๑ การวิเคราะห์และวิจารณ์วรรณคดี เรื่อง ไตรภูมิพระร่วง อารี กุลตัณฑ์(๒๕๒๖) กล่าวว่า ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีทางพุทธศาสนา ที่สําคัญเล่มหนึ่งของไทย แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถและอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทย ในการนิพนธ์วรรณคดีที่แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหลักในพุทธศาสนา ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงผลบาป และผลบุญที่คนทั้งหลายได้กระทําไว้ ผู้ที่ได้อ่านศึกษางานนิพนธ์เรื่องนี้จะเห็นได้ว่าบรรพบุรุษของไทย นับแต่สมัยเมื่อเริ่มตั้งอาณาจักรเป็นปึกแผ่นในดินแดนปัจจุบันนี้เป็นผู้มีจิตวิทยาสูง การก่อตั้งอาณาจักร ขึ้นใหม่ จะต้องรวบรวมพลังจากพลเมืองของชาติเพื่อให้สามารถดํารงความมั่นคงและสามารถต่อสู้ศัตรู รอบด้านที่คอยคุกคามความดํารงอยู่ของชาติไทย จึงย่อมต้องการประชาชนพลเมือง ที่อยู่ในศีลธรรม อยู่ในระเบียบวินัย รู้บาปบุญคุณโทษ และมีหลักยึดมั่นทางศาสนา ไตรภูมิพระร่วงเป็นวรรณคดี ที่น้อมนําจิตใจประชาชนให้ยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมความดีตามหลักธรรมะ ทั้งยังแสดงความรู้สึกสอดคล้อง กับหลักธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ เช่น ตอนพรรณนาถึงกําเนิดของมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ในสมัยสุโขทัย วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้าและเป็นที่รู้จักกว้างขวางอย่างในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้แม้ว่าหนังสือ เรื่องไตรภูมิพระร่วงนี้จะเกิดขึ้นในสมัยโบราณนานนับร้อยปีแล้ว แต่คุณค่า สาระของหนังสือเรื่องนี้ ยังคงน่าศึกษา น่าค้นคว้า เพราะนอกจากจะให้ความรู้ทางศาสนาแล้ว ยังให้ความรู้ทางอักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก ผู้จัดทําจึงได้วิเคราะห์และวิจารณ์วรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง เพื่อศึกษาการใช้ภาษา จารีตประเพณีและวัฒนธรรม จากวรรณคดีทางพุทธศาสนาเล่มนี้ และเพื่อให้เห็นถึงความสําคัญ ในการประยุกต์ใช้ความเชื่อทางศาสนาในชีวิตประจําวัน ซึ่งก่อให้เกิดความสงบสุขในการดําเนินชีวิต เพราะความเชื่อนั้นส่งผลให้ผู้คนเกรงกลัวต่อบาปมากขึ้น และประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม นอกจากวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง จะมีอิทธิพลด้านความเชื่อแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมด้วย เพราะเนื้อหาในไตรภูมิพระร่วง มีอิทธิพลต่อความเชื่อ จึงมีอิทธิพลต่อแนวคิดของกวีในรุ่นหลังด้วย ไม่ใช่เพียงวรรณกรรมสมัยเก่าเท่านั้น แต่เนื้อหาของไตรภูมิพระร่วงยังมีปรากฏในวรรณกรรม สมัยปัจจุบันด้วย อาจเพราะความละเอียดในการพรรณนาถึงฉากและบรรยากาศ รวมทั้งตัวละครต่าง ๆ ในวรรณคดี จึงทําให้ง่ายต่อการนําไปใช้ต่อยอดดัดแปลงเป็นเรื่องราวใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น การวิเคราะห์วรรณคดีเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ๑. ประวัติความเป็นมา ๑.๑ ประวัติหนังสือ ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีเก่าแก่เรื่องหนึ่ง ซึ่งมีอายุกว่า ๖๐๐ ปี มาแล้ว พิเคราะห์ดูภาษาและสํานวนโวหารโดยตลอดแล้ว เชื่อว่าข้อความทุกตอนของหนังสือนี้ เป็นของ
๒ องค์ผู้ทรงนิพนธ์โดยตลอด นับตั้งแต่บานแพนก อันเริ่มแต่คาถานมัสการเป็นต้นไป เพราะในบาน แพนกนั้น ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการแต่งเรื่องนี้ ไว้ด้วยว่า “เพื่อมีอรรถพระอภิธรรมและจะใคร่ เทศนาแก่พระมารดาท่าน” ซึ่งคํา “พระมารดาท่าน” นี้ น่าจะเป็นคําที่พระองค์ผู้นิพนธ์ทรงเรียกพระ ราชมารดาของพระองค์ด้วยความเคารพ และที่น่าถือเป็นข้อสําคัญก็คือได้บอกชื่อคัมภีร์ที่ใช้เป็นหลัก กํากับไว้ด้วย หากเป็นของผู้อื่นแต่งเติมทีหลัง ก็ไม่น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะทราบชื่อคัมภีร์ที่นํามาเป็นหลักนั้น ได้ เพราะมิได้ระบุไว้ในเรื่อง นอกจากนี้แล้ว สํานวนโวหาร ก็กลมกลืนกันทุกตอนตลอดต้นตลอดปลาย หากจะมีการแต่งเติมบ้าง ก็คงเป็นเพียงประโยคเล็ก ๆ หรือบางศัพท์บางคําเท่านั้น แต่เนื่องจาก หนังสือนี้เป็นของเก่าและต้องมีการคัดลอกกันมาหลายชั้น หลายสมัย จึงมีส่วนวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่มาก ทําให้ของเดิมของแท้มัวหมองและขาดตกบกพร่องไป ยากที่จะเข้าใจได้ การตรวจชําระจึงเป็นงานหนัก การวินิจฉัยคําบางคําต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน ต้องหาหลักฐานมาประกอบการวินิจฉัย ทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี แต่เพื่อให้เรื่องนี้มีความผุดผ่อง สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในการนี้จึงได้ดําเนินการตามหลักการและวิธีการดังต่อไปนี้ ต้นฉบับ ต้นฉบับที่นํามาตรวจสอบชําระ เป็นฉบับใบลานอักษรขอมรวม ๒ ฉบับ คือฉบับพระมหาช่วย วัดปากน้ํา ซึ่งจารขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ และฉบับพระมหาจันทร์ อันจารขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ กับต้นฉบับพิเศษซึ่งพบเฉพาะผูกแรกอีก ๑ ผูก พิเคราะห์ดูตามลักษณะอักษร น่าเชื่อว่าจะได้จารขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต้นฉบับทั้งหมดนี้มีเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ฉบับพระมหาช่วยและพระมหาจันทร์ มีอย่างละ ๑๐ ผูก ผูกละ ๒๔ สาน ฉบับพิเศษ ๑ ผูก มี ๒๔ ลาน การรักษาความเดิม ได้นําต้นฉบับดังกล่าวมาสอบทานกัน เมื่อปรากฏว่ามีข้อแตกต่างกัน ถ้อยคําหรือข้อความในฉบับใดน่าเชื่อว่าเป็นของเก่า ก็ได้คงไว้ในเนื้อเรื่องถ้อยคําหรือข้อความที่ต่างกัน ในฉบับนอกนี้ ได้บันทึกเป็นเชิงอรรถไว้สําหรับต้นฉบับพิเศษซึ่งเชื่อว่าเป็นอักษรสมัยอยุธยานั้น ได้ให้อักษรย่อไว้ภายในเครื่องหมายวงเล็บว่า (อย.) การบูรณะ เมื่อตรวจดูข้อความตามต้นฉบับโดยละเอียดแล้ว เมื่อเห็นว่ามีถ้อยคํา หรือ ข้อความขาดหายไป โดยข้อความที่ปรากฏอยู่ไม่สัมพันธ์กันหรือจํานวนหัวข้อเรื่องที่บอกไว้ มีไม่ครบถ้วน ก็ได้เติมคําหรือข้อความซ่อมแซมไว้เพื่อให้สมบูรณ์ ถ้อยคําหรือข้อความที่เติมขึ้นใหม่นี้ ได้ใช้เครื่องหมายวงเล็บ ( ) กํากับไว้ทุกแห่ง เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นของเติมขึ้นใหม่ การวินิจฉัยคํา ถ้อยคําหรือข้อความใดเป็นปัญหา ได้ค้นหาหลักฐานในคัมภีร์ภาษาบาลี มาเป็นหลักวินิจฉัยคัมภีร์เหล่านี้ส่วนมากเป็นคัมภีร์ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบานแพนกและตอนท้ายของ หนังสือไตรภูมิกถานี้ หลักฐานนี้ได้บันทึกเป็นเชิงอรรถไว้แทบทุกแห่ง บางตอนแม้จะไม่มีข้อที่เป็นปัญหา แต่เนื้อเรื่องมีความสังเขปมากนัก เมื่อพบหลักฐานที่มีข้อความพิสดารกว่า ก็ได้บันทึกเป็นเชิงอรรถไว้ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะค้นคว้าต่อไป
๓ อักขรวิธีได้พยายามรักษาอักขรวิธีในเรื่องนี้ไว้ตามต้นฉบับ แต่คําใดที่ปรากฏว่ามีการใช้ ลักลั่น เช่น หมั่นคง-มั่นคง ข้า(ทําให้ตาย)-ฆ่า เป็นต้น ซึ่งดูคล้ายกับว่าหาหลักเกณฑ์ที่ใช้ยึดถือไม่ได้ จะต้องอาศัยอารมณ์ของผู้เขียนเป็นสําคัญ เข้าใจว่าความลักลั่นนี้อาจเกิดขึ้นภายหลังที่มี การคัดลอก สืบต่อกันมาก็ได้ ในเรื่องนี้ได้ถือเอาเฉพาะที่ปรากฏว่ามีใช้มากเป็นหลัก กับได้ถืออักขรวิธีที่ปรากฏ ในจารึกสุโขทัยเป็นหลักวินิจฉัยคําบางคําได้เปลี่ยนรูปไปจากต้นฉบับบ้าง เพื่อให้ออก เสียงได้ใกล้กับ ภาษาปัจจุบัน เช่น ตามต้นฉบับส่วนมากเขียนว่า “อันนึ่ง” ได้เปลี่ยนเป็น “อันหนึ่ง” เพื่อให้ออกเสียง ใกล้กับ “อนึ่ง” และคํา “อยา” อันมีความหมายว่ายาแก้โรค ได้เปลี่ยน เป็น “ยา” ดั่งนี้เป็นต้น หลักภาษา ในการตรวจชําระนี้ นอกจากจะได้อาศัยหลักภาษาไทยทั่วไป และหลักการ ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังได้อาศัยหลักภาษาถิ่นทางภาคอีสานและภาคพายัพประกอบด้วย ทั้งนี้ก็โดยที่ เห็นว่าถ้อยคําสํานวนโวหารที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้ มีส่วนใกล้เคียงหรือเหมือนกันกับภาษาถิ่นทั้งสองนี้ เป็นอันมาก เช่นคําว่า “แตงจิง” ในประโยคว่า “นอกป่าน้ําเต้านั้น มีป่าแตงจิง โดยกว้างได้ ๔,๐๐๐ วา” ซึ่งคํา “แตงจิง” ในที่นี้หมายถึง แตงไทย และคํานี้ชาวอีสาน ก็ยังนิยมพูดกันอยู่ในปัจจุบัน คําเช่นนี้หาก ไม่อาศัยภาษาถิ่นเป็นหลักวินิจฉัย ก็อาจมีความเห็นและเขียนเป็นอย่างอื่นได้ อย่างที่เคยเขียนเป็น “แตงมิง” มาแล้ว ซึ่งการเขียนเช่นนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นการคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับโดยแท้ การเขียนคลาดเคลื่อนนั้น แม้แต่เพียงวรรณยุกต์ก็ย่อมทําให้ความหมายคลาดเคลื่อน ไปด้วย อย่างคําว่า “เป่ากล้อง” อันมีอยู่หลายแห่งในไตรภูมิกถานี้ โดยเฉพาะในตอนที่ว่าด้วยสวรรค์ เช่นประโยคว่า “แลยังมีนางเทพธิดาตนหนึ่ง ชื่อว่าสาธุ)” และเทพยธิดาผู้นั้นก็เป่ากล้องคู่หนึ่งชื่อ สุภัทรา” เมื่อเขียนคลาดเคลื่อนเป็น “เป่ากลอง” ก็ทําให้เข้าใจไปว่า เป่า แปลว่า ตีและสําคัญ “กล้อง” เป็น “กลอง” ไป ดังที่ท่านเจ้าคุณอนุมานราชธนกล่าวไว้ (ในบันทึก – ความรู้ต่าง ๆ เล่ม ๓ หน้า ๒๙๒) ว่า “ในไตรภูมิพระร่วง ตอนว่าด้วยสวรรค์ ใช้คําว่าเป่ากลองอยู่หลายแห่ง แต่ที่เป็นตีกลอง ก็มี เป่าคํานี้อาจเป็นคําเดียวกับคําว่า โป่ ในภาษาไทยใหญ่ ซึ่งแปลว่า ตีคําภาษาไทยซึ่งใกล้กับคํานี้ก็มี แต่คําว่า “โบย” อันที่จริงคํา “กล้อง” นั้น ภาษาภาคอีสานหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะเป็นกระบอกก็ได้ เช่น กระบอกไม้ไผ่ที่พวกพรานป่าใช้เป่าเวลาเข้าป่าเข้าดงก็เรียกว่ากล้อง แม้ขวดก็เรียกว่า กล้อง และคําว่า “เป่ากล้อง” นี้ คําบาลีว่า “วส์ธมติ” ตามรูปศัพท์ น่าจะแปลว่า เป่ากระบอกไม้ไผ่ แต่บัดนี้ นิยมแปลกันว่า เป่าปี่ หรือ เป่าขลุ่ย เมื่อมีคําบาลียืนยันอยู่ และมีภาษาถิ่นเทียบเคียงได้ดังกล่าวนี้ คํา “เป่ากล้อง” ในที่นี้จึงน่าจะหมายความว่า “เป่าปี่” หรือ “เป่าขลุ่ย” และไม่น่าจะเขียนว่า “เป่ากลอง” อันทําให้เข้าใจผิดไปว่า ตีกลอง ดังกล่าวแล้ว การปรับปรุง เพื่อให้หนังสือนี้มีลักษณะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะได้อํานวยความสะดวกแก่ผู้ ศึกษา จึงได้ปรับปรุงระเบียบข้อความขึ้นโดยแยกวรรคตอน ย่อหน้า และทําหัวเรื่องให้ปรากฏ เป็นระเบียบตามสมัยนิยม
๔ การตรวจชําระครั้งนี้ แม้จะได้ดําเนินการโดยอาศัยหลักการและวิธีดังกล่าวนี้ และแม้ จะได้ใช้ความระมัดระวังมากเพียงใด ก็น่าจะมีข้อผิดพลาดและขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง จึงขอให้เรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของท่านผู้รู้ได้อนุเคราะห์แก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖) ๑.๒ ประวัติผู้แต่ง ชนชาติไทยสายไทยน้อยพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเราได้อพยพจากดินแดนประเทศ จีนลงมาตั้งภูมิลําเนาเป็นหลักแหล่ง และสามารถตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น โดยมีกรุงสุโขทัย เป็นราชธานี เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๑ และอาณาจักรนี้ได้สิ้นสุดลง โดยเสียอิสรภาพแก่กรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ ในเวลาที่อาณาจักรสุโขทัยมีอิสรภาพอยู่นั้น ได้มีกษัตริย์วงศ์สุโขทัย หรือที่เรียกกัน เป็นสามัญว่ากษัตริย์วงศ์พระร่วง ครองกรุงสุโขทัยสืบสันตติวงศ์ต่อกันมา ๖ พระองค์ คือ ขุนศรีอินทราทิตย์ ขุนบานเมือง พ่อขุนรามคําแหง พญาเลลิไทย หรือพญาเลอไทย พญาลิไทย หรือพญาเลไทย (พระมหาธรรมราชาที่ ๑) และพญาไสยลือไทย หรือพญาไสยฤๅไทย (พระมหาธรรมราชาที่ ๒) พระองค์ที่ทรงนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วงนี้ คือพญาลิไทย ซึ่งเป็น พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์สุโขทัย เป็นพระราชโอรสของพญาเลลิไทย มีพระนามเรียกกัน อีกอย่างหนึ่งว่าพญาฤๅไทยราช พระนามเต็มตามที่ถวายเมื่อราชาภิเษกว่า พระเจ้าศรีสุริยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นทั้ง นักปราชญ์ ทั้งนักปกครอง มีพระราชประวัติงดงามมาก ตามหลักฐานเท่าที่พบ พอจะประมวลกล่าวเป็น สังเขปได้ ดังนี้ ๑. ทรงเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา มีพระปรีชารอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และปกรณ์พิเศษต่าง ๆ โดยทรงพระอุตสาหะศึกษาจากพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญ ในพระไตรปิฎกในยุคนั้น เช่นพระมหาเถระมุนีพงศ์ พระอโนมทัสสีเถรเจ้า พระมหาเถรธรรมปาลเจ้า พระมหาเถรสิทธัตถเจ้า พระมหาเถรพุทธพงศเจ้า พระมหาเถรปัญญานันทเจ้า และพระมหาเถรพุทธโฆษาจารย์แห่งเมืองหริภุญไชย กับได้ทรงศึกษาในสํานักราชบัณฑิต คือ อุปเสนราชบัณฑิต และอทรายราชบัณฑิต ๒. ทรงเชี่ยวชาญในโหราศาสตร์ อาจจะถอน จะยก จะลบปีเดือนมิได้คลาด ทรงรอบรู้ ในดาราศาสตร์ อาจคํานวณการโคจรของดวงดาวและกําหนดจันทรคราสและสุริยคราส ๓. ทรงเชี่ยวชาญในทางไสยศาสตร์ ทรงบัญญัติคัมภีร์ศาสตราคมเป็นปฐมธรรมเนียม สืบต่อกันมา ๔. ทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียร ก่ออิฐถือปูนขึ้นอย่างมั่นคงและสวยสดงดงามมาก ๕. ทรงอุปถัมภ์การศึกษาพระพุทธศาสนาและศิลปศาสตร์ต่าง ๆ โดยทรงดําเนินการ ให้พระสงฆ์สั่งสอนเล่าเรียนพระธรรมวินัย คือศึกษาพระไตรปิฎกและให้พวกพราหมณ์สั่งสอน เล่าเรียนศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ในบริเวณพระมหาปราสาท ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการตั้งโรงเรียน สอนพระปริยัติธรรมและศิลปศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย
