The words you are searching are inside this book. To get more targeted content, please make full-text search by clicking here.

แจกนักศึกษาแนวทางการวิเคราะห์วรรณคดี(ลิขสิทธิ์)

Discover the best professional documents and content resources in AnyFlip Document Base.
Search
Published by Burit Nuain, 2023-10-31 11:20:29

แจกนักศึกษาแนวทางการวิเคราะห์วรรณคดี(ลิขสิทธิ์)

แจกนักศึกษาแนวทางการวิเคราะห์วรรณคดี(ลิขสิทธิ์)

๑ แนวทางการศึกษาวรรณคดี: แนวทางการวิเคราะห์วรรณคดี (30 คะแนน) คำชี้แจง ให้นักศึกษาอ่านวรรณคดีที่สนใจที่แล้ววิเคราะห์วรรณคดีที่ตนเองเลือกตามหัวข้อต่อไปนี้ 1. ผู้แต่ง ด้านประวัติความเป็นมา 2. ศึกษาวรรณคดี ประกอบด้วย 2.1 รูปแบบคำประพันธ์ 2.2 รูปแบบการดำเนินเรื่อง 2.2.1 ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง 2.2.2 การดำเนินเรื่อง ได้แก่ การเปิดเรื่อง การดำเนินเรื่อง การปิดเรื่อง 3. โครงเรื่อง ความขัดแย้ง (Main plot) และโครงเรื่องย่อย (Sub plot) เรื่องย่อ 4. วิเคราะห์ตัวละคร บุคลิก นิสัย (มิติเดียว หรือหลายมิติ อย่างไร) 5. แก่นเรื่อง 6. ฉาก สถานที่หลักในการเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ 7. กลวิธีในการเล่าเรื่อง 8. กลวิธีในการแต่ง 5.1การใช้คำ 5.2 การใช้ภาพพจน์ 9. คุณค่าของวรรณคดี 9. 1 คุณค่าด้านเนื้อหา 9.2 คุณค่าด้านสังคม วัฒนธรรม 9.3 คุณค่าด้านวรรณศิลป์ 9.3.1 ด้านการใช้คำและภาพพจน์ (ให้ระบุว่าอธิบายรายละเอียดไว้ในกลวิธี การแต่งแล้ว) 9.3.2 ลีลาวรรณคดี + รสวรรณคดีสันสกฤต


๒ แนวทางการวิเคราะห์วรรณคดี รองศาสตราจารย์ ดร.ชลธิชา หอมฟุ้ง สาขาวิชาการสอนภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๑. ผู้แต่ง และประวัติ ๒. รูปแบบ ๒.๑) รูปแบบการแต่งหรือรูปแบบคำประพันธ์(Form) คือ ลักษณะหรือประเภทของร้อย แก้วหรือคำประพันธ์ที่ผู้แต่งเลือกใช้ในการแต่งวรรณคดี ในการวิเคราะห์รูปแบบคำประพันธ์นั้น ผู้ วิเคราะห์ควรอธิบายหลักการประพันธ์ประเภทนั้น ๆ และยกตัวอย่างข้อความหรือคำประพันธ์จาก วรรณคดีเรื่องที่กำลังวิเคราะห์ประกอบการอธิบาย รูปแบบการแต่งแบ่งประเภทใหญ่ ๆ ได้เป็นร้อย แก้ว และร้อยกรอง ดังนี้ ๒.๑.๑) รูปแบบการแต่งร้อยแก้ว คือ เรื่องที่แต่งเป็นความเรียง ไม่ได้มี แบบแผนทางการประพันธ์ ร้อยแก้วมีรูปแบบที่หลากหลาย ดังเช่น บทละครพูด นิทาน นิยาย ตำนาน จดหมาย ความเรียง ดังตัวอย่าง ตัวอย่างรูปแบบนิทาน ...พระวิกรมาทิตย์ได้ทรงฟังปัญหาเวตาลก็ทรงตรึกตรองเอาเรื่องพ่อกับ ลูก แม่กับลูก แลพี่กับน้องมาปนกันยุ่ง แลมิหนำซ้ำมีเรื่องแม่เลี้ยงกับแม่ตัวแล ลูกสะใภ้กับลูกตัวอีกเล่า พระราชาทรงตีปัญหายังไม่ทันแตก พอทรฃนึกขึ้นได้ว่า การพาเวตาลไปส่งให้แก่โยคีนั้น จะสำเร็จได้ก็ด้วยไม่ทรงตอบปัญหา จึงเป็นอัน ทรงนิ่ง... (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์,๒๕๕๑: ๒๓๗) ๒.๑.๒) รูปแบบคำประพันธ์คือ เรื่องที่แต่งขึ้นโดยใช้แบบแผนทาง การประพันธ์ประเภทต่าง ๆ ที่มีข้อบังคับทางฉันทลักษณ์ของร้อยกรอง ดังเช่น กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย ลิลิต คำประพันธ์แต่ละประเภทมีแบบแผนที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ การรับส่งสัมผัสใน ร้อยกรองในวรรณคดีโบราณอาจพบการใช้สระเสียงสั้นเสียงยาวรับส่งกันได้ เนื่องจากเน้นการสัมผัส ทางเสียงของคำ ตัวอย่างรูปแบบคำประพันธ์ วรรณคดีเรื่องกนกนครแต่งโดยใช้กลอนหกเป็นหลัก มีลักษณะบังคับคือ ๑ บท มี ๔ วรรค ๑ วรรคมี ๖ คำ ๑ บาท มี ๒ วรรค โดยมีแผนผังดังนี้


๓ จากแผนผังกลอนหกนั้น คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ จะส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๒ ของวรรคถัดไป คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ส่งสัมผัสไป คำที่ ๒ ของวรรคที่ ๔ และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบท ถัดไป เป็นสัมผัสระหว่างบท ดังตัวอย่างคำประพันธ์ เคร่าใคร่ได้เคลียเมียมิ่ง นั่งนิ่งเหิมหรรษ์ฝันหา ป่วนใจใฝ่ขวัญกันดา นึกหน้านวลใยใคร่ยล หยุดนั่งยั้งนอนห่อนได้ วนไปเวียนมาสับสน ออกห่างปรางคำอำพน เดินด้นสู่สวนมาลี (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์,๒๕๑๔:๑๔) ๒.๒ รูปแบบการดำเนินเรื่อง (กลวิธีในการดำเนินเรื่อง) ๒.๒.๑ ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง ๑) ธรรมเนียมนิยมในการเริ่มเรื่องด้วยบทประณามพจน์ ก่อนที่กวีจะแต่งวรรณคดีแต่ละเรื่องกวีมักเริ่มเรื่องด้วยบทประณามพจน์หรือบทไหว้ครู เพื่อ เป็นการแสดงความเคารพต่อบุคคลที่ตนเองนับถือ การแต่งบทไหว้ครูนี้ กวีมักไม่ได้กล่าวเฉพาะบท สรรเสริญครูอาจารย์เท่านั้น แต่กวีจะแสดงความเคารพ เทิดทูน สรรเสริญ บุคคลต่าง ๆ ตามลำดับ ความสำคัญเริ่มจากสำคัญหรือมีความยิ่งใหญ่ก่อนและกล่าวไล่ลำดับไปเรื่อย ๆ โดยส่วนมากแล้วจะ ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สรรเสริญพระมหากษัตริย์ ไหว้พ่อแม่ ไหว้ครูอาจารย์ และอาจมี การกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองเคารพนับถือ ะความสำเร็จในการประพันธ์ ๒) ธรรมเนียมนิยมในการดำเนินเรื่องด้วยบทชม หลังจากกวีแต่งบทประณามพจน์จบแล้วในบางครั้งกวีจะแต่งบทชมบ้านเมืองในยุคสมัยที่ ตนเองแต่งวรรณคดีต่อจากบทประณามพจน์ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของวรรณคดี เมื่อเข้าสู่เนื้อหาของ วรรณคดีกวีจะดำเนินเรื่องโดยแต่งบทชมสิ่งต่าง ๆ แทรกอยู่ในเนื้อหาตลอดทั้งเรื่อง บทชมที่มัก ปรากฏในวรรณคดี ได้แก่ บทชมบ้านเมืองในวรรณคดี บทชมโฉม บทชมธรรมชาติหรือชมนกชมไม้ บททรงเครื่องหรือบทอาบน้ำแต่งตัว และบทชมรถ ดังนี้ บทชมบ้านเมือง กวีจะบรรยายความงามของบ้านเมือง โดยรวมแล้วมักกล่าว สรรเสริญกษัติรย์ ชมสภาพบ้านเมืองที่ไม่ได้ชมเฉพาะสิ่งปลูกสร้างแต่ชมรวมถึงบรรยากาศ ความสุข


๔ ของประชาชน บทชมเมืองมักปรากฏในตอนที่ตัวละครมีการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ หรือใน วรรณคดีหลายเรื่องจะปรากฏในตอนต้นเรื่องเพื่อแนะนำตัวละครของเรื่อง บทชมโฉม เป็นบทที่กวีใช้พรรณนาความงามของตัวละครทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยธรรมเนียมนิยมในการแต่งนั้นจะนิยมชมโฉมตัวละครฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย การให้ รายละเอียดของการชมนั้นมีทั้งการชมโดยภาพรวม และการชมอย่างละเอียดแบบแยกส่วน กวีมัก ชมด้วยการใช้ความเปรียบเพื่อให้ผู้อ่านได้จินตนาการถึงความงามของตัวละครได้ ดังตัวอย่าง บทชมโฉมตัวละครฝ่ายชาย ตาเหมือนตามฤคมาศ พิศคิ้วพระลอราช ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนา พิศกรรณงามเพริศแพร้ว กลกลีบบงกชแก้ว อีกแก้มปรางทอง เทียบนา ทำนองนาสิกไท้ คือเทพนฤมิตไว้ เปรียบด้วยขอกาม ฯ พระโอษฐ์งามยิ่งแต้ม ศศิอยู่เยียวยะแย้ม พระโอษฐ์โอ้งามตรู บารนี (ลิลิตพระลอ, ๒๕๒๙: ๓๕๗) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นบทชมโฉมพระลอจากเรื่องลิลิตพระลอ ที่กวีพรรณนารายละเอียด ความงามของพระลอโดยละเอียดเป็นการชมแบบแยกส่วน โดยใช้ความเปรียบในการเปรียบเพื่อให้ ผู้อ่านได้เข้าใจความงามได้ดีขึ้น บทที่ยกมานี้เปรียบตาของพระลอว่างามเหมือนตากวาง คิ้วก่งเหมือน คันศรธนู หูงามเหมือนกลีบดอกบัว แก้มดุจดังทอง จมูกงามเหมือนเทพสร้างงามเหมือนขอของพระ กามเทพ ปากงามดุจประจันทร์ บมชมโฉมตัวละครฝ่ายหญิง ดูผิวสินวลลอองอ่อน มลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น สองเนตร์งามกว่ามฤคิน นางนี้เปนปิ่นโลกา งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน งามกรดังลายเลขา งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า งามยิ่งบุปผาแบ่งบาน (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓: ๒๒) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นบทชมโฉมศกุนตลาจากเรื่องศกุนตลา กวีชมโดยแยกให้รายละเอียด ถึงความงามในแต่ละส่วน ลักษณะเด่นของบทชมนี้คือการใช้การ “เปรียบกว่า” ดังที่กวีกล่าวว่าผิว ของศกุนตลาขาวกว่าดอกมะลิ ดวงตางามกว่าตากวาง ความงามของงามนั้นนางยิ่งกว่าดอกไม้ที่เบ่ง บาน ปากของนางงามเหมือนใบไม้แรกผลิ มืองามดังวาด


๕ บทชมธรรมชาติหรือชมนกชมไม้กวีมักจะแทรกบทชมธรรมชาติหรือบทชมนกชม ไม้ไว้ในระหว่างการเดินทางของตัวละคร ส่วนมากกวีจะเน้นความงามของการใช้ภาษาที่มีการเล่นคำ ระหว่างชื่อพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ต่าง ๆ สภาพธรรมชาตินั้นอาจไม่มีความสมจริง ตัวอย่างบทชมธรรมชาติ บททรงเครื่องหรือบทอาบน้ำแต่งตัว กวีจะชมการแต่งตัวของตัวละครไว้อย่าง งดงาม ในวรรณคดีก่อนที่ตัวละครจะเดินทางไปที่ใด หรือกลับมาจากที่ใด ตัวละครจะต้องอาบน้ำ แต่งตัว ซึ่งกวีจะชมเครื่องแต่งกายของตัวละครไว้อย่างงดงาม บทอาบน้ำแต่งตัวนี้พบได้ทั้งของฝ่าย ชายและฝ่ายหญิง และพบได้ทั้งในวรรณคดีที่ตัวละครเป็นชนชั้นสูงและสามัญชน ส่วนสามัญชนนั้นจะ พบบทอาบน้ำแต่งตัวก่อนที่จะไปร่วมงานสำคัญ ๆ ดังตัวอย่าง บททรงเครื่องหรือบทอาบน้ำแต่งตัวของชนชั้นสูงฝ่ายชาย ลูบไล้สุคนธาอ่าองค์ น้ำมันจันทน์บรรจงทรงพระสาง สอดใส่สนับเพลาพลาง ทรงภูษาแย่งอย่างลายกระบวน ฉลององค์โหมดม่วงร่วงระยับ อบอุหรับจับกลิ่นหอมหวน เจียระบาดตาดทองแล่งล้วน เข็มขัดคาดค่าควรพระนคร กรองศอสังเวียนวิเชียรช่วง ทับทรวงสังวาลห้อยสร้อยอ่อน ตาบกุดั่นประดับซับซ้อน ทองกรเก้าคู่ชมพูนุท ธํามรงค์เพชรแพรวแวววับ กรรเจียกปรับรับทรงมงกุฎ เหน็บกริชฤทธิรอนสําหรับยุทธ์ งามดั่งเทพบุตรบทจร ฯ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย,๒๕๕๘:๔๑) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นบทอาบน้ำแต่งตัวของอิเหนาก่อนที่จะเดินทางไปร่วมงานศพพระ อัยยิกาที่เมืองหมันหยา กวีจะเริ่มบรรยายรายละเอียดตั้งแต่เริ่มอาบน้ำ จนทรงเครื่องเสร็จอย่าง งดงาม บทชมรถ วรรณคดีบางเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ตัวละครเป็นกษัตริย์ในการเดินทางจะ ทรงราชรถ กวีจึงได้แทรกบทชมรถไว้ ดังตัวอย่าง รถเอยราชรถแก้ว จําหลักลายพรายแพร้วพลอยฝัง งามงอนอ่อนแอกแปรกบัง บุษบกที่นั่งบัลลังก์ลอย หน้ากระดานฐานบัทม์บัวหงาย กระจังรายรจนาตาอ่อย กระหนกเกรินท้ายรถชดช้อย เพลาพลอยประดับทับทิมแดง เทียมสินธพที่นั่งทั้งสี่ สารถีขี่ขับเข้มแข็ง ทหารม้าเกณฑ์หัดจัดแจง เดินแซงสองข้างมรคา ประดับด้วยเครื่องสูงชุมสาย ธงชายปลายเชือกนั้นนําหน้า เยียดยัดจัตุรงค์โยธา ไคลคลามาในไพรพนม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย,๒๕๕๘:๔๑)


๖ คำประพันธ์นี้จากเรื่องอิเหนามาจากตอนที่อิเหนาจะเดินทางไปร่วมงานพระศพพระอัยยิกาที่ เมืองหมันหยา กวีจึงได้บรรยายความงามของรถทรงของอิเหนา นอกจากนี้ หากวรรณคดีเรื่องใดที่มี การเดินทางด้วยช้าง ด้วยม้า หรือแม้แต่วรรณคดีที่มีการกล่าวถึงการจัดทัพ ก็จะปรากฏบทชมสิ่ง ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาตามเนื้อหาของวรรณคดีทั้งชมการจัดทัพ ชมช้าง ชมม้า ๓) ธรรมเนียมนิยมในการแต่งบทคร่ำครวญ บทคร่ำครวญคือบทที่แสดงความ โศกเศร้าจากการพลัดพรากจากกันด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง การแต่งบทคร่ำครวญนี้ในวรรณคดีหลายเรื่อง กวีจะแต่งเข้าทำนอง “นิราศ” คือมักให้ตัวละครแสดงความคร่ำครวญในการพลัดพรากด้วยการนำ ธรรมชาติหรือสิ่งที่พบเห็นมากล่าวเปรียบเทียบถึงความเศร้าโศก ความอาลัยอาวรณ์ของตนเอง ดัง ตัวอย่าง แอ่นเคล้าเหมือนแม่เคล้า คลอคลึง พี่นา หอมกลิ่นเรียมคิดถึง กลิ่นเจ้า สุกรมพะยอมพึง ใจพี่ พระเอย เหมือนกลิ่นอรหนุ่มเหน้า พี่ต้องติดใจ บารนี ฯ นางแย้มเหมือนแม่แย้ม ยินดี ร่อนา ต้องดุจมือเทพี พี่ต้อง ช้องนางคลี่เกศี นุชคลี่ ลงฤๅ รักดุจเรียมรักน้อง ร่วมรู้รักเรียม ฯ (ลิลิตพระลอ, ๒๕๒๙: ๓๙๒) ตอนที่ยกมานี้เป็นตอนที่พระลอกำลังเดินทางอยู่ในป่าเพื่อไปหาพระเพื่อนพระแพงที่เมือง สรอง แต่ระหว่างทางก็คิดถึงจึงคร่ำครวญถึงพระนางลักษณวดีพระชายาที่อยู่เมืองสรวง เมื่อเห็นพันธุ์ ไม้ใด ๆ ก็ล้วนแต่ทำให้โศกเศร้าคิดถึงนางอันเป็นที่รัก บทคร่ำครวญถึงคนรักนี้ยังปรากฏในลักษณะที่ ตัวละครฝ่ายหญิงพลัดพรากและคร่ำครวญถึงชายอันเป็นที่รักด้วย ดังเช่นที่นางทมยันตีคร่ำครวญถึง พระนล ๔) ธรรมเนียมนิยมในการแต่งบทเกี้ยวพาราสีและอัศจรรย์ เมื่อตัวละครฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงได้พบกัน มีความรักให้แก่กัน กวีจะเริ่มด้วยบทเกี้ยวพาราสี โดยให้ตัวละครฝ่ายชายพูด แสดงความรักต่อฝ่ายหญิง และจากนั้นมักตามด้วยบทที่แสดงความสัมพันธ์ของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง หรือที่เรียกว่า “บทอัศจรรย์” ทั้งนี้ ธรรมเนียมนิยมในการแต่งบทอัศจรรย์นั้น กวีมักใช้ความเปรียบ เพื่อพรรณนาการแสดงความรักของตัวละคร โดยอาจใช้สัญลักษณ์ทั้งฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า กระแส คลื่น ดอกบัว ภมร แต่ในวรรณคดีบางเรื่องกวีก็ไม่ได้ใช้สัญลักษณ์แต่ใช้การบรรยายภาพผ่านความงาม ทางภาษา ดังตัวอย่าง บทเกี้ยวพาราสี แต่ความรักหนักยิ่งเมรุมาศ ทั้งดินฟ้าอากาศสักแสนส่วน จึ่งปลงจิตมิตรภาพไม่แปรปรวน ประมวลมอบเสน่ห์ไว้ที่ในน้อง


๗ ถึงนางฟ้าหกชั้นที่สรรค์ทรง จะเปรียบองค์สมรไม่มีสอง ว่าพลางกางกรเข้าประคอง ตระกองโอบอุ้มแก้วกากี (เจ้าพระยาพระคลัง(หน),๒๕๐๗:๕) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องกากีกลอนสุภาพ เป็นตอนที่พญาเวนไตรยแปลงกายเป็นมานพ มาเล่นสกากับท้าวพรหมทัต และได้พบนางกากี ทั้งสองมีใจชอบพอกัน พญาเวนไตรยจึงได้พูดจาเกี้ยว นางกากีก่อนที่จะแปลงกายกลับเป็นพญาครุฑพานางเหาะไปอยู่บนวิมานฉิมพลี บทอัศจรรย์ หลังจากบทโอ้โลมจะเป็นการที่ตัวละครแสดงความรักที่มีให้กันอย่าง ลึกซึ้ง กวีจะพรรณนาความอย่างละเอียดผ่านการใช้สัญลักษณ์ ดังตัวอย่าง บุษบาบานคลี่คล้อย สร้อยแลสร้อยซ้อนสร้อย เสียดสร้อยสระศรี ภุมรีคลึงคู่เคล้า กลางกมลยรรเย้า ยั่วร้องขานกัน สรงสระสวรรค์ไป่เพี้ยง สระพระนุชเนื้อเกลี้ยง อาบโอ้เอาใจ ฯ แสนสนุกในสระน้อง ปลาชื่นชมเต้นต้อง ดอกไม้บัวบาน ฯ ตระการฝั่งสระแก้ว หมดเผ้าผงผ่องแผ้ว โคกฟ้าฤๅปูน ฯ บุญมีมาจึ่งได้ ชมเต้าทองน้องไท้ พี่เอ้ยวานชม หนึ่งรา ฯ (ลิลิตพระลอ, ๒๕๒๙: ๔๒๙) ความที่ยกมาข้างต้นจากเรื่องลิลิตพระลอ เป็นบทอัศจรรย์ระหว่างพระลอและพระเพื่อน กวี ได้ใช้สัญลักษณ์ทางธรรมชาติอันได้แก่ ดอกไม้ ผึ้ง สระน้ำ ปลา ดอกบัว ๕) ธรรมเนียมนิยมในการปิดเรื่องด้วยการบอกจุดประสงค์หรือบอกชื่อผู้แต่ง หลังจากจบเนื้อหาของวรรณคดี กวีมักบอกว่าใครเป็นคนแต่งวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ รวมทั้งบอก จุดประสงค์ในการแต่ง หรืออาจบอกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังตัวอย่าง เจ้าฟ้า หนุ่มน้อยราช กุมาร ธรรม์ ธำรงกลอนการ ยั่วแย้ม ธิเบศร์ วราสถาน ไชยเชษฐ์ สุริย์วงศ์ ทรงโคลงแต้ม แต่งไว้วานสงวน เจ้าฟ้า เลิศล้ำโพธิ สมภาร กรมขุน หลวงพญากราน กราบเกล้า เสนา นราบาน ใจชื่น ชมนา


