1 บทที่๑ หลักการเบื้องต้น ดร.พระพลากร สุมงฺคโล (อนุพันธ์) วัตถุประสงค์ประจำบท เมื่อศึกษาเนื้อหาบทนี้แล้ว ผู้ศึกษาสามารถ ๑. อธิบายความหมายและที่มาของกฎหมายได้ ๒. อธิบายประโยชน์และประเภทของกฎหมายได้ ๓. อธิบายระบบกฎหมายตลอดทั้งความสำคัญของกฎหมายได้ ๔. อธิบายหลักกฎหมายทั่วไปและประวัติพระบิดาแห่งกฎหมายไทยได้ ขอบข่ายเนื้อหา ▪ ความนำ ▪ ความหมายและที่มาของกฎหมาย ▪ ประโยชน์และประเภทของกฎหมาย ▪ ระบบกฎหมายตลอดทั้งความสำคัญของกฎหมาย ▪ หลักกฎหมายทั่วไปและประวัติพระบิดาแห่งกฎหมายไทย
2 ๑.๑ ความนำ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์จำต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ถ้ามนุษย์อยู่เพียงคนเดียวย่อมจะประพฤติ ตนอย่างไรก็ได้ไม่สนใจใคร แต่ถ้ามนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมหากมนุษย์ถือว่าตัวเองสามารถจะทำอะไรก็ได้หรือ ทำตัวอย่างไรก็ได้แล้ว สังคมก็จะคงอยู่ไม่ได้เพราะจะเกิดความวุ่นวาย ดังนั้น เพื่อให้สังคมอยู่รวมกันอย่างสงบ สุข มนุษย์จำต้องมีกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ กฎเกณฑ์นั้นคือ “กฎหมาย” นั่นเอง ทั้งนี้จึง จำเป็นต้องรู้หลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะบุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจาก ความรับผิดชอบตามกฎหมายมิได้ ๑.๒ ความหมายของกฎหมาย กฎหมาย คือ คำสั่งหรือข้อบังคับของรัฐที่กำหนดขึ้น เพื่อกำหนดความประพฤติของพลเมือง ผู้ใดฝ่า ฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามมีความผิดและถูกลงโทษ การบังคับนี้ใช้กับพลเมืองทุกคน ไม่จำกัด อายุ เพศ ชั้น วรรณะ สัญชาติ และกฎหมายจะใช้บังคับตลอดไปจนกว่าจะประกาศยกเลิก1 จอห์น ออสติน (John Austin) ให้ความหมายของ “กฎหมาย” ไว้ว่า กฎหมาย คือ คำสั่ง คำบัญชา ของรัฏฐาธิปัตย์ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมถูกลงโทษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จอห์น ออสติน เป็นผู้มีแนวความคิด ในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง โดยสำนักนี้มีความเห็นว่า การใช้กฎหมายต้องใช้ตามตัวบทกฎหมายนั้นอย่าง เคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องดูนิยามศัพท์ของกฎหมาย ทั้งเพื่อให้กฎหมายมีข้อบังคับแน่นอนตายตัว เพื่อว่าจะได้เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งประกอบกิจกรรมต่าง ๆ จะได้รู้ล่วงหน้าว่าผล แห่งกิจกรรมของตนในทางกฎหมายเป็นอย่างไร2 จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่ามีการให้ความหมายของกฎหมายไว้แตกต่างต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการให้ความหมายของ “กฎหมาย” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “กฎหมาย” หมายถึง กฎเกณฑ์ที่กำหนดความประพฤติของบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือควรปฏิบัติตาม ผู้ที่ละเมิดกฎหมายจะได้รับผลร้ายที่เป็นสภาพบังคับโดยเจ้าหน้าที่ในระบบกฎหมาย ๑.๓ ที่มาของกฎหมาย 1 สมคิด บางโม, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ยูแอนด์ไอ, ๒๕๔๖), หน้า ๑๕. 2 John Austin, “The Province of Jurisprudence determined”, ed. H.L.A. Hart, (Londin, ๑๙๕๔) อ้าง ในจรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญา, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๗), หน้า ๔๘.