๕ ๖. ได้ทรงส่งราชบุรุษไปรับพระบรมธาตุมาจากลังกาทวีป (ประเทศลังกา) แล้วทรง สร้างพระมหาธาตุหรือมหาเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุไว้ที่เมืองนครชุม (ปัจจุบันเป็นเมืองเก่า อยู่หลังเมือง กําแพงเพชร) เมื่อปีระกา พ.ศ. ๑๙๐๐ ๗. ได้ทรงส่งราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชมาแต่เมืองลังกา มาอยู่ที่วัดป่า มะม่วง (อัมพวนาราม) เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๑๙๐๔ ๘. ได้ทรงผนวชคือบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธ ศาสนา ณ วัดป่ามะม่วง โดยมีพระมหาสวามีสังฆราชเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ของชาติไทย ๙. ได้โปรดให้ขุดคลอง และทําถนนหนทาง แต่เมืองสุโขทัยไปจนถึงเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองน้อยใหญ่ เป็นการพระราชกุศลสนองพระคุณพระราชบิดา ซึ่งถนนที่ว่านี้ ทุกวันนี้เรียกว่า ทางพระร่วง มีแต่เมืองกําแพงเพชรไปเมืองสุโขทัย ตลอดจนเมืองสวรรคโลก ๑๐. ทรงพระปรีชาสามารถในการปกครองบ้านเมือง โดยทรงอาศัยธรรมานุภาพ ปกครองไพร่ฟ้าประชาชน ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีข้าศึกอริราชศัตรูมาเบียดเบียน และไม่มีทาส ในเมืองสุโขทัย ๑๑. ได้โปรดให้สร้างศิลาจารึกไว้หลายหลัก ทั้งภาษาไทย ภาษามคธ และภาษาขอม (จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ถึงหลักที่ ๑๐) ซึ่งศิลาจารึกเหล่านี้ได้เป็นหลักฐานสําคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ๑๒. เมื่อก่อนเสวยราชย์ ได้รับสถาปนาจากพระราชบิดาให้ดํารงตําแหน่งที่พระมหาอุปราช ครองเมืองศรีสัชนาลัย ทรงพระนามว่าพญาฦๅไทยราช เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๑๘๘๒ ๑๓. ได้ทรงนิพนธ์ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง อันนับเป็นวรรณคดีเล่มแรกของไทย และหนังสือนี้น่าจะมีอิทธิพลยิ่งในการแผ่ธรรมานุภาพและเผยแผ่พระพุทธศาสนา อันเป็นผลให้ อาณาจักรของพระองค์มีความมั่นคงและสงบสุข พญาลิไทยจะได้ทรงนิพนธ์ไตรภูมิกถาขึ้นเมื่อไร ยังไม่เป็นที่ยุติ จึงน่าจะได้วินิจฉัย ดูในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๔ (จารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาขอม) ด้านที่ ๑ แต่บรรทัดที่ ๑ ถึงที่ ๙ มีข้อความว่า “มหาศักราช ๑๒๖๙ ศกกุน พระบาทกมรเดงอัญฦๅไทยราช เป็นพระราชนัดดา ของพระบาทกมรเดงอัญศรีรามราช เสด็จนําพลพยุหเสนาทั้งหลายออกจากเมืองศรีสัชนาไลยมา รีบตบแต่งพลโยธา... นอกพระวิไสย ณ วันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ํา เดือน ๗ เมื่อเสด็จถึงมีพระบัณฑูรให้พลเสนา ทั้งหลายล้อมประตู (เอา) ขวานประหารศัตรูทั้งหลาย บัดนั้นจึงเสด็จพระราชดําเนินเข้าเสวยราชย์- ไอศวรรยาธิปัตยในเมืองสุโขทัยแทนพระบิดา” จากหลักฐานนี้จะเห็นว่าพญาลิไทยได้เสวยราชสมบัติในเมืองสุโขทัยแทนพระราชบิดา เมื่อปีกุน มหาศักราช ๑๒๖๙ (พ.ศ. ๑๘๙๐, จ.ศ. ๗๐๔)
๖ ในศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๐-๑๑ มีข้อความว่า “เสวยราชสมบัติ ในเมืองศรีสัชนาไลยสุโขทัยได้ ๒๒ ปี ลุมหาศักราช ๑๒๘๓ ศก ฉลู...” ตามหลักฐานนี้น่าจะหมายความว่า นับแต่พญาลิไทยได้เป็นพระมหาอุปราช ครองเมือง ศรีสัชนาไลยมาจนถึงปีฉลู มหาศักราช ๑๒๘๓ (พ.ศ. ๑๙๐๔, จ.ศ. ๗๒๓) นั้น เป็นเวลา ๒๒ ปี (พ.ศ. ๑๙๐๔ - พ.ศ. ๑๘๘๒ - ๒๒) คงไม่หมายความว่านับแต่ได้เสวยราชสมบัติแทน พระราชบิดา เพราะถ้านับแต่นั้นมาถึงปีฉลู มหาศักราช ๑๒๘๓ (พ.ศ. ๑๙๐๔) นั้น ก็จะมีเวลาห่างกัน เพียง ๑๔ ปี เท่านั้น (พ.ศ. ๑๙๐๔ – พ.ศ. ๑๘๙๐ = ๑๔) โดยนัยนี้จะเห็นได้ว่า พญาลิไทยได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช เมื่อปี เถาะ มหาศักราช ๑๒๖๑ (พ.ศ. ๑๘๙๒, จ.ศ. ๒๐๑) ต่อแต่นั้นมาอีก 5 ปี ก็จะเป็นปีระกา มหาศักราช ๑๒๖๗ (พ.ศ. ๑๘๘๘, จ.ศ. ๗๐๗) ปีที่แต่งไตรภูมิกถานี้มีบอกไว้ในบานแพนกและตอนท้ายของเรื่องนี้ว่า “แลเจ้าพระญาเลไทย ได้เสวยราชสมบัติในเมืองสัชนาลัยอยู่ได้ ๖ เข้า จึงได้สร้างไตรภูมิกถานี้ เมื่อได้กินเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ได้ ๖ เข้าจิงใส่” ซึ่งข้อความที่กล่าวนี้น่าจะหมายความว่า นับแต่พญาลิไทยได้รับสถาปนา เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัยมาเป็นเวลา ๖ ปี จึงได้แต่งไตรภูมิกถา เพราะนับแต่บัดนั้น ต่อมาอีก ๖ ปี ก็จะเป็นปีระกา ตรงตามที่ท่านบอกไว้ แต่ถ้านับแต่ปีที่ได้เสวยราชสมบัติ แทนพระราชบิดา (ปีกุน พ.ศ. ๑๘๙๐) ต่อมาอีก ๖ ปี ก็จะเป็นปีมะเส็ง ด้วยเหตุนี้ไตรภูมิกถานี้จึงน่า จะได้แต่งในปีระกา มหาศักราช ๑๒๖๗ (พ.ศ. ๑๘๘๘, จ.ศ. ๗๐๗) แต่ศักราชที่แต่งเรื่องนี้ที่ท่านลงไว้ว่า “ศักราชได้ ๒๓” นั้น น่าจะหมายถึงจุลศักราช ใหม่ คือศักราชที่พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยทรงลบศักราชแล้วตั้งขึ้นใหม่ ดังที่สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์ เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า “ที่พงศาวดารเหนือว่า พระร่วงลบศักราช จะเป็นพระร่วงลิไทยพระองค์นี้ดอกกระมัง ศักราชที่ลงไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงว่าแต่งเมื่อปีระกา ศักราช ๒๓ ปี ดูเป็นพยานอยู่ พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยพระองค์อื่น ไม่ได้ยินกล่าวว่าลบศักราชเลย” และจุลศักราชใหม่นี้ น่าจะได้ตั้งขึ้นเมื่อปีกุน พ.ศ. ๑๙๖๖ ด้วยได้พบเค้าเงื่อนกล่าวไว้ในเรื่องนางนพมาศ ตอนหนึ่งว่า “ครั้นเพลารุ่งเช้าเป็นวันศุกร์เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ํา จุลศักราช ๖ ปีมะโรง ฉศก... ข้าน้อย มีอายุนับตามปีได้ ๑๗ ตามเดือนได้ ๑๕ ปี กับ ๘ เดือน ๒๔ วัน” ซึ่งจุลศักราช ๖ ที่ลงไว้นี้ ถ้าเป็น ศักราชเก่าซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปีกุน พ.ศ. ๑๑๘๒ แล้ว จ.ศ. ๖ นั้น ก็จะตรงกับปีมะโรง พ.ศ. ๑๑๘๗ อันเป็น เวลาช้านานก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเสียอีก จึงไม่อยู่ในฐานะจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นจุลศักราชใหม่ ก็จะเป็น ปีมะโรง พ.ศ. ๑๘๖๗ อันเป็นรัชสมัยพญาเลลิไลยแห่งกรุงสุโขทัย และถ้านับแต่ปีที่ตั้งจุลศักราชใหม่ (พ.ศ. ๑๔๖๖) มาถึงจุลศักราช ๒๓ ก็จะเป็นปีระกา ซึ่งตรงกับศกและปีที่ลงไว้ในไตรภูมิกถา และตรงกับ พ.ศ. ๑๘๘๘ ดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุนี้ศักราช ๒๓ นั้นจึงน่าจะเป็นจุลศักราชใหม่นี้
๗ มีทางที่น่าจะเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง คือศักราช ๒๓ นั้น อาจเป็นมหาศักราช ๑๒๖๗ ก็ได้ เพราะศักราชนี้นิยมใช้มากในสมัยนั้น แต่ตกตัวเลขหน้าไปเสียสองตัว และจารเลขหลังสองตัว คือจํานวน ๖๗ คลาดเคลื่อนเป็น ๒๓ ไป หรืออาจเป็นจุลศักราช (เก่า) ๗๐๗ ก็ได้ แต่ตกเลขหน้าไปเสียหนึ่งตัว และจารเลขหลังสองตัวคือ ๐๗ คลาดเคลื่อนเป็น ๒๓ ไป การคัดลอกสืบต่อกันมานี้มักคลาดเคลื่อนได้ เสมอ เลข ๔ คลาดเคลื่อนเป็นเลข ๓ ก็มี เช่นคําว่า “อาการกิเลส ๔” คลาดเคลื่อนเป็น “อาการกิเลส ๓ (ไตรภูมิ น. ๗๔๖) เลข ๓ คลาดเคลื่อนเป็นเลข ๒ ก็มี เช่นคํา ว่า “แลมีอันมี ๓ คลาดเคลื่อนเป็น “แลมีอันมี ๒” (ไตรภูมิ น. ๗๔๗) แม้แต่อักษรคลาดเคลื่อนเป็น ตัวเลขก็มี เช่นข้อว่า “อันว่าโคตรภูจิง เกิด ๑ ขณะ” คลาดเคลื่อนเป็น “อันว่าโคตรภูจิงเกิด ๑๗” (ไตรภูมิ น. ๗๕๓) โดยเฉพาะเลข ๗ นั้น คลาดเคลื่อนเป็นเลข ๓ ได้ง่าย อีกประการหนึ่ง ไตรภูมิกถานี้ ต้นฉบับเดิมน่าจะเป็นอักษรสุโขทัยอย่างที่ ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ หรืออักษรไทยน้อยแล้วมีการคัดลอกเป็นอักษรขอมในสมัยอยุธยา และต่อมา กว่าจะถึงฉบับพระมหาช่วยและพระมหาจันทร์ ก็น่าจะได้คัดลอกกันมาหลายชั้นหลายคราว แล้ว ความคลาดเคลื่อนจึงมีมาก โดยเฉพาะฉบับที่คัดลอกตีพิมพ์เป็นอักษรไทยสมัยปัจจุบัน จะพบข้อคลาดเคลื่อนมากที่สุด จะอย่างไรก็ตาม ศักราชที่บอกให้ทราบกาลเมื่อพญาลิไทยได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช “กินเมืองศรีสัชนาลัย” (มหาศักราช ๑๒๖๑) และระยะเวลาตั้งแต่บัดนั้นมาถึงปีที่แต่ง ไตรภูมิกถา (เวลา ๖ ปี) ก็ยังมีหลักฐานยืนยันอยู่ จึงน่าจะถือเป็นยุติได้ว่า ไตรภูมิกถานี้แต่งขึ้นเมื่อปี ระกา จุลศักราชใหม่ได้ ๒๓ หรือมหาศักราช ๑๒๖๗ จุลศักราช (เก่า) ๗๐๗ พ.ศ. ๑๘๘๘ อันเป็น ระยะเวลาที่พญาลิไทยดํารงพระเกียรติยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ พญาลิไทย พระมหาธรรมราชาที่ ๑ กษัตริย์นักปราชญ์ นักปกครองพระองค์นี้ทรงมี พระปรีชาสามารถ ทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรเป็นประโยชน์ไพศาล ทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร ตลอดรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๙) มีพระราชประวัติ งดงามหลายประการดังกล่าวมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงสรุปลักษณะปกครองของกษัตริย์พระองค์นี้ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า “ว่าโดยย่อ ควรเข้าใจได้ว่าพระเจ้าขุนรามคําแหงทรงบําเพ็ญจักรวรรดิวัตรแผ่พระราชอาณาจักร และพระราช อํานาจด้วยการรบพุ่งปราบปรามราชศัตรูฉันใด พระมหาธรรมราชาลิไทยก็ทรงบําเพ็ญในทางที่จะเป็น ธรรมราชา คือปกครองพระราชอาณาจักรหมายด้วยธรรมานุภาพเป็นสําคัญฉันนั้น” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ ) ๒. จุดมุ่งหมายของผู้แต่ง จุดมุ่งหมายของพญาลิไทยผู้แต่งไตรภูมิพระร่วง มีจุดมุ่งหมายดังนี้ ๑. เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ประชาชน ๒. เพื่อเป็นบทเรียนอภิธรรมแก่มารดา
๘ โดยกล่าวไว้ในบานแพนก มีเนื้อความว่า “...เจ้าพญาเลไทยผู้เป็นลูกแห่งเจ้าพญาเลลิไทยผู้เสวยราชสัมปัตติในเมืองศรีสัชชนาลัยแลสุก โขทัย แลเจ้าพญาลิไทย นี้ ธ เป็นหลานเจ้าพญารามราชผู้เป็นสุริยวงศ์ แลเจ้าพญาเลไทยได้เสวยราช สัมปัตติในเมืองสัชชนาลัยอยู่ได้ 5 เข้า จึงได้สร้างไตรภูมิกถานี้มูนใส่เพื่อใดสิ้น ? ใส่เพื่อมีอรรถพระ อภิธรรมแลจะใคร่เทศนาแก่พระมาดาท่านอันหนึ่ง เพื่อจําเริญพระธรรมโสด...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๒) และกล่าวอีกครั้งในอวสนพจน์มีเนื้อความว่า “...พระญาลิทัยผู้เป็นหลานปู่พระญาเลลิทัย ผู้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยแลสุกโขทัย ผู้เป็น หลานแก่พระรามราชอันเป็นสุริยพงษ์ เมื่อได้กินเมืองศรีสัชชนาลัยได้หกเข้า จึงไส่เพื่อความได้อรรถพระ อภิธรรม แลจะใคร่เทศนาเฉพาะแก่แม่เอาคนหนีจักใคร่จําเริญพระธรรมโสด...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๑๕๖) ๓. วิเคราะห์ชื่อเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง คําว่า “ไตรภูมิ” (ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๕๔) หมายถึง โลกทั้ง ๓ ทาง พระพุทธศาสนา ได้แก่ กามภพ คือภพของผู้ที่ติดอยู่ในกาม ตั้งแต่ฉกามาพจรลงมาถึงนรกภูมิ รูปภพ คือ ภพของพรหมที่มีรูป อรูปภพ คือภพของพรหมที่ไม่มีรูป และในทางวรรณคดีหมายถึง สวรรค์ มนุษยโลก และบาดาล ตรีภพ ตรีโลก หรือไตรโลก โดยกล่าวถึงโลกทั้ง ๓ ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดในสามภูมิดังนี้ “...อันว่าสัตว์ทั้งหลายเทียรย่อมเวียนวนไปมา แลเกิดในภูมิ ๓ อันนี้แล อันใดแลชื่อภูมิ ๓ อัน นั้นล่า ? อันหนึ่งชื่อว่ากามภูมิ อันหนึ่งชื่อว่ารูปภูมิ อันหนึ่งชื่อว่าอรูปภูมิ ในกามภูมินั้นยังมีประเภท ๑๑ อันใดบ้าง ? อันหนึ่งชื่อว่านรกภูมิ อันหนึ่งชื่อติรัจฉานภูมิ อันหนึ่งชื่อเปรตวิสัยภูมิ อันหนึ่งชื่ออสุรกาย ภูมิ ภูมิ ๔ อันนี้ชื่ออบายภูมิก็ว่า ชื่อทุคติภูมิก็ว่า อันหนึ่งชื่อมนุสสภูมิ อันหนึ่งชื่อจาตุมหาราชิกาภูมิ อันหนึ่งชื่อตาวติงษาภูมิ อันหนึ่งชื่อยามาภูมิ อันหนึ่งชื่อตุสิตาภูมิ อันหนึ่งชื่อนิมมานรตีภูมิ อันหนึ่งชื่อปร นิมมิตวสวัตตีภูมิ ภูมิทั้ง ๗ ชั้นนี้ชื่อสุคติภูมิ ผสมภูมิทั้ง ๑๑ แห่งนี้ชื่อกามภูมิแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๓) ส่วนพระร่วง หมายถึง ผู้แต่งหนังสือไตรภูมินี้ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ได้ครอบครอง ราชสมบัติครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตามที่สอบในศิลาจารึกประกอบกับหนังสืออื่น ๆ ได้ความว่ามี ๖ พระองค์ ได้แก่ ๑. ขุนอินทราทิตย์ หนังสือตํานานพระสิหิงค์เรียกว่า พระเจ้าไสยณรงค์ หนังสือชินกาลมาลินีเรียกว่า โรจนราชา เสวยราชย์เมื่อใดอยู่ในราชสมบัติใดไม่ปรากฏ
๙ ๒. ขุนบานเมือง หนังสืออื่นเรียก ปาลราช เป็นราชบุตรของขุนอินทราทิตย์ ศักราชไม่ปรากฏเหมือนกัน ๓. ขุนรามคําแหง หนังสืออื่นเรียก รามราช เป็นราชบุตรของขุนอินทราทิตย์ เสวยราชย์เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ครองราชสมบัติเมื่อจุลศักราช ๖๕๔ ๔. พระญาเลลิไทย หรือเลือไทย หนังสืออื่นเรียก อุทโกสิตราชบ้าง อุทกัช์โฌต์ถตราชบ้าง หมายความว่าพระยาจมน้ํา เห็นจะเป็นพระร่วงองค์ที่ว่าจมน้ําหายไปในแก่งหลวง เป็นราชบุตรของขุนรามคําแหง ศักราชเท่าใด ไม่ปรากฏ ๕. พระญาลิไทย หรือฤไทยราช หรือ ฤาไทยไชยเชฐ พระนามเต็มตามที่ถวายเมื่อราชาภิเษก ว่า ศรีสุริยพระมหาธรรมราชาธิราช เป็นราชบุตรของพระญาเลลิไทย หนังสืออื่นเรียก ลิไทยราช เสวยราชย์เมื่อจุลศักราช ๖๗๙ สิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช ๗o๙ ซึ่งอยู่ในราชสมบัติกว่า ๓o ปี และทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก อาจจะให้แต่งหนังสือเรื่องไตรภูมินี้ได้ด้วยประการทั้งปวง ๖. พระเจ้าศรีสุริยพงษ์รามมหาธรรมิกราชาธิราช นอกจากศิลาจารึก หนังสืออื่นไม่ได้กล่าวถึง เป็นราชบุตรของพระญาลิไทย เสวยราชย์ เมื่อจุลศักราช ๗o๙ อยู่จนเสียพระนครแก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชกรุงศรีอยุธยา เมื่อจุลศักราช ๗๓o บรรดาพระเจ้ากรุงสุโขทัย ดูเหมือนจะปรากฏพระนามในนานาประเทศ และได้เรียกว่า สมเด็จพระร่วงเจ้าต่อ ๆ กันมาทุกพระองค์ จึงให้เรียกว่าไตรภูมิพระร่วง (พระญาลิไทย. ๒๕๕๔ : ๔-๖) โดยมีกล่าวไว้ในบานแพนกว่าพระญาลิไทยนั้นมีเชื้อสายในราชวงศ์พระร่วง ดังนี้ “...เจ้าพญาเลไทยผู้เป็นลูกแห่งเจ้าพญาเลลิไทยผู้เสวยราชสัมปัตติในเมืองศรีสัชชนาลัยแลสุก โขทัย แลเจ้าพญาลิไทย นี้ ธ เป็นหลานเจ้าพญารามราชผู้เป็นสุริยวงศ์ แลเจ้าพญาเลไทยได้เสวยราช สัมปัตติในเมืองสัชชนาลัยอยู่ได้ 5 เข้า จึงได้สร้างไตรภูมิกถานี้มูนใส่เพื่อใดสิ้น ?...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๒) ๔. เรื่องย่อ ในทางพระพุทธศาสนาโลกมีมิติหลากหลายถึง ๓๑ ชั้นชีวิต ตั้งแต่พรหม เทวดา เปรต อสูรกาย รวมทั้งสัตว์นรก ซึ่งชีวิตก็มีการเวียนว่ายตายเกิดไปตาม ๓๑ ชั้น แล้วแต่ผลกรรม โดยหนังสือไตรภูมินี้ แบ่งจักรวาลออกเป็น ๓ ภูมิหรือ ๓ แดนใหญ่ ๑. กามภูมิคือพวกชีวิตต่าง ๆ ที่ทุกข์ สุข อยู่กับความพอใจหรือไม่พอใจ เป็นโลกของผู้ที่ยังติด อยู่ในกามกิเลส แบ่งเป็นกลุ่มตั้งแต่ต่ําสุด ได้แก่ ผีนรก เปรต สัตว์ คน ถึงสูงสุดคือเทวดา กามภูมิ แบ่งออกเป็น ๑๑ ภูมิ ๒ ฝ่าย ได้แก่สุคติภูมิ ๗ และอบายภูมิ ๔