๘ พิทักษ์ รักษาเช้า ค่ำด้วยใจเกษม จบ จนจอมโลกย์เจ้า คืนวัง บ พิตรสถิตบัลลังก์ เลิศหล้า ริ ร่างกาพย์โคลงหวัง ชนโลก อ่านนา บูรณ์ พระโคลงเจ้าฟ้า ธิเบศร์เจ้าจงสงวน (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร, ๒๕๓๑: ๒๓๘) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นบทประพันธ์ปิดเรื่องกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร จากบทที่ยกมาแสดงให้เห็นธรรมเนียมนิยมในการปิดเรื่องที่กวีจะบอกว่าใครเป็นผู้แต่ง และมี จุดมุ่งหมายเพื่อสิ่งใด ๒.๒.๒ รูปแบบการดำเนินเรื่อง ที่แบ่งเป็นการเปิดเรื่อง การดำเนินเรื่อง และการ ปิดเรื่อง ๑) เหตุการณ์เปิดเรื่อง (The opening หรือ Exposition) คือ การเริ่ม เรื่องของวรรณคดีแต่ละเรื่อง ปรากฏอยู่ตอนต้นเรื่อง ทั้งนี้หากวรรณคดีเรื่องใดมีบทไหว้ครูหรือบท ประณามพจน์ เหตุการณ์เปิดเรื่องมักอยู่ต่อถัดมาจากบทไหว้ครู การเปิดเรื่องมีหลายลักษณะ ดังเช่น เปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละคร เปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงสถานที่ หรือเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง เปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงปมปัญหาของเรื่อง เปิดเรื่องด้วยการบอกยุคสมัยที่เกิดเรื่องนั้น ๆ ขึ้น หรือ อาจเปิดเรื่องด้วยคำคม คำชวนคิด ภาษิต คำพังเพย ทั้งนี้การเปิดเรื่องนั้นอาจพบหลายลักษณะปนกัน ดังเช่น เปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครและเข้าสู่ปมปัญหา เปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครและ สถานที่ การเปิดเรื่องนั้นนับได้ว่ามีความสำคัญกับวรรณคดีเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เรื่องน่า ติดตามหรือไม่ ตัวอย่างการเปิดเรื่อง เปิดเรื่องด้วยการบอกยุคสมัยและแนะนำตัวละคร จะกล่าวถึงเรื่องขุนแผนขุนช้าง ทั้งนวลนางวันทองผ่องศรี ศักราชร้อยสี่สิบเจ็ดปี พ่อแม่เขาเหล่านี้คนครั้งนั้น เป็นข้าขอบขัณฑสีมา สมเด็จพระพันวษานราสรรค์ จะว่าเนื่องตามเรื่องนิยายพลัน ท่านผู้ฟังทั้งนั้นจงเข้าใจ ขุนไกรพลพ่ายอยู่บ้านพลับ มีทรัพย์เงินทองของน้อยใหญ่ นางทองประศรีนั้นอยู่วัดตะไกร ทั้งสองนี้ได้เป็นคู่กัน (ขุนช้างขุนแผน, ๒๕๑๓:๑) คำประพันธ์ข้างต้นมาจากเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นการเปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงช่วงเวลา หรือยุคสมัยที่เกิดเรื่องราวและตามด้วยการแนะนำตัวละคร กล่าวคือเปิดเรื่องว่าตัวละครเหล่านี้มีชีวิต


๙ ในช่วงศักราช ๑๔๗ ในสมัยสมเด็จพระพันวษา และจากนั้นเริ่มแนะนำตัวละครของเรื่องเริ่มด้วยขุน ไกรและนางทองประศรี เปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครและเข้าสู่ปมปัญหา ยังมีราชนรินทร์ปิ่นกระษัตริย์ พรหมทัตจอมทศทิศา ดำรงเมืองเรืองฤทธิ์อิศรา เป็นมหาจักรพาลสำราญรมย์ มีเอกองค์วิไลละไมโฉม งามประโลมท้าวถนอมเป็นจอมสนม ชื่อสุวรรณอำภาดูน่าชม เสวยสมบัติสบายมาหลายปี เกิดราชบุตรชายสายกระษัตริย์ จำเริญรูปเทียมทัดท้าวโกสีย์ ครั้นบุตราชันษาได้แปดปี พระภูมีเฉลิมนามพระลูกยา ชื่อเจ้าลักษณวงศ์ทรงสวัสดิ์ สองกระษัตริย์แสนสุดเสน่หา วันหนึ่งท้าวพรหมทัตกระษัตรา พระไสยาบนปัจถรณ์ให้ร้อนทรวง นึกจะพาลูกรักอัคเรศ ไปเที่ยมชมหิมเวศภูเขาหลวง (สุนทรภู่,๒๕๕๘:๒๑) คำประพันธ์ข้างต้นมาจากเรื่องลักษณวงศ์ ที่มีการเปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครและเข้าสู่ ปมปัญหา โดยการแนะนำตัวละครคือท้าวพรหมทัต ที่มีมเหสีชื่อสุวรรณอำภา และมีพระโอรสชื่อ ลักษณวงศ์ จากนั้นเข้าสู่ปมปัญหาที่อยู่ ๆ ท้าวพรหมทัตก็อยากพาพระโอรสไปเที่ยวชมป่า ๒) การดำเนินเรื่อง มักดำเนินเรื่องตามปฏิทิน เริ่มด้วยตัวละครศึกษาเล่า เรียนวิชา พบรัก พลัดพรากจากกัน ตามหากันฝ่าฟันอุปสรรค จนได้ครองรักกันในที่สุด ๓) การปิดเรื่องหรือจบเรื่อง (Close หรือ Ending) เป็นการที่ปัญหาต่าง ๆ ได้คลี่คลาย บางเรื่องจบด้วยความสุขสมหวังเรียกว่า “จบแบบสุขนาฏกรรม” (Happy Ending) เป็นการจบที่ปัญหาคลี่คลาย ตัวละครได้พบกับความสุขสมหวัง บางเรื่อง “จบแบบโศกนาฏกรรม” (Tragic Ending) เป็นการจบแบบไม่สมหวัง ตัวละครพบกับความเศร้าโศก ความผิดหวัง การพลัด พราก บางเรื่องอาจจบแบบหักมุมหรือ “จบแบบพลิกความคาดหมาย” (Twist Ending หรือ Surprise Ending) เป็นการจบแบบที่ไม่ตรงตามที่ผู้อ่านคาดเดาไว้ หรือบางเรื่องอาจ “จบแบบทิ้งปม ปัญหาไว้ให้คิด” (Indeterminate Ending) เป็นการจบที่บางปัญหายังไม่ได้รับการคลี่คลาย ผู้แต่ง จะปล่ยให้ผู้อ่านคิดจินตนาการหาคำตอบได้ต่อไป อย่างไรก็ตามในวรรณคดีในสมัยก่อนการปิดเรื่อง นิยมจบแบบสุขนาฏกรรม มีวรรณคดีไทยน้อยเรื่องที่จบแบบโศกนาฏกรรมที่ตัวละครต้องตายจากกัน หรือพลัดพรากจากกัน ดังเช่น ลิลิตพระลอ มัทนะพาธา เงาะป่า ลักษณวงศ์ ตัวอย่างการปิดเรื่อง ได้ฟังสี่เทวราชประสาทพร ปวงพศกนิกรแสนหรรษา ขอถวายพรเพิ่มมังคลา แด่สี่องค์ขัตติยาธิบดินทร์ ขอพระองค์ทรงราชย์ปราศจากภัย กิจน้อยใหญ่สำเร็จสมถวิล การทั้งปวงลุล่วงสมทรงจินต์ ลาภทั้งสิ้นไหลหลั่งดั่งท่อธาร ทรงมีชัยชำนะอริราช ผู้บังอาจประทุษด้วยใจหาญ


๑๐ อานุภาพบำราบศัตรูพาล ให้แรงรานเหมือนรามปราบปรามยักษ์ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๔๒:๑๐๕) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องสาวิตรีเป็นการจบแบบสุขที่ปัญหาทุกอย่างได้รับการแก้ไข ตัวละครมีความสุข จึงปิดเรื่องด้วยคำอวยพรของท้าวจตุโลกบาลที่อวยพรให้พระสัตยวานและนาง สาวิตรี และชาวประชาที่ต่างมีความสุขและร่วมถวายพระพรแด่กษัตริย์เช่นกัน ๓) โครงเรื่อง (Plot) และเรื่องย่อ คือลำดับเฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญที่มาประกอบเข้าเป็นเรื่อง มีลักษณะคล้ายกับเนื้อเรื่องแต่ จะสั้นและไม่ให้รายละเอียดเหมือนในเนื้อเรื่อง ทั้งนี้ บางโครงเรื่องอาจปรากฏเพียงลำดับเหตุการณ์ที่ สำคัญของเรื่อง แต่โครงเรื่องที่ดีต้องเป็นโครงเรื่องที่มีปมปัญหาหรือความขัดแย้ง (กุหลาบ มัลลิกะ มาส, ๒๕๖๐: ๑๐๑) โครงเรื่องแบ่งเป็นโครงเรื่องหลัก (Main plot) ซึ่งเป็นแนวเรื่องสำคัญที่ผู้แต่งวาง ไว้เป็นแกนเรื่องตั้งแต่เริ่มจนจบเรื่อง มีปมปัญหาที่แสดงความขัดแย้งที่รุนแรง ที่ทำให้เกิดผลกระทบ กับตัวละครเอกของเรื่อง และโครงเรื่องรอง (Sub plot) คือเหตุการณ์หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับ ตัวละครรอง หรือตัวละครอื่นในเรื่อง วิธีการเขียนโครงเรื่องจะสรุปเป็นความเรียงสั้น ๆ ให้เห็นความขัดแย้ง ไม่ใส่ชื่อตัวละครลงไป ดังเช่น การเขียนโครงเรื่องเรื่องขุนช้างขุนแผน“ เป็นเรื่องราวความรักระหว่างชายสองหญิงหนึ่ง ที่ ความรักไม่สมหวังจนทำให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน จนทำให้หญิงสาวต้องจบชีวิตด้วยความ ตาย” ลักษณะนี้คือการเขียนโครงเรื่องที่ถูกต้อง ที่แสดงให้เห็นโครงเรื่องหลักและจุดจบ ในโครงเรื่อง จะประกอบไปด้วยความขัดแย้ง ดังนี้ ๓.๑ ความขัดแย้ง (Conflict) คือการต่อสู้กันของ ๒ ฝ่ายที่มีความไม่ลง รอยกัน เป็นปรปักษ์ต่อกัน อันก่อให้เกิดปัญหาหรือการต่อสู้กัน ความขัดแย้งที่พบในวรรณคดีไทยนั้น แบ่งได้เป็น ๕ ประเภท ได้แก่ ๑) ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ (Man against man) ๒) ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ (Man against super nature) ๓) ความ ขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (Man against Nature) ๔) ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม (Man against Social) และ ๕) ความขัดแย้งภายในใจของตัวละครเอง (Man against himself) (สายทิพย์ นุกูลกิจ,๒๕๔๓: ๑๒๗, สมพร ร่วมสุข,๒๕๕๔: ๑๔๔) รายละเอียด ดังนี้ ๓.๑.๑) ความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับตัวละคร (Man against man) เป็นการต่อสู้หรือแสดงพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์ต่อกันของตัวละคร ๒ ฝ่าย ที่เกิดจาก ความไม่พึงพอใจกัน พฤติกรรมที่แสดงออกของความขัดแย้งอาจเป็นการด่าทอ ต่อสู้กันด้วยการใช้ กำลัง หรือเวทมนตร์คาถา ดังตัวอย่าง ได้ยินว่าป่วยไข้จนไผ่ผอม เพราะหม่อมพรายผัวพรากไปจากที่ ทั้งผู้คนบ่าวไพร่ก็ไม่มี เจ้าต้องขี่ขับช้างทุกเวลา


๑๑ เสาส้างช้างชักหักระยำ จึงปลูกใหม่ใส่ซ้ำสะเออะหน้า เคราะห์ร้ายหมอทายแต่ก่อนมา ศุกร์เข้าเสาร์คาอังคารแทรก นี่หากว่าสะเดาะพระเคราะห์ทัน แต่กระนั้นเจียนจักแหล่นแหลก จึงผลัดชื่อโกนหัวให้ผัวแปลก ถึงแม้นแตกก็จะติดสนิทรอย ถึงกระนั้นก็การอะไรใคร หรือช้างแทงมึงเข้าไปจนคอหอย ทุดอีลาวชาวป่าขึ้นหน้าลอย แม่จะต่อยเอาเลือดลงล้างตีน เจ็บใจไม่น้อยสักร้อยเท่า ดังใครเอาดาบฟาดให้ขาดวิ่น สายทองกับอีปลีทั้งอีจีน ปีนเรือลงมาด้วยมาช่วยกู (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓: ๒๗๘-๒๗๙) คำประพันธ์ข้างต้นมาจากเรื่องขุนช้างขุนแผนแสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับ ตัวละครคือลาวทองและวันทอง ที่ทั้งสองใช้วาจาในการด่าทอกันไปมา และตามมาด้วยการใช้กำลัง ตบตี เหตุการณ์นี้เป็นตอนที่ขุนแผนกลับจากการไปทัพและได้นางลาวทองกลับมาด้วย ขุนแผนจึง กลับมาหาวันทองที่บ้าน เมื่อลาวทองได้พบกับวันทองจึงทำให้ทั้งสองทะเลาะวิวาทกัน ๓.๑.๒) ความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับอำนาจเหนือธรรมชาติ (Man against super nature) เป็นการต่อสู้ของตัวละครกับสิ่งเหนือธรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจ ควบคุมได้ ดังเช่น ชะตาชีวิต ภูตผีปีศาจ ไสยศาสตร์ หรืออำนาจเร้นลับต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มี ผลกระทบกับชีวิตของตัวละคร ดังตัวอย่าง สาวิตรี. โอ้เทวาธิบดีไฉนไม่ ทรงเมตตาข้าพระเจ้า พระยม. จงเข้าใจ ผัวถึงอายุขัยเราจึ่งมา สาวิตรี. อนิจจาตูข้าเปนสตรี แม้ต้องไร้สามี พระยม. อย่าแม่อย่า มาวอนขอชีวันของภรรดา ยอมมิได้ กัญญาอย่าร่ำไร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๔๒:๘๑) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องสาวิตรี แสดงความขัดแย้งระหว่างสาวิตรีกับอำนาจเหนือ ธรรมชาติคือชะตาชีวิตของพระสัตยวานสวามีของนาง ที่จะมีอายุอยู่ได้เพียงหนึ่งปี และเมื่อพระยม ปรากฏตัวมารับวิญญาณพระสัตยวาน สาวิตรีจึงพยายามต่อสู้กับความตายเพื่อให้ได้ชีวิตของพระ สวามีคือพระสัตยวานคืนมา ๓.๑.๓) ความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับธรรมชาติ (Man against Nature) เป็นการต่อสู้ของตัวละครกับความโหดร้ายที่เกิดจากธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม


๑๒ ความแห้งแล้ง หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มีผลกระทบหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวละคร ความ ขัดแย้งประเภทนี้มักไม่ค่อยพบในวรรณคดีไทยมากนัก ดังตัวอย่าง ในกาลนั้น อันว่าเมืองกาลึงคราษฎ์ ก็บมิอาจให้ฝนตกเมืองตน ก็บังเกิดโกลาหล ทุกประการ...อันว่าฝูงคนทั้งหลาย ก็บมิอาจขวนขวายเลี้ยงตน ก็จลาจลโจร เมื่อนั้น...อันว่า ฝูงคนชนชาวเมือง ก็ฟุ้งเฟื่องพร้อมกันร้องก้องท้องพระตำหนัก พระยาพลัน...ในกาลนั้น บั้นพระบาทสมเด็จกาลึงคราษฎ์ ก็รับปฏิญาณ จึ่งสมาทานอุโบสถ ก็บมิอาจปรากฏฝนมิได้ แล... (มหาชาติคำหลวง,๒๕๒๙: ๔๙-๕๐) ความข้างต้นจากมหาชาติคำหลวง กัณฑ์หิมพานต์ ความตอนนี้แสดงให้เห็นความขัดแย้ง ระหว่างมนุษย์หรือตัวละครกับธรรมชาติ โดยเป็นความขัดแย้ง ความลำบากเดือดร้อนของชาวเมือง กาลึงคราษฎ์ที่ฝนไม่ตก ทำให้บ้านเมืองแห้งแล้ง ชาวเมืองได้รับความยากลำบาก ๓.๑.๔) ความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับสังคม (Man against Social) เป็นความขัดแย้งของตัวละครกับความคิด ค่านิยมของคนหมู่มาก หรือของสังคม กล่าวคือตัว ละครมีความคิด ทัศนคติในการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากคนหมู่มากในสังคม จนทำให้เกิดปัญหาตามมา ความขัดแย้งประเภทนี้พบได้ไม่มากในวรรณคดี ดังตัวอย่าง พระภิรมย์ ฉันจะผิดอย่างไร แย้ม ผิดที่คุณมีความเห็นผิดกับใครๆ เขาไปทั้งบ้านทั้งเมืองน่ะซิคะ เสือป่ากับลูกเสือใครๆเขาก็แลเห็นประโยชน์ทั้งนั้น คุณเห็นไม่ เป็นประโยชน์ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๑๕: ๑๘๐) คำประพันธ์ข้างต้นมาจากบทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบแสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง มนุษย์กับสังคม โดยความคิดเห็นของคนในสังคมในขณะนั้นผู้คนส่วนมากมีความเห็นว่าเสือป่าและ ลูกเสือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ แต่มีเพียงพระภิรมย์เท่านั้นที่คิดว่าทั้งเสือป่าและลูกเสือเป็นกิจการที่ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ๓.๑.๕) ความขัดแย้งภายในใจของตัวละครเอง (Man against himself) เป็นการต่อสู้ในจิตใจของตัวละครเอง ที่ตัวละครจำเป็นต้องเลือกตัดสินใจบางอย่าง แต่ไม่ อาจตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด จึงทำให้เกิดการต่อสู้กันของจิตใจของตนเอง ดังตัวอย่าง จักไปบใคร่แคล้ว เทพี พี่เอย จักใคร่คืนคิดศรี ฝ่ายหน้า ไปดีอย่าไปดี ใดดั่ง นี้นา คิดเร่งอ้างว้างว้า ห่วงหน้าคิดหลัง (ลิลิตพระลอ,๒๕๒๙: ๓๘๙) ความข้างต้นจากเรื่องลิลิตพระลอแสดงให้เห็นความขัดแย้งภายในจิตใจของพระลอ ที่มีความ กังวลใจ ทุกข์ใจว่าจะยังคงเดินทางต่อไปเมืองสรองเพื่อไปหาพระเพื่อนพระแพง หรือจะกลับ


