ประสานงานในกิจการทั่วไปตามที่ประธานมอบหมาย (3) นัดประชุม ดำเนินการจัดประชุม บันทึกการประชุมกรรมการและสมาชิก และรายงาน กิจการชมรม (4) ทำหนังสือแจ้งให้สมาชิกเข้าร่วมประชุม และส่งข่าวสารต่าง ๆ ข้อ 25 เหรัญญิก มีหน้าที่ (1) เกี่ยวกับทรัพย์สินและการเงินของชมรม (2) จัดทำและเก็บรักษาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สิน (3) จัดทำรายงานการรับ-จ่ายเงิน ในการจัดกิจกรรมของชมรม แต่ละครั้ง สรุปสถานการณ์ การเงินของชมรม ทุก 6 เดือน โดยแจ้งให้สมาชิกทราบโดยปิดประกาศไว้ที่ทำการของชมรมและรายงานให้ เทศบาลทราบ (4) จัดทำงบดุลประจำปี (ตามปีงบประมาณของทางราชการ) เสนอต่อประธานชมรมและที่ ประชุมใหญ่และรายงานให้เทศบาลทราบ ข้อ 26 ฝ่ายทะเบียน มีหน้าที่ (1) จัดทำและรักษาทะเบียนสมาชิก ตลอดจนเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาชิก (2) ปรับปรุง แก้ไขทะเบียนสมาชิกให้ถูกต้อง และเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ (3) รายงานจำนวนสมาชิกให้กรรมการ นายทะเบียน และในที่ประชุมใหญ่ทราบ อย่างน้อยปี ละ 1 ครั้ง ข้อ 27 ฝ่ายปฏิคม มีหน้าที่ (1) ให้การต้อนรับและบริการด้านต่าง ๆ (2) แนะนำ อำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกและผู้มาเยือน ข้อ 28 ฝ่ายกีฬาและบันเทิง มีหน้าที่ (1) สนับสนุน ดำเนินการจัดให้มีกิจกรรมเล่นกีฬา การแสดง ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ตามความเหมาะสม (2) จัดหาอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสมกับสมาชิก ข้อ 29 ฝ่ายประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ (1) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมและการดำเนินงานของชมรมให้สมาชิกและ บุคคลภายนอกทราบ (2) ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระเบียบ วัตถุประสงค์ของชมรม เพื่อเชิญชวนบุคคลที่มีคุณสมบัติ เข้ามาเป็นสมาชิกชมรม
6 ข้อ 30 ฝ่ายสวัสดิการ มีหน้าที่ (1) จัด ดูแล อำนวยความสะดวก เรื่องอาหาร เครื่องดื่ม ที่พัก และอื่น ๆ ตามสมควรแก่กรณี (2) จัดให้มีการเยี่ยมเยียนสมาชิกที่เจ็บป่วย และติดต่อประสานงานเมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ข้อ 31 ฝ่ายจัดหารายได้ มีหน้าที่ (1) จัดหารายได้ให้ชมรม (2) บริหารเงินที่ได้มาเพื่อการอันเป็นวัตถุประสงค์ของชมรม ข้อ 32 ให้ประธานชมรมจัดประชุมกรรมการ อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง และมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่าสองในสาม ของกรรมการเท่าที่มีอยู่ จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากเป็น เกณฑ์หากเสียงเท่ากันให้ประธานชมรม เป็นผู้ออกเสียงชี้ขาดเพิ่มอีกเสียงหนึ่ง หมวดที่ 7 การดำรงตำแหน่ง ข้อ 33 คณะกรรมการ ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้งหรือแต่งตั้งแล้วแต่กรณี ข้อ 34 คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายกเทศมนตรี (3) ถึงคราวออกตามวาระ (4) ขาดจากสมาชิกภาพ (5) ขาดประชุมติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง และที่ประชุมคณะกรรมการเสียงข้างมากมีมติให้ออก (6) นายกเทศมนตรีสั่งให้ออก เมื่อปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบชมรม ประพฤติตนไม่ เหมาะสม เช่น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อชมรมหรือเทศบาล ข้อ 35 ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนครบวาระให้ประธานชมรมคัดเลือกกรรมการแทน ตำแหน่งที่ว่าง เพื่อเสนอนายกเทศมนตรีแต่งตั้ง ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ตำแหน่งว่าง และให้ผู้ที่เป็น