๑๐ ๑.๑ สุคติภูมิหมายถึง ดินแดนที่อยู่ของสัตว์โลกผู้ทํากรรมดี เป็นภูมิที่มีความสุขสบาย ตามสภาพของภูมินั้น ๆ ด้วยอํานาจของกุศลที่ทําไว้มากน้อยแตกต่างกันไป ได้แก่ มนุสสภูมิ หรือโลกมนุษย์ ๑ แห่ง และสวรรคภูมิหรือฉกามาพจรภูมิ ซึ่งหมายถึงสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ๑.) มนุสสาภูมิบรรดาสัตว์ที่เกิดในโลกมนุษย์นี้มีการเกิดด้วยกําเนิดทั้ง ๔ ประเภท โดยกําเนิดในครรภ์พบบ่อยกว่าการกําเนิดประเภทอื่น การกําเนิด ๓ ประเภทมีบางครั้งเท่านั้น การกําเนิดในครรภ์ การกําเนิดในครรภ์มีห้าระยะการเจริญเติบโต ได้แก่ กลละ อัมพุทะ เปสิฆนะ และปัญจสาขา โดยแต่ละระยะมีระยะเวลาห่างกัน ๗ วัน มีลักษณะดังนี้ ระยะแรกเรียกว่า กลละ มีขนาดเล็กมาก และใสงามเหมือนน้ํามันงาที่ตักใหม่ ระยะที่สองเรียกว่า อัมพุทะ มีลักษณะเหมือนน้ําล้างเนื้อ ระยะที่สามเรียกว่า เปสิมีลักษณะข้นเหมือนตะกั่วเชื่อมอยู่ในหม้อ ระยะที่สี่เรียกว่า ฆนะ มีลักษณะแข็งเป็นก้อนเหมือนไข่ไก่ ระยะที่ห้าเรียกว่า ปัญจสาขา คือฆนะซึ่งเกิดตุ่มขึ้น ๕ แห่งเหมือนหูดโดยหูดนั้น เป็นมือ ๒ ข้าง เป็นเท้า ๒ ข้าง เป็นศีรษะหนึ่งอัน ต่อจากนั้นเมื่อผ่านไปอีก ๗ วัน จะกลายเป็นฝ่ามือ เป็นนิ้วมือ ต่อจากนั้นไปเมื่อถึง ๗ วัน ครบ ๔๒ วัน จึงเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บมือ เล็บเท้า ครบอวัยวะ เป็นมนุษย์ทุกประการ ประเภทมนษย์ ๔ ทวีป บุตรที่เกิดมามี ๓ จําพวก คือ อภิชาตบุตร อนุชาตบุตร และอวชาตบุตร อภิชาตบุตร คือ บุตรที่ดียิ่งกว่าบิดามารดาทั้งในด้านเชาวน์ปัญญา รู้หลัก นักปราชญ์ รูปงาม ทรัพย์ ยศฐาบรรดาศักดิ์ อนุชาตบุตร คือ บุตรที่เกิดมาฉลาด มีกําลังเรี่ยวแรงเสมอบิดามารดาทุกประการ อวชาตบุตร คือ บุตรที่เกิดมาด้อยกว่า เลวกว่าบิดามารดาทุกประการ มนุษย์มี ๔ จําพวก คือ มนุษย์นรก มนุษย์เปรต มนุษย์เดรัจฉาน และมนุษย์คน มนุษย์นรก คือ เหล่ามนุษย์ที่ฆ่าสัตว์มีชีวิต เมื่อบาปมาถึงตนและถูกผู้อื่นตัดมือตัด เท้าได้รับความทุกข์โศกลําบากมาก มนุษย์เปรต คือ มนุษย์จําพวกหนึ่ง ไม่เคยทําบุญในชาติก่อน จึงเกิดมาเป็นคบ ยากไร้เข็ญใจ ไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งห่ม อดอยากยากแค้น ไม่มีอาหารจะกิน หิวกระหายมาก ขี้ริ้วขี้เหร่ มนุษย์เดรัจฉาน คือ บรรดามนุษย์ที่ไม่รู้จักบุญและบาป เจรจาหาความเมตตา กรุณามิได้ มีใจแข็งกระด้าง ไม่ยําเกรงผู้อาวุโส ไม่รู้จักปรนนิบัติบิดามารดา และอุปัชณาย์อาจารย์ ไม่ รู้จักรักพี่รักน้อง กระทําบาปทุกเมื่อ
๑๑ มนุษย์คน คือ บรรดามนุษย์ที่รู้จักผิดและชอบ รู้จักบาปและบุญ รู้จักประโยชน์ใน โลกนี้และโลกหน้า รู้จักกลัวและละอายแก่บาป ว่านอนสอนง่าย รู้จักรักพี่รักน้อง รู้จักเอ็นดูกรุณาต่อผู้ ยากไร้เข็ญใจ รู้จักยําเกรงบิดามารดา ผู้อาวุโส สมณพราหมณาจารย์ที่ปฏิบัติในสิกขาบทของ พระพุทธเจ้าทุกเมื่อ รู้จักคุณแก้ว ๓ ประการ มนุษย์คนมี ๔ จําพวกได้แก่ พวกที่เกิดและอยู่ในชมพูทวีป พวกที่เกิดและอยู่ในบุ รพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพระสุเมรุ พวกที่เกิดและอยู่ในอุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศ เหนือของเรา และพวกที่เกิดและอยู่ในอมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาพระสุเมรุ มนุษย์ที่อยู่ในชมพูทวีป มีหน้ารูปไข่เหมือนดุมเกวียน อายุของคนชาวชมพูทวีป อาจยาวหรือสั้น เพราะบางครั้งมีศีลธรรมอายุจะยาวขึ้น บางครั้งไม่มีอายุจะสั้นลง อายุของมนุษย์ใน ชมพูทวีปนี้จึงกําหนดไม่ได้ มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีป มีหน้ากลมเหมือนเดือนเพ็ญ กลมดังหน้าแว่น อายุยืน ได้ ๑๐๐ ปี จึงตาย ไม่เคยมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงเลย เพราะมนุษย์เหล่านี้ตั้งอยู่ในเบญจศีลตลอด แผ่นดิน กว้างได้ ๗,๐๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๒๑,๐๐๐ โยชน์ มีทวีปเล็ก ๕๐๐ ทวีปล้อมรอบเป็นบริวาร เหล่า มนุษย์ในบุรพวิเทหทวีปมีหน้ากลมดังเดือนเพ็ญ มีแม่น้ําใหญ่แม่น้ําเล็ก มีภูเขา มีเมืองใหญ่เมืองน้อย เหล่ามนุษย์ที่อยูในทวีปนั้นมีมากนัก มีท้าวพระยาและนายบ้านนายเมือง มนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป มีหน้ารูป ๔ เหลี่ยม ดังตั้งใจบรรจงแต่งไว้ กว้างและยาว เท่ากัน มีอายุยืนได้ ๑๐๐๐ ปีจึงตาย ไม่เคยมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงเลย เพราะมนุษย์เหล่านี้ตั้งอยู่ในเบญจศีล ตลอด แผ่นดินกว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ มีแผ่นดินเล็ก ๆ ๕๐๐ ล้อมรอบเป็นบริวาร มนุษย์ในทวีปนั้นมีหน้า เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีภูเขาทองล้อมรอบทวีป มีคนทั้งหลายอาศัยอยู่ในทวีปนั้นมาก มีความเป็นอยู่ดีกว่าคน ในทวีปอื่น เพราะบุญของเขา เพราะเขารักษาศีล มนุษย์ในอมรโคยานทวีป มีหน้าเหมือนเดือนแรม ๘ ค่ํา อมรโคยานทวีป มีอายุ ยืนได้ ๔๐๐ ปี จึงตาย ไม่เคยมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงเลย เพราะมนุษย์เหล่านี้ตั้งอยู่ในเบญจศีลตลอด แผ่นดินกว้าง ๗๐๐๐ โยชน์ มีแผ่นดินล้อมรอบเป็นบริวาร บรรดามนุษย์ในอมรโคยานทวีปมีหน้าเหมือน เดือนแรม ๘ ค่ํา มีแม่น้ําใหญ่และแม่น้ําเล็ก มีภูเขา มีเมืองใหญ่เมืองน้อย (มนุษย์ในทวีปนั้นมีจํานวน มาก มีท้าวพระยา และมีนายบ้านนายเมือง) ๒) จาตุมหาราชิกาภูมิ(สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา) บรรดาเทพยดาที่เกิดในสวรรค์ ชั้นฉกามาพจร หรือ สวรรค์ ๖ ชั้น เทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้มี ๓ ประเภท คือ สมมุติเทวดา อุปปัติเทวดา และวิสุทธิเทวดา สมมุติเทวดา ได้แก่ พระราชามหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และพระองค์ทรง รอบรู้หลัก รู้บุญรู้ธรรม ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมทั้งสิบประการ อุปบัติเทวดา ได้แก่ เทพที่เกิดในแดนสวรรค์ชั้นฟ้า นับตั้งแต่ชั้นฉกามาพจร ไป จนถึงชั้นพรหม
๑๒ วิสุทธิเทวดา ได้แก่ พระพุทธเจ้าพระปัจเจกโพธิเจ้า พระอรหันตขีณาสพซึ่งได้ บรรลุนิพพาน สวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่บนยอดเขายุคันธรทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ส่วนทาง ทิศใต้เป็นเขาสิเนรุราช มีเมืองสวรรค์สําหรับเทพยดาอยู่ ๔ เมืองด้วยกัน ทิศตะวันออกของเขาสิเนรุราช มีเทพยดาผู้เป็นใหญ่เหนือเทพยดาทั้งหลาย ทรง นามว่าท้าวธตรฐราช เป็นใหญ่ปกครองเทพยดาทั้งหมดในบริเวณกําแพงจักรวาลด้านทิศตะวันออก กําแพงด้านตะวันตก มีเทพยดาที่เป็นใหญ่ปกครองเหล่าครุฑราชและนาค ทิศใต้ของเขาสิเนรุราช มีเทพยาดาผู้เป็นใหญ่ทรงนามว่าท้าววิรุฬหกราช ปกครอง เหล่ายักษ์ที่ชื่อว่า กุมภัณฑ์ รวมทั้งเหล่าเทพยดาที่สถิตอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุราช ตลอดถึงกําแพง จักรวาลด้านทิศใต้ ทิศเหนือของเขาสิเนรุราช มีเทพยดาผู้เป็นใหญ่ทรงนามว่าท้าวไพศรพณ์มหาราช ปกครองเหล่ายักษ์และเทพยดาที่สถิตอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุราช จนถึงกําแพงจักรวาลด้านเหนือ เทพยดาในแดนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั้นมีอายุยืนถึง ๕๐๐ ปีทิพย์ ถ้าจะ เปรียบเทียบกับปีมนุษย์เราก็คือ ๙ ล้านปีมนุษย์ ๓) ตาวติงสภูมิ(สวรรค์ชั้นดาวดึงส์) สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาทั้งหลาย ทางทิศตะวันออกของนครดาวดึงส์ มีสวนทิพย์ ชื่อนันทนวัน ล้อมด้วยกําแพงแก้วโดยรอบ มีปราสาทแก้วเหนือประตูทุกประตู สวนนี้เป็นสวนสนุก มีสมบัติทิพย์ และต้นไม้ทั้งหลายทั้งไม้ผลไม้ดอกมากมาย เป็นสถานที่เล่นสนุกสนานสําหรับเทวดา ทั้งหลาย ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ใกล้ ๆ อุทยานก่อนจะเข้าสู่นครนั้นมีสระใหญ่ ๒ สระ ชื่อนันทาโบกขรณี และจุลนันทาโบกขรณี น้ําในสระนั้นใสงามดังแผ่นแก้วอินทนิล เรืองงามราวกับมีแสงฟ้าแลบจับอยู่บน ผิวน้ํานั้น มีแท่นหินแก้วใกล้สระนั้น ๒ แผ่น ชื่อนันทาปริฐิปาสาณ และจุลนันทาปริฐิปาสาณ แผ่นหิน แก้วทั้งสองแผ่นนี้มีรัศมีรุ่งเรืองยิ่งนัก เวลาจับต้องแผ่นหินนี้อ่อนนุ่มราวกับแผ่นหนังเหน ๔) ยามาภูมิ (สวรรค์ชั้นยามา) เทวดาที่อยู่ในชั้นฟ้านี้จะมีปราสาทแก้วปราสาททอง เป็นวิมาน มีกําแพงแก้วล้อมรอบ มีสวนอุทยานแก้วและมีสระโบกขรณี เทวดาทั้งหลายในชั้นนี้มีหน้าตา รุ่งเรืองงดงาม เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นฟ้านี้ ชื่อ พระสุยามเทวราช ในชั้นฟ้านี้ไม่มีแสงอาทิตย์เลย เพราะอยู่สูงกว่าพระอาทิตย์มากนัก เทวดาทั้งหลายมองเห็นได้ด้วยแสงรัศมีจากแก้วทั้งหลายและรัศมี จากตัวเทวดานั่นเอง ส่วนจะรู้ว่าเช้าหรือค่ําได้ก็อาศัยดูจากดอกไม้ทิพย์ ถ้าเห็นดอกไม้ทิพย์บาน จึงรู้ว่า รุ่งเช้า ถ้าเห็นดอกไม้นั้นหุบ จึงรู้ว่าเป็นยามกลางคืน อายุเทวดาในชั้นฟ้านี้ยืนถึง ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๑๔๔,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ๕) ตุสิตาภูมิ(สวรรค์ชั้นดุสิต) สวรรค์ชั้นนี้มีวิมานเป็นปราสาทแก้วและปราสาททอง มีกําแพงแก้วล้อมรอบไม่ว่าจะเป็นความกว้าง ความสูง ความงามนั้น มีมากกว่าปราสาทของเทวดา ทั้งหลายในสวรรค์ชั้นยามา มีสระและสวนเช่นในสวรรค์ชั้นฟ้าอื่นๆ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นนี้ คือ
๑๓ พระสันตุสิตเทพยราช เทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ รู้บุญ รู้ธรรม แม้แต่พระโพธิสัตว์ผู้สร้างสม บารมีก่อนจะเสด็จลงมาเป็นพระพุทธเจ้า ก็สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นนี้ ขณะนี้พระศรีอาริยเมตไตรย ผู้จะ เสด็จลงมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในภัททกัลป์นี้ ก็สถิตอยู่ที่สวรรค์ชั้นนี้และเทศนาธรรมให้เทวดา ทั้งหลายฟังอยู่ทุกเมื่อมิได้ขาด อายุของเทวดาในชั้นนี้ยืนถึง ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๔๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีใน เมืองมนุษย์ ๖) นิมมานรติภูมิ(สวรรค์ชั้นนิมมานรดี) มีปราสาทแก้วปราสาททองเป็นที่อยู่ของ เทวดา มีกําแพงแก้วกําแพงทองล้อมรอบ และมีแผ่นดินเป็นทองราบเรียบเสมอกันงดงาม มีสระน้ํา อาบน้ํา สรงน้ําพร้อมสรรพ และมีสวนแก้วเหมือนสวรรค์ชั้นดุสิต แต่งามขึ้นไปอีก เทวดาที่อยู่ในสวรรค์ ชั้นนี้ หากปรารถนาจะได้สิ่งใด ก็จะเนรมิตสิ่งนั้นขึ้นมาเองตามใจปรารถนาได้ทุกประการ เทวดา ทั้งหลายสนุกสนานอยู่กับนางฟ้าทั้งหลายด้วยใจนั่นเอง จึงเรียกสวรรค์ชั้นนี้ว่า นิมมานรดี เทวดาในชั้น ฟ้านี้อายุยืนได้ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ๗) ปรนิมิตวสวัตติภูมิ(สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี) ฉกามาพจรสวรรค์ สวรรค์ชั้นฟ้า ที่ ๖ นี้ ประเสริฐมากยิ่งไปกว่าสวรรค์ชั้นที่กล่าวมา หากปรารถนาสิ่งใด ก็จะมีเทวดาองค์อื่นมาเนรมิต ให้ดังใจปรารถนา จึงชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัดดีสวรรค์ เทพยดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นนี้ ชื่อพระปรนิมิต วสวัดดีเทวราชเป็นใหญ่เหนือเทวดาทั้งหลายฝ่ายหนึ่ง และพระยามาราธิราชเป็นใหญ่ในหมู่มารทั้งหลาย อีกฝ่ายหนึ่ง ในชั้นฟ้านี้จึงมีพระยาผู้เป็นใหญ่ ๒ องค์ ไม่เคยไปเฝ้าไปหากันและกันเลย สวรรค์ทุกชั้นมี อาณาเขตจดขอบแดนจักรวาล ชั้น ๖ นี้ ชื่อฉกามาพจรภูมิ อายุของเทวดาในสวรรค์ชั้นนี้ยืนได้ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๘,๒๑๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ๑.๒ อบายภูมิหมายถึง ภูมิกําเนิดที่ปราศจากความเจริญหรือภูมิของความชั่วช้าต่างๆ ได้แก่ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตวิสัยภูมิ และอสุรกายภูมิ ๑) นรกภูมิบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้กระทําบาปด้วย กาย วาจา ใจ ย่อมได้ไป เกิดในอบายภูมิ ๔ ซึ่งมีนรก เป็นต้น และนรกใหญ่ ๘ ขุม อยู่ใต้แผ่นดินเป็นชั้น ๆ ถัดกันลงไป ชั้นล่างสุด คือ อวีจีนรก ชั้นบนสุดคือ สัญชีพนรก นรกขุมที่หนึ่ง สัญชีพนรก สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๕๐๐ ปีนรก หนึ่งวัน หนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๙ ล้านปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๕๐๐ ปีในสัญชีพนรกจึงเท่ากับล้านหก แสนล้านสองหมื่นปีในเมืองมนุษย์ นรกขุมที่สอง กาหสุตตนรก สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๑,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๑,๐๐๐ ปี ในกาฬสุตตน รก เทียบเท่ากับ ๑๒,๖๙๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ นรกขุมที่สาม สังฆาฏนรก สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๒,๐๐๐ ปีนรก หนึ่ง วันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๑๔๕,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๒,๐๐๐ ปีในสังฆาฏนรกจึง เท่ากับ ๑๐๓,๖๘๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์