๑๓ บ้านเมืองไปหาพระชายาของตนเองคือพระลักษณวดี ความคิดดังกล่าวทำให้ตัวละครเกิดความทุกข์ เนื่องจากไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้อย่างเด็ดขาด ๔.ตัวละคร (Character) คือบุคคลที่ผู้แต่งสมมติขึ้นให้มีพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด เป็นผู้แสดงบทบาทไป ตามเนื้อหา เป็นผู้แสดงการกระทำ หรือรับผลของการกระทำ และทำให้เรื่องดำเนินไปสู่จุดหมายได้ ตัวละครนี้มิได้หมายถึงแต่มนุษย์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ทั้งสัตว์ อมนุษย์ หรือ ธรรมชาติได้ด้วย ๔.๑) ตัวละครมิติเดียวหรือตัวละครน้อยลักษณะ (Flat Character) หมายถึง ตัวละครที่ มีนิสัยหรือบุคลิกลักษณะอย่างเดียวโดยตลอดทั้งเรื่อง บุคลิกไม่มีความซับซ้อน ถ้าเป็นคนดีจะดีตลอด ทั้งเรื่อง หรือหากเป็นคนเลวก็จะเลวไปจนตลอดทั้งเรื่อง โดยบุคลิกลักษณะนิสัยและอารมณ์จะไม่ แปรเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ที่ตัวละครเผชิญ ดังตัวอย่าง พระเจ้ากาหลิบจากเรื่องลิลิตนิทราชาคริต จัดเป็นตัวละครที่มีมิติเดียว กล่าวคือทรงเป็นทั้ง กษัตริย์ที่ดี และทรงเป็นเพื่อนที่มีความจริงใจให้กับเพื่อน แม้ในบางครั้งพระองค์จะทรงเล่นสนุกจน เกินเลย อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนก็ตาม แต่เมื่อพระองค์ทรงทราบความจริงก็ทรงสำนึก ผิดและพยายามแก้ไข และทรงเป็นผู้ที่มองโลกแง่ดีเสมอ พระเจ้ากาหลิบเป็นตัวละครมิติเดียวที่มีแต่ พฤติกรรมด้านดีด้านเดียว แม้แต่ในเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงถูกอาบูหะซันและนางนอซาตอลอัวดัด หลอกว่าตายเพื่อจะได้รับเงินค่าทำศพจากพระเจ้ากาหลิบ พระเจ้ากาหลิบก็ไม่ทรงโกรธแต่กลับเห็นว่า เป็นเรื่องสนุกสนาน ดังความว่า ราชาสนุกนิ์แท้ สรวลสันต์ นักแฮ ประภาษถามหะซัน บ่ช้า มึงจะฆ่ากูบรร- ไลยลัยเพราะ สรวลฤๅ จึ่งคิดดั่งนี้อ้า ประโยชน์อ้างอันใด (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: ๒๕๔๖:๒๑๗) ๔.๒)ตัวละครหลายมิติหรือตัวละครหลายลักษณะ (Round Character) เป็นตัวละครที่มี ความซับซ้อนกว่าตัวละครมิติเดียว มีบุคลิกลักษณะแปรเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่ เกิดขึ้น มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ดังตัวอย่าง ขุนแผนจากเรื่องขุนช้างขุนแผน จัดเป็นตัวละครหลายมิติหรือตัวละครหลายลักษณะ ขุนแผนเป็นตัวละครที่มีอารมณ์แปรเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ แสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกเหมือน มนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่มีทั้งรัก โกรธ ความกลัว ยามรักก็แสดงบทรักด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวาน แต่ในยาม โกรธก็ด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรือในยามที่โศกเศร้าก็ร่ำไห้ด้วยความโศก ดังตัวอย่าง


๑๔ การแสดงความรักของขุนแผน เอามานี่เถิดพี่จะทาให้ ทาด้วยกันเถิดเป็นไรฟังพี่ว่า ว่าพลางทางละลายแป้งทา ผินหน้ามาจะผัดให้เป็นนวล จับพัดมากระพือให้แป้งแห้ง ดูดังแตงร่มใบเป็นนวลสงวน กอดเคล้าเย้าหยอกเฝ้ายียวน เอาแป้งประอกอวลตะลึงใจ (ขุนช้างขุนแผน, ๒๕๑๓: ๑๖๖) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นตอนที่แสดงให้เห็นความรักที่ขุนแผนมีให้นางวันทอง ในยามรัก ขุนแผนเอาใจทะนุถนอมนางเป็นอย่างดี ทั้งประแป้งให้ ใช้พัดพัดให้แป้งแห้ง และหยอกเย้านางด้วย ความรัก แต่เมื่อขุนแผนโกรธนางก็แสดงออกอย่างตรงกันข้าม โดยใช้วาจาด่าทอที่รุนแรง และแสดง กิริยาที่รุนแรงตามอารมณ์โกรธ ดังความว่า การแสดงความโกรธของขุนแผน อีชาติชั่วเป็นตัวเท่าตัวหนอน ไชชอนดิบเดี้ยมจนตัวสั่น ถึงหายาให้สิ้นถิ่นสุพรรณ วันเดียวก็จะสิ้นตำรายา มึงตายเสียเถิดวันทองเอ๋ย อย่าอยู่เลยชักดาบออกเงื้อง่า กระทืบโผงผางกลางนาวา จิกหัวเอามาฆ่าให้ตาย (ขุนช้างขุนแผน, ๒๕๑๓: ๒๘๑) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นตอนที่ขุนแผนกลับจากไปรบและได้พาลาวทองกลับมาบ้านและได้พบ วันทอง ลาวทองกับวันทองทะเลาะเบาะแว้งกัน ขุนแผนได้ห้ามปรามแต่วันทองไม่สนใจคำห้าม ขุนแผนโกรธจึงด่าวันทองด้วยถ้อยคำหยาบคายและหมายจะฆ่าวันทอง การแสดงความโศกของขุนแผน คนอื่นหมื่นแสนก็คุ้มรอด ยอดรักคนเดียวไม่คุ้มได้ จำเพาะเด็ดดวงจิตปลิดเอาไป ช่างกระไรพ้นที่จะป้องกัน .... อยู่นี่พี่จะเข้าไปทูลขอ วันทองว่าอย่าพ่ออย่าหาญกล้า ครั้งขอลาวทองต้องขื่อคา ครั้งนี้อาญาเมียถึงตาย จะเอาความกระบือไปรื้อรบ เกลื่อนกลบความวัวไม่ทันหาย จะต้องโทษกับน้องเป็นสองตาย พ่ออย่าหมายเลยว่าเมียจะเป็นตัว ตายไปเมื่อไรจะได้เกิด อยู่ทำบุญให้เถิดพ่อทูนหัว นรกมืดมิดเมียคิดกลัว ผัวอยู่จะได้สร้างกุศลไป ขุนแผนฟังคำที่ร่ำว่า ไม่ออกปากพูดจาต่อไปได้ สุดคิดอัดอั้นให้ตันใจ สุดอาลัยล้มผางลงกลางดิน (ขุนช้างขุนแผน, ๒๕๑๓: ๘๗๒)


๑๕ คำประพันธ์ข้างต้นเป็นตอนที่วันทองถูกสมเด็จพระพันวษาตัดสินให้ประหารชีวิต ขุนแผนได้ แสดงให้เห็นความโศกเศร้าว่าตนเองเป็นทหารที่เก่งกล้าสามารถ คุ้มครองคนได้เป็นหมื่นเป็นแสน แต่ กับวันทองผู้เป็นยอดรักเพียงคนเดียวขุนแผนคุ้มครองไม่ได้ ขุนแผนคิดจะไปทูลขออภัยโทษให้วันทอง แม้พระพันวษาจะโกรธจนสั่งประหารตนเองก็ยอม แต่วันทองได้ห้ามขุนแผนไว้ขุนแผนโศกเศร้าจนไม่ อาจทรงกายอยู่ได้ ๕.) แก่นเรื่อง (Theme) หรือแนวคิด หรือสารัตถะของเรื่อง คือ สารที่ผู้แต่งต้องการสื่อมายังผู้อ่าน แก่นเรื่องจะเป็นการแสดงทัศนะที่ผู้แต่งมองโลก มอง ชีวิต เป็นจุดสำคัญของเรื่อง ที่องค์ประกอบทุกอย่างของเรื่องล้วนสื่อให้เห็นแก่นเรื่องนั้น ๆ วรรณคดี บางเรื่องผู้แต่งสื่อถึงแก่นเรื่องอย่างตรงไปตรงมาชัดเจน แต่ในวรรณคดีบางเรื่องจะปรากฏแก่นเรื่อง ในเชิงสัญลักษณ์ที่ผู้อ่านต้องอ่านให้ละเอียด และตีความอย่างระมัดระวัง แนวทางในการพิจารณาแก่นเรื่องสามารถทำได้โดย ๑) ผู้อ่านอ่านเรื่องอย่างละเอียดตั้งแต่ ต้นจนจบเรื่อง พิจารณาองค์ประกอบของเรื่องในทุกด้าน ทั้งโครงเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกันโดยตลอดทั้งเรื่อง ๒) หากปรากฏแก่นเรื่องไม่เด่นชัด ให้ ผู้อ่านลองตั้งคำถามแล้วค้นหาคำตอบว่า “เรื่องที่กำลังอ่านกำลังพูดถึงอะไร” เมื่อได้คำตอบแล้ว ให้ ลองหาเหตุการณ์ หรือบทสนทนาของตัวละครที่สนับสนุนความคิดของผู้อ่าน ดังเช่นการหาแก่นเรื่อง จากเรื่อง “มัทนะพาธา” เมื่อผู้อ่านอ่านจบ จะได้คำตอบว่า “วรรณคดีเรื่องนี้พูดถึงความรักในแง่มุมที่ ไม่สมหวัง นั่นเพราะทุกคนขาดสติ และใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง” จากนั้นให้ผู้อ่านลองพิจารณา องค์ประกอบอื่นเพื่อสนับสนุนสารที่ผู้อ่านได้รับ ตัวอย่างการพิจารณาแก่นเรื่อง กาละทรรศิน. ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน, ไม่ยินและไม่ยล อุปะสัคคะใดๆ. ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้, ก็โลดจากคอกไป บยอมอยู่ณที่ขัง; ถึงหากจะผูกไว้ ก็ดึงไปด้วยกำลัง, ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บหวนคิดถึงเจ็บกาย (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๒๖:๕๗) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องมัทนะพาธาเป็นตอนที่พระกาละทรรศินทราบว่าหากมัทนา แต่งงานกับชัยเสนก็ต้องมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ความรักในครั้งนี้ของชัยเสนและมัทนาก็เป็นความรักที่สุด จะห้ามได้ เพราะความรักที่ลุ่มหลงเหมือนโรคที่ทำให้ดวงตามืดมน ไม่สามารถมองเห็นความเป็นจริง ความเป็นไปของโลกได้ตามปกติวิสัย ย่อมไม่สนใจต่ออุปสรรคหรือคำห้ามปราบใด ๆ ความรักเช่นนี้ เหมือนโคถึก ที่มีพละกำลังมาก ไม่อาจกักขังไว้ หรือหากแม้จะขังไว้ก็ยิ่งดื้อ ยิ่งคลุ้มมคลั่งดึงดันจะหนี


๑๖ ไป โดยไม่คำนึงว่าตนเองจะเจ็บ จากคำพูดที่เป็นความเปรียบของพระกาละทรรศินข้างต้นแสดงให้ เห็นแก่นเรื่องของเรื่องมัทนะพาธาได้อย่างชัดเจนว่า “ความรักที่เกิดจากความลุ่มหลง ขาดสติ ย่อมทำ ให้เกิดความเจ็บปวด” นอกจากคำพูดของพระกาละทรรศินแล้ว การกระทำของตัวละครเอกทุกตัวใน เรื่องนี้ ได้แก่ สุเทษณ์ ชัยเสน และมัทนา ต่างแสดงไปในทิศทางเดียวกันกับคำพูดของ พระ กาละทรรศิน ดังนี้ สุเทษณ์นั้นลุ่มหลงในมัทนาจนขาดสติ แม้มัทนาไม่ตอบรับรัก สุเทษณ์ก็ยังดึงดันจะให้นางรับ รัก สุเทษณ์จึงมีชีวิตที่ติดอยู่กับความทุกข์ ความเจ็บปวดจากรักที่ไม่สมหวัง จนสุดท้ายจึงได้สาป มัทนาให้เป็นดอกกุหลาบตลอดกาล สิ่งนี้จึงช่วยชี้ชัดไปที่แก่นเรื่องว่า ความรักที่ขาดสติ ความรักที่ลุ่ม หลง ย่อมทำร้ายทั้งตนเองและคนรอบข้างและทำให้เกิดความทุกข์ ดังความว่า สุเทษณ์. ผัวก็ทิ้งและบมิหวง วธุห่วงได้, ทีดะนูวะธุไฉน บมิยอมรัก? ฃ้าจะวอนสุปิยะรัตน์ ก็สะบัดพักตร์, ราวกะทรามและทุระลักษณ์ บมิมีดี. ... แต่ณกาละทิวะนี้ วนิดาภา เปนสุกุพฺชะกะผะกา บมิเปลี่ยนเลย (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๑๔๑) ด้านการกระทำของชัยเสนก็สะท้อนให้เห็นแก่นเรื่องที่ชัดเจนเช่นกัน ดังเหตุการณ์ที่ชัยเสน หลงเชื่อว่ามัทนากับศุภางค์ทำเสน่ห์ ความขาดสติอันเกิดจากรักที่ลุ่มหลง ได้กลายเป็นความโกรธแค้น ชิงชัง ที่ทำให้ชัยเสนเสมือนคนตาบอดที่ไม่อาจพิจารณาเหตุผลและความจริงได้ จึงสั่งให้นำทั้งสองคน ไปประหารชีวิต การตัดสินใจของชัยเสนเป็นเหตุให้ศุภางค์และมัทนาต้องเผชิญชะตาชีวิตที่เจ็บปวด จากความรักที่ลุ่มหลงและขาดสติ และการตัดสินใจของชัยเสนก็เป็นเหตุที่ทำให้มัทนาถูกสาปเป็น กุหลาบไปตลอดกาล สุดท้ายแล้วความรักที่ลุ่มหลงขาดสติก็ย้อนมาสร้างความเจ็บปวดให้กับทั้งคนที่ ตนรักและคนที่รักตน ดังความว่า ชัยเสน. อ้าวะธูดะนูนะทุกข์ทวี เพราะแสนจะโศกวิโยคสุปรี- ยะอย่าแหนง, พี่สิผิดเพราะจิตวิโรธะแรง, อุบายะชั่วบรู้บแจ้ง สิจึ่งหลง (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๑๔๙-๑๕๐) จากแก่นเรื่องข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ผู้อ่านต้องพิจารณาแก่นเรื่องจากหลายองค์ประกอบที่ สื่อความไปในทางเดียวกันของเรื่องจึงจะสามารถหาแก่นเรื่องได้ โดยจากเรื่องมัทนะพาธานี้แก่นเรื่อง


๑๗ ปรากฏจากทั้งจากบทสนทนาของตัวละคร พฤติกรรมของตัวละคร และเหตุการณ์ต่าง ๆ จากในเรื่อง ที่ล้วนสื่อความไปถึง “ความเจ็บปวดอันเกิดจากรักที่ไม่สมหวังและความลุ่มหลงในรักจนขาดสติ” ๖.) ฉาก (Setting) หมายถึง สถานที่ สภาพแวดล้อม บรรยากาศ ช่วงเวลาที่ตัวละครแสดงบทบาทนั้น ๆ อยู่ ซึ่ง ฉากนั้นมิใช่เพียงสถานที่เพียงเท่านั้นแต่ฉากยังส่งผลกับอารมณ์หรือแสดงความสัมพันธ์หรือแสดงให้ เห็นสภาพจิตใจของตัวละครอีกด้วย ฉากในที่นี้อาจเป็นฉากที่มีอยู่จริงหรืออาจเป็นฉากในโลกสมมติที่ ผู้แต่งสร้างขึ้นมาก็ได้ตัวอย่างฉาก ฉากที่เป็นช่วงเวลาและสถานที่ที่มีอยู่จริง จะกล่าวถึงเรื่องขุนแผนขุนช้าง ทั้งนวลนางวันทองผ่องศรี ศักราชร้อยสี่สิบเจ็ดปี พ่อแม่เขาเหล่านี้คนครั้งนั้น เป็นข้าขอบขัณฑสีมา สมเด็จพระพันวษานราสรรค์ จะว่าเนื่องตามเรื่องนิยายพลัน ท่านผู้ฟังทั้งนั้นจงเข้าใจ ขุนไกรพลพ่ายอยู่บ้านพลับ มีทรัพย์เงินทองของน้อยใหญ่ นางทองประศรีนั้นอยู่วัดตะไกร ทั้งสองนี้ได้เป็นคู่กัน (ขุนช้างขุนแผน, ๒๕๑๓:๑) คำประพันธ์ข้างต้นมาจากเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉากที่กล่าวถึงในตอนเปิดเรื่องมีทั้งช่วงเวลา และสถานที่คือ ช่วงเวลาสมัยอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระพันวษา สถานที่คือบ้านพลับ วัดตะไกร ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ฉากและช่วงเวลาดังกล่าวจัดเป็นฉากและช่วงเวลาที่มีอยู่จริงไม่ใช่ฉากที่สมมติหรือ เกิดจากจินตนาการของผู้แต่ง นอกจากนี้แล้ววรรณคดีบางเรื่องอาจใช้ฉากที่มีชื่อสถานที่จริงใน ต่างประเทศ ดังปรากฏในเรื่องลิลิตนิทราชาคริตที่มีฉากคือ “เมืองแบกแดด” ดังความว่า แต่ปางบรรพ์ยังมี เจ้าธานีในประเทศ เขตรอาหรับรมย์สฐาน ไพศาลโสดบูรี ศรีแบกแดดนคร ภูธรครองยุติธรรม์ ผดุงเขตรขัณฑสีมา ฝูงประชาสำราญ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๔๖:๒) ฉากที่เป็นสถานที่สมมติที่ไม่มีอยู่จริง มาจะกล่าวบทไป ถึงท้าวชัยทัตเทียมสีห์ แกล้วกล้ามหารถฤทธี ราชาธิบดีเดชิต ...


๑๘ ชนลือชื่อเวียงเกรียงไกร กรุงอินทิราลัยไพศาล หลั่นลดปรากฏปราการ ตระหง่านแง่ง้ำอำไพ (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์,๒๕๑๔:๓๒) คำประพันธ์ข้างต้นมาจากเรื่องกนกนคร เป็นการบรรยายภาพเมือง “อินทิราลัย” ซึ่ง ปกครองโดยท้าวชัยทัต เมืองนี้เป็นฉากที่สำคัญของเรื่องกนกนคร เพราะเป็นเมืองที่ตัวละครเอกคือ “นางกนกเรขา” ซึ่งเป็นพระธิดาของท้าวชัยทัตอาศัยอยู่ ซึ่งเมืองอินทิราลัยนี้จัดว่าเป็นฉากที่ผู้แต่ง สร้างจากจินตนาการไม่ใช่สถานที่ที่มีอยู่จริงบนโลกมนุษย์ ๗. กลวิธีในการเล่าเรื่อง (Point of view) หมายถึง มุมมองหรือทัศนะในการเล่าเรื่อง ที่ผู้แต่งเลือกว่าจะให้ใครเป็นผู้เล่าเรื่อง กลวิธีใน การเล่าเรื่องที่ใช้ในการแต่ง มีดังนี้ ๗.๑) ผู้แต่งเป็นผู้เล่าเรื่องเองหรือมุมมองของผู้รู้แจ้ง (Omniscient point of view) เป็นกลวิธีการแต่งที่ผู้แต่งบรรยายเรื่องราวเองทั้งหมด โดยไม่ปรากฏว่าตัวละครตัวใดเป็นผู้เล่าเรื่อง ผู้ แต่งจะเป็นผู้เล่าทุกอย่างเอง ทั้งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ผู้แต่งจะมีสถานะเป็นผู้รู้แจ้งใน เหตุการณ์ทุกอย่าง ในทุกความคิดของตัวละคร ๗.๒) ผู้แต่งกำหนดให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องตัวเอง (First person point of view) โดยอาจพบการใช้สรรพนามว่า ผม ดิฉัน หนู ข้าพเจ้า ที่เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ เป็นผู้เล่า เรื่อง ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “ตัวละครในเรื่องเป็นผู้เล่า” นอกจากนี้ยังปรากฏการเล่าเรื่องแบบ “กระแสจิตประวัติ” (Stream of consciousness) คือ บุรุษที่ ๑ เป็นผู้เล่าเรื่องแต่เล่าโดยใช้กระแส ความคิดประหวัดไปถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ๗.๓) ผู้แต่งกำหนดให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง (Third person point of view) โดยกำหนดให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งที่รู้เหตุการณ์ทุกอย่าง จึงเป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมด อย่างไรก็ตามในวรรณคดีไทยส่วนมากจะปรากฏมุมมองในการเล่าเรื่องในหลายลักษณะปน กัน เนื่องด้วยเนื้อเรื่องมีขนาดยาว มีตัวละครหลายตัว การใช้กลวิธีในการเล่าเรื่องที่หลากหลายจึงทำ ให้เนื้อเรื่องมีความสนุกสนาน น่าติดตาม ดังตัวอย่างกลวิธีในการเล่าเรื่องจากเรื่องศกุนตลา ตัวอย่างมุมมองในการเล่าเรื่องจากเรื่องศกุนตลา เรื่องศกุนตลาเปิดเรื่องด้วยมุมมองที่ ผู้แต่งเป็นผู้เล่าเอง และเมื่อท้าวทุษยันต์เดินป่าไปพบฤษี พบนางอนุสูยา ก็ได้ปรากฏมุมมองที่ตัวละคร ตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง ด้วยฤษีและนางอนุสูยา ได้เล่าเรื่องที่มาของนางศกุนตลาให้ท้าวทุษยันต์ ฟัง และในตอนจบเรื่องก็ปรากฏมุมมองที่ตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่องโดยท้าวทุษยันต์ได้เล่าเรื่องที่ตนเอง จำศกุนตลาไม่ได้ให้พระเทพบิดรฟัง ดังตัวอย่าง ตัวอย่างกลวิธีการเล่าเรื่องที่ผู้แต่งเป็นผู้เล่าเรื่องเองหรือมุมมองของผู้รู้แจ้ง (Omniscient point of view) ดังปรากฏในตอนต้นเรื่องของศกุนตลาที่เล่าถึงท้าวทุษยันต์ ดังนี้ เมื่อนั้น องค์ท้าวทุษยันต์นาถา