3 กฎหมายที่ประเทศต่าง ๆ จัดทำขึ้นมีจำนวนมากมาย ครอบคลุมทุกด้านของสังคม เพื่อให้สังคมอยู่ ร่วมกันอย่างสงบสุข เมื่อพิจารณามาตราต่าง ๆ ของกฎหมายจะเห็นว่ามีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้ ๑. จารีตประเพณี ๒. ศีลธรรม หรือบทบัญญัติทางศาสนา ๓. ความยุติธรรม ๔. ผู้มีอำนาจสูงสุดของสังคม อาจเป็นบุคคล หรือคณะบุคคล ๑.๔ ระบบกฎหมาย กฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปัจจุบันแบ่งเป็น ๒ ระบบใหญ่ ดังนี้ ๑. ระบบซีวิลลอร์ (Civil Law) หรือระบบลายลักอักษร เป็นกฎหมายที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ชัดเจนอาจอยู่ในรูปของพระราชบัญญัติ หรือประมวลกฎหมาย การวินิจฉัยคดีมี ผู้พิพากษาเป็นผู้ ตัดสินชี้ขาด ระบบซีวิลลอร์ถือกำเนิดในประเทศยุโรป ประเทศต่าง ๆ ที่ใช้ระบบนี้ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม และสวิสเซอร์แลนด์ ๒. ระบบคอมมอนลอร์ (Common Law) หรือกฎหมายจารีตประเพณี เป็นกฎหมายที่ไม่กำหนด เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายที่เกิดจากจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาของ ศาลถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในภายหลัง การวินิจฉัยคดีมีคณะลูกขุนเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด กฎหมายแบบคอมมอนลอร์ถือกำเนิดในประเทศอังกฤษ ในระยะหลังรัฐสภาอังกฤษได้มีการออกกฎหมายลาย ลักษณ์อักษรขึ้นใช้บังคับอย่างแพร่หลาย แต่ก็ถือว่าเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่อง และเป็นข้อยกเว้น หลักทั่วไปของ กฎหมาย ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ๑.๕ ความสำคัญของกฎหมาย กฎหมายมีความสำคัญยิ่งต่อการอยู่ร่วมกันของสังคม กฎหมายมีความสำคัญดังนี้ ๑. เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ ๒. เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ๓. เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน ๔. เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ๑.๖ ประโยชน์ของกฎหมาย ประโยชน์ของกฎหมายอาจแยกได้เป็น ๒ นัย คือ ๑. ประโยชน์ของกฎหมายมหาชน มีดังนี้
4 (๑) กำหนดโครงสร้างและความเป็นอยู่ของรัฐ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา เป็นต้น (๒) จัดระเบียบการปกครองของรัฐ เช่น พ.ร.บ. ระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน เป็นต้น (๓) ลงโทษผู้เป็นภัยต่อสังคม เช่น ประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น ๒. ประโยชน์ของกฎหมายเอกชน (๑) สร้างความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว (๒) รับรองเรื่องกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิของบุคคล (๓) ให้การแก้ไข เมื่อมีการฝ่าฝืน หรือเสียหายเกิดขึ้น ๑.๗ ประเภทของกฎหมาย การจัดประเภทของกฎหมาย ยึดหลัก ๓ ประการ ดังนี้ ๑. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ๒. หลักการใช้กฎหมาย ๓. ศักดิ์ของกฎหมาย การจัดประเภทกฎหมายโดยยึดหลักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แบ่งกฎหมายออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้ ๑. กฎหมายมหาชน คือกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ได้แก่ กฎหมาย ต่อไปนี้ - กฎหมายรัฐธรรมนูญ - กฎหมายปกครอง - กฎหมายอาญา - กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ๒. กฎหมายเอกชน คือกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล เอกชนต่อเอกชนใน รัฐเดียวกัน ได้แก่กฎหมายต่อไปนี้ - กฎหมายแพ่ง กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลทั่วไป - กฎหมายพาณิชย์ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่มีอาชีพทางการพาณิชย์ - กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดข้อบังคับและวิธีดำเนินการดำเนินการพิจารณาคดีในศาล แพ่ง ๓. กฎหมายระหว่างประเทศ คือกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยอาศัยประเพณี ที่มีอยู่เดิม หรือที่ตกลงบัญญัติขึ้นใหม่ เช่น สนธิสัญญาต่าง ๆ เป็นต้น สาขาของกฎหมายระหว่างประเทศ มีดังนี้ ๑) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติ เป็นต้น
5 ๒) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น ๓) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง เช่น สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น การจัดประเภทโดยยึดหลักการใช้กฎหมาย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้ ๑) กฎหมายสารบัญญัติคือกฎหมายที่มีลักษณะเป็นเนื้อแท้ของกฎหมาย บัญญัติข้อห้ามกระทำ หรือให้บุคคลกระทำ หรือกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลไว้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นต้น ๒) กฎหมายวิธีสบัญญัติคือกฎหมายที่มีลักษณะกำหนดวิธีการดำเนินการที่ทำให้ข้อห้าม ข้อบังคับที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นต้น ๑.๘ หลักกฎหมายทั่วไป หลักกฎหมายทั่วไป (general principle of law) คือ หลักกฎหมายซึ่งผู้พิพากษาในฐานะศาลค้นหา มาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อใช้บังคับในระบบกฎหมาย ผู้พิพากษาเป็นเป็นเพียงผู้ค้นหาไม่ใช่สร้างหลักกฎหมายขึ้น หลักกฎหมายทั่วไปมีลักษณะกว้างกว่าหลักกฎหมายธรรมดา กว้างกว่าตัวบทบัญญัติกฎหมาย เช่น หลักกฎหมายทั่วไปเรื่องความเสมอภาค เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ใช้ทั้งในกฎหมายเอกชนและกฎหมาย มหาชน เมื่อหลักกฎหมายทั่วไปกว้างมากผู้ทำหน้าที่ในการค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปก็คือ “ศาล” สำหรับศาล จะใช้วีการค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปโดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ ดังนี้3 (๑) สุภาษิตกฎหมาย ศาลอาจจะค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปจากสุภาษิตกฎหมาย โดยสุภาษิตกฎหมาย เป็นคำกล่าวที่ปลูกความคิดในทางกฎหมาย และยังเป็นบทย่อของหลักกฎหมายต่าง ๆ ด้วย เช่น กรรมเป็น เครื่องชี้เจตนา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ในระหว่างผู้สุจริตด้วยกัน ผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ (๒) การพิเคราะห์โครงสร้างกฎหมาย เช่น พิจารณาจากโครงสร้างของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ จะได้จากหลักกฎหมายทั่วไป กฎหมายคุ้มครองผู้กระทำการโดยสุจริต (๓) การเปรียบเทียบหลักกฎหมายต่างประเทศ ศาลไทยในอดีตก่อนที่ประเทศไทยจะมีกฎหมาย เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเล เคยนำหลักกฎหมายเรื่องการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาตัดสินคดี ในประเทศไทย ๑.๙ ประวัติพระบิดาแห่งกฎหมายไทย 3 ธานินทร์ กรัยวิเชียร และวิชา มหาคุณ, การตีความกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์, ๒๕๓๙), หน้า ๑๖๘-๑๗๗.