๑๔ นรกขุมที่สี่ โรรุวนรก สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๔,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวัน หนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๕๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๔,๐๐๐ ปีในโรรุวนรกนี้จึง เท่ากับ ๘๒,๙๔๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ นรกขุมที่ห้า มหาโรรุวนรก สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๘,๐๐๐ ปีนรก หนึ่งวันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๘,๐๐๐ ปีในมหาโรรุ วนรกนี้จึงเทียบเท่ากับ ๖,๖๓๕,๕๒๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ นรกขุมที่หก ตาปนรก สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนได้ ๑๖,๐๐๐ ปีนรก หนึ่ง วันหนึ่งคืนในนรกขุมนี้เทียบได้กับ ๙,๒๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ ดังนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีในตาปนรกนี จงเทียบเท่ากับ ๕๓,๐๘๔,๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์ นรกขุมที่เจ็ด มหาตาปนรก สัตว์ที่เกิดในนรกขุมนี้มีอายุยืนมากนัก จะนับเป็นปี เดือนนรกนั้นมิได้เลย นับด้วยกัลป์ได้กี่งกัลป์ นรกขุมที่แปด อวีจีนรก สัตว์ที่เกิดในนรกนี้มีอายุยืนยิ่งนัก จะนับเป็นปีเดือนนรก นั้นมิได้เลย นับด้วยกัลป์ได้หนึ่งกัลป์ ๒) ติรัจฉานภูมิ(ภูมิสัตว์เดรัจฉาน) สัตว์เดรัจฉานมีการกําเนิด ๔ ประการ คือ เกิด จากไข่ เกิดจากครรภ์ เกิดจากไคล และเกิดโดยมีรูปกายโตใหญ่ขึ้นทันใด บรรดาสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ ได้แก่ ครุฑ นาค สิงห์ ช้าง ม้า วัว ควาย เนื้อ เป็ด ห่าน ไก่ และนก เป็นต้น สัตว์เหล่านี้บางชนิดไม่มีเท้า บางชนิดมี ๒ เท้า บางชนิดมี ๔ เท้า บางชนิดมีเท้าเป็นจํานวนมาก สัตว์เหล่านี้เวลาเดินคว่ําตัวลงขนาบ กับพื้น สัตว์เดรัจฉานมีความรู้อยู่ ๓ อย่าง คือ รู้สืบพันธ์ รู้กินอาหาร และรู้กลัวความตาย ตามปกติสัตว์ เดรัจฉานไม่รู้จักบุญหรือธรรม ไม่รู้จักเลี้ยงตนด้วยการค้าขาย ทําไร่ไถนา ๓) เปรตวิสัยภูมิ(ภูมิของเปรต) เปรตบางจําพวกเวลาข้างแรมเป็นเปรต เวลาข้างขึ้นเป็นเทวดา เปรตบางจําพวก เวลาข้างขึ้นเป็นเปรต เวลาข้างแรมเป็นเทวดา เปรตบางจําพวกเป็นเปรตตลอดกาลนาน ชั่วระยะเวลาที่ โลกไม่มีพระพุทธเจ้ามาเกิด เปรตที่ถือกําเนิดด้วยเหตุ ๓ สามารถรู้อริยสัจ ๔ เปรตบางจําพวกสิงอยู่ใน ต้นไม้ใหญ่ เปรตบางจําพวกอยู่บริเวณที่ราบ และกินอาหารแถวที่ราบเลี้ยงชีวิต เปรตบางจําพวกอยู่ ปราสาททิพย์ มีอาหารทิพย์กินเหมือนเป็นเทวดา ฝูงเปรตและฝูงผีเสื้อทั้งหลาย เมื่อตายแล้วจะเกิดเป็นมดตะนอยดํา บางครั้งเป็น ตะเข็บ แมลงป่อง และแมงเม่า บางครั้งเป็นตั๊กแตน เป็นหนอน บางครั้งเป็นเนื้อ เป็นนกเล็กน้อย เช่น นกกระจิบ นกกระจาบ บางครั้งเกิดเป็นเนื้อป่า ถ้ามันตายไป มันจะเกิดเป็นดังนั้นทุกครั้ง เปรตบางจําพวกอายุยืน ๑๐๐ ปี บางจําพวก ๑,๐๐๐ ปี บางจําพวกชั่วพุทธันดร กัลป์หนึ่ง แต่ไม่ได้กินข้าวสักเม็ด หรือดื่มน้ําสักหยด
๑๕ เปรตบางจําพวกตัวใหญ่ แต่ปากเล็กเท่ารูเข็ม บางจําพวกผอมมากเพราะหา อาหารกิน ร้องไห้คร่ําครวญตลอดเวลาด้วยความหิว เมื่อเกิดเป็นคนมักอิจฉาริษยาผู้อื่น เห็นผู้อื่นมั่งมีจะ ทนไม่ได้ เห็นผู้อื่นยากไร้จะดูแคลน เห็นผู้อื่นมั่งมีก็อยากจะได้ทรัพย์สินของเขา เปรตจําพวกหนึ่งมีรูปร่างเหมือนท้าวมหาพรหม และงามดั่งทอง แต่มีปากเหมือน ปากหมู อดอยากนักหนาหาอะไรกินไม่ได้เลยสักสิ่งเดียว เขามีกายงามดังทองเพราะเหตุใด เพราะชาติ ก่อนเขาได้บวชเป็นชีถือศีลบริสุทธิ์ แต่มีปากเหมือนปากหมูเพราะเขาดูถูกและกล่าวร้าย ติเตียนครูบา อาจารย์และพระสงฆ์ผู้มีศีล เปรตผู้หญิงจําพวกหนึ่งเปลือยกายตลอดเวลา และตัวเหม็นมาก มีแมลงวันตอม จํานวนมากกินตัว ร่างกายผอมหาเนื้อไม่ได้เลยสักนิด มีแต่เอ็นและหนังหุ้มกระดูกอยู่ เปรตเหล่านี้อด อยากมาก หาอะไรกินไม่ได้เลย และเมื่อเปรตผู้หญิงจะคลอดลูก มักจะคลอดครั้งละ ๗ ตน แล้วกินเนื้อ ลูกตน แต่ก็ไม่อิ่ม เป็นอยู่เช่นนี้ซ้ํา ๆ กัน เหตุที่เขากินเนื้อลูกตนเองนั้นเพราะอยากกินมากอดใจไม่ได้ เปรตจําพวกนี้เมื่อเป็นคนเคยให้ยาแก่ผู้หญิงมีครรภ์กินเพื่อให้แท้งลูก เปรตผู้หญิงจําพวกนี้เปลือยกายตลอดเวลา ไม่งามสักแห่ง อดอยากยากไร้มาก เมื่อเห็นข้าวและน้ําอยู่ตรงหน้าก็จะหยิบมากิน แต่ข้าวและน้ํานั้นจะกลายเป็นอาจมเป็นเลือดเป็นหนอง เมื่อเขาเห็นผ้าอยู่ตรงหน้าก็จะเอาผ้านั้นมาห่ม แต่ผ้านั้นจะกลายเป็นแผ่นเหล็กแดงลุกไหม้ตลอดตัว เปรตจําพวกนี้เมื่อสามีของเขาให้ข้าว น้ํา และผ้าเป็นทานแก่สงฆ์ กลับโกรธเคืองด่าทอสามี เปรตจําพวกหนึ่งมีร่างกายสูงใหญ่เท่าต้นตาล เส้นผมหยาบมาก ตัวเหม็นมากหาที่ ดีไม่ได้สักแห่ง อดอยากยากไร้นักหนา แม้ข้าวเมล็ดหนึ่ง น้ําหยดหนึ่งก็มิได้ตกถึงท้องเขาเลย เปรต จําพวกนี้ในชาติก่อนเป็นคนตระหนี่มาก ไม่เคยทําบุญให้ทานเลย เห็นผู้อื่นทําบุญให้ทานห้ามปราม ด้วย บาปกรรมที่เขาตระหนี่และไม่เคยทําบุญให้ทานเลยดังกล่าวนั้น ทําให้เขาเป็นเปรตอดอยาก หาอาหาร กินไม่ได้เลย เปรตจําพวกหนึ่งเขาย่อมเอาสองมือกอบเอาข้าวลีบลุกเป็นไฟมาใส่ศีรษะตนเอง ตลอดเวลา เปรตจําพวกนี้เมื่อเขาเกิดในปางก่อน เขาเอาข้าวลีบปนข้าวดีแล้วเอาไปหลอกขาย ด้วย บาปกรรมดังกล่าว เขาจึงเอามือกอบข้าวลีบลุกเป็นไฟใส่ศีรษะเขาเอง และไฟไหม้ศีรษะเขาตลอดเวลา เปรตจําพวกหนึ่งเอาค้อนเหล็กแดงตีตัวเองตลอดเวลา เปรตจําพวกนี้เมื่อชาติก่อน เขาเคยตีศีรษะบิดามารดาเขาด้วยมือ หรือด้วยไม้ หรือด้วยเชือก เพราะบาปกรรมดังกล่าวจึงทําให้เขา เอาค้อนเหล็กแดงตีศีรษะตัวเองตลอดเวลา เปรตจําพวกหนึ่งอดอยากมาก เห็นข้าวและน้ําที่มีรสอร่อยจึงเอามากิน เมื่อกิน แล้ว ข้าวนั้นก็ เน่าเป็นหนอน แต่ด้วยบาปกรรมของเขาเอง เมื่อชาติก่อนเมื่อมีคนมาขอทานข้าว เขามี ข้าวอยู่ แต่หลอกว่าไม่มี คนขอทานขอซ้ําอีก แต่ก็ไม่ไห้ เปรตผู้หญิงจําพวกหนึ่งมีเล็บมือใหญ่ยาวคมดั่งมีดกรด ขุดเนื้อและหนังตัวเองกิน ตลอดเวลา เปรตฝูงนี้ในชาติก่อนเขาขโมยเนื้อของคนอื่นมากิน เมื่อเจ้าของถามเขาไม่รับ
๑๖ เปรตจําพวกหนึ่ง เวลากลางวันเขาถูกยิง ตี ฆ่า และแทง แล้วยังมีหมาตัวใหญ่เท่า ช้างไล่กัดกินเนื้อเขา ทนทุกข์เวทนาดังนี้ตลอดเวลา เวลากลางคืนเขาเป็นเทวดา มีนางฟ้าจํานวนมาก เป็นบริวาร และได้เสวยสมบัติทิพย์ดังเทวดา เปรตฝูงนี้ในชาติก่อนเป็นพราน กลางวันเข้าป่าล่าเนื้อ กลางคืนรักษาศีล เปรตจําพวกหนึ่งมีวิมานเหมือนเทวดา มีเครื่องประดับทําด้วยเงิน ทอง แก้ว เครื่องประดับบางอย่างเป็นแก้ว ๗ ประการ มีนางฟ้าหมื่นหนึ่งห้อมล้อมเป็นบริวาร แต่ได้รับความ ลําบากเพราะไม่มีอาหารจะกิน จึงเอาเล็บมือคมดังมีดกรดข่วนขูดเนื้อหนังตัวเองกินต่างอาหาร เปรต จําพวกนี้ในชาติก่อนเขาเกิดเป็นนายเมือง ตัดสินความราษฎรโดยกินสินบน คนถูกเขาตัดสินว่าผิด คนผิด เขาตัดสินว่าถูก เขาไม่ตัดสินตามทํานองคลองธรรม หาความยุติธรรมมิได้ เปรตจําพวกหนึ่งกินเสลดอาหารที่อาเจียนออกมา น้ําลาย เหงื่อไคล น้ําเน่า น้ํา หนอง และลามกอาจมเน่าเหม็นตลอดเวลา เปรตจําพวกนี้ในชาติก่อนได้เอาข้าวน้ําและอาหารที่เหลือ เดนถวายพระสงฆ์ผู้ทรงศีล เปรตจําพวกหนึ่งกินแต่น้ําหนองและหมาเน่าขึ้นอืดพองที่เขาทิ้งในป่าช้า ตลอดเวลา เปรตจําพวกนี้ในชาติก่อนได้ปิดบังอําพรางเอาเนื้อช้าง เนื้อหมา และเนื้อสัตว์ทั้งหลายทั้งที่มี เล็บ และไม่มีเล็บ ซึ่งในพระวินัยพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้มิให้พระสงฆ์ฉันไปให้พระสงฆ์ฉัน เปรตจําพวกหนึ่งมีเปลวไฟพุ่งออกจากอก ลิ้น ปาก แล้วลามไหม้ตัวเอง เปรต จําพวกนี้ในชาติก่อนได้ด่าสบประมาท และกล่าวคําเท็จต่อพระสงฆ์ผู้ใหญ่ผู้มีศีล เปรตจําพวกหนึ่งน่าเกลียดมาก หาน้ําดื่มไม่ได้สักหยด กระหายน้ํามากราวจะขาด ใจ จึงวิ่งไปทางซ้ายทางขวาเพื่อจะหาน้ําดื่ม เมื่อเห็นน้ําใสสะอาดก็เอามือกอบน้ํานั้นมาดื่ม น้ํานั้น กลายเป็นไฟไหม้เขาทั้งตัว เขาเกลือกไปเกลือกมาและตายในไฟนั้นเป็นเช่นนี้เป็นเวลานาน เปรตจําพวก นื้ในชาติก่อนเคยข่มเหงคนยากไร้เข็ญใจ ไม่มีความกรุณาปรานี อยากได้สิ่งของและทรัพย์สินของผู้อื่นมา เป็นของตน ใส่ความผู้ไม่มีความผิด เปรตจําพวกหนึ่งมีตัวเปื่อยเน่าและผอมมาก หลังโกง มือเน่า ตีนเปื่อย เขาเอาไฟ คลอกตัวเองตลอดเวลา ตัวเขาเหมือนขอนไม้กลิ้งอยู่กลางไร่ เขากลิ้งไปกลิ้งมาทนทุกข์เวทนาเช่นนั้นเป็น เวลานานมาก เปรตพวกนี้ในชาติก่อนเขาเผาป่า สรรพสัตว์ที่หนีไม่ทันจึงถูกไฟคลอกตาย เปรตจําพวกหนึ่งตัวใหญ่เท่าภูเขา มีขนยาวแหลมมาก เล็บตีนเล็บมือใหญ่ เล็บนั้น คมดังมีดกรดและหอกดาบ เมื่อเล็บตีนเล็บมือและขนของเขากระทบกับเมื่อใด จะเกิดเสียงดังเหมือน ฟ้าผ่า เกิดเป็นไฟลุกไหม้ตัวเอง และบาดตัวเหมือนดังขวานฟ้าผ่าตัวเขาทุกแห่ง เปรตฝูงนี้ในชาติก่อน เกิดเป็นนายเมือง และตัดสินความโดยไม่ชอบธรรม เห็นแก่สินบนไม่วางตัวเป็นกลาง คนถูกว่าผิด คนผิด ว่าถูก เพราะบาปกรรมดังกล่าวตัดสิน
๑๗ ๔) อสุรกายภูมิ(ภูมิของอสูร) สัตว์ในแดนอสุรกายมีการเกิดด้วยกําเนิด ๔ ประการ กล่าวคือ เกิดจากไข่ เกิดในน้ํา เกิดในไคล และเกิดผุดขึ้นเอง อสุรกายเหล่านี้มี ๒ จําพวก ได้แก่ กาลกัญ ชกาอสุรกาย และทิพยอสุรกาย ๒. รูปภูมิภูมิระดับกลาง เป็นภูมิของพรหมที่มีรูป ซึ่งจะเกิดเป็นกายใหญ่ทันทีเพียงอย่างเดียว และเป็นผู้มีพลังอํานาจที่เรียกว่า “ฌาน” ได้จากการฝึกพลังจิตจึงจะสามารถไปเป็นพรหมได้ โดย พิจารณาในฌาน เป็นปฐมฌานความเพ่งที่ ๑ ได้แก่ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ทั้งนี้พวกพรหมขึ้น ไปจะพ้นจากความโลภต่าง ๆ แต่จะมีความสุขอยู่กับสมาธิที่ตนเองมี รูปภูมิจะมี ๑๖ ชั้น แบ่งออกเป็น ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ และจตุ ตฌานภูมิ ๗ จะอยู่เหนือสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีภูมิขึ้นไปนับประมาณไม่ได้ เพราะอยู่ไกลมาก แม้แต่ พรหมชั้นล่างสุดที่ชื่อ พรหมปาริสัชชาภูมิ ลงมาจนถึงแผ่นดินนี้ก็ยังไกลมาก ซึ่งผู้ที่จะมาเกิดในพรหมโลก นี้ ต้องมีสมาธิภาวนาและทํากรรมฐาน เพื่อบําบัดปัญจนิวรณ์หรือนิวรณ์ ๕ หมายถึง ธรรมที่เป็นเครื่อง ปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทําความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ไม่ให้เข้าถึง จิต เป็นอุปสรรคสําคัญที่ทําให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้หรือทําให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป อันได้แก่ ๑) กามฉันทะ คือ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่ใน กาม ๒) พยาบาท คือ ความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปรารถนาในโลกีย์สมบัติทั้งปวง ดุจ คนถูกทัณฑ์ทรมานอยู่ ๓) ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่เซื่องซึม ขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กําลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม ๔) อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความกระวนกระวายใจ ความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ ในความคิด ๕) วิจิกิจฉา คือ ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล ไม่เต็มที่และไม่มั่นใจ รูปภูมิแบ่งเป็น ๔ ชั้นใหญ่ ๆ ดังนี้ ๒.๑ ปฐมฌานภูมิ เป็นฌานภูมิชั้นแรก ซึ่งผู้เป็นพรหมในฌานภูมินี้ จะเกิดขึ้นโดยมีรูปกายใหญ่โต ในทันที ด้วยจิตที่เป็นผลของฌาน เกิดพร้อมด้วยความตรึก ความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขสบายใจ และความมีใจเป็นสมาธิ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ได้แก่ ๒.๑.๑ พรหมปาริสัชชาภูมิเป็นปฐมฌานภูมิชั้นที่ ๑ พราหมณ์และฤษีที่บําเพ็ญ ภาวนาจนได้ปฐมฌานในชั้นต่ําหรือพิจารณาฌานเพียงเล็กน้อยตลอดชีวิต เมื่อตายไปจะได้ไปเกิดใน พรหมชั้นปาริสัชชาภูมิ มีอายุยืนได้หนึ่งในสามของกัลป์
๑๘ ๒.๑.๒ พรหมปุโรหิตาภูมิเป็นปฐมฌานภูมิชั้นที่ ๒ ผู้ใดที่ได้ปฐมฌานชั้นปานกลาง หรือพิจารณาฌานปานกลางตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมที่ชื่อว่าพรหมปุโรหิตาภูมิ เสวยสุข อยู่เป็นเวลาครึ่งหนึ่งของกัลป์ ๒.๑.๓ มหาพรหมมาภูมิเป็นปฐมฌานภูมิชั้นที่ ๓ ผู้ใดได้ปฐมฌานชั้นสูงสุดหรือ พิจารณาฌานอย่างมากตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นมหาพรหมภูมิ เสวยสุขเป็นเวลา หนึ่งมหากัลป์ โดยอายุของพรหมในชั้นนี้จะนับเป็นกัลป์ ถ้าไฟไหม้กัลป์เมื่อใดก็จะไหม้พรหมทั้ง ๓ ชั้นนี้ ด้วย ๒.๒ ทุติยฌานภูมิ เป็นฌานภูมิชั้นที่สอง ซึ่งผู้เป็นพรหมในฌานภูมินี้ จะเกิดขึ้นโดยมีรูปกายใหญ่โต ในทันที ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความตรอง ความอิ่มใจ ความสุขสบายใจ และความ มีใจเป็นสมาธิ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ได้แก่ ๒.๒.๑ ปริตตาภาภูมิเป็นทุติยฌานภูมิชั้นที่ ๑ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่สําเร็จ ทุติยฌานชั้นต่ําหรือพิจารณาฌานเพียงเล็กน้อยตลอดชีวิต เมื่อตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้นปริตตาภูมิ มี อายุได้ ๒ มหากัลป์ ๒.๒.๒ อัปปมาณาภาภูมิเป็นทุติยฌานภูมิชั้นที่ ๒ ผู้ที่สําเร็จทุติยฌานภูมิชั้นปาน กลางหรือพิจารณาฌานปานกลางตลอดชีวิต เมื่อตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้นอัปปมาณาภูมิ มีอายุยืนได้ ๔ มหากัลป์ ๒.๒.๓ อาภัสสราภูมิเป็นทุติยฌานภูมิชั้นที่ ๓ ผู้ที่สําเร็จทุติยฌานภูมิชั้นสูงสุดหรือ พิจารณาฌานอย่างมากตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นอาภัสสราภูมิ มีอายุยืนได้มหากัลป์ เมื่อเกิดไฟไหม้กัลป์แล้ว น้ําก็จะท่วมอาภัสสราภูมิด้วย ๒.๓ ตติยฌานภูมิ เป็นฌานภูมิชั้นที่สาม ซึ่งผู้เป็นพรหมในฌานภูมินี้ จะเกิดขึ้นโดยมีรูปกายใหญ่โต ในทันที ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความอิ่มใจ ความสุขใจ และความมีใจเป็นสมาธิ โดย แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ได้แก่ ๒.๓.๑ ปริตตาสุภาภูมิเป็นตติยฌานภูมิชั้นที่ ๑ เทวดาหรือมนุษย์ที่ได้ตติยฌานใน ชั้นต่ําหรือพิจารณาฌานเพียงเลือนลางตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นปริตตาสุภาภูมิ มี อายุยืน ๑๖ มหากัลป์ ๒.๓.๒ อัปปมาณสุภาภูมิเป็นตติยฌานภูมิชั้นที่ ๒ ผู้ที่ได้ตติยฌานในชั้นกลางหรือ พิจารณาฌานปานกลางตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นอัปปมาณาสุภาภูมิ มีอายุยืนได้ ๓๒ มหากัลป์