๑๙ บรรทมร่มไม้ในพนา สุขาภิรมย์ฤดี เมื่อยล้าล่าเนื้อมาหลายวัน แรมกลางไพรสัณฑ์สุขี จนจวนจะสิ้นราตรี ภูมีพลิกฟื้นตื่นนิทรา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๑๓) ความที่ยกมาข้างต้นปรากฏมุมมองในการเล่าเรื่องที่ผู้แต่งเป็นผู้เล่าเอง โดยเล่าถึงตัว ละครตัวเอกของเรื่องคือท้าวทุษยันต์ที่ได้บรรทมใต้ต้นไม้ เพราะออกมาล่าสัตว์ในป่า โดยเนื้อเรื่องตรง นี้ไม่ปรากฏว่าตัวละครเล่าเรื่องตนเองและไม่ได้ปรากฏว่าตัวละครตัวอื่นเป็นผู้เล่า จึงเป็นมุมมองที่ ผู้แต่งเล่าเอง และยังปรากฏมุมมองที่ผู้แต่งเป็นผู้เล่าหรือผู้รู้แจ้งเข้าไปถึงจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ของ ตัวละคร ดังในตอนที่ท้าวทุษยันต์เสียใจที่ตนเองจำศกุนตลาไม่ได้และได้ขับไล่นางไป ผู้แต่งได้บรรยาย ให้เห็นความคิด ความรู้สึกของท้าวทุษยันต์เมื่อเห็นแหวนที่เคยให้นางศกุนตลาไว้ การเล่าความรู้สึก ของตัวละครคือมุมมองที่ผู้แต่งเป็นผู้เล่าเองหรือผู้รู้แจ้ง ดังความว่า ยิ่งแลดูแหวนที่แทนรัก ทรงศักดิ์ยิ่งคนึงถึงโฉมฉาย ร้อนกลุ้มรุมทั่ววรกาย พระฦๅสายคลั่งคลุ้มกลุ้มกมล ผุดลูกจากเตียงไปเมียงมอง ทั้งในห้องนอกห้องทุกแห่งหน เห็นเงาคิดว่าเจ้านฤมล กล่าวยุบลเชิญชวนนวลนาง (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๗๗-๗๘) ตัวอย่างกลวิธีการเล่าเรื่องที่ผู้แต่งกำหนดให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง ตัวเอง (First person point of view) ดังปรากฏในเรื่องศกุนตลาตอนที่ท้าวทุษยันต์ได้เข้าเฝ้า พระเทพบิดร และได้เล่าเรื่องราวที่ตนเองจำศกุนตลาไม่ได้ และได้ขับไล่นางไป จนเมื่อได้มาเห็นแหวน จึงจดจำนางได้ โดยหากตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่องของตัวเองนั้น มักปรากฏสรรพนามบุรุษที่ ๑ ที่ตัว ละครใช้แทนตน ดังปรากฏคำว่า “ตูข้า”ที่ท้าวทุษยันต์ใช้แทนตนเอง ดังตัวอย่าง ทุษยันต์ อันพระกรุณาพระบิดร ดุจมหาสาครอันกว้างใหญ่ อันตูข้าชั่วช้าเสียเหลือใจ เมื่อพบนางจึ่งมิได้รู้จักนาง จนภายหลังเห็นแหวนให้แทนรัก จึ่งชงักนึกได้ใจหม่นหมาง แต่นั้นตั้งแต่คนึงถึงนวลนาง บ่ได้ว่างเว้นเสียดายฟายน้ำตา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๘๒) ตัวอย่างกลวิธีการเล่าเรื่องที่ผู้แต่งกำหนดให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง (Third person point of view) ดังปรากฏในเรื่องศกุนตลาตอนที่นางอนุสูยาได้เล่าถึงประวัติของ ศกุนตลาให้ท้าวทุษยันต์ฟังว่า นางเป็นธิดาของพระฤษีวิศวามิตร์กับนางฟ้าเมนะกา เมื่อนางฟ้า เมนะกาเหาะลงมาเพื่อทำให้ฤษีวิศวามิตร์เสียสมาธิในการบำเพ็ญตบะ หลังจากนางฟ้าเมนะกาคลอด ลูกก็ได้กลับสวรรค์ไป พระกัณวะมุนีจึงได้เลี้ยงดูศกุนตลา เหตุการณ์ตอนนี้ปรากฏผู้เล่าเรื่องของตัว ละครตัวอื่น และเป็นผู้ที่รู้เรื่องราวของตัวละครนั้น ๆ จึงเป็นกลวิธีการเล่าเรื่องที่ผู้แต่งกำหนดให้ตัว ละครเล่าเรื่อง ดังนี้


๒๐ อนุสูยา นางชื่อศกุนตลา เปนธิดาเกาศิกทรงศักดิ์ กับนางเมนะกายอดรัก จงรู้จักไว้เถิดกำเนิดดี พระวิศวามิตร์บำเพ็ญพรต ร้อนหมดกระทั่งโกศี จึ่งใช้เมนะกาเทวี มาทำลายพิธีทรงธรรม์ ... เมนะกาไม่ช้าคลอดบุตรี ราศีนวลลอองผ่องใส พระกัณวะมุนีเลี้ยงไว้ เทวีกลับไปฟากฟ้า (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๒๘-๒๙) ๘. กลวิธีในการแต่ง (Style and language) หมายถึงการแสดงออกถึงการใช้ภาษาของผู้แต่ง ที่ผู้ แต่งใช้ลีลาภาษาจนได้กลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวหรือเป็น อัตลักษณ์ของผู้แต่งนั้น ๆ ดังเช่น สุนทร ภู่ที่มีลีลาการแต่งกลอนแปดที่ใช้ภาษาส่งสัมผัสในที่ไพเราะ จนกลายเป็นลีลาเฉพาะด้านการใช้สัมผัส ในของสุนทรภู่ที่ปรากฏในการแต่งกาพย์ และโคลงด้วยเช่นกัน ดังนี้ ๘.๑ การสรรคำ (Diction หรือ Choice of words) หมายถึง การที่กวีเลือกใช้คำในการ แต่งวรรณคดีให้เหมาะสมกับบริบทของเรื่อง ตัวละคร เนื้อเรื่อง อารมณ์และองค์ประกอบอื่น ๆ ของ เรื่อง เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพ การสรรคำนั้นจะเน้นที่คำที่มีความหมายเหมาะสมกับเรื่องและมี เสียงที่เสนาะ สามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่คือ การสรรคำที่มีความหมายเหมาะสมกับเรื่อง กับ การเล่นเสียงของคำ ดังนี้ ๑) การสรรคำที่มีความหมายเหมาะสมกับเรื่อง คือ การที่ผู้แต่งเลือกใช้ถ้อยคำได้ เหมาะสมกับบริบทของเรื่อง สถานภาพของตัวละคร อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ที่ทำให้ผู้อ่านเกิด อรรถรส เข้าใจเนื้อหาของเรื่องและเกิดจินตภาพ คือ สามารถสร้างจินตนาการตามที่ผู้แต่งใช้คำสื่อ ความได้ ดังนี้ ๑.๑) การสรรคำที่เหมาะสมกับสถานภาพของตัวละคร หมายถึง การที่ผู้แต่ง เลือกใช้คำให้เหมาะสมกับสถานภาพของตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ดังเช่น ตัวละครที่มีสถานภาพ เป็นกษัตริย์ที่มีใจเมตตา ในเวลาแสดงออกถึงอารมณ์โกรธย่อมใช้ภาษาที่แตกต่างกับบุคคลที่มีสถานะ เป็นชาวบ้านธรรมดา หรือตัวละครที่มีสถานภาพสูงจะแสดงกิริยาอาการที่งามสง่า แตกต่างกับตัว ละครที่มีสถานะเป็นชาวบ้านธรรมดา ดังตัวอย่าง เมื่อนั้น ระเด่นมนตรีโอรสา ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยา เสด็จมาสระสรงสรรพางค์ ลูบไล้สุคนธาอ่าองค์ น้ำมันจันทน์บรรจงทรงพระสาง สอดใส่สนับเพลาพลาง ทรงภูษาแย่งอย่างลายกระบวน (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิสหล้านภาลัย,๒๕๕๘: ๔๐)


๒๑ ความข้างต้นเป็นการบรรยายฉากอาบน้ำแต่งตัวของอิเหนา บทพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่มีสถานภาพเป็นพระโอรสแห่งกรุงกุเรปัน ผู้แต่งจึงใช้คำให้ เหมาะสมกับสถานภาพของพระโอรสแห่งเมืองใหญ่ คำที่ใช้จึงเป็นคำที่ให้ภาพของเครื่องแต่งกายที่ งดงาม และคำที่บรรยายกิริยาของอิเหนาก็ดูสง่างาม ในขณะที่บทอาบน้ำของบุคคลที่มีสถานะเป็น ชาวบ้านธรรมดา ผู้แต่งวรรณคดีนั้น ๆ ก็จะเลือกใช้คำที่บรรยายกิริยาอาการให้เหมาะสมกับ สถานภาพของตัวละคร ดังเช่นเรื่องระเด่นลันได แต่งโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) ที่กิริยาอาการในการ อาบน้ำของระเด่นลันไดก็ป็นไปตามสถานภาพที่ระเด่นลันไดเป็นขอทาน ดังความว่า “ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง โก้งโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า” และอีกช่วงที่ว่า “กระโดดดำสามทีสีเหงื่อไคล แล้วย่างขึ้นบันไดเข้าในห้อง” (พระมหามนตรี(ทรัพย์),๒๕๕๕: ๑) ๑.๒) การสรรคำที่เหมาะสมกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร หมายถึง การที่ผู้ แต่งเลือกใช้คำในการสื่อความให้ตรงตามอารมณ์และบุคลิกลักษณะของตัวละคร ดังเช่นการใช้คำจาก เรื่องขุนช้างขุนแผน โดยเฉพาะคำของขุนแผน ในยามรักจะใช้ถ้อยคำอ่อนหวาน แต่ในยามโกรธก็จะ ด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ซึ่งเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องราวของชาวบ้านคำที่ใช้จึงสื่อความและ แสดงอารมณ์ของตัวละครได้อย่างชัดเจน ดังตัวอย่างการสรรคำที่ผู้แต่งเลือกใช้ในการบรรยายให้เห็น ความรัก ความทะนุถนอนที่ขุนแผนมีให้นางวันทอง แล้วลุกมาผลัดผ้าทาแป้ง พิมก็แบ่งรินน้ำกระแจะให้ ขอจูบนิดนั่นประทิ่นกลิ่นอะไร นางอายใจหลบหน้าไม่พาที ผินหน้ามาเถิดจะทาให้ จะอายกันไปไยไม่พอที่ แก้มขวาจงทาเข้าให้ดี อย่าจู้จี้แก้มฉันนี้คนจน (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๑๓๗) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นตอนที่พลายแก้วกับนางพิมอาบน้ำด้วยกัน พลายแก้วได้หยอกเย้า นางพิมด้วยการทาแป้งให้นาง ถ้อยคำที่ใช้แสดงให้เห็นอารมณ์รักของขุนแผนที่มีให้นางพิม แสดงถึง ความทะนุถนอมที่พลายแก้วมีให้วันทอง แต่เมื่อขุนแผนโกรธก็ใช้ถ้อยคำด่าทอที่รุนแรงเช่นกัน ดังความว่า ไม่ปรารถนาจะค้าคบ อีหน้าด้านพาลตลบน่าอดสู ผัวไปยังไม่พ้นประตู คบชู้แช่เล่มไว้เต็มใจ ตำแยเจ้าเอ๋ยมันแสนคัน จะเท่ามันคนนี้หามีไม่ กลากเกลื้อนขี้เรื้อนพรรนัย หยูกยาหาใส่ก็หายคัน (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๒๘๑)


๒๒ คำประพันธ์ที่ยกมาเป็นตอนที่ขุนแผนโกรธนางวันทองที่ทะเลาะตบตีกับลาวทอง จึงได้ด่าวัน ทองด้วยถ้อยคำที่รุนแรง การสรรคำของผู้แต่งดังกล่าวแสดงให้เห็นอารมณ์ ความรู้สึกของขุนแผนที่มี ต่อวันทองได้เป็นอย่างดี ทั้งคำว่าตรง ๆ เช่น “หน้าด้าน” ด่าโดยใช้ความเปรียบในเชิงทางเพศ ที่ เปรียบวันทองเป็นผู้หญิงมักมากในกามารมณ์ ที่ไม่สามารถหายามารักษาได้ แม้แต่ตำแยที่ว่าคันก็ไม่สู้ วันทอง ๑.๓) การสรรคำที่มีความหมายลึกซึ้ง หมายถึง การที่ผู้แต่งสร้างสรรค์คำขึ้นมาใช้ ในบริบทของเรื่องที่ให้ความหมายลึกซึ้งกินใจ ทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการและเข้าใจเนื้อหาได้ ลึกซึ้งจากการใช้ถ้อยคำเหล่านั้น ดังตัวอย่าง สร้างสรรค์คำว่า “หนึ่งน้อย” “กึ่งก้อย” บรรจงกับข้าวแต่ง ของเสวย บมิได้เลินเล่อเลย หนึ่งน้อย สรรพเครื่องพระลูกเฮย ไตรตรวจ แต่งนา บวางใจกึ่งก้อย แก่ผู้ใดทำ (ลิลิตพระลอ,๒๕๒๙:๓๘๒) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องลิลิตพระลอเป็นตอนที่พระนางบุญเหลืออธิบายให้พระลอฟังถึง ความรักที่พระนางมีให้พระลอ ผู้แต่งได้มีการสรรคำที่มีความหมายลึกซึ้ง คือคำว่า“หนึ่งน้อย” จาก วรรคนี้แสดงให้เห็นว่าพระนางบุญเหลือเอาใจใส่พระลออย่างดี การจะละเลยจากพระลอแม้เพียงสัก ชั่วครู่ แม้เพียงเศษเสี้ยวของเวลา พระนางก็ไม่เคยละเลย หรือคำว่า “กึ่งก้อย” ที่พระนางบุญเหลือ กล่าวว่าของเสวยของพระลอพระนางไม่วางใจแม้เพียงเรื่องเล็กน้อยมาก ๆ เรื่องเท่าครึ่งนึงของ นิ้วก้อย พระนางก็ไม่วางใจให้ผู้ใดทำแทนพระองค์ การสรรคำดังกล่าวเป็นการใช้คำที่สั้นกระชับแต่ให้ ความหมายที่ลึกซึ้ง ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพความรักของพระนางบุญเหลือได้อย่างชัดเจน สร้างสรรค์คำว่า “จอดดวงใจ” “จอดจินต์” บุรุษดีใฝ่ถนอมกล่อมเกลี้ยงจริง เพราะรักยิ่งยงยอดจอดดวงใจ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๔๒: ๗๗) และ นางใดจะมีเทียบ มะทะนาณฟ้าณดิน เปนยอดและจอดจิน- ตะนะแน่วณอกณใจ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔: ๑๔) คำประพันธ์ข้างต้นมีการสร้างสรรค์คำคือคำว่า “จอดดวงใจ” จากเรื่องสาวิตรี และ “จอดจินต์” จากเรื่องมัทนะพาธา บทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คำทั้ง ๒ คำ จากทั้ง ๒ เรื่องนี้ หมายถึง การที่เรามีความรักให้กับใครสักคนหนึ่งมากที่สุด จนเราหยุดหัวใจไว้ ที่ผู้นั้น พระองค์จึงทรงใช้คำว่า “จอดดวงใจ” ซึ่งหมายถึงหยุดหัวใจ หยุดความรักทั้งหมดไว้ที่คนนี้


๒๓ ๘.๒) การเล่นเสียงของคำ การที่ผู้แต่งเลือกใช้คำที่ทำให้เกิดเสียงไพเราะ นำมาใช้อย่างมี จุดมุ่งหมาย ซึ่งช่วยเสริมให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพที่ชัดเจนขึ้น การเล่นคำแบ่งได้เป็นดังนี้ ๑) การใช้คำซ้ำ คือ การที่ผู้แต่งใช้คำที่เขียนเหมือนกันออกเสียงเหมือนกัน วางไว้ในตำแหน่งติดกันโดยไม่มีคำอื่นมาคั่น เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างอารมณ์และเสียงที่ไพเราะ ให้ ภาพเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง ดังตัวอย่าง รอนรอนสุริยโอ้ อัสดง เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง ค่ำแล้ว รอนรอนจิตจำนง นุชพี่ เพียงแม่ เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว คลับคล้ายเรียมเหลียว (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร,๒๕๓๑: ๑๙๗) คำประพันธ์ข้างต้นจากกาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ผู้แต่งเล่นคำซ้ำคำว่า “รอน รอน” และ “เรื่อยเรื่อย” บรรยายภาพของพระอาทิตย์ที่ค่อย ๆ ตก และใช้แสดงอารมณ์ความคิดถึง การรอคอยของผู้แต่งที่มีต่อนางอันเป็นที่รัก การใช้คำซ้ำให้ภาพของพระอาทิตย์ที่เคลื่อนไหวช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง และให้ภาพอารมณ์ความรู้สึกของผู้แต่งที่คิดถึงนางอันเป็นที่รักอยู่ตลอดเวลา นพสูรสังขปัดราชสุบรรณ มายืนคอยอยู่ที่นั่นจนขาแขง สุลต่านเหลียวมาทำตาแดง ยิ้มเหี้ยเหี้ยแห้งแห้งแกนแกนไป (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๔๖๙:๕๘) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องวงศ์เทวราช ในบทนี้พบคำซ้ำ ๓ คำ คือ”เหี้ยเหี้ย” แห้งแห้ง” “แกนแกน” ทั้ง ๓ คำนี้มีความหมายเหมือนกันว่าฝืนยิ้ม แกล้งยิ้ม จึงให้ภาพที่สุลต่านที่ฝืนยิ้มอย่าง แห้งแห้ง การใช้คำซ้ำทำให้เข้าใจความรู้สึกของสุลต่านว่ามีความอึดอัดกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ นอกจากคำซ้ำที่สะกดเหมือนกัน ยังปรากฏคำซ้ำอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “คำอัพภาส” เป็น การใช้คำซ้ำที่กร่อนเสียงคำหน้าให้สะกดด้วย “สระอะ” คำอัพภาสนี้จะทำให้ผู้อ่านได้ภาพ การเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง แต่มีความรวดเร็วกว่าคำซ้ำ ดังตัวอย่าง ...เขาเร่งซ้องปืนยะยุ่ง ซ้องหอกพุ่งยะย้าย ข้างซ้ายเร่งมาหนา ข้างขวาเร่งมามาก... (กรมศิลปากร,๒๕๒๙,๔๓๘) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องลิลิตพระลอเป็นตอนที่นายแก้วนายขวัญต่อสู้กับทหารของเจ้าย่า ผู้แต่งได้ใช้คำอัพภาสในการบรรยายให้เห็นภาพของอาวุธทั้งปืนทั้งหอกที่พุ่งมาหานายแก้วนายขวัญ อย่างไม่ขาดสายด้วยการใช้คำว่า “ยะยุ่ง” และ “ยะย้าย” ๒.) การใช้การซ้ำคำ คือ การที่ผู้แต่งนำคำหรือกลุ่มคำเดียวกันมากล่าวซ้ำ ในตอนต้นของแต่ละบทของบทประพันธ์ (พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม,๒๕๖๑:๒๕) หรืออาจวางไว้ใน


๒๔ ตำแหน่งต่าง ๆ ของบทประพันธ์อย่างมีแบบแผนและจงใจใช้เพื่อให้เกิดความหมายที่หนักขึ้น โดย ความหมายของคำที่ปรากฏในแต่ละตำแหน่งจะไม่เปลี่ยนไป โดังตัวอย่าง ครุฑลืมลงเล่นอโนดาต วรนาฏลืมมิ่งมไหศวรรย์ ครุฑลืมลงเล่นสัตตภัณฑ์ สุดาจันทร์ลืมพักตร์พระภัสดา ครุฑลืมร่อนเล่นโพยมบน นฤมลลืมสนมสนิทหน้า ครุฑลืมไล่คาบนาคา กัลยาลืมเล่นอุทยาน (เจ้าพระยาพระคลังหน,๒๕๐๗:๗) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องกากีกลอนสุภาพ เป็นตอนที่ผู้แต่งบรรยายให้เห็นความลุ่มหลงใน กามารมณ์ระหว่างพญาครุฑกับนางกากี มีการซ้ำคำว่า “ครุฑ” ในทุกบาท เพื่อย้ำให้เห็นน้ำหนักของ เหตุการณ์ว่าครุฑลืมทำกิจวัตรอะไรบ้าง นอกจากการซ้ำคำว่า “ครุฑ” แล้วยังมี “การใช้การหลาก คำ” ที่ใช้แทนผู้หญิงซึ่งก็คือกากี ด้วยการใช้คำไวพจน์คือคำที่มีความหมายเหมือนกัน“วรนาฏ” “สุดา” “นฤมล” “กัลยา” การเล่นคำดังกล่าวให้ภาพย้ำว่าทั้งครุฑและกากีต่างตกอยู่ในห้วงของ กามารณ์อย่างหนักหน่วง ๓) การเล่นคำ คือ ผู้แต่งนำคำที่สะกดหรือปรากฏรูปคำเหมือนกันแต่ ความหมายต่างกันมาใช้ในคำประพันธ์อย่างจงใจเพื่อเล่นคำทั้งเสียงและความหมาย ซึ่งเป็นกลการ ประพันธ์ที่ใช้“คำพ้องรูป”นั่นเอง โดยพบได้มากในการประพันธ์ของไทย (พจนานุกรมศัพท์ วรรณกรรม,๒๕๖๑:๔๑๖) ดังตัวอย่าง ...ยางจับยางชมฝูง ยูงจับยูงยั่วเย้า เปล้าจับเปล้าแปลกหมู่ กระสาสู่กระสัง รังเรียง รังรังนาน ไก่ครานไต่หงอนไก่... (ลิลิตพระลอ,๒๕๒๙:๓๙๒) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องลิลิตพระลอตอนพระลอเดินป่า ผู้แต่งได้เล่นคำ โดยการใช้การซ้ำ คำที่เป็นชื่อสัตว์ปีกมาเล่นคำกับชื่อต้นไม้ ดังนี้ “นกยาง กับ ต้นยาง” “นกยูงกับต้นหางนกยูง” “นก เปล้า กับ ต้นเปล้า” “ต้นรัง รังนก และ นกรังนาน” และ “ไก่ กับต้นหงอนไก่” การเล่นการซ้ำคำนี้ จะเห็นได้ว่าผู้แต่งเน้นให้เกิดการใช้คำที่ไพเราะ โดยอาจไม่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติที่เป็นจริง นวลจันทร์เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา คางเบือนเบือนหน้ามา ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย (กรมศิลปากร,๒๕๓๑:๑๙๒) คำประพันธ์ที่ยกมามีการซ้ำคำที่ความหมายต่างกันในบาทที่หนึ่งคือซ้ำคำว่า “นวล” โดยเป็น การเล่นคำซ้ำชื่อปลา “นวลจันทร์” กับลักษณะของผิวนางอันเป็นที่รักที่ “นวล” ส่วนในบาทที่ ๒ มี การซ้ำคำว่า “เบือน” โดยเป็นการเล่นคำของชื่อปลา “คางเบือน” ทำกิริยาของนางอันเป็นที่รักที่ “เบือนหน้า” ในบาทที่ ๒ แม้คำว่า “เบือน”จะอยู่ในตำแหน่งติดกันก็ไม่ใช่ “คำซ้ำ” เนื่องจาก “เบือน” ทั้ง ๒ คำ มีความหมายต่างกัน