6 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า รพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช กับเจ้าจอม มารดาตลับ ประสูติ ณ วันพุธที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนัก สวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง โดยมีมหาปั้น (เจ้าพระยายมราช) เป็นพระอาจารย์ผู้สอน ครั้นโสกันต์ (โกนจุก) แล้วได้ทรงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษจนถึงระดับอุดมศึกษา ในระดับอุดมศึกษาพระองค์ทรงศึกษา วิชากฎหมาย ณ สำนักไครส์เชิช แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และสอบไล่ได้ปริญญาตรีชั้นเกียรตินิยมภายใน เวลา ๓ ปีเมื่อพระชันษาได้เพียง ๒๐ พรรษา ซึ่งคนธรรมดาต้องเรียนถึง ๔ ปีเมื่อจบการศึกษาแล้วพระองค์ เสด็จกลับเมืองไทยมารับราชการในกรมราชเลขานุการ ด้วยพระปรีชาสามารถฉลาดเฉียบแหลมยากจะหาผู้ใด เทียบได้ทั้งทรงมีพระอุตสาหะขยันขันแข็งในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ในไม่ช้าก็ทรงสามารถทำงานในกรมนั้นได้ ทุกตำแหน่ง ตลอดถึงร่างพระราชหัตถเลขาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ซึ่งเป็นที่ พอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก ถึงกับเรียกพระองค์ว่า “เฉลียวฉลาดรพี” ครั้นต่อมาเมื่อพระองค์ได้รับ พระราชทานพระยศเป็นกรมหลวง ทรงมีพระนามว่า “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์” พระองค์ได้ทรงไปศึกษางานด้านกฎหมายกับเจ้าพระยาอภัยราชา (ดร.โรแลง ยัดแมงส์) ซึ่งเป็นนักกฎหมาย ชาวเบลเยี่ยมมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยนั้น เจ้าพระยาอภัยราชาได้ขอให้พระองค์ทรง ศึกษากฎหมายไทย ทั้งหมดแล้วทำสารบัญรายละเอียดให้ดู พระองค์ทรงศึกษาอยู่ไม่กี่เดือนก็ทำสำเร็จ จนเป็นที่แปลกใจของเจ้าพระยาอภัยราชา เมื่อซักถามก็ได้ความว่าพระองค์มีความทรงจำดีมาก ถ้าได้ทรงอ่าน เพียงครั้งเดียวก็สามารถจำความสำคัญในกฎหมายได้หมด4 ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้รับตำแหน่ง สภานายกพิเศษ พระองค์ได้จัดตั้งศาลมณฑลและศาลหัวเมือง (ศาลจังหวัด) ขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้ง ศาลหัวเมืองในมณฑลอยุธยาเป็นเริ่มแรก ทรงรวบรวมตุลาการในหัวเมืองซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นส่วน ใหญ่เข้ามาอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ทรงพิจารณาพิพากษาคดีความที่คั่งค้างเป็นอันมากให้สำเร็จได้ในเวลา อันรวดเร็วสมตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ ดังนั้นเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าประกาศตั้งให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็น “เสนาบดี กระทรวงยุติธรรม” ซึ่งขณะนั้นเสด็จในกรมหลวงราชบุรี ฯ ทรงมีพระชนมายุเพียง ๒๒ พรรษา นับเป็น เสนาบดีที่หนุ่มที่สุดในโลก เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์ทรงแก้ไขระเบียบราชการ ในกระทรวงยุติธรรมทั้งแผนกธุรการและตุลาการ ทรงวางระเบียบปฏิบัติของศาลเพื่อให้มีความสะดวกในการ พิจารณาพิพากษาคดีซึ่งได้ออกเป็นกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมไว้หลายสิบฉบับและได้ใช้ตลอดมา จนถึงมี การประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ กฎเสนาบดีเหล่านั้นจึงยกเลิกไป นอกจากนี้ยังได้ทรงเป็นประธานกรรมการร่างกฎหมายที่ 4 ข้อมูลมีที่มาจาก “ หนังสือรพีรำลึก’ ๓๘ ” จัดทำโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, ไม่ปรากฏ สำนักพิมพ์, สิงหาคม ๒๕๓๘ , หน้า ๒๓ – ๒๗.