๑๙ ๒.๓.๒ สุภกิณหาภูมิเป็นตติยฌานภูมิชั้นที่ ๓ ผู้ที่ได้ตติยฌานชั้นสูงสุดหรือพิจารณา ฌานอย่างมากตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นสุภกิณหาภูมิ มีอายุยืน ๖๔ กัลป์ เมื่อน้ํา ท่วมแล้วมีลม ๕ อย่างพัดทําลายพรหมทั้ง ๓ ชั้นนี้จนหมด ลมนั้นจึงจะหยุด ๒.๔ จตุตถฌานภูมิ เป็นฌานภูมิชั้นที่สี่ ซึ่งผู้เป็นพรหมในฌานภูมินี้ จะเกิดขึ้นโดยมีรูปกายใหญ่โตในทันที ด้วยจิตที่เป็นผลของฌานอันเกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และความมีใจเป็นสมาธิ และจะได้ไปเกิดใน พรหมโลก ชั้นเวหัปผลา และชั้นสุทธาวาส ๕ ได้แก่ ชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ซึ่งเป็นที่ อยู่ของพระอนาคามี คือผู้ที่ไม่มาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดในพรหมโลกอีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะ บรรลุอรหันต์หรือนิพพานบนพรหมโลกนั้น ส่วนพรหมชั้นอสัญญีสัตตาภูมิเกิดด้วยรูปปฏิสนธิอย่างเดียว ปฏิสนธิ ๖ อย่างนี้ชื่อว่ารูปาวจรปฏิสนธิ โดยแบ่งออกเป็น ๗ ชั้น ได้แก่ ๒.๔.๑ เวหัปผลาภูมิเป็นจตุตถฌานภูมิชั้นที่ ๑ เทวดาและมนุษย์ที่บรรลุจตุตถฌาน ชั้นสูงสุดตลอดชีวิต เมื่อตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้นเวหัปผลาภูมิ มีอายุยืนถึง ๔๐๐ มหากัลป์ ๒.๔.๒ อสัญญีภูมิเป็นจตุตถฌานภูมิชั้นที่ ๒ ผู้ที่บรรลุจตุตถฌานด้วยความมั่นคง และไม่มีลูกมีเมีย รวมทั้งเขารําพึงในใจว่า อันว่าสัตว์ทั้งหลายที่ไปทนทุกขเวทนาอยู่ในจตุราบายด้วย โย นิ ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ก็เป็นเพราะมีใจรู้รําพึงมาก มีใจรัก มีใจเกลียดชัง เมื่อใดใจ นี้หายไปจากตน ไม่รู้รําพึงมาก ไม่รู้รักรู้เกลียด เมื่อนั้นก็จะดียิ่ง เขารําพึงเช่นนี้แล้วก็ปรารถนาเช่นนี้ คือ ขออย่ามีลูกมีเมียหรือมีใจเลย เขาพร่ําภาวนาว่า ขออย่ามีสัญญาภาวนาอยู่ตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไป เกิดในพรหมชั้นอสัญญีภูมิ มีอายุยืนได้ ๕๐๐ มหากัลป์ เมื่อพรหมเหล่านี้จะสิ้นอายุ พรหมที่ได้ทําบุญมา ก่อน เมื่อก่อนจะสิ้นชีวิตจิตใจก็จะกลับคืนมาสู่ร่างตามเดิมเช่นคนทั่ว ๆ ไป แล้วจึงไปเกิดตามผลบุญและ บาปที่ทําไว้ เพราะยังไปไม่ถึงนิพพาน ๒.๔.๓ อวิหาภูมิพรหมจะมีอายุยืนได้ ๑,๐๐๐ มหากัลป์ ๒.๔.๔ อตัปปาภูมิพรหมจะมีอายุยืนได้ ๒,๐๐๐ มหากัลป์ ๒.๔.๕ สุทัสสาภูมิพรหมจะมีอายุยืนได้ ๔,๐๐๐ มหากัลป์ ๒.๔.๖ สุทัสสีภูมิพรหมจะมีอายุยืนได้ ๘,๐๐๐ มหากัลป์ ๒.๔.๗ อกนิฏฐาภูมิพรหมจะมีอายุยืนได้ ๑๖,๐๐๐ มหากัลป์ จตุตถฌานภูมิ ๕ ชั้น ได้แก่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐา ภูมิ มีชื่อเรียกรวมว่า “ปัญจสุทธาวาส” ซึ่งเป็นพรหมชั้นพิเศษ เป็นที่เกิดของพระอนาคามีคือ ผู้ที่จะไม่ มาสู่กามภูมิอีก ผู้ที่สําเร็จจตุตถฌานหรือปัญจมฌานตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะได้ไปเกิดในพรหม ๕ ชั้น หรือปัญจสุทธาวาส พรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนี้เรียกว่า โสฬสพรหม ซึ่งเป็นที่อยู่ของพรหมที่มีรูป เป็นชายล้วน โดยพรหม ในชั้นอสัญญีจะมีแต่รูปอยู่ ไม่เคลื่อนไหวเลยแม้แต่น้อย ส่วนพรหมในชั้นอื่น ๆ อีก ๑๕ ชั้น เคลื่อนไหว มีตาไว้ดู หูไว้ฟัง มีจมูกไว้หายใจเข้าออก แต่ไม่มีความรู้สึกถึงกลิ่นหอมหรือเหม็น มีลิ้นไว้พูดจาแต่ไม่รู้รส
๒๐ เปรี้ยว หวาน เผ็ด จืด หรือเค็ม เนื้อตัวของพรหมจะไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่เสวยข้าว น้ํา ได้แต่นั่งฌาน สมาบัติ ไม่ยินดีที่จะเกี่ยวข้องกับผู้อื่น หน้าตาเนื้อตัวของพรหมนั้นเกลี้ยงเกลางดงาม รุ่งเรืองกว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์เป็นพันเท่า แม้แต่มือของพรหมเพียงมือเดียวก็ให้แสงเรืองไปทั่วจักรวาลได้ถึง หมื่นจักรวาล พระพรหมทั้งหลายมีปราสาทแก้วและปราสาททอง มีอาสน์ทิพย์ ม่านและเพดานเป็นทิพย์ ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ งดงามกว่าวิมานของเทวดาในชั้นต่ําได้พันเท่า มีเกศเกล้างดงาม มีชฎาทุก องค์ รูปร่างของพรหมก็งดงามมากและจะไม่มีอวัยวะภายในแม้แต่น้อย ผู้ที่จะไปเกิดในพรหมโลกจะต้องเจริญภาวนาฌานจนตลอดชั่วชีวิต ซึ่งผู้ที่จะบรรลุฌานต้อง กระทํา ดังนี้ คือ คือ ภิกษุเจ้าที่เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าก็ดี ฤๅษีผู้มีศีลก็ดี นั่งสมาธิภาวนาจําเริญ กรรมฐานว่า “ปฐวีกสิณํ” ทั้งกลางวันกลางคืน และกําจัดปัญจนิวรณ์ คือ ความพอใจรักใคร่ในกาม ความปองร้ายผู้อื่น ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน ความลังเลไม่ตกลงใจ แล้วจึงประกอบด้วย ฌาน ๕ ประการ คือ ความตรึกตรอง ความพิจารณา ความปลื้มใจ ความสุข และความเป็นผู้มีอารมณ์ เดียว แล้วจะได้ฌาน ๕ ประการ คือ รู้จักแสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้จักจิตของผู้อื่น และรู้จักระลึก ชาติได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นสภาวะบุญที่ได้เจริญฌานในโลกนี้ แล้วจึงจะได้ไปเกิดในรูปพรหม ๑๕ ชั้น ยกเว้น อสัญญีพรหม เมื่อเกิดนั้น จะมีรูปเกิดเพียง ๒๓ รูป ไม่มีรูปเกิดถึง ๒๘ รูป เช่นเทวดาที่เกิดเป็นกามภูมิ เมื่อ พรหมเกิดมีรูปเกิด ๒๓ รูป แต่ไม่มีรูปเกิดอีก ๕ รูป ๕ รูป ได้แก่ ฆานรูป รูปอันรู้จักกลิ่นหอมและเหม็น ชิวหารูป รูปอันรู้รสอาหารที่กิน กายรูป รูปอันรู้สึกเจ็บปวด อิตถีภาวรูป รูปอันรู้สึกกามตัณหาเหมือน ผู้หญิง ปุริสภาวรูป รูปอันรู้สึกกามตัณหาเหมือนผู้ชาย เมื่อเกิดก็จะมีชีวิตรูป ๔ รูป คือ รูปที่รักษาตา รูป ที่รักษาหู รูปที่รักษาใจ และรูปที่รักษาเสียง พรหมที่เกิดในอสัญญีภูมิ จะเกิดเป็นรูปเหมือนพรหมทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว แต่รูปนั้นจะมี ๑๗ จําพวก ได้แก่ สุทธัฏฐกรูป ๘ ชีวิตรูป ๑ อากาสรูป ๑ วิการรูป ๓ ลักษณะรูป ๔ โดยมีชีวิตรูปอันเดียว อยู่ในสุทธัฏฐกรูป พรหมที่มีจิตภาวนาเจริญฌานนั้น ยังมีเจตสิกซึ่งเป็นเพื่อนของจิตมาตกแต่งอีกให้เป็นกุศล ซึ่ง เจตสิก มี ๒๒ อย่าง ได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อถือบุญธรรมทุกเมื่อ สติ ความระลึกได้ไม่ลืมบุญธรรมเลย ความรู้ละอายไม่ประมาท ความเกรงกลัวต่อบาป ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ไม่เคียดแค้นไม่ริษยา การ กระทําสิ่งใดด้วยใจเป็นกลาง กระทําสิ่งใดมีตน ประกอบด้วยสภาวธรรม ความมีใจเห็นสภาวธรรม มีกาย เบาตามธรรม ความมีใจเบาตามสภาวธรรม ความมีกายอ่อนตามธรรม ความมีใจอันอ่อนตามสภาวธรรม ความมีกายอันควรแก่สภาวะและธรรมทั้งหลาย ความมีใจอันควรแก่สภาวธรรมทั้งหลาย ความมีกาย คล่องแคล่วแก่ธรรม ความมีใจอันคล่องแคล่วแก่ธรรม ความมีกายซึ่งตรงต่อธรรม ความมีจิตซื่อตรงต่อ ธรรม ความมีใจเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย ความมีใจพลอยยินดีต่อสัตว์ทั้งหลาย และความมีปัญญา ยิ่งกว่าอินทรีย์ทั้งหลาย โดยเจตสิกทั้ง ๒๒ อย่างนี้เป็นเพื่อนของจิตใจ แทนอาหารของพรหมที่มีรูป
๒๑ ๓. อรูปภูมิเป็นโลกของพรหมที่ไม่มีรูปร่าง มีเพียงจิตหรือวิญญาณ อยู่ได้ในทุกที่ ซึ่งมี ๔ ชั้น แบ่งตามระดับความแก่อ่อนของกําลังฌาน กําลังฌานอ่อนจะอยู่ในชั้นล่าง ส่วนกําลังฌานแก่ จะอยู่ในชั้นที่สูงขึ้น พรหมในอรูปภูมิ เมื่อสิ้นอายุ อาจลงมาเกิดในสุคติภูมิ แต่จะไม่เกิดในอรูปภูมิที่ต่ํากว่า หรือใน รูปภูมิ และจะไม่เกิดในอบายภูมิ ถ้าฌานสูงขึ้นก็จะได้ไปเกิดในอรูปภูมิชั้นที่สูงกว่า ตามลําดับความสูงต่ํา ของอํานาจฌาน ดังนี้ ๓.๑ อากาสานัญจายตนภูมิผู้ที่จะมาเกิดในภูมินี้ ต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้ปัญจมฌานมาก่อนแล้ว มาเจริญอรูปฌานที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนฌาน กําหนดเอาอากาศที่อยู่ในปฏิภาคนิมิตมาเป็นอารมณ์ จนสําเร็จอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน เมื่อสิ้นชีวิตลง ก็จะมาเกิด ในอากาสานัญจายตนภูมินี้ ซึ่งมีแต่นาม ไม่มีรูป มีอายุยืน ๒๐,๐๐๐ มหากัป ๓.๒ วิญญาณัญจายตนภูมิพรหมผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน กําหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นภูมิที่มีความสุขประณีต ละเอียดกว่าอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุยืน ๔๐,๐๐๐ มหากัป ๓.๓ อากิญจัญญายตนภูมิ พรหม ผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน ด้วยการพิจารณาความไม่มีอะไร คือไม่มีทั้งอากาศและวิญญาณ ซึ่งเป็นอารมณ์ของอรูปฌานที่ ๑ และอรูปฌานที่ ๒ เป็นภูมิที่มีความสุขประณีต ละเอียดกว่าวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุยืน ๖๐,๐๐๐ มหากัป ๓.๔ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ด้วยการพิจารณาสัญญาที่เข้าไปรู้ในบัญญัติอารมณ์ว่า มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ซึ่งเป็นฌานที่สูงสุด เป็นภูมิที่มีความสุขประณีต ละเอียดกว่าอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุยืน ๘๔,๐๐๐ มหากัป นอกจากนี้ยังมีอีกโลกหนึ่งที่ไม่อยู่ในระบบชีวิตของทั้ง ๓ ภูมิ คือ โลกุตรภูมิหรือนิพพาน เป็นชีวิตที่ถือว่าสูงสุด เพราะจิตมีความบริสุทธิ์ เป็นโลกที่สงบสันติ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพเกี่ยวกับภูมิทั้ง ๓ หรือไตรภูมิ ซึ่งเป็นที่ที่สรรพสัตว์ทั้งหลายเวียนว่าย ตายเกิด และเพื่อช่วยในการทําความเข้าใจยิ่งขึ้น สามารถดูได้จากแผนภูมิโครงสร้างไตรภูมิ ดังนี้
๒๒ แผนภาพที่ ๑ แสดงแผนภูมิโครงสร้างไตรภูมิ ที่มา : ก่องแก้ว วีระประจักษ์. (๒๕๒๖). แผนภูมิไตรภูมิ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. กามภูมิ๑๑ รูปภูมิ๑๖ อรูปภูมิ๗ อบายภูมิหรือทุคติภูมิ๔ สุคติภูมิ๗ ดิรัจฉานภูมิ นิรยภูมิ(นรกภูมิ) เปตวิสยาภูมิ อสุรกายภูมิ มนุสสาภูมิ จตุมหาราชิกาภูมิ ดาวดึงสภูมิ ยามาภูมิ ปรนิมิตวสวัดดิภูมิ อากาสานัญจายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อกนิฏฐาภูมิ สุทัสสีภูมิ สุทัสสาภูมิ ดาปนรก มหาโรรุวนรก โรรุวนรก มหาอวีจีวนรก มหาดาปนรก สังฆาฏนรก กาฬสุตตนรก นิมมานรติภูมิ ดุสิตาภูมิ ปฐมฌานภูมิ๓ มหาพรหมาภูมิ พรหมปุโรหิตาภูมิ พรหมปาริสัชชาภูมิ ทุติยฌานภูมิ ๓ ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิ อาภัสสราภูมิ ตติยฌานภูมิ๓ ปริตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ สุภกิณหาภูมิ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ อสัญญีสัตตาภูมิ เวหัปปผลาภูมิ จตุตถฌานภูมิ ๗ สัญชีพนรก แผนภูมิโครงสร้างไตรภูมิ
๒๓ ๕. คุณค่าด้านเนื้อหา ๕.๑ รูปแบบ คําประพันธ์ที่ใช้ในการแต่งไตรภูมิพระร่วงเป็นร้อยแก้ว โดยพรรณนาเนื้อหา ของไตรภูมิพระร่วงเกี่ยวกับโลกทั้งสาม ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ โดยใช้ภาษาไทยแบบเก่า และมีศัพท์ทางพระพุทธศาสนาปะปนอยู่มาก จึงต้องมีการตีความเนื้อหาก่อน จึงจะสามารถเข้าใจได้ ลักษณะเด่นของรูปแบบในการแต่งคือ มีการพรรณนาให้เกิดจินตภาพของสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ทวีปต่าง ๆ ฯลฯ ว่ามีความน่ารังเกียจ หรือน่าเกรงขามอย่างไร รวมทั้งพรรณนาบรรยากาศ ของแดนนรก แดนของสัตว์เดรัจฉาน และแดนมนุษย์ ฯลฯ ว่ามีความน่ากลัว หดหู่ หรือสวยสดงดงาม อย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง โดยเนื้อหามีความละเอียดกระชับรัดกุมสื่อความหมายชัดเจน อีกทั้งยังมี ความไพเราะ เพราะใช้คําที่สละสลวยเหมาะสมกับเนื้อความ รวมทั้งให้อารมณ์สะเทือนใจด้วย เช่น ตอนพรรณนาลักษณะของเปรต ได้กล่าวเอาไว้ชัดเจน ดังนี้ “....เปรตลางจําพวก ตัวเขาใหญ่ ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มนั้นก็มี เปรตลางจําพวกผอมหนักหนา เพื่ออาหารจะกินบมิได้ แม้ว่าจะขอดเอาเนื้อน้อย ๑ ก็ดี เลือดหยด ๑ ก็ดี บมิได้เลย เท่าว่ามีแต่กระดูก และหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้ หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลังแล ตานั้นลึกและกลวงดังแสร้ง ควักเสีย ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดี และจะมีปกกายเขานั้นก็หา มิได้เลย เทียรย่อมเปลือยอยู่ ชั่วตนเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแลเขานั้นเทียรย่อมเดือดเนื้อร้อน ใจเขาแล เขาร้องไห้ร้องครางอยู่ทุกเมื่อแล เพราะว่าเขาอยากอาหารนักหนาแล....” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๒๘) ๕.๒ องค์ประกอบของเรื่อง ๕.๒.๑ โครงเรื่อง ไตรภูมิพระร่วงมีเนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยคาถานมัสการเป็นภาษาบาลีดังนี้ เตภูมิกถา รตนตยปณามคาถา ๑ วนฺทิตฺวา สิรรสา พุทฺธํ สสทฺธมฺมคณุตฺตมํ อิทํ เตภูมิสงฺเขปํ ปวกฺขามิ กถํ อิธ ๒ สุจิรภชิตุกามํ สชฺชนาลิยสโมหํ มธุรสมตทานํ ปารมีปารุฬฺหหกา คุณยสรสคนฺธํ กณฺณิกาจกฺกวณฺณํ ชินจรณสโรชํ ปีติปาโมชฺเชภิวนฺเท ๓ วิกสิตวิทิตานํ สชฺชนโปรุปหนํ สชนหทยสาเม สาวนาภายุเทนฺตํ