๒๕ การเล่นคำนี้ยังพบกลการประพันธ์ที่ใช้คำพ้องเสียง(พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม,๒๕๖๑: ๔๑๖) คือ การที่ผู้แต่งนำคำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่สะกดต่างกันและมีความหมายต่างกันมาใช้อย่าง มีจุดประสงค์ เพื่อทำให้เกิดความงามทางภาษา ดังตัวอย่าง เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย,๒๕๕๘:๓๔๐) คำประพันธ์ข้างต้นมีการใช้การเล่นคำพ้องเสียงคือคำว่า “วัน” โดยปรากฏ ๓ คำ คือ “เบญจ วรรณ”ที่เป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง “วัลย์” หมายถึง เถาวัลย์ และ “วัน” หมายถึง “วันเวลา” การเล่นคำ ดังกล่าวส่งผลให้คำประพันธ์มีความไพเราะ ๔) การเล่นสัมผัสพยัญชนะ คือ การที่ผู้แต่งตั้งใจใช้รูปพยัญชนะหรือ รูปอักษรเดียวกันวางไว้ในตำแหน่งที่ติดกัน หรือในบางครั้งอาจเป็นการเล่นเสียงพยัญชนะที่มีเสียงใกล้ กันไว้ปนกับเล่นรูปพยัญชนะ โดยอาจวางคำไว้ติดกันหรืออาจมีคำอื่นคั่น ๑-๒ คำ ดังตัวอย่าง ลางลิงลิงลอดไม้ ลางลิง แลลูกลิงลงชิง ลูกไม้ ลิงลมไล่ลมติง ลิงโลด หนีนา แลลูกลิงลางไหล้ ลอดเลี้ยวลางลิง (ลิลิตพระลอ,๒๕๒๙:๓๙๓) คำประพันธ์ข้างต้นโดดเด่นในเรื่องการเล่นสัมผัสพยัญชนะโดยใช้รูปพยัญชนะ “ล” และมี เสียง /ล/ คือคำว่า “ไหล้” และยังมีเสียง /น/ และใกล้เคียง /น/ คือ “หนีนา” หรือในร่ายที่เป็นบท ชมธรรมชาติจากเรื่องลิลิตพระลอก็พบการเล่นสัมผัสพยัญชนะที่โดดเด่น โดยมีการเล่นสัมผัส พยัญชนะที่มากกว่า ๑ พยัญชนะ ดังตัวอย่าง หวดเหียงหาดแหนหัน จันทน์จวงจันทน์แจงจิก ปริงปรงปริกปรูปราง คุยแคคางคัดเค็ด หมู่ไม้เพล็ดไม้พลอง หมู่ไม้ฟองไม้ไฟ ไม้ไผ่ไพไม้โพ ไม้ตะโก ตะกูไม้ลำภูลำแพง หมู่ไม้แดงไม้ดัน... (ลิลิตพระลอ,๒๕๒๙:๓๙๓) คำประพันธ์ข้างต้นวรรคที่ ๑ เล่นสัมผัสพยัญชนะ “ห” วรรคที่ ๒ เล่นสัมผัส “จ” วรรคที่ ๓ เล่นสัมผัส “ปร” วรรคที่ ๔ เล่นสัมผัส “ค” วรรคที่ ๕ เล่นสัมผัสพยัญชนะ ๒ ตัวที่อยู่ติดกันคือ “ม” “พล” วรรคที่ ๖ เล่นสัมผัส “ม” “ฟ” วรรคที่ ๗ เล่นสัมผัส “ม” “ผ”และ “พ” วรรคที่ ๘ เล่นสัมผัส “ต” “ก” วรรคที่ ๙ เล่นสัมผัส “ล” “ภ” และ “พ” และวรรคที่ ๑๐ เล่นสัมผัส “ม” “ด” ๕) การเล่นสัมผัสสระ คือ การที่ผู้แต่งตั้งใจใช้สระเสียงเดียวกันวางไว้ใน ตำแหน่งใกล้กัน หรืออาจมีคำอื่นคั่น ๑-๒ คำ ดังตัวอย่าง ดูหนูสู่รูงู งูสุดสู้หนูสู้งู หนูงูสู้ดูอยู่ รูปงูทู่หนูมูทู ดูงูขู่ฝูดฝู้ พรูพรู


๒๖ หนูสู่รูงูงู สุดสู้ งูสู้หนูหนูสู้ งูอยู่ หนูรู้งูงูรู้ รูปทู้มูทู (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ,๒๕๓๑:๒๒๒) คำประพันธ์ข้างต้นมาจากกาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร คำประพันธ์ข้างต้นแสดงการเล่นเสียงสัมผัสสระคือ “สระอู” ซึ่งการแต่งลักษณะนี้เป็นรูปแบบหนึ่ง ของการแต่งกลบทที่ชื่อว่า “เลื่อนล้า”(กรมศิลปากร,๒๕๓๑:๒๒๒) การแต่งกลบทเลื่อนล้าข้างต้นพบ ได้ไม่มากในวรรณคดี ส่วนมากจะพบการเล่นสัมผัสภายในวรรคที่ใช้เสียงสระเดียวกันรับส่งกันเพื่อให้ เกิดความไพเราะ ดังตัวอย่าง พระหน่อน้อยพลอยเพลินเจริญจิต กับน้องหญิงมิ่งมิตรขนิษฐา จะไปไหนไปด้วยกันจำนรรจา เสียงจ๊ะจ๋าจ้อแจ้ไม่แง่งอน (สุนทรภู่,๒๕๔๔:๓๑๗) คำประพันธ์นี้มีเล่นเสียงสัมผัสสระในทุกวรรคทำให้บทประพันธ์เกิดความไพเราะ ได้แก่ วรรค ที่ ๑ มีสัมผัสสระ ๒ คู่ คือ “น้อย-พลอย” และ “เพลิน-เริญ” วรรคที่ ๒ มีสัมผัสสระ ๒ คู่ คือ “หญิงมิ่ง” “มิตร-นิษ” วรรคที่ ๓ มีสัมผัสสระ ๒ คู่ คือ “ไป-ไหน-ไป” และ “กัน-นรร” และวรรคสุดท้ายมี สัมผัสสระ ๑ คู่ คือ “แจ้-แง่” การเล่นเสียงสัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะ มักปรากฏควบคู่กันไปใน บทประพันธ์ ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนอกจากปรากฏสัมผัสสระดังที่ได้ยกตัวอย่างแล้ว ในแต่ละ วรรคก็ปรากฏสัมผัสพยัญชนะด้วยเช่นกัน ได้แก่ วรรคที่ ๑ คือ “หน่อ-น้อย” วรรคที่ ๒ คือ “มิ่งมิตร” วรรคที่ ๓ คือ จำ-จา” และวรรคที่ ๔ คือ “จ๊ะ-จ๊า-จ้อ-แจ้” และ “แง่-งอน” ๖) การเล่นเสียงวรรณยุกต์คือ การที่ผู้แต่งตั้งใจใช้เสียงวรรณยุกต์ที่ผัน ระดับเสียงตามวรรณยุกต์ต่าง ๆ มาแต่งเป็นคำประพันธ์ โดยวรรณคดีที่โดดเด่นเรื่องการเล่นเสียง วรรณยุกต์คือ “โคลงอักษรสามหมู่” ทีมีลักษณะเป็นกลบท แต่งโดยพระศรีมโหสถ ดังตัวอย่าง มือลิงแบแบ่แบ้ เมียงชาย โจนจู่ชูฉวยบาย บ่ายบ้าย กินไบไบ่ไบ้ขลาย เป็นโภชน์ ซุมซุ่มซุ้มยามช้าย ซ่อนซ้อนนอนใน (พระศรีมโหสถ,๒๕๓๐:๖๔๗) คำประพันธ์ข้างต้นแสดงให้เห็นการเล่นเสียงวรรณยุกต์ที่จะผันคำ ๓ เสียง คือ สามัญ เอก และโท โดยกำหนดใน ๑ วรรค มีตำแหน่งการผันวรรณยุกต์ไว้ตามข้อบังคับของกลบท อย่างไรก็ตาม การเล่นเสียงวรรณยุกต์พบได้ไม่มากในวรรณคดี ๗) การกล่าวซ้ำ คือ การนำความคิดอย่างเดียวกันมาแปลงถ้อยคำใหม่ เพื่อให้เกิดการเน้น (พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม,๒๕๖๑:๔๓๓) เป็นการที่ผู้แต่งใช้ลักษณะของ เนื้อความที่ไปในทำนองเดียวกันมาแต่งซ้ำกันด้วยจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยวรรณคดีที่พบการ


๒๗ ซ้ำความที่โดดเด่นมาจากเรื่องมัทนะพาธา ในตอนที่มัทนาโดนมนตร์สะกดแล้วมาพบสุเทษณ์ ถ้อยคำ ที่มัทนาโต้ตอบกับสุเทษณ์จึงเป็นลักษณะการพูดตามสุเทษณ์ จึงปรากฏการซ้ำความ ซึ่งลักษณะ ดังกล่าวก็ไม่ได้พบมากในวรรณคดี ดังตัวอย่าง สุเทษณ์. รักจริงมิจริงฤก็ไฉน อรไทบ่แจ้งการ? มัทนา. รักจริงมิจริงก็สุระชาญ ชยะโปรดสถานใด? สุเทษณ์. พี่รักและหวังวธุจะรัก และบทอดบทิ้งไป. มัทนา. พระรักสมัคณพระหทัย ฤจะทอดจะทิ้งเสีย? สุเทษณ์. ความรักละเหี่ยอุระระทด เพราะมิอาจจะคลอเคลีย. มัทนา. ความรักระทดอุระละเหี่ย ฤจะหายเพราะเคลียคลอ? สุเทษณ์. โอ้โอ๋กระไรนะมะทะนา บมิตอบพะจีพอ? มัทนา. โอ้โอ๋กระไรอะมระง้อ มะทะนามิพอดี ! (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยูหัว,๒๕๖๔:๒๕) ๘.๓) การใช้คำที่แสดงให้เห็นภาพการเคลื่อนไหว (นาฏการ) คือ การที่ผู้แต่งใช้คำกริยา บรรยายภาพการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด รวมถึงใช้คำที่ทำให้ผู้ฟังได้ยินเสียง จนทำให้ผู้อ่านสามารถ จินตนาการภาพตามบทประพันธ์ได้อย่างชัดเจน ดังตัวอย่าง ขุนมอญร่อนง้าวฟาด ฉาดฉะ ขาดแล่งตราบอุระ หรบดิ้น (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๑๓:๑๗) คำประพันธ์ข้างต้นบรรยายภาพสมเด็จพระสุริโยทัยที่โดนของ้าวฟันจนสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำกริยาบรรยายให้เห็นภาพชัดเจนทั้งทรงใช้ว่า “ร่อน” “ฟาด” ให้ภาพของ้าวที่ฟาดลงมาอย่างเร็วและแรงจนเกิดเสียง “ฉาด” “ฉะ” เป็นเสียงที่ง้าว กระทบกับพระสุริโยทัย ส่วนคำว่า “หรบดิ้น” นั้นให้ภาพที่หลังจากถูกของ้าวแล้วพระสุริโยทัย สิ้นพระชนม์และร่างได้ฟุบลงบนหลังช้าง เด็ดฝักหักรากกระชากฉุด เผลาะผลุดรากเลื้อยอะล่อนจ้อน (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๔๖๓) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นตอนที่ขุนแผนเด็ดฝักบัว ผู้แต่งใช้คำที่ทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวที่ ขุนแผนเริ่มจาก “เด็ด” ฝักบัว จากนั้น “กระชาก” และ “ฉุด” คำว่า กระชาก และ ฉุด ให้ภาพการ เคลื่อนไหวที่ใช้กำลังและทำอย่างเร็ว จนทำให้รากบัวเกิดเสียง “เผลาะ” คือเสียงที่รากบัวหลุดจากดิน จากนั้นจึง “ผลุด” คือโผล่ขึ้นมา ดังนั้นบทนี้จึงเป็นการที่ผู้แต่งเลือกใช้คำที่ทำให้เห็นภาพเคลื่อนไหว และได้ยินเสียง


๒๘ การพิจารณาคำข้างต้นเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นในการวิเคราะห์คำ ทั้งนี้ในวรรณคดีบาง เรื่องอาจมีการสรรคำที่นอกเหนือจาการนำเสนอในหัวข้อนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความนิยมและลีลาในการ แต่งคำประพันธ์ของผู้แต่งแต่ละคน ๘.๔ ภาพพจน์(Figure of Speech) คำว่าภาพพจน์เกิดจากการนำคำ ๒ คำ มารวมกันคือ คำว่า “ภาพ” และ “พจน์” เมื่อแปลตามรูปศัพท์จึงหมายถึงถ้อยคำที่ทำให้เกิดภาพหรือเกิด จินตนาการ ในทางวรรณคดีนั้นผู้แต่งจะใช้ถ้อยคำในเชิงเปรียบ ไม่ใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาเพื่อทำให้ ผู้อ่านสามารถจินตนาการได้อย่างลึกซึ้ง และเกิดความสะเทือนใจ ภาพพจน์นั้นมิได้ปรากฏแต่เพียงใน วรรณคดีร้อยกรอง ในร้อยแก้วก็ปรากฏการใช้ภาพพจน์ด้วยเพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์และได้อรรถรส มากยิ่งขึ้น (กุหลาบ มัลลิกะมาส,๒๕๖๐:๑๒๗) ภาพพจน์ในวรรณคดีมีด้วยกันหลายชนิด ทั้งนี้ จะขอ กล่าวถึงภาพพจน์ที่พบได้บ่อยครั้งในวรรณคดี ดังนี้ ๑) อุปมา (Simile) คือการเปรียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง โดยสิ่งที่นำมาเปรียบกันนั้นเป็นสิ่งที่ต่างกันทางธรรมชาติ แต่มีลักษณะร่วมกันบางอย่างที่สามารถ นำมาเปรียบกันได้ โดยจะมีคำที่แสดงการเปรียบ ดังเช่นคำว่า “เหมือน” “คล้าย”“ราว” “เปรียบ” “ประดุจ” “ดั่ง” “เฉก” “แม้น” “พ่าง” ดังตัวอย่าง งามโอษฐดังใบไม้อ่อน งามกรดังลายเลขา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๒๒) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นภาพพจน์อุปมา มีคำที่แสดงการเปรียบเทียบคือคำว่า “ดัง” โดยการ เปรียบสีริมฝีปากของศกุนตลาว่ามีสีชมพูระเรื่อ มีความอ่อนบางน่าทะนุถนอมเหมือนใบไม้อ่อน จุด ร่วมที่กวีนำมาใช้เปรียบคือ “สี” และมือของศกุนตลาก็งามอ่อนช้อยเหมือนลวดลายที่วาด จุดร่วมที่ กวีนำมาใช้เปรียบคือ “ความงดงามอ่อนช้อย ความเปรียบดังกล่าวช่วยให้ผู้อ่านจินตนาการตามได้ อย่างชัดเจน หรืออีกตัวอย่างที่ใช้คำแสดงความเปรียบคือ “ราวกับ” ... ผลมะม่วงสุกงอมติดต้นอยู่ ราวกับหล่อด้วยทองยิ่งมองดู (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๔๒:๗๔) คำประพันธ์นี้ใช้ภาพพจน์อุปมา โดยคำที่แสดงความเปรียบคือคำว่า “ราวกับ” ความเปรียบ ข้างต้นนำจุดร่วมของมะม่วงสุกกับทองคำมาเป็นความเปรียบเทียบ นั่นคือ “สีเหลืองทอง” ความเปรียบดังกล่าวช่วยสร้างภาพให้ผู้อ่านจินตนาการถึงผลมะม่วงได้อย่างแจ่มชัดว่ามีสีอย่างไร ๒) อุปลักษณ์ (Metaphor) คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเป็น อีกสิ่งหนึ่ง มีคำแสดงการเปรียบคือคำว่า “เป็น” หรือ “คือ” ความหมายของอุปลักษณ์จะลึกซึ้งกว่า อุปมา (จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ และวีรวัฒน์ อินทรพร,๒๕๖๐:๖๙) ดังตัวอย่าง พี่พบน้องเพี้ยงแต่ ยามเดียว คือเชือกผสมสามเกลียว แฝดฝั้น


๒๙ (ลิลิตพระลอ,๒๕๒๙:๔๓๓) คำประพันธ์ข้างต้นใช้ภาพพจน์อุปลักษณ์ โดยมีคำที่แสดงการเปรียบคือคำว่า “คือ” พระลอ เปรียบเทียบความสัมพันธ์ของพระลอ พระเพื่อน พระแพง เป็นเชือก ๑ เส้น ที่เกิดจากการนำเชือก ๓ เส้นเล็กมาฟั่นเป็นเกลียวรวมกัน ความเปรียบข้างต้นให้ความหมายที่ลึกซึ้งว่าความรู้สึกที่ทั้งสามมีให้ กันนั้นรวมความรัก ความผูกพัน ผสานรวมกันจนเป็นหนึ่งเดียว ที่ตัดขาดจากกันได้ยาก หรืออีก ตัวอย่างที่ใช้คำว่า “เป็น” เป็นคำแสดงความเปรียบ ดังความว่า แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมปทุมทอง เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป (สุนทรภู่,๒๕๔๔:๘) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องพระอภัยมณีเป็นตอนที่พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง โดยกล่าวว่า หากละเวงไปเกิดเป็นอะไรตนก็จะขอติดตามไป ถ้าละเวงไปเกิดเป็นแม่น้ำตนเองก็จะไปเกิดเป็นปลา ถ้าละเวงไปเป็นบัวตนเองจะเป็นแมลงผึ้ง แมลงภู่ ถ้าละเวงไปเป็นถ้ำตนเองก็จะขอไปเป็นราชสีห์ ๓) สัญลักษณ์ (Symbol) คือ การกล่าวถึงหรือเรียกสิ่งหนึ่งด้วย การใช้คำอื่นแทนการกล่าวถึงสิ่งนั้นโดยตรง คำที่นำมาใช้แทนนั้นเป็นคำที่ใช้กันในสังคมหนึ่ง ๆ จนคน ในสังคมเข้าใจความหมายตรงกันโดยทั่วกัน เช่น สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ สีดำ หมายถึง ความเศร้า ความทุกข์ ดอกไม้ หมายถึง ผู้หญิง หงส์ หมายถึง หญิงสูงศักดิ์ กา หมายถึง คนต่ำต้อย หมาป่า หมายถึง เจ้าเล่ห์ ตัวอย่างการใช้สัญลักษณ์ ดังนี้ แกล้งอ่านเพลงยาวกล่าวกระทบมา โอ้ว่าดวงดอกฟ้ามณฑาธาร (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๑๐๘) คำประพันธ์ข้างต้นมีสัญลักษณ์คือคำว่า “ดอกฟ้า” ที่เป็นสัญลักษณ์หมายถึงหญิงสาวที่อยู่สูง ศักดิ์ หรือมีสถานะสูงกว่าตน คำว่า “ดอกฟ้า” ข้างต้นปรากฏในเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นคำที่ขุนช้าง ใช้เรียกแทนนาง “วันทอง” คำที่เป็นสัญลักษณ์แทนผู้หญิงยังมีคำว่า “ดอกไม้” ดังเช่นจากเรื่อง ศกุนตลา ความว่า เด็ดดอกไม้ไปดมชมจนช้ำ ไม่ต้องจดต้องจำนำภา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๖๖)