กรรมการแทน ดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของกรรมการที่ตนแทน ในกรณีที่การบริหารงานของชมรม ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของชมรม หรือเกิดจากเหตุอื่น ซึ่งอาจ ทำให้การบริหารงานชมรม ไม่เป็นไปตามปกติ นายกเทศมนตรีมีอำนาจถอดถอนคณะกรรมการเฉพาะรายหรือ ทั้งหมด หรือแต่งตั้งผู้รักษาการแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ได้ หมวดที่ 8 การรับเงิน การเบิกจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงิน ข้อ 36 ชมรม อาจมีรายได้เพื่อเป็นทุนดำเนินงาน ได้ดังนี้ (1) เงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าของสมาชิก (2) จากเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ (3) จากการขอรับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชน หน่วยงานของรัฐ หรืออื่นๆ (4) จากดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของชมรม
7 ข้อ 37 เงินทุกประเภทของชมรม ให้เก็บรักษาโดยนำฝากไว้ในธนาคารของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ ตามที่คณะกรรมการกำหนดในนามของชมรม การฝากและถอนเงินของชมรม ต้องกระทำในนามของชมรม การถอนเงินจากธนาคารต้องถอนโดยคณะกรรมการผู้มีอำนาจตามที่ตกลงไว้กับธนาคารซึ่งมี คณะกรรมการจำนวน 3 คน ประกอบด้วย ประธาน เหรัญญิก และกรรมการที่เหมาะสมอีก 1 คน โดยให้ผู้มีอำนาจ 2 ใน 3 คน ที่ร่วมกันลงนามในการเปิดบัญชีเป็นผู้ลงนามในการเบิกจ่าย และต้องมี ประธานลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินทุกครั้ง ข้อ 38 การสั่งจ่ายเงิน ให้คณะกรรมการเป็นผู้อนุมัติการเบิกจ่ายเงิน กรณีเร่งด่วนให้ประธานชมรม อนุมัติการเบิกจ่ายได้ ไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท และให้แจ้งที่ประชุมกรรมการทราบในการประชุมครั้งต่อไป การใช้จ่ายเงินให้เป็นไปโดยประหยัด หมวดที่ 9 การประชุมใหญ่ ข้อ 39 เมื่อมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งคณะกรรมการแล้ว ให้ประธานเรียกประชุมใหญ่สามัญ สมัยแรก ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้คณะกรรมการชมรม เพื่อประธานจะได้แถลงนโยบายการดำเนินงานของชมรม และแนะนำคณะกรรมการ การประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ จึงจะถือว่า ครบองค์ประชุม ข้อ 40 นอกจากการประชุมใหญ่ตามข้อ 38 แล้ว ประธานชมรมจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยพิจารณาเรื่อง ดังนี้ (1) แถลงผลงานและฐานะการเงินของชมรม ให้สมาชิกทราบ (2) พิจารณา วินิจฉัยปัญหาของชมรม (3) เสนอให้เทศบาล ปรับปรุง แก้ไข ระเบียบชมรม (4) พิจารณาข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อชมรม (5) แจ้งผลการตรวจสอบบัญชี ข้อ 41 ให้นายทะเบียนมีหน้าที่รวบรวมและเก็บรักษาทะเบียนสมาชิกชมรม ข้อ 42 ภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการประเมินการดำเนินงานตาม ระเบียบนี้เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป หมวดที่ 10 การแก้ไขระเบียบข้อบังคับและการเลิกชมรม ข้อ 43 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับได้โดยถือคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการบริหารทั้งหมด ข้อ 44 เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับแล้ว ต้องแจ้งให้สมาชิกทราบโดยทั่วกัน ภายใน 15 วัน ข้อ 45 ข้อบังคับที่ปรับปรุงแก้ไข ให้ถือว่าเป็นฉบับใหม่ทั้งฉบับ ข้อ 46 เมื่อมีการเลิกชมรมด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของชมรมให้ตกเป็นทรัพย์สินของเทศบาล ตำบลลานสัก
งานพัฒนาชุมชน เทศบาลตำ บลลานสัก