๒๔ อกุสลติมิรนฺธํ ธํสนํ ปาตุภูตํ มุนิวรมวลตฺถํ ธมฺมทีปํภิวนฺเท ๔ สชนมนสโรชํ พุทฺธิวารีสชผลํ อุทิรินํ ภชิตนฺตํ ธมฺมาลงฺการลงฺกตํ วิมลธุวสสีลํ รํสิปญฺญายุเปตํ สีลาธรํ วรสํฆํ อุตฺตมงฺเค อวนฺเท ๕-๙ ชโนรุณา วิภาเวนฺโต เหมปาสาทปญฺญวา สทฺธาจลผลาพนฺธิ พาหุสจฺจธนาลํโย กุปภูปนฺธยนฺโต โย ราชา สูรานุรญฺชโก สุโขเทยฺยนรินฺทสฺส ลิเทยฺโย นาม อตุรโช อภิราโม มหาปญฺโญ ธิติมา จ วิสารโท ทานสีลคุณูเปโต มาตาปิตุภโรปิ จ ธมฺมธโร สุกุสโล สพฺพสตฺเถสุ ปากโฎ อยํ ภูมิกถา นาม รญฺญา เภเทน เตน จ สชฺชนาลยฺยปุรมฺหิ ฐปิตา ทยฺยภาสโต ทุชฺฌิตุº สาสนญฺเจว สกฺกจฺจํ สพฺพโส สทา. (พระญาลิไทย. ๒๕๕๔ : ๑๒-๑๓) บุญเลิศ เลนานนท์(๒๕๒๘) นักภาษาโบราณชํานาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่ม หนังสือตัวเขียนและจารึก สํานักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้แปลคาถานมัสการไว้ครั้งแรกและเป็นผู้ตรวจ ชําระคําแปลใหม่ในการพิมพ์ โดยแปลคาถานมัสการไว้ดังนี้ คาถานมัสการพระรัตนตรัย ๑ ข้าพเจ้า (พญาลิไทย) ขอกราบนมัสการพระพุทธเจ้า พร้อมพระสหัสธรรม และพระสงฆ์ ผู้มีคุณอันอุดมด้วยเศียรเกล้า ณ ที่นี้แล้ว จักกล่าวไตรภูมิกถาโดยสังเขปนี้ เป็นลําดับไป ๒ ข้าพเจ้า ขอนมัสการพระพุทธเจ้า ผู้ทรงชนะ (มารและเสนามาร) ผู้ประทานอมตธรรมเทศนา อันไพเราะ (แก่เวไนยสัตว์) ผู้ทรงประสงค์จะจําแนก (พระสัทธรรม) เพื่อความมั่นคงแห่งพระศาสนา เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวศรีสัชชนาลัย ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระบารมี พระรัศมี ๖ ประการ (คือ ฉัพพรรณรังสี) แผ่สร้านออกเป็นประกาย ดุจช่อฟ้า ซึ่งประกาศถึงพระอธิคุณ (คือ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ) และพระอิสริยยศอันน่าชื่นชมยินดี ให้เกิดความปีติ และปราโมทย์ (แก่ชนทั้งหลาย) ๓ ข้าพเจ้า ขอนมัสการดวงประทีปคือพระธรรมที่พระมุนีเจ้าผู้ประเสริฐทรงตรัสแสดงไว้แล้ว อันกําจัดกิเลสคือความมืดมนแห่งอกุศลให้หมดปรากฏได้ ทําให้เกิดกุศลศวามดี เป็นที่ปลูกฝังศรัทธา ความเลื่อมใสแก่ชาวศรืสัชนาลัยที่มีใจแจ่มใสเบิกบานในสถานที่สดับพระสัทธรรมเทศนานั้น
๒๕ ๔ ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมพระสงฆ์เจ้าผู้ทรงศีลอันประเสริฐ ผู้เต็มเปี่ยมด้วยปัญญาดุจแสงสว่าง มีความบริสุทธิ์ดุจน้ําที่สะอาดปราศจากมลทิน ผู้เป็นผลคือทายาทแห่งพระพุทธศาสนา มีดวงใจดุจดัง ดอกบัวที่เบิกบาน ผู้ปฏิบัติด้วยดีเคารพสักการะในพระสัทธรรม คําสอนที่จําแนกเป็น ๒ อย่าง (คือพระธรรมและพระวินัย) ด้วยความเคารพยิ่ง ๕-๙ พระราชาทรงพระนามว่า “พญาลิไทย” เป็นพระราชากล้าหาญ มีพระปรีชาแตกฉาน เป็นพระโอรสพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย (พญาเลอไทย) มีปัญญาผ่องใสไม่ติดขัด มีเรือนทรัพย์ คือพาหุสัจจะ (ความเป็นพหูสูต) ทรงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาไม่หวั่นไหว อันปราศจาก ความมืดมน เป็นพระราชาผู้เป็นนักปราชญ์ มีความรื่นรมย์ มีพระสติปัญญามั่นคง และองอาจยิ่ง เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม (ทศพิธราชธรรม) บําเพ็ญทานและศีลเป็นคุณูปการ อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุพการี คือมารดาและบิดา มีพระปรีชาสามารถปรากฏในสรรพศาสตร์ทั้งปวง พระองค์ผู้ทรงแตกฉาน มีพระประสงค์จะยกย่องเชิดชูพระ (พุทธ) ศาสนา ด้วยความเคารพตลอดกาลทุกเมื่อ จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ (ไตร) ภูมิกถานี้ขึ้นไว้เป็นภาษาไทย ณ เมืองศรีสัชนาลัย ต่อจากคาถานมัสการภาษาบาลีก็จะเป็นบานแพนกบอกชื่อและประวัติ ของ ผู้แต่ง วันเดือนปีที่แต่ง ชื่อคัมภีร์ต่าง ๆ รวมทั้งบอกจุดมุ่งหมายในการแต่ง แล้วจึงกล่าวถึงภูมิทั้ง ๓ โดย เริ่มต้นตั้งแต่การกําเนิดของชีวิตต่าง ๆ ว่ามีที่เกิดอย่างไร แล้วพรรณนาถึงถิ่นที่เกิด คือ ภูมิต่าง ๆ ทั้ง ๓๑ ภูมิอย่างละเอียด โดยในตอนที่ว่าด้วยมนุสสภูมิและโลกสัณฐาน หรือภูมิศาสตร์ของโลก ได้เล่าอย่างละเอียดว่า ลักษณะของโลกเป็นอย่างไร ทวีปต่าง ๆ ภูเขา แม่น้ํา คนและสัตว์เป็นอย่างไร มีการเกิดอย่างไร และเมื่อเกิดมาแล้วกระทําแบบใด จะส่งผลให้ไปอยู่ในภพภูมินั้น ๆ ซึ่งในตอนท้าย จบลงด้วยการเน้นทางไปถึงการดับทุกข์ คือ พระนิพพาน เป็นการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ให้ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายอันสูงสุดของชีวิต ๖. คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ๑. มีการใช้โวหารภาพพจน์แบบอุปมา คือการเปรียบเทียบของสองอย่างซึ่งอาจไม่ใช่ ของชนิดเดียวกัน หรือเรื่องเดียวกัน ในการเปรียบเทียบมีคําที่แสดงว่าเหมือนเป็นเครื่องเชื่อม เช่นคําว่า กล ดุจ ดัง ประดุจ ประหนึ่ง เล่ห์ เพียง ถนัดทั้ง ละม้าย แม้น เหมือน เฉก เช่น ราวกับ ฯลฯ ตัวอย่างการใช้ภาพพจน์แบบอุปมา “...อันว่าสายไส้ดือแห่งกุมารนั้นกลวงดังสายก้านบัวอันมีชื่อว่าอุบล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๓๙) “...ฝูงตืดแลเอือนทั้งหลายนั้นคนกันอยู่ ในท้องแม่ตืดแลเอือนฝูงนั้นเริมตัวกุมารนั้นไสร้ ดุจดั่งหนอนอันอยู่ในปลาเน่า แลหนอนอันอยู่ในลามกอาจมนั้นแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๓๙)
๒๖ “...ในท้องแม่นั้นร้อนนักหนาดุจดั่งเราเอาใบตองเข้าจ่อตน แลต้มในหม้อในหม้อนั้นไสร้...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๔๐) “...อัมพุทะนั้นโดยใหญ่ไปทุกวารไสร้ครั้นได้ถึง 7 วารข้นเป็นดั่งตะกั่วอันเชื่อมอยู่ในหม้อ เรียกชื่อว่า เปสิ เปสินั้นค่อยใหญ่ไปทุกวัน ครั้นถึง 7 วันแข็งเป็นก้อนดั่งไข่ ไก่ เรียกว่าฆนะ ฆนะนั้น ค่อยใหญ่ไปทุกวัน ครั้นถึง 7 วัน เป็นตุ่มออกได้5แห่งดั่งหูดนั้น เรียกว่า เบญจสาขาหูด...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๓๙) “...เมื่อกุมารนั้นคลอดออกจากท้องแม่ออกแลไปบ่มิพ้นตน ตนเย็นนั้นแลเจ็บเนื้อเจ็บตนนักหนา ดั่งช้างสารอันท่านชักท่านเข็นออกจากประตูลักษอันน้อยนั้น แลคับตัวออกยากลําบากนั้นผิบ่มิดั่งนั้น ดั่งคนผู้อยู่ ในนรกแล แลภูเขาอันชื่อคังไคยบรรพตหีบแลเหงแลบดบี นั้นแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๔๐) ๒. ใช้บรรยายโวหาร มุ่งเน้นวิธีการเล่าเรื่องให้เห็นเป็นลําดับว่าใครทําอะไร ที่ไหน อย่างเน้น ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ ทําให้เข้าใจเนื้อหาและเรื่องราวต่างๆ ได้โดยที่เนื้อเรื่องดําเนินไปไม่หยุด “ภาพ” ที่เกิดขึ้นใจผู้อ่านให้ “นิ่ง” อยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่งของเรื่อง ตัวอย่างการใช้บรรยายโวหาร “...ผิแลคนอันมาแต่นรกก็ดีแลมาแต่เปรตก็ดีมันคํานึงถึงความอันลําบากนั้นครั้นว่าออกมา ก็ร้องไห้แล ผิแลคนผู้มาแต่สวรรค์แลคํานึงถึงความสุขแต่ก่อนนั้นครั้นว่าออกมาไสร้ ก็ย่อมหัวร่อก่อนแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๔๑) “...ด้วยอํานาจแห่งไฟธาตุอันร้อนนั้น ส่วนตัวกุมารนั้นบ่มิ ไหม้ เพราะว่าเป็นธรรมดา ด้วยบุญกุมารนั้นจะเป็นคนแลจึงให้บมิ ไหม้บมิตายเพื่อดั่งนั้นแลแต่กุมารนั้นอยู่ในท้องแม่ บ่ห่อนได้หายใจเข้าออกเสียเลย...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๔๐) ๓. พรรณนาโวหาร เป็นข้อความที่เน้นให้รายละเอียดด้วยวิธีการอธิบายความอย่างถี่ถ้วน ไม่มี เป็นเรื่อง ทําให้ภาพที่เกิดขึ้นในใจของผู้อ่าน “นิ่ง” หรือไม่มีการเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ในเรื่อง ตัวอย่างการใช้พรรณนาโวหาร “... คนผู้ ใดจากแต่นรกมาเกิดนั้น เมื่อคลอดออกตนกุมารนั้นร้อนเมื่อมันอยู่ ในท้องแม่นั้น ย่อมเดือดเนื้อร้อนใจแลกระหนกระหาย อีกเนื้อแม่นั้นก็พลอยร้อนด้วยโสดคนผู้จากแต่สวรรค์ ลงมาเกิดนั้น เมื่อจะคลอดออก ตนกุมารนั้นเย็น เย็นเนื้อเย็นใจเมื่อยังอยู่ในท้องแม่นั้น อยู่เย็น เป็นสุขสําราญบานใจ แลเนื้อแม่นั้นก็เย็นด้วยโสด...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๔๐) “... เบื้องหลังกุมารนั้นต่อหลังท้องแม่แลนั่งยองอยู่ ในท้องแม่แลกํามือทั้งสองคู้คอต่อหัวเข่า ทั้งสองเอาหัวไว้เหนือหัวเข่าเมื่อนั่งอยู่นั้น เลือดแลน้ําเหลืองย้อยลงเต็มตนยะหยดทุกเมื่อแล
๒๗ ดุจดั่งลิงเมื่อฝนตก แลนั่งกํามือเซาเจ่าอยู่ในโพรงไม้นั้นแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๔๐) ๔. มีการใช้คําอัพภาส คือคําประสมที่เกิดจากคํามูลสองคําเสียงซ้ํากัน ต่อมาเสียงคําหน้ากร่อน เหลือเป็นเสียงประวิสรรชนีย์เช่น “...เบื้องหลังกุมารนั้นต่อหลังท้องแม่แลนั่งยองอยู่ ในท้องแม่แลกํามือทั้งสองคู้คอต่อหัวเข่า ทั้งสองเอาหัวไว้เหนือหัวเข่าเมื่อนั่งอยู่นั้น เลือดแลน้ําเหลืองย้อยลงเต็มตนยะหยดทุกเมื่อแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ :๔๐) “...แลมีฝูงหญิงอันอยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคน รูปทรงเขานั้นบ่มิต่ําบ่มิสูงพีบ่มิผอม บ่มิขาว บ่มิดํา สีสมบูรณ์งามดั่งทองอันสุขเหลืองเรืองเป็นที่พึงใจฝูงชายทุกคนแล นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงาม นะแน่ง เล็บตีนเล็บมือเขานั้นแดงงามดั่งน้ําครั่ง อันท่านแต่งแล้วแต้มไว้...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๔๕ ) ๕. มีการซ้ําคํา เป็นกลวิธีที่ใช้คําคําเดียวกันซ้ําในคําประพันธ์ อาจจะวางไว้ติดกันแบบคําซ้ํา หรือวางไว้แยกจากกันแต่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยความหมายของคําที่ซ้ํานั้นจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง จะมีความหมายเหมือนกันทุกคํา เช่น “...ปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิตใจเอาอันปฏิสนธินั้นพิจารณาจิงมักยินดียินสุขนักหนา จิงตั้งตนเป็นอันเดียวจิงเอาปฏิสนธิ...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๕) “...แลลมนั้นหากพัดต้องคัพภะนั้นก็แท้งก็ตาย ลางคาบมือตืดมีเอื่อนในท้องนั้น แลตืดแลเอื่อนนั้น หากไปกินคัพภะนั้นก็ตาย...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๓๘ ) “...เมื่อแรกจะก่อเป็นกลละนั้น มีรูป ๘ อัน แลรูป ๘ อันนั้นคือ รูปอันหนึ่งชื่อว่าปฐวีรูป อันหนึ่งอันเป็นน้ําชื่อว่าอาโปรูป อันหนึ่งร้อนขึ้น ๆ ชื่อว่าเตโชรูป...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๓๘ ) “...แลมีฝูงหญิงอันอยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคน รูปทรงเขานั้นบ่มิต่ําบ่มิสูงพีบ่มิผอม บ่มิขาว บ่มิดํา สีสมบูรณ์งามดั่งทองอันสุขเหลืองเรืองเป็นที่พึงใจฝูงชายทุกคนแล นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงาม นะแน่ง เล็บตีนเล็บมือเขานั้นแดงงามดั่งน้ําครั่ง อันท่านแต่งแล้วแต้มไว้...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๔๕ ) “...เมื่อกุมารอยู่ในท้องแม่นั้นลําบากนักหนา พึงเกลียดพึงหน่ายพ้นประมาณนัก ก็ชื้นแลเหม็น กลิ่นตืดแลเอื่อนอันได้ ๘๐ ครอก ซึ่งอยู่ในท้องแม่ อันเป็นที่เหม็นแลที่ออกลูกออกเต้าที่เถ้าที่ตายที่เร่ว ฝูงตืดแลเอื่อนทั้งหลายนั้นคนกันอยู่ในท้องแม่...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๓๙ )
๒๘ ๗. ลักษณะคําประพันธ์ ไตรภูมิพระร่วงใช้การประพันธ์ประเภทร้อยแก้ว ร้อยแก้ว (ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๕๒: ๓๘๑–๓๘๕) หมายถึง ถ้อยคําที่พูดและเขียนเพื่อสื่อสารคันอยู่เป็นปรกติในชีวิตประจําวัน มีความถูกต้องตามแบบแผน หรือไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ ทําให้ผู้ฟังผู้อ่านที่พูดหรือรู้ภาษานั้นๆ เข้าใจได้ ข้อความร้อยแก้วไม่จํากัดถ้อยคําและประโยค จะเขียนให้สั้น หรือยาวเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีกฎเกณฑ์ ทางฉันทลักษณ์บังคับจนเกิดเป็นแบบรูปฉันทลักษณ์ต่างๆ อย่างค่อนข้างตายตัว ไม่มีการละคํา ละความ เพื่อให้ต้องตีความหมายเหมือนในบทกวีนิพนธ์ชั้นเยี่ยม เพราะผู้เขียนบทร้อยแก้วโดยทั่วไปนิยมจะเขียน ให้มีความหมายตรงตามตัวหนังสือมากกว่าที่จะเขียนซ่อนความหมายไว้ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับ จุดประสงค์และเนื้อหาของเรื่อง และยังข้นอยู่กับกาลเวลาที่เรื่องนั้นๆ ปรากฏขึ้นอีกด้วย เช่น ประการแรก ถ้าผู้เขียนมุ่งหวังจะบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ ให้ความรู้ทั่วๆไป กระตุ้นความคิด ของผู้อ่าน ก็อาจเขียนอย่างตรงไปตรงมา ใช้ภาษาที่เรียบง่ายและชัดเจน ประการที่ ๒ ถ้าผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านบังเกิดความหรรษา ผู้เขียนก็จะเขียนเป็นเรื่อง ขบขันชวนหัว อาจใช้ถ้อยคําที่ซ่อนความหมายไว้บ้างเพื่อชวนให้ขบคิด บันเทิงใจจนอดยิ้มหัวไปด้วย ไม่ได้ ประการที่ ๓ ถ้าผู้เขียนหนังสือวิชาการ ตํารับตํารา มีหนังสือกฎหมาย เป็นต้น ก็จําเป็นต้อง ใช้ถ้อยคําที่เป็นศัพท์เฉพาะทางวิชาการนั้นๆ ประการที่ ๔ ถ้าผู้เขียนเรื่องที่มีเนื้อหาลุ่มลึก แสดงถึงความคิดลึกซึ้งแยบคายอันเป็นเรื่อง เช่น เรื่องพระพุทธศาสนา ปรัชญา หรือเรื่องที่เกิดจากจินตนาการ และผู้เขียนมีฝีมือศิลปะในการถ่ายทอด รู้จักเลือกใช้ถ้อยคําได้เหมาะสมกับเนื้อความ วางเหตุการณ์ในเรื่องได้แนบเนียน ไม่ฝืนธรรมชาติ เขียนได้กระชับรัดกุมสละสลวย สื่อความหมายได้ชัดเจนวรรณกรรมร้อยแก้วชิ้นนั้นๆ ก็จะมีความไพเราะ งดงาม สะเทือนอารมณ์ได้ไม่น้อยไปกว่าบทกวีนิพนธ์ชั้นดี นอกจากนี้ ท่วงทํานองหรือลีลาการเขียนของแต่ละบุคคล และกาลเวลาที่วรรณกรรมร้อยแก้ว นั้นปรากฏ ก็มีอิทธิพลทําให้ภาษาร้อยแก้วนั้นแตกต่างกันออกไป เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ วรรณกรรมร้อยแก้วของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันนับว่า มีจํานวนมาก ในชั้นแรก ในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา วรรณกรรมร้อยแก้วที่เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ ในการบันทึกความเป็นไปและเหตุการณ์บ้านเมือง และเพื่อสั่งสอนประชาชนมากกว่าความบันเทิง เช่น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหง ไตรภูมิพระร่วงซึ่งพระยาลิไททรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในสมัยสุโขทัย ส่วนในสมัยอยุธยาก็มีศิลาจารึกหลายหลักตั้งไว้ตามวัด พระเจ้าแผ่นดินก็ออกกฎหมายลักษณะต่างๆ มีวรรณกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามีพงศาวดารฉบับต่างๆ ที่นํามาฟื้นฟู