๓๐ ก็พี่นี้สิเคยชม วิหคหงสะเลอสรร จะกลับชมอิกานั้น บ่ได้แล้วนะแก้วตา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๖๙) คำประพันธ์ข้างต้นปรากฏสัญลักษณ์ ๒ คำ คือ “หงส์” ที่เป็นสัญลักษณ์หมายถึงหญิงสาว สูงส่งที่งดงาม และ “อีกา” ที่หมายถึง หญิงที่ไม่ดี ไม่มีความงาม ๔) บุคคลวัต หรือ บุคลาธิษฐาน (Personification) คือ การสมมติสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก หรือสัตว์ให้มีกิริยาอาการ อารมณ์ ความรู้สึกเหมือนมนุษย์ หรือกล่าวโดยสั้นได้ว่า “ทำสิ่งไม่มีชีวิตให้มีชีวิต” ดังตัวอย่าง ดูดุ๋ความรักนักหนาหนอ มาลวงล่อโลมพาคนอาสัญ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๑๒:๑๑๓) คำประพันธ์ข้างต้นผู้แต่งสมมติให้ “ความรัก” ที่ไม่ใช่มนุษย์ แสดงกิริยาอาการเหมือนมนุษย์ คือ “ลวงล่อ” หรืออีกตัวอย่าง ผิลิ้นพี่จะมีหลาย ก็ทุกลิ้นจะรุมกล่าว แสดงรัก ณ โฉมฉาย และทุกลิ้นจะเปรยปราย ประกาศถ้อยปะฏิญญา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๖๙) คำประพันธ์ข้างต้นผู้แต่งสมมติให้ “ลิ้น” แสดงกิริยาอาการเหมือนมนุษย์คือ ลิ้นสามารถพูด ได้เอง ลิ้นสามารถบอกรักได้ ซึ่งในความจริงลิ้นไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สามารถพูดได้เอง ๕) อติพจน์ (Hyperbole) คือ การกล่าวเกินจริง หรือกล่าวถึงสิ่ง ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ ดังตัวอย่าง เสียงไห้ทุกราษฎร์ไห้ ทุกเรือน อกแผ่นดินดูเหมือน จักขว้ำ บเห็นตะวันเดือน ดาวมืด มัวนา แลแห่งใดเห็นน้ำ ย่อมน้ำตาคน (ลิลิตพระลอ,๒๕๒๙:๔๔๑) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องลิลิตพระลอที่ผู้แต่งบรรยายให้เห็นความโศกเศร้าของราษฎรที่รู้ ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระลอ พระเพื่อน พระแพง โดยความเศร้านี้มีมากขนาดที่เสียงร้องไห้จาก บ้านเรือนราษฎรทำให้แผ่นดินแทบทรุดคว่ำ ความโศกเศร้าของราษฎรทำให้บ้านเมืองมืดมิดไม่เห็น แสงเดือนแสงตะวัน มองไปที่ใดก็เห็นแต่น้ำตาของราษฎร การบรรยายดังกล่าวเป็นการบรรยายเกิน จริงเพื่อต้องการให้ผู้อ่านจินตนาการได้ว่าความโศกเศร้าของราษฎรนั้นเป็นความโศกเศร้าที่มหาศาล หรืออีกตัวอย่าง คือ ดูผิวสินวลลอองอ่อน มลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น


๓๑ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๒๒) คำประพันธ์ข้างต้นเปรียบผิวของศกุนตลาว่าขาวมาก ขาวจนขนาดดอกมะลิซ้อนที่มีสีขาว นวลยังดำเมื่อเทียบกับผิวศกุนตลา ความตอนนี้จึงเป็นอติพจน์ เพราะในความเป็นจริงไม่มีสตรีใดที่จะ มีสีผิวขาวกว่าดอกมะลิ ๗) อวพจน์(Meiosis) คือการกล่าวเปรียบโดยการลดความหมาย ให้น้อยลงกว่าเดิม เพื่อให้เกิดอารมณ์ขันหรือเสียดสี เพื่อเร้าความรู้สึก หรือให้เกิดความเรียบง่าย (พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม,๒๕๖๑:๓๑๓) เช่น เรื่องขี้ผง รอสักอึดใจเดียว มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอน สะดุ้งจนเรือนไหว ตัวอย่างจากวรรณคดี ผัวก็ทิ้งและบ่มิหวง วธุห่วงได้ ทีดะนูวะธุไฉน บมิยอมรัก ข้าจะวอนสุปิยะรัตน์ ก็สะบัดพักตร์ ราวกะทรามและทุระลักษณ์ บมิมีดี (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๑๔๑) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องมัทนะพาธาเป็นตอนที่สุเทษณ์ปรากฏกายขึ้นเพื่อชักชวนมัทนา ให้กลับสวรรค์ไปอยู่กับตนเอง แต่มัทนายังคงยืนกรานปฏิเสธ สุเทษณ์จึงได้ต่อว่ามัทนาว่า ผัวของนาง ได้ทิ้งนางไปโดยไม่ห่วงใย แต่กับสุเทษณ์เองนั้นที่อ้อนวอนขอความรัก มัทนากลับปฏิเสธราวกับว่า ตนเองเป็นคนเลวทราบ อัปลักษณ์และไม่มีสิ่งใดดีเลย คำกล่าวของสุเทษณ์นั้นเป็นอวพจน์เพราะกล่าว เปรียบคุณสมบัติของตนเองต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อประชดประชันมัทนา ๘) สัทพจน์หรือการเลียนเสียงธรรมชาติ (Onomatopoeia) คือ การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ลมพัด เสียงดนตรี เสียงร้องของสัตว์ ดังตัวอย่าง เสียงกระดึงคอช้างดังโหน่งโหน่ง โหย่งโหย่งม้าวางควบย่างใหญ่ (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๒๒) คำว่า “โหน่งโหน่ง” ข้างต้นเป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติ ในที่นี้เป็นการเลียนเสียงกระดึงที่ผูก คอช้าง อีกตัวอย่างคือ ทหารปืนจับชุดจุดดินหู เสียงฟุบฟู่ยิงประดาทั้งหน้าหลัง เป็นควันกลุ้มตูมลั่นสนั่นดัง ถูกกระทั่งสนามดินก้อนศิลา (สุนทรภู่,๒๕๔๔:๑๒๒) คำว่า “ฟุบฟู่” เป็นคำเลียนเสียงการจุดปืนไฟ โดยคำว่า “ฟุบ” เป็นเสียงการจุดไฟ และ “ฟู่” เป็นเสียงไฟที่ติด และมีคำว่า “ตูม” ที่เป็นเสียงของปืนที่ยิงไปดัง “ตูม”และในเรื่องพระอภัยมณี ยังพบการเลียนเสียงเครื่องดนตรี คือเลียนเสียงปี่พระอภัยมณี คือคำว่า “ต้อยตะริดติ๊ดตี่” และ “แอ้อีอ่อย” ดังความว่า


๓๒ ต้อยตะริดติ๊ดตี๋เจ้าพี่เอ๋ย จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน แอ้อีอ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย (สุนทรภู่,๒๕๔๔:๔๒๓) ๙) นามนัย (Metonymy) คือ การใช้คำหรือวลีที่แสดงถึง ลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนสิ่งนั้นทั้งหมด (จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ และวีรวัฒน์ อินทรพร,๒๕๖๐:๖๙) กล่าวคือ สิ่งที่เรากำลังพูดถึงมีคำแสดงลักษณะหรือบ่งลักษณะสิ่งนั้นได้หลายคำ แต่ผู้แต่งเลือกใช้คำ บ่งลักษณะเพียง ๑ คำ ที่หมายรวมถึงสิ่งสิ่งนั้น ดังเช่น หากกล่าวถึง “นางงาม” คำที่บ่งลักษณะของ นางงามมีหลายคำ ได้แก่ มงกุฎ หรือ ในปัจจุบันที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “มง” หรือมีคำว่า “ขาอ่อน” ที่ หมายถึงนางงาม ผู้แต่งอาจเลือกใช้คำว่า “มงกุฎ” หรือ “ขาอ่อน” ที่หมายถึง “นางงาม” โดยแทนที่ จะกล่าวว่า “วงการนางงาม” อาจใช้ว่า “วงการขาอ่อน” ตัวอย่างของนามนัย อ้าจอมมงกุฎเกล้า ก็กระไรพระมาบัง พุ่มไม้แลทรงฟัง วะจะของกระหม่อมฉัน (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๖๖) คำประพันธ์ข้างต้นปรากฏนามนัยของคำว่ากษัตริย์คือคำว่า “จอมมงกุฎ” เนื่องจากคำที่บ่ง ลักษณะของคำว่า “กษัตริย์”มีหลายคำ โดยหนึ่งในนั้นคือ “มงกุฎ” และผู้แต่งเลือกใช้คำว่า “จอมมงกุฎ” แทนถึงกษัตริย์ในเรื่องคือท้าวชัยเสน หรืออีกตัวอย่างคือ พระไวกูณฐ์นาถยิ้ม พลางตรัส (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๑๔:๘๓) คำว่า “พระไวกูณฐ์” เป็นนามนัยที่หมายถึง “พระนารยณ์” เนื่องจากไวกูณฐ์เป็นชื่อที่ ประทับของพระนารายณ์ที่เป็นคำบ่งลักษณะหนึ่งของพระนารายณ์ ๑๐) สัมพจนัย (Synecdoche) คือ การกล่าวย่อยถึงสิ่งใดสิ่ง หนึ่งแต่มีความหมายถึงสิ่งเต็มของสิ่งที่กล่าวถึง ดังเช่น คำว่า “กินหมาก” ไม่ได้หมายถึงกินเพียง เฉพาะ “หมาก” แต่หมายรวมถึงกินทุกอย่างที่รวมกันเป็นหมาก ๑ คำ ได้แก่ พลู ปูน หมาก และ ส่วนประกอบอื่น ๆ (จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ และวีรวัฒน์อินทรพร,๒๕๖๐:๖๙) ตัวอย่าง นายไหมไปถึงบ้านทองประศรี แกไต่ถามทันทีขมีขมัน มีธุระทำวลอะไรนั้น กินหมากด้วยกันอย่าเกรงใจ (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๒๙) คำว่า “หมาก” ข้างต้นเป็นสัมพจนัย เพราะ “หมาก” เป็นส่วนย่อยหนึ่งที่หมายรวมถึง องค์ประกอบอื่นของการกินหมากด้วย และอีกตัวอย่างคือ ครั้นกินข้าวเช้าแล้วลงจากเรือน เที่ยวร้องเรียกพวกเพื่อนสับสน (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย,๒๕๖๑:๑๒๒)


๓๓ คำว่า “ข้าว” ข้างต้นจัดเป็นสัมพจนัย เพราะ “ข้าว”เป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งของสำรับอาหาร ข้าวยังประกอบไปด้วยกับข้าวหลายชนิดด้วย ๑๑) คำถามเชิงวาทศิลป์ (Rhetorical question) หมายถึง การตั้งคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่ใช้คำถามนั้นเพื่อกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ดังตัวอย่าง แต่อายุเพียงนี้มีสองผัว แสนชั่วแสนถ่อยทุกเส้นผม มีแต่จะอับอายไม่วายตรม ชีวิตสิ้นดินถมก็ชื่อลือ ความเจ็บเท่าไรจะรู้หาย ความอายเมื่อไรจะสิ้นชื่อ ดังหมึกสักปักไว้ที่หลังมือ ยังจะรื้อรักรูปไปไยมี (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๒๘๓) คำประพันธ์ข้างต้นปรากฏคำถามเชิงวาทศิลป์อยู่ ๓ วรรค เนื้อความข้างต้นมาจากเรื่องขุน ช้างขุนแผน เป็นตอนที่วันทองโศกเศร้าเสียใจและน้อยใจที่ขุนแผนพาลาวทองกลับมาที่บ้าน ขุนแผน ทะเลาะกับวันทองและจะฆ่าวันทอง วันทองจึงโศกเศร้าเสียใจและน้อยใจในชีวิตของตนเอง จึงตั้ง คำถามกับตนเองในเชิงตัดพ้อชีวิตว่า ตนเองได้ชื่อว่ามีสองผัวต่อให้ตายไปคนก็ยังลือเรื่องนี้อยู่ ความ เจ็บนี้ไม่รู้เมื่อไหร่จะหาย ความอับอายที่ได้รับเมื่อไหร่จะหมดสิ้น แล้วตนเองยังจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ชุดคำถามดังกล่าวไม่ได้เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ แต่เป็นคำถามที่ใช้เพื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก หรืออีกตัวอย่าง โอ้ศกุนตลาเมียขวัญ ยิ่งกว่าชีวันเสนหา เสียแรงรักสมัคสมานมา ควรหรือพี่ยาลืมอนงค์ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๗๕) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นตอนที่ท้าวทุษยันต์ได้เห็นแหวนแล้วจำศกุนตลาได้ จึงได้โศกเศร้า เสียใจและตั้งคำถามกับตนเองว่าตนเองรักศกุนตลามากกว่าชีวิต สมควรแล้วหรือที่ตนเองลืมหญิงอัน เป็นที่รัก คำถามดังกล่าวท้าวทุษยันต์ไม่ได้ต้องการคำตอบ เป็นคำถามที่ย้ำอารมณ์ความรู้สึกของตัว ละคร ๑๒) ปฏิทรรศน์ (Paradox) คือ คำกล่าวที่มองอย่างผิวเผินแล้ว จะขัดกันเอง หรือไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่หากพิจารณาความหมายอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้ความหมายที่ ชัดเจนและเป็นไปได้ (พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม,๒๕๖๑:๓๗๖) ดังเช่น “ยิ่งรีบก็ยิ่งช้า” คำว่า “รีบ” กับ “ช้า” เป็นคำที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งกันมาใช้เข้าคู่กันเพื่อให้เห็นความเปรียบที่ชัดเจนว่ายิ่ง รีบร้อน ก็ยิ่งทำอะไรได้ช้าลง ปฏิทรรศน์จึงเป็นการเน้นย้ำความหมายโดยการนำคำที่ขัดแย้งมาเปรียบ เพื่อให้ความหมายชัดเจนขึ้น ไม่ได้ให้ความรู้สึกที่ขัดแย้งเหมือนปฏิพจน์ดังตัวอย่าง เย็นแต่กายแต่ใจ เร่าร้อน (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๑๔:๑๑๙)


๓๔ คำประพันธ์ข้างต้นมีการใช้ปฏิทรรศน์คือความที่ขัดกันคือ “เย็นกาย” แต่ “ใจเร่าร้อน” การใช้คำที่ขัดแย้งกันข้างต้นช่วยเสริมความหมายของบทประพันธ์ให้เห็นภาพความทุกข์ใจ ความ กระวนกระวายใจอย่างหนักของตัวละคร ๑๓) ปฏิพจน์ (Oxymoron) คือ เป็นการนำคำที่ความหมายไม่ สอดคล้องกันและขัดแย้งกันมารวมไว้เวยกันเพื่อให้มีความหมายที่ลึกซึ้ง (พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม ,๒๕๖๑:๓๖๙) ดังเช่น “ความสำเร็จเศษซากปรักหักพัง” คำว่า “ความสำเร็จ” กับคำว่า “เศษซาก ปรักหักพัง” เป็นคำที่มีความหมายไม่สอดคล้องกัน เพราะคำว่า “ความสำเร็จ” ควรสอดคล้องกับ “ความสมบูรณ์” “ความมั่นคง” ดังนั้น “ความสำเร็จบนซากปรักหักพัง” จึงให้ความรู้สึกในเชิง ขัดแย้งว่าเป็นความสำเร็จจริงหรือ ปฏิพจน์นั้นไม่ค่อยพบในวรรณคดี จะพบมากในการนำมาตั้งเป็น ชื่อนวนิยาย ดังเช่น ฟ้าต่ำ นางฟ้าซาตาน มารกามเทพ ตัวอย่างในวรรณคดี เช่น ...ด้วยพระยามอญองค์นี้ เขาเล่าลือมาว่าใจร้ายหยาบช้าห้าว หาญนัก....ซึ่งพระเจ้าราชาธิราชมีพระทัยร้ายห้าวหาญนัก... (เจ้าพระยาพระคลัง(หน),๒๕๔๔:๒๐๙) ความข้างต้นจากเรื่องราชาธิราช พบปฏิพจน์คือ “ร้ายหยาบช้าห้าวหาญ” และ “ร้ายห้าว หาญ” ซึ่งคำว่า “หยาบช้า หรือ ร้าย” เป็นคำที่ขัดแย้งกับคำว่า “ห้าวหาญ” หรือตัวอย่างจากเรื่องโร เมโอและจูเลียต ดังความว่า ...รักก่อวิวาทกัน โอ้ความชังอันน่ารัก...ขนนกหนัก ควันผ่อง พรรณ ไฟเย็น อีกไข้สุขา ตื่นอยู่แต่หลับใน... (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๔๑:๑๐) ความข้างต้นมีปฏิพจน์ คือ “ความชังอันน่ารัก” ปกติแล้วความชังย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ใช่น่ารัก “ขนนกหนัก”ปกติขนนกจะเบาไม่หนัก “ควันผ่องพรรณ”ปกติควันไฟจะมัวหมองไม่ สวยงามพ่องพรรณ “ไฟเย็น”ปกติไฟจะร้อนไม่เย็น “ไข้สุขา” ปกติคนเป็นไข้ย่อมทุกข์ไม่มีความสุข และ “ตื่นอยู่แต่หลับใน” ปกติคนตื่นอยู่ก็จะไม่หลับ ทั้งหมดนี้จึงใช้คำที่ความขัดกันเพื่อเสริม ความหมายของคนที่กำลังอยู่ในห้วงความรักว่าแม้จะอยู่ในความยากลำบากก็ยังเห็นความงามของสิ่ง ต่าง ๆ ๑๒) การกล่าวอ้างถึง (Allusion) การกล่าวอ้างถึงหรือการกล่าว เท้าความ คือ การกล่าวอ้างถึงสถานที่ บุคคล ตัวละคร หรือเหตุการณ์ในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ หรือ การกล่าวถึงวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ๆ ทั้งโดยตรงและการดัดแปลง (จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ และวีรวัฒน์ อินทรพร,๒๕๖๐:๗๓) ดังตัวอย่าง จะหาทรงสุดวงศ์กษัตริย์สิ้น จะหากลิ่นสามภพไม่หอมถึง พระสะอื้นรัญจวนครวญคะนึง ถึงเมื่อราเมศร้างแรมสีดา ยังได้ข่าวทศพักตร์มันลักนุช ข้ามสมุทรไปนครของยักษา พระหริวงศ์กับองค์อนุชา ได้โยธาพานรินทร์ก็รีบตาม


๓๕ ... ปางพระไทรโอบอุ้มอนิรุธ ไปสมสุดสวาทสร้อยศรีอุษา แล้วพาพรากจากรักภิรมยา ให้สองรานิราศร้างกันกลางคัน ยังมีนางศุภลักษณ์เที่ยววาดทรง ประสบองค์อนิรุธรังสรรค์ ... ปางพระสมุทรโฆษชำนาญศิลป์ บำเรอพินทุมดีศรีสมร แสนวิโยคโศกข้ามชโลธร ขี่ขอนคลื่นซัดให้พลัดกัน .... ปางสุธนแรมร้างมโนหเรศ นางประเวศไกรลาสคิรีศรี ก็ตามติดมิได้คิดแก่ชีวี ข้ามนทีกรดยากลำบากกาย (เจ้าพระยาพระคลัง(หน),๒๕๐๗:๑๐-๑๑) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องกากีกลอนสุภาพเป็นตอนที่พระพรหมทัตโศกเศร้าที่นางกากีหาย ตัวไป จึงได้รำพึงว่าตนเองไม่รู้ข่าวนางกากี และไม่รู้จะไปหานางได้ที่ไหน และมีการกล่าวอ้างถึง วรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ที่ตัวละครพลัดพรากจากกันแต่ก็ยังมีโอกาสได้ข่าวคราว หรือได้ออกตามหากัน ดังพระรามกับนางสีดา พระอนิรุทกับนางอุษา พระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดี และพระสุธนกับนาง มโนห์รา ภาพพจน์จากที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ผู้แต่งใช้เพื่อเพิ่มความไพเราะ ลึกซึ้งให้กับวรรณคดี และเป็น สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้อ่านจินตนาการ เข้าใจ และเข้าถึงอารมณ์ของวรรณคดีได้เป็นอย่างดี ๘.๔) ลีลาวรรณคดี คือ ท่วงทำนองหรือลีลาภาษาที่ใช้ในการแต่งร้อยกรอง(ราชบัณฑิตย สภา,(ออนไลน์):๑) ซึ่งแต่เดิมลีลาวรรณคดีจะนิยมใช้แต่งวรรณคดีประเภทเพลงยาว แต่เนื่องด้วยลีลา วรรณคดีสามารถเทียบเคียงกับรสวรรณคดีไทยได้ จึงมีการนำมาใช้ในการแต่งวรรณคดีประเภทอื่น ด้วย (อารยา ถิรมงคลจิต,๒๕๖๑:๒๒) ลีลาวรรณคดีนี้บางตำราเรียกว่า “สุนทรียลีลา” บางตำรา เรียกว่า “กวีโวหาร” ที่หมายถึงถ้อยคำ สำนวน และชั้นเชิงในการแต่งคำประพันธ์ของกวี (วิเชียร เกษ ประทุม, ๒๕๕๘:๓๐๗, บุญเหลือ ใจมโน, ๒๕๕๕: ๑๕) แบ่งเป็นเสาวรจนีนารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง และสัลปังคพิสัย ๑) เสาวรจนีหมายถึง “คำประพันธ์ที่ไพเราะ” (ราชบัณฑิตยสภา ,(ออนไลน์):๒) คือ ท่วงทำนองหรือลีลาการแต่งบทร้อยกรองที่ใช้ชมโฉม แต่เดิมใช้ชมความงามของ บุคคลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาใช้ชมสิ่งต่าง ๆ ด้วย เช่น ชมบ้านเมือง ชมสัตว์ ชมธรรมชาติ ชม สถานที่ (ราชบัณฑิตยสภา,(ออนไลน์):๒) ดังตัวอย่าง เห็นนางนวลศรีมีโฉม ดังโสมส่องหล้าราศี


๓๖ เนาเรือเหนือสรัสปัทมี ตรณีจันทร์นวลชวนชม พายเงินงามเงาเพราพราย นวลฉายยึดด้ามงามสม เรือน้อยลอยน้ำขำคม บัวฉมชูล้อมห้อมเรือ งามน้ำงามนางกลางชล งามกุมุทอุตบลล้นเหลือ สะโรชนงรามงามเจือ งามเรือลอยน้ำอำไพ พิศรูปเพลินลักษณ์ศักดิ์ศรี งามฉวีคือชวาน่าใคร่ นวลนงค์องค์ละอองยองใย รูปละไมแลละม่อมพร้อมเพรา คิดเจ้าคือจันทร์ครรพิต งอนจริตงามเจร่มแฉล้มเฉลา เสมอเสมือนเดือนเด่นเพ็ญเพรา น่าพะเน้าพะนอน้องออมองค์ (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์,๒๕๑๔:๑๔-๑๕) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องกนกนครเป็นตอนที่พญากมลมิตร์ได้พบนางอนุศยินีที่กำลังพาย เรืออยู่ในสระบัว คำประพันธ์ข้างต้นปรากฏเสาวรจนีทั้งชมความงามของธรรมชาติ บรรยากาศ และ ความงามของนางอนุศยินีโดยผู้แต่งได้ใช้ภาพพจน์อุปมา และอุปลักษณ์มาเปรียบความงาม ทำให้ ผู้อ่านจินตนาการความงามที่ปรากฏได้ชัดเจน นอกจากบทชมโฉมตัวละครฝ่ายหญิงแล้ว ในวรรณคดี บางเรื่องก็ชมโฉมตัวละครฝ่ายชายไว้อย่างละเอียด ดังเช่นบทชมโฉมพระลอ จากเรื่องลิลิตพระลอ ความว่า ตาเหมือนตามฤคมาศ พิศคิ้วพระลอราช ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนา พิศกรรณงามเพริศแพร้ว กลกลีบบงกชแก้ว อีกแก้มปรางทอง เทียบนา ทำนองนาสิกไท้ คือเทพนฤมิตไว้ เปรียบด้วยขอกาม พระโอษฐ์งามยิ่งแต้ม ศศิอยู่เยียวยะแย้ม พระโอษฐ์โอ้งามตรู บารนี (ลิลิตพระลอ,๒๕๒๙:๓๕๗) บทชมโฉมพระลอข้างต้นเป็นการชมดวงหน้าของพระลอโดยละเอียดแยกส่วนอวัยวะ ได้แก่ ตา คิ้ว หู แก้ม จมูก ปาก โดยผู้แต่งใช้ภาพพจน์อุปมาเข้ามาเปรียบเพื่อให้ผู้อ่านจินตนาการความงาม ของใบหน้าของพระลอได้อย่างแจ่มชัด นอกจากบทชมโฉมตัวละคร ความงามของธรรมชาติแล้ว ใน วรรณคดีบางเรื่องมีการชมความงามของสัตว์อยู่ด้วย ดังเรื่องศกุนตลาที่มีการชมความงามของกวาง ดังความว่า เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ งามสรรพสะพรั่งดังเลขา


๓๗ งามเขาเปนกิ่งกาญจนา งามตานิลรัตน์รูจี คอก่งเปนวงราววาด รูปสอาดราวนางสำอางค์ศรี เหลียวหน้ามาดูภูมี งามดังนารีชำเลืองชาย (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๓:๑๖) บทชมความงามของกวางข้างต้นมีลักษณะการชมเหมือนชมโฉมตัวละครที่ชมแยกส่วนโดย ละเอียด ได้แก่ สีของกวาง เขา ตา คอ รูปร่าง และกิริยาอาการของกวาง และมีการใช้ภาพพจน์อุปมา เข้ามาเป็นตัวปรียบที่ทำให้ภาพความงามชัดเจนขึ้น ๒) นารีปราโมทย์หมายถึง “ซึ่งเป็นที่ยินดีของหญิง” (ราช บัณฑิตยสภา,(ออนไลน์):๓) คือ ท่วงทำนองหรือลีลาการแต่งบทร้อยกรองที่ใช้ในการเกี้ยวพาราสี แสดงความรักที่มีต่อนางอันเป็นที่รัก ดังตัวอย่าง มะทะนาดนุรัก วรยอดยุพะดี, และจะรักบมิมี ฤดิหน่ายฤระอา; ผิวะอายุจะยืน ศะตะพรรษะฤกว่า ก็จะรักมะทะนา บมิหย่อนฤดิหรรษ์; นยะนาก็จะชม วธุต่างมะณิพรรณ, และจะสูดสุวะคันธ์ ระสะต่างสุผะกา; ผิวะตื่นก็จะดู ยุวะดีสิริมา, ผิวะหลับฤก็ฃ้า จะสุบินฤดิเพลิน: ทิวะราตริจะนอน, ฤจะนั่งฤจะเดิน, บมิมีละจะเหิน ฤจะห่างมะทะนา; (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๗๐-๗๑) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องมัทนะพาธาเป็นตอนที่ท้าวชัยเสนเกี้ยวมัทนาด้วยการใช้ถ้อยคำที่ อ่อนหวาน และพรรณนาความรู้สึกของตนเองที่มีต่อมัทนาว่ารักมัทนามาก รักทุกเวลา และจะไม่อยู่ ห่างจากนาง นอกจากบทที่ตัวละครฝ่ายชายเกี้ยวตัวละครฝ่ายหญิงแล้ว ในวรรณคดีบางเรื่องยังพบตัว ละครฝ่ายหญิงเกี้ยวตัวละครฝ่ายชายด้วย ซึ่งในกรณีนี้พบได้น้อย จะพบในตัวละครที่มีลักษณะพิเศษ ต่างจากตัวละครทั่วไป ดังเช่นนางยักษ์จากเรื่องพระอภัยมณีที่หลงรักพระอภัยมณี จึงได้ลักพาตัวพระ อภัยมณีและแปลงกายเป็นหญิงสาวเกี้ยวพระอภัยมณี ดังความว่า อสุรีผีเสื้อสดับเสียง เพราะสำเนียงเสนาะในฤทัยหวน ทำเสแสร้งใส่จริตกระบิดกระบวน ละมุนม้วนเมียงหมอบแล้วยอบตัว อันน้องนี้ไร้คู่ที่สู่สม เป็นสาวพรหมจารีไม่มีผัว ถึงเป็นยักษ์ยังไม่มีราคีมัว พระมากลัวผู้หญิงด้วยสิ่งใด


๓๘ (สุนทรภู่,๒๕๔๔:๑๒) คำประพันธ์ข้างต้นนั้นเป็นตอนที่นางยักษ์แปลงพยายามเกี้ยวพาราสีพระอภัยมณี แต่ฝ่าย พระอภัยมณีนั้นไม่ชอบนาง ด้วยรู้ว่านางเป็นนางยักษ์แปลงกายมา ๓) พิโรธวาทัง หมายถึง “ถ้อยคำที่แสดงความโกรธ” (ราช บัณฑิตยสภา,(ออนไลน์):๓) คือ ท่วงทำนองหรือลีลาการแต่งบทร้อยกรองที่ใช้ในการแสดงความไม่ พอใจอันเกิดจากอารมณ์โกรธ ดังเช่น ตัดพ้อ ต่อว่า ด่า เย้ยหยัน ประชดประชัน ดังตัวอย่าง ชัยเสน. เหม่นางจัณฑี พูดจาครานี้ แสนจะหยาบคาย! เธอเปนธิดา ราชาฦๅสาย ไฉนปากร้าย ราวแม่ค้าปลา? จัณฑี. หม่อมฉันสามานย์เพราะพระองค์ท่าน หมดพระเมตตา; หากฃ่าวระบือ ฦๅจากภารา ถึงพระบิดา คงเสียหทัย. ชัยเสน. นี่จะมาโกรธ และมุ่งกล่าวโทษ ฉันผิดอันใด? จัณฑี. พระองค์ทรงฤทธิ์ จะผิดอย่างไร? พระองค์เปนใหญ่ เหนือผู้เหนือคน ถึงจะรับนาง ใดๆ จากกลาง อรัญไพรสณฑ์ มายกมาย่อง ก็ต้องจำทน เพราะฃ้าเปนคน อาภัพอัปรีย์. (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๑๐๔) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องมัทนะพาธา เป็นตอนที่พระมเหสีจัณฑีโกรธท้าวชัยเสนที่พา มัทนากลับเข้ามาในวังด้วย จึงได้ใช้วาจาประชดประชันท้าวชัยเสน ทำให้ท้าวชัยเสนโกรธและต่อว่า นางกลับ ความโกรธที่ปรากฏในตอนนี้ตัวละครแสดงออกโดยการใช้วาจาในการโต้ตอบประชดประชัน และด่าทอกัน หากความโกรธมีระดับที่รุนแรงตัวละครจะแสดงออกรุนแรงขึ้นจนถึงระดับต่อสู้กับ ใช้กำลัง หรืออยากฆ่ากันให้ตาย ดังตัวอย่างที่ขุนแผนโกรธวันทอง ดังนี้ ตำแยเจ้าเอ๋ยมันแสนคัน จะเท่ามันคนนี้หามีไม่ กลากเกลื้อนขี้เรื้อนพรรนัย หยูกยาหาใส่ก็หายคัน อีชาติชั่วเป็นตัวเท่าตัวหนอน ไชชอนดิบเดี้ยมจนตัวสั่น ถึงหายาให้สิ้นถิ่นสุพรรณ วันเดียวก็จะสิ้นตำรายา มึงตายเสียเถิดวันทองเอ๋ย อย่าอยู่เลยชักดาบออกเงื้อง่า กระทืบโผงผางกลางนาวา จิกหัวเอามาฆ่าให้ตาย (ขุนช้างขุนแผน:๒๕๑๓:๒๘๑) คำประพันธ์ข้างต้นแสดงให้เห็นความโกรธของขุนแผนที่มีต่อวันทอง ขุนแผนด่าทอด้วยความ เปรียบที่เจ็บแสบที่สื่อนัยถึงว่าวันทองเป็นผู้หญิงมักมากในกาม ขุนแผนโกรธจนถึงขั้นชักดาบออกมา จะฟันวันทอง แต่วันทองวิ่งหนีขึ้นเรือนไปได้ จากการแสดงความโกรธที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าตัว


๓๙ ละครฝ่ายชายมักแสดงอารมณ์โกรธที่รุนแรงผ่านทั้งการใช้ถ้อยคำและกิริยาท่าทาง ส่วนตัวละครฝ่าย หญิงจะแสดงความโกรธผ่านการใช้ถ้อยคำวาจาประชดประชัน นอกจากความโกรธที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจ ข้างต้นแล้ว ยังมีความโกรธที่เกิดขึ้นจากความ ไม่พอใจและความเกลียดชัง ดูถูก ขยะแขยงและความรำคาญ และปรากฏเป็นฝ่ายหญิงด่าว่าฝ่ายชาย ดังปรากฏในตอนที่วันทองด่าขุนช้าง ดังตัวอย่าง อ้ายเจ้าชู้ลอมปอมกระหม่อมบาง ลอยชายลากหางเที่ยวเกี้ยวหมา ชิชะแป้งจันทน์น้ำมันทา หย่งหน้าสองแคมเหมือนหางเปีย หมามันจะเกิดชิงหมาเกิด มึงไปตายเสียเถิดอ้ายห้าเบี้ย หน้าตาเช่นนี้จะมีเมีย อ้ายมะม่วงหมาเลียไม่เจียมใจ (ขุนช้างขุนแผน, ๒๕๑๓: ๑๒๕) คำด่าของวันทองข้างต้นแสดงอารมณ์โกรธได้อย่างชัดเจนเป็นความโกรธที่แฝงไปด้วยความ เกลียดชัง ดูถูก และรำคาญใจที่ขุนช้างนั้นตามจีบ ตามสู่ขอนางวันทองอย่างไม่เลิกรา คำด่าที่วันทอง ใช้ด่าขุนช้างนั้นเป็นความเปรียบที่ลึกซึ้ง ด่าตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่หัวล้าน ด่านิสัยเจ้าชู้ ไม่ทำการ งาน ลักษณะที่ตัวละครฝ่ายหญิงด่าฝ่ายชายด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคายนี้ พบไม่บ่อยในวรรณคดี ไทย แต่ในเรื่องขุนช้างขุนแผนได้วางเนื้อเรื่องให้ขุนช้างเป็นที่รังเกียจของวันทอง ทั้งคู่มีสถานะเป็น ชาวบ้านเหมือนกัน และวันทองเองนั้นก็ไม่เคยคิดว่าขุนช้างคู่ควรกับตนเอง จึงด่าทอขุนช้างอย่าง รุนแรงนั่นเอง ๔) สัลปังคพิสัย หมายถึง “วิสัยแห่งการรำพัน” (ราช บัณฑิตยสภา,(ออนไลน์):๔) คือ ท่วงทำนองหรือลีลาการแต่งบทร้อยกรองที่ใช้ในการแสดงความ โศกเศร้าคร่ำครวญ ความทุกข์ยาก ดังตัวอย่าง อโศกดูแสนสุข ช่วยดับทุกข์ด้วยสักครา โศกเศร้าเผาอุรา อ้าอโศกโรคข้าร้าย อโศกโยกกิ่งไกว จงตอบไปดังใจหมาย ได้เห็นพระฦๅสาย ผ่านมาบ้างฤๅอย่างไร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๑๗:๑๘๙) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องพระนลคำหลวง เป็นตอนที่ทมยันตีออกตามหาพระนลในป่า นางผ่านมาพบต้นอโศกจึงได้คร่ำครวญถึงความทุกข์ของตนเองกับต้นอโศก และถามหาพระนลจาก ต้นอโศก ความคร่ำครวญข้างต้นเป็นความคร่ำครวญจากการพลัดพรากจากสามี นอกจากนี้ใน วรรณคดียังพบความโศกเศร้าจากการพลัดพรากจากลูกและลูกที่ต้องจากแม่ ดังพระนางมัทรีกับ พระกัณหาพระชาลีที่ต้องพลัดพรากจากกัน ดังตัวอย่าง ...ดูกรพระพี่ยาชาลีของน้องเอย น้องไม่เคยที่จะเคืองแค้นแสน ทุกขเวทนา ด้วยบาทาทั้งสองก็พองพุระบุบวมบอบช้ำ ทชีฉุดไม่ปรานีตีกระหน่ำ กระหนาบไป หนทางก็ยังไกลกว่าไกลนัก ที่ไหนน้องรักจะรอดชีวี ทั้งพระอาทิตย์


๔๐ ก็ถอยถดลดลงต่ำเป็นเพลาค่ำสนธยา พราหมณ์ยิ่งเตือนต้อนตีด่าให้เดินโดยด่วน อกใจนี้เจ็บปั่นป่วนเป็นเวทนา ที่ไหนน้องจะได้เห็นหน้าพระชนนี นับวันนับแต่จะ ลับลี้ล่วงแล้ว ไม่เห็นทางที่จะวี่แววตามมา ไม่มีใครที่กรุณานำสาร ให้ทราบพระ บาทบทมาลย์พระแม่เจ้า... (กาพย์มหาชาติ,๒๕๒๙:๔๘๒) คำประพันธ์ข้างต้นจากกาพย์มหาชาติ กาพย์กุมารบรรพ เป็นตอนที่พระกัณหาและพระชาลี ถูกชูชกพาตัวไป พระกัณหาได้คร่ำครวญพรรณนาความทุกข์ยากให้พระชาลีฟัง และโศกเศร้าคิดถึง พระนางมัทรีที่อาจจะไม่ได้พบหน้ากันอีก และไม่รู้จะฝากใครช่วยนำข่าวไปแจ้งพระนางมัทรีให้ทรง ทราบว่าทั้งสองกุมารถูกชูชกพาตัวมา การวิเคราะห์วรรณคดีตามองค์ประกอบของวรรณคดีข้างต้นนี้สามารถใช้ได้กับทั้งวรรณคดี ร้อยแก้ว และวรรณคดีร้อยกรอง โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ภาษา โวหาร ภาพพจน์ สามารถใช้ วิเคราะห์ได้ทั้งบันเทิงคดีและสารคดี การวิเคราะห์วรรณคดีตามองค์ประกอบจะช่วยให้เห็นความงาม และการสร้างสรรค์ที่ผู้แต่งได้รังสรรค์ไว้อย่างชัดเจน ๙. การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณคดี การวิเคราะห์วรรณคดีนั้น นอกจากวิเคราะห์ตามองค์ประกอบของวรรณคดีแล้ว ยังนิยม วิเคราะห์คุณค่าของวรรณคดีด้วย คุณค่าหลักของวรรณคดีคือให้ความบันเทิง เป็นเครื่องสำเริง อารมณ์ให้กับผู้อ่าน แต่นอกจากความบันเทิงแล้ว วรรณคดียังมีคุณค่าอีกหลายประการ ทั้ง ให้มุมมอง ในการใช้ชิวิต ให้คติเตือนใจ ให้ประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ให้มุมมองในการมองโลก ช่วยเสริมสร้าง ความรู้ และยังสะท้อนสภาพสังคมอีกด้วย ในที่นี้จะจำแนกคุณค่าของวรรณคดีออกเป็น ๓ ด้าน คือ คุณค่าด้านเนื้อหา คุณค่าด้านสังคมวัฒนธรรม และคุณค่าด้านวรรณศิลป์ รายละเอียดดังนี้ คุณค่าด้านเนื้อหา หมายถึง เนื้อหาของวรรณคดีนั้นก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อ่าน คุณค่าด้าน เนื้อหานี้จะแบ่งเป็น ๒ ประเด็น คือ เนื้อหาให้ความรู้ และเนื้อหาให้ข้อคิด คำสอนในการใช้ชีวิต ดังนี้ ๑) คุณค่าด้านการให้ความรู้เนื้อหาในวรรณคดีย่อมบันทึกเรื่องราวทาง สังคมที่คนรุ่นหลังไม่ได้มีประสบการณ์ร่วม ดังนั้นคนในยุคหลังสามารถศึกษาหาความรู้ได้จาก วรรณคดี แต่อย่างไรก็ตามความรู้ในวรรณคดีนั้น เป็นความรู้ที่ผ่านมุมมองของผู้แต่งในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง จึงไม่ใช่ความรู้ในลักษณะของตำราที่ให้ข้อเท็จจริง แต่ก็เป็นมรดกทางปัญญาที่บรรพบุรษได้ สร้างไว้ (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, ๒๕๕๘:๑๙) คุณค่าด้านการให้ความรู้ จึงเป็นคุณค่าที่ช่วยเสริมสร้าง ปัญญา ให้ความรู้ใหม่ ๆ แก่ผู้อ่าน ตัวอย่างวรรณคดีมีคุณค่าด้านการให้ความรู้ ให้ความรู้เรื่องลักษณะและสรรพคุณของดอกกุหลาบ ไม้เรียกผะกากุพ- ชะกะสีอรุณแสง ปานแก้มแฉล้มแดง ดรุณีณยามอาย;


๔๑ ดอกใหญ่และเกสร สุวคนธะมากมาย, อยู่ทนบวางวาย มธุรสขจรไกล; อีกทั้งสะพรั่งหนาม ดุจะเข็มประดับไว้, ผึ้งเขียวสิบินไขว่ บมิใคร่จะห่างเหิน. อันกุพฺชะกาหอม, บริโภคอร่อยเพลิน, รสหวานสิหวานเชิญ นรลิ้มเพราะเลิศรส; กินแล้วระงับตรี พิธะโทษะหายหมด, คือลมและดีลด ทุษะเสมหะเสื่อมสรรพ์; อีกทั้งเจริญกา- มะคุณาภิรมย์นันท์, เย็นในอุราพลัน, และระงับพยาธี. (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๓๕) ความข้างต้นจากเรื่องมัทนะพาธาให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะและสรรพคุณของ “ดอก กุพชกะ” หรือ “ดอกกุหลาบ” ว่ามีลักษณะคือดอกใหญ่สีแดง มีเกสรที่ส่งกลิ่นหอม ก้านมีหนาม ใน ด้านสรรพคุณนั้นสามารถนำมาบริโภคได้ รสชาติอร่อย ให้ความรู้เรื่องอปริหานิยธรรม ๗ อปริหานิยธรรมธำรง ทั้งนั้นมั่นคง มิโกรธมิกร้าวร้าวฉาน เพื่อธรรมดำเนินเจริญการณ์ ใช่เหตุแห่งหานิย์ เจ็ดข้อจะคัดจัดไข หนึ่ง. เมื่อมีราชกิจใด ปรึกษากันไป บ่วายบ่หน่ายชุมนุม สอง. ย่อมพร้อมเลิกพร้อมประชุม พร้อมพรักพรรคคุม ประกอบณกิจควรทำ สาม. นั้นถือมั่นในสัม มาจารีตจำ ประพฤติมิตัดดัดแปลง สี่. ใครเป็นใหญ่ได้แจง โอวาทศาสน์แสดง ก็ยอมและน้อมบูชา ห้า. นั้นอันบุตรภริยา แห่งใครไป่ปรา รภประทุษข่มเหง หก. ที่เจดีย์คนเกรง มิย่ำยำเยง ก็เซ่นก็สรวงบวงพลี


๔๒ เจ็ด. พระอรหันต์อันมี ในรัฐวัชชี ก็คุมก็ครองป้องกัน (ชิต บุรทัต, ๒๕๔๖:๖-๗) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์มีการให้ความรู้ในหลักธรรมที่ชื่อว่า “อปริหานิยธรรม ๗” ว่าเป็นธรรมที่ทำให้ไม่เกิดความร้าวฉาน เป็นธรรมเพื่อความเจริญใช้ในปกครอง บ้านเมือง ประกอบไปด้วย ๗ ข้อ คือ ๑) เมื่อมีกิจใดก็ประชุมปรึกษาหารือกัน ๒) พร้อมเพรียงกัน ประชุม พร้อมเพียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพียงกันทำกิจทั้งปวง ๓) ปฏิบัติตามขนบจารีตที่ดีงาม ไม่ยกเลิก ไม่ดัดแปลง ๔) เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ปฏิบัติตามและให้ความเคารพ ๕) ไม่ทำร้าย ข่มเหง บุตร ภรรยาของผู้อื่น ๖) ไม่ลบหลู่ดูหมิ่น และให้เคารพ สักการะ เจดีย์สถาน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ และ ๗)คุ้มครอง ป้องกันดูแลพระอรหันต์ ๒) ให้ข้อคิดคำสอนในการใช้ชีวิต เนื้อหาในวรรณคดีส่วนหนึ่งเป็นการ จำลองวิถีชีวิต อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมมาถ่ายทอดเป็นงานเขียน ฉะนั้นเนื้อหาหรือ พฤติกรรมของตัวละครจึงให้ข้อคิดคำสอนในการใช้ชีวิต ให้มุมมองในการมองโลก ที่ผู้อ่านสามารถ ประยุกต์ไปใช้ หรือนำมาเป็นข้อเตือนใจในการใช้ชีวิตได้ ข้อคิดจากวรรณคดีสามารถทำให้เราเข้าใจ ชีวิตเข้าใจโลกได้ดียิ่งขึ้น (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, ๒๕๕๘:๒๐) ข้อคิดนี้สามารถแบ่งได้เป็นหลายระดับ ดังนี้ ข้อคิดเรื่องความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เมื่อนั้น ฝ่ายองค์พระคเณศร์แข็งขัน กางกรสองข้างถ่างกัน แล้วว่าไปพลันแก่เจ้าพราหมณ์ ช้าก่อนตัวท่านจะไปไหน เราอยู่นี่เหตุใดไม่ไต่ถาม จะมาเดินรี่ขึ้นวิมานงาม หยาบหยามเช่นนี้ไม่บังควร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๐๔:๒๐-๒๑) คำประพันธ์ข้างต้นจากบทเบิกโรงเรื่องพระคเณศร์เสียงา ความข้างต้นเป็นตอนที่พระคเณศ ขัดขวางไม่ให้ปรศุรามเข้าไปรบกวนพระศิวะและพระแม่อุมา ด้วยพระคเณศได้รับหน้าที่ในการเฝ้า พระทวาร พระคเณศจึงขัดขวางปรศุรามโดยไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจของปรศุราม เหตุการณ์ข้างต้น ให้ข้อคิดที่สำคัญเรื่องความรับผิดชอบและการรักษาหน้าที่ของตนเองดังเช่นพระคเณศที่ปฏิบัติหน้าที่ ของพระองค์โดยไม่เกรงกลัวต่อภัยอันตราย ข้อคิดเรื่องการเล่นการพนัน ทรงธรรม์บุญโศลกราช ก็บ่มิได้ขาดการสกา จนราชาแพ้พระบุษกร จนเสียนครเสียราชย์ ภูวนาถเสียเงิน ทุกสิ่งสิ้นพัสดุสรรพ์ นลราชันเสียสมบัติ สารพัดเพื่อแพ้สกา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎแกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๑๗:๑๐๑)


๔๓ คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องพระนลคำหลวงเป็นตอนที่พระนลหลงใหลการเล่นสกา จนเสีย ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งทรัพย์สิน และเสียบ้านเสียเมือง เหตุการณ์นี้ให้ข้อคิดสำคัญในการดำเนินชีวิตคือ หากบุคคลหลงมัวเมาในการพนันใดก็ตาม ย่อมทำให้บุคคลขาดสติ จนสูญสิ้นทุกอย่าง ยิ่งบุคคลที่มี ตำแหน่งหน้าที่หรือความรับผิดชอบสูง ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะมากตามมา ข้อคิดเรื่องความรัก ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน, ไม่ยินและไม่ยล อุปะสัคคะใดๆ. ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้, ก็โลดจากคอกไป บยอมอยู่ณที่ขัง; ถึงหากจะผูกไว้ ก็ดึงไปด้วยกำลัง, ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บหวนคิดถึงเจ็บกาย. (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,๒๕๖๔:๘๔) คำประพันธ์ข้างต้นจากเรื่องมัทนะพาธาให้ข้อคิดที่เป็นสัจธรรมและเป็นข้อคิดอันเป็นสากล เรื่อง “ความรัก” คนยามมีความรักก็เหมือนคนตาบอด ทำให้ลุ่มหลงและขาดสติในการพิจารณา ไตร่ตรองเรื่องราวต่าง ๆ สุดท้ายก็จะนำความทุกข์ทรมานมาสู่ตนเอง ๒ ) คุณค่าด้านสังคมวัฒนธรรม วรรณคดีที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย ย่อมเกิดจากเรื่องราวหรือวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น ๆ ดังนั้นเนื้อหาของวรรณคดีจึงสะท้อนสังคม วัฒนธรรม อันหมายรวมถึง ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิต ระบบความคิดของคนในสมัยนั้น ๆ ได้ “วรรณคดีจึงมักเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพสังคม”(กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ,๒๕๕๘:๙) ดังนั้นคุณค่า ด้านสังคมวัฒนธรรม จึงเป็นการวิเคราะห์ถึงสภาพสังคม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิต ที่ สะท้อนผ่านวรรณคดี ดังจะยกตัวอย่างคุณค่าด้านสังคมวัฒนธรรมจากเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่สะท้อน สภาพสังคมสมัยอยุธยา ดังตัวอย่าง ตัวอย่างความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร จะกล่าวถึงทองประศรีมีครรภ์แก่ งามแท้เผ้าผมก็สมหน้า ผิวพรรณดังสุวรรณมาทาบทา ดวงหน้าดังจันทร์เมื่อวันเพ็ง แก้มทั้งสองข้างดังปรางทอง เต้านมทั้งสองก็ครัดเคร่ง ผิวเนื้อเป็นนวลควรแลเล็ง ดูปลั่งเปล่งน่าชมพอสมตัว จำศีลภาวนาเป็นเนืองนิตย์ น้อมจิตนบนิ้วขึ้นเหนือหัว ภาวนาบูชาด้วยดอกบัว ไม่กลัวที่จะเป็นอันตราย ... ถึงฤกษ์งามยามปลอดคลอดง่ายดาย ลูกนั้นเป็นชายร้องแว้แว้ (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๗)


๔๔ บทนี้เป็นการบรรยายตอนที่ทองประศรีตั้งท้องพลายแก้ว ตามความเชื่อของคนไทยถ้าคนที่ จะมาเกิดเป็นผู้มีบุญ แม่ในขณะที่ตั้งครรภ์ก็จะดูสวยงาม ผุดผ่อง การที่ลูกคลอดง่ายก็เป็นความเชื่อ ที่ว่าลูกเป็นผู้มีบุญและมาจากที่ที่ดี นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นการที่คนท้องมักถือศีลเพื่อให้ลูกและ ตัวเองปลอดภัย แต่ในทางตรงกันข้ามหากมารดาที่ตั้งท้องอยากทานของสด ของคาว และคลอดลูกได้ ยาก มักเชื่อกันว่าสิ่งที่จะมาเกิดนั้นมาจากภาพภูมิที่ไม่ดี ดังตอนกำเนิดขุนช้าง จะกล่าวถึงนางเทพทอง ท้องนั้นโตใหญ่ขึ้นค้ำหน้า ลุกนั่งอึดอัดถัดไปมา ให้อยากเหล้าเนื้อพล่าตัวสั่นรัว น้ำลายไหลรี่ดังผีกระสือ ร้องไห้ครางฮืออ้อนวอนผัว เหมือนหนึ่งตาหลวงเข้าประจำตัว ยิ่งให้กินตละยั่วยิ่งเป็นไป ปลาไหลไก่กบทั้งเต่าฝา แย้บึ้งอึ่งนาไม่พอไส้ หยิบคำโตโตโม้เข้าไป ประเดี๋ยวเหล้าสิ้นไหไม่ซื้อทัน เจ็บปวดหลายเดือนดีดัก พะอำพะอักออดแอดอยู่ตัวสั่น ท้องลดทศมาสลูกถีบยัน พอใกล้ฤกษ์ยามนั้นเจ็บหนักไป (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๕) ตัวอย่างประเพณีการแต่งงาน การแต่งงานเป็นประเพณีที่มีหลายขั้นตอนดังนี้ ขั้นทาบทามและสู่ขอ การหมั้น การ แต่งงาน เมื่อกำหนดวันแต่งงานได้แล้วจะต้องมีการ “ลงแขก”ปลูกเรือนหอ สำหรับการแต่งงานมี หลายขั้นตอนเช่นกันตั้งแต่ ขบวนแห่ขันหมาก พิธีซัดน้ำ เจ้าบ่าวนอนเฝ้าหอ การทำบุญตักบาตร และการส่งตัวเข้าหอ การแต่งงานนี้แสดงให้เห็นประเพณีที่ดีงามของคนไทยที่ในปัจจุบันแทบจะสูญ สิ้นไปแล้ว เช่น การลงแขก ซัดน้ำ นอนเฝ้าหอ ดังนี้ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว ครั้นถึงกำหนดแล้วจึงนัดหมาย บอกแขกปลูกเรือนเพื่อนผู้ชาย มายังบ้านท่านยายศรีประจัน ให้ขุดหลุมระดับชักปักเสาหมอ เอาเครื่องเรือนมารอไว้ที่นั่น ตีสิบเอ็ดใกล้รุ่งฤกษ์สำคัญ ก็ทำขวัญเสาเสร็จเจ็ดนาที (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๑๖๐) คำประพันธ์ข้างต้นเป็นตอนที่ขุนแผนจะปลูกเรือนหอ ได้มีการ “บอกแขก” หรือ “ลงแขก” เพื่อนผู้ชายมาช่วยกันปลูกเรือนหอ จากตอนเดียวกันนี้ยังสะท้อนความเชื่อในเรื่อง “ฤกษ์ยาม” และ “ขวัญ” ในตอนที่มีฤกษ์ในการทำขวัญเสาเรือนก่อนจะเริ่มปลูกเรือนเพื่อความเป็นสิริมงคล และยัง แสดงให้เห็นประเพณีการแต่งงานที่สังคมไทยจะนำ “เขยเข้าบ้าน” โดยสังเกตได้จากที่ขุนแผนมาปลูก เรือนหอที่บ้านศรีประจัน และนอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของประเพณีการแต่งงานคือ “การซัดน้ำ “ดังความว่า


๔๕ ครั้นถึงน้อมนั่งฟังพระธรรม พระสดำจับมงคลคู่ใส่ สายสิญจน์โยงศรีมาลาพระไวย พอฆ้องใหญ่หึ่งดังตั้งชยันโต หนุ่มสาวเคียงคั่งเข้านั่งอัด พระสงฆ์เปิดตาลปัตรซัดน้ำโร่ ปรำลงข้างสีกาห้าหกโอ ท่านยายโพสาวนำน้ำเข้าตา (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๘๐๐) ตัวอย่างวิถีชีวิต สภาพสังคม เรื่องขุนช้างขุนแผนสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมด้านอาหารอยู่หลายตอนทั้งจากอาหาร ที่ใช้ในงานแต่งงาน อาหารที่ใช้การเทศน์มหาชาติ ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็คืออาหารที่อยู่ในบริบทวิถีชีวิต ของผู้คนในสมัยอยุธยา ดังตัวอย่าง บ่าวไพร่ทำขนมประสมปั้น ชุบแป้งทอดน้ำมันอยู่ฉ่าฉ่า เฮ้ยไฟร้อนนักชักฟืนรา อีคงควักตักมาว่าเกรียมดี วางไว้ตามชมดแลกงเกวียน ฟั่นเทียนเรียงไว้อย่าให้บี้ ขนมกรุบขนมกรอบเห็นชอบที คลุกน้ำตาลพริบพรีใส่ที่ไว้ (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๕๕) คำประพันธ์ข้างต้นสะท้อนวิถีชีวิตและสภาพสังคมหลายด้าน ทั้งด้านสถานะครอบครัวที่ ครอบครัวผู้มีเงินจะมี “บ่าวไพร่” ไว้คอยรับใช้ การประกอบอาหารจะใช้เตาถ่านที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลง หากไฟแรงเกินไปจะแก้ไขด้วยการ “ชักฟืน”ออกจากเตา การทำขนมที่มีชื่อขนมที่ปรากฏในตอนนี้คือ “ขนมชะมด” และ “ขนมกงเกวียน” ซึ่งเป็นขนมที่ใช้ในงานมงคล แต่ในตอนนี้ใช้เป็นขนมในการ เทศน์มหาชาติ เมื่อทอดขนมสุกแล้วจะนำไปอบ “ควันเทียน”ให้มีกลิ่นหอม น้ำตาลที่นิยมใช้ทำขนม คือนำตาลจาก “พริบพรี” คือ จังหวัดเพชรบุรี เหล่านี้คือวิถีชีวิตของคนในสมัยอยุธยาที่สะท้อนผ่าน วรรณคดีหรืออีกตอนคือ ปีขาลวันอังคารเดือนห้า ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๘) คำประพันธ์ข้างต้นมีหน่วยนับเวลาที่ใช้ในเรื่องคือ “ชั้นฉาย” ซึ่งเป็นหน่วยนับเวลาในสมัย โบราณและปรากฏในสมัยอยุธยาตามยุคสมัยของเรื่องขุนช้างขุนแผน โดย ๑ ชั้นฉายมีระยะเวลา ๑ ชั่วโมง ทั้งนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๕๖,๓๗๐) ได้อธิบายความหมายของชั้นฉายไว้ ดังนี้ ชื่อหน่วยในมาตราวัดเวลาในสมัยโบราณ วัดโดยอาศัยการวัดเงาของ ตัวคนที่เกิดจากแสงแดดด้วยระยะความยาวของฝ่าเท้าของบุคคลนั้น ตอนเช้า หรือเย็นเงาจะทอดยาว และตอนเที่ยงเงาจะสั้นที่สุดหรืออาจไม่มีเลย เงาจะ เปลี่ยนสั้นยาวได้จากเดือนหนึ่งไปสู่อีกเดือนหนึ่ง, เงายาว ๑ ฝ่าเท้า เรียกว่า ๑ ชั้นฉาย สามารถเทียบเวลาได้ ถ้าเป็นตอนเช้าเท่ากับ ๑๑.๔๕ นาฬิกา ถ้าเป็น


๔๖ ตอนบ่ายเท่ากับ ๑๒.๑๕ นาฬิกา เช่น ปีขาลวันอังคารเดือนห้า ตกฟากเวลาสาม ชั้นฉาย (ขุนช้างขุนแผน). ๓) คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ศิลปะด้านการใช้ภาษาที่เรียกว่า “วรรณศิลป์” จะ วิเคราะห์จากการใช้คำ ภาพพจน์ ลีลาวรรณคดีประเภทต่าง ๆ เช่นเดียวกับการพิจารณาลีลาท่าทีและ การใช้ภาษาของผู้แต่ง (Style and language) ที่ได้อธิบายไว้ในหัวข้อดังกล่าวแล้ว และในหัวข้อนี้จะ ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติม ดังตัวอย่างเรื่องการใช้คำง่ายแต่มีความหมายลึกซึ้งและทำให้เกิดภาพและเสียง ที่ชัดเจน รอนรอนอ่อนแสงพระสุริยง ชักม้าเลียบลงตรงน้ำไหล ครั้นถึงธารท่าชลาลัย ชวนวันทองน้องให้ลงจากม้า ปลดอานม้าพลางทางเปลื้องเครื่อง แล้วชวนนางย่างเยื้องลงสู่ท่า ต่างกินอาบซาบเย็นเส้นโลมา บุษบาบานช่ออรชร เด็ดฝักหักรากกระชากฉุด เผลาะผลุดรากเลื้อยอะล่อนจ้อน ขุนแผนปล้อนปอกง่าวดูขาวงอน ว่าวอนลองกินเถิดน้องรัก หม่อมเอ๋ยฉันไม่เคยจะกินราก กลัวคันปากแสบลิ้นจะกินฝัก เชื่อพี่ลองหน่อยอร่อยนัก กลัวแต่จักติดใจเมื่อได้รส ก็นั่นบัวหัวเดียวจะให้ข้า อนิจจาตัวหม่อมจะยอมอด หม่อมไม่มีฉันนี้ก็จะงด บัวไม่หมดดอกเจ้าเฝ้าเสียดาย (ขุนช้างขุนแผน,๒๕๑๓:๔๖๓) บทที่ยกมาเป็นตอนที่ขุนแผนพาวันทองหนีไปอยู่ในป่าและได้มาแวะอาบน้ำที่ลำธาร เห็นได้ ว่าบทที่ยกมาใช้คำง่าย สั้น แต่ให้เนื้อความมาก คือ การใช้คำสั้นๆ แต่เป็นคำที่ให้ความหมายลึกซึ้ง ซึ่ง ทำให้บทกลอนมีความกระชับและมีเนื้อความสมบูรณ์ เช่น“ต่างกินอาบซาบเย็นเส้นโลมา” วรรคที่ยก มาใช้คำง่ายให้ความหมายชัดเจนว่าตัวละครทั้งกินและอาบน้ำ โดยเฉพาะคำว่า “ซาบ” ซึ่งเป็นเสียง เสียดแทรก ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่าตัวละครรู้สึกสดชื่น เย็นช่ำไปทั่วร่างกาย และเป็นความสด ชื่นแบบที่ซาบซ่านไปทั่วร่าง หรือวรรคที่ว่า “แล้วชวนนางย่างเยื้องลงสู่ท่า” วรรคนี้เป็นตอนที่ขุนแผน ชวนวันทองลงเล่นน้ำ เพียงแค่วรรคนี้แสดงให้เห็นความรักที่ขุนแผนมีต่อวันทองชัดเจน เป็นความรัก แบบทะนุถนอมที่ค่อย ๆ ชวนนางย่างเยื้องมาลงน้ำ คำว่า “ย่างเยื้อง” เป็นคำให้ความหมายชัดเจนว่า ค่อยๆชวนกันเดินมา ไม่ได้รีบวิ่งมากระโดดลงน้ำ ตรงนี้จึงให้ภาพของคู่รักที่ทะนุถนอมกันอีกด้วย การใช้คำง่ายนอกจากจะเป็นคำที่ให้ความหมายกว้างแล้ว คำเหล่านั้นยังแสดงให้เห็นกิริยา อาการของตัวละครได้อย่างชัดเจน เสมอเหมือนกิริยาเหล่านั้นได้ปรากฏต่อตาของผู้อ่าน ดังวรรคที่ว่า “เด็ดฝักหักรากกระชากฉุด เผลาะผลุดรากเลื้อยอะล่อนจ้อน” คำที่มาประกอบเป็น ๒ วรรคนี้ ไม่มีคำ ใดเป็นคำยาก ทุกคำเป็นคำสั้นๆ โดยเฉพาะเป็นคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น ที่แสดงกิริยาในการเก็บ รากบัวของขุนแผนได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่เด็ดฝัก กระชากรากขึ้นมา และยังมีเสียงของรากบัวที่หลุด


๔๗ ขึ้นมาดัง “เผลาะ” อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อรากบัว “เผลาะผลุด” เพียงแค่ ๒ คำให้ทั้งภาพทั้งเสียงที่ เป็นการกระทำที่รวดเร็ว เมื่อเกิดเสียง “เผลาะ” รากบัวก็ “ผลุด”ขึ้นมาทันที ให้ภาพของรากบัวที่ หลุดจากดินขึ้นมาทันที ไม่ใช่ค่อยๆหลุดออกมา จะเห็นได้ว่าเพียงแค่ ๒ วรรคข้างต้น ให้ความงามทั้ง ด้านการใช้คำ ความงามทางภาพ และให้สุนทรียทางเสียงอีกด้วย แนวทางการวิเคราะห์วรรณคดีตามองค์ประกอบของบันเทิงคดีข้างต้นจะช่วยให้ผู้วิเคราะห์ สามารถแยกวิเคราะห์วรรณคดีตามองค์ประกอบ และเห็นความงามของวรรณคดีได้อย่างละเอียดทั้ง ทางด้านโครงเรื่อง ตัวละคร แก่นเรื่อง ฉาก กลวิธีในการเล่าเรื่องหรือมุมมอง และลีลาและท่าทีของผู้ แต่งและการใช้ภาษา และเห็นคุณค่าของวรรณคดีจากการวิเคราะห์คุณค่าด้านต่าง ๆ


Click to View FlipBook Version