7 สำคัญหลายฉบับเพื่อให้พอกับความต้องการของประเทศ คือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ พระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ คณะกรรมการร่างกฎหมายนี้ต่อมาได้ตั้งเป็นกรมร่างกฎหมายแล้วเปลี่ยนชื่อเรียกว่า “คณะกรรมการ กฤษฎีกา” มาจนทุกวันนี้ทั้งยังจัดระเบียบเกี่ยวกับเรือนจำโดยย้ายกองมหันตโทษและกองลหุโทษจาก กระทรวงนครบาลมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนเรือนจำหัวเมืองคงขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย กรมอัยการ ซึ่งได้ตั้งขึ้นตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงจัดวางระเบียบงานใหม่ให้กรม อัยการมีหน้าที่ปฏิบัติการเฉพาะกรุงเทพฯ และสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ส่วนอัยการหัวเมืองคงสังกัด กระทรวงมหาดไทย งานที่พระองค์ทรงปรับปรุงในสมัยนั้นเป็นภาระหนักมาก เพราะไม่มีคนที่มีความรู้ กฎหมายเพียงพอที่จะรับราชการมาช่วยงาน จึงทรงขอพระบรมราชานุญาตรัชกาลที่ ๕ จัดตั้งโรงเรียนสอน กฎหมายขึ้นโดยตั้งอยู่ในกระทรวงยุติธรรมนั่นเอง นับได้ว่าประเทศไทยได้เริ่มมีการสอนกฎหมายขึ้นเป็นครั้ง แรก ณ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม นี้เอง เนื่องจากวิชากฎหมายที่สอนจะต้องเปลี่ยนรูปให้เข้าแบบ สากล พระองค์จึงทรงสอนเองและทรงคัดเลือกคนที่จะศึกษากฎหมายด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงทำคำอธิบาย กฎหมายลักษณะอาญาและกฎหมายต่าง ๆ ออกมาเพื่อให้นักศึกษาใช้ศึกษา และเพื่อให้คนเห็นแนวทางของ กฎหมายที่จะดำเนินต่อไป โดยจัดทำเป็นเล่มรวม ๒ เล่ม มีชื่อว่า “กฎหมายราชบุรี” จนในปีพ.ศ. ๒๔๔๐ มีการสอบไล่กฎหมายครั้งแรกได้บัณฑิตจบการศึกษาเป็น “เนติบัณฑิต” รุ่นแรก ๙ คน ออกมารับราชการแบ่ง เบาภาระพระองค์ได้บ้าง สำหรับด้านงานศาลซึ่งในเวลานั้นไทยเสียเอกราชทางการศาล เพราะชาวต่างชาติไม่ ยอมขึ้นศาลไทยแต่จะขึ้น “ศาลกงสุล” ที่อยู่ในไทยตามสัญญาพระราชไมตรีโดยอ้างว่ากฎหมายของไทยยังไม่ ทันสมัยและเขายังไม่ไว้ใจศาลไทย เสด็จในกรมหลวงราชบุรี ฯ ได้ทรงแก้ไขโดยจ้างนักกฎหมายชาวต่างชาติซึ่ง ล้วนเป็นนักกฎหมายชั้นเยี่ยมทั้งสิ้น ทั้งนักกฎหมายชาวญี่ปุ่น เบลเยี่ยม อังกฤษ และฝรั่งเศส มาเป็นผู้พิพากษา ร่วมพิจารณาพิพากษาคดีในศาลไทย ทำให้ผู้พิพากษาในศาลไทยกระตือรือร้นศึกษาวิชากฎหมายไทยและ ต่างประเทศ จนงานของศาลไทยดำเนินรุดหน้าไปได้ด้วยดีความเชื่อถือในศาลไทยจึงมีมากขึ้นตามลำดับ ถึงกับต่างชาติยอมเลิกศาลกงสุลยอมให้คนของตนขึ้นศาลไทย โดยศาลไทยนี้มีชื่อเรียกว่า “ศาลต่างประเทศ” มีผู้พิพากษาชาวต่างชาตินั่งเป็นผู้พิพากษากำกับอยู่ด้วยคนหนึ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีต่อมาเมื่อได้มีการ ประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว บรรดาต่างชาติได้ยอมรับการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลไทย จึงได้ยกเลิกศาลต่างประเทศและกลับมาเป็น ศาลไทยโดยมีผู้พิพากษาคนไทยเท่านั้นเป็นผู้พิพากษาในการนั่งพิจารณาพิพากษาคดีทำให้เอกราชทางการ ศาลไทยกลับคืนมา พระภารกิจของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีความหนักอึ้งสุดจะพรรณา นอกจาก หน้าที่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม อาจารย์โรงเรียนกฎหมาย ประธานคณะกรรมการร่างกฎหมายแล้ว ยังทรง รับหน้าที่กรรมการศาลฎีกาโดยเป็นประธานศาลฎีกาด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำให้ในเวลานั้นพระองค์ทรง รับภาระหน้าที่อันหนักยิ่ง ทรงเหนื่อยยากลำบากที่สุด เพราะหาคนช่วยงานราชการได้ไม่มากนัก แต่พระองค์ก็ ทรงพอพระทัย และตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวที่จะสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนสุดแรง เพื่อช่วยคนให้มีความรู้ในวิชากฎหมายและอบรมจิตใจให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีในการรับใช้ประเทศชาติ