๒๙ ตัวอย่างภาษาร้อยแก้วสมัยสุโขทัยจากไตรภูมิพระร่วง “...นรกอันเป็นคํารบ ๒ นั้น ชื่อว่าสุนัขนรก คนผู้ใดกล่าวคําร้ายแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีลและพ่อ แม่ผู้ เถ้าผู้แก่ครูปัธยาย์ คนผู้นั้นตายไปเกิดในนรกอันชื่อว่าสุนัขนรกนั้นแล ในสุนัขนรกนั้นมีหมา ๕ จําพวก หมา จําพวกหนึ่งนั้นขาว หมาจําพวกหนึ่งนั้นแดง หมาจําพวกหนึ่งนั้นด่าง หมาจําพวกหนึ่งนั้น ดํา หมาจําพวก หนึ่งนั้นเหลือง หมาฝูงนั้นใหญ่เท่าช้างสาร ทุกตัวฝูงแร้งแลกาอันอยู่ในนรกนั้นใหญ่เท่า เกียนใหญ่ทุกๆตัว ปากแร้งแลปากกาแลเล็บตีนนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวไฟลุกอยู่บ่มิได้เดือดสัก คาบแร้งแลกาหมาฝูง นั้นเทียรย่อมจิกแหกหัวอกย่อมขบย่อมตอดคนทั้งหลายผู้อยู่ในนรกนั้น แล บาปกรรมของเขานั้นบ่มิให้ตาย และให้เขาทนเจ็บปวดสาหัส ทนทุกขเวทนาพ้นประมาณอยู่ในนรกอัน ชื่อว่า สุนัขนรกนั้นแล...” (กรมศิลปากร ๒๕๓๙ : ๒๙-๓๐) ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมร้อยแก้วปรากฏชัดเจนและมีจํานวนมากขึ้น มีทั้งที่เขียนขึ้น เพื่อประโยชน์อื่นๆ และเพื่อความสําเริงอารมณ์ พระเจ้าแผ่นดินแทบทุกพระองค์เป็นทั้งกวีและนักเขียน ร้อยแก้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชสํานักและประชาชนทั่วไปสนใจอ่านและเขียนวรรณกรรมร้อยแก้ว มากขึ้น อาจ เป็นเพราะไทยมีการติดต่อกับต่างประเทศทั้งการทูตและการเผยแผ่ศาสนา ชาวต่างประเทศนําวิทยาการใหม่ๆ เข้ามา เช่นมีการพิมพ์เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนก็จะรู้หนังสือมาก ขึ้น เกิดนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันซึ่ง เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกันตลอดมา คนไทยนิยมอ่านวรรณกรรม ร้อยแก้วกันมากขึ้น ในชั้นแรก มีการแปลวรรณกรรมร้อยแก้ว เช่น นวนิยาย ต่อมาคนไทยจึงเขียนขึ้นเอง งานเขียนประเภทร้อยแก้วที่เน้นสร้างสรรค์เพื่อการสื่อสารเชิงสุนทรียภาพ ในบทนี้ จะเน้นงานเขียน สองประเภทคืองานเขียนประเภทเรื่องสั้นและนวนิยาย นวนิยายและเรื่องสั้น เป็นวรรณกรรมบันเทิงคดีร้อย แก้วประเภทเรื่องเล่า (Narrative Fiction) หมายถึงงานเขียน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นข้อเท็จจริงแต่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นจากจินตนาการ มีลักษณะของการสมมุติหรือเรื่องแต่ง (Fiction) โดยอาศัยจินตนาการของผู้แต่งเป็นสําคัญ และจินตนาการนั้นก็มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง เกี่ยวกับโลกและชีวิตมนุษย์ (ธัญญา สังขพันธานนท์. ๒๕๓๘ : ๙๔) งานเขียนทั้งสอง ประเภทเน้น การสร้างจินตนาการแก่ผู้อ่าน ด้วยการเรียงร้อยถ้อยคํา โวหารการสร้าง ภาพพจน์ในการเล่าเรื่อง เรียงร้อยพรรณนาให้ผู้อ่านสามารถตามความคิดและจินตนาการของผู้เขียนไปได้ ภาพที่เกิดขึ้นในใจ ของผู้เขียนที่นําผู้อ่านให้เข้าไปยังโลกแห่งจินตนาการนั้นๆ ผ่านการบรรยาย พรรณนา องค์ประกอบ วรรณกรรม โครงเรื่อง ฉาก บรรยากาศ บุคลิกลักษณะตัวละคร อารมณ์ความรู้สึก บทสนทนา แก่นเรื่อง การสื่อสารผ่านเรื่องเล่าประเภทร้อยแก้วไม่มีข้อกําหนดหรือกฎเกณฑ์เรื่องของการบังคับ จํานวนคําหรือฉันทลักษณ์ ทําให้ผู้แต่งสามารถใช้ภาษาที่เป็นการอธิบาย บรรยาย และพรรณนา ได้อย่างไม่จํากัด การสร้างจินตนาการทางถ้อยคําจึงเป็นอิสระ ภาพที่เกิดขึ้นในจินตนาการจึงชัดเจน และกว้างไกล
๓๐ ๘. คุณค่าด้านศาสนา ๑. เรื่องราวของไตรภูมิพระร่วงเป็นต้นกําเนิดของความเชื่อ “กฎแห่งกรรม” ทําให้เชื่อว่า การกระทําต่าง ๆ จะเป็นผลต่อเราในอนาคตได้ทั้งดีและไม่ดี ทําดีย่อมได้รับผลดี ทําชั่วย่อมได้รับผล แห่งความชั่วในอนาคต ซึ่งเป็นความเชื่อทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมให้คนประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า มีเกิด ก็ต้องมีดับเป็นธรรมดาของสัตว์โลก เช่น กล่าวให้เห็นถึงผลกรรมจากการกระทํากรรมชั่ว โดยให้ภาพ เป็นความทุกข์ทรมานจากการชดใช้กรรมในนรกมีเนื้อความดังนี้ “...ในฝูงนรกเล็กอันอยู่เป็นบริวารนรกบ่าวนั้นมากนักแล บ่มิอาจกล่าวได้เลยเท่าจะกล่าว แต่นรกบ่าว ๑๖ อัน อันอยู่ล้อมรอบสัญชีพนรกนั้น อันอยู่บนนรกทั้งหลาย อันพระมาตุลีเอาพระยาเนมิ- ราชไปดูนั้น เมื่อจะไปดูสัญชีพนรกอันใหญ่อันอยู่ท่ามกลางนั้น ให้ดูแต่นรกบ่าว ๑๖ อัน อยู่รอบสัญชีพ นรกนั้น ชื่ออุสทนรกแล นรกอันเป็นอาทิชื่อเวตรณีนรก คนผู้อยู่ในแผ่นดินนี้ แลมั่งคั่งเป็นดี มีเข้าของ มาก ไพร่ฟ้าข้าไทมากหลาย มักกระทําร้ายแก่คนผู้อื่น ชิงเอาทรัพย์เข้าของของท่านผู้อื่น ด้วยตน มีกําลังกว่า ครั้นตายได้ไปเกิดในนรกอันชื่อเวตรณีนั้น ยมพะบาลอันอยู่เวตรณีนรกนั้นเทียรย่อมถือ ไม้ ค้อน มีดพร้า หอก ดาบ หลาว แหลน เครื่องข้าเครื่องแทง เครื่องยิง เครื่องตีทั้งหลายฝูงนั้น เทียรย่อมเหล็กแดง แลมีเปลวพุ่งขึ้นไปดังไฟไหมฟ้านั้น ลุกดังนั้นบ่มิวาย ฝูงยมพะบาลจึงถือเครื่องพุ่ง เครื่องแทงฝูงนั้นไล่พุ่งไล่แทงไล่ตีฝูงคนนรกด้วยสิ่งดังนั้น เขาก็เจ็บปวดเวทนานักหนา อดทนบ่มิได้เลย...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๑๒-๑๓) ๒. อธิบายให้เห็นถึงความเป็นจริง การเกิดของโลกและชีวิต ว่าโลกและชีวิตเกิดจากอะไร มีคุณลักษณะทําให้มนุษย์มีที่มาในการอ้างเหตุผล เช่น การสืบสาวหาต้นเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ ย่อมทําให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เป็นต้น โดยกล่าวถึงการเกิดชีวิตไว้ดังนี้ “...แลสัตว์ทั้งหลายอันจักเอาโยนิปฏิสนธิเกิดในภูมิ ๓๑ นี้ มีโยนิปฏิสนธิเท่าใดเล่า? ได้พบ พระโยนิปฏิสนธิ ๔ อัน อันหนึ่งชื่ออัณฑชโยนิ อันหนึ่งชื่อชลามพุชโยนิ อันหนึ่งชื่อสังเสทชโยนิอันหนึ่ง ชื่ออุปปาติกโยนิ อันชื่อว่าอัณฑชโยนนั้นคือ สัตว์อันเป็นแต่ไข่ เป็นต้นว่างูแลไก่ แลนก แลปลาทั้งหลาย นั้นแล อันชื่อว่าชลามพุชโยนนั้น ได้แก่สัตว์อันเป็นแต่ปุ่มเป๊อกแลมีรกหากหุ้มห่ออยู่ เป็นต้นว่า ช้าง ม้า วัว ควายแล อันว่าสังเสทชโยนนั้น ได้แก่สัตว์อันเป็นแต่ใบไม้แลละอองดอกบัว แลหญ้าเน่า เนื้อเน่า เพื่อไคล อันเป็นต้นว่า หนอนเลแมลง บุ้ง ริ้น ยุง ปลา แลสัตว์อันเอาปฏิสนธิใน โยน ๓ อันนี้ คือเกิดแต่ รกหุ้มห่อก็ดี เกิดแต่ไข่ก็ดี เกิดแต่เหื่อแลไคลก็ดี ๓ อันนี้จึงค่อยใหญ่ขึ้นโดยอันดับแล อันหนึ่งแลชื่อว่า อุปปาติกโยนนั้น หากอันหนึ่งชื่อว่าอุปปาติกโยนนั้น หากเกิดเป็นตัวเป็นตนใหญ่แล้วทีเดียว เป็นต้นว่า พรหมแลเทวดาแลสัตว์นรกนั้นแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๓-๔)
๓๑ ๙. คุณค่าด้านสังคม ผู้แต่งแสดงแนวคิดเรื่องบาปบุญ ทําให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ การกระทําสิ่ง ต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อตัวเองในอนาคต เป็นเหมือนเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม ให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม จูงใจให้คนทําความดีละเว้นความชั่ว รู้กฎความจริงของสรรพสิ่ง และกฎของชีวิต ให้ดํารงชีวิตด้วยความไม่ประมาท รวมถึงใช้คุณธรรมความดีเป็นพื้นฐาน ในการสร้างสรรค์ความสุขในสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข เช่น การกล่าวถึงความทุกข์ ทรมานในการชดใช้กรรมจากการลักทรัพย์ผู้อื่น เพื่อควบคุมความประพฤติของคน ไม่ให้เกิด การโจรกรรมขึ้นในสังคมมีเนื้อความว่า “...นรกบ่าวอันเป็นคํารบ ๘ นั้น ชื่อ สัตติหตนรก คนฝูงใดเร่งลักสินท่าน แลคนฝูงกล่าวร้าย ใส่โทษเขาว่าเป็นโจร แลให้เจ้าของแพ้แรง พรางเอาของท่าน บ่มิได้ให้ แลเอาโสด คนฝูงนั้นตายได้ไปเกิด ในนรกนั้นแล ยมพะบาลฝูงรักษานรกนั้น ยืนอยู่รอบคนทั้งหลายหมู่ตกนรกนั้น ดังคนแวดวังขับเนื้อ ทั้งหลายในกลางป่าทุกแห่งทุกภาย แลบ่มิให้หนีให้รอดได้นั้น ฝูงยมพะบาลเอาหอกชะนักไล่แทงไล่พุ่ง เขาทั้งหลายหลายที ก็ถูกบาดเจ็บทั่วตัวคนฝูงนั้นหลายแห่งดุจดังใบตองแห้งอันท่านเอามาสับให้แหลก นั้น แลฝูงคนนรกทั้งหลายนั้นก็แหลกไปดุจดั่งนั้นแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๑๕) ๑๐. จุดเด่นของวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง ๑. เป็นวรรณคดีโบราณที่ใช้ภาษาไทยแบบเก่า และมีการใช้ศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทย โบราณอยู่เป็นจํานวนมาก ผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนก็อาจจะยากแก่การทําความเข้าใจ ทั้งนี้ ก็เป็นการรักษาภาษาไทยโบราณหรือภาษาไทยแบบเก่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น ตัวอย่างการใช้ภาษาไทยแบบเก่า “...กล่าวถ้อยคําตลก เหล้นอันบมิควรกล่าวแลกล่าวอันเป็นถ้อยคําติรัจฉานกถานั้นแล อันว่าเกิด บาปด้วยใจมี ๓ จําพวกนั้น อันหนึ่งคือมิจฉาทิฏฐิ ถือหมั้น บมิชอบบมิพอแลว่าชอบว่าพอ อันชอบ พอแลว่าบมิชอบพอ อันหนึ่งคือเดือดฟังแก่ผู้ใด แลถือหมั้นว่าเป็นข้าศึกตนพอล้มพอตาย สู้ความโทษให้ร้าย แลคุมความเดือดนั้นไว้หมั่นคง อันหนึ่งคือว่าปองจะทําโทษโพยท่าน จะใคร่ข้า ฟัน เอาทรัพย์สินท่าน สุภาวะอันเป็นบาปนั้นมี ๑๐ จําพวกดังกล่าวมานี้แล แต่ใจบาปทั้งหลาย ดังกล่าวมานี้ แล ยังมีเพื่อนใจอันเป็นเจตสิกแต่งมายังใจให้กระทําบาปนั้น ๒๗ ...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๙) ๒. มีการใช้ภาษาสํานวนโวหารต่าง ๆ ในสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นสํานวนพรรณนา ที่มีความแจ่มแจ้ง ไพเราะ ทําให้ผู้อ่านจินตนาการภาพตามและเกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วย เช่น ผู้แต่งได้พรรณนาถึงความน่ากลัวของนรก ทําให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกนั้น ๆ และเกรงกลัวต่อการทําบาป
๓๒ ๓. ไตรภูมิพระร่วงเป็นยอดของวรรณคดีในสมัยสุโขทัย เนื่องจากเป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ โดยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลิไท ซึ่งพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๘ จึงนับได้ว่าเป็นวรรณคดีที่มีอายุมากกว่า ๖oo ปี มีความงามด้านวรรณศิลป์และมีคุณค่าทางด้านเนื้อหา มุ่งสอนศีลธรรม ให้ประชาชนยึดมั่น ในคุณงามความดี เชื่อในเรื่องบาปกรรม และนรก สวรรค์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย เป็นเวลานาน นอกจากนี้ไตรภูมิพระร่วงยังเป็นหนึ่งในวรรณคดีของชาติในสมัยสุโขทัยจากจํานวน ๕ เรื่อง ได้แก่ จารึกหลักที่ ๑ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหง จารึกหลักที่ ๒ ศิลาจารึกวัดศรีชุม จารึกหลักที่ ๓ ศิลาจารึกนครชุม สุภาษิตพระร่วง และไตรถูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง ๑๑. ความสําคัญ ๑. ทําให้คนรุ่นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเห็นได้ จากการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ คุณครูมักจะนําเอาเนื้อหาสาระในไตรภูมิพระร่วงมาประยุกต์ใช้ ในการสอนนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นในวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมได้นําเอาเนื้อหาของไตรภูมิ พระร่วงมาใช้ในการสอน ชี้แนะแนวทางในการดําเนินชีวิต ให้เป็นคนดีในสังคม รวมทั้งได้รับรู้เรื่องราว ประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย ซึ่งผู้แต่งหรือพระญาลิไทย รวมทั้งกษัตริย์อีกหลายพระองค์ยังครองราชย์ อยู่ในขณะนั้น ๒. ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลต่อแนวคิดของกวีรุ่นหลัง โดยกวีได้นําแนวคิดต่าง ๆ ในไตรภูมิ พระร่วงมาสอดแทรกหรือปรับใช้ในวรรณคดีไทย จึงถือได้ว่าไตรภูมิพระร่วงเป็นพื้นฐาน ในการสร้างสรรค์วรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ของไทย เช่น ลิลิตโองการแช่น้ํา มหาเวสสันดรชาดก รามเกียรติ์ กากีคํากลอน ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น ๓. สอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ ทําดีขึ้นสวรรค์ ทําบาปจะตกนรก เชื่อในผลแห่งกรรม ซึ่งทําให้ผู้คนในสังคมรู้สึกเกรงกลัวที่จะทําในสิ่งที่ไม่ดีหรือทําบาป ๔. เป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้คนในสังคม คือ การเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษาศีล บําเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ ๕. มีอิทธิพลในการนําไปสร้างสรรค์งานศิลปกรรม ซึ่งจิตกรนิยมนําเรื่องราวในไตรภูมิพระร่วง ไปวาดเป็นภาพสีไว้ที่ผนังในโบสถ์วิหาร และในวัดต่าง ๆ ๖. เป็นวรรณคดีที่สําคัญทางศาสนา สะท้อนความเชื่อเรื่องบาปบุญ ซึ่งมีมาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย และมีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบันมากมาก
๓๓ ๑๒. ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง ๑. สอนให้คนมีคุณธรรม ทําแต่ความดีละเว้นความชั่ว ดําเนินชีวิตบนพื้นฐาน แห่งการทําความดี รวมทั้งช่วยกันดํารงพระพุทธศาสนาไว้ให้ยั่งยืน ๒. เมื่อเกิดมาแล้วควรจะทําความดีหรือทําสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุดและทําด้วยความพยายาม อย่างเต็มศักยภาพตั้งแต่วันนี้หรือในตอนมีโอกาส เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อตายไปแล้วเราจะไปพบกับ สิ่งใดบ้าง หรือในวันข้างหน้าเราจะได้รับผลกระทบจากการกระทํานั้นหรือไม่ ๓. สื่อให้เห็นว่าถ้าใครอยากขึ้นสวรรค์ก็ต้องรู้จักทําความดี แต่ถ้าใครที่ไม่กลัวบาป ถ้าตายไป แล้วก็จะต้องไปชดใช้กรรมที่นรก ซึ่งแตกต่างจากความคิดของคนในปัจจุบัน ที่ยึดความเชื่อตามหลัก วิทยาศาสตร์ มากกว่าความเชื่อทางศาสนา ๑๓. การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน ในปัจจุบันมนุษย์มีความเชื่อที่หลากหลาย เชื่อในพระเจ้า เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง ไม่เชื่อว่านรก สวรรค์มีจริง เชื่อในสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้เท่านั้น หรือเชื่อในเรื่องเร้นลับที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ และทุกความเชื่อนั้นล้วนส่งผลต่อการดําเนินชีวิตประจําวันเป็นอย่างมาก ในความเชื่อเหล่านั้นมีทั้ง ความเชื่อที่ส่งผลดี ความเชื่อที่ไม่ส่งกระทบใดๆต่อคนรอบข้าง เช่นเดียวกันหากมีความเชื่อในทางที่ผิด ก็ย่อมเกิดผลร้าย สิ่งที่เราควรทําคือการแยกแยะถูกผิดให้ได้ หากเรามีความรู้และการศึกษาที่ดี ก็เป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลาตัวเราได้เป็นอย่างดี ไตรภูมิพระร่วงมีการกล่าวถึงการทําความชั่วและต้องทนทุกข์ทรมานตามสิ่งที่ตนกระทํา ดังข้อความต่อไปนี้ “...นรกบ่าวอันดับเป็นคํารบ ๖ (ชื่อว่า อโยทกนรก) แล คนผู้ใดอันข้าสัตว์อันมีชีวิต เชือดคอ สัตว์นั้นให้ตายไส้ คนผู้นั้น ครั้นว่าตายไปเกิดในนรกนั้นแล สัตว์นรกนั้นมีตัวอันใหญ่แลสูงได้ ๖๐๐๐ วา ในนรกนั้นมีหม้อเหล็กแดงใหญ่เท่าภูเขาอันใหญ่ แลฝูงยมพะบาลเอาเชือกเหล็กแดงอันลุกเป็นเปลวไฟไล่ กระหวัดรัดตัวเขา แล้วบิดให้คอเขานั้นขาดออก แล้วเอาหัวเขาทอดลงในหม้อเหล็กแดงนั้น เมื่อหัวเขา ด้วนอยู่ดังนั้น บัดเดี๋ยวก็บังเกิดหัวอันหนึ่งขึ้นมาแทนเล่า ฝูงยมพะบาลจึงเอาเชือกเหล็กแดงบิดคอให้ขาด แล้วเอาหัวทอดลงในหม้อเหล็กแดงอีกเล่า แต่ทําอยู่ดังนี้หลายคาบหลายครานัก ตราบเท่าสิ้นอายุสม์แล บาปกรรมแห่งเขาในที่นั้นแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๑๕) มีการกล่าวถึงความพิเศษของการเป็นเทวดาบนสวรรค์ “...พิสัยของเทพยดาทั้งหลายนั้นฉันนี้ แม้นว่ากินอาหารไส้ แลจะมีลามกอาจมมูตคูถดั่งมนุษย์ เราท่านนี้หาบ่มิได้แล เทพยดาอันจุติจากสวรรค์และมีอสภดั่งมนุษย์เราท่านนี้ก็หาบ่มิได้ ครั้นว่าจุติไส้ ทั้งกายนั้นก็หายไปด้วยที่เดียวแล...” (กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๑๑๓)
๓๔ ไตรภูมิพระร่วงจึงเป็นหนังสือที่สั่งสอนว่าผู้ที่ทําบุญจะได้ขึ้นสวรรค์และผู้ที่ทําบาปจะตกนรก โดยให้ภาพนรกที่น่ากลัว คนจะได้แกรงกลัวต่อบาปไม่อยากตกนรก ให้ภาพสวรรค์เป็นแดนสุขารมณ์ คนจะได้ทําบุญเพื่อไปสู่สวรรค์ ดังสุภาษิตที่คุ้นเคยความว่า “ทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่ว” หากคนมีความเชื่อ ดังกล่าวแล้วคนในสังคม ก็จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม ละเว้นความชั่ว ซึ่งจะส่งผลให้สังคม ในภาพรวมเกิดความสงบสุข ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันโดยพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้น การประยุกต์ใช้ความรู้จากไตรภูมิพระร่วง จึงเป็นการประพฤติตนให้เป็นคนดี เพราะเรา ไม่สามารถบังคับให้ผู้อื่นประพฤติดีได้ แต่เมื่อเราสามารถแยกดีชั่ว ถูกผิดได้แล้ว เราก็สามารถบอกต่อ แก่ผู้อื่นได้ ดังเช่นการบอกว่าทําดีได้ขึ้นสวรรค์ ทําชั่วจะตกนรกของไตรภูมิพระร่วงที่บอกแก่เรา และเราคือผู้ตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ผู้ที่เราบอกต่อก็เป็นผู้ที่ตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อเช่นกัน หากเขาเชื่อในการทําความดี เราก็จะสามารถเพิ่มคนดีขึ้นมาในสังคมได้ นอกจากนี้แล้ว ไตรภูมิพระร่วงยังมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมด้วย เนื่องจากมีการพรรณนา ถึงฉากและบรรยากาศ รวมทั้งตัวละครที่ละเอียดชัดเจน จึงง่ายต่อการนําไปประยุกต์เป็นเรื่องราวใหม่ ที่มีความน่าสนใจ ไม่เพียงวรรณกรรมสมัยเก่าที่ได้รับอิทธิพลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวรรณกรรมสมัย ปัจจุบันด้วย และวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับไตรภูมิพระร่วงนี้ มักมีความน่าสนใจ เพราะมีความละเอียดในเรื่องราว หากเราต้องการสร้างวรรณกรรมสักเรื่อง เราอาจใช้เนื้อหา จากไตรภูมิพระร่วงเป็นต้นแบบได้ การวิจารณ์วรรณคดีเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ๑. ความหมายของการวิจารณ์วรรณคดี และนิยามการวิจารณ์วรรณคดี รัญจวน อินทรกําแหง (๒๕๑๕ : ๕๑) กล่าวว่า “การวิจารณ์คือ การพิจารณาเพื่อดูว่ามีข้อดีเด่น อะไรบ้าง ข้อบกพร่องอะไรบ้าง แล้วนํามาบอกให้ผู้อ่านได้ทราบข้อเสียและข้อดีนั้น อาจบอกเป็นคําพูด หรือเป็นคําเขียนก็ได้ การวิจารณ์หนังสือก็คือ การวิจารณ์และอธิบายลักษณะของบทประพันธ์เพื่อให้เห็นส่วนดีเด่น งดงามหรือจุดบกพร่องซึ่งแฝงอยู่ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นคุณค่าของหนังสือเล่มนั้น” เสริมจิตร สิงหเสนี (๒๕๑๕ : ๙๗-๙๘) ชี้แจงว่า ในด้านวรรณคดี คําว่าวิจารณ์อาจหมายได้ เป็น ๓ ประการ คือ ๑. การวิจารณ์วรรณคดี ๒. บทความการวิจารณ์วรรณคดี ๓. ข้อวิจารณ์วรรณคดี และแบ่งการวิจารณ์ออกเป็น ๘ ประเภท คือ ๑. Impressionistic criticism การวิจารณ์ในแนวที่ว่าวรรณคดีแต่ละชั้นก่อให้เกิดความรู้สึก เช่นใดแก่ผู้วิจารณ์
๓๕ ๒. Historical criticism การวิจารณ์วรรณคดีแต่ละชิ้นโดยใช้ประวัติ วัฒนาการของวรรณคดี ประจําชาติ และเหตุการณ์แวดล้อมตัวผู้ประพันธ์ เป็นหลักในการพิจารณา ๓. Textual criticism การพิจารณาต้นฉบับเดิมของวรรณคดีแต่ละชิ้นนั้นมีลักษณะอย่างไร ทั้งเนื้อเรื่องและภาษา ในกรณีที่วรรณคดีเรื่องนั้นถูกดัดแปลงแก้ไขโดยบุคคลอื่น ๔. Formal criticism การวิจารณ์วรรณคดีในแง่ของลักษณะการประพันธ์ โดยถือกฎเกณฑ์ ที่ยอมรับนับถือว่าเป็นมาตรฐานสําหรับบทประพันธ์แต่ละชั้น ๕. Judicial criticism การวิจารณ์วรรณคดีโดยมาตรฐานชุดใดชุดหนึ่งเป็นหลักในการพิจารณา เช่น มีการประกวดวรรณกรรม กรรมการมักกําหนดลงไปว่าวรรณกรรมที่ส่งเข้าแข่งขันจะต้อง ประกอบด้วยลักษณะใดบ้าง ๖. Analytical criticism การวิจารณ์ในแง่ลักษณะของวรรณคดีโดยพิจารณาโครงสร้าง และส่วนประกอบต่าง ๆ โดยละเอียด ๗. Moral criticism การวิจารณ์ในแง่ของอิทธิพลที่วรรณคดีแต่ละชิ้นมีต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของคน ๘. Mythic criticism การวิจารณ์ในแง่ว่า วรรณคดีแต่ละชิ้นมีเนื้อหาและความหมาย อันทําให้อาจจัดได้ว่าวรรณคดีขึ้นนั้น ๆ เป็น “ลูกหลาน” ของวรรณคดีเก่าแก่เรื่องใด เจตนา นาควัชระ (๒๕๑๔ : ๑-๕) ให้คําอธิบายว่า “วรรณคดีวิจารณ์ในความหมายที่กว้างที่สุด คือ หมายถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณคดีโดยไม่แยกระดับของความลึกซึ้งว่า วรรณคดีวิจักษ์เป็นระดับ เบื้องต้น และวรรณคดีวิจารณ์เป็นระดับสูง และอธิบายเพิ่มเติมว่า นักวิชาการในบางประเทศ เช่น เยอรมนี ใช้คําว่าวรรณคดีวิจารณ์ในความหมายของความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณคดี ซึ่งแสดงออกมา ในรูปของการวิจารณ์หนังสือในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่าง ๆ ส่วนการแสดงความคิดเห็นในระดับ วิชาการ ซึ่งมีระบบและวิธีการคิดค้นที่แน่นอน เขามักแยกออกเป็นศาสตร์แห่งวรรณคดีเป็นแขนงหนึ่ง ของวรรณคดีวิจารณ์ เสถียรโกเศศ (๒๕๑๕ : ๑๙๔) กล่าวว่าการวิจารณ์คือ “หลักความเห็นพิจารณาว่า สิ่งใด เป็นศิลปกรรมดีหรือเลวอย่างไร ท่านเรียกว่าวิจารณ์” การให้คําวิจารณ์ถ้าแยกเป็นส่วนสัด ก็มีอยู่ ๓ อย่างคือ ๑. วิจารณ์ในแง่ความรู้สึกนึกคิดเห็นของตน เรียกว่า จิตวิจารณ์ (Impressionistic criticism) ๒. วิจารณ์ในแง่แปลหรือตีความหมาย เรียกว่า อรรถวิจารณ์ (Interpretation criticism) ๓. วิจารณ์ในแง่ให้คําพิพากษา เรียกว่า วิพากษ์วิจารณ์ (Judicial criticism) การให้คําวิจารณ์อย่างที่ ๑ และอย่างที่ ๒ เป็นเรื่องของความเห็นและความรู้สึก ของบุคคลธรรมดาเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ใช้หลักความรู้อะไรวิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องรู้รสศิลปะเฉพาะตัว อย่างที่ ๓ เรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์ ย่อมมีหลักใช้วินิจฉัยเป็นทํานองเดียวกับผู้พิพากษาอรรถคดี ธรรมดาผู้ซึ่งจะตัดสินอรรถคดีในศาลได้ต้องเป็นผู้พิพากษาซึ่งทรงคุณความรู้ทางนิติศาสตร์
๓๖ และก่อนจะตัดสินให้คําพิพากษาได้ต้องพิจารณาคดีให้ถ่องแท้แน่ใจเสียก่อน แต่กระนั้นบางที ยังต้องไปยุติเอาที่ศาลสูงสุดนี้มีฉันใด การให้คําวิพากษ์วิจารณ์ศิลปกรรมที่มีฉันนั้น และให้หลักวิพากษ์วิจารณ์ศิลปกรรม ตามที่ชาวตะวันตกใช้เป็นแนวการวินิจฉัย เพื่อให้ความเห็นดังคําพิพากษาเรื่องคุณค่าของศิลปกรรม ว่ามีลักษณะที่เลวสูงต่ําเพียงใตมีอยู่ด้วยกัน ๖ ประการ ได้แก่ ๑. อารมณ์สะเทือนใจ (Emotion) ๒. ความนึกคิดและจินตนาการ (Conception, Imagination) ๓. การแสดงออก (Expression) ๔. องค์ประกอบ (Composition) ๕. ท่วงท่าที่แสดง (Style) ๖. เทคนิค (Technique) วิทย์ ศิวะศริยานนท์ (๒๕๑๔ : ๒๘๕-๒๘๘) ให้ความหมายของการวิจารณ์ไว้ว่า คือการพิจารณาลักษณะของบทประพันธ์ วิเคราะห์ความหมายของบทประพันธ์ แสดงหลักศิลปะ และแนวความคิดของผู้ประพันธ์ ซึ่งเป็นแนวทางในการแต่งหนังสือ นอกจากนั้นจะต้องเผยให้เห็น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบต่าง ๆ ของงานนั้น และชี้ให้เห็นด้วยว่าแต่ละส่วนมีความสําคัญ ต่อส่วนรวมเพียงใด รวมความว่าการวิจารณ์คือ การแสดงให้เห็นว่าหนังสือนั้นมีลักษณะอย่างไร ทั้งในส่วนเนื้อเรื่อง ความคิดเห็น และทํานองแต่ง เมื่อได้อธิบายลักษณะของหนังสือให้ผู้อ่านเข้าใจแล้ว จึงวินิจฉัยลงไปว่าหนังสือนั้นดีไม่ดีอย่างไรควรจัดไว้ในขั้นไหน สรุปความหมายการวิจารณ์วรรณคดี การวิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปเกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อม และต่อพฤติกรรมของมนุษย์อื่น ๆ แต่ถ้ามนุษย์วิจารณ์ไปโดยอาศัยอารมณ์ของแต่ละบุคคล อาจไม่ให้ความเป็นธรรมหรือไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเกณฑ์ (criteria) หรือแนวทาง (approach) ที่มีระบบ เป็นเครื่องช่วยในการฝึกฝนการวิจารณ์ โดยทั่วไปแล้ว นักวิจารณ์แบ่งลําดับขั้นตอนของการวิจารณ์วรรณคดีไว้เป็น ๒ ขั้นคือ ๑. การอธิบายลักษณะ (วิเคราะห์) วรรณคดีนั้น ๆ ๒. การประเมินคุณค่า หรือตัดสินคุณค่า ๒. วิจารณ์วรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ในสมัยสุโขทัย มีความงดงาม ทางด้านวรรณศิลป์ รวมถึงมีคุณค่าด้านเนื้อหา มุ่งสอนศีลธรรม ให้ประชาชนยึดมั่นในคุณงามความดี เชื่อในเรื่องบาปกรรม และนรก สวรรค์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตและหยั่งรากลึก ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน
๓๗ ๒.๑ ด้านเนื้อหา ไตรภูมิพระร่วงในทัศนคติของผู้จัดทํา เป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาก เนื่องจากว่า ไตรภูมิพระร่วงมีเนื้อหาเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ นรกและสวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด จึงทําให้ สังคมไทยซึ่งนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่มีความเชื่อตามแนวคิดในวรรณคดีไตรภูมิพระร่วงนั้น โดยจะเห็นได้จากวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดต่อกันมา มักจะเป็นการทําบุญ รวมทั้งการปลูกฝัง ค่านิยมที่ดีในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น การมีจิตใจที่ดีงาม มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และดํารงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้แต่งสามารถใช้วรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง ในการสั่งสอนให้คนทําความดี สะท้อนให้เห็นถึงการกระทําต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อตนเองในอนาคต เป็นการสื่อสารถึงผู้อ่านได้ดี ทําให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งและตระหนักในการทําความดี ดํารงชีวิตอยู่ บนศีลธรรมอันดีงาม รวมทั้งเป็นการช่วยพัฒนาสังคมให้อยู่บนพื้นฐานแห่งความดีได้อย่างแยบยล ๒.๑ ลักษณะคําประพันธ์ ไตรภูมิพระร่วงเป็นความเรียงประเภทร้อยแก้ว ผู้แต่งใช้ภาษาไทยโบราณหรือภาษาไทย แบบเก่าในการแต่ง มีคําศัพท์เก่า ๆ สมัยสุโขทัย ซึ่งในทัศนคติของผู้จัดทําคิดว่าเป็นการรักษาไว้ ซึ่งภาษาไทยโบราณให้คนรุ่นหลังได้เห็น และเพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปจากฉบับเดิมที่พระญาลิ- ไทยทรงนิพนธ์ไว้ ทําให้หนังสือไตรภูมิพระร่วงในปัจจุบันยังคงใช้ภาษาไทยโบราณหรือภาษาไทยแบบเก่า อยู่ นอกจากนี้ผู้แต่งยังใช้ภาพพจน์โวหารเปรียบเทียบ ซึ่งนอกจากจะไพเราะแล้ว ยังสามารถทําให้ผู้อ่าน เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง จึงเห็นได้ชัดว่าวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีที่ผู้แต่งเลือกใช้ภาษา ได้อย่างเหมาะสม มีการเปรียบเทียบที่ทําให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ทําให้การสื่อสารจากผู้แต่ง มายังผู้อ่านโดยผ่านภาษาไทยโบราณ มีความสละสวย ไพเราะ และตรงตามความต้องการของผู้แต่ง
๓๘ บรรณานุกรม กรมศิลปากร. (๒๕๒๖). พิมพ์ครั้งที่ ๓. ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทยฉบับตรวจสอบชําระใหม่. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. ก่องแก้ว วีระประจักษ์. (๒๕๒๖). แผนภูมิไตรภูมิ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. เจตนา นาควัชระ. (๒๕๑๔). วรรณคดี. กรุงเทพฯ: โครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ธัญญรัตน์ ปาณะกุล และ เสริมจิตร สิงหเสนี. (๒๕๑๕). ความรู้เบื้องต้นในเรื่องวรรณคดีอังกฤษ และวรรณคดีอเมริกัน. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง. บุญเลิศ เลนานนท์. (๒๕๒๘).สํานักหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. พระญาลิไทย. (๒๕๑๘). ไตรภูมิพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. รัญจวน อินทรคําแหง. (๒๕๑๕). การเลือกหนังสือและโสตทัศนวัสดุ. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง. ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๕๔). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๕๒). พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. วิทย์ ศิวะศริยานนท์. (๒๕๑๔). วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย. เสฐียรโกเศศ. (๒๕๑๕). การศึกษาวรรณคดีในแง่ศิลปะ. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร. อารี กุลตัณฑ์. (๒๕๒๖). กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.