8 พระองค์ทรงเสียสละทุกอย่างโดยไม่ทรงคิดถึงพระองค์เองเลย ทรงคิดถึงแต่งานเป็นใหญ่ ทำงานโดยมิได้ย่อท้อ ด้วยทรงยึดคติประจำพระทัยของพระองค์ว่า “My life is service” คือ “ชีวิตของข้าพเจ้าเกิดมาเพื่อรับใช้ ประเทศชาติ” ดังเห็นได้จากคำสอนของพระองค์ที่ว่า “คนเราควรจะให้แต่ไม่ควรจะขออะไรจากคนอื่นควรจะ กินพอประมาณไม่ควรมากเกินไปถึงท้องกาง ควรช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่เหยียบย่ำ ควรจะรับใช้ไม่ควรจะคิด เป็นนายคน” และทรงมีพระทัยเมตตาต่อคนทั่ว ๆ ไปไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง พระองค์จึงทรงเป็นที่เคารพรัก ของข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นนักเรียนกฎหมายซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ต่าง เทิดทูนพระองค์เป็นศาสดา ไม่ว่าจะรับสั่งว่าอะไร หรือให้ทำอะไรก็ดูเหมือนจะเห็นตามหรือทำตามคำสั่งทั้งสิ้น นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีความคิดและความประสงค์มานานที่จะให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระ ซึ่งแปลว่าจะทำให้ ศาลแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรัฐบาล ซึ่งเป็นความคิดตามครรลองประชาธิปไตยดังที่เป็นอยู่ทั่วโลกในเวลา นี้นี่เอง แต่ขณะนั้นรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา จึงเป็นที่ผิดหวังของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ อยู่มาก ต่อมาในราววันที่ ๒๐ เมษายน ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงทำหนังสือกราบบังคม ทูลว่าประชวรมีอาการปวดพระเศียรเป็นกำลัง รู้สึกว่าในสมองเผ็ดร้อนเหมือนหนึ่งโรยพริกไทยระหว่าง มันสมองกับกระดูก คิดและจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ทำงานแม้แต่นิดหน่อยก็เหนื่อย หมอไรเตอร์ผู้ตรวจพระอาการ เห็นว่าต้องหยุดการทำงานเพื่อรักษาพระองค์เมื่อเป็นเช่นนี้รู้สึกว่าจะทำงานสนองพระเดชพระคุณไม่ได้ จึงขอ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ทรงเลือกสรรผู้อื่นเข้า รับหน้าที่ต่อไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาต และต่อมาเสด็จในกรม หลวงราชบุรี ฯ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่ วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕) และทรงทำงานที่กระทรวงเกษตราธิการจนถึงในปีพ.ศ.๒๔๖๒ พระองค์ทรงประชวรด้วย “โรควัณโรคที่พระวักกะ” (โรคฝีในท้องที่ไต) จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระ มงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวขอกราบถวายบังคมลาออกจากราชการและเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศ ฝรั่งเศส แต่พระอาการก็ไม่ทุเลา ครั้นวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓ ก็สิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีสนั่นเอง ขณะที่มี พระชนมายุได้๔๗ พรรษา อันนำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่วงการนักกฎหมายไทยยิ่งนัก หลังจากนั้นได้ทรง อัญเชิญพระอัฐิกลับประเทศไทยและนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดราชบพิธสถิตสีมารามวรวิหาร อยู่สืบมาจนทุก วันนี้การที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นในการทำงานให้แก่ประเทศชาติ บ้านเมืองสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว มากกว่าที่จะสนพระทัยในเรื่องส่วนพระองค์ ทรงรับภาระหน้าที่ สำคัญอันหนักยิ่งในการพัฒนาปรับปรุงงานด้านกระบวนการยุติธรรมงานศาล งานวางรากฐานการศึกษาวิชา กฎหมายและผลิตนักกฎหมายงานปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เป็นแบบสากล งานพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญ ๆ ตลอดจนกำกับดูแลการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษา โดยทรงยึดหลักความยุติธรรมและความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นธรรมประจำพระทัย ทรงมีพระทัยเมตตาแก่บุคคลทั่วไป ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทรงละซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลงโดยสิ้น พระคุณอเนกอนันต์ที่พระองค์ทรงมีต่อประเทศชาติและต่อนักกฎหมายทั้งปวง ทำให้นักกฎหมายและประชาชนทั่วไปร่วมเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์ร่วมกันขนานนามพระองค์ว่า “พระ
9 บิดาและปฐมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทย” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่มีเสนาบดีคนใดจะได้รับเกียรติอันเกิดจากน้ำใจ คนถึงเช่นนี้ ๑.๑๐ บทสรุป หลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายเป็นสิ่งที่บุคคลทุกคนต้องจำเป็นต้องรู้ เพราะบุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่ รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบตามกฎหมายมิได้ทั้งนี้ เพราะทุกคนต่างก็จะอ้างว่าตนไม่รู้ กฎหมายเพื่อให้พ้นผิดเสมอ นอกจากนี้หากยอมให้อ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ต้องรับผิดได้ ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริม ให้คนไม่ต้องรับรู้กฎหมาย เพราะรู้กฎหมายน้อยก็รับผิดน้อย5 มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์จำต้องรวมตัวกัน เป็นกลุ่มก้อน ถ้ามนุษย์อยู่เพียงคนเดียวย่อมจะประพฤติตนอย่างไรก็ได้ไม่สนใจใคร แต่ถ้ามนุษย์อยู่ร่วมกันใน สังคมหากมนุษย์ถือว่าตัวเองสามารถจะทำอะไรก็ได้หรือทำตัวอย่างไรก็ได้แล้ว สังคมก็จะคงอยู่ไม่ได้เพราะจะ เกิดความวุ่นวาย ดังนั้น เพื่อให้สังคมอยู่รวมกันอย่างสงบสุข มนุษย์จำต้องมีกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติ ของมนุษย์ กฎเกณฑ์นั้นคือ “กฎหมาย” นั่นเอง ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องรู้หลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะ บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบตามกฎหมายมิได้ 5
10 แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม จรณชัย ศัลยพงษ์. คำอธิบายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย, กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,๒๕๒๖. ปรีดี เกษมทรัพย์. กฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป, กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๕. รองพล เจริญพันธ์. นิติปรัชญา, กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ๒๕๒๒. สมคิด บางโม, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ยูแอนด์ไอ, ๒๕๔๖. หยุด แสงอุทัย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่๑๒ กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ประกายพรึก, ๒๕๓๘. กิจกรรมทบทวนความรู้ บทที่ ๑ กิจกรรมบทที่ ๑ หลักการเบื้องต้น กิจกรรมที่ ๑ ข้อใดถูกให้ ข้อใดผิดให้ × ………….๑. กฎหมายใช้บังคับกับทุกคนยกเว้นเด็ก ..............๒. ประเทศไทยใช้กฎหมายระบบ civil law …………..๓. กฎหมายอาญา คือกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของประชาชน …………..๔. กฎหมายแพ่ง คือกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน …………..๕. กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเอกชน ...............๖. อัยการเป็นผู้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาโดยตรง ...............๗. ในจังหวัดยะลาใช้กฎหมายอิสลามแทนกฎหมายครอบครัว
11 ...............๘. กฎหมายเก่าที่มีบทบัญญัติที่ขัดกับกฎหมายใหม่ ถือว่ากฎหมายเก่ายกเลิกไป ...............๙. การยกเลิกพระราชบัญญัติต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา